กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับมอบหมายให้เร่งดำเนินการโครงการ

เสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ชุมชนละ 3 แสนบาท นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ดำเนินงานโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย โดยมีงบประมาณ 5,278,394,100 บาท เป็นโครงการที่ให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง แบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ 1. กิจกรรมฝึกอบรมเกษตรกร ชุมชนละ 200 ราย ในจำนวน 9,101 ชุมชน มีเกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์ จำนวน 1,820,200 ราย

สำหรับคุณสมบัติ จะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร รวมทั้งจะต้องไม่สมัครเข้ารับการอบรมในกิจกรรมอื่นๆ ของโครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยมีหลักสูตรการฝึกอบรม จำนวน 1 หลักสูตร ประกอบด้วย 3 กลุ่มวิชา 1) กลุ่มวิชาสร้างการรับรู้ ความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศ 2) กลุ่มวิชาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร และ 3) กลุ่มวิชาการบริหารจัดการองค์กรเกษตรกร รวมจำนวน 18 ชั่วโมง โดยสามารถเข้าไปพิจารณาทางเลือกได้ http://k-room.doae.go.th

ขณะนี้อยู่ในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูก ที่เกษตรกรยังไม่มีรายได้ ดังนั้น จึงได้อนุมัติ “โครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศกว่า 9,000 ชุมชน ชุมชนละ 200 คน หรือมีเกษตรกรกว่า 1.8 ล้านคน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ โดยเน้นการฝึกอบรมเสริมความรู้ทักษะอาชีพในชุมชนเป็นหลัก เกษตรกรต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมและการเรียนรู้กันเอง โดยจะได้งบประมาณชุมชนละ 3 แสนบาท

สำหรับโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย จะอยู่ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งเสริมสร้างเกษตรกรรายย่อยเข้มแข็งที่เราไปจำแนกพื้นที่การเกษตรไปสำรวจมา 9,101 ชุมชน ที่มีความเหมาะสมด้านการเกษตรจะมีอาชีพที่ความแตกต่างกัน แต่เพื่อเป็นการเสริมอาชีพที่มีความหลากหลายขึ้นตรงกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่สร้างความมั่นคงในอาชีพ เพราะฉะนั้นการทำอาชีพใดอาชีพหนึ่งเราต้องเสี่ยงลดความเสี่ยงจากอาชีพใดอาชีพหนึ่ง

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 937,000 ราย คาดว่าเกษตรกรจะเข้าร่วมได้เต็มตามเป้าหมายที่คาดไว้ ในวันที่ 25 มิถุนายน 2561 และจะสามารถดำเนินการได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะเป็นเดือนที่เกษตรกรจะลงมือทำ เพราะฤดูฝนได้เริ่มต้นแล้ว

ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมทโครงการครั้งนี้จะได้รับความรู้ผ่านการฝึกอบรมอาชีพใน 3 กลุ่มวิชา ได้แก่ 1. กลุ่มวิชาสร้างการเรียนรู้ความเข้าใจกันในการขับเคลื่อนประเทศ 2. กลุ่มวิชาชีพเพื่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร และ 3. กลุ่มวิชาการบริหารจัดการองค์กรเกษตรกร รวม 18 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน ปีนี้มีเวลาทำประชาพิจารณ์ 2 รอบ โดยรอบแรกเข้าใจตรงกัน อยากเรียนรู้เรื่องอะไร และนำความรู้ไปพัฒนาหลักการเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แค่เป็นการสร้างทักษะอาชีพและสร้างอาชีพในชุมชน

อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมสมัครได้ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2561 และต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือสามารถติดต่อได้ ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทั่วประเทศ

วันที่ 20 มิถุนายน 2561 ณ ศูนย์การประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วิจัยยุคใหม่เข้าถึงประชาชน” เวลา 09.00 น.

โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า
สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดทิศทางและนโยบายการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อเป็นกลไก การบูรณาการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้ตรงกับความต้องการ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการร่วม สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) สำนักงบประมาณ มีหน้าที่ขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อให้ทิศทางการทำงานวิจัย และพัฒนานวัตกรรม ตอบโจทย์สำคัญตรงกับตามความต้องการของประเทศ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน โดยได้จัดทำกรอบการวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับแผนบูรณาการวิจัยและนวัตกรรม และเพื่อเป็นการเตรียมโจทย์วิจัย ที่มุ่งเน้นการวิจัยที่มีความสำคัญกับกลุ่มอาชีพหลักของคนไทย

โดยการประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อระดมความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยกำหนดโจทย์วิจัยและนวัตกรรม ในการพัฒนาประเทศให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์และตอบโจทย์ หรือแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะมีการระดมสมอง ในเรื่องของ “โจทย์วิจัยสำหรับวิถีชีวิตคนไทยและอาชีพของคนไทย” ในเรื่อง ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา ไม้ผล เศรษฐกิจ (ลำไย มะพร้าว ทุเรียน มังคุด และลองกอง) น้ำมันปาล์ม โคเนื้อและโคนม การแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ประเด็นวิจัยหรือโจทย์วิจัยสำหรับวิถีชีวิตคนไทย และอาชีพของคนไทย รวมทั้งให้นักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยได้เห็นตัวอย่างของงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโจทย์วิจัยที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ รวมถึงได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัย และกรอบการให้ทุนอุดหนุนการวิจัย ในปีงบประมาณ 2562

จากกรณีที่พื้นจังหวัดพิจิตร และรอยต่อจังหวัดเพชรบูรณ์ ประสบกับปัญหาจากภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนานกว่า 1 เดือน ส่งผลให้ต้นข้าว ข้าวโพด รวมถึงพืชไร่ต่างๆ ของเกษตรกร ที่เพาะปลูกมาก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำในการหล่อเลี้ยง ทำให้เริ่มแห้งเหี่ยวเฉาเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลาดเชิงเขาเพชรบูรณ์ โดยเกษตรกรจะอาศัยน้ำฝนเป็นหลักในการทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบกว่า 6 แสนไร่ ประกอบไปด้วย อำเภอทับคล้อ อำเภอดงเจริญ อำเภอตะพานหิน อำเภอวังทรายพูน ของจังหวัดพิจิตร และอำเภอวังโป่ง อำเภอชนแดน ของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอทับคล้อ ได้รับผลกระทบมากสุด เป็นนาข้าว 1 แสน 6 หมื่นไร่ และพื้นที่ไร่ 6 พันไร่

ต่อมาศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ นำโดย นางสาวหนึ่งหทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ได้ลงพื้นที่พบกลุ่มเกษตรกรในตำบลเขาทราย และตำบลทับคล้อ อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เพื่อติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานเกษตรในพื้นที่ และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เพื่อบูรณาการข้อมูล และความต้องการน้ำของเกษตรกรในการประมวลสถานการณ์ก่อนปฏิบัติการฝนหลวง พร้อมกับนายอำเภอทับคล้อ เกษตรอำเภอทับคล้อ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ขึ้นเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ บินสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะฝนแล้ง รวมทั้งบินสำรวจสภาพอากาศเพื่อเตรียมปฏิบัติการทำฝนหลวง

นางสาวหนึ่งฤทัย กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์พบว่า ที่ผ่านมาฝนไม่ตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง อีกทั้งการปฏิบัติการที่ผ่านมาไม่สามารถปฏิบัติการได้ เนื่องจากมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ทำให้มีลมแรงไม่เหมาะสมต่อการปฏิบัติการ แต่ในขณะที่กำลังลมเริ่มอ่อนจึงได้วางแผนปฏิบัติการทำฝนหลวงในช่วงบ่ายของวันนี้ ซึ่งจะปฎิบัติการ 4 เที่ยวบิน ปล่อยสารฝนหลาง 4 ตัน ซึ่งคาดว่าจะมีฝนตกในพื้นที่มากขึ้น ทั้งนี้ การปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร อีกทั้งจะปฏิบัติการทำฝนหลวงต่อเนื่องไปจนจะมีฝนตก และเกษตรกรมีน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตร

นายสมศักดิ์ โพธิ์ศรีทอง นายอำเภอทับคล้อ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่อำเภอทับคล้อ มีประชากรประกอบอาชีพทำการเกษตรมากถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมด โดยได้เกิดฝนทิ้งช่วงมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกน้อยมาก ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวได้รับความเสียหาย 1 แสน 6 หมื่นไร่ และพืชไร่อี 6 พันไร่ ทางสำนักงานเกษตรอำเภอทับคล้อ จึงได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือจากศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ มาสำรวจความเป็นไปได้ในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรดังกล่าว

ร.ต.ท.จิรัฐกาล วุฒิทวัพัฒน์ ผบ.มว.ร้อย ตชด.127 และ ร.ท.ทัศน ดวงรัตน์ ผบ.มว.ที่ 1 ร้อย รส.จ.สระแก้ว ได้รับแจ้งจาก นายเจษฎา รัตนนิยม อยู่บ้านเลขที่ 987 หมู่ที่ 1 ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ ว่า พบลูกระเบิด อยู่ภายในไร่มะม่วง หลัง อบต.วังน้ำเย็น หมู่ที่ 9 ต.วังน้ำเย็น อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว จึงรุดเข้าไปในพื้นที่ พบวัตถุระเบิด เป็นลูกระเบิด ชนิดยิงจากเครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด 82 มิลลิเมตร จำนวน 1 ลูก โผล่อยู่เหนือดิน บริเวณริมสวน ในไร่มะม่วง จากนั้นจึงประสานกับเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้ระเบิด กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 12 อรัญประเทศ เพื่อช่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดและนำวัตถุระเบิดดังกล่าวไปทำลายต่อไป

นายเจษฎา กล่าวว่า ตนได้ไถดิน กำจัดวัชพืชในสวน ปลูกมะม่วง ได้พบวัตถุกลมๆ คล้ายปลี มีสนิมเขรอะ จึงเข้าไปดูใกล้ๆ จึงรู้ว่าเป็นลูกระเบิด จากนั้น จึงได้โทรศัพท์ ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้มาตรวจสอบ และเก็บกู้ต่อไป

นายวันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย เปิดเผยว่า ได้นำเงินส่วนตัวมาซื้อสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย เพื่อแจกจ่ายให้กับพนักงานและเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครเชียงราย ตลอดจนประชาชนที่มาติดต่องานบางส่วน โดยได้จัดซื้อมาจากชาวสวนพื้นที่ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ในราคากิโลกรัมละ 1 บาท โดยซื้อจำนวน 15 ตัน แบ่งนำมาแจกจ่าย วันละ 5 ตัน ทั้งนี้เพื่อช่วยชาวสวน ซึ่งประสบกับปัญหาวิกฤตอย่างหนัก นอกจากราคาสับปะรดจะตกต่ำในรอบหลายปี โดยอยู่ในราคากิโลกรัมเพียง 1-2 บาท แล้วยังไม่มีตลาด ทางจังหวัดจึงจัดโครงการช่วยเหลือสนับสนุนกันช่วยเหลือและช่วยกันบริโภคเอง ให้เกษตรกรมีตลาดจำหน่ายจนกว่าจะหมดช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งปัจจุบันยังเก็บได้เพียง ร้อยละ 40-50 เท่านั้น

นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนการช่วยเหลือในระยะยาวทางเทศบาลมีโครงการที่จะก่อสร้างศูนย์พืชผักปลอดภัยจากสารพิษ โดยตั้งอยู่บริเวณสถานที่องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ หรือ ร.ส.พ. (เก่า) หน้าตลาดสดเทศบาล 2 (ศิริกรณ์) ถนนบรรพปราการ เทศบาลนครเชียงราย เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับตรวจสอบคุณภาพของพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะ ส่งเสริมให้ได้พืชผลปลอดสารพิษอย่างแท้จริง โดยเบื้องต้นได้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.) ในการศึกษาเรื่องนี้แล้ว ขั้นตอนอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคาร คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในต้นปี 2562 ต่อไป

โดยศูนย์ดังกล่าวจะเป็นอาคารสูง 2 ชั้น ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ 10 ล้านบาท ภายในมีระบบตรวจสอบพืชผักและนักวิชาการที่สามารถยืนยันคุณภาพผลผลิตที่นำเข้าสู่ระบบ ซึ่งพืชผักที่ผ่านศูนย์จะได้รับการยืนยันและอนาคตจะมีการคิดค้นตราหรือโลโก้เพื่อให้สามารถนำออกวางจำหน่ายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคได้อีกด้วย ส่วนการนำผลผลิตเข้าสู่ระบบและการซื้อขายนั้น จะมีสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการกันเอง โดยทางเทศบาลเป็นหน่วยงานให้บริการทางสาธารณะและมุ่งหวังให้ทุกฝ่ายไปใช้บริการได้ เพื่อให้เกิดตลาดปลอดสารพิษในเชียงรายอย่างแท้จริง

นายวันชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ราคาผลผลิตเกษตรหลายอย่างมีราคาตกต่ำ เพราะปลูกกันมาก ขณะที่พืชผักที่ปลอดสารพิษกลับได้ราคาที่สูงกว่าและเริ่มมีกระแสความนิยมมากขึ้น ดังนั้น ศูนย์ดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ข้อนี้ได้เป็นอย่างดี โดยหากมีการบริหารจัดการการปลูกและรับซื้อผ่านสหกรณ์ได้อย่างลงตัว ก็จะทำให้ไม่มีการปลูกพืชใดๆ มากเกินไป จากนั้นนำเข้าสู่ศูนย์เพื่อตรวจยืนยันการปลอดสารพิษก็จะสามารถจำหน่ายได้ในราคาดีต่อไป ทั้งนี้การก่อสร้างศูนย์ใช้ระยะเวลา 8 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2562 และเมื่อปรับระบบภายในแล้ว จะสามารถเปิดให้บริการได้ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2562 เป็นต้นไป ต่อไป

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน), (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยวัตถุท้องฟ้าน่าสนใจช่วงครึ่งหลังเดือนมิถุนายน 2561 ดาวเคราะห์ไล่เรียงปรากฏตั้งแต่หัวค่ำ ทั้ง ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดาวอังคาร ช่วงปลายเดือนดาวเสาร์โคจรมาใกล้โลกอีกครั้ง พร้อมกับดาวเคราะห์น้อยเวสตาที่หาชมได้ยาก สังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ เผยว่า ช่วงครึ่งหลังเดือนมิถุนายน 2561 มีหลากหลายวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจให้ติดตามกันอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าเป็นต้นไป ในช่วงหัวค่ำสามารถสังเกตเห็นสองดาวเคราะห์ทีสว่างที่สุด มองเห็นได้ชัดเจน คือ “ดาวศุกร์” และ “ดาวพฤหัสบดี” โดยดาวศุกร์จะปรากฏทางทิศตะวันตกตั้งแต่อาทิตย์ตก จนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. ส่วนดาวพฤหัสบดีจะปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สังเกตได้จนถึงเวลาประมาณ 03.00 น. จากนั้นช่วงดึก “ดาวอังคาร” เริ่มโผล่พ้นจากขอบฟ้าปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 22.00 น. จนถึงรุ่งเช้า

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนมิถุนายนยังมีความน่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ “ดาวเคราะห์น้อยเวสตา” จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ และเข้าใกล้โลกที่สุด วันที่ 19 มิถุนายน 2561 ปกติจะโคจรมาใกล้โลกทุกปี แต่ปีนี้เข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 มีระยะห่างจากโลกประมาณ 170.6 ล้านกิโลเมตร จึงมีโอกาสมองเห็นด้วยตาเปล่า ดาวเคราะห์น้อยเวสตามีค่าความสว่างปรากฏประมาณแมกนิจูด 5.7 ช่วงที่โคจรเข้าสู่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ อาจลดลงเหลือเพียงแมกนิจูด 5.3 เท่านั้น (ค่าความสว่างปรากฏหรือเรียกว่าแมกนิจูด ยิ่งตัวเลขมาก ความสว่างยิ่งน้อย ค่าความสว่างปรากฏที่ตามนุษย์สามารถมองเห็นได้อยู่ที่ประมาณแมกนิจูด 6 ลงไป) หากสังเกตการณ์บริเวณท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีแสงรบกวนอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดาวเคราะห์น้อยเวสตาจะปรากฏในช่วงหัวค่ำ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สังเกตได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า สังเกตการณ์ได้จนถึง วันที่ 22 มิถุนายน 2561 หลังจากวันดังกล่าวจะมีแสงจันทร์รบกวนและความสว่างจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ

ส่วนช่วงปลายเดือนเตรียมพบกับปรากฏการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในคืนวันที่ 27 มิถุนายน ดาวเสาร์จะปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าถึงรุ่งเช้า สังเกตด้วยตาเปล่าชัดเจนตั้งแต่หัวค่ำทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดหน้ากล้องตั้งแต่ 4 นิ้ว กำลังขยาย 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นวงแหวนหลักได้อย่างชัดเจน

สดร. เตรียมจัดกิจกรรมเชิญชวนประชาชนส่องวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากชนิด ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา สงขลา พร้อมกับโรงเรียนเครือข่ายอีก 360 แห่ง ทั่วประเทศ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/NARITpage

สศก. วิเคราะห์ผลทางเศรษฐกิจ จากการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยพายุเซินกาและตาลัส ในปี 60 รวม 35 จังหวัด ระบุ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดเงินหมุนเวียนมากกว่า 4,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.2 เท่า ของงบประมาณที่ได้รับ เผยโครงการด้านประมง เกษตรให้ความสนใจมากสุด รองลงมา คือ โครงการด้านการเลี้ยงสัตว์ และโครงการด้านการผลิตพืชอายุสั้น

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์ โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560 จากพายุเซินกาและตาลัส ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2560 ซึ่งมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเจ้าภาพ พบว่า มีพื้นที่ประสบอุทกภัยที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) จำนวน 35 จังหวัด จำนวน 378,705 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 1,893.64 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร รวม 5 ด้าน ได้แก่ 1) การผลิตพืชอายุสั้น 2) การเลี้ยงสัตว์ 3) การผลิตอาหาร แปรรูปผลผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 4) การประมง และ 5) การทำเกษตรแบบผสมผสาน

จากการวิเคราะห์ของ สศก. พบว่า การช่วยเหลือตามโครงการ 9101 แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยจากพายุเซินกาและตาลัส ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 4,164.83 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.2 เท่า ของงบประมาณ โดยหากพิจารณาแต่ละประเภทโครงการจะก่อให้มีผลทางเศรษฐกิจ ดังนี้

จะเห็นว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 9101 ให้ความสนใจเข้าร่วมต่อโครงการด้านการประมงอันดับแรก รองลงมา คือ โครงการด้านการเลี้ยงสัตว์ โครงการด้านการผลิตพืชอายุสั้น โครงการการผลิตอาหารฯ และโครงการการทำเกษตรแบบผสมผสาน ตามลำดับ ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการดำเนินกิจกรรมในทุกด้าน โดยเกษตรกรสามารถนำไปขยายผลต่อได้ด้วยตนเอง อย่างเช่น โครงการการผลิตอาหาร แปรรูปผลผลิตฯ เนื่องจากชุมชนสามารถนำผลผลิตเป็นอาหารหรือแปรรูป เช่น การแปรรูปข้าว หมูแดดเดียว ทองม้วน และพริกแกง ทำให้เกษตรกรมีบริโภคในครัวเรือน และยังเสริมสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดจากการหมุนเวียนของเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกชุมชน อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะแรกของโครงการ อาจยังไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนัก แต่หลังจากดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะยังเกิดผลสืบเนื่องทางเศรษฐกิจอีกเป็นระยะเวลาหลายปี จากกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งมีการซื้อขายผลผลิตมากขึ้นด้วย ซึ่งนับว่าเกิดประโยชน์ทั้งด้านสังคม ในการสร้างความสามัคคีของสมาชิกในกลุ่ม เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ ด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรมีอาหารบริโภค ลดรายจ่าย และมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลผลิต และเกิดความยั่งยืนของโครงการ จากการตั้งกองทุนในชุมชนบริหารจัดการ และระยะยาวสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ สร้างรายได้หมุนเวียนแก่เกษตรกรต่อเนื่อง

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. ชู“วิทย์สร้างคน” เสนอผลงานในโครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่ มุ่งขับเคลื่อนนโยบาย 3 ด้าน คือ วิทย์สร้างคน วิทย์แก้จน และวิทย์เสริมแกร่ง เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจประเทศ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เดินหน้า นโยบาย “วิทย์สร้างคน” เปิดตัว โครงการ Coding at School Powered by KidBright และโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ Fabrication Lab เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย”

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ประกาศส่งมอบ KidBright บอร์ดสมองกลสัญชาติไทยที่ได้รับการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย พัฒนาโดย เนคเทค-สวทช. จำนวน 200,000 ชุด แก่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของรัฐ 1,000 แห่ง โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์ประสานงานภูมิภาค 5 แห่ง ในโครงการ Coding at School Powered by KidBright พร้อมเร่งสนับสนุนให้เกิด “Fabrication Lab” ในสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ 150 แห่ง ทั่วประเทศ ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง จำนวน 10 มหาวิทยาลัย ในโครงการ Fabrication Lab เพื่อช่วยส่งเสริมศักยภาพของเยาวชน ต่อยอดสู่การเป็นนักประดิษฐ์ และนักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นำพาประเทศสู่การเป็นประเทศโลกที่ 1 ในอนาคต พร้อมจับมือ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมแสดงเจตจำนง ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ โครงการ Coding at School Powered by KidBright เนคเทค-สวทช. ได้จัดเตรียมบอร์ด KidBright จำนวน 200,000 บอร์ด พร้อมคู่มือการเรียนการสอน จะทยอยส่งให้โรงเรียนทั่วประเทศประมาณ 1,000 โรงเรียน ได้ใช้งานกัน พร้อมกับการเปิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ ระหว่างนักเรียน ครู และเหล่านักพัฒนา ที่เว็บไซต์ www.kid-bright.org โดยทุกโรงเรียนต้องส่งโครงงานเข้าร่วมแข่งขันอย่างน้อยโรงเรียนละ 3 โครงงาน และจะมีการแข่งขันในรอบสุดท้าย ภายในเดือนตุลาคม 2561 โดยในช่วงการจัดกิจกรรมจะมีการเดินสายจัดการอบรมให้กับตัวแทนศูนย์ประสานงานแต่ละภูมิภาคต่างๆ ซึ่งบุคลากรที่ได้รับการอบรมจะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้งานบอร์ด และการเขียนโค้ด และสามารถให้คำแนะนำแก่ครูที่เข้าโครงการเพื่อนำไปสอนเด็กให้สร้างสรรค์ผลงานในการเข้าร่วมแข่งขันได้