กรมวิชาการเกษตรเจ๋ง วิจัยทุเรียน 3 พันธุ์ใหม่ชาติเทียบหมอนทอง

กรมวิชาการเกษตรโชว์ผลงานวิจัยทุเรียน 3 พันธุ์ใหม่ จันทบุรี 7 จันทบุรี 8 จันทบุรี 9 อายุเก็บเกี่ยวสั้น ปานกลาง ยาว ลดปัญหาทุเรียนล้นตลาด เพิ่มโอกาสพันธุ์ให้เกษตรกรเลือกปลูก เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคทั้งตลาดเดิมและใหม่

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตทุเรียนรายใหญ่ของโลก โดยมีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทย พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าส่วนใหญ่ คือ หมอนทอง กระดุม ชะนี และก้านยาว ปัญหาทุเรียนในอดีตพบว่า บางปีมีผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน ซึ่งมากเกินความต้องการของตลาด เป็นสาเหตุให้ราคาทุเรียนตกต่ำลงมาก ส่งผลให้เกษตรกรบางรายเปลี่ยนสวนทุเรียนเป็นไม้ผลอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

ดังนั้น ในการปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนเพื่อให้ได้พันธุ์ที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและมีผลผลิตสูงออกสู่ตลาดก่อนพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าหลักคือพันธุ์หมอนทอง จะช่วยกระจายการผลิตและแก้ไขปัญหาผลผลิตกระจุกตัว นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านงานวิจัยทุเรียนซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพทุเรียนให้ตรงตามความต้องการของตลาด แต่ยังขาดการวิจัยนำร่องทดสอบการปลูกทุเรียนลูกผสมดีเด่นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนหรือหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวปกติ เพื่อทดแทนพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอายุมากและให้ผลผลิตต่ำ

“ กรมวิชาการเกษตร โดย ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน ได้วิจัยทุเรียนพันธุ์ใหม่เพื่อรองรับกับปัญหาที่กล่าวมาเบื้องต้น จำนวน 3 พันธุ์ คือ จันทบุรี 7 จันทบุรี 8 และจันทบุรี 9 ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

โดยทุเรียนพันธุ์จันทบุรี 7 มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น โดยมีอายุเก็บเกี่ยวเพียง 95 วัน หลังดอกบาน มีคุณภาพดีเด่นด้านรสชาติและคุณภาพในการรับประทานใกล้เคียงกับพันธุ์มาตรฐานที่เป็นการค้าในปัจจุบัน เช่น ชะนีและหมอนทอง มีเนื้อละเอียด สีเนื้อมีสีเหลืองเข้ม เหนียว รสชาติหวาน มัน อร่อยและกลิ่นอ่อน มีรูปทรงผลกลมรี ก้านผลยาว 5.8 เซนติเมตร ความหนาเปลือก 1.6 เซนติเมตร ความหนาเนื้อ 0.9 เซนติเมตร พื้นที่แนะนำให้ปลูกในภาคตะวันออก เช่น จังหวัดจันทบุรี ตราด และระยอง เป็นต้น

ทุเรียนพันธุ์จันทบุรี 8 มีอายุการเก็บเกี่ยวปานกลาง โดยมีอายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 114 วันหลังดอกบานมีคุณภาพดีเด่นด้านรสชาติและคุณภาพในการรับประทานใกล้เคียงกับพันธุ์มาตรฐานที่เป็นพันธุ์การค้าในปัจจุบัน เช่น ชะนีและหมอนทอง มีเนื้อละเอียด สีเนื้อมีสีเหลือง เหนียว รสชาติหวาน มันดีมากและมีกลิ่นอ่อน น้ำหนักเฉลี่ย 2.45 กิโลกรัม ความยาวผล 21 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางผล 16.67 เซนติเมตร ความยาวเส้นรอบวงผล 58.66 เซนติเมตร พื้นที่แนะนำให้ปลูกในเขตปลูกทุเรียนภาคตะวันออก เช่น จังหวัดจันทบรี ตราดและระยอง เป็นต้น

ทุเรียนพันธุ์จันทบุรี 9 มีอายุการเก็บเกี่ยวค่อนข้างยาว โดยมีอายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 138 วันหลังดอกบาน มีคุณภาพดีเด่นด้านรสชาติ คุณภาพในการรับประทานใกล้เคียงหรือดีกว่าพันธุ์มาตรฐานที่เป็นพันธุ์การค้าในปัจจุบัน เช่น ชะนีและหมอนทอง มีเนื้อละเอียด เหนียว รสชาติดี หวาน มัน อร่อยและมีกลิ่นอ่อน ผลมีลักษณะรูปทรงผลค่อนข้างกลมรูปไข่ น้ำหนักผล 3.43 กิโลกรัม ความหนาเปลือก 1.59 เซนติเมตร ความหนาเนื้อ 1.30 เซนติเมตร มีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อต่อน้ำหนักผลประมาณ 19.01 เปอร์เซ็นต์ และมีเมล็ดลีบ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวสรุปว่า ทุเรียนทั้ง 3 พันธุ์นี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธ์ซึ่งมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธาน เป็นพันธุ์แนะนำเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 เพื่อเป็นทุเรียนพันธุ์ทางเลือกให้กับเกษตรกรนำไปปลูกสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งมีทั้งอายุการเก็บเกี่ยวทั้งสั้น ปานกลางและยาวกว่าพันธุ์มาตรฐานที่ออกจำหน่ายในท้องตลาด ทั้งนี้ ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจะออกทั้งก่อน ระหว่าง และหลังพันธุ์มาตรฐานเพื่อลดปัญหาผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน ซึ่งมากเกินความต้องการของตลาด เป็นสาเหตุให้ราคาทุเรียนราคาถูกและที่สำคัญเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคทั้งตลาดเดิมและตลาดใหม่ด้วย

ผมคาใจทุกครั้งกับการแอบตั้งชื่อสวนให้น้องโจ – ณฐภัทร แสงโรจน์ศิริกุล เพราะเป็นการนำเรื่องราวจากชีวิตจริงมาตั้งชื่อสวนแบบบอกให้คนอื่นรู้โดยไม่ต้องถามกันเลยเชียว ผู้คนทั่วไปจะรู้จักชื่อประเทศ ฝรั่งเศส เมื่อมาเจอสวนน้องโจ ผมเลยเสนอชื่อไปว่า “สวนฝรั่งโสด” ก็เกิดคำถามตามมาอีกว่า คนจะเข้าใจผิดไหมว่าเจ้าของสวนเป็นชาวฝรั่ง ก็ตอบน้องไปว่า “นั่นแหละดี เราจะได้มีเรื่องให้เขาถามและเราคอยอธิบาย”

จากอดีตเด็กหนุ่มผู้มีแรงใจและใฝ่ฝัน จะเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเองในยามที่สำเร็จการศึกษาใหม่ๆ จึงรวบรวมทุนและกำลังใจ จดทะเบียนเปิดบริษัทประกอบธุรกิจ เกี่ยวกับเครื่องจักรกลและโลหะที่กรุงเทพมหานครเมืองฟ้าอมรของใครๆ ในแต่ละวันก็ดำเนินธุรกิจไปได้อย่างราบรื่นพอสมควร รายรับ-รายจ่าย ยังพอเรียกว่า “พอมีกำไร”

แต่ลึกๆ ของหัวใจที่มิได้ถวิลหาแต่น้องนางที่จะมาเป็นคู่ร่วมชีวิตเท่านั้น ในทุกโมงยามยังแบ่งใจให้กับเรื่องราวทางด้านการเกษตรอีกด้วย เริ่มศึกษาเรื่องพันธุ์ไม้ สัตว์เศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงการไปเดินตามงานเกษตรที่มีจัดอยู่ทั่วไป และประกอบกับทางบ้านพอมีที่ดินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อยู่พอสมควร จึงเริ่มลองฝึกวิชาการเกษตรทันที โดยเริ่มจากมัลเบอร์รี่ (หม่อน) หลากหลายสายพันธุ์ เรียกว่าใครมีสายพันธุ์ไหน โจก็ขอมีมาปลูกด้วยทันที จากมัลเบอร์รี่ก็ขยับไปเล่นฟิกส์ (มะเดื่อฝรั่ง) ก็เช่นกัน มีครบสายพันธุ์ที่คนอื่นๆ มี

“ช่วงนั้นเรียกว่าเป็นยุคแสวงหาได้ไหมครับ” “คงเป็นแบบที่พี่ว่านั่นแหละครับ ด้วยความที่ผมเป็นเกษตรมือใหม่ เห็นใครว่าพันธุ์ไหนดีก็ต้องหามาปลูกให้ได้”

“ตอนนั้นแต่ละสายพันธุ์ ราคาไม่เบาเลยนะครับ”

“ใช่เลยพี่ หมดไปเยอะพอสมควร แต่ก็ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องการดูแลพืชผลไม้มากขึ้นนะครับ เรียนรู้วิธีเตรียมดินปลูก ระยะห่าง การให้น้ำ ให้ปุ๋ย แดดต้องแบบไหน เรียกว่าเรียนรู้ด้วยตัวเองนี่แหละ”

“ตอนนี้พืชที่ว่าเป็นยังไงครับ” “ก็ยังปลูกไว้ครับ ขยายกิ่งพันธุ์ออกมาขายบ้าง เก็บไว้กินผลบ้าง แต่หลักๆ ผมไปลงฝรั่งครับ”

“อ้าว หักหัวเรือไปอีกทางเลยนะนั่น”

“ครับ เพราะน้าอ้วนนั่นแหละ ทำให้ชีวิตผมต้องเปลี่ยนอีกครั้ง”

ด้วยความที่ชอบสะสมสายพันธุ์พืช ทำให้วันหนึ่งโจขับรถไปหาน้าอ้วน บ้านเกษตรพอเพียง (มีเรื่องราว 2 ตอนในเทคโนโลยีชาวบ้านเล่มที่ผ่านไป) ตั้งใจจะไปพูดคุยและเผื่อว่าจะมีไม้อื่นๆ น่าสนใจ วันนั้นน้าอ้วนยื่นฝรั่งให้ 1 ชิ้น

“รับฝรั่งมาแล้วโจทำยังไงครับ”

“ผมดมก่อนเลยพี่ กลิ่นหอมกำลังดี มองดูเมล็ดน้อย เนื้อฟูๆ ลองกัดคำแรกเท่านั้นแหละ ผมตัดสินใจตอนนั้นเลย”

“เป็นยังไง ไหนเล่าให้ฟังที ฝรั่งคำเดียวเปลี่ยนแนวทางชีวิตเลยหรือ”

“กรอบแบบไม่แข็งครับพี่ เนื้อจะฟูๆ หวาน กลิ่นหอมติดจมูก เมล็ดก็น้อยมาก ผมแทบไม่อยากกลืนเลยพี่ ถูกใจผมมาก ผมชอบกินฝรั่ง อยากได้ฝรั่งรสชาติแบบนี้มานานแล้ว”

“ขนาดนั้นเลย แล้วทำไงล่ะ ต้องปลูกอีกไหม”

“ผมจองกับน้าอ้วนในวันนั้นเลยครับ ขอเวลาผมไปเตรียมพื้นที่ก่อน สรุปผมเอาแน่ เจอของดีที่โดนใจแล้ว” “รู้หรือยัง พันธุ์อะไร”

“สุ่ยมี่ครับพี่ สุ่ยมี่เป็นฝรั่งสายพันธุ์จากไต้หวันที่แปลว่าน้ำผึ้งน่ะแหละ”

“ตอนนั้นกิ่งแพงป่ะ”

“กิ่งละ 500 ครับพี่”

“อุ้ย!”

จากฝรั่งสุ่ยมี่ 1 ชิ้นในวันนั้น โจกลับไปบ้านที่ดำเนินสะดวก ปรับพื้นที่ประมาณ 2 ไร่กว่าๆ เพื่อรองรับกิ่งพันธุ์ที่จองไว้ จำนวน 400 กิ่ง ทำแบบมือใหม่ ใช้จินตนาการและความรู้จากการแนะนำของน้าอ้วน

เริ่มด้วยการนำดินจากสวนไปตรวจวิเคราะห์สภาพดิน ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินราชบุรี ซึ่งต้องบอกว่าใช้เวลาประมาณ 30 วัน ก็รู้ผล ที่สำคัญ “ฟรี” ครับ “ผลตรวจดินของเราออกมาเป็นอย่างไรบ้าง”

“มีความเค็มและเป็นด่างเล็กน้อยครับ รวมถึงธาตุอาหารในดินค่อนข้างต่ำมาก เรียกว่าต้องเตรียมดินก่อนปลูกกันอีกเยอะเลยพี่ ซึ่งตรงนี้ผมขอขอบคุณสำนักงานพัฒนาที่ดินราชบุรีไว้ด้วยนะครับ บริการดีมาก”

“เจอแบบนี้โจทำยังไงครับ”

“ต้องปรุงดินก่อนครับพี่ เริ่มจากยกร่องแล้วโรยปุ๋ยคอกให้ทั่วแปลง ที่สวนผมจะใช้ขี้วัวเป็นหลักครับเพราะหาง่าย จากนั้นก็ใช้รถมาปั่นดินอีกรอบ เพื่อให้ปุ๋ยคอกที่เราหว่านผสมกับดินให้ทั่วแปลง พื้นที่ 2 ไร่กว่านี่ผมลงเป็นคันรถเลยพี่ เรียกว่าดินต้องพร้อมปลูกจริงๆ ค่อยลงต้น จะได้สมบูรณ์สุดๆ”

“ผมเอาสะดวกครับพี่ โดยประมาณก็ 3-4 เมตรต่อต้น พอดีผมปลูกช่วงกลางฤดูฝน เลยไม่ต้องขุดหลุมใหญ่ เอาแค่กว้างกว่าถุงชำนิดหน่อย ความลึกก็เอาแค่กลบถุงชำก็พอ ปลูกหลุมเล็กแบบนี้ทำให้น้ำไม่ขังในหลุมปลูก ไม่ต้องเสี่ยงกับรากเน่าได้อีกด้วย”

ในช่วงแรก โจดูแลเจ้าฝรั่งน้อยทุกวัน เห็นได้ชัดเลยว่าการเติบโตเป็นไปได้ด้วยดี ผ่านไป 30 วัน เริ่มทรงตัวได้ รากเดินหน้าไปหากิน เริ่มแตกตายอดให้ใบใหม่และมีดอกติดมาด้วย ตรงนี้ต้องเด็ดทิ้งไม่ปล่อยไว้เด็ดขาด เพราะต้นจะโทรม การให้ปุ๋ยจะให้ผสมกันไประหว่างปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และเคมีสูตรเสมอ 16-16-16 หรือ 15-15-15 เดือนละครั้ง ส่วนการให้น้ำที่สวนจะทำระบบสปริงเกลอร์ จะรดให้ตามสภาพอากาศ จะตรวจดูไม่ให้หน้าดินแห้งจนเกินไป เพราะฝรั่งเป็นพืชที่รากจะหาอาหารหน้าดิน ไม่ลงลึกมากนัก

เมื่อดูแลผ่านไป 5 เดือน ก็เริ่มให้ฝรั่งติดผลได้บ้าง แต่อย่าไว้เยอะ ให้ดูขนาดทรงพุ่มเป็นหลัก ที่สวนก็จะปล่อยให้ติด ประมาณ 3-5 ผล เท่านั้น ฝรั่งสุ่ยมี่จะติดผลดกมาก ต้องคอยปลิดดอกทิ้งในช่วงแรกๆ เสมอ ไม่งั้นต้นจะแคระแกร็น ส่งผลต่อคุณภาพการผลิตในปีต่อๆ ไป

“ทำไมจึงตัดสินใจปลูกฝรั่ง ทั้งที่พืชชนิดอื่นก็ได้ราคาดีไม่น้อย”

“ฝรั่งเป็นผลไม้ที่คนรู้จักทั่วไปครับพี่ กินกันทั่วเมือง แปรรูปก็ได้ ที่สำคัญเป็นไม้ผลที่เหมาะกับเกษตรกรมือใหม่ ปลูกแค่ครึ่งปีก็เริ่มปล่อยให้ติดดอก นับไปอีก 4 เดือนก็ได้ลิ้มรสแล้ว เรียกว่าแค่ปีแรกก็ได้ชิมผลผลิตจากฝีมือตัวเองแน่นอน”

“เป็นกำลังใจให้มือใหม่ว่างั้นเถอะ”

“ใช่พี่ ลองนึกสิ หากให้ปลูกแล้วรอนานๆ แบบทุเรียน ผมคงไม่ไหวแน่ๆ ไม่รู้จะได้ชิมกับเขาไหม ที่สำคัญ ปลูกลงดินแล้วไม่รู้จะรอดไหม ผมก็เลยเลือกฝรั่ง”

“จากการลงมือมาปีที่สอง ตอนนี้ผลผลิตเป็นอย่างไรบ้างครับ” “ดกมากพี่ ต้องปลิดทิ้ง ผมจัดแบ่งโซนให้ติดผล สลับกัน เพื่อที่จะได้มีผลผลิตจำหน่ายไม่ขาดระยะครับ”

“ถามอีกนิด เราจะห่อผลตอนไหนครับ”

“ขนาดเท่าเหรียญ 5 บาทครับพี่ ห่อเก็บไว้กิ่งละ 2 ผลก็พอ เพื่อความสมบูรณ์สุดๆ นับไปจากห่อก็แค่ 2 เดือนได้อร่อย” “ราคาจำหน่ายตอนนี้เป็นอย่างไรหนอ”

“กิโลละ 120 บาทครับพี่ ตอนนี้ผมขายเฉพาะในเฟซเป็นหลักเลยครับ”

“โห! ราคาดีมาก แล้วมีกิ่งขายด้วยไหมครับ”

“มีครับพี่ กิ่งตอนกิ่งละ 150 บาท ลงกระถางแล้วก็ 200-250 บาทครับ”

“ถามจริงๆ นะ ขายดีไหม”

“ตอนนี้เพื่อนๆ ก็จองกันมาเรื่อยๆ ครับพี่ ผมคนเดียวทำไม่ทันหรอกครับ ก็เอาเท่าที่ทำได้”

“อ้าว สรุปว่าไม่ได้อำพี่ใช่ไหม โจโสดจริงๆ หรือนี่”

“จริงครับพี่ ก็เป็นไปตามที่พี่ตั้งชื่อสวนให้นั่นแหละ สวนฝรั่งโสด”

“พี่ประกาศหาคู่ให้เอาไหม”

“โอ๊ยพี่ ใครเขาจะมาสนใจเกษตรกรอย่างผม วันๆ ตัดหญ้า รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ตอนกิ่ง ห่อฝรั่ง เก็บผล ส่งขายทางไปรษณีย์ เท่านี้ก็ไม่มีเวลาทำอย่างอื่นแล้วพี่”

“แปลว่าไม่สนสาวๆ ใช่ไหม”

“พี่ก็พูดไป หากมีวาสนาก็คงมาเองแหละ” เอาเถิด ผมคงไม่แกล้งแหย่น้องโจหนุ่มโสดเจ้าของสวนฝรั่งสุ่ยมี่แล้วครับ ปล่อยให้กามเทพทำงานไปเองก็แล้วกัน แต่ในขณะนี้ผมกำลังรื่นรมย์กับความหอม กรอบ ฟู รสหวานของเจ้าฝรั่งสุ่ยมี่ผลโตไม่น้อยกว่า 7 ขีด ก็เลยขอบอกว่า ท่านใดสนใจอยากชมสวน อยากชิมผล หรือต้องการซื้อกิ่งไปปลูก ติดต่อน้องโจ เจ้าของสวนหนุ่มโสดได้เลยครับ ที่เบอร์ (081) 858-1487 กระซิบว่าที่สวนนี้มีอะไรดีๆ มากกว่าฝรั่งเยอะเลยครับ สวัสดี

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักชุมชนเพาะเลี้ยงเห็ด ตามรอยพ่ออยู่อย่างพอเพียง ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี รวมกลุ่มเพาะปลูกเห็ดหลินจือแดง เพื่อมาผสมลงผลิตเป็นน้ำเฉาก๊วยเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้แก่ชุมชน เกิดความเข้มแข็ง เตรียมต่อยอดโครงการน้ำเฉาก๊วยผสมถั่งเช่าผลิตอีกชนิดในอนาคต

ด้วยสรรพคุณของเห็ดหลินจือแดง ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง อีกทั้งยังมีราคาแพง กิโลกรัมละประมาณ 2,000 บาท เป็นที่นิยมบริโภคของคนที่รักสุขภาพ มีการนำมาแปรรูปเป็นสมุนไพรในรูปแบบต่างๆ เช่น แบบแคปซูล และแบบชงต้มดื่มแทนน้ำชา เป็นต้น จึงทำให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักชุมชนเพาะเลี้ยงเห็ด ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี ที่มี นายปัญญา ตันตระกูล อายุ 64 ปี ชาว ต.บางป่า เป็นประธานกลุ่ม พร้อมสมาชิกเพาะและแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม แรกเริ่มมีเพียงไม่ถึง 10 ราย แต่ปัจจุบันนี้ชาวบ้านเริ่มให้ความสนใจและหันเข้ามารวมกลุ่มจำนวนมาก จัดตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2548 มีการเก็บเงินสมาชิกคนละ 500 บาท นำมาเป็นเงินกองกลางในการทำงานกลุ่มร่วมกันที่บ้านของคุณลุงปัญญา ที่จะเป็นจุดศูนย์รวมของการแปรรูปเห็ดหลินจือในน้ำเฉาก๊วย

สำหรับการเพาะเห็ดหลินจือนั้น ทางกลุ่มอัดก้อน หยอดเชื้อเอง นำก้อนเชื้อเห็ดวางบนชั้นวาง แล้วรดน้ำเช้า-เย็น ให้ห่างจากปากถุงด้านบนลงล่าง ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะเริ่มออกดอกลักษณะเป็นสีเหลืองอ่อนและเริ่มเจริญเติบโตมีสีแดงเข้ม จึงจะเก็บออกนำมาตัดโคนล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นนำไปเข้าเครื่องอบสมุนไพรแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำเฉาก๊วยเห็ดหลินจือ ที่ปลูกต้นเฉาก๊วยไว้ข้างบ้านลักษณะใบสีเขียวที่อ่อน เก็บนำมาตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำต้นเฉาก๊วยไปต้มกับน้ำตาลทรายแดง แล้วใช้ผ้าขาวบางกรองเอาเฉพาะน้ำ พักไว้ ก่อนจะต้มเห็ดหลินจือกับน้ำตาลทรายแดง จะได้น้ำเชื่อมทั้งเฉาก๊วยและเห็ดหลินจือ จากนั้นนำน้ำเชื่อมเทลงรวมกัน จะเป็นน้ำเฉาก๊วยเห็ดหลินจือที่มีรสชาติเหนียวหนึบ ซึ่งจะมีสรรพคุณทางยา คือสารอาหารในเห็ดหลินจือจะเข้าไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ทำงานปกติ ต้านการจับตัวของลิ่มเลือด รวมทั้งช่วยลดน้ำตาลในเลือด เป็นยาอายุวัฒนะ มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายเกือบทุกระบบของร่างกาย

นายปัญญา ตันตระกูล เปิดเผยว่า ครั้งแรกที่คิดเพาะเห็ดหลินจือนั้น ต้องการแจกเป็นทานให้กับชาวบ้านนำไปกินฟรีไม่คิดเงิน เป็นสายพันธุ์จีทูที่ได้สายพันธุ์มาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ คนที่ไม่สบายเจ็บป่วยโรคต่างๆ ได้แจกให้ไปต้มน้ำดื่มกิน สมัยนั้นยังขายไม่ได้ เพราะคนยังไม่รู้จักมากนัก ส่วนข้อดีของเห็ดหลินจือแดงสายพันธุ์จีทู มีสรรพคุณทางยาสูง ช่วยต้านเซลล์มะเร็ง ลดความดัน ปวดหัวเข่า ไมเกรน ที่สำคัญไปช่วยเพิ่มให้เม็ดเลือดขาวทำงานดีขึ้น ฆ่าเชื้อโรคในร่างกายเราได้ คนที่กินน้ำเห็ดหลินจือเข้าไปแล้วจะไปกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวทำงานแข็งแรง และไปฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในร่างกายอีกต่อหนึ่ง มีเพียงบ้านเดียวที่เพาะเห็ดหลินจืออยู่ในขณะนี้ ส่วนสมาชิกจะเพาะเห็ดชนิดอื่น เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดภูฏาน เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหูหนู หลังจากที่เพาะเห็ดหลินจือ เพื่อนำไว้แจกเป็นทานในช่วงแรกแล้ว ได้มีแนวคิดศึกษาเรื่องหญ้าเฉาก๊วยที่มีสรรพคุณ มีประโยชน์ต่อร่างกายต่อไปอีก ซึ่งหากนำเห็ดหลินจือมาใส่รวมกันกับหญ้าเฉาก๊วยก็จะมีประโยชน์ต่อร่างกายเพิ่มมากขึ้น

ทุกวันนี้มีสินค้าที่ผลิตออกมาหลายอย่าง ทั้ง ชาชงเห็ดหลินจือเป็นซองสีขาวโปร่ง นำไปชงกินกับน้ำร้อนขายห่อละ 120 บาท เห็ดหลินจืออบแห้งบรรจุใส่ซอง ซองละ 80 กรัม ราคา 200 บาท น้ำเฉาก๊วยเห็ดหลินจือ ถ้วยละ 10 บาท ขายส่งตามตลาดอีเว้นต์ที่ภาครัฐจัดขึ้น ตลาดประชารัฐ ตลาดเกษตรกรราชบุรี ตลาดนัดชุมชนต่างๆ ส่วนสินค้าตัวใหม่กำลังจะคิดทำอยู่คือ เห็ดหลินจือผสมถั่งเช่าในเฉาก๊วย ตัวนี้ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ได้ช่วยเหลือจัดซื้อตู้อบเห็ดหลินจือมาให้ทางกลุ่ม ทำให้เรามีกำลังที่เริ่มแข็งแรงขึ้น สามารถผลิตสินค้าแปรรูปที่หลากหลายและยังมีเงินปันผลกำไรให้แก่สมาชิกได้มากขึ้น หลังจากที่สมาชิกได้ลงหุ้น คนละ 500 บาท แต่เดิมมีกองทุนอยู่กว่า 20,000 บาท มีการพัฒนากันต่อไปไม่หยุดอยู่กับที่ ทำให้ทุกวันนี้มีเงินในกองทุนกว่า 3 แสนบาทแล้ว ตามบัญชีที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกคน

นายเขมชาติ สถิตย์ตันติเวช ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด เปิดเผยว่า ทางโรงไฟฟ้าได้จัดกิจกรรมเพื่อชุมชนอยู่ตลอด เห็นว่ากลุ่มการเพาะเห็ดนี้มีกำลังและยังมีความตั้งใจสูง จึงได้สนับสนุนทั้งเรื่องเทคโนโลยีด้านการผลิต เช่น ตู้อบสมุนไพรเห็ดหลินจือ และยังเตรียมสนับสนุนการทำผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ คือ เห็ดหลินจือ ผสมถั่งเช่าในเฉาก๊วยเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เป็นอีกจุดหนึ่งที่ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่โรงไฟฟ้าคิดต่อยอดจากโครงการประชารัฐ และยังทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง

เพราะที่นี่จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอนาคต เนื่องจากด้านหลังติดแม่น้ำแม่กลอง ที่บ้านของลุงปัญญายังมีเรือพานักท่องเที่ยวล่องเรือขึ้นไปเที่ยวชมวัดเก่าแก่ทางด้านเหนือขึ้นไป ที่ตั้งอยู่ติดแม่น้ำแม่กลอง หลังจากนั้นคนที่มาเที่ยวก็จะมาทำผลิตภัณฑ์เห็ด เช่น การทำเห็ดสามอย่าง การยำเห็ด และซื้อผลิตภัณฑ์กลับไปรับประทานที่บ้าน ที่สำคัญวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักชุมชนเพาะเลี้ยงเห็ด ยังใช้แนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการทำงาน ซึ่งแต่ละครั้งที่ผลิตสินค้าออกมานั้นไม่ได้ทำในปริมาณที่มาก แต่ทำพอประมาณ ของก็ขายหมด เป็นจุดเด่นของการทำพอเพียง เพื่อพอใช้จ่าย ทำให้กลุ่มมีรายได้ มีความสุขอยู่กับครอบครัว

ภาพในอดีตที่เกษตรกรทำการเกษตรด้วยความยากลำบาก ใช้แรงงาน มีรายได้น้อย ทำให้อาชีพเกษตรกรรมอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของที่ดิน ทว่าย้อนหลังไป 4-5 ปี เกษตรกรได้พัฒนาตัวเอง รวมทั้งมีเกษตรกรรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้น ได้ปรับเปลี่ยนอาชีพหันมาทำเกษตรกรรรม นำนวัตกรรม เทคโนโลยี มาบริหารจัดการต้นทุน พัฒนาผลผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และด้านการตลาด ทำให้ภาพของเกษตรกรยุคใหม่เปลี่ยนไป เป็นเกษตรกรมีองค์ความรู้ คิดเครื่องมือนวัตกรรมที่ช่วยในการผลิตที่มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน หาช่องทางการตลาดได้กว้างขวาง ทำให้เกษตรกรรมยุคใหม่ไม่ต้องใช้แรงงานหนักอีกต่อไป และมีรายได้ดีไม่แพ้อาชีพอื่นๆ หรือมากกว่า

เฉลิมพล ทัศมากร ทิ้งเงินเดือน กลับบ้านทำสวนทุเรียน

คุณเฉลิมพล ทัศมากร หรือ “ต่าย” อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 49/2 หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด เรียน ปวช. ปวส. สาขาช่างยนต์ และจบปริญญาตรี สาขาการจัดการอุตสาหกรรรม มหาวิทยาลัยสยาม กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2551 จากนั้นไปทำงานบริษัทที่รับโปรเจ็กต์ไซต์ รับเหมางานก่อสร้างในนิคมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ได้ 1 ปี และย้ายมาทำงาน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ บริษัท ซี.พี. ที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ทำอยู่ 10 ปี ตำแหน่งสุดท้าย หัวหน้าแผนกคลังสินค้า ปี 2559 ตัดสินใจลาออก กลับบ้านเกิดช่วยพ่อแม่ทำสวนทุเรียนที่เกาะช้าง ชื่อ “สวนสมโภชน์”

คุณเฉลิมพล เล่าว่า ตั้งแต่เด็กๆ เห็นว่าการทำสวนเป็นงานหนัก เหนื่อย รายได้น้อย ภาพที่เห็นชินตาคือพ่อแม่ใช้แรงงานการผลิต ปลูก รดน้ำ ใส่ปุ๋ย และเก็บเกี่ยวผล ตอนเรียน ปวช. ปวส. เลือกเรียนสาขาช่างยนต์เพราะชอบมอเตอร์ไซค์ ไม่ได้คิดจะเรียนแล้วกลับมาทำสวนหรือมีเป้าหมายจะทำอาชีพอะไร เรียนจบแล้วทำงานบริษัท 2 แห่ง ยังคงไม่ได้ใช้วิชาช่างยนต์ หรือการจัดการอุตสาหกรรมประกอบอาชีพโดยตรง ช่วงที่ทำงาน บริษัท ซี.พี. เป็นหัวหน้าแผนกคลังสินค้า ได้รับเงินเดือนค่อนข้างสูง แต่งานรับผิดชอบก็สูงตามไปด้วย ต้องดูแลการขนส่งสินค้าส่งออกตลาดต่างประเทศให้เรียบร้อย ช่วงหนึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทต้องปรับลดพนักงานบางแผนก แม้จะไม่กระทบถึงตำแหน่งงานที่ทำอยู่ แต่เกิดความคิดว่าอนาคตต้องกลับบ้านไปทำสวนต่อจากพ่อแม่ เพราะเป็นลูกชายคนโต (มีน้องสาว 2 คน ทำงานบริษัทเอกชน ที่จังหวัดระยอง) ถ้ากลับมาเร็วเท่าไร จะทำให้มีเวลา มีเรี่ยวแรงทำสวน และได้อยู่ดูแลพ่อแม่ด้วย เมื่อปี 2559 จึงตัดสินใจหันหลังให้มนุษย์เงินเดือน ลาออกจากงานบริษัทกลับมาทำสวน

คุณเฉลิมพล เล่าว่า สวนสมโภชน์เกาะช้าง สมัครเว็บไฮโล มีพื้นที่ทำสวนทุเรียน 8 ไร่ สวนยาง 4 ไร่ สวนทุเรียนจะปลูกพืช ผลไม้อื่นๆ แซมด้วยเล็กน้อย เช่น เงาะ ลองกอง มังคุด มะยงชิด มะปราง มะปริง มะม่วง กล้วยหอมทอง เมื่อเริ่มต้นชีวิตเป็นเกษตรกรอย่างไม่มีองค์ความรู้ คิดว่าจะใช้เวลาค่อยๆ เรียนรู้ประสบการณ์จากพ่อแม่ แต่เมื่อเข้าไปช่วยงานในสวนพบปัญหาต่างๆ จากการบริหารจัดการ กระบวนการทำงาน เช่น ต้นทุนการผลิต การใช้แรงงานให้น้ำ ให้ปุ๋ย การพ่นยา แม้กระทั่งปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงใช้ความรู้พื้นฐานที่เรียนมาบวกกับประสบการณ์จากการทำงาน คิดสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือเครื่องมือช่วยในการทำงานแทนแรงงาน และช่วยประหยัดพลังงาน ประหยัดต้นทุนการผลิต ช่วงระยะเวลา 1 ปีเศษ ได้คิดสร้างนวัตกรรมใช้งานในสวน ตามไลฟ์สไตล์เกษตรกรยุคใหม่ คิดเอง ทำเอง ใช้เอง 3 โปรเจ็กต์ คือ ชุดล่อแมลงพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องพ่นสารชีวภาพและให้ปุ๋ยทางใบ และการให้น้ำ-ปุ๋ย ผ่านสมาร์ทโฟน

ชุดล่อแมลงพลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งเวลาทำงานได้

คุณเฉลิมพล เล่าว่า ชุดล่อแมลงพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นงานโปรเจ็กต์แรก ที่เริ่มต้นใช้ชีวิตเกษตรกรในสวนของครอบครัว โดยคิดประยุกต์ทำชุดล่อแมลงประยุกต์ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาทดแทนพลังงานไฟฟ้าโดยติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ ขนาด 50 วัตต์ ตั้งเวลาปิด-เปิด เครื่องให้ใช้งานเฉพาะช่วงเวลาที่แมลงออกหากิน ไม่ต้องเปิดทิ้งไว้ทั้งคืน และเป็นแบบโมบายเคลื่อนย้ายไปตามที่ต่างๆ ได้ ทำให้ประหยัดต้นทุน ไม่สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า สะดวกต่อการใช้งานในหัวไร่ปลายนาที่ไม่ต้องเดินสายไฟฟ้าไกลๆ และแผงโซล่าร์เซลล์นี้อายุการใช้งานได้นาน 20-25 ปี

“อุปกรณ์ที่ใช้ทำไม่ยุ่งยาก สามารถติดตั้งเองได้ และต้นทุนไม่สูง เช่น แผงโซล่าร์เซลล์ ขนาด 50 วัตต์ หลอดไฟแบล็คไลท์ที่ล่อแมลง พัดลมดูดแมลง ถุงผ้าใส่แมลง แบตเตอรี่เก็บประจุไฟ โครงเหล็กที่ใช้ติดตั้ง ที่สำคัญต้องเข้าใจการทำงานของระบบไฟฟ้า คือการติดตั้งกล่องคอนโทรลระบบการทำงานของไฟฟ้า มีคอนโทรลชาร์จเจอร์ ควบคุมการชาร์จไฟจากแผงโซล่าร์เซลล์เข้าแบตเตอรี่ อินเวอร์เตอร์แปลงไฟกระแสสลับเป็นกระแสตรง ทั้งหมดต่อพ่วงกับไทม์เมอร์ (เครื่องตั้งเวลา เปิด-ปิด) และที่สำคัญต้องมีการศึกษาข้อมูลช่วงแมลงที่จะออกมาหากิน พื้นที่ที่มีแมลงจำนวนมาก เพื่อที่เคลื่อนย้ายเครื่องไปตั้งตามจุดต่างๆ และตั้งโปรแกรมเวลาใช้งานอัตโนมัติ 2 ช่วง ทุกวัน คือ เช้ามืด 05.00-06.30 น. และกลางคืน 19.00-21.30 น. ทุกวัน” คุณเฉลิมพล กล่าว