กก.ปฎิรูปสาธารณสุขอีกทางออก แก้ปัญหาโรคจากสัตว์สู่คน

จากกรณีสถานการณ์การระบาดของเชื้อพิษสุนัขบ้าทำให้สุนัขตายจำนวนมาก ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากเชื้อดังกล่าวที่มีการยืนยันก็พบสูงถึง 7 คนในรอบ 3 เดือนตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ยังไม่รวมกับปัญหาโรคไข้หวัดนกที่มีการเปิดเผย แม้จะไม่มีการยืนยันชัดเจนจากกรมปศุสัตว์ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่สังคมก็เกิดคำถามว่า ทั้งหมดมาจากระบบจัดการที่ยังไม่มีประสิทธิภาพด้วยหรือไม่ หรือการเปิดเผยปัญหาโรคระบาดจากสัตว์สู่คนเป็นเรื่องที่ไม่ควรประกาศ เพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์และกระทบต่อเศรษฐกิจการส่งออกสัตว์ปีก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชน ว่า ปัญหาโรคจากสัตว์สู่คนไม่ใช่มีแค่โรคพิษสุนัขบ้า แต่โรคพิษสุนัขบ้า ถือเป็นโรคที่จัดการควบคุมได้ง่าย หากสามารถควบคุมประชากรสุนัขจรจัด และมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างครบถ้วนจริงๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นหลายคนมองไปที่ความผิดของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่มีการทักท้วงการจัดซื้อวัคซีนฯ รวมทั้งไปเจอปัญหาคุณภาพวัคซีนอีก แต่สิ่งหนึ่งที่ปฎิเสธไม่ได้คือ ความรับผิดชอบของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ต้องมีการรับมือหรือร่วมแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วด้วยหรือไม่ หรือแม้แต่เรื่องการพบเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์บกก็ยังถูกกล่าวหาว่า ไม่เป็นความจริง เพราะตนไม่ได้มีซากตัวอย่างมาตรวจเชื้อ ทั้งๆที่ห้องปฏิบัติการที่จุฬาฯ สามารถตรวจเชื้อได้ทั้งสัตว์และคน แต่ปัจจุบันกรมปศุสัตว์เป็นผู้ดำเนินการหมด ยกเว้นเชื้อแอนแทรกซ์จะมีส่งมาเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหาโรคจากสัตว์สู่คน ไม่ว่าจะโรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดขึ้นแล้ว หรือความไม่ชัดเจนของโรคไข้หวัดนกในสัตว์บก ที่จะเสี่ยงติดสู่คนหรือไม่นั้น ควรมีทางออกอย่างไร ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า จริงๆ ประเทศไทยมีคำว่า One Health หรือที่เรียกว่าสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งมีหลายหน่วยงานทำมาก ทั้งกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย ฯลฯ แต่การทำงานจริงๆ กลับไม่ได้ตอบสนองต่อคำว่าสุขภาพหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง แม้แต่การตอบโต้ต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เห็นเพียงกระทรวงสาธารณสุขที่มีทีมระบาดวิทยา ลงพื้นที่ไปทำงานควบคุมโรคตามสถานการณ์ต่างๆ ที่ออกมาพูดก็ไม่ได้ต้องการชมกระทรวงสาธารณสุข แต่พูดความจริง ซึ่งถ้าจะให้ดีกว่านี้ต้องทำงานภาพรวมกับหน่วยงานต่างๆอย่างแท้จริงด้วย

“ขณะนี้มีความพยายามในการปรับโครงสร้างการทำงานอยู่ ซึ่งหน่วยงานอื่นต้องไม่รู้ แต่กระทรวงสาธารณสุขมีการดำเนินการเรื่องนี้ โดยมีศูนย์สุขภาพหนึ่งเดียว แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้ามีหน่วยงานระดับชาติมาดูเรื่องนี้ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ที่มีนพ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธานได้มีการพิจารณา และเดินหน้าประเด็นสาธารณสุขระดับชาติ ซึ่งจะมีเรื่องการควบคุมโรคจากสัตว์สู่คน การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทั้งเรื่องวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์และในคนก็จะมีการทำงานผ่านคณะกรรมการฯ ซึ่งเข้าใจว่าได้มีการร่างการทำงานผ่านสำนักงานมาตรฐานและการจัดการสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแห่งชาติหรือสมสส. ขึ้น ทราบว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งจะมีการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปฯและน่าจะความคืบหน้าการดำเนินงานช่วงสัปดาห์หน้า”ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว และว่า หากมีคณะทำงานนี้จริงๆ ก็จะทำให้การทำงานระดับชาติในการป้องกันควบคุมโรคดีขึ้น เพราะจะมีประเด็นปรับโครงสร้างด้วย โดยให้กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มาร่วมกันทำงานตรงนี้ แต่ในรูปแบบใดคงต้องรอการพิจารณาและประกาศแผนปฏิรูปด้านสาธารณสุขต่อไป

ด้าน นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้มีการเดินหน้าแผนการปฏิรูปด้านสาธารณสุขอยู่ ซึ่งมีการพิจารณาและเสนอการตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ขึ้น แต่จะทำงานผ่านสำนักงานมาตรฐานและการจัดการสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นสำนักเลขานุการ ซึ่งจะมีเรื่องการฟอร์มโครงสร้างการทำงานของแต่ละส่วนให้ตรงจุดมากขึ้น ไม่ซ้ำซ้อน

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ร.ต.อ.วิเชียร อุปนันทน์ ร้อยเวร สภ.ย่อยมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี อ.เมืองเพชรบุรี รับแจ้งจากชาวบ้านหมู่ 1 ต.ดอนยาง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ว่าพบซากสุกรจำนวนมากถูกทิ้งไว้ในคลองส่งน้ำD 18 หมู่ 1 ต.ดอนยาง จึงประสานตำรวจพิสูจน์หลักฐานจังหวัดเพชรบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรุดไปตรวจสอบพร้อมด้วยนายวีรวัฒน์ จากขันธ์ ปศุสัตว์อำเภอเมือง นายจักรพันธุ์ ปุณะตง สัตวแพทย์ชำนาญการด่านกักสัตว์เพชรบุรี นายพัสกร บุญผูก ปลัด อบต.ดอนยาง นายคำรณ สุพล กำนันตำบลดอนยาง นายสมเกียรติ หับเผย ผญบ.หมู่.1 ต.ดอนยาง

ภายในคลองส่งน้ำ D 18 พบซากสุกรที่ชำแหละแล้วเป็นชิ้นส่วนใหญ่ประกอบด้วย ช่วงขาหน้าซ้าย-ขวา ,ขาหลัง ซ้าย-ขวา, และส่วนหัว กว่า 100 ชิ้น ลักษณะเน่าขึ้นอืดส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรงลอยอยู่ในน้ำ และตกหล่นอยู่บริเวณไหล่ทางถนนลูกรังเลียบคลองอีกกว่า 10 ชิ้น เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ เจ้าหน้าที่ด่านกักสัตว์เพชรบุรี ชาวบ้าน และอาสาสมัครหน่วยกู้ภัยตำรวจทางหลวงเพชรบุรี ต้องใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงร่วมกันเก็บซากสุกรทั้งหมดใส่รถบรรทุก 6 ล้อขนาดใหญ่จึงแล้วเสร็จ

สอบถามนายณรงค์ หับเผย อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 109 หมู่ 1 ต.ดอนยาง ซึ่งมีบ้านอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 200 เมตร เล่าว่า เส้นทางดังกล่าวเป็นเป็นเส้นทางเปลี่ยว เวลากลางคืนมืดมาก ปกติไม่มีรถวิ่งเข้าออก เมื่อกลางดึกวันพุธที่ 28 มีนาคม เห็นแสงไฟรถขนาดใหญ่วิ่งเข้ามาจอดที่บริเวณดังกล่าวและดับไฟนานกว่า 30 นาทีแต่ไม่ได้สนใจ กระทั่งช่วงเช้าวันนี้ขี่รถจักรยานยนต์ผ่านได้กลิ่นเหม็นเน่าอย่างรุนแรงจึงจอดรถดูและพบเห็นซากสุกรเน่าลอยเต็มคลอง จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่มีการนำซากสุกรมาทิ้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นหลายเดือนก่อนหน้านี้แต่มีเพียง 10 กว่าชิ้นไม่มากเท่าครั้งนี้

นายสมเกียรติ หับเผย เปิดเผยว่าคลองส่งน้ำ D 18 เป็นแหล่งน้ำสำคัญ ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงใช้น้ำจากคลองในการเลี้ยงสัตว์ และการเกษตร การที่มีการนำซากสุกรมาทิ้งเช่นนี้อันตรายมากเพราะนอกจากจะส่งกลิ่นเหม็นแล้ว จะทำให้น้ำเน่าเสีย เกิดมลพิษ ที่สำคัญหากซากสุกรมีเชื้อโรคระบาดอยู่อาจส่งผลกระทบให้เกิดโรคแพร่กระจายสู่สัตว์ และคนได้ ตนในฐานะฝ่ายปกครองท้องที่จะเข้าไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้หาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ซ้ำซากอีก

ด้านนายวีรวัฒน์ จากขันธ์ เปิดเผยว่า กรณีเช่นนี้ยังไม่สามารถระบุแน่ชัดว่าผู้นำซากสุกรมาทิ้งเพราะสาเหตุใด เมื่อประมาณ 1 เดือนก่อนหน้านี้ก็พบมีการทิ้งซากสุกรที่ อ.เขาย้อย แต่ปริมาณไม่มากซึ่งก็ทราบว่ากำลังติดตามอยู่ ในกรณีวันนี้ได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณใกล้เคียงเพื่อสืบสวนหาที่มาที่ไปและสาเหตุของการทิ้งซากสุกรหากพบก็จะดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด ส่วนการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้นำยาฆ่าเชื้อมาฉีดพ่นที่บริเวณในคลอง นำซากที่สุกรไปตรวจสอบหาเชื้อโรคแต่ก็อาจทำได้ยากเนื่องจากซากสุกรเน่าเปื่อยมาก พร้อมให้เจ้าหน้าที่ด่านกักสัตว์เพชรบุรีนำซากสุกรทั้งหมดไปกลบฝังทำลายในสถานที่เฉพาะแล้ว

วันที่ 30 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะนี้ กลุ่มผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียน โรงเรียนอัสสัมชัญ จ.ระยอง ได้รวมตัวกันทางโซเชียล เพื่อร่วมคัดค้านการที่ผู้บริหารโรงเรียน ประกาศจะตัดต้นยาง ซึ่งเป็นไม้ใหญ่ต้นเดียวในโรงเรียนทิ้ง โดยอ้างว่า หากปล่อยเอาไว้ต้นไม้อาจจะหักโค่น หรือไม่ก็จะมีกิ่งไม้หักลงมาทำให้เด็กๆ ได้รับอันตรายได้ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เคยมีกิ่งไม้ตกลงมาใส่นักเรียนจนได้รับบาดเจ็บสาหัสมาแล้ว อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ปกครองได้พยายามเข้าไปขอร้องคณะผู้บริหารโรงเรียนว่า ให้ทบทวนแนวคิดดังกล่าวเสียใหม่ เพราะต้นยางนาต้นนี้มีมาก่อนโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนสร้างมา 55 ปี ต้นยางน่าจะมีอายุ ใกล้ๆ 100 ปี

ผู้ปกครองนักเรียน คนหนึ่ง กล่าวว่า โรงเรียนอัสสัมชัญ ระยอง และพื้นที่โดยรอบเป็นแหล่งที่มีต้นยางขึ้นมาก ทั้งข้างถนน และในสถานที่ราชการอื่นๆ เช่น ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แต่ยังไม่มีที่ไหนคิดจะตัดต้นไม้เหมือนที่โรงเรียนเลย

“ทางกลุ่มผู้ปกครองเราแจ้งเรื่องนี้ไปทางท่านอธิการบดีคนเก่า ให้ช่วยพูดกับท่านอธิการบดีคนปัจจุบัน ว่า ให้ช่วยชะลอโครงการนี้ออกไปก่อน เพราะทราบว่า โรงเรียนจะตัดต้นไม้ทิ้งในช่วงปิดเทอมนี้ ซึ่งท่านอธิการบดีคนเก่าก็กรุณามาพูดให้ แต่ได้ความว่า ไม่ได้ผล ซึ่งพวกเราคิดว่า การตัดต้นไม้ใหญ่ขนาดนี้ทิ้ง เพราะกลัวต้นไม้จะเป็นอันตรายกับเด็กไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องนัก น่าจะมีวิธีที่ดีกว่านี้” ผู้ปกครองคนเดิม กล่าว

นายอรรคพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ตามกฎหมายแล้ว ต้นยางต้นนี้อยู่ในโรงเรียน โรงเรียนมีสิทธิที่จะตัดได้ แต่ต้องขออนุญาตตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ตนเห็นต้นไม้แล้ว เป็นต้นไม้ใหญ่ที่สวยมาก ทั้งนี้ตนสั่งการให้ทางป่าไม้จังหวัดระยองเข้าไปพูดคุยกับทางผู้บริหารโรงเรียนแล้ว เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ รวมทั้งให้ทางรุกขกรของกรมป่าไม้ลงพื้นที่หาวิธีจัดการตัดแต่งกิ่งไม้ และปรับปรุงบริเวณโคนต้น เพื่อไม่ให้บริเวณรากทึบเกินไป

“หากเขาจะตัดก็ตัดได้ แต่ผมคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในโรงเรียน ที่ควรจะทำให้เด็กๆ เห็นถึงการอนุรักษ์ดูแลต้นไม้ใหญ่ ควรปลูกฝังให้เด็กรักต้นไม้ มากกว่าการแก้ปัญหาโดยการตัดไม้ทิ้ง มันมีวิธีการตัดแต่งต้นไม้ วิธีการดูแลไม่ให้กิ่งก้านหักโค่น มาสร้างอันตรายให้คนรอบๆ ข้างอยู่ หากโรงเรียนทำเรื่องนี้ให้เด็กๆ เห็น ก็จะเป็นการสร้างการเรียนรู้เรื่องหลักการจัดการต้นไม้ในโรงเรียนให้เด็กๆ ได้รู้อีกด้วย” รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว

ดร. อานนท์ เอื้อตระกูล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส (เห็ด) องค์การสหประชาชาติ ปี 2524-2548 บอกว่า หลายท่านคงรู้จักและเข้าใจกันดีว่าเห็ดกินแล้วมีประโยชน์ หรือส่วนใหญ่ก็เข้าใจกันว่าเห็ดเป็นแค่ผักชนิดหนึ่ง ที่นำมาประกอบอาหารได้เพียงเท่านั้น แต่จะมีสักกี่ท่านที่รู้และเข้าใจว่า จริงๆ แล้วเห็ดนั้นเป็นยา สามารถนำมาสร้างประโยชน์ รักษาโรคภัยได้มากมาย ครั้งนี้ ดร.อานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเห็ดมาให้ความรู้ แนะขั้นตอนการผลิตเห็ดเป็นยาที่ถูกต้อง

ขั้นตอนการผลิตเห็ดเป็นยา

การผลิตเห็ดเป็นยา จริงๆ แล้วเข้าใจไม่ยาก และเห็ดที่นำมาสกัดเป็นยาก็เพาะได้โดยวิธีทั่วไป เห็ดมีหลายชนิดบางชนิดเราสามารถเพาะในถุงพลาสติกได้ อย่างเช่น เห็ดนางรม นางฟ้า หูหนู มิลค์กี้ เป้าฮื้อ หลินจือ เป็นต้น แต่เห็ดบางชนิดอาจต้องเพาะเหมือนเห็ดฟาง คือเพาะบนดิน เช่น เห็ดเยื่อไผ่ สมัยนี้จะเพาะเห็ดทีนึงก็เป็นเรื่องง่ายมากขึ้น สังเกตเมื่อเส้นใยเดินเต็มให้เปิดฝาถุงออก เมื่อเปิดฝาออกเห็ดก็จะออกมา กรณีอันนี้คือเราต้องการนำดอกเห็ดไปประกอบอาหารเพื่อกินแทนผัก แต่ถ้าเป็นเรื่องของการเอาเห็ดไปทำยาแล้วมีอะไรมากกว่านั้น

คำว่า สกัด หลายท่านอาจจะเข้าใจว่าต้องใช้สารเคมี แอลกอฮอล์เพื่อสกัด เพื่อให้ได้สารบริสุทธิ์ ยามเป็นโรคอะไรเราจะฉีดสารบริสุทธิ์นั้นเข้าไป นั้นก็เหมือนกับว่าเรากำลังรักษาโรคแบบเทคโนโลยีตะวันตก ถามว่าได้ผลไหม ได้ผล ได้ผลแบบทันทีด้วย แต่พอได้ผลทันที ก็มีปัญหาตามมาคือ ราคาที่สูง และปัญหาเรื่องผลข้างเคียงที่ตามมา…เรื่องเห็ดเราเคยหลงทางมานาน หลงอย่างไร เราเคยเอาเห็ดมาสกัดเป็นสารเดี่ยว จากเห็ด 1 ตัน อาจจะได้สารบริสุทธิ์แค่ 1 กิโลกรัม ซึ่งต้องลงทุนสูงมาก และจริงๆ แล้วเห็ดสามารถเอามาทำเป็นยาได้โดยง่ายถ้าเรารู้วิธี

“เห็ด” ความเป็นยาอยู่ที่เบต้ากลูแคนหรือโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่ แต่ร่างกายคนเราไม่สามารถเอาไปใช้ได้โดยตรง ที่นี่เราจึงมีกรรมวิธีง่ายๆ ถ้าต้องการทำเห็ดเป็นยาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ควรจะเอาเห็ดมาหมักก่อน โดยนำดอกเห็ดชนิดต่างๆ มาหั่นหรือทุบ ตัวอย่าง เช่น เห็ดหลินจือ ถ้าจะใช้เห็ดหลินจือบางคนเข้าใจผิด จะใช้ตอนที่แก่ตอนที่สร้างสปอร์แล้วแบบนี้ไม่มีความหมาย ใช้อย่างถูกต้องคือ ใช้ตอนที่กำลังสร้างสปอร์ บางคนเข้าใจผิดไปเอาสปอร์มากิน อันนี้ยิ่งแย่ใหญ่เพราะร่างกายคนเราไม่สามารถย่อยสปอร์ได้
หั่นเสร็จเอามาใส่ในน้ำ สมมุติ เห็ด 1 กิโลกรัม ใส่น้ำไป 20 ลิตร แล้วใส่น้ำตาล ถ้าเป็นน้ำตาลที่ไม่ฟอกสีได้ยิ่งดีคือน้ำตาลทรายแดง ใส่ 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น 20 เปอร์เซ็นต์ กับน้ำ 20 ลิตร เท่ากับ ใส่เห็ด 4 กิโลกรัม เท่านั้น

ใส่ในขวด หรือภาชนะที่ปลอดสารพิษ ถ้าใส่ถังพลาสติกต้องเป็นแบบฟู้ดเกรด ใส่เกือบเต็มปล่อยให้เกิดการหมัก ใช้ผ้าคลุม แต่ถ้าใช้การหมักแบบนี้ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี เพราะจุลินทรีย์ธรรมชาติ มีทั้งเชื้อโรคและประโยชน์รวมกันอยู่ เราต้องหมักจนกระทั่งให้เป็นกรด กลายเป็นน้ำส้มสายชูจริงๆ ถึงจะมั่นใจได้ว่าไม่มีเชื้อโรค แต่ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้วมาถึงสูตรของ ดร. อานนท์ บ้าง

ของด็อกเตอร์เราจะรู้ว่าตัวที่ทำการหมักคือ จุลินทรีย์ที่อยู่ในกระเพาะหรือในลำไส้ที่เราเรียกว่าโปรไบโอติกส์ เราก็ไปเอาเชื้อโปรไบโอติกส์มา แล้วโปรไบโอติกส์เอามาจากไหน ไม่ใช่เอามาจากลำไส้นะ เราเอามาจากธรรมชาติ เช่น รากของต้นโกงกางที่มีเป็นหมื่นๆ ชนิด เราก็แยกเอาเชื้อที่ใช้ได้ ที่มีประโยชน์จริงๆ สัก 10 ชนิด แทนที่จะใช้เชื้อจากอากาศเราก็ใช้เชื้อบริสุทธิ์นี้ใส่เข้าไปในน้ำหมัก โดยมีการเพาะเชื้อจุลินทรีย์นี้มาก่อน หรือที่เรียกว่า เชื้อโปรไบโอติกส์ใส่เข้าไป สังเกตไหมถ้าเราหมักแบบวิธีธรรมชาติจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี แต่ถ้าใช้เชื้อจุลินทรีย์บริสุทธิ์เราใช้เวลาแค่ 1-2 สัปดาห์ ก็เริ่มกินได้แล้ว

วันที่ 30 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโซเชียลมีเดียมีการโพสต์ภาพถ่าย และเรื่องราวบรรยายความว่า “ทะเลไทย บรรลัยกันพอดี! แฟนเพจส่งรูปมาให้ช่วยพิจารณาหาทางออกด้วยความห่วงใย บอกว่าเป็นรูปการตรวจค้นของ จนท.ที่สนามบินเชียงใหม่ ที่มักจะเจอเป็นประจำ นั่นก็คือ “ปะการังทะเล” เอาไงล่ะทีนี้ ??? ” ซึ่งเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของท่าอากาศยานเชียงใหม่ ตรวจพบว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติพยายามลักลอบนำปะการังทะเล หรือซากสัตว์น้ำที่เก็บมาระหว่างการท่องเที่ยวในประเทศไทยออกนอกประเทศในช่วงเดินทางกลับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจพบและยึดไว้ได้เป็นประจำ พร้อมแสดงความห่วงใย

ทั้งนี้ร้อยโทวศิน พลนาวี รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ยอมรับว่าเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นจริงที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โดยท่าอากาศยานเชียงใหม่มีหน้าที่ในการตรวจวัตถุอันตรายต่อผู้โดยสารและอากาศยาน ซึ่งในส่วนของปะการังนั้น ปกติเมื่อตรวจพบแล้วจะต้องประสาน และให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจตามกฎหมายมาตรวจสอบ และดำเนินการ เพราะท่าอากาศยานเชียงใหม่ไม่มีอำนาจสามารถยึดไว้ได้ จำเป็นต้องแจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวเข้ามาตรวจสอบ แต่หากประสานไปแล้วไม่มีเจ้าหน้าที่มาก็ทำได้แค่เจรจากับนักท่องเที่ยวว่าสิ่งใดเอาไปได้หรือไม่ได้ หากนักท่องเที่ยวยินยอมก็จะยึดไว้ แต่หากไม่ยินยอมก็ไม่สามารถทำอะไรได้

สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ตรวจพบมีความพยายามจะนำปะการังหรือซากสัตว์น้ำออกนอกประเทศไปด้วยนั้น รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระบุว่า ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีน ที่มาจากต้นทางจากจ.กระบี่ และจ.ภูเก็ต แล้วมีเที่ยวบินที่จะเดินทางต่อไปต่างประเทศ ทั้งนี้เข้าใจว่านักท่องเที่ยวที่มาเที่ยว เมื่อได้มาเห็นแล้วก็อยากจะนำกลับไปเป็นที่ระลึก ส่วนการป้องกันแก้ไขปัญหานั้น เห็นว่าควรมีการให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวว่าไม่ว่าจะไปที่ใด ไม่ควรทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคนไทยควรจะช่วยกันแนะนำนักท่องเที่ยวด้วย เพื่อไม่ให้เกิดกระบวนการค้าสิ่งที่ไม่ควรค้า

ด้านเรือเอกอภิชาต สมฤทธิ์ นักวิชาการประมงชำนาญ การปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้าด่านตรวจสัตว์น้ำจ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นำซากปะการัง ติดมากับกระเป๋าเดินทาง ในรูปแบบของที่ระลึก ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ตักเตือน และตรวจยึดเอาไว้ ก่อนจะไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อสิ้นสุดการดำเนินคดี ก็จะมอบให้สถานศึกษาต่างๆ ไว้ศึกษาต่อไป โดยนักท่องเที่ยวที่นำมานั้น บางคนอาจไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย ก็ควรจะระมัดระวัง นอกจากปะการังแล้ว ที่ตรวจพบยังมีหอยสังข์แตร ที่เป็นสัตว์คุ้มครองเช่นกัน ซึ่งถ้ามีจำนวนมากก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้เลย

โดยมีความผิด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 ที่เชื่อมโยงกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส ซึ่งจะต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทางเจ้าหน้าที่จึงอยากฝากเตือนให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ว่าการเก็บเปลือกหอยหรือปะการังออกมา เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเก็บเองหรือซื้อมาในลักษณะเป็นของที่ระลึกก็ตาม ซึ่งการซื้อขายเป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้เกิดการล่า และจะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติอีกด้วย

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ รายงานว่า เกิดฝนตกครั้งแรกในรอบปี 2561 บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติฯ วัดปริมาณน้ำฝนได้ 6 มิลลิเมตร แม้จะไม่มาก แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณมากขึ้น ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็กลงได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในวันนี้อุณหภูมิบนยอดดอยอินทนนท์ยังคงหนาวเย็นวัดได้ 8-17 องศาเซลเซียส กิ่วแม่ปาน อุณหภูมิ 10-18 องศาเซลเซียส ส่วนที่ทำการอุทยานฯอุณหภูมิ 16-27 องศาเซลเซียส ยังคงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสธรรมชาติเฉลี่ย 1,000 คน/วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับในตัวเมืองเชียงใหม่ อุณหภูมิเฉลี่ย 23-36 องศาเซลเซียส สภาพอากาศยังคงมีหมอกควันปกคลุมเมือง แม้จะมีฝนตกในหลายพื้นที่แล้วก็ตาม แต่คาดว่าบ่ายวันนี้สถานการณ์น่าจะคลี่คลาย เนื่องจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือระบุว่า อาจจะมีพายุฝนฟ้าคะนองและวาตภัยในระยะอันใกล้นี้ จึงขอให้ประชาชนเตรียมรับมือภัยธรรมชาติไว้ด้วย

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมาเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ภัยแล้งและกำลังขยายวงกว้างออกไป นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ไม่มีน้ำทำนา ทำไร่แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้เลี้ยงกระบือ หรือควายของชาวบ้านใน ต.สาหร่าย อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ที่ต้องขาดแคลนแหล่งอาหารและแหล่งน้ำสำหรับเลี้ยงควาย 2 ฝูง จำนวนกว่า 20 ตัวไปด้วย ทำให้ชาวบ้านต้องพาฝูงควายของตัวเองเดินหาหญ้าและแหล่งน้ำกินไกลกว่า 5 กม. เพราะแหล่งน้ำที่เคยมีตามธรรมชาติแห้งไปหมด

นางบังอร ดีพิมาย อายุ 65 ปี บ้านเลขที่ 178 ต.สาหร่าย อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ชาวบ้านผู้เลี้ยงควายเผยว่า ภัยแล้งปีนี้เริ่มมีผลกระทบตั้งแต่ต้นปี แหล่งน้ำที่เคยมีตามทุ่งนาเหือดแห้งไปหมด หญ้าก็ไม่มีขึ้น จนต้องต้อนฝูงควายไปหากินตามคลองชลประทานที่ยังคงพอมีน้ำเหลืออยู่ติดก้นคลอง เพราะตรงจุดนั้นมีหญ้าขึ้นอยู่

แต่คาดว่าน้ำที่เหลือติดก้นคลองชลประทานน่าจะใช้เลี้ยงควายได้ไม่เกินครึ่งเดือนนี้ คงต้องต้อนควายหากินไปเรื่อยๆ และต้องคอยระวังไม่ให้ฝูงควายข้ามถนนไปมา เนื่องจากเสี่ยงอันตรายจากรถชน หากว่าไม่มีฝนตกลงมาช่วงกลางเดือนเมษายน จะส่งผลให้แหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่แห้งขอดจนหมด ส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงควายหลายรายใน อ.ชุมพวงอย่างแน่นอน

จากปัญหาโรคระบาดจากสัตว์ ทั้งโรคพิษสุนัขบ้าที่ชัดเจนว่าปีนี้หนักกว่าปีก่อน เริ่มตั้งแต่พบสุนัขตายจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น จนมีผู้ถูกกัด ข่วน หรือสัมผัสโรค และพบผู้เสียชีวิตที่มีการยืนยันเชื้อตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม รวม 7 คน ขณะที่ปี 2560 ทั้งปีมีคนเสียชีวิต 11 คน

แน่นอนว่าจากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่พบมากมาย นั่นเป็นเพราะปัญหาถูกสะสมมากว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในสัตว์ เพราะถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วง เนื่องจากเข้าข่ายทำงานซ้ำซ้อนภารกิจกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะเดียวกันก็พบปัญหาการจัดซื้อวัคซีนอีก รวมไปถึงการบริหารจัดการต่างๆ กระทั่งต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้

ไม่วายเรื่องพิษสุนัขบ้ายังไม่ทันคลี่คลาย ล่าสุด อาจารย์แพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ออกมาเปิดเผยถึงกรณีการตายผิดปกติของสัตว์บก อย่างชะมด อีเห็น เสือปลา ฯลฯ ในสวนสัตว์ จ.นครราชสีมา ซึ่งระบุว่าเป็นการตายผิดปกติจากเชื้อไข้หวัดนกเอช 5 เอ็น 1 (H5N1)

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าเป็นเรื่องลวงสร้างผลกระทบให้กับประเทศชาติ โดยเฉพาะการส่งออก จนกรมปศุสัตว์ออกมายืนยันว่าไม่เคยพบเชื้อดังกล่าว ขณะที่กรมควบคุมโรคออกมาระบุเพียงว่าเกิดขึ้นจริงเมื่อปี 2560 แต่จะเป็นเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่ ต้องถามทางกรมปศุสัตว์ แต่แน่ๆ ไม่พบการติดเชื้อมายังคน

แต่เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจะพบว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเมื่อเดือนกันยายน 2560 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาประกาศคุมเข้มโรคไข้หวัดนก 39 จังหวัด

จากกรณีที่เกิดขึ้นยังเป็นคำถามว่า สรุปข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และสิ่งที่ออกมาสะท้อนอะไรได้บ้าง แน่นอนว่าเรื่องนี้มีเหตุผลในการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคไข้หวัดนก สะท้อนอย่างหนึ่ง นั่นคือ การทำงานควบคุมป้องกันโรคอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงคำว่า ONE HEALTH แต่ก็มีหลากหลายหน่วยงานมาก ทั้งระดับกระทรวง ทั้งมหาวิทยาลัย แต่จะเป็น ONE HEALTH หรือที่เรียกว่าการบูรณาการอย่างแท้จริงหรือไม่

ไม่ค่อยแน่ใจ เพราะจากสถานการณ์การควบคุมโรคระบาดที่ผ่านมา ทั้งโรคพิษสุนัขบ้า หรือแม้กระทั่งโรคไข้หวัดนก ที่ทางกรมปศุสัตว์ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ก็เห็นสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนว่ายังมีปัญหาเรื่องการจัดการในระดับพื้นที่อยู่ ดังนั้น คงต้องถึงเวลาหรือไม่ที่จะมีการปรับเปลี่ยนการทำงานใหม่ โดยมีหน่วยงานหรือคณะทำงานระดับชาติที่ทำงานด้านนี้อย่างรวดเร็ว

ปัญหาโรคระบาดจากสัตว์ เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังอย่างครบวงจร เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าทั้งสภาพภูมิศาสตร์ สภาพอากาศ ความแปรปรวนต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ หรือจากน้ำมือของมนุษย์ก็ตาม ทั้งหมดมีส่วนให้เกิดปัญหาโรคระบาดขึ้น

ซึ่งข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า ร้อยละ 70 ของเชื้อโรคในมนุษย์เกิดจากสัตว์และแมลง ซึ่งตัวไวรัสเป็นตัวสำคัญ ยิ่งไวรัส RNA จะมีการปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมอยู่เสมอ จนมีความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพการติดเชื้อต่อสิ่งมีชีวิต และเมื่อติดเชื้อในสิ่งมีชีวิต หรือในสัตว์ก็จะมีการบ่มเพาะเชื้ออยู่ ซึ่งอาจแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการก็ได้ ปัญหาคือ จะมีการถ่ายทอดเชื้อได้ทั้งในตระกูลเดียวกัน หรือข้ามตระกูล

ยกตัวอย่างค้างคาว มีเชื้อก็ถ่ายทอดข้ามตระกูลได้ไปยังหมู ช่วงแรกยังไม่แสดงอาการ เชื้อไม่ปรับเปลี่ยน แต่พอนานเข้าก็เริ่มปรับเปลี่ยนเชื้อ เหมือนในเชื้อไข้หวัดนก H5N1 เริ่มจากในนกป่า และค่อยไปแพร่ไปเป็ดไล่ทุ่ง ซึ่งยังไม่รุนแรง แต่มารุนแรงจนเป็ดไล่ทุ่งตาย มาจนถึงไก่และพบไก่ตาย