กรมอุตุฯออกประกาศเตือนภัย ฉบับที่3 “ฝนตกหนักถึงหนักมาก”

ช่วง 24-28 พ.ค.นี้ วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัยลักษณะอากาศ เรื่อง “ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทยตอนบน และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2560) “ ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2560

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ในช่วงวันที่ 24-28 พฤษภาคม 2560 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและด้านตะวันออกของภาคเหนือในระยะแรก หลังจากนั้น ภาคกลางและภาคตะวันออกรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะได้รับผลกระทบในวันถัดไปโดยมีรายละเอียดดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและด้านตะวันออกของภาคเหนือ มีผลกระทบในวันที่ 24-26 พฤษภาคม 2560

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

– ภาคเหนือ จังหวัดน่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ภาคเหนือ มีผลกระทบในวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2560

– ภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร และตาก

ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีผลกระทบในวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2560

– ภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

– ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

สำหรับภาคใต้ จะมีฝนตกต่อเนื่องในช่วงวันที่ 24-28 พฤษภาคม 2560 โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่

ในจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล และคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงโดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร

ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากที่จะเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนาม และอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้นทำให้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้นในระยะนี้

ประกาศ ณ วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เวลา 05.00 น.

กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไป ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เวลา 11.00 น. เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สวนทุเรียนพิชญ์ธิดา ของนายพิสูจน์ ภูโท อายุ 45 ปี บ้านโนนสำเริง ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายเกริกชัย ผ่องแผ้ว นายอำเภอกันทรลักษ์ และคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมสวนทุเรียน ซึ่งปรากฏว่าสวนทุเรียนแห่งนี้ต้นทุเรียนทุกต้นกำลังมีผลผลิตเต็มต้น และคาดว่าอีกประมาณ 3 สัปดาห์ ทุเรียนของสวนแห่งนี้จะสุกสามารถกินได้แล้ว โดยทุเรียนทุกต้นเป็นทุเรียนภูเขาไฟเกรดพรีเมียมเปลือกบาง เนื่องจากว่า สวนทุเรียนแห่งนี้ปลูกบนพื้นดินที่อดีตเมื่อหลายร้อยปีมาก่อนบริเวณนี้เคยเป็นภูเขาไฟ ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มาก ส่งผลให้ทุเรียนมีความอร่อย ไม่มีกลิ่นฉุนเหมือนกับทุเรียนของจังหวัดอื่นๆ ที่มีการปลูกทุเรียนเช่นกัน จากนั้น ได้เดินทางไปเยี่ยมชมสวนทุเรียนลุงบุญรักษ์บ้านชำม่วง และสวนทุเรียนลุงบัวเรียนบ้านภูเงิน ซึ่งทุกสวนมีผลผลิตทุเรียนภูเขาไฟจำนวนมาก และทุเรียนส่วนมากกำลังใกล้ที่จะสุกแล้ว

นายอำเภอกันทรลักษ์เปิดเผยว่า เนื่องจากสวนทุเรียนทุกแห่งในเขตอำเภอกันทรลักษ์เป็นสวนทุเรียนที่มีคุณภาพดีมาก ดังนั้น จึงมีประชาชนชาวศรีสะเกษและชาวจังหวัดใกล้เคียงพากันมาหาซื้อทุเรียนไปกินเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เจ้าของสวนทุเรียนขายทุเรียนได้หมดสวนไปในเวลาอันรวดเร็ว และจะส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากที่นิยมกินทุเรียนหมดโอกาสที่จะได้กินทุเรียนภูเขาไฟของอำเภอกันทรลักษ์ เพื่อเป็นการรับประกันความผิดหวังว่าจะได้กินทุเรียนภูเขาไฟของอำเภอกันทรลักษ์อย่างแน่นอน ดังนั้น ตนจึงได้ร่วมกับเจ้าของสวนทุเรียนเปิดจองทุเรียนภูเขาไฟเป็นต้นเอาไว้กิน โดยทุเรียนทุกลูกที่จองเอาไว้นี้เจ้าของสวนจะไม่ขายให้คนอื่นอย่างเด็ดขาด การจองทุเรียนภูเขาไฟเป็นต้นจะทำให้คนจองเปรียบเสมือนกับเป็นเจ้าของสวนทุเรียน หากคนที่จองเอาทุเรียนเป็นต้นเอาไว้มีเวลาว่างก็แวะไปดูว่าต้นทุเรียนของตนที่จองไว้ใกล้ที่จะสุกหรือยัง

นายอำเภอกันทรลักษ์เปิดเผยด้วยว่า ซึ่งต้นทุเรียนที่จองเอาไว้นี้จะมีเจ้าของสวนทุเรียน คอยดูแลให้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เมื่อต้นทุเรียนที่จองเอาไว้สุกแล้ว เจ้าของสวนทุเรียนจะโทรมาบอกให้ไปเอาทุเรียน โดยการชั่งทุเรียนทั้งต้นขายให้คนจองในราคา กก.ละ 100 บาทเท่านั้น จะทำให้ผู้ที่จองทุเรียนเอาไว้เกิดความมั่นใจว่าปีนี้มีทุเรียนภูเขาไฟสามารถที่จะแจกจ่ายให้กับผู้มีพระคุณที่เคารพนับถือ รวมทั้งญาติสนิทมิตรสหายได้อย่างแน่นอน ซึ่งตนได้จองทุเรียนภูเขาไฟเอาไว้จำนวน 2 ต้น

ปรากฏว่า หลังจากที่ตนจองทุเรียนเป็นต้นเอาไว้แล้วได้มีคนมาจองตามอีกจำนวนมาก จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวศรีสะเกษและประชาชนชาวไทยทั่วประเทศไปจองทุเรียนภูเขาไฟเป็นต้นเอาไว้กินได้ โดยให้ติดต่อกับเจ้าของสวนทุเรียนทุกแห่งได้โดยตรง ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้ตรวจดูต้นทุเรียนที่ต้องการจะจองเอาไว้ หากพอใจและชอบทุเรียนต้นใดก็สามารถจองต้นทุเรียนกับเจ้าของสวนทุเรียนได้โดยตรงทันที ซึ่งควรที่เข้าไปจะจองโดยด่วน เนื่องจากว่าขณะนี้มีการเข้ามาจองทุเรียนภูเขาไฟเป็นต้นเอาไว้แล้วจำนวนมาก เกรงว่าจะหมดสวนเสียก่อนนั่นเอง

พาณิชย์ผนึกเกษตรยกร่างคุมเข้ม ‘มาตรฐานข้าวสี’ ใหม่ เล็งประกาศเป็นมาตรฐานบังคับเร็วๆ นี้ หวังสร้างมูลค่าเพิ่มด้านผู้ส่งออก เผยควรใช้มาตรฐานสมัครใจ ไม่ใช่บังคับ

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เตรียมยกร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรข้าวสีไทยขึ้นมาใหม่ โดยมีการหารือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องไปหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ได้ปรับปรุงให้ครอบคลุมพืชที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Oryza sativa L. วงศ์ Gramineae หรือ Poaceae พันธุ์ที่ผลิตเป็นการค้าที่เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีตามพันธุกรรม และเป็นข้าวที่ผลิตในประเทศไทยสำหรับบริโภค รวมทั้งข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ที่บรรจุหีบห่อ ยกเว้นข้าวเปลือกที่อาจไม่บรรจุหีบห่อได้ โดยยกเว้นไม่คลุมข้าวก. ที่ผ่านการแต่งสี เช่น ย้อมสีด้วยดอกอัญชัน และ ข. ข้าวเปลือกและข้าวกล้องที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.4000, มกษ.4001 มกษ. 4004

พร้อมกำหนดคำนิยามข้าวสี แบ่งตามสภาพ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวเปลือก แบ่งตามสีเยื่อหุ้มเมล็ด เป็นสีม่วง/สีดำ เช่น พันธุ์มะลินิลสุรินทร์ พันธุ์หอมนิล ไรซ์เบอร์รี่ ข้าวเหนียวลืมผัว ข้าวเหนียวช่อไม้ไผ่ 49 ข้าวเหนียวดำ หมอ 37 และเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง เช่น สังข์หยดพัทลุง พันธุ์ทับทิมชุมแพ หรือ กข.69 พันธุ์หอมกุหลาบแดง พันธุ์หอมแดง พันธุ์หอมกระดังงา 59 พันธุ์โกเมนสุรินทร์ ทั้งนี้ นิยามแบ่งตามปริมาณแอมิโรส เป็น 4 กลุ่ม ตั้งแต่พวกข้าวเหนียวไม่มีแอมิโรสเลย ไปจนถึงข้าวที่มีปริมาณแอมิโรสเกิน 25% พร้อมทั้งกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับคุณภาพ การบรรจุหีบห่อ การแสดงฉลากและเครื่องหมาย สารปนเปื้อน สารพิษตกค้าง สุขลักษณะ วิธีการวิเคราะห์และซักตัวอย่างข้าวด้วย

นางสาวณมาพร อัตถวิโรจน์ นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการพิเศษ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า การยกร่างนี้เป็นผลจากที่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้เห็นชอบให้มีการทบทวนมาตรฐานสินค้าเกษตรที่เกี่ยวกับสินค้าข้าว เมื่อปี 2558 ยังไม่ครอบคลุมข้าวสีที่ปัจจุบันมีการผลิตและส่งออกมากขึ้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นควรให้ยกร่างมาตรฐานข้าวสีไทยขึ้นเพื่อยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวและกำหนดเกณฑ์อ้างอิงการค้า

โดย มกอช.ได้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ มีการสุ่มตัวอย่างกลุ่มข้าวสีแดง สีม่วง ต้องปลูกและผลิตในไทย ไม่มีกลิ่น ปลอดภัยต่อการบริโภค และได้นำร่องดังกล่าวหารือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ. ส่งออกข้าว รวมถึงเกษตรกร ตอนนี้อยู่ระหว่างนำเสนอกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาเห็นชอบและจะออกประกาศเป็นมาตรฐานบังคับเร็วๆ นี้

ร.ต.ท. เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า มาตรฐานข้าวสีควรกำหนดเป็นมาตรฐานโดยสมัครใจก่อน เพื่อให้ผู้ซื้อใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงสำหรับตัดสินใจ โดยกระบวนการใช้ควรต้องมีการนำเสนอขายพร้อมกับสินค้าตัวอย่างประกอบ เพราะขณะนี้มีสายพันธุ์ข้าวสีจำนวนมาก และการผลิตยังไม่ได้มาตรฐานเท่ากันในแต่ละฤดูกาลผลิตคือ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่มีการสียังไม่สม่ำเสมอระหว่างฤดูนาปรัง และนาปี หากกำหนดมาตรฐานบังคับอาจกระทบการส่งออกได้

ทั้งนี้ การส่งออกข้าวสีมีสัดส่วนเพียง 0.01% เทียบกับการส่งออกข้าวทั้งประเทศ โดยปี 2559 มีการส่งออกข้าวกล้องแดง ปริมาณ 8,710 ตัน ข้าวเหนียวดำ 2,187 ตัน ข้าวกล้องดำ 1,324 ตัน จากปี 2558 ที่ทุกชนิดส่งออก รวม 10,130 ตัน

อุตรดิตถ์บูม ปลูกทุเรียนเกือบ 3 หมื่นไร่ จีนแห่เหมาพันธุ์หมอนทองกว่า 80% คาดปี’60 โกยรายได้กว่า 1,863 ล้านบาท พันธุ์หลินลับแล-หลงลับแล ราคาหน้าสวนยังสูง 300-450 บาท/กก.

นายอำนาจ ปาลาส เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดอุตรดิตถ์มีผลไม้ขึ้นชื่อหลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์หลงลับแล และหลินลับแล โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 39,759 ไร่ เป็นพื้นที่เก็บเกี่ยว 32,038 ไร่ มีเกษตรกร 4,228 ราย โดยปลูกมากที่อำเภอลับแล เนื้อที่ 33,663 ไร่ รองลงมาคือ อำเภอท่าปลา และอำเภอเมือง เนื้อที่ 4ฐ329 ไร่ และ 1,766 ไร่ ตามลำดับ โดยพันธุ์ทุเรียนที่ปลูก ได้แก่ พันธุ์หมอนทอง มีเนื้อที่ปลูก 29,819 ไร่ หลงลับแล 2,385 ไร่ หลินลับแล 397 ไร่ และพันธุ์พื้นเมือง เช่น ชะนี กระจิบ อีกจำนวน 7,156 ไร่

ในปี 2560 คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากกว่าปี 2559 เนื่องจากสภาพอากาศที่ดีเอื้อต่อการปลูกทุเรียน รวมถึงที่ผ่านมามีพายุฤดูร้อนกว่า 3 ระลอก ทำให้มีปริมาณฝนเพียงพอ ช่วยบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งไปได้ โดยประมาณการผลผลิตจะออกในช่วงเดือนพฤษภาคม 10% มิถุนายน 25% กรกฎาคม 50% และสิงหาคม 15% รวมผลผลิตทั้งหมด 29,244 ตัน แยกเป็นหมอนทอง 23,736 ตัน หลงลับแล 1,320 ตัน หลินลับแล 78 ตัน และพันธุ์พื้นเมือง 4,109 ตัน ทั้งนี้ผลผลิตเฉลี่ย 1 ไร่ ประมาณ 1,000 ตัน

ทั้งนี้ ทุเรียนพันธุ์หมอนทองจะส่งออกไปประเทศจีน ประมาณ 80% ซึ่งจะมีล้งและพ่อค้าคนกลางมารับซื้อตามจุดรับซื้อขนาดใหญ่ 10 กว่าจุดทั้งจังหวัด เนื่องจากผลผลิตทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์จะออกหลังจากผลผลิตทางภาคตะวันออก เมื่อผลผลิตของภาคตะวันออกลดน้อยลง พ่อค้าคนกลางก็จะมารับซื้อทางภาคเหนือ รวมทั้งบางส่วนส่งออกไปประเทศเวียดนาม และอีกประมาณ 20% จำหน่ายในประเทศ

ขณะที่พันธุ์พื้นเมือง หลงลับแล และหลินลับแล จำหน่ายในประเทศเท่านั้น เนื่องจากลักษณะของเปลือกทุเรียนจะบาง หากส่งไปต่างประเทศอาจจะทำให้เปลือกแตก นอกจากนี้ ยังส่งผลให้โมเดิร์นเทรดต่างๆ เช่น ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต บิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรจะตัดทุเรียนส่งออกที่ความสุกประมาณ 70% ถ้าจำหน่ายในประเทศจะตัดที่ความสุกประมาณ 80%

สำหรับราคาจำหน่ายหน้าสวน พันธุ์หมอนทองอยู่ที่ 60 บาท/กิโลกรัม (กก.) พันธุ์พื้นเมือง 20 บาท/กิโลกรัม พันธุ์หลงลับแล 300-350 บาท/กิโลกรัม พันธุ์หลินลับแล 450-500 บาท/กิโลกรัม (ราคาขายปลีกในกรุงเทพฯ ลูกละประมาณ 800-1,000 บาท) จึงคาดการณ์มูลค่าการจำหน่ายทุเรียนในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 1,863 ล้านบาท โดยมาจากทุเรียนพันธุ์หมอนทอง 1,424 ล้านบาท พันธุ์หลงลับแล 330 ล้านบาท พันธุ์หลินลับแล 27 ล้านบาท และพันธุ์พื้นเมือง 82 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือ ทุเรียนอ่อน แต่ยังพบไม่มากนัก เนื่องจากพื้นที่ปลูกทุเรียนส่วนใหญ่เป็นภูเขา ทำให้การเดินทางเข้าไปดูแลหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตค่อนข้างลำบาก เกษตรกรหรือเจ้าของสวนมักจะเป็นผู้ดูแลเอง ไม่จ้างแรงงานมาเก็บจึงทำให้รู้รายละเอียดต่างๆ เลือกเก็บเฉพาะทุเรียนที่มีความสุกพอดีและมีคุณภาพดีมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคเท่านั้น ประกอบกับทางจังหวัดมีมาตรการที่เข้มงวด หากพบเกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือผู้จำหน่ายมีการจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ หรือซื้อขายทุเรียนอ่อน จะถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ทางจังหวัดยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานปฏิบัติการเฉพาะกิจด้านการจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ พาณิชย์จังหวัด ดูแลด้านการตลาด รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ นายอำเภอหรือปลัดอำเภอของท้องที่นั้นๆ เพื่อกำกับดูแลการแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาดตลอดฤดูการผลิต และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ซื้อ-ผู้ขาย ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค และสร้างภาพลักษณ์ทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์ให้เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่ฟาร์มโคนม บริษัทเชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด ศึกษาแนวทางบริหารจัดการฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Farm ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ สามารถรีดนมพร้อมกันถึง 64 ตัว ใช้เวลาทั้งกระบวนการไม่เกิน 15 นาที ส่วนมูลโค นำมาใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ สู่การผลิตกระแสไฟฟ้าที่เทียบเท่าก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ฟาร์มโคนม บริษัทเชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด ณ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นตัวอย่างฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ที่พัฒนาเพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐานระดับสากล มีระบบบริหารจัดการที่ดีและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผสมผสานกับการเลี้ยงและดูแลวัวนมตามพฤติกรรมและความเป็นธรรมชาติ โดยมีนักวิชาการด้านสัตวบาล นักวิจัย และสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ใหญ่คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

ระบบโรงเรือน ได้ออกแบบให้มีการระบายอากาศที่ดีเพื่อช่วยลดความร้อนที่เกิดจากตัวของวัวนม โดยออกแบบตามหลักวิศวกรรม มีชายคาสูง 4 เมตร มีพัดลมระบายอากาศโล่งโปร่งให้ลมเข้าออกได้สะดวก มีการออกแบบซองนอนพร้อมเบาะรองนอน เพื่อให้วัวนอนพักผ่อนและหลับอย่างสบาย และมีระบบ Happy Cow ซึ่งเป็นเครื่องนวดที่ช่วยทำความสะอาดวัวนมอีกด้วย

นอกจากนี้ ภายในโรงเรือนยังใช้เครื่องกวาดมูลแบบอัตโนมัติ ช่วยให้ภายในโรงเรือนสะอาดตลอดเวลา และทำให้วัวนมมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น การให้อาหารของวัวนม เน้นตั้งแต่การปลูกหญ้าเอง ที่แปลงหญ้าอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีกระบวนการผสมอาหาร TMR (Total mixed ration) ซึ่งเป็นการนำอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม จนถึงการให้อาหารตามคอกที่เป็นเวลาเพื่อให้วัวนมมีสุขลักษณะที่ดี มีระบบรีดนมอัตโนมัติที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย เป็นระบบปิดอัตโนมัติแบบพาราเรล ซึ่งสามารถรีดนมวัวได้พร้อมกันครั้งละ 64 ตัว ใช้เวลารีดตลอดทั้งกระบวนการเพียง 10-15 นาที

ด้านสิ่งแวดล้อม มีระบบเปลี่ยนน้ำเสียและมูลสัตว์เป็นพลังงานทดแทน ถือเป็น Green Farm ที่มีการจัดการฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศด้วยการนำมูลโคทั้งหมดภายในโรงเรือน ผลิตก๊าซชีวภาพ หรือ ไบโอก๊าซ สู่ระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าและสามารถนำก๊าซไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบก๊าซไบโอเทนอัด หรือ compressed bio-methane gas (CBG) ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติสำหรับเติมรถยนต์ เครื่องจักรการเกษตร และปั่นไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม ส่วนกากตะกอนที่ได้สมารถนำไปผลิตปุ๋ยอัดเม็ดอีกด้วย

ทั้งนี้ สินค้าโคนม นับเป็นหนึ่งในสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญ (Top 4) ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจากการลงพื้นที่ ในครั้งนี้ทำให้เห็นต้นแบบความสำเร็จจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเกษตรตลอดกระบวนการผลิต เพื่อให้น้ำนมมีคุณภาพ มาตรฐาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร โดยตลอดกระบวนการผลิตได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ชี้ตลาดที่อยู่อาศัยใต้มีโอกาสขยายตัว 3-5% หวังปัจจัยราคายางเพิ่มทะลุ 70 บาท/ก.ก. ช่วยดันความเชื่อมั่นฟื้นและกำลังซื้อ แต่แนะลงทุนตามความต้องการตลาดลดเสี่ยง

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ festivaladventures.com เปิดเผยในงานสัมมนาสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยภาคใต้ จัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 3-5% แม้ว่าไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวชะลอลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ ทำให้มีดึงกำลังซื้อไปล่วงหน้า ส่งผลกระทบมาถึงช่วงต้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าช่วงครึ่งปีหลังตลาดมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยภาคใต้ 4 จังหวัด คือ ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช มีโครงการอยู่ระหว่างขาย 56,488 ยูนิต แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 23,481 ยูนิต มียอดขายแล้ว 19,013 ยูนิต หรือ 80% เหลือขาย 4,468 ยูนิต และโครงการแนวราบ 33,007 ยูนิต มียอดขายแล้ว 22,778 ยูนิต หรือ 69% เหลือขาย 9,229 ยูนิต

“ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย เชื่อว่ายังเติบโตต่อเนื่อง แต่การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เพราะต้องมีการก่อหนี้ระยะยาว รวมทั้งขณะนี้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รองรับความต้องการผู้บริโภคยังมีโอกาสและเป็นการกระตุ้นตลาด สำหรับการพัฒนาโครงการภาคใต้ ในส่วนภูเก็ตและหาดใหญ่ สงขลา สามารถลงทุนคอนโดฯ ได้ เพราะมีความต้องการซื้อ ส่วนตลาดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยังเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบเป็นหลัก คอนโดฯ ขายได้ช้า” นายวิชัย กล่าว

นางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ กล่าวว่า แนวโน้วเศรษฐกิจภาคใต้ยังขยายได้ต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยวเติบโต การส่งออกขยายตัวดี รวมทั้งรายได้เกษตรกรฟื้นตัว ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ภาคใต้ไตรมาสแรกผู้ประกอบการยังระมัดระวังเปิดโครงการใหม่ เนื่องจากกำลังซื้อไม่ฟื้นตัว โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยในภาคใต้ติดลบ 30% การออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยติดลบ 62.8% การขอจดทะเบียนอาคารชุดเพิ่มขึ้น 19.7% จากโครงการที่สร้างแล้วเสร็จ ด้านจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ก็ลดลง ทำให้เงินให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ภาคใต้มีมูลค่า 167,183 ล้านบาท ลดลง 0.8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 0.4% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยพบว่าสินเชื่อคอนโดฯ ยังมีแนวโน้มลดลง ขณะที่สินเชื่อแนบราบเริ่มฟื้นตัวแล้ว โดยสินเชื่อไตรมาสแรกมีมูลค่า 21,788 ล้านบาท ลดลง 17.6%

นางสุรีรัตน์ กล่าวว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ภาคใต้ พบว่าความเชื่อมั่นผู้ประกอบการไตรมาสแรกดีขึ้น โดยจำนวนผู้เข้าชมโครงการเพิ่มขึ้นทำให้ยอดขายปรับตัวดีขึ้นจำนวนหน่วยคงเหลือลดลงจากไตรมาสก่อน ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มเปิดตัวโครงการใหม่ รวมทั้งราคายางที่เพิ่มขึ้นทำให้ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น แต่สถานการณ์ 6 เดือนข้างหน้าผู้ประกอบการยังมีความกังวลอยู่เพราะดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 45.9

“ราคายางเพิ่มขึ้นคาดปีนี้อยู่ที่ 60-70 บาท ต่อกิโลกรัม จากปีก่อนเฉลี่ย 52 บาท/กิโลกรัม ทำให้ความมั่นใจผู้บริโภคภาคใต้เพิ่มขึ้น เชื่อว่าเกณฑ์บ้านประชารัฐจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ทั้งนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยรายย่อยช่วยเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อย ทำให้ภาระการผ่อนลดลง หากมีการใช้งบประมาณกลุ่มจังหวัด ซึ่งในส่วนของภาคใต้มีมูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ คนมีงานทำ มีการบริโภคและใช้จ่าย ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาคใต้และภาคอสังหาริมทรัพย์” นางสุรีรัตน์ กล่าว