พัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภคให้ดีขึ้น

ยังสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง และความมุ่งมั่น ตลอดจนความพร้อมของเจียไต๋ในการก้าวเดินไปสู่หนึ่งร้อยปีข้างหน้า เพื่อส่งมอบนวัตกรรมการเกษตรเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอย่างยั่งยืนของผู้คนทั่วภูมิภาคต่อไป

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดงาน Field Day ให้บริการความรู้แบบเห็นของจริงหนุนเกษตรกรผลิตมะม่วงหิมพานต์พืชทนแล้งสร้างรายได้ เริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2563 ณ ศพก.ท่าปลา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563/ นายเข้มแข็ง ยุติธรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ หรือ Field Day ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เข้ามาเรียนรู้ รับทราบเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ช่องทางการตลาด ข้อมูลข่าวสาร การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรด้วยกันเอง รวมทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ การจัดงาน Field Day

ครั้งนี้ใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก.ของ นายศักดา พันธุ์เจริญ เกษตรกรต้นแบบการทำไร่นาสวนผสมและผลิตมะม่วงหิมพานต์ เป็นสถานที่จัดงาน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตร ที่มีเกษตรกรผู้นำเป็นผู้บริหารจัดการภายใต้การสนับสนุนของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การจัดงาน Field Day จึงเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ที่เหมาะสมของเกษตรกร เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรได้วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งในการจัดงานแต่ละครั้งจะมีหน่วยงานเข้ามาให้บริการด้านการเกษตรตามภารกิจ และมีฐานเรียนรู้ต่างๆ ทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยี ช่องทางการตลาด แหล่งข้อมูลความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น ผัก/สมุนไพร ไม้ผล ปศุสัตว์ และประมง เป็นต้น

สำหรับเกษตรกรอำเภอท่าปลาได้มีการรวมกลุ่มเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นรายสินค้า ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มะม่วงหิมพานต์ ยางพารา และโคเนื้อ โดยเฉพาะมะม่วงหิมพานต์ (Cashew Nut) ซึ่งเป็นสินค้า/ผลผลิตการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ มีความทนต่อการแห้งแล้งได้ดี สามารถปลูกได้ในทุกสภาพของดิน แต่ต้องมีการระบายน้ำที่ดี โดยมีพื้นที่ปลูกจำนวน 23,974 ไร่ เกษตรกร 3,098 ราย ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่อำเภอท่าปลาได้ใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต และรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำนมมะม่วงหิมพานต์ มะม่วงหิมพานต์รสชาติต่างๆ สร้างรายได้ให้กับชุมชน

สำหรับการจัดงานวัน Field Day ณ ศพก.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ครั้งนี้ ได้นำเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 5 สถานี เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้ คือ 1. การลดต้นทุนการผลิตมะม่วงหิมพานต์ 2. การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า 3. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะม่วงหิมพานต์ 4. การแปรรูปมะม่วงหิมพานต์และการตลาด และ 5. การทำอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการด้านการเกษตร ในรูปแบบนิทรรศการเรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินอุตรดิตถ์

เรื่องการจัดทำบัญชีต้นทุนการผลิต โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์อุตรดิตถ์ เรื่องการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยสำนักงานประมงอำเภอท่าปลา เรื่องการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ โดยสำนักงานปศุสัตว์อำเภอท่าปลา เรื่องแมลงเศรษฐกิจและเทคโนโลยีการผลิตพืช โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่องการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจของสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์

เรื่องเทคโนโลยีการผลิตพืช โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ เรื่องการบริการความรู้เรื่องการทำเชื้อเห็ด โดยเขื่อนสิริกิติ์ เรื่องการบริการความรู้เรื่องการเงินเพื่อการเกษตร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์สาขาท่าปลา เรื่องการบริการความรู้เรื่องการตลาดและการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร โดยสหกรณ์นิคมฯ ลำน้ำน่าน จำกัด และสหกรณ์การเกษตรท่าปลา จำกัด และ เรื่องการผลิตและแปรรูปยางพาราคุณภาพ โดยการยางแห่งประเทศไทยสาขาอุตรดิตถ์ รวมทั้งยังมีกิจกรรมออกร้านจำหน่ายสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มส่งเสริมอาชีพ Smart Farmer/Young Smart Famer โดยการจัดงานครั้งนี้ มีเกษตรกรในพื้นที่อำเภอท่าปลา และอำเภุอใกล้เคียงมาร่วมงาน ไม่น้อยกว่า 500 คน

กิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเตรียมความพร้อมของพี่น้องเกษตรกร ก่อนเข้าสู่การเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2563 โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ เพื่อวางแผนการผลิต เข้าถึงปัจจัยการผลิต บริหารจัดการความเสี่ยง และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ซึ่งหากสามารถทำให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ไปประยุกต์ใช้ จะทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญคือ หากมีการขยายผลหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และองค์ความรู้ต่างๆ จะทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ และ ศพก. ก็จะเป็นที่พึ่งพา ช่วยเหลือดูแลเกษตรกร ในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

“ผมจึงอยากขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรมาร่วมเรียนรู้ และเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ ในการจัดงาน Field Day แต่ละจังหวัด โดยกิจกรรมหลักจะมีสถานีเรียนรู้ที่บูรณาการองค์ความรู้จากหลายหน่วยงาน ซึ่งเน้นเนื้อหา และเทคโนโลยีที่จำเป็นในกระบวนการผลิตสินค้า เพื่อถ่ายทอดให้เกษตรกรได้รับทราบ การให้บริการจากหน่วยงานภาครัฐ นิทรรศการของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร รวมทั้งภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุน และมีกิจกรรมเสริม เช่น การแสดงและจำหน่ายสินค้าของสถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ซึ่งสามารถสอบถามข้อมูลการจัดงาน Field Day ได้ ณ สำนักเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ครับ” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

รมว.กระทรวงเกษตรฯ ดร.เฉลิมชัย ประกาศก้องปิดอ่าวไทย 27,000 ตารางกิโลเมตร เริ่มแล้วถึง 15 พ.ค. นาน 3 เดือน และต่อด้วยเขตพื้นที่พิเศษ 7 ไมล์ทะเลและพื้นที่อ่าวประจวบฯ อีก 30 วัน พร้อมประกาศความร่วมมือชาวประมงเป็นวาระแห่งชาติลดขยะทางทะเลจากภาคการประมง ภายใต้กิจกรรมขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563 เวลา 10.30 น. ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เป็นประธานในพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2563 ณ ท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลาปากน้ำชุมพร ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ชุมพร ท่ามกลางชาวประมงและประชาชนในพื้นที่ ที่มาร่วมงานเพื่อเป็นสักขีพยานในการประกาศปิดอ่าวฯ พร้อมร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พร้อมปล่อยขวบเรือนเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติหน้าที่ในช่วงการประกาศใช้มาตรการ และร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงทะเลจังหวัดชุมพรเพื่อให้ได้ไปเผยแพร่ขยายพันธุ์ อีกทั้งร่วมชมนิมรรศการความรู้เกี่ยวกับมาตรการอนุรักษ์สัตว์น้ำ และความรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตปลาทูแต่ละช่วงวัยที่สอดคล้องกับการออกมาตราการปิดอ่าวฯ ในครั้งนี้

โดย ดร. เฉลิมชัย ได้กล่าวว่า จากผลการศึกษาวิจัยทางวิชาการของกรมประมงพบว่าพื้นที่ทะเลของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ที่สัตว์น้ำเศรษฐกิจหลายชนิด โดยเฉพาะปลาทู ซึ่งมีวงจรชีวิตในช่วงของการปิดอ่าวไทยตอนกลาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันการใช้ทรัพยากรเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ และไม่ให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำ จึงได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายขึ้น

ทั้งนี้ มาตรการปิดอ่าว มีการประกาศใช้มาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 67 ปี และล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. 2561 ได้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพทรัพยากรสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยผ่านความเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมประมง ผู้แทนชาวประมงพาณิชย์-ชาวประมงพื้นบ้าน และออกเป็นประกาศ ลงวันที่ 31 มกราคม 2561 ที่กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูปิดอ่าวไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่ปิดอ่าวไทยตอนกลาง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 27,000 ตารางกิโลเมตร บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค. และต่อด้วยเขตพื้นที่พิเศษ 7 ไมล์ทะเลและพื้นที่อ่าวประจวบฯ อีก 30 วัน ของทุกปี โดยได้กำหนดให้เครื่องมือประมงบางชนิดของกลุ่มประมงขนาดเล็กซึ่งไม่กระทบกับมาตรการปิดอ่าวให้สามารถใช้ทำการประมงได้ ทำให้สัตว์น้ำได้รับการคุ้มครองไม่ถูกจับมาใช้ประโยชน์จนเกินสมควร เป็นการเปิดโอกาสให้พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำได้วางไข่แพร่ขยายพันธุ์ และสัตว์น้ำวัยอ่อนได้เลี้ยงตัวเจริญเติบโต อันจะเป็นการสานต่อวงจรชีวิตสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป

“พร้อมกันนี้ ยังได้ร่วมมือกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ภาคเอกชน และชาวประมง ได้ตระหนักถึงการลดขยะทะเลจากภาคการประมง ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติภายใต้แผนแม่บทการจัดการขยะแห่งชาติ ฉบับที่ 2559 – 2564 และโครงการพัฒนาด้านการประมง เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการประมงให้ยั่งยืน โดยสอดรับตามปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะในภูมิภาคอาเซียน ตามมติที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 จึงจัดทำกิจกรรมขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา เพื่อขับเคลื่อนการลดขยะทะเล ภายใต้ความร่วมมือทุกภาคส่วนพร้อมกันในครั้งนี้ด้วย” ดร.เฉลิมชัยกล่าว

ด้าน นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกาศปิดอ่าวไทยดังกล่าว ได้กำหนดให้เครื่องมือประมงบางชนิดของกลุ่มประมงขนาดเล็กที่ไม่กระทบกับมาตรการปิดอ่าวให้สามารถใช้ทำการประมงได้ ได้แก่

1) เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร ต้องทำการประมงในเวลากลางคืน และต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งด้วย

2) เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และต้องใช้ช่องตาอวนตั้งแต่สองนิ้วขึ้นไป กรณีที่ชาวประมงต้องการใช้เครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ จะต้องใช้นอกเขตทะเลชายฝั่ง เท่านั้น

3) เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง

4) เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

5) ลอบปู ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด

6) ลอบหมึกทุกชนิด

7) ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้าน สามารถทำการประมงได้ในเขตทะเลชายฝั่ง

8) คราดหอย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด

9) อวนรุนเคย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยประกาศกระทรวงฯ

10) จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก และเครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง

11) เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือตามประเภท วิธีการทำการประมงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดให้เป็นประมงพาณิชย์ทำการประมง ยกเว้นอวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) และที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560

“ขอฝากพี่น้องชาวประมงโปรดให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังการทำประมงโดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้เท่านั้น เครื่องมืออื่น ๆ ห้ามทำโดยเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาท – 30 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย” อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้าย

(19 กุมภาพันธ์ 2563, กรุงเทพฯ) – “ดีแทค” จับมือ “ยารา” ร่วมพัฒนาแอ็พพลิเคชั่นทางการเกษตร ผสานจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย ผ่านองค์ความรู้ด้านธาตุอาหารพืชและการเกษตร รวมทั้งเทคโนโลยีทางการสื่อสาร หวังติดอาวุธเกษตรกรรายย่อยไทยนับล้าน

การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคเกษตรกรรมไทยถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล อันเป็นยุทศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศและภาคเกษตรกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ตัวอย่างเช่น การทำเกษตรแม่นยำ (precision farming) และการทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างดีแทคและยาราในครั้งนี้จะช่วยเร่งการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยสู่ยุคดิจิทัล ผ่านจุดแข็งของทั้งสององค์กร ได้แก่ ความเชี่ยวชาญด้านองค์ความรู้ด้านธาตุอาหารพืชระดับโลกและการเกษตรดิจิทัลยุคใหม่ (Digital Farming) ผ่านเทคโนโลยีของยารา ขณะที่ดีแทคจะช่วยเสริมจุดแข็งของความเป็นผู้นำในเรื่องเครือข่ายและเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งการผนึกกำลังของทั้งสององค์กรมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งในการเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อยไทยอย่างแท้จริง

“อุตสาหกรรมโทรคมนาคมถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญ (key enabler) ที่ทำให้เกิดนวัตกรรมในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี 5G อินเทอร์เน็ตแห่งสรรรพสิ่ง (IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเรามองเห็นโอกาสมหาศาลที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย ทั้งนี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ดีแทคได้มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรรายย่อยของไทยมาอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ dtac Smart Farmer ทั้งนี้ ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นนี้จะก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันและต่อยอดพัฒนาในหลากหลายด้าน สอดรับกับวิสัยทัศน์ของดีแทคในการเชื่อมต่อผู้คนกับสิ่งที่สำคัญที่สุดและเสริมสร้างศักยภาพสังคม ในการณ์นี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อภาคเกษตรกรรมไทยอย่างแท้จริง” นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าว

“เป็นเวลาเกือบ 50 ปีแล้ว ที่ยาราได้สนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตรไทย ผ่านการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านธาตุอาหารพืช และการส่งต่อผลิตภัณฑ์และโปรแกรมธาตุอาหารพืชที่มีคุณภาพให้กับเกษตรกร นักวิชาการเกษตรของยาราได้ลงพื้นที่ให้ความรู้กับเกษตรกรไทยกว่า 60,000 คนต่อปี เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีการสื่อสารจะช่วยสร้างโอกาสในการส่งผ่านข้อมูลความรู้ ตลอดจนช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างยารากับเกษตรกรไทยในระดับบุคคลได้ ทั้งนี้ ยารารู้สึกตื่นเต้นอย่างมากในการสร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับดีแทคในครั้งนี้ ซึ่งความร่วมมือของเราทั้งสององค์กรจะสามารถช่วยสร้างศักยภาพของเกษตรกรรายย่อยผ่านดิจิทัลโซลูชั่น และการเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องธาตุอาหารที่สมดุลอันเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มผลผลิต ผลกำไร และความยั่งยืน ให้กับเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง” นายแทร์ริเอ กริทเซน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาดและการขาย บริษัท ยารา อินเตอร์เนชั่นแนล เอเอสเอ กล่าว

ทั้งนี้ ดีแทคและยาราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรกรรมของไทยสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ผ่านองค์ความรู้และเครื่องมือ ตลอดจนโซลูชั่นทางการเกษตรอันล้ำสมัย ยังผลต่อการพัฒนาและเพิ่มผลิตภาพการเกษตร ปลดล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกรชาวไทย

เกี่ยวกับดีแทค
ดีแทคมีความมุ่งมั่นในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ข้อที่ 10 อันสอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมายองค์กรในการ “เสริมสร้างศักยภาพสังคม” ดีแทค มุ่งหวังในการช่วยปลดล็อกประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งผลิตภัณฑ์และการบริการของเราจะช่วยเปิดโอกาสในการเรียนรู้ มีส่วนร่วม และสร้างการเติบโตทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม เกษตรกรจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดีแทค ก่อตั้งขึ้นในปี 2532 เพื่อให้บริการการสื่อสารทั้งในระบบรายเดือนและเติมเงิน โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 20.642 ล้านเลขหมายในปัจจุบัน เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทย www.dtac.co.th

เกี่ยวกับยารา
ยารามุ่งปลูกความรู้ให้กับเกษตรกรเพื่อป้อนทรัพยากรทางอาหารและปกป้องโลกอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์แห่งการเป็นสังคมแห่งความร่วมมือร่วมใจ โลกที่ปราศจากความหิวโหยและได้รับการปกป้องดูแล เพื่อให้สามารถบรรลุพันธสัญญาเหล่านี้ เราได้ทุ่มเทสรรพกำลังในการเป็นผู้นำเพื่อพัฒนาการเกษตรยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Farming เพื่อการทำเกษตรที่แม่นยำมากขึ้น และยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับพาร์ทเนอร์ในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาโซลูชั่นหรือผลิตภัณฑ์ธาตุอาหารพืชที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยารายังมุ่งมั่นในการผลิตปุ๋ยธาตุอาหารพืชอย่างยั่งยืนต่อไป เรามีวัฒนธรรมอันเปิดกว้าง ในการส่งเสริมความหลากหลาย ที่จะสนับสนุนความปลอดภัยและการทำงานอย่างมีจริยธรรมของพนักงาน คู่สัญญา คู่ค้า และสังคมในระดับมหภาค ยาราก่อตั้งขึ้นในปี 2448 เพื่อแก้ไขปัญหาความอดอยากในภูมิภาคยุโรป โดยปัจจุบันมีการดำเนินธุรกิจในมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก มีจำนวนพนักงานกว่า 17,000 คน โดยในปี 2562 ยารารายงานผลดำเนินการายได้ที่ 12,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา www.yara.com, www.yara.co.th

“ทำอย่างไรถึงจะช่วยเกษตรกรชาวไร่ปลูกมะนาวในจังหวัดเพชรบุรีให้ขายผลผลิตได้ตลอด”

นี่คือโจทย์สำคัญ ที่ทำให้ วิวัฒน์ พริ้งจำรัส ผู้ได้ชื่อว่า “นักรบเกษตรสายพันธุ์ใหม่” ในฐานะเกษตรกรและผู้ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตส่งขายกระจายรายได้ให้ชาวบ้านในนาม ห้างหุ้นส่วนเลมอนโกลด์ ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่แค่การส่งผลมะนาวสดขายให้กับแม็คโครเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังคิดแปรรูปให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ “มะนาว” พระเอกของเขา

ผลงานล่าสุดคือ น้ำมันหอมระเหยจากผิวมะนาว ที่ทำให้เขาได้กลายเป็นหนึ่งใน โครงการปรับโครงสร้างปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นการปั้นเกษตรกรให้ก้าวสู่การเป็นนักธุรกิจเกษตร และผู้ประกอบการเกษตรแปรรูปอัจฉริยะ ซึ่งเป็นโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในการเร่งรัดกลไกการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมให้เกิดเป็นรูปธรรม ที่ได้รับมอบหมายนโยบายเร่งด่วนมาจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

“ผมสนใจเข้าโครงการนี้ เพราะเดิมรับซื้อมะนาวจากชาวไร่ในเพชรบุรี หัวหิน ส่งขายให้กับแม็คโคร แต่ในระยะหลัง เปลี่ยนจากส่งผลมะนาวสด ไปคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม โดยแปรรูปเป็น น้ำมะนาวแช่แข็งแบรนด์ aro ซึ่งเป็นแบรนด์ของแม็คโครมาจนปัจจุบัน”

เมื่อมีโครงการปรับโครงสร้างปั้นธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เขาไม่รีรอที่จะเข้าร่วม โครงการเนื่องจากเห็นว่า การแปรรูปสินค้าเกษตร ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตเกษตรได้ เหมือนกับที่เขาเคยทำมาแล้ว ซึ่งเขาเชื่อว่า “มะนาว” ยังมีประโยชน์อีกมาก และเขาน่าจะทำให้มะนาวแปลงร่างไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายได้อีกเยอะ

ไม่เพียง น้ำมันหอมระเหยจากผิวมะนาวที่นำเสนอในโครงการ แต่ยังมี น้ำยาล้างจานจากน้ำมะนาวที่แปลกและแตกต่างจากตลาดอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับการพัฒนาและกำลังเข้าสู่กระบวนการจำหน่ายในลำดับต่อไป

“การที่ผมได้ส่งผลผลิตขายให้กับแม็คโคร ทำให้ผมเห็นโอกาสหลายอย่าง เราทำงานร่วมกันมานาน แม้บางช่วงจะประสบปัญหาบ้าง แต่แม็คโครไม่เคยทิ้งเรา เราอยู่ได้ เกษตรกรก็อยู่ได้ และอยู่ร่วมกันมาสิบกว่าปีแล้วครับ ” วิวัฒน์ กล่าว

ด้าน นางจุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ในฐานะภาคีเครือข่ายภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า ยุคนี้ การผลิตสินค้าเกษตรที่ไม่สม่ำเสมอ จะเสียโอกาสมหาศาล ต่อจากนี้ไป การทำธุรกิจเกษตรจะเปลี่ยนไปสู่การบริหารจัดการ พัฒนา เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มได้ เน้นกระจายรายได้ให้กับเกษตรกรด้วยการยกระดับอย่างเป็นระบบตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสินค้าเกษตรบริหารจัดการไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก หากเริ่มต้นจากพื้นที่ของเราก่อน เราต้องพัฒนาความคิดของคนทำเกษตร ในบริบทของเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เพื่อทำให้เกิดกลุ่มผู้ประกอบการเกษตรแปรรูปพันธุ์ใหม่”

ในงานปิดโครงการปรับโครงสร้างปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ที่จัดขึ้น ณ แม็คโคร สาขารามคำแหง 24 “วิวัฒน์” และเพื่อนนักรบเกษตรพันธุ์ใหม่จำนวน 20 รายจากทั่วประเทศ ซึ่งได้รับใบประกาศเกียรติคุณจาก นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อย้ำเตือนถึงการเป็นกลุ่มเกษตรกรยุคใหม่ที่ปรับตัวได้ทันต่อความท้าทายของเศรษฐกิจโลก เป็น “นักธุรกิจเกษตร” ที่มีความเข้มแข็ง ก้าวพ้นวังวนปัญหาเดิมๆ โดยโครงการนี้จะสร้างโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนและเทคโนโลยีที่ทันสมัย การพัฒนาคลัสเตอร์ธุรกิจบริการด้านการเกษตร บริการเครื่องจักร บริการเทคโนโลยีสนับสนุน การพัฒนาและบริหารจัดการฟาร์ม การแปรรูปสินค้าเกษตร และเชื่อมโยงแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านเกษตรอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร

หากกระทรวงอุตสาหกรรมสามารถพัฒนานักธุรกิจเกษตรได้ 100,000 รายภายใน 4 ปี สมดังเป้าหมาย เศรษฐกิจไทยจะถูกเสริมความแข็งแกร่งให้แข็งแรงจากฐานรากอย่างยั่งยืนและมั่นคง

วิกฤตภัยแล้งปี 2563 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรอย่างน้อย 20 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 5,297 หมู่บ้านแล้ว และวิกฤตภัยแล้งนี้อาจจะลากยาวไปถึงกลางปี บางพื้นที่นาข้าวหลายร้อยไร่ยืนต้นตายเพราะไม่มีน้ำ บางพื้นที่ภาครัฐได้ออกมาประกาศให้ชาวนางดการทำนาปรังและให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่า การปรับตัวสำหรับเกษตรกรจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากเพื่อให้เอาตัวรอดผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งนี้ไปได้

คุณวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไปบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ตราศรแดง ผู้นำอันดับ 1 ด้านเมล็ดพันธุ์ผัก กล่าวระหว่างไปเปิดตัวโครงการ “ศรแดงพืชน้ำน้อย” ณ แปลงปลูกกลางทุ่งนา ตำบลวังเมือง อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ว่า

“วิกฤตภัยแล้ง หรือที่เราเรียกว่า เอลณีโญ โดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นทุก ๆ 5 ปี ถ้าพวกเราจำกันได้ปี 2559 จะเป็นปีที่แล้งหนักมาก และในปี 2563 นี้วิกฤตภัยแล้งก็จะเวียนมาครบอีกรอบ โดยในปีนี้ค่อนข้างที่จะรุนแรงมากสาเหตุเพราะปริมาณฝนที่ตกปี 2562 น้อยกว่าปกติ ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมน้อย พอปี 2563 ตามข้อมูลพยากรณ์ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พบว่าฝนจะตกล่าช้ากว่าปกติ 1 – 2 เดือน คือ จะเริ่มช่วง มิ.ย. – ก.ค. 2563 (ปกติแต่ละปีฝนจะเริ่มตก กลาง พ.ค.- ต.ค.) และปี 2563 อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1 – 2 องศา ฯ หรือราว 40 กว่าองศา ฯ ทำให้แหล่งน้ำต่าง ๆ เหือดแห้ง ทางบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด เราตระหนักเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งนี้ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นชาวนา รองลงมาคือปลูกพืชไร่ ไม่ว่าจะเป็นอ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะว่าเป็นพืชที่ใช้น้ำมาก ปริมาณ 1,100 ลบ.ม.ต่อไร่ต่อรอบการปลูก ใช้ระยะเวลาการปลูก 100-120 วัน”

ศรแดงพร้อมให้ความรู้ตั้งแต่ปลูกไปจนขาย
ที่มาของโครงการ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2559 เป็นโครงการที่ 1 เราใช้ชื่อโครงการว่า “ศรแดงพืชน้ำน้อย จากร้อยสู่ล้าน” ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีมากจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมทั้งเกษตรกรผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง เดิมที่เกษตรกรไม่มีความรู้เกี่ยวกับการปลูกผัก ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี เราก็นำเสนอทางเลือกให้กับเกษตรกรโดยมอบองค์ความรู้การปลูกพืชผักที่ใช้น้ำน้อย ผ่านชุดกล่องเมล็ดพันธุ์ และมีเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่ให้ความรู้กับกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ ทั่วประเทศ

และในปี 2563 นี้เป็นโครงการที่ 2 ซึ่งได้มีการเปิดตัวในวันนี้ (20 มกราคม 2563) ทางบริษัท ฯ มองเห็นว่า เราให้คำแนะนำเรื่องเมล็ดพันธุ์และการปลูกพืชอย่างเดียวคงไม่พอ สิ่งที่สำคัญสำหรับพืชน้ำน้อยคือเรื่องการเทคโนโลยีการใช้น้ำ วิธีการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น ระบบน้ำหยด สปริงเกอร์ วิธีการจัดการเรื่องโรคแมลงต่างๆ เราใส่องค์ความรู้นี้เพิ่มเติมเข้าไปให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชน้ำน้อยให้ผลผลิตมีคุณภาพมากที่สุด

นอกจากนี้ ในด้านผลผลิต คุณอิสระ วงศ์อินทร์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด กล่าวว่าทางศรแดงจะเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านตลาดของผลผลิตสำหรับพืชน้ำน้อย โดยจะมีเครือข่ายกับทางพ่อค้า และแม่ค้าที่ขายผลผลิต อย่างเช่นตลาดไท และยังมีการทำตลาดผ่านออนไลน์ จะมีกลุ่มในเฟสบุ๊ค ทางเกษตรกรสามารถนำผลผลิตตัวเองไปโพสขายได้ โดยตรง มี 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มปลูกแตง มะระ บวบ ศรแดง กลุ่มปลูกข้าวโพดศรแดง กลุ่มปลูกพริกศรแดง ซึ่งในกลุ่มเหล่านี้จะเป็นที่รวมตัวกันของพ่อค้า แม่ค้า ผู้รับซื้อผลผลิต และเพจเหล่านี้เมื่อมีปัญหาในเรื่องการปลูก สมาชิกกลุ่มก็ให้คำปรึกษาได้ด้วย

ศรแดงแนะ 7 พืชใช้น้ำน้อย พร้อมผลตอบแทน
สำหรับพืชน้ำน้อยที่ศรแดงแนะนำมีทั้งหมด 7 ชนิด แต่ละชนิดได้วิจัยและพัฒนาให้สามารถทนแล้งได้ ประกอบด้วย

ข้าวโพดข้าวเหนียว พันธุ์สวีทไวโอเล็ท ข้าวโพดหวาน พันธุ์จัมโบ้สวีท
อัตราการใช้น้ำ 438 (ลบ.ม./ไร่)
ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 70 (วัน)
สร้างรายได้ 16,000-17,000 (บาท)
ฟักทอง พันธุ์ข้าวตอก 573 และประกายเพชร
อัตราการใช้น้ำ 616 (ลบ.ม./ไร่)
ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 75-90 (วัน)
สร้างรายได้ 24,000 (ลบ.ม./ไร่)
ถั่วฝักยาว พันธุ์ลำน้ำชี และลำน้ำพอง
อัตราการใช้น้ำ 458 (ลบ.ม./ไร่)
ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 55-60 (วัน)
สร้างรายได้ 60,000 (บาท)
แฟง พันธุ์สะพายเพชร
อัตราการใช้น้ำ 551 (ลบ.ม./ไร่)
ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 60-65 (วัน)
สร้างรายได้ 40,000 (บาท)
แตงกวา พันธุ์ธันเดอร์กรีน
อัตราการใช้น้ำ 660 (ลบ.ม./ไร่)
ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 30-32 (วัน)
สร้างรายได้ 39,000 (บาท)
ผักใบ ผักบุ้ง พันธุ์ยอดไผ่ 9
อัตราการใช้น้ำ 300 (ลบ.ม/ไร่)
ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 21 (วัน)
สร้างรายได้ 43,200 (บาท)
พริกขี้หนู พันธุ์เพชรมงกุฏ
อัตราการใช้น้ำ 758 (ลบ.ม./ไร่)
ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 150 (วัน)
สร้างรายได้ 105,000 (บาท)

ศรแดงเฟ้นหาสุดยอดเกษตรกรพืชน้ำน้อย
ในตอนท้ายของการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนที่มาร่วมงานเปิดตัวโครงการศรแดงพืชน้ำน้อย โครงการ 2 คุณวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไปบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ได้กล่าวย้ำว่า ทางศรแดงต้องการหาทางออกให้กับเกษตรกรในช่วงภัยแล้งให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้โครงการในปีนี้เกิดการตระหนักรับรู้ในวงกว้างและนำองค์ความรู้ไปใช้ได้จริง จึงมีการเฟ้นหาสุดยอดเกษตรกรพืชน้ำน้อย โดยจะจัดขึ้นภาคละ 1 จุด

ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงราย Royal Online V2 อำเภอพญาเม็งราย, ภาคอีสาน ที่จังหวัดนครราชสีมา, ภาคใต้ตอนบน ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และภาคกลาง ที่จังหวัดนครสวรรค์ (สถานที่จัดแถลงข่าวในวันนี้)