กรมส่งเสริมการเกษตร…ก็จะไปพัฒนาใน 2-3 ประเด็นนะครับ

คือหนึ่งพัฒนาการทำการเกษตรให้มีคุณภาพ สองไปดูในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวความปลอดภัยหรือการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับลักษณะของการทำการเกษตรที่เป็นชีวภัณฑ์ชีวภาพ ในขณะเดียวกัน ก็จะไปให้ความรู้พี่น้องเกษตรกรให้เขาสามารถเป็นคนที่จะถ่ายทอดได้ มีความรู้ พัฒนาให้เป็น Smart farmer พัฒนาให้เป็น Young smart farmer สามารถอธิบายให้ผู้คนเข้าใจได้ เป็นแบบอย่างคล้ายๆ ศูนย์เรียนรู้ ข้อมูลเหล่านี้ดูได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักเกษตรจังหวัดหรือกรมส่งเสริมการเกษตรหรือสำนักงานส่งเสริมการเกษตรในเขต 1 ถึงเขต 6 ทั่วประเทศ เพียงพิมพ์คำว่าการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามเว็บไซต์ก็จะมีข้อมูลพวกนี้ปรากฏขึ้น

“คือตอนนี้นโยบายของรัฐบาลกำลังเน้นเรื่องตลาดนำการผลิต เพราะฉะนั้น ตลาดสินค้าเกษตรก็มีหลายลักษณะเหมือนกัน คือหนึ่งให้ผลิตสินค้าที่ตลาดมีความต้องการ ไม่มีปัญหาเรื่องตลาดเรื่องราคา พวกนี้เขาจะผลิตให้มีความสมดุลต่อความต้องการซื้อและความต้องการขาย ตลาดตัวที่สองจะเน้นตลาดในชุมชน คือให้พี่น้องเกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของเอง ขายทั้งในชุมชนดึงนักท่องเที่ยวให้เข้าไปซื้อให้เขาเห็นซึ่งตลาดสินค้าทางการเกษตร

มีทั้งสหกรณ์การเกษตร มีทั้งวิสาหกิจชุมชน องค์กรต่างๆ ที่มีอยู่ประจำหมู่บ้าน และไปเชื่อมโยงกับหมู่บ้าน ตลาดประชารัฐของรัฐบาลในพื้นที่ ซึ่งในลักษณะพวกนี้ตลาดจะมีการขยายตัวไปถึงในระดับชุมชนเอง ตลาดที่เรียกว่าตลาดของเกษตรกรซึ่งกรมส่งเสริมทางการเกษตรเป็นผู้ดูแลและควบคุมบริหารจัดการ ก็จะมีจังหวัดละหนึ่งจุดสามารถที่จะเอางบประมาณลงไปสนับสนุน เช่น พัฒนาในเรื่องของที่จะจำหน่าย พัฒนาอาคาร พัฒนาในเรื่องของการคัดแยกคุณภาพสินค้าทางการเกษตรพวกนี้ ไปจนถึงการตรวจวัดคุณภาพของสินค้าทางการเกษตร ตัวนี้ก็จะมีเป็นจุดนำร่องของทุกจังหวัด อย่างน้อยจังหวังละหนึ่งจุด ดำเนินการทั้ง 9 จังหวัดในเขตภาคกลาง”

“กรมส่งเสริมการเกษตร มีการพัฒนาความรู้ความสามารถต่อตัวเกษตรกรเอง คือจะพัฒนาให้เขาเป็น smart farmer ให้ได้ ซึ่งในการที่จะพัฒนาให้เขา smart farmer ได้ จะให้เขามีความรู้ มีข้อมูลข่าวสาร มีการผลิตที่ถูกต้อง มีการควบคุมคุณภาพ ไม่เป็นพิษต่อตัวเองและชุมชน เมื่อพัฒนาพวกนี้ได้เขาก็จะเป็น smart farmer คนที่จะชี้ว่าเขาเป็น smart farmer คือกรมส่งเสริมทางการเกษตร ก็จะมีทั้งเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ และเกษตรจังหวัดในพื้นที่เข้าไปดูในสิ่งเหล่านี้ ในส่วนของภาคกลางประเด็นที่มีความได้เปรียบคือเรื่องของความรู้และทรัพยากรที่มี

ภาคกลางมีระบบชลประทานที่เอื้อต่อการเกษตรที่โดดเด่น การทำนาก็สามารถที่จะทำได้ทั้ง 2 ฤดู ผสมผสานก็สามารถทำได้เนื่องจากมีต้นทุนเรื่องน้ำ ถือว่ามีความโดดเด่นของพี่น้องเกษตรกรในภาคกลาง อีกประการที่สามถือเป็นความโดดเด่นคือการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าซึ่งเป็นศักยภาพของพี่น้องเกษตรกรในภาคกลางและใกล้แหล่งตลาดใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ก็อยู่ใกล้ เป็นตลาดของเอกชนสามารถที่จะรวบรวมและก็คัดกรองสินค้าพวกนี้ออกต่างประเทศได้”

อยากให้ท่องเที่ยวเชิงเกษตรกันมากๆ

“ในเขตภาคกลาง ผลไม้ที่มีความโดดเด่นสำคัญๆ จะมีประมาณ 3-4 ชนิด อันดับหนึ่งที่มีพื้นที่ปลูกเยอะคือมะม่วง อันดับสองรองลงมาจะเป็นส้มโอ ซึ่งส้มโอก็จะเป็นในเขตภาคกลาง พันธุ์ขาวแตงกวาเป็นส้มโอที่มีความโดดเด่นและสร้างชื่อเสียงให้เขตภาคกลางมาก คุณภาพของผลผลิตในเรื่องของกุ้งใหญ่ ไม่แฉะ รสชาติไม่หวานเยิ้ม ตัวที่สามเป็นกระท้อนที่ปลูกมากในจังหวัดลพบุรี เพราะฉะนั้น เราก็จะมีการพัฒนาในเรื่องของทั้งคุณภาพให้มีความปลอดภัยให้มีการรับรองนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตพืชปลอดภัยได้มาตรฐานตามระบบจัดการคุณภาพ (GAP) ไปจนถึงเรื่องของอินทรีย์”

“ฉะนั้น ถ้ามาในเขตของภาคกลาง โดยเฉพาะที่ชัยนาทก็จะมีส้มโอวางขายตลอดทั้งปีเพราะว่าส้มโอสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี มะม่วงที่อ่างทองก็เช่นกันก็จะพัฒนาให้ผลผลิตออกสู่ตลอดทั้งปี กระท้อนจะมีเป็นบางฤดูเท่านั้น อีกตัวหนึ่งคือกล้วยหอมที่มีมากในเขตภาคกลางที่จังหวัดปทุมธานี จะมีการพัฒนาในเรื่องของคุณภาพ จะมีการพัฒนาในเรื่องของตลาด มีการพัฒนาในส่วนของการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต ยกตัวอย่างการเพิ่มมูลค่าของส้มโอ โดยตัดส้มโอที่มีคุณภาพเหมาะสมที่สุดไม่ว่าจะเป็นเปลือกส้มโอนั้นก็จะนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เชื่อม แปรรูป สามารถจำหน่ายเพิ่มมูลค่าได้ ในขณะเดียวกัน ก็จะทำแพ็กเกจจิ้งในการส่งออกตลาดให้มากขึ้น มีการพัฒนาในเรื่องของตลาดดิจิตอลสามารถที่จะสั่งซื้อได้ทางออนไลน์ ส่งสินค้าได้ทุกฤดูกาล”

งาขี้ม้อน เป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูสำหรับคนทั่วไป แต่คนในภาคเหนือคุ้นเคยกับชื่อนี้ดี งาขี้ม้อนเป็นพืชพื้นเมืองของทางภาคเหนือ มีการเพาะปลูกกันมาช้านาน งาขี้ม้อนพบการแพร่กระจายตั้งแต่พื้นที่เขตภูเขาหิมาลัย พื้นที่ภูเขาในจีนถึงเอเชียตะวันออก เมื่อมีการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนเอเชียเข้าไปตั้งรกรากในประเทศสหรัฐอเมริกาปลายปี พ.ศ. 2343 (ค.ศ. 1800) ผู้อพยพได้นำเมล็ดงาขี้ม้อนไปปลูกด้วย งาขี้ม้อนสามารถเจริญเติบโตปรับตัวได้ดีเข้ากับสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่นั่น ในประเทศไทยพบงาขี้ม้อนได้ทั่วไปในภาคเหนือ ตั้งแต่ระดับความสูง 300-1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล แหล่งปลูกอยู่ที่เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง เริ่มมีการปลูกกันบ้างที่สุโขทัย

งาขี้ม้อน เป็นพืชน้ำมันที่สำคัญชนิดหนึ่งที่เพิ่งมาเป็นที่รู้จักในหมู่คนรักสุขภาพเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากงาขี้ม้อนมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน งาขี้ม้อนได้กลายเป็นพืชอุตสาหกรรมน้ำมันพืชชนิดใหม่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก

งาขี้ม้อน มีชื่อเรียกตามแต่ละท้องถิ่นได้อีกหลายชื่อ เช่น งาปุก งานก (คนเมือง) งาม้อน งาหอม งามน (แม่ฮ่องสอน), งาขี้ม้อน แง (กาญจนบุรี), น่อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), นอ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน, กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ง้า (ลัวะ), งาเจียง (ลาว), จีนเรียกว่า ชิซู (Chi-ssu), ญี่ปุ่น เรียกว่า ชิโซะ (Shiso), เกาหลี เรียกว่า เคนนิป (Khaennip) อินเดีย เรียกว่า พันจีร่า (Bhanjira), เบงกอล เรียก Babtulsi เป็นต้น

งาขี้ม้อน มีชื่อสามัญว่า เพอริลล่า (Perilla) ชื่อวิทยาศาสตร์ Perilla frutescens (L.) Britton (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์Ocimum frutescens) เป็นพืชในวงศ์เดียวกับกะเพรา (Labiatae) ไม่ได้อยู่ในวงศ์เดียวกับงาทั่วไป (Pedaliaceae) งาขี้ม้อน มีชื่อเรียกอีกว่า ต้นกะเพราจีน (Chinese basil), ต้นสเต๊กเนื้อ หรือต้นบีฟสเต๊ก (beefsteak plant) ชื่อบีฟสเต๊กคาดว่าเริ่มใช้เรียกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2523 กับอาหารยอดนิยมชนิดหนึ่งของญี่ปุ่น ที่มีส่วนประกอบของใบงาขี้ม้อน

งาขี้ม้อน เป็นพืชล้มลุก พืชฤดูเดียวเหมือนกับกะเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า ในภาคเหนือมีการเพาะปลูกตามไหล่เขา เนินเขา และพื้นที่ราบ แม้กระทั่งพื้นที่ว่างตามหัวคันนา ปลูกไว้เพื่อจำหน่ายและปลูกเพื่อบริโภคเอง ปลูกเป็นพืชหลังนาและการปลูกในช่วงฤดูฝน เก็บเกี่ยวฤดูหนาว ปลูกโดยการหว่าน จะหว่านเมล็ดหลังจากไถพรวนแล้ว การปลูกยกแปลงจะต้องเพาะกล้าในแปลงเพาะก่อน พอต้นกล้าอายุประมาณ 1-2 เดือน จึงถอนต้นกล้าไปปลูกลงแปลง โดยเด็ดยอดทิ้งเพื่อให้แตกยอดใหม่หลายยอด การปลูกงาขี้ม้อนทั่วไปมักปลูกกันในพื้นที่ดอนตามเนินเขาอาศัยน้ำฝน เป็นพืชที่มีความทนทานสามารถเจริญเติบโตได้ดีกับดินแทบทุกสภาพ ส่วนใหญ่จึงปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติ การดูแลรักษามีน้อยมาก

พันธุ์งาขี้ม้อน มีพันธุ์ใบสีเขียวและพันธุ์ใบสีม่วง ใบสีเขียวเป็นพันธุ์ที่พบมากในประเทศไทย จากการสำรวจการปลูกงาขี้ม้อนในภาคเหนือตอนบนพบว่า มีการปลูกกระจายทั่วไปบนพื้นที่ดอนตามไหล่เขาเชิงเขา จากแหล่งปลูกใน 10 พื้นที่ มีงาขี้ม้อนทั้งหมด 130 สายพันธุ์ และมีอยู่ 10 สายพันธุ์ ที่ทางศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัยคัดเลือกไว้ โดยแบ่งออกเป็น 3 พันธุ์ ได้แก่

งาดอ เป็นงาขี้ม้อนอายุสั้น
งากลาง อายุอยู่ระหว่างงาดอกับงาปี
งาปี มีอายุมากกว่า
ต้นงาขี้ม้อน ลำต้นตั้งตรง ความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านสาขา ลำต้นสี่เหลี่ยมมน ต้นมีกลิ่นน้ำมัน มีขนยาวละเอียดสีขาว ระหว่างเหลี่ยมที่ต้นมีร่องตามยาว เมื่อโตเต็มที่ลำต้นเคยเป็นเหลี่ยมที่โคนต้นจะหาย แต่ละข้อตามลำต้นที่จะแตกเป็นใบห่างกัน 4-11 เซนติเมตร ส่วนโคนต้นและโคนกิ่งจะแข็ง รากแข็งเหนียว

ใบงาขี้ม้อน ใบใหญ่คล้ายกับใบยี่หร่าอย่างมาก แต่มีสีอ่อนกว่าใบยี่หร่า หรือคล้ายใบฤๅษีผสม ใบเป็นใบเดี่ยว ใบออกเป็นคู่อยู่ตรงข้าม คู่ใบในข้อถัดไปใบจะออกเป็นมุมฉากกับใบคู่ก่อนสลับกันตลอดทั้งต้น ลักษณะของใบคล้ายใบโพธิ์หรือรูปไข่กว้าง ปลายใบเรียวแหลมหรือเป็นติ่งยาว โคนใบกลมป้าน หรือโคนตัด ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ความกว้างของใบประมาณ 3-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-14 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวอ่อน ท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ แผ่นใบมีขนสั้นๆ นุ่มสีขาวทั้งสองด้าน เมื่อไปสัมผัสจะไม่รู้สึกระคายเคืองหรือคัน ตามเส้นใบมีขน ท้องใบมีต่อมน้ำมัน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1-6 เซนติเมตร และมีขนยาวขึ้นแน่น เส้นใบ 7-8 คู่ แตกเป็นคู่ตรงข้ามกันจากเส้นกลางใบ ใบเหี่ยวเร็วมากเมื่อเด็ดจากต้น และไม่ควรนำใบให้วัวควายกินจะเกิดพิษได้

ดอกงาขี้ม้อน ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามง่ามใบแต่ละข้อและที่ยอด ช่อดอกมีดอกย่อยเต็มก้านดอก ดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมากเป็นกลุ่ม ช่อดอกตั้งเป็นช่อรูปสี่เหลี่ยม ดอกย่อยเชื่อมติดกันรอบก้านดอกไม่เป็นระเบียบชูช่อดอกขึ้นไป ช่อดอกยาว 1.5-15 เซนติเมตร ช่อดอกคล้ายช่อดอกโหระพา ช่อดอกแมงลัก ดอกย่อยคล้ายรูปไข่เล็กๆ ไม่มีก้าน ดอกย่อยมีริ้วใบประดับอยู่ แต่ละดอกย่อยมีกลีบดอก 5 กลีบ ดอกมีสีขาว สีขาวอมม่วงถึงสีม่วง มีขนสีขาวขึ้นปกคลุม

ผลงาขี้ม้อน ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่กลมขนาดเล็ก ผลอ่อนสีขาวหรือเขียวอ่อน ผลแก่เป็นสีน้ำตาลหรือสีเทา เมล็ดงาขี้ม้อนในดอกย่อยแต่ละดอกมีเมล็ดอยู่ 1-4 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็กลักษณะกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มีสีที่ต่างกัน เป็นลายตั้งแต่สีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลไหม้ สีเทาเข้ม สีเทาอ่อนไปจนถึงสีขาว และมีลายเป็นรูปตาข่าย น้ำหนักเมล็ดประมาณ 4 กรัม ต่อ 1,000 เมล็ด

การเก็บเกี่ยว เมื่องาขี้ม้อนมีอายุได้ 4-5 เดือน งาจะเริ่มแก่ สังเกตช่อดอกส่วนล่างเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลบ้างจึงเก็บเกี่ยวได้ เกี่ยวด้วยเคียวขณะที่ต้นยังเขียว ลำต้นที่ยังอ่อนซึ่งทำให้ง่ายต่อการเกี่ยว วางต้นงาที่เกี่ยวแล้วเพื่อตากแดดทิ้งไว้บนตอซังที่เกี่ยวหรือวางบนร้านไม้ไผ่ ตากแดด 3-4 วัน ต้นงาที่แห้งแล้วนำมาตีด้วยไม้ให้เมล็ดหลุดออกลงในภาชนะรองรับ ฝัดทำความสะอาดตากแดดอีกครั้งแล้วเก็บใส่กระสอบ เพื่อรอการจำหน่ายหรือเก็บไว้บริโภคเอง

พบการระบาดของโรคและแมลงในงาขี้ม้อนมีน้อย ไม่ถึงกับทำความเสียหายเป็นวงกว้าง พบหนอนห่อใบโหระพากัดกิน มีเพลี้ยอ่อน และเพลี้ยแป้งรบกวนบ้าง เมล็ดและใบงาขี้ม้อนใช้เป็นอาหารได้หลายอย่าง คนภาคเหนือใช้ประโยชน์จากเมล็ดงาขี้ม้อนมาช้านาน โดยนำเมล็ดมาบริโภคทำเป็นอาหารว่างหรือของหวานชนิดหนึ่งที่ทำได้อย่างง่ายๆ ใช้เมล็ดงาตำกับเกลือคลุกกับข้าวเหนียวขณะที่ยังร้อนๆ ตำให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันกับงา หรือคั่วงาให้สุกแล้วตำงากับเกลือในครกจนเข้ากันดีและคลุกกับข้าวเหนียวร้อนๆ จะได้กลิ่นหอมของข้าวสุกใหม่และกลิ่นของงา หากต้องการขบเมล็ดปนอยู่บ้างก็ไม่ต้องตำจนละเอียด แต่ถ้าไม่ชอบให้เป็นเมล็ดก็ตำให้ละเอียดได้ ใส่ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกใหม่ๆ ลงตำคลุกเคล้ากับงาในครก ถ้าทำครั้งละมากๆ จะตำในครกกระเดื่อง หรือจะคลุกเคล้าข้าวเหนียวอุ่นๆ กับงาให้เข้ากันดีก่อนแล้วเติมเกลือและตำให้เข้ากันอีกทีก็ได้

อาหารชนิดนี้คนภาคเหนือเรียกว่า ข้าวหนุกงา หรือ ข้าวนุกงา รับประทานเป็นอาหารว่างหรือของหวาน บางคนจะเติมหัวกะทิลงไปด้วย เพิ่มความมันจากกะทิรสชาติต่างออกไป ข้าวหนุกงาที่เติมกะทิจะเก็บไว้ไม่ได้นาน จะบูดง่ายควรรีบรับประทานขณะยังอุ่นๆ เชียงใหม่เรียก ข้าวหนุกงา คำว่า “หนุก” หมายถึง คลุกหรือนวด ลำปางบางพื้นที่เรียกว่า “ข้าวนึกงา หรือ ข้าวหนึกงา คำว่า “หนึก” หมายถึง การคลุกเคล้าให้เข้ากัน ยังมีชื่อเรียกอาหารชนิดนี้แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ข้าวงา, ข้าวคลุกงา, ข้าวแดกงา ข้าวหนุกงา จะได้รสชาติดีถ้าใช้งาที่เก็บมาใหม่ๆ ถ้าใช้ข้าวเหนียวดำมาตำผสมกับงาขี้ม่อนให้เหนียวและทับรีดเป็นแผ่นบนใบตอง รับประทานขณะอุ่นๆ หรือนำไปย่างไฟใส่น้ำตาลอ้อยลงไปก่อนรับประทาน เรียกว่า “ข้าวปุกงา” หรือ “ข้าวปุ๊กงา”

การทำข้าวหนุกงาของชาวลัวะในภาคเหนือ นำงาไปคั่วกับเกลือและตำให้แตกน้ำมันและใส่ข้าวเหนียวสุกใหม่ตำไปพร้อมกัน จะใส่น้ำอ้อยเพิ่มความหวานก็ได้ หรือนำเมล็ดงามาคั่วใส่ในน้ำพริก การทำข้าวหนุกงาของชาวไทยใหญ่ที่แม่ฮ่องสอนจะตำจนข้าวเหนียวและงาเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วตัดแบ่งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมหรือวงกลม ถ้าชอบหวานจะจิ้มกับน้ำอ้อยหรือน้ำผึ้งก็ได้เช่นกัน ข้าวหนุกงา หรือข้าวหนึกงามีรสมันและเค็มควรรับประทานขณะข้าวยังอุ่น เมื่อก่อนคนเมืองเหนือนิยมบริโภคข้าวหนุกงากันในช่วงฤดูหนาวตรงกับช่วงเก็บเกี่ยวข้าวใหม่พอดี และจะได้รับประทานกันปีละครั้ง เดี๋ยวนี้ข้าวหนุกงาพบว่ามีขายตามตลาดสดตอนเช้าในภาคเหนือ ขายเป็นห่อ ห่อด้วยใบตองเป็นห่อใหญ่ มีให้รับประทานได้ตลอดปี ไม่ต้องรอถึงฤดูหนาว

การใช้ประโยชน์จากเมล็ดงาขี้ม้อนยังใช้แปรรูปหรือเป็นส่วนผสมในอาหารได้หลายอย่าง เช่น ผสมในข้าวหลาม ใส่ในขนมรังผึ้ง ใส่ในข้าวต้มมัด ใส่ในขนมเทียน ขนมงา งาคั่ว งาแผ่นคล้ายขนมถั่วตัด คุกกี้งา น้ำมันงาอัดเม็ด น้ำมันงาสกัดเย็น ใช้น้ำมันมาทำเนยเทียมงาขี้ม้อน ชางาขี้ม้อนป่น ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางบำรุงผิว เป็นต้น

คนเอเชียรู้จักใช้ใบงาขี้ม้อนมานานหลายร้อยปี โดยเฉพาะคนจีนจะใช้ใบและยอดอ่อนเพื่อแต่งรสชาติและแต่งกลิ่นอาหาร ใบงาขี้ม้อนใช้รับประทานสดได้ ใบมีกลิ่นหอม ใช้แทนผักสด ใช้ใบห่อข้าว ใช้ห่อขนมเทียน ชุบแป้งทอด ใส่กับสลัด เนื้อย่าง หมูย่าง ห่ออาหารประเภทเมี่ยงปลา หรือใช้เป็นผักแนม รับประทานร่วมกับอาหารรสจัดประเภทยำต่างๆ ชาวญี่ปุ่นและชาวเกาหลีนิยมรับประทานใบงาขี้ม้อนเป็นผักเคียงคู่กับซาซิมิหรือเนื้อปลาดิบ เนื่องจากใบงาขี้ม้อนมีสรรพคุณดับกลิ่นคาวและต้านการแพ้อาหารทะเลได้ ดังนั้น ใบงาขี้ม้อน จึงมีราคาสูงในญี่ปุ่น เกาหลี ใบงาขี้ม้อนพบว่ามีสารที่ช่วยลดอาการซึมเศร้าได้

น้ำมันงาขี้ม้อน

น้ำมันสกัดจากเมล็ดงาขี้ม้อนเริ่มได้รับความสนใจเมื่อไม่นานมานี้ ในเมล็ดมีน้ำมันสูง ประมาณ 31-51% เป็นแหล่งของกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA) พบว่า น้ำมันจากเมล็ดงาขี้ม้อนมีประโยชน์หลายอย่าง งาขี้ม้อนเป็นพืชน้ำมันชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติที่ดีเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง น้ำมันสกัดจากเมล็ดงาขี้ม้อนนำมาใช้เป็นอาหารและใช้ทำยาได้ ช่วยป้องกันโรคได้หลายโรค เมล็ดงาขี้ม้อนมีโปรตีน 18-25 เปอร์เซ็นต์ วิตามินบีและแคลเซียมสูงกว่าพืชผัก 40 เท่า โดยมีปริมาณแคลเซียมประมาณ 410-485 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม และฟอสฟอรัสมากกว่าพืชผักทั่วไป 20 เท่า งาขี้ม้อนเป็นพืชชนิดเดียวที่มีโอเมก้า 3, 6 และ 9 ซึ่งมีมากกว่าน้ำมันปลา 2 เท่า เนยเทียมที่ผลิตจากน้ำมันงาขี้ม้อนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารใหม่สุดที่มีความปลอดภัยสูง เพราะปราศจากไขมันทรานส์

ปัจจุบัน ได้มีการนำเมล็ดงาขี้ม้อนมาสกัดน้ำมันในรูปแบบของน้ำมันบริสุทธิ์ (virgin oil) และใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพป้องกันโรคหลายโรค ส่วนใบของงาขี้ม้อนมีปริมาณน้ำมันค่อนข้างต่ำ ประมาณ 0.2% ใบสดงาขี้ม้อนสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย (Volatile Oil) ได้ มีราคาถูกกว่าน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากดอกไม้หอมชนิดอื่น จึงนำมาใช้แทนในอุตสาหกรรมเครื่องหอมได้

งาขี้ม้อน พืชเก่าแก่มีมาแต่ดั้งเดิม ได้รับความสนใจในสถานะพืชน้ำมันชนิดใหม่ ไม่ว่าจะเดินทางไปภูมิภาคไหน มักเห็นชาวบ้านต้มข้าวโพดขายริมถนน ผู้คนก็นิยมซื้อกินกัน
ข้าวโพด เป็นที่นิยมของผู้ปลูกและผู้บริโภคมานานหลายปีแล้ว นอกจากปลูกแล้วซื้อขายกันในประเทศ ทราบว่า ยังปลูกแปรรูปส่งไปต่างประเทศอีกด้วย เมื่อไม่นานมานี้ มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณพิรุณ แสงดวง คุณอุไรพรรณ แสงดวง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดพันธุ์สวีทไวโอเล็ท ประสบผลสำเร็จ อยู่บ้านเลขที่ 13 หมู่ที่ 2 ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

คุณพิรุณ เล่าว่า “ปัจจุบัน ประกอบอาชีพทำนา หลังจากทำนาก็จะปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวพันธุ์สวีทไวโอเล็ทของศรแดง เป็นพันธุ์ต้านทานโรคได้ดี ทนแล้ง รสชาติอร่อย คนนิยม ลูกค้าเขาชอบพันธุ์สวีทไวโอเล็ทนี้มาก…ข้าวโพดพันธุ์นี้ มีรสชาติหวานเหนียวอยู่ในฝักเดียวกัน เวลาเรารับประทานเข้าไปจะหวานเหนียวอยู่ในปากเลย”

เทคนิคการปลูก
คุณพิรุณ เล่าว่า หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วก็ล้มตอซัง จ้างรถไถมาไถ จากนั้นก็ยกร่องแปลง แล้วก็ขุดหลุม ความกว้างหลังแปลงประมาณ 75 เซนติเมตร ระหว่างต้นระหว่างแถวปลูกข้าวโพด 70 คูณ 70 เซนติเมตร หลุมหนึ่งหยอดเมล็ด 2 เมล็ด หยอดเมล็ดแห้งลงไป กลบดิน ใส่น้ำ ปล่อยน้ำซึมให้ไหลเข้าไปในแปลงให้ไหลไปตามร่อง

“การให้ปุ๋ยก่อนหยอดเมล็ดก็รองก้นหลุมก่อน ประมาณช้อนชาต่อหลุม ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ลงไป หลังจากเมล็ดข้าวโพดงอกแล้ว ประมาณ 10 กว่าวัน ให้น้ำครั้งแรก แล้วก็ใส่ปุ๋ยสูตรเสมออีกรอบหนึ่ง หลังจากนั้นประมาณ20 วัน ใส่ปุ๋ยอีกครั้ง ใส่ครั้งนี้เยอะหน่อย ใส่ 15-15-15 กับ 13-13-21 รวมกันเลย โยนเข้าไปในหลุมเลย แล้วก็ขุดดินกลบ” คุณพิรุณ กล่าว

คุณพิรุณ บอกถึงอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตว่า “อยู่ที่ดินฟ้าอากาศนะครับ รุ่นนี้จะไว ถ้าหน้าหนาวจะนาน โดยช่วงปกติหน้าร้อน ประมาณ 70 วัน ถ้าหน้าหนาว ประมาณ 3 เดือนกว่า 90 กว่าวัน โดยอันนี้ที่ปลูก ปลูก 24 เมษายนจะเก็บแล้วเนี่ย ได้ 2 เดือน กับ 4 วัน”

คุณพิรุณ บอกว่า สภาพอากาศและสภาพดินมีผลต่อขนาดฝัก

“ตอนนี้ที่มันอ่อนแอที่สุดคือ โรคใบลาย NOVA88 การป้องกันเราก็ป้องกันตั้งแต่แรก ใช้ยาพ่นไปประมาณ 2-3 ครั้ง ถ้าเจอโรคระบาดเราก็ต้องพ่นซ้ำ ถ้าโรคใบไหม้ต้องพ่นซ้ำเรื่อยๆ แต่รุ่นนี้ดี โรคใบไหม้ไม่ค่อยมี ลักษณะใบไหม้จะเป็นจุดๆ”

คุณพิรุณ บอก และเล่าต่ออีกว่า

“ปลูกเมล็ดพันธุ์ของศรแดงมา 13 ปีแล้วครับ ไม่เคยเปลี่ยนเลย ข้าวโพดข้าวเหนียวหมดเลย เลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว เพราะอายุสั้น ขายง่าย ราคาดี ไม่ต้องจ้างคนเก็บด้วย เขามาเก็บเอง เราดูแลให้เขาอย่างเดียว”

คุณพิรุณ กล่าวถึงต้นทุนว่า “ค่ารถไถ ไร่ละ 700 บาท แรงงานจะจ้างช่วงหยอดเมล็ดกับกลบปุ๋ย ค่าแรง วันละ 300 บาท ค่าแรง ปุ๋ยอะไรประมาณ 4,000 บาท ประมาณนี้นะครับ กำไรต่อไร่หักเมล็ดพันธุ์อะไรแล้ว เหลือประมาณ 8,000 บาท ต่อไร่ 1 ปี ปลูกประมาณ 2 รอบ”

“ทางด้านผลผลิตต่อไร่ ไร่หนึ่งได้ผลผลิตประมาณ 2 ตันกว่า ปัจจุบัน ปลูก 3 ไร่ 2 งาน หมดเมล็ดพันธุ์ไปประมาณ5 กิโลกรัม แนวโน้มอนาคตคิดว่ามีการขยายเกิดขึ้น ผลผลิตที่ได้สม่ำเสมอ โดย 2 คน ทำได้ประมาณ 3-4 ไร่ ต่อรอบ” คุณพิรุณ บอก

ทางด้านการตลาด คุณพิรุณ บอก “ช่วงปลูกแรกๆ ก็ 5 บาท 50 สตางค์ แล้วก็ขยับขึ้นมาเป็น 6 บาท เราจะรู้ราคาตั้งแต่ก่อนปลูก โบรคเกอร์เขาจะประกันราคาให้เลย ส่งขายในจังหวัดเชียงใหม่ กิโลกรัมละ 6 บาท ตลอดทั้งปี เป็นราคาประกัน เป็นราคาที่เราพอใจครับ ทางด้านความเสี่ยงในข้าวโพดแต่ละรุ่นไม่มีครับ”

คุยกับนักส่งเสริม ข้าวโพดข้าวเหนียว
ทางด้าน คุณฐิติพันธ์ จงจิระสวัสดิ์ หรือ คุณอุ๋ย ผู้ส่งเสริมการปลูก-ส่งเสริมการขาย กล่าวว่า “เดิมทีที่บ้านปลูกข้าวโพดข้าวเหนียว ปลูกเองแล้วก็ไปขายเองตามตลาด เราเป็นพ่อค้า เราก็เห็นว่ามีเพื่อนในตลาดบางคนก็ขายของอันนั้นบ้าง อันนี้บ้าง เราก็ไปแนะนำให้เขาขาย และเราก็ปลูกเผื่อเขา ปลูกเผื่อเรื่อยๆ ณ วันหนึ่ง เราออกมาทำส่งเสริมเกษตรกรดีกว่า แล้วให้กลุ่มเพื่อนๆ หรือกลุ่มแม่ค้าที่เราแนะนำเขาเป็นคนขาย ส่งเสริมเกษตรกรปีนี้เป็นปีที่ 12 พอดีครับ พื้นที่ส่งเสริมอยู่ในอำเภอแม่แตงทั้งหมดครับ ขายที่ตัวเมืองเชียงใหม่

ทั่วจังหวัดเชียงใหม่ครับ แล้วแต่ว่ากลุ่มแม่ค้าจะอยู่ที่ไหน มีต่างอำเภอบ้าง มีแม่ฮ่องสอนบ้าง มีเชียงรายบ้าง ถ้าเป็นแม่ค้าที่เป็นแม่ค้าประจำของเราเนี่ยอยู่ที่เชียงใหม่ เป็นแม่ค้าที่เราส่งเสริมไว้ เป็นแม่ค้ารายย่อยที่ขายนึ่ง มีแม่ค้าอยู่ประมาณ 60 ราย บางรายส่งสูงถึง 500 กิโลกรัม ต่อวัน แล้วแต่ราย บางรายก็แค่ 20 กิโลกรัม รวมแล้วส่งขายประมาณ วันละ 4-5 ตัน ต่อวัน เราวิ่งส่งตามจุดที่เรานัด ใกล้บ้านเขา เส้นหลักๆ มีสายส่งเพียงสายเดียวครับ รถ 1 คัน วิ่งให้สุด จุดที่เรานัดกันประมาณ 10 จุด จุดหนึ่งก็ประมาณ 5-6 ราย บางจุดใหญ่หน่อยก็ 10 กว่าราย อย่างนี้นะครับ”