กรณีเพาะในกระบะ ใช้วัสดุเพาะประกอบด้วยขุยมะพร้าว

ทรายหยาบ ขี้เถ้าแกลบ อัตรา 1 : 1 : 1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน เกลี่ยวผิวให้เรียบ ให้ระดับผิววัสดุเพาะต่ำกว่าขอบกระบะเล็กน้อย ขีดร่องตื้นให้เป็นรอย ตามแนวกว้าง หรือยาว ตามความเหมาะสม แต่ละร่องห่างกัน 5 เซนติเมตร แล้วหยอดเมล็ดตามแนวที่ขีดไว้ ให้แต่ละเมล็ดห่างกัน 5 เซนติเมตร แล้วกลบเมล็ดด้วยวัสดุเดียวกัน กลบเบาๆ แล้วรดน้ำตามด้วยฝักบัวเป็นฝอย แล้วคลุมด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ช่วยรักษาความชื้น แล้วรดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง ภายใน 1 สัปดาห์ เมล็ดจะงอกให้เห็น หลังงอกแล้ว 7-10 วัน จึงถอนกล้านำไปปลูกลงแปลงได้

วิธีปักชำยอด เป็นผลพลอยได้จากการเด็ดยอดและกิ่ง เพื่อกระตุ้นให้แตกกิ่งด้านข้าง คือเมื่อปลูกต้นกล้าได้ 21-25 วันแล้ว ต้องเด็ดยอดออก ระยะนี้ให้สังเกตว่ามีใบจริง 4 คู่ ที่ส่วนยอดมีใบเล็กๆ ปรากฏให้เห็นอีก 1-2 คู่ ให้เด็ดยอดทิ้งเบาๆ อย่าให้แผลช้ำ นำยอดที่มีความยาว 1-2 นิ้ว ชุบในน้ำยาเร่งรากปักชำลงในวัสดุเพาะที่มีส่วนผสมของขุยมะพร้าว และขี้เถ้าแกลบ ฝังลึกพอประมาณ กดอัดวัสดุปลูกรอบกิ่งชำพอแน่น ให้ตั้งตัวได้ แต่ละยอดปักห่างกัน 5 เซนติเมตร นำกระบะเก็บในร่ม หมั่นรดน้ำภายใน 1 สัปดาห์ กิ่งชำจะออกรากให้เห็น

ก่อนนำปลูกลงแปลงให้นำออกมารับแดด 3-4 วัน โอกาสรอดตายจะสูงขึ้น ข้อด้อยของวิธีปักชำ ต้นที่ได้ดอกจะเล็กกว่าต้นที่ปลูกจากเมล็ด ทำได้ไม่ยากหากใช้ความพยายามครับ

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเรื่องการส่งออกอาหารไทย โดยกำหนดนโยบายกระตุ้นอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบาย “ครัวไทยสู่ตลาดโลก” ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย “แผนงานโครงการวิจัยครัวไทยสู่ตลาดโลก” ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นโครงการที่ตอบสนองนโยบายและเป้าหมายของรัฐบาล ที่เกิดจากแนวคิดทำอย่างไรให้อาหารไทยเป็นอาหารจานโปรดของทั่วโลก

แต่การที่จะก้าวไปเป็นครัวไทยตลาดโลกได้นั้น จำเป็นต้องแก้ปัญหารสชาติที่ผิดเพี้ยนของอาหารไทยในต่างประเทศทั่วโลก และหาวิธีการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง จึงได้มุ่งเน้นรสชาติแท้ของอาหารไทย โดยการพิสูจน์สายพันธุ์แท้ของวัตถุดิบ และกระบวนการปรุงที่คงรสชาติดั้งเดิม รวมถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติแท้ สามารถปรุงได้สะดวก รวดเร็ว ปรุงที่ไหนก็ได้รสชาติแท้ดั้งเดิม อีกทั้งยังพิสูจน์ความเป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์วัตถุดิบ ด้วยการศึกษาประโยชน์ในเชิงโภชนาการและสุขภาพของอาหารไทย พร้อมหาแนวทางเผยแพร่ไปสู่กลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายโดยเฉพาะ ชาวต่างชาติ ผู้สูงอายุ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนนำไปผลิต จำหน่าย ทั้งในและต่างประเทศ และหากลยุทธ์การตลาดในการเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ตลอดจนร่วมกับเครือข่ายในการจัดกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ

การดำเนินงานภายใต้แผนครัวไทยสู่ตลาดโลกได้มีการดำเนินงานวิจัยภายใต้โครงการรวมทั้งสิ้น16 โครงการ มีผลผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ผลผลิตที่เป็นผลิตภัณฑ์ จำนวน 65 รายการ ผลผลิตที่เป็นเทคโนโลยี เทคนิควิธี กระบวนการ กรรมวิธี จำนวน 68 รายการ ผลผลิตที่เป็นองค์ความรู้สูตรอาหาร จำนวน 65 รายการ หลักสูตรการอบรมเผยแพร่ความรู้ จำนวน 4 รายการ ผลผลิตที่เป็นสื่อประเภทต่าง ๆ จำนวน 4 รายการ และแนวทางที่เหมาะสมในการนำผลผลิตไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ในรูปแบบการอบรม การสาธิต การทดสอบ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคธุรกิจเอกชนเพื่อนำสูตรและกระบวนการผลิต ไปผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ จำนวน 7 โครงการ รวมทั้งสิ้น 47 รายการ

นอกจากนี้ยังมีการขยายผลเพื่อทดสอบตลาดร่วมกับเอกชน โดยการนำเมนูที่ผ่านการทดสอบไปให้กับร้านอาหารไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีนไปใช้ และการอบรมการประกอบอาหารไทยให้กับบุคคลทั่วไป เชพ บุคคลที่ทำงานสถานทูตอยู่ในประเทศไทย นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ และสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศในการจัดกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลในเชิงสุขภาพ เพื่อให้ต่างชาติได้รับรู้ และเป็นการเพิ่มมูลค่าของอาหารไทยด้วย

ทั้งนี้มีมหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นผู้รับทุนสนับสนุนการทำกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งการดำเนินงานได้เสร็จสิ้นลงแล้ว จึงได้มีการจัดการสัมมนาเผยแพร่ผลงานโครงการวิจัยครัวไทยสู่ตลาดโลก และถ่ายทอดองค์ความรู้ตำรับอาหารไทยและผลิตภัณฑ์เพื่อผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ในวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานวิจัย ระหว่าง วช. กับ บริษัทเอกชน 2ราย ได้แก่ 1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด น้ำพริกแม่ศรี 2. สวนนงนุช พัทยา

“กฤษฎา”ฟิตจัดส่งท้ายตำแหน่ง สั่งเตรียมแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง-ขาดแคลนน้ำ จากภาวะฝนทิ้งช่วง พร้อมจี้หน่วยงานในพื้นที่เร่งเดินสายชี้แจงเกษตรกรคุมพื้นที่ปลูกข้าวรอบ 2 ไม่ให้เกิน 11.21 ล้านไร่

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าบางช่วงของฤดูฝนปีนี้โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะมีการกระจายตัวของฝนไม่สม่ำเสมอและมีปริมาณฝนน้อย ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะนอกเขตชลประทานอาจทำให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งและขาดแคลนน้ำจากปัญหาฝนทิ้งช่วง ตนจึงได้กำชับและมอบหมายหน่วยงานในพื้นที่ เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดด้วย พร้อมทั้งได้เตรียมแผนการบริหารจัดการสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2561/62 ขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและพื้นที่ทำการเกษตร

โดยมอบหมาย กรมฝนหลวง และการบินเกษตร เริ่มปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่ 1 มี.ค. 2562 โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการเชียงใหม่ ตาก ลพบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี สุรินทร์ สระแก้ว สุราษฎร์ธานี สงขลา มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง 111 วัน (1 มี.ค.- 25 มิ.ย. 2562) มีฝนตกคิดเป็นร้อยละ 90.09 ขึ้นปฏิบัติการ 3,024 เที่ยวบิน จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 57 จังหวัด และสำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 62 ขึ้นปฏิบัติการ 6 วัน 9 เที่ยวบิน มีฝนตกในพื้นที่จังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี จะดำเนินการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่องจนกว่าปริมาณฝนจะเพียงพอต่อการทำการเกษตร

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้กรมชลประทานติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 199 เครื่อง เพื่อสูบน้ำเติมให้โรงสูบน้ำเพื่อผลิตน้ำประปา เพื่อเติมน้ำเข้าคลองซอย ขุดลอกคลอง สร้างทำนบดินชั่วคราว ออกหน่วยบริการน้ำเพื่อการอุปโภค สร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อเก็บกักและชะลอน้ำในการรักษาระบบนิเวศ ในส่วนการเตรียมการด้านประมง ได้จับสัตว์น้ำขึ้นจำหน่ายและประชาสัมพันธ์ให้งดเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันความเสียหายด้านประมง ส่วนด้านพืชได้ให้คำแนะนำการดูแลรักษาพืช เช่น นำเศษวัสดุทางการเกษตรคลุมโคน ตัดแต่งกิ่งใบตามหลักวิชาการ เพื่อลดการคายน้ำ และการใช้ระบบน้ำหยดในพื้นที่แปลงหากมีความจำเป็น ปรับเวลาการให้น้ำ

นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า เพื่อให้การบริการจัดการน้ำในฤดูแล้งปีนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กระทรวงเกษตรฯ ได้ปรับโครงสร้างการปฏิบัติงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การประเมินความเสี่ยงด้านการเกษตร การกระจายเครื่องมือ เครื่องจักร ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ตลอดจนสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้ปลูกข้าวรอบ 2 (11.21 ล้านไร่) ให้ใกล้เคียงเป้าหมายที่สามารถจัดสรรน้ำได้ 11.65 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 104 ของแผน

เน้นการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/62 (1 พ.ย. 2561 – 30 เม.ย. 2562) ให้สามารถจัดสรรน้ำได้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม จำนวน 23,585 ล้าน ลบ.ม.(103%) และมีปริมาณน้ำสำรองสำหรับต้นฤดูฝน (20 พ.ค.62) จำนวน 18,626 ล้าน ลบ.ม.

“ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงฯ เร่งติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในบริเวณพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหา พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเติมน้ำให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 (ขนาดใหญ่ จำนวน 19 แห่ง ขนาดกลาง จำนวน 198 แห่ง) เพื่อให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการของพื้นที่เกษตรในเขตชลประทาน” นายกฤษฎา กล่าวในที่สุด

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เดินหน้าพันธกิจส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนการใช้ TMRและขยายศูนย์ผลิตอาหาร Feed Centerเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบและลดต้นทุนการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรหวังสร้าง Smart Farmer ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยถึง แนวทางการดำเนินงานในภาคส่วนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมว่า “เนื่องจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร, เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม อีกทั้งยังมีความประสงค์ที่จะสร้างSmart Farmerเกษตรกรที่ทำการเกษตรด้วยองค์ความรู้อย่างชาญฉลาด เพื่อที่จะเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติ ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน อ.ส.ค. เองก็มีพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ เช่นกัน โดยการส่งเสริมเกษตรกรให้เลี้ยงโคนมด้วยTMR (Total Mixed Ration หรือ Complete Ration : CR) ซึ่งเป็นอาหารผสมสำเร็จรูปที่เกิดจากการนำอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยคำนวณสัดส่วนของอาหารทั้งสองชนิดให้ได้ตามความต้องการของโคแล้วนำไปเลี้ยงทดแทนการให้อาหารแบบเดิม ซึ่งจะแยกเป็นการให้อาหารหยาบ (เช่น หญ้า ถั่ว อาหารสัตว์ ฟางข้าว ฯลฯ) และอาหารข้น (อาหารผสม) เช่น ในโคนมผู้เลี้ยงจะให้อาหารหยาบและให้กินตลอดทั้งวัน รวมทั้งให้อาหารข้นเสริมวันละ 1-2 ครั้ง ขณะรีดนมวัว เป็นต้น

ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าวถึงการใช้อาหารสัตว์เพื่อเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการทำฟาร์มโคนมว่า“เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านอาหารของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด คือ ประมาณ 70%ของต้นทุนทั้งหมด ฉะนั้น การให้อาหารแก่โคนมอย่างเหมาะสมนอกจากจะสามารถช่วยแม่โคนมสามารถให้น้ำนมได้สูงขึ้นแล้วยังสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย แต่การให้อาหารข้นแก่โคนมก็มีข้อที่จะต้องพิจารณาอยู่มาก ซึ่งจากการสำรวจของ อ.ส.ค. พบว่าเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เข้าใจในการใช้อาหารข้นทั้งประเด็นของคุณภาพของอาหารข้นว่าควรเป็นอย่างไรและประกอบด้วยอะไรบ้าง หรือควรให้โคนมในระยะที่แตกต่างกันกินปริมาณเท่าไร ฯลฯ

ดังนั้นการส่งเสริมให้เลี้ยงโคนมด้วย TMRนั้นจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งจากคุณประโยชน์ดังกล่าวทำให้ฟาร์มของเกษตรกรหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ TMRเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ในภาพรวมของชุมชน ซึ่งปกติเกษตรกรก็มีการรวมตัวและจัดตั้งเป็นสหกรณ์อยู่แล้ว ปัจจุบัน สหกรณ์ต่างๆ หลายแห่งได้รวมตัวกันจัดตั้งศูนย์ผลิตอาหาร TMR หรือที่เรียกว่าFeed Centerเพื่อจำหน่าย TMR ให้กับสมาชิกเพิ่มเติม จากเดิมที่สหกรณ์ส่วนใหญ่จะขายอาหารข้น ขณะที่สมาชิกทำหน้าที่จัดหาอาหารหยาบเอง กับอีกรูปแบบคือ สหกรณ์นำอาหารที่ขายทั้งอาหารข้น อาหารหยาบมาผสมรวมกัน แต่เนื่องจากโคกินอาหารหยาบมากและการจัดหาอาหารหยาบเป็นจำนวนมากมีความยุ่งยาก แต่ถ้าผ่านการผสมอาหาร TMR แล้วโคนมจะสามารถใช้ประโยชน์จากได้มากกว่า สหกรณ์จึงจัดตั้ง Feed Center ขึ้นมา”

ดร.ณรงค์ฤทธิ์เปิดเผยต่อไปว่า“Feed Centerของสหกรณ์ที่กระจายตามภูมิภาคทั่วประเทศ แบ่งเป็น

1)ภาคกลาง ได้แก่ สหกรณ์โคนมไทย–เดนมาร์ค มิตรภาพ จำกัด,สหกรณ์โคนมไทย–เดนมาร์ค สวนมะเดื่อ จำกัด,สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ก.น.ช. หนองรี จำกัด

2) ภาคเหนือ ได้แก่ สหกรณ์โคนมผาตั้ง จำกัด,สหกรณ์โคนมการเกษตรชัยปราการ จำกัด จังหวัดเชียงใหม่,สหกรณ์โคนมลำพูน จำกัด และสหกรณ์การเกษตรสวรรคโลก จำกัด

3) ภาคอีสาน ได้แก่ สหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด

4) ภาคใต้ ได้แก่ สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค อ่าวน้อย จำกัด ” สำหรับแผนการดำเนินงานเกี่ยวกับTMR ในปี 2562 ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า “อ.ส.ค. มีแผนวิจัยและพัฒนา TMR และอาหารสัตว์ โดยเน้นการใช้พืชอาหารสัตว์คุณภาพ เช่น ข้าวโพดหมัก และวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงโคนม เช่น ฟางข้าว ยอดอ้อย ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ เปลือกข้าวโพดหวาน เป็นต้น เนื่องจากบ้านเราเป็นเขตร้อน พืชอาหารสัตว์มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ เมื่อเทียบกับต่างประเทศทางยุโรป แต่บ้านเรามีข้อดีคือ เชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถช่วยย่อยและเพิ่มคุณค่าด้านการย่อยอาหารของโคได้ ซึ่งเรากำลังทำการวิจัยและพัฒนาต่อไป โดยอยู่ในขั้นตอนการทดลองกับโคนมต่างๆ

นอกจากนี้ อ.ส.ค. ก็ยังคงทำภารกิจด้านการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมแก่เกษตรกรให้ครบทุกด้าน ตั้งแต่การจัดฝึกอบรมหลักสูตรการเลี้ยงโคนม โดยครอบคลุมด้านการรีดนม การผลิตน้ำนมที่สะอาด อาหารและการให้อาหารโคนม การดูแลโคนมระยะต่างๆ สุขภาพและการดูแลรักษาโคนม การสผสมเทียมโค ฯลฯ รวมถึงการให้บริการสัตวแพทย์และผสมเทียมแก่เกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมด้วย และหากเกษตรกรมีปัญหาสามารถขอใช้บริการหรือขอคำแนะนำจาก อ.ส.ค. ได้

ที่สำคัญ เพื่อสร้าง Smart Farmer ตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0ปัจจุบันเรามีการพัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการฟาร์ม e-Dairyเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถบันทึกข้อมูลพื้นฐานของฟาร์มโคนม ปริมาณน้ำนมดิบ องค์ประกอบของน้ำนม รายได้ ประวัติการฉีดวัคซีน มาตรฐานฟาร์ม โดยสามารถประเมินเกณฑ์มาตรฐานของฟาร์มได้ผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งขณะนี้ได้ทดลองใช้ในกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ของ อ.ส.ค. แล้วและอยู่ในระหว่างการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในระยะต่อไป ส่วนเกษตรกรที่สนใจก็สามารถเข้ามาลงทะเบียนเพื่อทดลองใช้ได้”

พื้นที่ อ. ลาดหลุมแก้ว จ. ปทุมธานี แม้จะมีโรงงาน และโครงการที่พักอาศัยเกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ยังคงเป็นหนึ่งในพื้นที่เกษตรกรรมสำคัญของประเทศ ข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี ระบุว่าปีพ.ศ. 2558 มีอยู่กว่า 404,700 ไร่ หรือ 42% ของพื้นที่จังหวัดทั้งหมด โดยยังมีเกษตรกรที่ยึดอาชีพทำนา และปลูกพืชสวนเป็นหลักอยู่

แต่เกือบทั้งหมดยังเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว มีการใช้สารเคมีสูง ทำให้ประสบปัญหาทางด้านต้นทุนการผลิต และราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน เกษตรกรต้องไถกลบหรือถอนผลผลิตทิ้ง เนื่องจากไม่คุ้มทุนกับค่าแรงงานในการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ในช่วงที่สินค้าเกษตรมีภาวะตกต่ำ อีกทั้งการใช้สารเคมีไม่ถูกหลัก ส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ที่สำคัญทำให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อทรัพยากรธรรมชาติ ผืนดิน และแหล่งน้ำ

นายสมคิด พานทอง เกษตรกรในพื้นที่เจ้าของแปลงกระเพราป่ากว่า 15 ไร่ ที่วันนี้ได้พลิกฟื้นชีวิต หลังจากได้เข้าไปศึกษาดูงานที่ศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร กับบริษัท ซีพีแรม จำกัด โรงงานลาดหลุมแก้ว ใน ‘โครงการเรียนรู้คู่อาชีพ เพื่อวิถีเกษตรที่ยั่งยืน’ ได้รับความรู้ในการปลูกพืชภายใต้ จีเอพี ( GAP : Good Agricultural Practices) หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมมาตรฐานระดับโลก ซึ่งเป็นแนวทางการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน ปลอดภัย ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อให้ผลผลิตได้มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ

“ตั้งแต่ลดการใช้สารเคมี แล้วหันมาใช้สารชีวภาพหรือจุลินทรีย์เป็นส่วนผสมในการเพาะปลูกตามหลักจีเอพี กระเพราของเราจึงปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค ตัวผมและภรรยา รวมทั้งคนงานก็ไม่ต้องเสี่ยงกับการเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนแต่ก่อน นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำให้ปลูกกะเพราป่าที่มีความหอมกว่ากระเพราพันธุ์อื่น โดยมีบริษัท มารับซื้อผลผลิตในราคาประกันที่เป็นธรรมกับเกษตรกร จึงทำให้ผมมีรายได้ที่มั่นคง จัดการบัญชีก็ง่ายขึ้น รู้รายรับรายจ่ายแต่ละวันได้ทันที

ผมปลูกกระเพราป่าส่งขายได้สัปดาห์ละ 700 กิโลกรัม รวมกับกระเพราเกษตรและโหระพา หักต้นทุนแล้ว มีกำไรประมาณเดือนละ 4-5 หมื่นบาท แต่ที่สำคัญคือทุกอย่างรอบตัวดีขึ้นทั้งคุณภาพชีวิตที่สามารถส่งลูกๆ เรียนหนังสือสูงๆ และยังส่งไปถึงผู้บริโภคได้กินอาหารปลอดภัย รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ ถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในชีวิต”

นางวาสนา เปรียเวียง คือเกษตรกรอีกรายหนึ่งที่ได้ตัดสินใจทิ้งอาชีพพนักงานบริษัท เพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับสามีและลูกๆ รวมทั้งสานต่ออาชีพเกษตรกรของพ่อแม่ และได้เข้าร่วมโครงการเรียนรู้คู่อาชีพ เพื่อวิถีเกษตรที่ยั่งยืน เมื่อปีที่ผ่านมา และเลือกนำความรู้ที่ได้รับมาทำเกษตรกรรมปลอดภัยแบบผสมผสาน

“แปลงของเราปลูกพืชหลายชนิด ทั้งกระเพราป่า กระเพราเกษตร ยอดมะรุม ใบชะพลู ใบบัวบก และผลไม้ เช่น ฝรั่ง เพื่อลดการพึ่งพาพืชตัวใดตัวหนึ่ง และมีการรวมกลุ่มกับเกษตรกรละแวกเดียวกันในนามวิสาหกิจปลูกผักปลอดภัย เพื่อช่วยเหลือกันเรื่องราคาสินค้าที่ไม่แน่นอนและหาวิธีสร้างรายได้ที่มั่นคงยิ่งขึ้น จึงได้ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้รับความรู้ที่ช่วยให้เราทันต่อความเปลี่ยนแปลง ทำให้เรารู้เรื่องข้อกำหนดการใช้สารเคมีและสารชีวภาพที่แตกต่างกันของตลาดส่งออกในแต่ละภูมิภาค

เวลาเกิดปัญหา ก็มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำ เช่น ในช่วงที่เกิดโรคระบาด หรือการปรับปรุงให้สินค้าไม่มีปัญหาก่อนจัดส่ง ตอนนี้สามารถปลูกกระเพราป่าขายได้สัปดาห์ละ 200 กว่ากิโลกรัม รวมกับพืช ตัวอื่นด้วยก็มีรายได้ตกเดือนละ 30,000 บาท เป็นรายได้ที่มั่นคงขึ้น และมีความสุขที่มีเวลาให้ครอบครัวและดูแลลูก ตามที่เราฝันไว้”

“โครงการเรียนรู้คู่อาชีพ เพื่อวิถีเกษตรที่ยั่งยืน” ไม่ได้ส่งเสริมเพียงแค่การเพาะปลูกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมอบองค์ความรู้อื่นๆ เช่นการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของชุมชน ที่มิใช่เพียงช่วยสร้างงานสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสุขของคนในชุมชนดังเช่นที่ นางลำดวน ทองอำพันธ์ หัวหน้ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตำบลระแหง ได้บอกเล่าให้ฟัง

“เดิมทีนอกจากทำนา ก็ยังมีการปลูกผัก ผลไม้ต่างๆ บ้าง ต่อมาแม่บ้านในชุมชนได้รวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มอาชีพสตรีขึ้นตอนนี้มีสมาชิก 32 คน เพื่อจะหารายได้เสริมให้ครอบครัว เรามองที่ผลผลิตในชุมชน เช่น มะม่วง กล้วย ขนุน ข่า ตะไคร้ ที่หากขายโดยตรงไม่ค่อยได้ราคาที่ดี ทางโครงการฯ ได้เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการนำผลผลิตเหล่านี้มาแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่า มีทั้งที่ทำขายได้ตลอดปี เช่น กล้วยฉาบ และน้ำพริก ที่มีตลาดภายนอกมารับไปขาย

และที่ทำตามฤดูกาล คือ ขนุนทอด แต่มีเท่าไหร่ก็จะมีหน่วยงานอย่าง อบต. มารับซื้อเกือบทั้งหมด อย่างกล้วยฉาบ ทำครั้งหนึ่งได้เงิน 1-2 พันบาท เดือนหนึ่งถ้าทำ 3 ครั้ง ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 5-6 พันบาท หลายครอบครัวมีเงินใช้จ่ายคล่องตัวขึ้น แล้วยังหันหน้ามาพูดคุยปรึกษากันมากขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่โครงการฯ มาเยี่ยมถึงบ้าน ติดตามถามไถ่ และหาความรู้หรืออาชีพใหม่ๆ มาเสริมให้ตลอด เช่น การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ และการทำปุ๋ยชีวภาพ ทำให้ชุมชนของเรากลับมาเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”

“โครงการเรียนรู้คู่อาชีพ สู่วิถีเกษตรที่ยั่งยืน” เริ่มจากความตั้งใจจริงของบริษัทซีพีแแรม เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชนรอบโรงงานลาดหลุมแก้ว สอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักธรรมาภิบาลของเครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรขึ้นเพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้และอบรมแก่ผู้ที่สนใจ ด้วยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ ด้านการปลูกพืชปลอดภัย การปลูกพืชแบบผสมผสาน ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ กระเพรา การเลี้ยงปลานิล การเลี้ยงห่าน การเลี้ยงแพะ การเลี้ยงไส้เดือน การทำปุ๋ยหมัก การเพาะเลี้ยงเชื้อไตรโคเดอร์มา
ทั้งยังสนับสนุนทางเลือกอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ที่เหมาะสมให้ครัวเรือน

ที่สำคัญคือการรับซื้อผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ ในราคาที่เป็นธรรมต่อเกษตรกร พร้อมเปิดโอกาสให้เกษตรกรในชุมชน นำผลผลิตมาเปิดตลาดจำหน่ายให้แก่พนักงาน ในโรงงาน เป็นการสร้างตลาดที่แข็งแรงให้แก่ชุมชน

โครงการนี้เป็น 1 ใน 38 โครงการซีพีเพื่อชุมชนยั่งยืน ที่ได้รับ รางวัล “ซีพี…เพื่อความยั่งยืน” ที่จัดขึ้นเพื่อยกย่องโครงการเพื่อสังคมดีเด่น สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนสังคม ครอบคลุมมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นับเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของเครือฯ ในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่การสนับสนุนให้เกษตรกรมั่นคงและชุมชนยั่งยืนอย่างแท้จริง ผักเบี้ยใหญ่ เป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับคุณนายตื่นสายชื่อวิทยาศาสตร์ Portulaca oleracea L. อยู่ในวงศ์ ACANTHACEAE ชื่ออื่นๆ ผักอีหลู ผักตาโค้ง ผักเบี้ยดอกเหลือง ผักเบี้ยใหญ่ แดงสวรรค์ ลำต้นกลม อวบน้ำ สีเขียวอมแดง เตี้ยเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน ใบประกอบแบบนิ้วมือ มี 5 ใบย่อย ดอกเดี่ยวหรือช่อ ออกเป็นกลุ่มประมาณ 3-5 ดอก ไม่มีก้านดอก ออกที่ปลายยอด สีเหลือง

ผักเบี้ยใหญ่มีรสเปรี้ยว นิยมกินเป็นผักสด ผักสลัด หรือนำมาต้ม ลวก กินร่วมกับน้ำพริก มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากผักเบี้ยใหญ่เป็นพืชที่แพร่กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทำให้มีการนำไปใช้เป็นยาอย่างหลากหลาย เช่น ในอิหร่านใช้ในการรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก (Abnormal uterine bleedind) รักษาหอบหืดและโรคทางเดินหายใจ

ในออสเตรเลีย มีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของเหลวสกัดจากผักเบี้ยใหญ่ ใช้ลดน้ำตาลและไขมันในเลือด แก้ท้องเสีย ติดเชื้อในทางเดินอาหาร ฆ่าพยาธิ รักษาโรคกระเพาะ ลำไส้อักเสบ อาหารไม่ย่อย ริดสีดวงทวารหนัก หนองใน เลือดออกตามไรฟัน หรือติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ