กยท. รับสมัคร ผอ.ฝ่ายกฎหมาย ผู้มีความรู้ และประสบการณ์

เรื่องกฎหมายหลากหลายด้านการยางแห่งประเทศไทย เปิดรับสมัครบุคคลจากภายในและภายนอกองค์กร เพื่อคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย หวังได้คนมีความรู้ ประสบการณ์หลากหลายเรื่องกฎหมาย มาร่วมงานเพื่อพัฒนาการยางแห่งประเทศไทยร่วมกัน

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า กยท. เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย โดยเป็นบุคคลสัญชาติไทยอายุไม่เกิน 57 ปี จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิตจากสถาบันที่ได้รับการรับรองจาก ก.พ. โดยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ความเข้าใจ และมีทักษะความชำนาญและประสบการณ์ด้านกฎหมายหรือที่ปรึกษาด้านกฎหมาย การปรับใช้กฎหมายและการตีความกฎหมาย ตลอดจนการมีความชำนาญสูงมากในด้านการดำเนินคดี เอกสารทางกฎหมาย นิติกรรมสัญญา ยกร่างสัญญา ร่างประกาศ ที่สำคัญต้องมีประสบการณ์ในการบริหารงานระดับสูง เคยดำรงตำแหน่งทางการบริหารมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นจากภาครัฐหรือเอกชนและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน ทั้งนี้ การจ้างจะเป็นแบบสัญญาจ้างคราวละ 3 ปี

“การคัดเลือกผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรสามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้ เนื่องจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายเป็นตำแหน่งสำคัญที่ต้องการผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เรื่องกฎหมายที่หลากหลายด้านพร้อมรับกับภารกิจขององค์กรที่มีความหลากหลาย สามารถปฏิบัติงานหรือแก้ปัญหาที่ท้าทาย นำวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ มาใช้กำหนดทิศทาง และเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อการพัฒนา กยท.ต่อไป”

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารใบสมัครได้ที่ www.raot.co.th และยื่นใบสมัครพร้อมเอกสารประกอบด้วยตนเองที่การยางแห่งประเทศไทย ถ.บางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ในเวลา 08.30 – 16.30 น. (เว้นวันหยุดราชการ) หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทางการอินโดนีเซียจับยึดตัวลิ่นได้มากกว่า 100 ตัว โดยทั้งหมดยังมีชีวิตอยู่ ในระหว่างจู่โจมเข้าตรวจค้นเรือประมงลำหนึ่งนอกชายฝั่งทางตะวันออกของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันอังคาร(24 ต.ค.)ที่ผ่านมา นับเป็นการจับยึดตัวลิ่มที่เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่มีการประเมินว่ามีมูลค่าราว 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 49 ล้านบาท

เจ้าหน้าที่นาวิกโยธินอินโดนีเซียแถลงถึงการจับยึดตัวลิ่นครั้งนี้ว่าเป็นผลจากการได้รับแจ้งเบาะแสจากชาวบ้านในพื้นที่ที่เห็นกลุ่มชายฉกรรจ์พยายามที่จะลักลอบขนตัวลิ่นไปยังประเทศมาเลเซีย ขณะที่ชายฉกรรจ์ที่ถูกจับกุมครั้งนี้มี 3 คน อายุ 22 ปี 2 คน และ 25 ปี 1 คน ให้การรับสารภาพว่าได้รับว่าจ้างให้ขนตัวลิ่นไปส่งที่ประเทศมาเลเซีย โดยหากศาลตัดสินว่าพวกเขากระทำผิดจะได้รับโทษเป็นจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 100 ล้านรูเปีย (ราว 240,000 บาท) ฐานละเมิดกฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์ของอินโดนีเซีย

“อภิรดี”สั่งดูแลสถานการณ์ราคาสินค้าในจังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด ป้องกันไม่ให้สินค้าขาดแคลนและเกิดการฉวยโอกาส ย้ำหากฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด เผยให้เข้าไปดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หากจำเป็นต้องเร่งเก็บเกี่ยว ให้ช่วยประสานรถเกี่ยวเข้าไปเกี่ยวและโรงสีเข้าไปรับซื้อ ส่วนภาคธุรกิจให้พิจารณามาตรการช่วยเหลือตามความเหมาะสม

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในและพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ๆ ประสบปัญหาน้ำท่วม ให้เข้าไปดูแลสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าขาดแคลน และดูแลพ่อค้าแม่ค้าห้ามไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาและกักตุนสินค้า จนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยหากพบว่ามีการฝ่าฝืนก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด โดยมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ขอให้สำรวจสถานการณ์ราคาสินค้าด้วยว่า หากพื้นที่ใดมีปัญหาสินค้าขาดแคลน ให้เร่งประสานนำสินค้าจากพื้นที่ใกล้เคียงส่งสินค้าเข้าไปในพื้นที่ทันที และให้เตรียมความพร้อม หากน้ำลดแล้ว ให้ประสานเพิ่มปริมาณสินค้าที่จำเป็นต่อการทำความสะอาดบ้านเรือน เช่น ไม้กวาด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นที่ อุปกรณ์วัสดุซ่อมแซมบ้านเรือน เพื่อให้ประชาชนได้ซื้อไปใช้ในการดูแลและซ่อมแซมบ้านเรือนด้วย”นางอภิรดีกล่าว

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปให้เตรียมความพร้อมในการจัดธงฟ้า นำสินค้าอุปโภคบริโภค ที่จำเป็นต่อการ ครองชีพ เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ อาหารสำเร็จรูป น้ำตาลทราย และเครื่องนุ่งห่ม ลงไปจำหน่ายในพื้นที่ๆ ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจจะปรับจากการจัดส่งรถธงฟ้าเคลื่อนที่ ซึ่งแต่เดิมจะเน้นการส่งเข้าไปยังพื้นที่ๆ ยังไม่มีร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เพื่อให้ประชาชนใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐรูดซื้อสินค้า มาเป็นการขับตะเวนเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ๆ ประสบภัยน้ำท่วมก่อน

นางอภิรดีกล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเฉพาะสินค้าข้าวที่กำลังอยู่ใกล้จะเก็บเกี่ยว ให้เข้าไปติดตามดูว่ามีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และให้ประสานรถเกี่ยวเข้าไปช่วยเกี่ยวข้าว และประสานโรงสีเข้าไปช่วยรับซื้อข้าว กรณีที่เกษตรกรจำเป็นต้องรีบเกี่ยวข้าว เพื่อหนีน้ำ

ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจในจังหวัดที่ประสบปัญหาอุทกภัย โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสมว่าจะมีการขยายระยะเวลาทำธุรกรรมทางนิติบุคคล ทั้งการแจ้งบัญชีและเอกสารสูญหาย การส่งงบการเงิน การยื่นจดทะเบียนนิติบุคคลหรือไม่

นายวรพจน์ ลิ้มล้อม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แจ้งข้อมูลรายได้ประจำปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559-กันยายน 2560) สามารถเก็บเงินรายได้อุทยานทั่วประเทศได้ถึง 2,413 ล้านบาท ถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ โดยสูงกว่ารายได้ประจำปีงบประมาณ 2559 จำนวน 400 ล้านบาท ซึ่งอยู่ที่จำนวน 1,982 ล้านบาท

สำหรับปีนี้อุทยานแห่งชาติที่สามารถจัดเก็บเงินรายได้สูงที่สุดก็คืออุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี โดยสามารถจัดเก็บรายได้รวมทั้งสิ้น 669,107,180 บาท
สำหรับงบประมาณที่กลับมาพัฒนาพื้นที่จังหวัดกระบี่ร้อยละ 20 นั้น ส่วนใหญ่ใช้สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ดูแลนักท่องเที่ยว เช่น ยานพาหนะ ที่พักสำหรับเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์สำหรับการปฐมพยาบาลและการช่วยชีวิตเบื้องต้นสำหรับการรองรับนักท่องเที่ยวก็จะมีโครงการสำคัญ ได้แก่ ลานจอดรถพร้อมห้องน้ำ วงเงิน 19.6 ล้านบาท อาคารค่ายพักเยาวชน 15.9 ล้านบาท บ้านพักนักท่องเที่ยว 10.7 ล้านบาท เพิ่มห้องน้ำห้องสุขาบริการนักท่องเที่ยวอีก 3 ล้านบาท ส่วนโครงการอื่น ๆ จะเป็นการจัดซื้อยานพาหนะเรือตรวจการณ์ รถตรวจการณ์ ที่พักเจ้าหน้าที่ ทุ่นจอดเรือ อุปกรณ์กู้ภัย และโครงการอบรมเพิ่มศักยภาพบุคลากร

นายวรพจน์กล่าวอีกว่า จำนวนนักท่องเที่ยวยังคงเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวเข้าเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จำนวน 335,470 คน ปี 2559 เพิ่มจำนวนเป็น 1,739,571 คน และในปี 2560 ยอดสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 682,839 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมากว่า 2 หมื่นคน

ขณะที่จำนวนเรือท่องเที่ยวก็เพิ่มมากขึ้น โดยสถิติที่มาขออนุญาตเข้าอุทยานฯเมื่อปี 2558 อยู่ที่ 92 ลำ ปี 2559 ขออนุญาตอีก 1,531 ลำ และปี 2560 ขอเพิ่มอีก 248 ลำ โดยมีเรือนำเที่ยวที่เข้าเขตอุทยานกว่า 1,871 ลำ

ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติปกครองประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนไทย และทั่วโลกว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย และกำลังพระสติปัญญาในการดูแลสารทุกข์สุกดิบของปวงอาณาประชาราษฎร์ตลอดมา

พระองค์เสด็จฯเยี่ยมเยือนราษฎรทั่วทุกสารทิศ ทุกภูมิภาคของประเทศไทย และตระหนักถึงสภาพความเป็นอยู่ของปวงราษฎรที่ต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ ในการดำรงชีวิต ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะแก้ไข และบรรเทาความเดือดร้อนแก่พสกนิกรไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด และไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลเพียงใดก็ตาม เพื่อให้ประชาชนของพระองค์มีความอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันจะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,600 โครงการ ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้ หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงถือเป็นหลักการที่องค์กรต่าง ๆ นำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารองค์กร และบริหารทรัพยากรบุคคล อันเป็นการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ที่นำหลักการทรงงานของพระองค์ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

โดยหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประกอบด้วย 1.ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยในการทรงงานของพระองค์ จะทรงศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด รอบคอบ และเป็นระบบ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อใช้ในการช่วยเหลือประชาชนของพระองค์อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ตรงกับความต้องการ

2.ระเบิดจากข้างใน ซึ่งพระองค์ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาคน โดยจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชนมีความพร้อมก่อน ไม่ใช่นำเอาความเจริญหรือบุคลากรจากภายนอกเข้าไปในชุมชน ทั้งที่ชุมชนไม่ได้มีการเตรียมตัว

3.แก้ปัญหาที่จุดเล็ก พระองค์จะทรงแก้ไขปัญหา ด้วยการมองปัญหาในภาพรวม (macro) ก่อนเสมอ แต่ในขณะที่การแก้ปัญหานั้น พระองค์จะทรงเริ่มจากจุดเล็ก ๆ (micro) คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม

4.ทำตามลำดับขั้นตอน ในการทรงงาน พระองค์จะเริ่มจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน อย่างเช่น ด้านสาธารณสุข เมื่อประชาชนร่างกายแข็งแรงแล้วก็จะสามารถทำประโยชน์ด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ เพราะสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญในการประกอบอาชีพ รวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยีที่เรียบง่าย การปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ราษฎรนำไปปฏิบัติ และเกิดประโยชน์สูงสุด

5.ภูมิสังคม โดยในการพัฒนาใด ๆ พระองค์จะให้ความสำคัญกับการคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นเป็นอย่างไร และสังคมวิทยา วัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน

6.องค์รวม พระองค์ทรงมีวิธีคิดอย่างเป็นองค์รวม (holistic) หรือจะเรียกว่า มองสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ครบวงจร และเป็นพลวัตที่ทุกมิติเชื่อมโยงกัน ซึ่งจะเห็นได้จากการพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการใดโครงการหนึ่งจะทรงมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น และแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง

7.ไม่ติดตำรา โดยในการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ พระองค์จะทรงอนุโลม และรอมชอมกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสภาพของสังคมจิตวิทยาแห่งชุมชน โดยไม่ผูกติดกับวิชาการ และเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริง

8.ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งในการพัฒนาและช่วยเหลือราษฎร พระองค์ทรงใช้หลักการแก้ปัญหา ด้วยความเรียบง่าย และประหยัด โดยราษฎรสามารถทำเองได้ หาได้ในท้องถิ่น และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่มาแก้ไขปัญหา ไม่ต้องลงทุนสูง หรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยาก

9.ทำให้ง่าย ในการคิดค้น ปรับปรุง และแก้ไขปัญหาของประเทศ พระองค์ทรงทำในสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ ระบบนิเวศโดยส่วนรวม ตลอดจนสภาพสังคมของชุมชนนั้น ๆ อันจะเห็นจากการพัฒนาประเทศในรูปแบบของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

10.การมีส่วนร่วม ในการทรงงาน พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย ทั้งสาธารณชน ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมกันทำงานโครงการพระราชดำริ และทรงคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชน หรือความต้องการของสาธารณชนด้วย ดังวิธีการหนึ่งที่พระองค์ทรงใช้ คือ ประชาพิจารณ์

11.ประโยชน์ส่วนรวม โดยการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และการพระราชทานพระราชดำริในการพัฒนา ช่วยเหลือพสกนิกร พระองค์ทรงระลึกถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ

12.บริการที่จุดเดียว (one stop services) พระองค์ทรงใช้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้นแบบในการบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อที่ผู้มาขอใช้บริการจะประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย โดยมีหน่วยงานราชการต่าง ๆ มาร่วมดำเนินการ และให้บริการประชาชน ณ ที่แห่งเดียว ซึ่งถือเป็นรูปแบบการบริการแบบเบ็ดเสร็จที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย

13.ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ พระองค์ทรงเข้าใจธรรมชาติ และต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดกับธรรมชาติ มองปัญหาธรรมชาติอย่างละเอียด ซึ่งหากต้องการแก้ไขธรรมชาติ จะต้องใช้ธรรมชาติช่วยเหลือ เช่น การแก้ไขปัญหาเสื่อมโทรม ด้วยการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก โดยให้ธรรมชาติช่วยในการฟื้นฟูธรรมชาติ

14.ใช้ธรรมปราบอธรรม พระองค์ทรงนำความจริง ในเรื่องความเป็นไปแห่งธรรมชาติ และกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลักการ แนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหา และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติ เข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ

15.ปลูกป่าในใจคน เป็นอีกหนึ่งหลักการที่พระองค์มองว่าการที่จะฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมาดังเดิมนั้น สิ่งสำคัญจะต้องปลูกจิตสำนึกในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน

16.ขาดทุน คือ กำไร เป็นอีกหนึ่งหลักการที่พระองค์ทรงมีต่อพสกนิกรไทย ซึ่ง “การให้” และ “การเสียสละ” เป็นการกระทำอันมีผลเป็น “กำไร” คือ ความอยู่ดีมีสุขของราษฎร ที่สามารถสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนผ่านการทรงงานตลอด 70 ปีของพระองค์

17.การพึ่งตนเอง ในการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ พระองค์ทรงแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ด้วยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้มีความแข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตได้ และขั้นต่อไป คือ การพัฒนาให้ประชาชนอยู่ในสังคมได้ ตามสภาพแวดล้อม และพึ่งตนเองได้ในที่สุด

18.พออยู่พอกิน ในการพัฒนาเพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ประสบความสุข สมบูรณ์ในชีวิต พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรทุกภาคของประเทศ และทรงเข้าใจในสภาพปัญหาที่ทำให้ประชาชนตกอยู่ในวงจรแห่งทุกข์เข็ญ จึงพระราชทานความช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อพสกนิกรมีความกินดีอยู่ดี มีชีวิตอยู่ในขั้นพออยู่พอกิน ก่อนที่จะขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป

19.เศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นปรัชญาที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย มาโดยตลอดกว่า 30 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยให้ดำเนินชีวิตไปบนทางสายกลาง และเมื่อมีกระแสโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ พระองค์ทรงย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ซึ่งเป็นแนวทางแห่งการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ในการพัฒนาและบริหารให้ดำเนินไปในทางสายกลาง เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

20.ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน ดังพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2522 ที่ว่า…คนที่ไม่มีความสุจริต คนที่ไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์แท้จริงที่สำเร็จ

21.ทำงานอย่างมีความสุข ในการทรงงาน พระองค์จะทรงมีพระเกษมสำราญ และมีความสุขทุกคราที่จะช่วยเหลือประชาชน

22.ความเพียร ในการริเริ่มดำเนินโครงการต่าง ๆ ในระยะแรกที่ไม่ได้มีความพร้อมในการดำเนินงาน พระองค์ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น และพระองค์ไม่ได้ท้อพระราชหฤทัย ทรงอดทน และมุ่งมั่นดำเนินงานนั้น ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไป ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์พระมหาชนก

23.รู้ รัก สามัคคี ถือเป็นหลักการที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่อง “รู้ รัก สามัคคี” มาอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสามคำมีค่า และมีความหมายลึกซึ้ง และสามารถปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย

โดยคำว่า “รู้” คือ “การที่จะลงมือทำสิ่งใด จะต้องรู้ถึงปัจจัย รู้ถึงปัญหา รู้ถึงวิธีการแก้ไข”

“รัก” คือความรัก เมื่อรู้ครบแล้ว จะต้องมีความรัก และพิจารณาที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้น ๆ “สามัคคี” คือในการที่จะลงมือปฏิบัติ ควรคำนึงเสมอว่าเราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นองค์กร เป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

ดังนั้น เชื่อว่าหากองค์กรใดนำหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปประยุกต์ใช้ จะทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ ขององค์กรประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นไป ซึ่งจะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ มากมาย ที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาค และพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่สร้างความอยู่ดี กินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทย ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา

เมื่อรู้ว่าหมู่บ้านจะมีพิธีกรรมสำคัญ แผนที่วางไว้ว่าจะกลับวันนี้จึงมีอันพับไป เดชะบุญหรือบาปก็ตามที่ทำให้เรามีความชอบที่ไม่ต่างกัน แค่มองตาก็รู้กัน เราจึงอยู่ที่ซิตงต่ออีกคืนเพื่อสอดส่องพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวทิเบต

หลังจบอาหารเช้าฉันกับเงาศิลป์ชวนกันเดินไปวัดที่มีพิธีกรรม เราไม่รู้ว่าวัดอยู่ทิศไหนของหมู่บ้าน แต่ก็เดินเรื่อยๆ ไปตามถนน โดยบอกตัวเองว่าให้สัญชาตญาณนำทางไป กระทั่งมาหยุดอยู่ตรงลานกว้างที่มีทางแยก ขณะชั่งใจหรือพูดสวยๆ ว่า ตรวจสอบสัญชาตญาณก่อนว่าจะไปทางไหนดี พอดีกับที่มีรถแล่นมาจอดตรงลานหลายคัน มีธงผ้าเป็นสัญลักษณ์ว่าเกี่ยวกับศาสนาแน่นอน เราปรี่เข้าไปถามผู้ชายกลุ่มหนึ่งด้วยภาษามือ ว่าวัดไปทางไหน เขาคนหนึ่งส่งภาษามือเข้าใจได้ว่าให้รออยู่ที่นี่

ท้ายรถปิกอัพรถคันหนึ่งมีถังขนาดใหญ่วางอยู่ ผู้ชายสองคนช่วยกันจุดไฟไม้สนกับเมล็ดข้าวจนเกิดควันพวยพุ่ง จากนั้นเขาแจกผ้าสีขาวให้คนละผืนรวมเราสองคนด้วย ทำมือให้ยืนเรียงแถวชิดริมทาง ขณะที่รถคันหนึ่งกำลังแล่นมาช้าๆ อาลู่ลูกชายหม่าม้าเจ้าของโรงแรมที่เราพักเป็นคนขับ มีลามะผู้ใหญ่ที่น่าจะเป็นคนสำคัญนั่งอยู่ในรถอาลู่ชะลอรถจอด พวกเราที่ยืนแถวเข้าไปส่งผ้าให้ลามะคล้องคอแล้วตบหัว จากนั้นก็เอาผ้าสีขาวผูกหน้ารถ

แล้วรถก็ขับเป็นขบวนตามกันไป royalweddingcharityfund.org ชายหนุ่มคนหนึ่งพยักหน้าให้เราขึ้นรถไปกับเขา นี่เท่ากับเราได้เข้าขบวนพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว รถไปจอดที่พักของลามะผู้ใหญ่สักครู่ก็ขับออกมามุ่งหน้าไปวัด ระหว่างทางที่รถผ่านมีชาวบ้านยืนยกมือไหว้ บางคนจุดธูปด้วย ที่วัดพิธีกรรมต่างๆ กำลังเริ่มขึ้น ด้านนอกส่วนหนึ่งจัดเป็นที่ทำอาหาร ซึ่งดึงดูดฉันให้สาวเท้าเข้าไปดูก่อนอย่างอื่น ไม่ต่างกับครัวงานเดิมๆ บ้านเรา มีเตาฟืนกับกระทะใบใหญ่ มีเนื้อสัตว์กับพืชผักกองอยู่จำนวนมาก และมีผู้หญิงหลายคนกำลังมือระวิงกับการปรุงอาหาร

พิธีกรรมจัดขึ้นในโบสถ์ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปทิเบตงดงาม ผู้ที่ทำพิธีกรรมส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็เป็นใหญ่อยู่ในครัว ไม่ต่างกับบ้านเราสักเท่าไร ในโบสถ์ห้ามถ่ายรูป ฉันร่วมสังเกตการณ์สักพักก็ออกมาข้างนอก นั่งดูผู้คนสนุกกว่า ฉันประทับใจผู้เฒ่าคนหนึ่งดูเดินตามแกมาตั้งแต่ทางเข้าวัด แกเดินวนหมุนกงล้อมนตราฉันก็ทำตามแก บางทีก็เข้าไปช่วยประคองแกเดิน หลังจากนั้นจึงกลายเป็นหลานรัก แกไปนั่งลงตรงไหนก็จะกวักมือเรียกให้ฉันเข้าไปนั่งใกล้ๆ

ฉันเห็นว่าคนที่นี่เขาจะให้ความสำคัญให้ความเคารพคนชรา เด็กๆ จะเข้ามาช่วยจูงช่วยประคองผู้เฒ่า มานั่งพูดคุยด้วย ไม่ปล่อยให้ผู้เฒ่านั่งเหงาเดียวดาย ดูอบอุ่นมากทีเดียว ฉันคุยกับเงาศิลป์ว่าเราแก่ตัวไปจะมีเด็กๆ มาห้อมล้อมคอยจับจูงแบบนี้มั้ยหนอ ศิลป์หัวเราะในลำคอ ตอบอย่างใจร้ายว่า…ไม่มีหรอก

ระหว่างนั่งรอพิธีกรรมในโบสถ์ เราได้รับแจกขนมหวานปั้นเป็นแท่งสามเหลี่ยมเคลือบเทียนสีแดง รสชาติหวานติดคอ น่าจะทำจากธัญพืชหลายอย่าง กวนกับน้ำตาลหรือน้ำผึ้งจนเข้าเนื้อ กำลังกินขนมหวานติดคอยังไม่ทันหมดก้อน พิธีกรรมในโบสถ์ก็สิ้นสุดลง ผู้คนกรูออกมาจากโบสถ์ ระหว่างนี้ฝ่ายการครัวก็เริ่มตั้งโต๊ะจัดสำรับกับข้าวบริเวณลานโล่งด้านนอกนั่นเอง พระฉันเสร็จชาวบ้านก็กินต่อ รวมทั้งฉันกับศิลป์ด้วย

หลังจากนั้น มีพิธีกรรมต่อที่ด้านนอก ลามะสองรูปนั่งสวดในปะรำพิธี ชาวบ้านนั่งราบรอบบนพื้น หลังสวดเสร็จผู้คนเรียงแถวเดินไปให้ลามะเคาะหัว ทุกคนหย่อนหยวนลงในภาชนะรองรับ กว่าจะถึงคิวเราซึ่งฉันพยุงแม่เฒ่าไปโดนเคาะหัวด้วยกัน เงินหยวนก็กองพะเนินแล้ว เดินแถวออกมาจนสุดมีคนคอยแจกขนมแบบเดียวกับที่เรากินจากนั้นตักน้ำนมรดมือ บางคนเตรียมเอาน้ำนมตบหัว บางรายเตรียมขวดมาใส่น้ำนมกลับบ้าน คล้ายๆ รดน้ำมนต์บ้านเรานั่นแหละ

อีกมุมหนึ่งของพิธีกรรมมีการก่อไฟเผาใบสนและเมล็ดข้าวกับเมล็ดพืชอื่นๆ มีชาวบ้านออกไปเดินรอบกองไฟ ฉันไม่รู้ความหมาย เพราะไม่มีใครสามารถอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ ได้แต่คาดเดาว่าพิธีกรรมนี้น่าจะเกี่ยวกับการเพาะปลูกของเขา จากการที่มีเมล็ดพืช มีนม เกี่ยวโยงอยู่ในพิธีกรรม แต่ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับสิ่งใด ฉันกับศิลป์รู้สึกอิ่มเอิบเปรมใจที่ได้มาร่วมในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน โดยเราไม่ได้ตั้งใจมาก่อน ดูทีว่าเราอาจจะมีความผูกพันกับชาวทิเบตมาแต่ชาติปางก่อน

เสร็จพิธีต่างๆ ผู้คนทยอยกลับบ้าน บางส่วนยังนั่งสนทนากันอยู่ เป็นวาระอันดีที่ชาวบ้านได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันนานทีปีหน ฉันกับศิลป์ลาผู้เฒ่าแล้วเดินออกมาอาศัยรถคันเดิมกลับที่พัก รถมาจอดส่งตรงทางแยกที่เราพบกัน

“เดินไปทางนู้นมั้ย เผื่อเจอแม่น้ำโขง” เงาศิลป์ชวนเดินไปอีกทางแยกที่ถนนยังโรยกรวด เทือกเขาทอดทะมึนน่าเกรงขาม เราเดินอย่างไม่เร่งรีบไปตามถนน ลมพัดเบาๆ ชวนแช่มชื่น ฉันมองเห็นรูปทรงสีแดงขนาดใหญ่แต้มอยู่บนหน้าผา นึกถึงภาพเขียนสีที่ผาแต้มริมฝั่งแม่น้ำโขง ขณะที่กำลังเดินต้านลมและทางลาดชันขึ้น ฉันเพ่งไปที่สีแดงบนหน้าผา หมายใจว่าจะต้องเข้าไปถึงจุดนั้นให้ใกล้ที่สุด

เมื่อมาถึงทางโค้งลมยิ่งพัดแรงจนหน้าชา รู้สึกเหมือนกำลังเดินต้านพายุ ตรงนี้คงเป็นช่องเขาที่ลมพัดผ่านพอดี หรือบางทีอาจมีบางสิ่งกำลังทดสอบเราอยู่ ฉันกับเงาศิลป์พากันเดินต้านสายลมแรงต่อไป ตอนนี้เราเดินเงียบๆ ไม่คุยกัน เพราะใช้พลังงานไปกับการต้านแรงลมเดินขึ้นเนิน สีแดงบนหน้าผาค่อยๆ ใกล้เข้ามา ฉันก้าวขาหนักหน่วงต่อ แม้จะเหนื่อยหอบ