ตัวอย่างคำอธิบายมะพร้าวอ่อนรายหนึ่งของศรีลังกา เช่น
“เราได้ชื่อว่าเป็นพระมหากษัตริย์มะพร้าว, เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ, เป็นธรรมชาติ 100 %, น้ำมะพร้าวจะช่วยให้เย็นลงไปในร่างกายทันทีที่ดื่ม, เราเป็นบริษัทจัดจำหน่ายทั้งในศรีลังกา และทั่วโลก, เรามีรูปแบบผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่หลากหลาย, มะพร้าวช่วยรักษาโรคผื่นผิวหนัง และโรคภูมิแพ้ ฯลฯ”
และยังเน้นย้ำอีกว่า “ระบบปลูกของเราเป็นธรรมชาติ ,เราปลูกเป็นแหล่งท่องเที่ยว เราจะไม่สร้างความเสียหายระหว่างการเพาะปลูก”
ทั้งหมดที่นำมายกตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นถึงตลาดแข่งขัน ที่เน้นเรื่องของคุณภาพมะพร้าวอ่อนล้วนๆ ยังไม่นับรวมการแข่งขันเรื่องบรรจุภัณฑ์และการบริการขนส่งต่างๆ
อีกเรื่องหนึ่งในการแข่งขันตลาดมะพร้าวน้ำหอมที่มองผ่านอาลีบาบา คือ จะมีการแบ่งประเภทการเพาะปลูก พบว่ามีการปลูกแบบอินทรีย์ถึง 70 รายการ (สูงขึ้นจากอดีตมาก) โดยเฉพาะเวียดนามจะมีการอธิบายในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน แสดงถึงกระแสของผู้บริโภคที่เน้นอาหารปลอดภัย
สีสันมะพร้าวศรีลังกา
สีสันมะพร้าวศรีลังกา (ขอบคุณภาพจาก www.thai.alibaba.com)
ประเทศไทยของเรา ถือว่าโชคดีมากที่เราไม่ต้องแข่งขันกันอย่างหนัก ของเราเพียงแค่ประทับตราว่า “มะพร้าวอ่อนน้ำหอมจากประเทศไทย” ก็กินขาด ทุกเชื้อชาติต่างยอมรับว่าน้ำมะพร้าวของเราหอมหวานอร่อยที่สุดในโลก แต่เอกลักษณ์ความเชื่อถือนี้จะยืนยาวแค่ไหน ในเมื่อความไม่แน่นอนของการผลิตยังมีปัญหาอุปสรรคอีกมาก ดังเช่นเวลานี้เรากำลังศึกษาเรื่องของการผลิตว่าทำอย่างไรให้ติดผลดี และมีน้ำหอมหวานสม่ำเสมอ
“วันนี้เราจะภูมิใจอยู่กับอดีตที่บรรพบุรุษของเราได้สะสมภูมิปัญญา คัดเลือกพันธุ์มะพร้าวที่ดีที่สุดมาให้เราเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราต้องทำการศึกษาวิจัยปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยใช้วิชาการสมัยใหม่เข้ามาช่วย อย่างเช่น ความหวาน จะต้องหวานระดับใด หรือความหอมจะหอมระดับไหน ยีนตัวไหนที่ทำให้หอม ทำอย่างไรให้คุณค่าที่เรามีอยู่มีความสม่ำเสมอ และเราจะทำอย่างไรให้อาชีพของเรามีความยั่งยืนสืบทอดไปยังลูกหลาน” รศ.ดร.กฤษณา กฤษณพุกต์ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาศักยภาพมะพร้าวอ่อนเพื่อการส่งออกอย่างครบวงจร ได้ให้ความคิดเห็นแก่ผู้เขียนเมื่อเร็วๆนี้
ทั้งหลายทั้งหมดนี้ ก็อยู่ที่คนไทย เราจะเป็น “มหาอำนาจทางการเกษตร” ได้หรือไม่ก็อยู่ที่คนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน…เรามาช่วยกันศึกษาหาหนทาง และมาเติมความรู้ให้กับมะพร้าวน้ำหอมของเรา ให้ยืดหยัดเป็นเบอร์ 1 ของโลกให้ยาวนานที่สุดนะครับ
หมายเหตุ : ภาพที่นำมาประกอบบทความนี้ ขอเน้นมะพร้าวสีส้ม (บ้านเราเรียกมะพร้าวไฟ) ของศรีลังกา ซึ่งได้รับขนานนามว่า “พระมหากษัตริย์มะพร้าว” (KING COCONUT) หรือ “กษัตริย์มะพร้าว” เพราะดูสวยงามและมีสีสันดี…ขอขอบคุณภาพมา ณ โอกาสนี้
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้ส่วนราชการในสังกัดดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ ที่มีผลงานดีเด่นสาขาอาชีพ/ประเภทที่กำหนดเป็นเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานดีเด่นให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก ยึดถือเป็นแบบอย่าง ในแนวทางการปฏิบัติงานด้านการเกษตร โดยในปี 2559 นี้ มีเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ดีเด่น ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2559 ในวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2559 ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ได้แก่ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 16 สาขาอาชีพ สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 13 กลุ่ม สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 สหกรณ์ และปราชญ์เกษตรแห่งแผ่นดิน จำนวน 3 สาขา ดังต่อไปนี้
เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 16 สาขาอาชีพ
เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2559 จำนวน 16 สาขาอาชีพ คือ 1) สาขาอาชีพทำนา ได้แก่ นายสันทัด วัฒนกูล จังหวัดอุทัยธานี 2) สาขาอาชีพทำสวน ได้แก่ นายอุดม วรัญญูรัฐ จังหวัดจันทบุรี 3) สาขาอาชีพไร่นา ได้แก่ นายดิลก ภิญโญศรี จังหวัดชัยภูมิ 4) สาขาอาชีพไร่นาส่วนผสม ได้แก่ นายทอง หลอมประโคน จังหวัดบุรีรัมย์ 5) สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางอนงค์ ศรีไชยบาล จังหวัดร้อยเอ็ด 6) สาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายสมบัติ บุญถาวร จังหวัดกระบี่ 7) สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายชนธัญ นฤเศวตานนท์ จังหวัดยะลา 8) สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายอนุสรณ์ พงษ์พานิช จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 9) สาขาอาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายหนูเคน ทูลคำ จังหวัดบุรีรัมย์ 10) สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายอำนวย เตชะวรงค์สกุล จังหวัดนครปฐม 11) สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นายสุริยะ ชูวงศ์ จังหวัดเพชรบุรี 12) สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายพัฒน์พงษ์ มงคลกาญจนคุณ จังหวัดกาญจนบุรี 13) สาขาการใช้วิชาเกษตรดีที่เหมาะสม ได้แก่ นายนิโรจน์ แสนไชย จังหวัดลำพูน 14) ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายสมสุข เพชรกาญจน์ จังหวัดสงขลา 15) สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายสิทธิศักดิ์ พันธุ์พิริยะ จังหวัดตราด 16) สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นายบัณฑิต กูลพฤกษี จังหวัดตราด
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 13 กลุ่ม
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2559 จำนวน 13 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านร้องประดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ 2) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนควนเมา จังหวัดตรัง 3) กลุ่มเกษตรกรทำไร่ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำไร่โป่งน้ำร้อน จังหวัดเชียงใหม่ 4) กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงหมูหลุมครบวงจรบ้านกะทม จังหวัดสุรินทร์ 5) กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชมรมปลาเชียงราย จังหวัดเชียงราย 6) กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปปลาบ้านห้วยบง 2 จังหวัดหนองบัวลำภู 7) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสร้างแป้น จังหวัดยโสธร 8) กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนท่านผู้หญิงจันทิมาพึ่งบารมี จังหวัดสกลนคร 9) กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านโพนแพง จังหวัดกาฬสินธุ์ 10) สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดสกลนคร 11) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านดงลิง จังหวัดกาฬสินธุ์ 12) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนประเภทข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลงิ้วราย จังหวัดพิจิตร 13) วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลนางลือ จังหวัดชัยนาท
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ 7 สหกรณ์
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2559 จำนวน 7 สหกรณ์ คือ 1) สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคขุนในเขตปฏิรูปที่ดินปางศิลาทองจำกัด จังหวัดกำแพงเพชร 2) สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์นิคมแม่แตงจำกัด จังหวัดเชียงใหม่ 3) สหกรณ์นิคม ได้แก่ สหกรณ์เดินรถกระทุ่มแบนจำกัด จังหวัดสมุทรสาคร 4) สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางโนนสุวรรณจำกัด จังหวัดบุรีรัมย์ 5) สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลตำรวจจำกัด กรุงเทพมหานคร 6) สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชจำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช 7) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเขื่อนเพชรโค้งข่อยจำกัด จังหวัดเพชรบุรี
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน 3 สาขา
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2559 จำนวน 3 สาขา คือ 1) สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายคำพันธ์ เหล่าวงษี 2) สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายอัคระ ธิติถาวร และ 3) สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ได้แก่ นายอคิศร เหล่าสะพาน
อนึ่ง ในวันพระราชพิธีพืชมงคลนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีลงมติให้เป็น “วันเกษตรกร” ประจำปีด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมกันตั้งจิตอธิษฐานในการประกอบพระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองแก่อาชีพของตน “การเกษตรนับเป็นภาคการผลิตและเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ” คณะรัฐมนตรีจึงได้กำหนดให้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ในวันพระราชพิธี พืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อบำรุงขวัญแก่เกษตรกรนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ใกล้เข้ามาแล้ว…สัมมนา “มะพร้าวน้ำหอม โอกาสทองของเกษตรกรไทย…จริงหรือ?” …ในการสัมมนาครั้งนี้จะเน้นหนัก 3 เรื่องหลัก คือ ทำอย่างไรให้มะพร้าวน้ำหอมติดผลดก ติดผลดี และมีน้ำหอมตลอดไป (สม่ำเสมอ) หัวข้อนี้จะเหมาะกับผู้ที่ปลูกอยู่แล้ว แต่อยากรู้ว่ามีวิธีทางวิชาการอย่างไรจึงจะเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ มีปัจจัยใด เทคนิคไหนบ้าง และสำหรับผู้มี่เริ่มต้นปลูกใหม่ (ซึ่งอาจจะเป็นผู้ปลูกรายเดิมที่ขยายพื้นที่ปลูกก็ได้) จะได้พบกับกรณีศึกษา “พลิกแปลงนาข้าวเป็นสวนมะพร้าวน้ำหอม” ซึ่งจะตอบโจทก์ การวางแผน การลงทุน ว่าแนวทางที่ดีที่เหมาะสมเป็นอย่างไร พบเจอปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง และแก้ไขอย่างไร (เรียนรู้จริงจากประสบการณ์จริงและทำได้จริง) ตามด้วยประสบการณ์ การปลูกมะพร้าวอินทรีย์ 400 ไร่ ว่าทำให้ได้ มาตรฐานโลกคืออย่างไร ปิดท้ายจะเสวนากันเรื่อง ตลาดมะพร้าวน้ำหอม ทั้งในและต่างประเทศ ว่าได้มีการพัฒนาก้าวไกลไปถึงไหนแล้ว
(กำหนดการ)
วันเวลา : วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2559 เวลา 09.00-16.00 น. ณ ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติมหาวิทยาลัยเกษตรฯ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
จัดโดย : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน ร่วมกับ สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย วารสารเคหการเกษตร และเว็บไซต์เกษตรก้าวไกลดอทคอม
08.00 – 09.00 น. ลงทะเบียน
09.00 – 09.15 น. พิธีเปิดสัมมนา
โดย รศ. ตฤณ แสงสุวรรณ รักษาการแทนรองอธิการบดี วิทยาเขตกำแพงแสน
09.15 – 10.45 น. บรรยาย เรื่อง มะพร้าวน้ำหอม โอกาสทองจากงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ (ทำอย่างไรให้ติดผลดี และ มีน้ำหอมสม่ำเสมอ)
โดย รศ.ดร.กฤษณา กฤษณพุกต์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
10.45 – 11.00 น. พักรับประทานอาหารว่าง
11.00 – 12.00 น. บรรยาย เรื่อง กรณีศึกษา : การพลิกแปลงนาข้าวเป็นสวนมะพร้าวน้ำหอม
โดย คุณเปรม ณ สงขลา บรรณาธิการอำนวยการ วารสารเคหการเกษตร
12.00 – 13.00 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00 – 14.30 น. อภิปราย เรื่อง การบังคับมะพร้าวให้ติดผลดีและปลูกให้ได้มาตรฐานโลก
การบังคับให้มะพร้าวให้ติดผลดี ด้วยเทคนิคการผสมเกสร
โดย รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การปลูกมะพร้าวออร์แกนิคให้ได้มาตรฐานโลก
โดย คุณประยูร วิสุทธิไพศาล เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 54 และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผลไม้ปลอดภัยสารพิษเพื่อส่งออก จ.ราชบุรี
14.30 – 14.45 น. พักรับประทานอาหารว่าง
14.45 – 16.00 น. อภิปราย เรื่อง มะพร้าวน้ำหอม : โอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ
การเพิ่มมูลค่ามะพร้าวน้ำหอมและการทำตลาดยุคใหม่
โดย คุณธานี ทรัพย์สมบูรณ์ เจ้าของแบรนด์ โคโค่เฟรซ มะพร้าวน้ำหอมส่งขายร้านเซเว่นฯ
มะพร้าวน้ำหอม หนึ่งเดียวของไทย ก้าวไกลตลาดโลก
โดย ตัวแทนบริษัท แปรรูปมะพร้าวน้ำหอมส่งขายตลาดโลก
การสัมมนามะพร้าวน้ำหอม โอกาสทองฯ ที่จะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2559 ที่ ม.เกษตรฯ กำแพงแสน เป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมาก มีการกระจายข่าวออกไปอย่างกว้างขวาง…
เพื่อเป็นแนวทางให้กับที่สนใจที่จะปลูกมะพร้าวน้ำหอม ได้ “คิดก่อนปลูก” จึงขอนำข้อมูลมาเล่าสู่กันฟัง ว่ากลุ่มผู้สนใจเป็นใคร “คิดอย่างไร” ต้องการรู้เรื่องอะไรกันบ้าง?
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมอยู่ก่อนแล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ปลูกในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม ราชบุรี ฯลฯ กลุ่มนี้อยากรู้ว่าจะจัดการดูแลหรือทำอย่างไรให้มะพร้าวน้ำหอมมีผลผลิตดีและน้ำหอมสม่ำเสมอ
กลุ่มต่อมา เป็นกลุ่มผู้ปลูกมือใหม่ ซึ่งจะมาจากหลายจังหวัดและมีความสนใจที่หลากหลายมาก โดยเฉพาะถามว่าพื้นที่นั้นพื้นที่นี้เหมาะสมที่จะปลูกไหม ควรจะออกแบบวางผังสวนอย่างไร ปัญหาในการบริหารจัดการจะแก้ไขอย่างไร ระหว่างมะพร้าวไม่โตจะปลูกพืชอะไรแซมดี สิ่งสำคัญที่สุดกลุ่มนี้จะมุ่งไปที่พันธุ์มะพร้าว ว่าจะหาซื้อได้ที่ไหน ที่เป็นพันธุ์แท้ ราคายุติธรรม วันงานมีพันธุ์ขายไหม ไปแล้วจะได้ซื้อมาทดลองปลูกเลย และไปไกลกว่านั้นหลายท่านบอกว่าให้ช่วยแนะนำได้ไหมว่าควรซื้อพันธุ์มะพร้าวจากเจ้าไหนดี
จากประเด็นของกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มมือใหม่นี้ ผู้เขียนขอนำมุมมองของ อาจารย์เปรม ณ สงขลา บรรณาธิการใหญ่วารสารเคหการเกษตร ในฐานะผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมเมื่อ 6 ปีที่แล้ว จำนวน 5 ไร่ และขณะนี้กำลังปรับปรุงพื้นที่ขุดร่องน้ำปลูกเพิ่มอีก 30 ไร่…มาเล่าสู่กันฟังดังนี้
พลิกนาข้าวเป็นสวนมะพร้าวน้ำหอม?
ผมตัดสินใจขุดคันล้อมแปลงที่นาเป็นสวนมะพร้าวน้ำหอมเมื่อปี 2553 หรือ 8 ปีมาแล้ว ช่วงนั้นราคามะพร้าวน้ำหอมถือว่าปกติธรรมดา ที่ตัดสินใจเพราะรู้ว่าระบบการจัดการห่วงโซ่ข้าวของเราไม่มีอนาคต จึงลงทุนแปลงนาเป็นสวน โดยมีเป้าหมายอยากลอง อยากให้เป็นสวนแบบผสมผสาน 5 ไร่มีทุกอย่างครบ ข้าว ผัก กล้วย มะละกอส้มตำ ฝรั่ง มะเขือยาว ฯลฯ แถมปล่อยเป็ด ปลา ลงไปด้วย
พอปลายปี 2554 น้ำท่วม 4 เดือน แต่ซีกสวนมะพร้าวไม่ท่วมเพราะอบต.ลาดหลุมแก้วและชาวบ้านช่วยกันทำคันกั้น ผลิตผล 5 ไร่โดยเฉพาะมะละกอดิบแม่ค้ามาแย่งกันซื้อ กก.ละ 20 บาท หลังน้ำท่วมแล้วก็มีกล้วยเกษตร 50 (กล้วยน้ำว้า ปากช่อง 50) ได้ขายบ้างเป็นระยะ จนเมื่อเข้าปีที่ 3 มะพร้าวเริ่มตกจั่นก็ตัดพืชอื่นๆออกเหลือแต่ข้าวไว้ให้คนสวนและตัวเองสีกิน ปีที่ 5 มีผลผลิตมะพร้าวมากขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้ขายอย่างเป็นกอบกำ ปอกนำมาขายที่หน้าออฟฟิศย่านเมืองทองธานี ราคาผลละ 20 บาท ได้บ้างไม่มากนัก พอดีทีม ดร.กฤษณา กฤษณพุกต์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาขอใช้เป็นแปลงทดลองงานวิจัยของสกว.ในหลายๆ ด้านทำให้ได้ข้อมูลไปด้วยในตัว ขณะเดียวกันก็อยู่ในทีมรีวิวเวอร์โครงการวิจัยมะพร้าวน้ำหอมอยู่ด้วย แปลงมะพร้าวน้ำหอม 5 ไร่จึงเป็นแปลงวิจัยมาจนปัจจุบัน
คุณภาพของมะพร้าวน้ำหอมที่ปลูก ดีไหม?
สวนขณะนี้เข้าปีที่ 6 ทราบว่าคุณภาพมะพร้าวน้ำหอมที่นี่ใช้ได้ ทุกท่านที่มีโอกาสได้ชิมต่างก็บอกว่าผ่าน ทุกครั้งที่เข้าสวนมะพร้าวน้ำหอมทำให้รู้สึกว่ามันช่างเหมาะกับคนสูงวัยอย่างผม มันร่มรื่นไม่อยากไปไหน อยากผูกเปลนอนในสวนเลย ช่วงนี้ผลผลิตมะพร้าวที่เก็บได้ไม่มากเพราะเป็นช่วงแล้ง ส่วนใหญ่ไว้ดื่มน้ำเองและแจกเพื่อนฝูงและแขกที่มาเยือน 3 ปีมานี้ราคามะพร้าวน้ำหอมพุ่งแรงขึ้นมาตลอด หน้าแล้งปีนี้พุ่งขึ้นถึงเกือบ 30 บาทจากสวน แพงแบบไม่น่าเชื่อ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ดีนักกับราคาที่สูงเกินไป
5 ปีได้บทเรียนอะไร และจะเดินหน้าอย่างไร?
ถึงวันนี้ 5 ไร่ 6 ปี ประกอบกับผมเป็นคนชนบทบ้านเดิมเป็นเกาะคือเกาะยอ จ.สงขลา ที่บ้านมีมะพร้าวแกงเคยปีนต้นมะพร้าวมาแต่เด็กๆ เคยโดนต้นมะพร้าวครูดอกเพราะชอบปีนเก็บผลอ่อนลงมากินเนื้ออ่อนๆที่มันอร่อยตามคุณสมบัติมะพร้าวริมทะเล ผมจึงรักในความเป็นสวนมะพร้าวและเก็บข้อมูลต่างๆไว้
พลิกนาข้าวเป็นสวนมะพร้าวน้ำหอม
กำลังปรับพื้นที่นาข้าว…
จากข้อมูลภาคทฤษฎีและภาคปฏบัติถึงตลาดทำให้ทราบจุดอ่อนจุดแข็งของมะพร้าวน้ำหอมที่ดีพอสมควร โครงการมะพร้าวน้ำหอม 30 ไร่จึงเกิดขึ้นอีกแปลงในพื้นที่ตรงข้ามกับแปลง 5 ไร่
“ประเด็นที่อยากจะฝากมือใหม่คิดปลูกมะพร้าวน้ำหอม คือเรื่องแหล่งพันธุ์อย่าใจร้อนต้องเลือกที่ดีที่สุดรู้ที่มาที่ไป รวมทั้งเรื่องพื้นที่ปลูกต้องมีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดปี ฝนไม่น้อยกว่า 1500 มม. และที่สำคัญที่สุดคือการจัดการทั้งระบบต้องลงตัว ตั้งแต่แต่ระยะปลูก 6×6 หรือ 5×7 การขุดยกร่อง ฯลฯ ทุกอย่างต้องมีฐานความรู้เชิงวิชาการอย่าคิดเอาเองหรือใช้วิชานึกศาสตร์หรือเขาว่า เพราะท่านจะต้องใช้เวลาตั้ง 3-4 ปีจึงจะเห็นผลลัพธ์ดีหรือไม่ดี ข้อมูลลึกชัดต้องมาฟังสัมมนาในวันที่ 21 พฤษภาคม 2559” คุณเปรม กล่าวในที่สุด
พูดมาถึงตรงนี้ก็อยากเชิญชวนทุกท่านที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมหรือคิดจะปลูกใหม่ จะต้องมีข้อมูลอย่างเพียงพอ ซึ่งในการสัมมนาจะตอบโจทก์ ทั้งเรื่องการปลูกและการจัดการต่างๆ สนใจ โทร. 081 3090599,089 7877373 และ 088 3182277 หรือ อีเมล์ : lungpornku2@gmail.com…มาช่วยกันเติมความรู้ให้กับมะพร้าวน้ำหอมเพื่อความยั่งยืนในอาชีพนะครับ
ขอแจ้งความคืบหน้าให้กับทุกท่านทราบว่า…ขณะนี้การสัมมนา “มะพร้าวน้ำหอม โอกาสทองของเกษตรกร จริงหรือ?” วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2559 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กำลังดำเนินไปด้วยความคึกคัก มีผู้เข้าร่วมสัมมนาที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นผู้ปลูกเก่า และผู้ปลูกใหม่ จากจังหวัดต่างๆ 4 ภาคทั่วไทย
“ผมมีโครงการจะปลูก 400 ไร่ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพื้นที่ใกล้เคียงกันเขาปลูกมะพร้าวใหญ่กันเยอะ ไม่รู้ว่าผมจะปลูกได้หรือเปล่า และดินมันจะเหมาะกันไหม ผมต้องเก็บตัวอย่างดินไปให้ดูหรือไม่” นี้เป็นคำถามหนึ่งที่มาจากเกษตรกรรุ่นใหม่
เกษตรกรรุ่นใหม่ เริ่มตระหนักว่า ทุกวันนี้จะทำเกษตรต้องอ้างอิงหลักวิชาการ และเป็นเกษตรที่ต้องการความแม่นยำสูง … “ไม่สะเปะสะปะ”… “ไม่ดำน้ำ”… “ไม่รู้งูๆปลาๆ”… “ไม่ทิ้งขว้าง”…”ไม่ให้เทวดาเลี้ยง”… “ไม่ตามมีตามเกิด”…“ไม่แค่ไหนแค่นั้น”…(เป็นตัวอย่างประโยคที่ผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาได้ถ่ายทอดออกมา เหมือนจะบอกว่า ทำเกษตรสมัยใหม่ต้องรู้จริงเท่านั้น…นี้คือคาถาอันศักดิ์สิทธิ์)
ขอยกตัวอย่างผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 2 ท่าน ที่ทำสวนมะพร้าว …เรามาดูกันว่าเขามีมุมมองในอาชีพอย่างไรบ้าง? ทำสวนมะพร้าวน้ำหอม เพราะภรรยาชอบดื่มน้ำมะพร้าว
ท่านแรกนั้นคือคุณสมยศ พาณิชย์ศิริ ทำสวนมะพร้าวน้ำหอม อยู่ที่ลุ่มน้ำเวฬุ จังหวัดตราด บนพื้นที่ 85 ไร่ ได้ลงปลูกไปแล้วจำนวน 2,500 ต้น อายุระหว่าง 1.5-3.5 ปี ขณะนี้เริ่มทยอยออกผลผลิตบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่มากพอสำหรับจำหน่าย มีแค่พอให้ได้รับประทานกันเองในครอบครัวและให้เพื่อนฝูงได้แวะมาชิมกันที่สวน
“พื้นฐานผมเป็นวิศวกรโยธา พอเกษียณจากบริษัทเอกชนก็เริ่มลงมือทำสวนมะพร้าวน้ำหอม สืบเนื่องจากภรรยาชอบดื่มน้ำมะพร้าวเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ลูก มานานนับสิบปีแล้วครับ” นี่เป็นเหตุผลที่น่ารักมาก
การทำสวนมะพร้าวน้ำหอมของคุณสมยศ ริเริ่มมากับภรรยาคือ คุณเพ็ญศรี พาณิชย์ศิริ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักดื่มน้ำมะพร้าวตัวยง สามารถบอกว่าได้น้ำมะพร้าวที่ไหนหรือช่วงเวลาไหนรสชาติดีไม่ดีอย่างไร
“เรื่องรสชาติน้ำมะพร้าวที่สวนเราเยี่ยมเลยครับ เพราะสามารถควบคุมความเค็มจากน้ำทะเลได้ตามต้องการ ทำให้เป็นสวนมะพร้าวสามน้้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ก็หอมหวานดีเหมือนกัน…เพื่อนๆที่ได้มาทดลองทานก็บอกว่ารสชาติดีทุกคน”
เหตุผลที่ต้องการเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ คุณสมยศบอกว่า ตัวเขาเองนั้นไม่ได้จบทางด้านการเกษตร เมื่อมาทำสวนมะพร้าวก็รู้สึกว่ายังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะ
“ดินที่สวนผม เป็นดินเปรี้ยวจัด ต้องปรับปรุงไปตามสภาพ…ผมจึงมีความคิดว่าเราต้องรู้เกี่ยวกับดินว่ามีธาตุอาหารอย่างไร มะพร้าวน้ำหอมต้องการธาตุอาหารอะไรบ้าง” นี้คือเรื่องที่อยากรู้
แน่นอนวันสัมมนาคุณสมยศ จะมาคู่กับภรรยา เหมือนอีกหลายคู่ หลายครอบครัวที่มาด้วยกันในคราวนี้ ปลูกมะพร้าวน้ำหอมกลางสวนยางที่สุราษฎร์ฯ…มีมะละกอแซม
ขอนำทุกท่านลงไปดูการปลูกมะพร้าวน้ำหอมที่ภาคใต้กันบ้าง เราได้พบกับคุณฐิติวัชร์ สิทธิศิรินนท์ ทำงานเป็นด่านป่าไม้ ประจำอยู่ที่ท่าน้ำพระประแดง จ.สมุทรปราการ แต่ไปปลูกมะพร้าวอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี บ้านเกิด ปลูกไว้ทั้งหมดประมาณ 500 ต้น มี 2 แปลง แปลงแรกปลูกพืชเชิงเดี่ยว(มะพร้าวล้วนๆ) จำนวน 10 ไร่ อยู่ท่ามกลางสวนยางพารา แปลงที่ 2 ปลูกบนคันรอบสวนปาล์ม โดยใช้ระยะปลูก 6×6 (แปลงเดี่ยว) และ 6 เมตร (รอบสวนปาล์ม) ทำเป็นระบบน้ำหยด แต่ระยะต่อไปมีโครงการจะทำเป็นระบบสปริงเกอร์ โดยมีสระเก็บน้ำขนาดใหญ่ภายในสวนที่คิดว่าใช้ได้ตลอดปี
“ผมทำสวนยางพาราและสวนปาล์มมาก่อน ไม่ได้มีความรู้เรื่องการปลูกมะพร้าวน้ำหอม จึงอยากรู้ว่าจะมีวิธีดูแลจัดการอย่างไรให้มะพร้าวเติบโตและมีผลผลิตที่ดี รวมทั้งอยากรู้ว่าตลาดในอนาคตจะมีความยั่งยืนแค่ไหน”
เกี่ยวกับผลการปลูก…
“ผมไปซื้อพันธุ์มาปลูกกับเพื่อนๆอีก 3-4 คน ที่อยู่ปากพนัง (จ.นครศรีฯ) กับผู้ขายพันธุ์ที่ดำเนินสะดวก(จ.ราชบุรี) ซื้อมาตั้งแต่ต้นเล็กๆบางต้นงอกแค่ 2-3 นิ้ว (เพื่อให้ง่ายแก่การขนส่งจำนวนมาก) ได้นำมาปลูกช่วงปลายฝนปีที่แล้ว เวลานี้ก็ถือว่างอกงามดีใช้ได้ แต่ก็ไม่รู้ระยะต่อไปจะเจอปัญหาอะไรอีกบ้าง”
ปัญหาการปลูกที่พบเห็นในระยะนี้ คือมะพร้าวทนร้อนไม่ค่อยไหว และอาจจะมีปัญหาเรื่องเชื้อราบ้าง (ตามความเข้าใจของคุณฐิติวัชร์) ทำให้มะพร้าวต้องตายจากไปประมาณ 20 ต้น
ในระหว่างที่รอให้มะพร้าวเติบโต คุณฐิติวัชร์ ได้ปลูกมะละกอพันธุ์เลดี้ ซึ่งเวลานี้ได้ให้ภรรยาไปขายตามตลาดนัดเก็บเงินไปพลางๆ
ปลูกมะละกอแซมมะพร้าวน้ำหอม
ยังมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากภาคเหนือ (จ.ลำพูน) ที่ปลูกได้ผลผลิตแล้ว และหากไม่ผิดคิวก็จะนำมา ให้ชิมสักลูกสองลูกด้วยว่าน้ำมะพร้าวรสชาติเป็นอย่างไร(จะเอามาหลายลูก แต่บังเอิญมาเครื่องบิน) และผู้ปลูกจากภาคอีสาน จ.บุรีรัมย์ จ.นครราชสีมา จ.หนองคาย ก็บอกว่าจะมาร่วมเช่นกัน
จึงหวังว่าการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย “โอกาสทองต้องเป็นของเกษตรกรไทยทุกคน” โดยทางคณะผู้จัดก็จะเตรียมความพร้อมไว้ให้ดีที่สุด เพื่อช่วยกันพัฒนาอาชีพทำสวนมะพร้าวน้ำหอมให้มีความยั่งยืนสืบต่อไป
หมายเหตุ : กรณีผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ตามตัวอย่างข้างต้น อาจจะดูว่าไม่มีปัญหามากนัก จริงๆแล้วที่มีปัญหามีมาก แต่ท่านเหล่านั้นขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่นำมาเผยแพร่ เช่น ที่สุโขทัย ปลูก 200 ต้น ตายไป 100 ต้น เพราะขาดน้ำ ที่กำแพงแสน นครปฐม ปลูกแล้วปลูกอีก (ตายแล้วตายอีก) ที่สุราษฎร์ธานี ปลูกพื้นที่นากุ้งเก่า 300 ต้น ตายไป 70 ต้น เพราะแล้ง (น้ำไม่ถึง) และไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะดินหรือไม่ (บางต้นโตบางต้นแกร็น) ฯลฯ ส่วนใหญ่ไม่มีเวลาไปดูแลด้วยตนเอง และอีกส่วนไม่มีความรู้ที่จะดูแลอย่างเพียงพอ อีกทั้งไม่สามารถสั่งการให้คนที่ดูแลทำตามที่เราต้องการได้ (ต่างคนต่างไม่รู้จริง-ก็เลยไปกันใหญ่)
สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย จัดเสวนาเกษตรสัญจร…นำสมาชิกผู้สนใจงานด้านการเกษตรไปดูการปลูกพืชเศรษฐกิจทำเงิน กล้วย มะละกอ มะกรูด และมะนาว ย่านอยุธยา และนครสวรรค์ ภายใต้แนวคิด “ดูของจริงให้เห็นกับตา…ดูว่าเขาทำได้อย่างไร” เมื่อ 14 พฤษภาคม 2559 โดยมีผู้สนใจร่วม 100 คน
จุดแรก ได้แวะชมแปลงปลูกกล้วยหอมทองที่ อ.วังน้อย .พระนครศรีอยุธยา ของ บริษัท คิงฟรุทส์ จำกัด โดยคุณเกรียงศักดิ์ และคุณเสาวนีย์ วิเลปะนะ ได้ดูกันเต็มตา ได้ฟังกันเต็มใจว่าปลูกกล้วยหอมคุณภาพทำกันอย่างไร
จากนั้นได้เดินทางไปยัง จ.นครสวรรค์ ชมแปลงปลูกมะละกอฮอลแลนด์(สุก) และ สวนมะละกอแขกนวล(ดิบ) 100 ไร่ ของคุณสมศักดิ์ ม่วงพานิช ที่นี่ได้รับฟังข้อมูลด้านการปลูกและการตลาดอย่างครบวงจร
พร้อมกันนั้น ได้ไปชมแปลงมะกรูดตัดใบ และ สวนมะนาวในวงบ่อ ของชมรมผู้ปลูกมะกรูดตัดใบเพื่อการค้า ตามแนวทาง อ.รวี เสรฐภักดี กูรูด้านมะกรูดและมะนาว ซึ่งวันนี้สมาชิกที่ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่มากันพร้อมเพรียง นำโดยคุณศิวาวุธ สงวนทรัพย์ ได้ให้ข้อมูลอย่างครบวงจรของการปลูกมะกรูดตัดใบในระยะชิด โดยเฉพาะใบมะกรูดที่นี่มีคุณภาพสามารถป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ
เกษตรสัญจรครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก ฟอร์ด เรนเจอร์ …รถกระบะเกิดมาแกร่ง พร้อมลุยสู่อนาคตกับเกษตรกรไทย จากกรณีน้ำส้มคั้นปลอม ที่มีการผลิตขึ้นโดยผู้ประกอบการต่างชาติที่อำเภอมวกเหล็ก และหลอกขายตามท้องตลาดทั่วไปในจังหวัดสระบุรี ราคาขวดละ 20 บาทนั้น กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์และจากประชาชนทั่วไปที่ได้รับรู้ข่าวสารอย่างทั่วถึง ซึ่งต่อมาทางตำรวจและทหารในท้องที่ได้นำกำลัง พร้อมเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข เข้าจับกุมทันที พร้อมของกลางที่ใช้ในการผลิตทั้งหมด โดยเนื้อหาในข้อมูลออนไลน์ก่อนหน้านั้นระบุว่า “..ทำน้ำส้มปลอมใส่ขัณฑสกรนิดเดียวลงถังกะละมังซักผ้า แล้วเติมน้ำก๊อกผสมสีส้ม” และสำหรับคำให้การของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมต่อมาอ้างว่า “จริง ๆ น้ำส้มถูกคั้นจากผลส้ม เพียงแต่มีหัวเชื้อและนำมาผสมกับน้ำประปา” ซึ่งหากพิจารณาตามข้อกำหนดคณะกรรมการอาหารและยา กรณีนี้น่าจะเข้าข่ายความผิดการผลิตอาหารปลอมและอาหารที่ไม่มีฉลาก
ดร. กฤษกมล ณ จอม ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความรู้กับ ข่าวน้ำส้มปลอมครั้งนี้คงจะกลายเป็นประเด็นสำคัญในสังคม ทำให้เกิดความตระหนักเอาใจใส่ของพ่อค้าแม่ค้าน้ำส้มคั้นสด และเกิดการเฝ้าระวังและสนใจของผู้บริโภคโดยทั่วไป สำหรับการเลือกซื้อน้ำส้มคั้นสดนั้น หากเป็นไปได้ควรเลือกแบบที่มีฉลากแสดงเสมอ แต่โดยปกติทั่วไปเรามักจะซื้อน้ำส้มคั้นสดตามตลาดนัด ซึ่งก็จะเป็นการคั้นสด ๆ ที่จุดขายและมีการบรรจุขวดพลาสติกไว้สำหรับแช่เย็นบางส่วนด้วย ตามปกติวิสัยโดยทั่วไปของผู้ซื้อน้ำส้มคั้นสดก็มักจะเปิดขวดดื่มเลยทันที โดยอาจจะซื้อเก็บไปแช่เย็นไว้ทานบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็เก็บไว้ไม่นาน แค่ 2 ถึง 3 วันก็ดื่มหมดแล้ว ดังนั้น น้ำส้มคั้นสดตามตลาดสดส่วนใหญ่ จึงไม่ได้มีการแสดงฉลากอะไรมาก เพียงแต่ระบุป้ายหน้าร้านและราคาขายไว้ให้เห็น ผู้บริโภคก็จะเลือกซื้อตามร้านประจำที่คุ้นเคยดี แต่หากต้องซื้อที่อื่นที่ไม่ใช่เจ้าประจำแล้ว ก็ควรจะต้องเพิ่มความใส่ใจในการเลือกซื้อเป็นพิเศษสักนิด
ประเด็นแรก ที่พอจะสังเกตได้ คือ น้ำส้มคั้นสดนั้น ควรมีความขุ่นของเนื้อส้มอยู่บ้าง ถ้าตั้งทิ้งไว้สักพักควรมีตะกอนเนื้อส้มแยกอยู่ด้านล่างให้มองเห็นได้บ้างด้วยตาเปล่า หากไม่มีตะกอนเลยสักนิด เป็นน้ำสีส้มใส ๆ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นน้ำส้มผสมขึ้นมา และหากเมื่อซื้อแล้วเปิดขวดออกมา ก่อนดื่มลงไป ให้ลองดมกลิ่นดูสักนิด เพราะน้ำส้มคั้นสดจริง ๆ จะมีกลิ่นส้มธรรมชาติออกมาให้คนดื่มได้หอมชื่นใจกันบ้าง
หากไม่มีกลิ่นอะไรเลยหรือกลิ่นจางมาก ๆ ก็จะไม่ใช่น้ำส้มคั้นสดแน่ ๆ เพราะลักษณะของน้ำส้มคั้นสดทั่วไป ต้องมีสี กลิ่น รสตามธรรมชาติของส้ม กรณีข่าวน้ำส้มปลอมครั้งนี้ มีประเด็นที่ผู้บริโภครับไม่ได้ที่ควรกล่าวถึง คือ การใช้น้ำก๊อกผสม การใส่ขัณฑสกร การใส่สีผสมอาหาร และการผสมน้ำส้มในกะละมังซักผ้านั่นเอง โดยปกติน้ำส้มคั้นสดจะมีความเป็นกรด
เป็นอาหารที่มีความเป็นกรดค่อนข้างต่ำ โดยมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 3.0 ถึง 4.0 ซึ่งสามารถตรวจวัดง่าย ๆ ด้วยกระดาษตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่างหรือกระดาษวัดพีเอช ที่จะมีสีเปรียบเทียบให้เห็นข้างกล่องตั้งแต่ค่า 0 ถึง 14 การมีความเป็นกรด-ด่างต่ำนี้ จึงเป็นข้อดีของน้ำส้มในการจำกัดชนิดและปริมาณจุลินทรีย์ที่สามารถรอดชีวิตหรือเจริญเติบโตได้