กรมอุตุฯ / อนึ่ง พายุโซนร้อน “พระพิรุณ” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก

มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางใต้ของประเทศญี่ปุ่น ในช่วง วันที่ 2-4 กรกฎาคม 2561 โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ขอให้ประชาชนที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นควรตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางด้วย ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ เวลา 06.00 น. ของวันนี้ ถึงเวลา 06.00 น.ของ วันที่ 3 ก.ค.นี้ ภาคเหนือ มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดตาก พิจิตร กำแพงเพชร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคกลาง มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ และราชบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออก มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และชลบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีเมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีเมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ทั้งนี้ พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 1-7 ก.ค.นี้ สำหรับการคาดหมาย ในช่วง วันที่ 1-3 ก.ค. บริเวณประเทศไทยจะมีปริมาณฝนลดลง ส่วนในช่วง วันที่ 4-7 ก.ค. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

บิ๊กผู้ค้าน้ำมัน-รถบรรทุก ตบเท้าร่วมคิกออฟ จำหน่ายน้ำมัน บี 20 ดีเดย์ 2 ก.ค. ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันปาล์ม ฝ่าแรงต้านเครื่องยนต์พัง ด้านบางจากยืนยันว่าเริ่มทดลองใช้ได้กับเครื่องยนต์บางรุ่น ส่วนเอสโซ่เล็งศึกษาตลาด ด้านสภาเกษตรกรแห่งชาติฯ รับอานิสงส์ราคาผลปาล์มดีด กก.ละ 4.80 บาท เกินราคาแนะนำ 3.15 บาท กำไรโลละ 2.00 บาท แล้ว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า วันที่ 2 กรกฎาคม 2561 นี้ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยตัวแทนผู้ค้าน้ำมันตาม มาตรา 7, ผู้ประกอบการรถบรรทุกและเกษตรกรสวนปาล์มร่วมเปิดตัวโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.นี้ เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ผู้ค้าน้ำมัน 7 ราย เช่น ปตท. บางจาก ไทยออยล์ เป็นต้น จะตั้งสถานีบริการเป็นการเฉพาะให้แก่ผู้ประกอบการรถขนส่งสินค้า 24 ราย ทั่วประเทศ รวมทั้งจะเริ่มทดลองใช้กับเรือด่วนเจ้าพระยา โดยเบื้องต้นตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กำหนดราคาขายปลีก B 20 ถูกกว่าดีเซลเกรดปกติ 3 บาท/ลิตร หรือมีราคาไม่เกิน ลิตรละ 30 บาท โดยจะใช้กลไกด้านภาษีสรรพสามิต และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือในการดูแล ทั้งนี้ การส่งเสริม บี 20 ช่วยดึงน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินในตลาดมาใช้ในการผลิต ยกระดับราคาผลปาล์มดิบให้ไม่ต่ำกว่า กก.ละ 3.50 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการทดลองจำหน่ายน้ำมัน บี 20 ตามโครงการ โดยจะมีการจำหน่ายในสถานีบริการเฉพาะ ไม่ใช่จำหน่ายในสถานีบริการทั่วไป ทั้งนี้ เชื่อว่าคุณภาพน้ำมัน บี 20 เป็นเกรดที่สามารถใช้กับเครื่องยนต์ในรถบรรทุกบางรุ่นได้ และเชื่อว่าหลังจากนี้ค่ายรถยนต์หลายรายพร้อมที่จะดำเนินการส่งเสริม

“ก่อนหน้านี้ บางจาก ได้ดำเนินการส่งเสริมการจำหน่ายน้ำมัน บี 20 มาเป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว แต่ในขณะนั้นปริมาณผลปาล์มที่ผลิตได้ไม่เพียงพอ จึงไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ทำให้มีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับการจำหน่ายน้ำมันทั้งระบบของบางจาก”

ขณะที่ นายมาโนช มั่นจิตจันทรา กรรมการและผู้จัดการการตลาดขายปลีก บริษัท เอสโซ่ เปิดเผยว่า ทางบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน B 20 ของกลุ่มลูกค้าทางด้านการขนส่งเชิงพาณิชย์ของบริษัท ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษาระยะหนึ่งจึงจะสรุปได้ ทั้งนี้ เราจะติดตามความต้องการโดยรวมของกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้ B 20 นี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนงานของบริษัท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังค่ายรถบรรทุกหลายราย รวมถึง บริษัท ฮีโน่ ซึ่งเป็นผู้ยื่นหนังสือคัดค้านการส่งเสริมการใช้ น้ำมัน บี 20 ต่อลูกค้า เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ แต่ล่าสุดค่ายรถยนต์รวมถึงฮีโน่ต่างให้คำยืนยันว่า การรับประกันกรณีที่รถบรรทุกเปลี่ยนไปใช้น้ำมัน B 20 ยังคงมีอยู่ โดยค่ายฮีโน่แจ้งว่า จะต้องเปลี่ยนชุดคิตส์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายก่อนที่จะเปลี่ยนไปเติมน้ำมัน B 20 ส่วนการรับประกันยังปกติ ส่วนค่ายสแกนเนียยืนยันการรับประกันเหมือนเดิม แต่ลูกค้าที่เปลี่ยนไปใช้ B20 จะต้องเพิ่มความถี่ในการนำรถบรรทุกเข้ามาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องมากขึ้น อาทิ จากเดิมเปลี่ยนทุก 40,000 กม. ก็อาจจะต้องกลับมาเปลี่ยนทุก 30,000 กม.

นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ผลจากเดินหน้ามาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันบี 20 ทำให้ราคาผลปาล์มดิบขยับขึ้นไปถึง กก.ละ 4.80 บาท จากก่อนหน้านี้ขยับไปถึง กก.ละ 5.00 บาท ระดับราคาขณะนี้ถือว่าสูงกว่าราคาเป้าหมายที่กระทรวงกำหนดไว้ กก.ละ 3.15 บาท และเป็นระดับราคาที่สูงกว่าต้นทุนของเกษตรกรที่ กก.ละ 2.50-3.00 บาท

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้อีก 2 เดือนจะเป็นช่วงที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันรอบใหม่ ออกสู่ตลาดมากขึ้นนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ธันวาคม ดังนั้น ภาครัฐบาลควรคงมาตรการส่งเสริมการใช้ บี 20 เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาผลปาล์มต่อเนื่องไป รวมถึงกำหนดมาตรการเพื่อดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ของไทยและมาเลเซียให้แตกต่างกันไม่เกิน กก.ละ 2 บาท พร้อมทั้งมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรตัดปาล์มคุณภาพสูง ควบคุมไม่ให้โรงงานรับซื้อผลปาล์มร่วง

ทุเรียนจันทบุรี ปลื้มหลังร่วมโครงการส่งเสริมแปลงใหญ่ ดันรายได้เกษตรกรเพิ่ม 20% เพิ่มผลผลิตคุณภาพส่งออกทะลุ 80% – ผู้ซื้อทั้งจากจีน-ไต้หวัน มั่นใจคุณภาพเหมือนกันทุกลูก -ผลของการรวมกลุ่มเพิ่มอำนาจต่อรองราคากับคู่ค้า

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) เปิดเผยว่า ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นเครือข่ายแปลงใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ ได้อย่างเป็นรูปธรรม

การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นการบริหารจัดการตั้งแต่การผลิตสู่การตลาด เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน และตรงกับความต้องการของตลาด จากเดิมที่เกษตรกรต่างคนต่างผลิต ต่างคนต่างขาย ผลลิตไม่ได้มาตรฐาน ทำให้พ่อค้าคนกลางกดราคา

การปลูกทุเรียน ของ จ.จันทบุรี เกษตรกรจะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคทุกขั้นตอน โดยทุกสวนจะใช้สารเคมีอย่างถูกต้องตามช่วงระยะของพืช เหมาะสมตามหลักมาตรฐาน GAP รวมถึงใช้สารชีวภัณฑ์ควบคู่ไปด้วย เพื่อลดต้นทุน ซึ่งการดำเนินงานของกลุ่ม จะรวบรวมสมาชิกกันตั้งแต่ต้นฤดูกาล เพื่อวางแผนการผลิต ควบคุมคุณภาพ และรวบรวมสินค้า ซึ่งปีนี้สามารถส่งออกให้ตลาดคู่ค้าต่างประเทศได้ 70% ที่เหลือ 30% คัดเกรดพรีเมี่ยม เปิดจองผ่านออนไลน์และส่งถึงผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด

สำหรับแปลงใหญ่ทุเรียนพรีเมี่ยมคุณภาพ ที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ตั้งอยู่บนพื้นที่ 326.5 ไร่ มีเกษตรกร รวมกันทั้งหมด 23 ราย จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ชาวสวนทุเรียนจันทน์ รวบรวมและแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ตกไซซ์ โดยการจำหน่ายสินค้าเกรดพรีเมี่ยมผ่านระบบออนไลน์

นายสุเทพ สินชัย เกษตรอำเภอท่าใหม่ กล่าวว่า สำหรับเกษตรแปลงใหญ่จังหวัดจันทบุรี มีจำนวนเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมการส่งเสริม 40 ราย แบ่งเป็นแปลงใหญ่ ประมง 2 แปลง ปศุสัตว์ 1 แปลง แปลงใหญ่หญ้าเนเปียร์ 1 แปลง แปลงใหญ่ชันโรง 1 แปลง ไม้ยืนต้น 35 แปลง โดยจำนวนนี้เป็นแปลงใหญ่ทุเรียน จำนวน 10 แปลง จากปี 2560 มีเพียง 1 แปลง เป็นแปลงใหญ่ทุเรียน 326.5 ไร่ มีสมาชิก 23 ราย โดยเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจังหวัดจันทบุรี ร่วมโครงการส่งเสริมแปลงใหญ่ เป้าหมายเพื่อลดต้นทุน 20% เพิ่มรายได้ 20%

“การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เมื่อครบ 3 ปี ต้องมอบแปลงให้กับเกษตรกร และในปี 3 ถือเป็นปีสุดท้ายของการส่งเสริม จะเน้นในเรื่องของการทำแผนธุรกิจ ซึ่งในแปลงใหญ่ ทุเรียน จังหวัดจันทบุรี ถือว่าประสบความสำเร็จ นอกจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องของการบริหารจัดการ ต้นทุน ผลผลิต และพัฒนาคุณภาพ ยังมีเรื่องของเงินทุนที่จะสนับสนุนหากเกษตรกรต้องการ แต่ในแปลงใหญ่ทุเรียน จังหวัดจันทบุรีนี้ เกษตรกร ไม่ขอรับการสนับสนุนเงินกู้ แต่ใช้เงินของเจ้าของแปลง ในการทำห้องเย็น พัฒนาเครื่องมือเพื่อแปรรูป ทำล้งเพื่อรวบรวมผลผลิต ส่งผลให้สมาชิกแปลงใหญ่ หรือเกษตรกร สามารถขายสินค้าหรือทุเรียนได้ในราคาเพิ่มขึ้น เมื่อมีการรวบคุมผลผลิต ส่งผลต่อการต่อรองกับผู้ซื้อได้”

นายอุดม วรัญญูรัฐ อายุ 58 ปี เจ้าของสวนอุดมทรัพย์ ในฐานะผู้จัดการแปลงใหญ่ทุเรียน จ.จันทบุรี กล่าวว่า แปลงใหญ่ทุเรียน จันทบุรี ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง หลังเข้าร่วมโครงการส่งเสริมของภาครัฐ เพราะหากเทียบรายได้ปีต่อปีหลังเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนมีรายได้เพิ่มขึ้นในปี 2561 ประมาณ 20% ขณะที่การส่งเสริมแปลงใหญ่ เป็นสิ่งที่เกษตรกรร่วมกันเพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลง และภาครัฐ ได้เข้ามาสนับสนุนทางด้านวิชาการ เช่น การลดการใช้ปุ๋ยโดยกรมพัฒนาที่ดินได้ให้คำแนะนำในเรื่องของการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องและเหมาะสม เพราะก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการ เกษตรกรต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างซื้อทำให้ต้นทุนสูง แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ ก็รวมกันซื้อต้นทุนการซื้อปัจจัยการผลิตก็จะถูกลง

สำหรับจุดแข็งของทุเรียนจันทบุรี คือเรื่องของคุณภาพ โดยเข้มงวดในเรื่องของการห้ามนำทุเรียนที่ด้อยคุณภาพมาขาย เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม จากแนวคิดและการวางแผนตั้งแต่ก่อนการผลิต จนถึงช่องทางการทำตลาด เมื่อทุเรียนออกผล มีการคัดเกรดทุเรียนแก่ที่มีความอร่อย ผู้บริโภคทั้งจีนและไต้หวันต่างชื่นชอบ ผลผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น จากปกติ ส่งออก 70% ของผลผลิตเพิ่มเป็นส่งออกได้ 80% ของผลผลิต นำมาซึ่งรายได้ของเกษตรกรชาวสวนทุเรียน จันทบุรีเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งข้อความด่วนที่สุด ผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ ถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีทุกกรม รวมทั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ตรวจราชการทุกกรม เรื่องการสำรวจและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรพื้นที่ผันน้ำ ว่า

ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ กษ. ทุกหน่วยในพื้นที่ จ.เชียงราย ลงไปช่วยเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอแม่สายไปทำความเข้าใจและเร่งสำรวจความเสียหายพื้นที่/ชนิด/ประเภทของเกษตรกรบริเวณจุดผันน้ำถ้ำหลวงที่ได้รับผลกระทบด้วย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบผู้ประสบสาธารณภัย ทั้งนี้ ให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและสื่อทุกช่องทางเข้าใจกันด้วย โดยให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงและกรมทุกกรมค่อยติดตามปัญหาอุปสรรคความก้าวหน้าด้วย

กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดเวทีประชุมรับฟังความเห็นแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เบื้องต้นสำรวจข้อมูลพบ สมาชิกสหกรณ์ 44,523 ราย มีความต้องการให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามาบริหารจัดการหนี้ มูลหนี้ รวมกันกว่า 5,499 ล้านบาท

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยดำเนินการผ่านสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) นั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้สถาบันเกษตรกร ครอบคลุม 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศ ตั้งแต่ วันที่ 19-27 มิถุนายน 2561 เพื่อให้สถาบันเกษตรกรหรือสหกรณ์ ได้เข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร และร่วมกันหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนปัญหาเรื่องหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ให้ลดลง

จากข้อมูลกองทุนฟื้นฟูฯ ในปัจจุบัน พบว่า มีสมาชิกสหกรณ์ที่ได้ไปขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูฯ และมีความประสงค์ ให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามาบริหารจัดการหนี้ รวมจำนวน 44,549 ราย จาก 1,527 สหกรณ์ มีมูลหนี้รวมกัน ประมาณ 5,499 ล้านบาท

โดยในจำนวนนี้ เป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูเฉพาะกิจว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ของเกษตรกร พ.ศ. 2560 รวมจำนวน 3,359 ราย มูลหนี้ 1,033 ล้านบาท และเป็นเกษตรกรที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามระเบียบดังกล่าว จำนวน 41,190 ราย มูลหนี้ 4,466 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นเกษตรกรที่มีปัญหาความเดือดร้อนด้านหนี้สินและ มีความต้องการรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ในเบื้องต้น กรมฯ จะพิจารณาเฉพาะ กลุ่มสมาชิกสหกรณ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทาง กฟก.ก่อน โดยขอให้สหกรณ์ในกลุ่มเป้าหมาย กลับไปตรวจสอบข้อมูลสมาชิกว่ายังมีความต้องการให้กฟก.เข้ามาบริหารจัดการหนี้แทนสหกรณ์หรือไม่ หากไม่ต้องการ จะมีวิธีการบริหารจัดการหนี้ที่ยังค้างอย่างไร ซึ่งทั้งสองทางเลือกต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายและต้องเกิดประโยชน์กับสมาชิกสหกรณ์โดยรวม จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปกรมฯ จะได้จัดทำรายละเอียดเสนอให้กับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูเฉพาะกิจ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ของเกษตรกร พ.ศ. 2560 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ดังนี้ คือ 1.เป็นหนี้ในระบบที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตร 2.เป็นหนี้ซึ่งมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ราคาประเมินหลักทรัพย์คุ้มหนี้ที่ชำระ 3.เป็นหนี้ซึ่งมีมูลหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ต่อราย และ 4.เป็นหนี้ซึ่งมีสถานะหนี้ คือ เป็นหนี้ถูกฟ้องล้มละลายและศาลยังไม่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์/หนี้ระหว่างการบังคับคดีและขายทอดตลาด/หนี้ถูกดำเนินคดี/ หนี้ผิดนัดชำระหนี้

ที่ผ่านมาคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจเห็นชอบเงื่อนไขเกณฑ์การชำระหนี้ กรณีสถาบันเจ้าหนี้สหกรณ์ ให้กำหนดชำระต้นเงินที่ร้อยละ 100 โดยงดดอกเบี้ยและค่าปรับ ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวทำให้สามารถซื้อหนี้ได้ 17 ราย 4.677 ล้านบาท ดังนั้น คณะกรรมการเจรจาหนี้สินสถาบันเจ้าหนี้ของเกษตรกร เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 เสนอเงื่อนไขการชำระหนี้แทนเกษตรกร ในส่วนของสถาบันเจ้าหนี้ (สหกรณ์) ดังนี้ 1.ชำระคืนต้นเงิน ร้อยละ 100 2. ดอกเบี้ย ไม่เกินร้อยละ 7.5 (ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี) และ 3. ค่าใช้จ่ายดำเนินคดีและค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎหมาย

ในส่วนของหนี้ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์กฟก.เฉพาะกิจ กรมฯ ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ดังนี้ 1. ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฯ โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้ไม่เกิน 15 ปี 2.พักต้น 3 ปี และรัฐชดเชยดอกเบี้ย 7.5 % ระยะเวลา 3 ปี 3.การสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจาก ธ.ก.ส. ให้สหกรณ์เพื่อให้สมาชิกกู้ยืมไปฟื้นฟูอาชีพ ระยะเวลา 3 ปี 4.สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจาก ธ.ก.ส. ให้สหกรณ์เพื่อเสริมสภาพคล่อง ระยะเวลา 3 ปี และ 5.รัฐอุดหนุนงบประมาณดำเนินกิจกรรมฟื้นฟูอาชีพ เพื่อให้สหกรณ์พิจารณา ก่อนนำเสนอเป็นนโยบายต่อไป

“ขอความร่วมมือให้ทุกสหกรณ์กลับไปตรวจสอบข้อมูลตามเงื่อนไขที่กำหนด ว่ามีจำนวนสมาชิกที่อยู่ในหลักเกณฑ์และประสงค์จะให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามาบริหารจัดการหนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนดมีจำนวนกี่ราย มูลหนี้เท่าไหร่ แล้วให้แจ้งยืนยันกลับมาที่กรมฯ และในส่วนของสมาชิกสหกรณ์ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนด ไม่สามารถให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามาจัดการหนี้ได้ จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกกลุ่มนี้อย่างไร ส่วนการฟื้นฟูอาชีพฯ กรมจะเสนอให้กองทุนฟื้นฟูฯ ดำเนินการฟื้นฟูอาชีพให้สมาชิกสหกรณ์ต่อไป แต่ในขณะนี้ต้องรอผลการพิจารณาจากสหกรณ์ว่าจะสามารถให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามาบริหารจัดการหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ได้จำนวนเท่าไร ซึ่งกรมคาดหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันหาทางออก เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ได้ในที่สุด” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ผศ.ดร. วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เปิดเผยรายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนมิถุนายน 2561 พบว่าโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยลบหลายส่วน ความผันผวนของราคาปาล์มน้ำมันและยางพารา ราคาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนชะลอตัวและ ลดลง

“ปัจจัยบวกมาจากการเดินทางท่องเที่ยวและกลับบ้านของประชาชนอิสลามในเทศกาลฮารีรายอ ในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 และการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในช่วงฮารีรายอของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์” ผศ.ดร. วิวัฒน์ กล่าวและว่า คาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.80 และ 32.80 ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.20 และ 29.70 สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือค่า ครองชีพ ร้อยละ 28.60 รองลงมาคือราคาสินค้า ร้อยละ 25.80 และหนี้สินครัวเรือน ร้อยละ 14.30 ส่วนปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือค่าครองชีพ รองลงมาคือ หนี้สิน ครัวเรือน และราคาสินค้า