กรมพัฒนาที่ดิน จิ๋วแบบแจ๋ว สร้างความมั่นคงของเกษตรกรไทย

เร่งการก่อสร้างสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน “สระจิ๋ว” ให้ทันเก็บน้ำปีนี้ โดยปี 62 สนับสนุนให้เกษตรกร จำนวน 46,523 ราย ได้ใช้น้ำปลูกพืช และเตรียมรองรับและบรรเทาภัยแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ครอบคลุมพื้นที่และทั่วถึงเกษตรกรที่ต้องการใช้น้ำ

นางสาว เบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยถึงความคืบหน้า ที่กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการขุดสระน้ำในไร่นา ขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร โดยให้เกษตรกรเจ้าของที่ดิน มีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่ายในการขุดสระ จำนวน 2,500 บาท เพื่อเก็บน้ำในช่วงมีฝนตก สำรองน้ำใช้ยามฝนทิ้งช่วง รวมทั้งสนับสนุนการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้ง เป็นการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ตลอดจนช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้แก่เกษตรกร ขณะนี้การก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้วกว่าร้อยละ 90 คาดว่าเกษตรกรทุกรายจะเก็บกักน้ำได้ในฤดูฝนนี้ และสามารถใช้น้ำได้ถึงปลายปีนี้อย่างแน่นอน

เกษตรกรที่มีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนสระน้ำไว้ใช้ในการทำนาหรือการเกษตรอื่นๆ แจ้งความจำนงและขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้จากหมอดินอาสา เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดลำดับบัญชีรายชื่อเกษตรกรที่มีความพร้อมของพื้นที่ มีเอกสารเป็นเจ้าของที่ดิน มีแผนการใช้น้ำเพื่อการเกษตร โดยเจ้าหน้าที่จะเข้าพื้นที่สำรวจตรวจสอบความเดือดร้อนพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทานที่ขาดแคลนน้ำ ประการสำคัญที่สุดการขุดสระ จะไม่ดำเนินการในพื้นที่ดินทราย มีหินกรวดปน รวมทั้งพื้นที่ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกักเก็บและคุณภาพของน้ำ

เกษตรกรจำนวนมาก ทำการเกษตรแบบใช้น้ำฝน ยังขาดแหล่งน้ำสำรอง การที่กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินโครงการสระน้ำในไร่นา จะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ กรณีเกิดภัยแล้ง และช่วยให้การใช้ที่ดินเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยเกษตรกรในการตัดสินใจเลือกชนิดพืช วางแผนการใช้ที่ดินได้ในระยะยาวและต่อเนื่อง

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติม ขอฝากถึงเกษตรกรผู้ที่ได้รับการสนับสนุนสระน้ำในไร่นา ให้มีการบริหารจัดการน้ำ ที่สอดคล้องและสมดุลกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อความมั่นคงในอาชีพ และคุณภาพชีวิต ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยผลิตอาหารปลอดภัย เพิ่มมูลค่าของผลผลิตโดยการแปรรูป หรือจำหน่ายตลาดท้องถิ่น เพิ่มความเข้มแข็งของชุมชน

ด้าน นายบุญมา คำจันทร์ หมอดินอาสา ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จอย่างมากจากการเข้าร่วมโครงการสระน้ำในไร่นาของกรมพัฒนาที่ดิน ก่อนหน้านี้ ปลูกข้าวฤดูกาลเดียว น้ำสำหรับทำการเกษตรไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตไม่แน่นอน รายได้ต่ำ แต่หลังจากได้รับการสนับสนุนสระน้ำในไร่นาของกรมพัฒนาที่ดิน เกษตรกรได้เริ่มวางแผนการเกษตร โดยปลูกพืชผักสวนครัวรอบสระ เลี้ยงปลา ทำให้มีรายได้หมุนเวียนตลอดปี มีอาหารบริโภค ดั่งคำว่าโบราณ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ให้อาชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยมูลค่าการค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Thaitrade.com ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2562 (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ถึง 30 เมษายน 2562) อยู่ที่ 784 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยเป็นคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ตามลำดับ นอกจากนี้ ประเภทสินค้าที่มีการเข้าชมผ่านเว็บไซต์ สูงสุดในช่วงดังกล่าวคือ สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเกษตร เสื้อผ้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน เคมีภัณฑ์และเครื่องจักรกล โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายในปีนี้สูงกว่า 1,000 ล้านบาท

“ในปีนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาเว็บไซต์ Thaitrade.com เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับผู้ซื้อ-ผู้ขาย รองรับการค้าแบบ B2B2C ทั้งในและต่างประเทศ และเพิ่มบริการพิเศษบนเว็บไซต์ อาทิ ฟังก์ชั่น e-Quotation, Online & Offline Business Matching รวมทั้งปรับโฉมศูนย์ให้บริการ Thaitrade.com Center ที่กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ (ชั้น 5) ให้ทันสมัย และตอบโจทย์การใช้งานมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศผ่านทางเว็บไซต์ Thaitrade.com ได้อย่างครบวงจร และสามารถต่อยอดสู่แพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ในระดับสากล ซึ่งช่วงต้นปีที่ผ่านมา กรมมีความร่วมมือกับพันธมิตรอีคอมเมิร์ซชั้นนำระดับโลกในการผลักดันสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดต่างประเทศอีกด้วย ได้แก่ Amazon.com (ตลาดอเมริกา) Gosoko.com (ตลาดแอฟริกา) HKTDC.com (ตลาดฮ่องกง) JD.ID (ตลาดอินโดนีเซีย) JD.com (ตลาดจีน) และ ShopJJ.co (ตลาดสิงคโปร์) ฯลฯ

นอกจากนี้ กรมได้เร่งทำการตลาดออนไลน์เชิงรุกเพื่อให้สินค้าไทยเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อจากต่างประเทศมากขึ้นผ่านการใช้เครื่องมือการตลาดออนไลน์ที่สำคัญ อาทิ การทำ Search Engine Marketing (Google และ Baidu) การโฆษณาออนไลน์ทั้งเว็บไซต์เครือข่ายและสื่อสังคมออนไลน์ อย่าง Facebook, Instagram และ Youtube การสร้างการรับรู้ผ่านการดำเนินงานร่วมกับ Key Opinion Leader หรือ KOL ในประเทศต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งมีการทำแคมเปญออนไลน์ต่างๆ ที่ดึงจุดแข็งของสินค้าไทยเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้า” นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าว

ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่เว็บไซต์ Thaitrade.com ทำหน้าที่ในการเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีเวทีแข่งขันบนโลกยุคดิจิตอล สถิติการซื้อขายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ตั้งแต่เปิดให้บริการเดือนกรกฎาคม 2554 จนถึงเดือนเมษายน 2562 มีสมาชิกผู้ซื้อจากทั่วโลกกว่า 181,088 ราย โดยประเทศที่เป็นสมาชิกผู้ซื้อมากที่สุด ได้แก่ อินเดีย จีน อเมริกา เวียดนาม และมาเลเซีย มีสมาชิกผู้ขายบนเว็บไซต์ฯ รวม 23,172 ราย และมีสินค้าขายบนเว็บไซต์จำนวน 263,356 รายการ ครอบคลุม 52 หมวดหมู่สินค้า โดยมีผู้เข้าชมเว็บไซต์รวม 7,749,344 ราย จาก 237 ประเทศทั่วโลก และมีมูลค่าการซื้อขายสินค้าที่มีหลักฐานผ่านเว็บไซต์ราว 6,343 ล้านบาท

สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเป็นผู้ขายบนเว็บไซต์ฯ หรือต้องการติดตามข้อมูลการค้าและคำสั่งซื้อจาก ทั่วโลก สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ Thaitrade.com หรือ www.facebook.com/ThaitradeDotCom และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมด้านการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศได้ที่ Thaitrade.com Center โทร. (02) 507-7825 หรือ DITP Call Center 1169 หรือ e-mail: contact@thaitrade.com

ชวนชิม “น้ำทุ่มเท” ช่วย “อึด ถึก ทน สู้แดด สู้งาน” ผลงาน รพ. เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในงานเฮลท์แคร์ 2019 ระหว่างนี้ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน ณ ฮอลล์ 5 อิมแพค เมืองทองธานี

ในงาน “Healthcare เรียนรู้ สู้โรค 2019” กิจกรรมคนรักสุขภาพห้ามพลาด จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 27-30 มิถุนายน 2562 ที่ Hall 5 อิมแพค เมืองทองธานี ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แจกพันธุ์สมุนไพรฟรี อีกทั้งซุ้มต่างๆ มากมาย อาทิ ซุ้มอาหารและเครื่องดื่ม ซุ้มจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ เป็นต้น

ทางทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณธรียา แสงเพ็ชร เจ้าหน้าที่ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมุนไพรพื้นบ้าน มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งกำลังง่วนอยู่กับการรินน้ำทุ่มเท ให้กับผู้สนใจชิม จนแทบไม่มีเวลาพูดคุยด้วย น่าสนใจไม่น้อย น้ำทุ่มเท ทำมาจากต้นกระทุ่ม มีสรรพคุณโดดเด่นเห็นแล้วต้องอยากชิม

“จุดเริ่มต้น จากตอนแรกที่เราทำเกี่ยวกับงานกัญชา เราต้องการที่จะหาน้ำที่มีสรรพคุณใกล้เคียงกับกัญชา เราก็นึกถึงกระท่อม ที่คล้ายๆ กับกัญชา ทีนี้กระท่อมก็จัดเป็นกลุ่มสารเสพติดเหมือนกัน นำมาใช้ไม่ได้ เราก็เลยมานึกถึงตัวกระทุ่มที่เป็นพี่น้องกันกับกระท่อม ตัวกระทุ่มจะมีฤทธิ์อ่อนกว่ากระท่อม ด้วยการที่ว่าฤทธิ์นี้ทำให้อดทน แข็งแรงเหมือนกัน แต่เขาจะไม่ทำให้เมา คือถ้าเป็นตัวกระท่อมเนี่ยค่ะ จะเมาคึกคัก แต่กระทุ่มเนี่ยจะคึกคักเหมือนกัน แต่จะไม่มีฤทธิ์เมาเข้ามาเกี่ยว” คุณธรียา กล่าว

คุณธรียา กล่าวว่า กระทุ่มถือเป็นไม้ยืนต้นที่ไม่ผิดกฎหมาย เมื่อบริโภคเข้าไปจะทำให้รู้สึกสู้แดด สู้ลม จะทำให้ร่างกายอุ่นขึ้น พอร่างกายเราอุ่น ร่างกายเราก็จะทำงานได้ดีขึ้น แต่หากเข้าหน้าหนาวไม่ควรดื่ม เนื่องจากจะทำให้ร่างกายเราหนาวสั่น การตั้งชื่อ “น้ำทุ่มเท” เพื่อความโดดเด่น อีกทั้งยังคงแฝงความหมายว่า เมื่อดื่มเข้าไปแล้วก็จะมีแรงทำงาน ตั้งใจทำงาน เหมือนกับทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างนี้ ขั้นตอนก่อนการนำมาบริโภค นำใบไปตากแห้งหรือนำไปอบแห้งก็ได้ เป็นใบเพสลาด จากนั้นก็นำใบมาชงเป็นชาได้เลย ชงเหมือนน้ำชา

“เราจะมีสูตรที่เติมพวกกลุ่มเครื่องเทศลงไปเพื่อแต่งกลิ่นแต่งรส พวกกระวาน อบเชย แต่งด้วยสะระแหน่ มะนาว เกลือ เพื่อปรุงรส โดยสูตรที่ทำเป็นสูตรน้ำชา เราก็จะเพิ่มกลิ่นเป็นกลิ่นใบเตย

ส่วนผสมในการจัดทำน้ำทุ่มเท ได้แก่

ใบกระทุ่มแห้ง 5 กรัม
ใบเตย 5-10 ใบ
น้ำผึ้ง (ตามชอบ)
น้ำเปล่า 1 ลิตร โดยวิธีการนำใบเตยต้มน้ำจนเดือด จากนั้นใส่ใบกระทุ่มแห้ง ปล่อยให้เดือดประมาณ 5 นาที แล้วยกลงพักให้อุ่น
ทางด้านสรรพคุณ มีส่วนช่วยในเรื่องของการบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย บำรุงโลหิต ช่วยให้อึด ถึก ทนสู้แดด สู้งาน” คุณธรียา บอก

“ตัวกระทุ่ม จะทำให้ร่างกายเราอุ่นค่ะ ถ้าสมมติอย่างคนเป็นไข้อย่างนี้ ปวดเมื่อยเนื้อตัวไม่อยากทำงาน แต่ถ้าร่างกายเราอุ่นเหมือนมันจะกระตุ้นให้ร่างกายเราทำงานเยอะขึ้น ง่ายขึ้นค่ะ เหมือนเวลาเราไม่เหนื่อยเราก็จะทำงานได้มากกว่าเวลาเราเหนื่อยประมาณนี้ค่ะ ปัจจุบันนี้ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ออกมาขาย เนื่องจากทำมาเพื่อเป็นองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนได้รู้จักสมุนไพรมากยิ่งขึ้น” คุณธรียา กล่าว

กระทุ่ม จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบหรือไม่ผลัด ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาแก่ แตกเป็นร่องตามยาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ออกดอกที่ปลายกิ่งเป็นช่อกลมกระจุก ผลเป็นผลรวมที่เกิดจากวงกลีบเลี้ยงที่เชื่อมติดกัน หรือผลเป็นกระจุกกลม ผิวขรุขระ อุ้มน้ำ ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็ก

ในส่วนของสรรพคุณ ช่วยลดความดันโลหิต แก้ไข้ ใช้อมกลั้วคอแก้อาการอักเสบของเยื่อเมือกในปาก รักษาโรคในลำไส้ สมานโรคท้องร่วง ช่วยแก้อาการปวดมดลูก ด้วยการใช้ใบและเปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา ไม้กระทุ่มมีเนื้อไม้ที่ละเอียด สีเหลืองหรือสีขาว สามารถนำมาใช้ทำพื้นและฝาที่ใช้งานในร่ม หรือนำมาใช้ทำกล่อง ทำอุปกรณ์หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่มีน้ำหนักเบา และทำเป็นเยื่อกระดาษได้

ผู้สนใจสามารถเข้าชมงาน ได้ในวันและเวลาดังกล่าว(27 มิถุนายน 2562/ วว.เทคโนธานี) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ยุทธพงศ์ พุทธรักษา ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมกันพัฒนาความรู้/งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า การลงนามระหว่าง วว. และ มน. ในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการในการปฏิบัติภารกิจร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นบูรณาการการทำงานและลดข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคน ภายใต้กรอบแนวทางของความเข้าใจร่วมกัน จึงเกิดเป็นความร่วมมือในโครงการวิจัยและพัฒนาของ วว. กับ มน. ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพและการพัฒนางานบริการอุตสาหกรรม และร่วมกันสนับสนุนผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือนี้ไปสู่การต่อยอดการใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย และเชิงสาธารณะ โดยทั้งสองฝ่ายตกลงให้ความร่วมมือในการดำเนินงาน พร้อมทั้งสนับสนุนคำปรึกษาด้านวิชาการหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือต่อเนื่องกับการดำเนินงานตามบันทึกความเข้าใจ ทั้งนี้ตามที่ทั้งสองฝ่ายจะได้พิจารณาเห็นสมควรหรือเห็นชอบร่วมกันในอนาคต

“สำหรับแผนการดำเนินงานความร่วมมือ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารฟังก์ชัน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สารสำคัญในอาหารจากวัตถุดิบธรรมชาติและสมุนไพร ที่มีฤทธิ์ต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังระหว่างศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ (วว.) กับบัณฑิตวิทยาลัยและคณะกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ (มน.) หวังว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจ ใช้ความสามารถและองค์ความรู้ของทั้งสองหน่วยงานสนับสนุนการพัฒนาและวิจัยของหน่วยงานเอกชน รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานภาครัฐ ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มเติมแก่สังคมและประเทศชาติ ส่งเสริมพัฒนาความรู้และงานวิจัยด้าน วทน. และความสามารถตามภารกิจหลักของทั้งสองหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ” ผู้ว่าการ วว.กล่าวเพิ่มเติม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ยุทธพงศ์ พุทธรักษา ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “…เราใช้หลากหลายวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน ที่จะร่วมกันสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งตอบโจทย์หลายภาคส่วน ทั้งส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน หรือแม้แต่สถาบันการศึกษา ก็จะมีหลายส่วนที่ได้ประโยชน์ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เราพยายามใช้ศักยภาพของอาจารย์ นักวิจัยทั้ง วว. และมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด…”

นอกจากนี้ คณะผู้บริหารของ มน. ยังได้เยี่ยมชมงานวิจัยและบริการของ วว. ได้แก่ โรงงานบริการ นวัตกรรมอาหาร (Food Innovation Service Plant : FISP) ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม : โพรไบโอติกและพรีไบโอติก และศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย (Algal Excellent Center : ALEC) โดยมี นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ และผู้บริหาร วว. ร่วมให้การต้อนรับ ในวันที่ 27 มิถุนายน 2562 ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 5 อาคารถ่ายทอดเทคโนโลยี วว.

ถึงแม้มะยงชิดมีมานาน ชาวสวนรู้จักปลูกมาพร้อมๆ กับขนุนและมะม่วง แต่มะยงชิดก็ยังราคาแพง กิโลกรัมละ 100-200 บาท สาเหตุน่าจะมาจาก มะยงชิดปลูกได้ไม่ง่าย กิ่งพันธุ์ราคา 100-300 บาท บางคนปลูกแล้วตาย ตายแล้วปลูกอยู่นั่นแหละ

เกษตรกรที่จังหวัดนครนายกแนะนําการปลูกมะยงชิดให้มีเปอร์เซ็นต์การรอดตายสูง โดยเริ่มจากหลุมที่ปลูกไม่ควรขุดลึกมาก ไม่ต้องรองก้นหลุมด้วยอะไรเมื่อขุดหลุมเสร็จ ใช้มีดคมๆ กรีดรอบๆ ก้นถุง ซึ่งจะมีแผ่นถุงหลุดออกมา แต่ถุงยังห่อหุ้มดินที่เป็นวัสดุปลูกอยู่ นําต้นพันธุ์ลงวางที่หลุมแล้วค่อยๆ ดึงถุง ขึ้นมา ใช้มีดกรีดถุงทิ้งแล้วจึงกลบโคนต้น วิธีการนี้เป็นการกระทําที่นิ่มนวล ดินไม่แตก เปอร์เซ็นต์การรอดตายจะมีมาก เกษตรกรบอกสาเหตุการตายของมะยง ชิดปลูกใหม่ เพราะว่าตุ้มดินแตก วิธีนี้ตุ้มดินจะไม่แตกเลย

สําหรับก้นหลุมไม่ต้องรองด้วยปุ๋ยอะไรทั้งสิ้น ปลูกไปได้สักพักนําปุ๋ยคอก เก่าๆ อย่างขี้วัว ขี้ควาย มาวางไว้ที่โคนต้น เมื่อต้นไม้มีรากแข็งแรง เขาก็จะคอย ออกหากิน การใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมขณะที่รากไม่พร้อม จะเป็นสาเหตุให้ต้นไม้ตาย

เสริมรากมะยงชิด ต้นแข็งแรง ให้ผลผลิตเร็ว ดก
มะยงชิด ไม้ผลราคาสูง ทั้งกิ่งพันธุ์และผลผลิต ดังนั้น การปลูกต้องเอาใจใส่กันพอสมควร

เกษตรกรนักขยายพันธุ์พืชบางแห่งทาบกิ่งโดยใช้ต้นตอถึง 3 ตอด้วยกัน เรียกว่า “สามขา” เมื่อนําลงปลูกก็แข็งแรงดี พอปลูกได้ปีเดียวก็สอนเป็นแล้ว เก็บผลผลิตได้ 4-5 ผลต่อต้น จากนั้น 4-5 ปีเก็บได้ 10-20 กิโลกรัมต่อต้น หากมีต้นพันธุ์ที่เขาทาบแบบสามขามาแล้วก็ดี

แต่กรณีที่ทาบด้วยต้นตอต้นเดียว หรือขาเดียว แต่ปลูกลงดินไปแล้ว เจ้าของสามารถเพิ่มขาให้ได้ โดยการปลูกมะยงชิดลงที่โคนต้นที่ปลูกไปแล้ว เมื่อต้นแข็งแรงดี ทําการเสียบต้นตอเข้าไป วิธีทําก็กรีดที่ต้นพันธุ์ดีที่ปลูกไว้ จากนั้นปาดตอเป็นรูปปากฉลาม นําส่วนที่ปาดไปแปะติดกับแผลแล้วพันด้วยพลาสติก ทําอย่างนี้จนครบสามขา เมื่อรวมกับต้นเดิมจะเป็นสี่ขา เมื่อมีขามากๆ ขาจะช่วยกันทํามาหากิน ดูดน้ำและอาหารไปเลี้ยงต้นแม่ เมื่อต้นแม่สมบูรณ์แข็งแรง โอกาสให้ผลก็เร็ว ให้ผลผลิตดก

เกษตรกรที่นครนายกใช้วิธีการนี้ได้ผลอย่างดีเยี่ยม ทั้งๆ ที่พื้นที่ปลูกไม่มากนัก แต่ได้ผลผลิตปีหนึ่งเป็น 10 ตันสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดฝึกอบรมหลักสูตร “การถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออก” เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จำนวน 100 คน ภายใต้ความร่วมมือกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในโครงการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาจังหวัด มุ่งให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ในวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2562 ณ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด วว. ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวว่า การฝึกอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออกให้แก่พี่น้องเกษตรกร เป็นการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาการแข่งขัน ซึ่งการดำเนินงานโดย วว. ร่วมกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้บันทึกข้อตกลงการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาจังหวัด มุ่งให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นแหล่งปลูกสับปะรดที่สำคัญของประเทศ มีมูลค่าผลผลิตปีละหลายหมื่นล้านบาท ผลผลิตเฉลี่ยในแต่ละปีประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งมากเป็นครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งประเทศ โดยผลผลิต 80% ส่งเข้าโรงงานแปรรูป อีก 20% บริโภคภายในประเทศ แต่การส่งออกสับปะรดไปต่างประเทศยังมีปริมาณน้อยมาก เนื่องจากมีปัญหาหลายประการ ได้แก่ คุณภาพไม่สม่ำเสมอ ปัญหาการปนเปื้อน สิ่งสกปรก โรคแมลง ปัญหาอายุการเก็บรักษาเทคโนโลยีหลังเก็บเกี่ยว และที่สำคัญผลสับปะรดมีลักษณะอาการไส้ดำ

“…วว. เป็นหน่วยงานที่มีผลงานวิจัยและองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตภาพและมูลค่าพืชไร่ชุมชน (สับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) มีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2559-2561 โดยบูรณาการองค์ความรู้งานวิจัยภายใน วว. เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ไปใช้แก้ปัญหาให้เกิดประโยชน์กับการผลิตสับปะรดในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างครบวงจร หนึ่งในนั้นคือการจัดสร้างโรงคัดบรรจุสับปะรดมาตรฐาน ที่มีความสามารถในการผลิตสับปะรดผลสดส่งจำหน่ายต่างประเทศ ขนาดกำลังการผลิต 3 ตัน ต่อชั่วโมง เป็นโรงคัดบรรจุผลสดทันสมัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีเครื่องจักรและกระบวนการผลิตมาตรฐานครบวงจร ที่สามารถใช้งานได้จริงในพื้นที่และเป็นศูนย์เรียนรู้ศึกษาดูงานของผู้ผลิตผู้ประกอบการสับปะรดจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ นอกจากนั้น โรงคัดบรรจุแห่งนี้สามารถประยุกต์ต่อยอดการใช้ประโยชน์กับการผลิตผลไม้อื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และใกล้เคียงได้อีกด้วย…” รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าว

ทั้งนี้ การนำ วทน. เข้าไปแก้ปัญหาให้เกิดประโยชน์กับการผลิตสับปะรดฯ อย่างครบวงจร นอกจากการจัดสร้างโรงคัดบรรจุสับปะรดมาตรฐานแล้ว วว. ยังมีการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวสับปะรดและผลไม้อื่นๆ ในพื้นที่ได้อย่างครบถ้วน วิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปสับปะรด โดยมีห้องแปรรูปที่เป็นไปตามมาตรฐาน GMP เครื่องจักรแปรรูป ประกอบด้วย เครื่องคั้นน้ำ เครื่องฆ่าเชื้อ เครื่องบดย่อย เครื่องกวน และเครื่องอบแห้ง เป็นต้น

นายสายันต์ กล่าวถึงภารกิจของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสับปะรดว่า จะเป็นทั้งที่ปรึกษาให้แก่เกษตรกรในระดับต้นน้ำ การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการขั้นปลายน้ำเกี่ยวกับมาตรฐานของผลผลิตที่จะรับซื้อจากเกษตรกร การเป็นเสมือนตัวกลางในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับการวิจัยพัฒนาและโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกสับปะรด โดยผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะยาว คือการทำให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดมีความสามารถในการพัฒนาคุณภาพผลผลิต มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลางและมีรายได้เพิ่มขึ้น