กรมฯน้ำเปิดระดมความคิดกม.น้ำ ย้ำอีกไม่เก็บค่าน้ำเกษตรกรราย

ชี้เก็บรายใหญ่ไม่กระทบปชช. เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุม จัดสรร และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีเนื้อที่ 119 ล้านไร่ จึงทำให้การใช้น้ำสาธารณะไม่มีการคุ้มครองสิทธิการใช้น้ำ ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จะคุ้มครองสิทธิการใช้น้ำให้เกิดความเป็นธรรม ป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น

นายวรศาสน์ กล่าวต่อว่า โดยมาตรา 39 มีการกำหนดประเภทการใช้น้ำไว้ 3 ประเภท ได้แก่ การใช้น้ำประเภทที่ 1 ได้แก่ การใช้น้ำเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งการใช้น้ำตามจารีตประเพณี ซึ่งเป็นการใช้น้ำของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่ต้องขออนุญาตและไม่เสียค่าใช้น้ำ การใช้น้ำประเภทที่ 2 ได้แก่ การใช้น้ำในปริมาณมากเพื่อการอุตสาหกรรมหรือการเกษตรเพื่อการพาณิชย์ การประปาสัมปทานการท่องเที่ยว และ การใช้น้ำประเภทที่ 3 ได้แก่ การใช้น้ำในปริมาณมากที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง หรือส่งผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ จึงจำเป็นต้องขออนุญาตใช้น้ำโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการลุ่มน้ำหรือคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

“ทั้งนี้ตามร่างกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดว่า ในการจัดสรรน้ำและการอนุญาตใช้น้ำให้คำนึงถึงการใช้น้ำประเภทที่ 1 และการใช้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์เป็นลำดับแรก ในกรณีที่มีการเก็บค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการลุ่มน้ำในการพิจารณา โดยต้องคำนึงถึงต้นทุนในการผลิตและการจัดหาน้ำ ปริมาณความขาดแคลนหรือค่าเสียโอกาสในการนำน้ำไปใช้ ตลอดจนประโยชน์ต่อสังคม และการเก็บค่าใช้น้ำประเภทที่ 2 และ 3 สามารถยกเว้นการเก็บค่าน้ำกรณีผลผลิตไม่ดีหรือขาดทุน ตามมาตรา 47” นายวรศาสน์ กล่าว

อธิบดีกรมฯน้ำ กล่าวอีกว่า กฎหมายดังกล่าวมีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนเกษตรกรนอกเขตชลประทานให้สามารถเข้าถึงน้ำได้เป็นลำดับแรก และไม่มีการเก็บค่าใช้น้ำแต่อย่างใด ทั้งนี้ภายหลังกฎหมายผ่านสภาแล้ว จำเป็นจะต้องศึกษารายละเอียดให้เหมาะสมและต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 39 ต่อไป จึงขอให้ทุกภาคส่วนติดตามความก้าวหน้า และร่วมให้ความเห็นในการออกกฎกระทรวงดังกล่าว ทางเว็บไซต์กรมฯน้ำ www.dwr.go.th หรือโทร 02-271-6000 ต่อ 0 ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำยืนยันว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้สร้างภาระแก่ประชาชนแต่อย่างใด แต่จะเป็นการปิดช่องว่างของการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1355 และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 57 มาตรา 72(4) และมาตรา 258 ช(1)

เมื่อถามว่ากรณีที่พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … สั่งให้กรมฯน้ำ ทบทวนมาตรา 39 ให้รอบคอบและชัดเจน จะดำเนินการอย่างไร อธิบดีกรมฯน้ำ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ทรัพยาน้ำแห่งชาติ ถือเป็นกฎหมายแม่ ซึ่งการจะสั่งให้ทบทวนมาตรา 39 นั้น ต้องรอให้กฎหมายแม่ออกมาก่อนเพื่อให้มีขอบเขตของกฎหมายที่ชัดเจน จากนั้นภายใน 180 วันหรือ 6 เดือน จึงจะออกกฎหมายลูกในมาตรา 39 ได้ ซึ่งหลักสำคัญคือต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นหลัก ตนไม่สามารถตอบแทนประชาชนได้ว่าอัตราที่เหมาะสมต้องอยู่ที่ราคาเท่าไร โดยอัตราการเก็บค่าน้ำที่ระบุไปนั้นเป็นเพียงตัวเลขที่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทำการศึกษาวิจัยไว้เมื่อปี 2551 ซึ่งขณะนี้ผ่านมาเกือบ 10 ปีแล้ว ต้องไปคำนวณอัตราการเก็บค่าน้ำที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

เมื่อถามต่อว่าประชาชนมีข้อกังวลว่า ถึงแม้จะไม่ได้เก็บค่าน้ำเกษตรกรรายย่อย แต่เก็บค่าน้ำในกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการพาณิชย์ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็อาจส่งผลให้ผลผลิตหรือต้นทุนมีราคาที่สูงขึ้น สุดท้ายก็จะส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนอยู่ดี อธิบดีกรมฯน้ำ ตอบว่า การที่ออกกฎหมายลูกจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำประเภท 2 และ 3 ที่เข้าข่ายต้องเสียค่าน้ำนั้น ก็ต้องไปสอบถามว่าอัตราเก็บค่าน้ำควรอยู่ที่เท่าไร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตหรือต้นทุน เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคประชาชนในวงกว้างอย่างที่เป็นกังวลกัน

“กระแสต่อต้านของกฎหมายน้ำ คือ ความไม่เข้าใจในเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้อย่างแท้จริง ตั้งแต่คำว่าน้ำสาธารณะแล้ว ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ที่ออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิการเข้าถึงน้ำของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่นอกชลประทาน ไม่ให้ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างที่ผ่านมา เป็นการคุ้มครองแหล่งน้ำสาธารณะให้ดีขึ้น ส่วนเรื่องอัตราการเก็บน้ำไม่อยากให้ประชาชนเป็นกังวล เพราะต้องรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนก่อนจะออกเป็นกฎกระทรวงอย่างแน่นอน”อธิบดีกรมฯน้ำ กล่าว

ผศ. กนกวรรณ เวชกามา หัวหน้าโครงการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของกาแฟของเกษตรกรรายย่อยในภาคเหนือตอนบน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดลำปาง เผยภายหลังนำคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ลงพื้นที่โครงการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของกาแฟของเกษตรกรรายย่อยในภาคเหนือตอนบน กรณีศึกษาบ้านป่าเหมี้ยง ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง เพื่อเก็บข้อมูลวิจัยช่วงที่ 1 ว่า โครงการวิจัยนี้มุ่งเน้นการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าให้แก่อุตสาหกรรมกาแฟของประเทศไทย โดยเริ่มดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายต้นแบบ คือบ้านป่าเหมี้ยง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์และปลูกกาแฟในพื้นที่

“จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ปัญหาที่บ้านป่าเหมี้ยงกำลังเผชิญคือการไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะยังขาดแคลนเครื่องมือในกระบวนการแปรรูปกาแฟ รวมถึงการยังไม่สามารถบริหารจัดการกลุ่มที่มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกาแฟบ้านป่าเหมี้ยงได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ของการปลูกกาแฟบนพื้นที่ 1-A ของตำบลแจ้ซ้อน ด้วยเหตุนี้ชุมชนและหน่วยงานราชการในท้องถิ่นจึงมีแนวคิดในการรวมกลุ่มเกษตร เพื่อพัฒนาวิสาหกิจในการผลิตกาแฟ เพื่อสร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน และให้พื้นที่ปลูกกาแฟอยู่กับพื้นที่ป่าได้อย่างลงตัว รวมถึงการให้ความรู้ในการปราบศัตรูพืชโดยสารชีวพันธุ์ เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน”

ผศ. กนกวรรณ กล่าวด้วยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการดำเนินงานในช่วงแรกของการวิจัย โดยจะเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านสถิติที่เกี่ยวกับการผลิต การบริโภค การตลาดในบ้านป่าเหมี้ยง เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นต่อไปตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ เพื่อสร้างองค์ความรู้เฉพาะพื้นที่ สืบทอดและขยายผลการประกอบอาชีพปลูกกาแฟ รวมทั้งสร้างความยั่งยืนในการปลูกกาแฟ ส่งผลต่อรายได้และเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งต่อไป

ภายในเรือนจำแต่ละแห่งล้วนจะมีการฝึกอาชีพต่างๆ ให้สำหรับผู้ต้องขัง เพื่อนำออกไปใช้ในชีวิตประจำวันหลังพ้นโทษ แต่ที่เรือนจำจังหวัดอ่างทองมีการฝึกอาชีพเบเกอรี่จนเป็นที่ยอมรับจากสังคมภายนอกเป็นอย่างดี ปัจจุบันมียอดสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก มียอดการสั่งซื้อเป็นอาหารเบรกสำหรับการประชุม สัมมนาต่างๆ จากหน่วยงานราชการและเอกชน รวมทั้งการติดต่อขอนำไปขายเพื่อประกอบอาชีพด้วย

เสาวเพ็ญ จำปาเป้า ผู้บัญชาการเรือนจำอ่างทอง บอกว่า ปัจจุบันในเรือนจำอ่างทองมีการฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขังทั้งชาย-หญิง แล้วแต่ผู้ต้องขังเลือกเองตามความสมัครใจ ซึ่งผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่จะฝึกอบรมเบเกอรี่ มีขนมปังมากมายหลายชนิด รวมถึงเค้กวันเกิดที่สามารถสั่งออเดอร์เข้ามาได้ เบเกอรี่ของเรือนจำอ่างทองตอนนี้ได้รับการตอบรับจากสังคมภายนอกเป็นอย่างดี หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่ จ.อ่างทอง ให้ความไว้วางใจเรื่องคุณภาพและรสชาติของขนมปังต่างๆ นิยมสั่งไปเป็นอาหารว่าง เมื่อมีการจัดประชุมตามหน่วยงานต่างๆ

“ตอนนี้รายได้ของการจำหน่ายเบเกอรี่ค่อนข้างสูง ผู้ต้องขังที่มีการฝึกอาชีพเบเกอรี่ก็จะมีเงินปันผล เป็นค่าใช้จ่ายภายในเรือนจำให้อีกด้วย โดยแต่ละคนจะได้ไม่เท่ากัน จะอยู่ที่ 1,300-1,500 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับการฝึกอาชีพอื่นๆ อีกทั้งเราต้องดำเนินการตามแผน 5 ก้าวย่าง คือ 1.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดละโทรศัพท์ 2.การจัดระเบียบและความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง 3.การฝึกระเบียบวินัย 4.การพัฒนาจิตใจ 5.การได้รับการยอมรับจากสังคมภายนอกในเรื่องต่างๆ ซึ่งเบเกอรี่ถือว่าได้รับการยอมรับแล้ว”

ด้าน นนทชล ภู่สุวรรณ เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ระดับชำนาญงาน ผู้ควบคุมดูแลการฝึกอาชีพผู้ต้องขังหญิง บอกว่า กองงานนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 โดย ต่อศักดิ์ สวนใจ อดีตผู้บัญชาการเรือนจำอ่างทอง ดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แรกเริ่มมีผู้ต้องขังให้ความสนใจและสมัครจำนวนมาก เราจ้างครูจากภายนอกมาสอนให้ผู้ต้องขังทุกอย่าง แรกเริ่มบรรดาญาติผู้ต้องขังจะซื้อติดมือกลับไปรับประทานที่บ้าน จนเริ่มมีความชำนาญและรสชาติที่เอร็ดอร่อย จึงนำออกจำหน่ายให้คนภายนอกสามารถลองชิมได้ ใช้เวลาหลายปีจนเป็นที่ยอมรับถึงทุกวันนี้

ขณะที่ “เอ” ผู้ต้องขังหญิง บอกว่า ฝึกทำเบเกอรี่เป็นรุ่นแรกๆ ของการเปิดรับสมัคร รู้สึกชอบที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ พยายามฝึกฝนการทำขนมปังต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเบเกอรี่ จนสามารถทำได้ทุกอย่างแล้วที่มีขายในเรือนจำ ตอนนี้มองว่าอาชีพนี้แหละคืออาชีพที่จะไปทำหลังจากพ้นโทษออกไปอย่างแน่อน ต้องขอบคุณเรือนจำอ่างทอง ที่สร้างอาชีพ และเปลี่ยนแนวคิดการดำเนินชีวิตแบบใหม่ให้กับผู้ต้องขังทุกคน

ดร. สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ประจำปี พ.ศ. 2560 และมอบนโยบาย “การส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษามีส่วนร่วมในการยกระดับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ว่า สืบเนื่องจากปัญหาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องศักยภาพครูและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนที่ยังขาดความพร้อมต่อการปฏิรูปการศึกษาไปสู่ศตวรรษที่ 21 นโยบายของ ภาครัฐในปัจจุบัน จึงกำหนดบทบาทให้สถาบันอุดมศึกษาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

เลขาธิการ กกอ. กล่าวต่อไปว่า โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ภาครัฐมุ่งหวังให้ระบบเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค จำนวน 9 เครือข่าย โดยการกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในระดับพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์การแก้ไขและพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยวิธีการเชื่อมโยงและถ่ายทอดนวัตกรรม องค์ความรู้ ตลอดจนความเชี่ยวชาญต่างๆ จากสถาบันอุดมศึกษาไปสู่โรงเรียน

“โดยผลลัพธ์ที่ชัดเจนในเรื่องศักยภาพครู คือความมั่นใจในเทคนิคการสอนและใช้นวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้สู่นักเรียน และผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนทั่วประเทศ ทั้งการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ การฝึกให้นักเรียนคิดเป็น จากรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ตามกรอบนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ การใช้ทักษะการติดต่อสื่อสารได้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ การปลูกฝังให้เยาวชนมีคุณธรรมจริยธรรม และพร้อมที่จะรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคมโดยไม่ตกเป็นเหยื่อของสังคม ทุกบริบทจะต้องเข้าไปสอดรับต่อการพัฒนากำลังคนของประเทศ” เลขาธิการ กกอ.กล่าว

ภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) กำหนดจัดการประชุมวิชาการทรัพยากรธรรมชาติ สารสนเทศภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม นเรศวร ครั้งที่ 2 ขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการที่ครอบคลุมองค์ความรู้และยุทธศาสตร์ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิศาสตร์ ภูมิสารสนเทศ และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ในด้านนิเวศวิทยาดิน น้ำ ป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ การเก็บกักและปลดปล่อยคาร์บอน การวิเคราะห์การตอบสนองทางชีวภาพต่อภาวะอากาศ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการและฟื้นฟูมลภาวะทางอากาศทางดินและทางน้ำ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การจัดการขยะและของเสียอันตราย
นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณภาพของงานวิจัยทางด้านภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ และเผยแพร่ความรู้ความก้าวหน้าทางวิชาการด้านภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ดร.ธีรกานต์ โพธิ์แก้ว อาจารย์สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้นำนักศึกษาลงพื้นที่ทำกิจกรรมตามโครงการวิจัยจิตอาสาเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ร่วมสืบสานอนุรักษ์ ต่อยอด พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการทำงานร่วมกับชุมชน ณ บ้านถ้ำเสือ หมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่วิสาหกิจเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวลึกมีความต้องการแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวซบเซา โดยพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์บาติกชุมชนให้มีความน่าสนใจ

จากที่พบว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นนั้นขาดเอกลักษณ์ ไม่มีความโดดเด่น จึงต้องการยกระดับด้วยเทคนิคใหม่ๆ และโดยที่มหาวิทยาลัยมีพันธกิจหลักด้านการบริการชุมชน และขยายพื้นที่บริการความรู้ด้านการวิจัยเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ท้องถิ่น จึงได้ส่งตัวแทนนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ลงพื้นที่ศึกษาวิจัยปัญหา อุปสรรคในการพัฒนาผลิตภัณฑ์บาติกชุมชนของกลุ่มปาเต๊ะบ้านถ้ำเสือ เพื่อแสวงหาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์บาติกของชุมชนให้มีความโดดเด่น และดำเนินงานเป็นรูปธรรม

“เบื้องต้นทีมวิจัยได้ทดลองพัฒนาบาติกโดยย้อมด้วยสีธรรมชาติประเภทแร่ ดินโคลนจากสัตว์ และพืชพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ได้สีสันสดใสเป็นธรรมชาติ เฉดสีแปลกใหม่สวยงาม โดดเด่น ทีมงานวิจัยและกลุ่มบาติกชุมชนจึงเกิดแนวคิดร่วมกันว่าจะต่อยอดวิธีการ ดังกล่าวต่อไป ทั้งได้หารือถึงการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้บาติกสีธรรมชาติในเขตอันดามัน สืบสานภูมิปัญญาพัฒนางานบาติกสีธรรมชาติให้มีคุณภาพต่อไป” ดร.ธีรกานต์ กล่าว

เชียงราย – นายสุเทพ ทิพย์รัตน์ เกษตร จังหวัดเชียงราย เผยว่า ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกกาแฟในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย ปลูกแบบปลอดสารเคมีและได้มาตรฐานที่ดี รวมทั้งช่วยกันดูแลอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย โดยกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้ดำเนินโครงการยกระดับกาแฟสู่มาตรฐานสากลก้าวไกลตลาดโลก อย่างที่บ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ 25 ตำบลวาวี ที่พัฒนาตามโครงการนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วม 22 คน

รูปแบบคือไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าและปลูกกาแฟตามจุดที่เหมาะสม เช่น ใต้ต้นไม้ใหญ่ และไม่ใช้สารเคมีใดๆ ซึ่งพบว่าได้ผลเพราะพืชกาแฟสามารถเจริญเติบโตได้ดีเหมือนพืชป่าทั่วไปโดยมีสารอาหารตามธรรมชาติที่สามารถทำให้ได้ผลได้เป็นอย่างดีเช่นกัน ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้มีการปลูกพืชไม้ผลอื่นๆ ร่วมได้อีกด้วย
ด้าน นายสมศักดิ์ โซคากุ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านใหม่พัฒนา กล่าวว่า ที่ผ่านมาการปลูกกาแฟมักมีปัญหาเรื่องการบุกรุกป่า และยังใช้สารเคมี การมีโครงการนี้จึงถือเป็นทางเลือกใหม่ ด้วยการใช้วิธีการธรรมชาติด้วยการปลูกแซมในพืชใหญ่ ซึ่งผลพลอยได้คือนอกจากได้ผลผลิตอินทรีย์แล้ว ชาวบ้านช่วยดูแลป่าไม่ให้ถูกทำลายหรือไฟป่าอีกด้วย

นายซานเสียว แซลี สมาชิก อบต.วาวี กล่าวว่า ก่อนที่จะมาเป็นกาแฟรักษ์ป่านั้น ชาวบ้านจะต้องเข้ารวมกลุ่มกันก่อน เพื่อทำข้อตกลงระหว่างตัวชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการดูแลและปฏิบัติต่อป่าไม้ โดยเฉพาะการจะไม่ขยายพื้นที่ทำกินออกไปอีก และไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ใช้สารเคมี เมื่อได้ผลผลิตก็จะนำมาจำหน่ายได้ หรือจะมีทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินช่วยดูแลหาตลาดให้อย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านพึงพอใจโครงการนี้อย่างมาก ผลพลอยได้ที่สำคัญที่สุดอีกประการ คือเกิดการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำทำให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ทั้งปีด้วยนั่นเอง

อุบลฯ – นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.กระทรวง วิทยาศาสตร์ฯ เผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” จึงได้ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ จัดตั้ง “อุทยานวิทยาศาสตร์” ในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชม “โดรนอัจฉริยะเพื่อการเกษตร ลดสารพิษสู่มนุษย์” ชมความก้าวหน้าของหุ่นยนต์แขนกล สัญชาติไทย รวมทั้งนวัตกรรมอื่นๆ ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ม.อุบลราชธานี
สำหรับโครงการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตรสมรรถนะสูง หรือโดรน ใช้งานด้านการเกษตร พ่นของเหลวไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลง ปุ๋ย หรือสารเคมีทางการเกษตร มีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าคนถึง 40 เท่า ทำงานได้ถึง 15-20 ไร่ ต่อชั่วโมง ส่วนระบบควบคุมโรงเรือนอัจฉริยะผ่านสมาร์ทโฟน หรือ Smart think เป็นนวัตกรรมในการควบคุมโรงเรือนและสวนการเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม สัญชาติไทย เทียบเท่ากับหุ่นยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ราคาไม่แพง

พาณิชย์ขู่เอาผิดร้านค้าประชารัฐ-ผู้ใช้บัตรผิดเงื่อนไขโครงการ สั่งการให้พาณิชย์และคลังจังหวัดทุกพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจด่วน มั่นใจระยะต่อไปหลังยกระบบบาร์โค้ดมาใช้ป้องกันได้แน่
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ในจังหวัดมหาสารคาม ถึงการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐผิดวัตถุประสงค์ โดยพบว่ามีร้านธงฟ้าประชารัฐบางร้าน ฉวยโอกาสให้ผู้มีสิทธิเปลี่ยนวงเงินซื้อสินค้าเป็นเงินสด การกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการให้ความช่วยเหลือในการลดค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีความผิดจริงจะเพิกถอนร้านค้าออกจากการเป็นร้านค้าในโครงการธงฟ้าประชารัฐทันที
สำหรับประชาชนที่ทำผิด เป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลางจะพิจารณาว่า สมควรจะให้สิทธิใช้บัตรสวัสดิการต่อ อีกหรือไม่ พร้อมกันนี้ยังได้กำชับให้คลังจังหวัดและพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถแจ้งข้อมูลสายด่วน 1569 ได้ หรือแจ้งสำนักงานคลังจังหวัดและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด

ส่วนที่มีกระแสว่าโครงการนี้เอื้อประโยชน์ให้กับ ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ผลิตสินค้าส่งให้ร้านค้านั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้น แต่จะเปิดให้ผู้ผลิตทุกรายเข้าร่วมและร้านค้าก็เป็นผู้ติดต่อกับตัวแทนผู้ผลิตสินค้าเอง กระทรวงไม่ได้กำหนด
“คงต้องมีการตรวจสอบอย่างแน่นอน ให้เจ้าหน้าที่ทั้ง สองกระทรวงไปตรวจสอบว่าเป็นการกระทำแบบสมยอมกันหรือไม่ หากใช่ ถือเป็นการทำผิดไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ไม่ว่ากรณีใดๆ และต้องดูว่าการกระทำนี้อาจจะเป็นส่วนน้อย” นายสนธิรัตน์ กล่าว
ด้านความคืบหน้า ขณะนี้มีประชาชนมารับบัตรแล้วประมาณ 3 แสนคน คาดว่าภายใน 1 เดือน จะมีเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 70% ของกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ ระยะแรกๆ อาจมีปัญหาติดขัดบ้าง ได้กำชับให้สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับในการใช้บัตรและวัตถุประสงค์ของการใช้บัตร ในระยะที่ 2 หรือต้นปีหน้า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะยกระดับข้อมูลนำระบบบาร์โค้ด หรือคิวอาร์โค้ด มาใช้เพื่อให้รัดกุมและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ก.พลังงานเล็งชูรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าขึ้นโปรดักส์แชมเปี้ยนส่งขายทั่วโลก เผย 3 ประเทศในยุโรปทั้งฝรั่งเศส สวีเดน และเดนมาร์กนิยมใช้ หนุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศลดต้นทุนนำเข้าราคาสูง อัดงบ 76 ล้านบาท ผลิต 100 คัน ชวนนำรถเก่ามาปรับปรุงใหม่ฟรี 10 คัน

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนาเปิดโครงการสนับสนุนการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กให้เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ ว่ากระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างหารือกับผู้ผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าและเครื่องยนต์ปกติ คือน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ทั่วประเทศ จำนวน 7 ราย ถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดให้รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนในการส่งออกไปขายทั่วโลก เพราะปัจจุบันรถตุ๊กตุ๊กไทยเป็นที่นิยมของผู้ใช้รถและมีการจำหน่ายแล้วใน 3 ประเทศทวีปยุโรป คือฝรั่งเศส สวีเดน เดนมาร์ก ขณะที่การผลิตในประเทศเพื่อใช้ส่วนบุคคลก็มีแพร่หลาย ผู้ผลิตไทยมีความสามารถ แต่ติดปัญหาแบตเตอรี่ราคาแพงประมาณ 100,000 บาท ต่อลูก และต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งในแผนการสนับสนุนโปรดักส์แชมเปี้ยนจะรวมถึงการสนับสนุนให้ลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทย ซึ่งจะต้องประสานกับความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นายทวารัฐ กล่าวว่า asiacruisenews.com กระทรวงยังมีแผนสนับสนุนให้ผลิตและใช้รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าสาธารณะในประเทศมากขึ้น โดยได้รับการอนุมัติงบประมาณจากกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานวงเงิน 76 ล้านบาท ร่วมกับหน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าภายในปี 2561 จำนวน 100 คัน ซึ่งรูปแบบการช่วยเหลือของกระทรวง ระยะ 1 จะกำหนดให้มีรถตุ๊กตุ๊กต้นแบบ จำนวน 10 คัน โดยจะเปิดให้นำรถเก่ามาสมัครเพื่อปรับปรุงให้เป็นรถใหม่ฟรี ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ส่วนอีก 90 คัน ที่เหลือ เป็นระยะ 2 กระทรวงจะสนับสนุนในอัตรา 85% วงเงินไม่เกิน 300,000 บาท และเจ้าของรถจ่ายเอง 15% ไม่เกิน 50,000 บาท จากราคารถไม่เกิน 350,000 บาท อย่างไรก็ตาม หากรถมีราคาแพงกว่านี้กระทรวงจะกำหนดวงเงินช่วยเหลือไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า 90 คัน จะแบ่งเป็นการใช้สำหรับโดยสารสาธารณะ 70 คัน และรถส่วนบุคคล 20 คัน เพื่อใช้ในสถานที่ต่างๆ อาทิ โรงแรม สนามกอล์ฟ โรงพยาบาล โดยโครงการดังกล่าวกระทรวงได้กำหนดเป็นแผนระยะยาว คือภายในปี 5 ปี (2561-2565) จะผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าให้ได้ 22,000 คัน ตามจำนวนรถตุ๊กตุ๊กทั้งหมดที่วิ่งในประเทศไทย

พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงสนับสนุนให้รถตุ๊กตุ๊กที่ปัจจุบันใช้เชื้อเพลิงน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) เปลี่ยนเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ต้องการให้เกิดรถอีวีในประเทศจำนวน 1.2 ล้านคันภายในปี 2579

ความคิดก่อนหน้านี้ที่จะเดินทางมาที่นี่ ได้ตัดใจมานานแล้วว่า คงไม่ได้มาอีก เพราะไกล และค่าใช้จ่ายสูง แต่พอเห็นรูปหลานๆ ทางอินเตอร์เน็ต ก็อดไม่ได้ที่จะต้องตัดสินใจมา เพราะหลานๆ โตขึ้นทุกๆ วัน อยากจะกอดจะปล้ำหลานตอนขณะยังเล็กๆ อยู่ และตอนนี้ได้อยู่ใกล้ชิด เล่นกับหลาน กระเซ้าเย้าแหย่สมใจแล้ว คราวนี้ เมื่อถึงวันจะกลับ คงจะทำใจลำบากแน่นอน

ที่อเมริกานี้ ผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร สมัยที่ทำงานอยู่ เคยมาบ่อยๆ ก็จริง แต่มาแบบไม่นาน ทำธุระเสร็จก็กลับบ้าน เคยแต่มาอยู่กับครอบครัวเกษตรกร ที่เป็นการเดินทางครั้งแรกในชีวิตที่อยู่นานหน่อย ไม่เหมือนกับเพื่อนๆ ที่มาเรียนต่อที่นี่ อยู่หลายๆ ปี และหลายๆ คนก็อยู่อย่างถาวรจนถึงปัจจุบัน ซึ่งวันนี้ จะได้พบกับพวกเขาบางคนด้วย

การที่มาใช้ชีวิตในต่างแดนนานๆ มีคุณค่ามหาศาล อย่างน้อยก็เห็นข้อแตกต่างระหว่าง เขากับเรา ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ คุณค่าของการเรียนรู้ชีวิตที่แตกต่าง ทำให้เห็นปัญหา และข้อที่น่าจะทำของชีวิต และการทำงานของตัวเอง ในสมัยที่ทำงาน ผมจึงกระตุ้นให้เพื่อนๆ ร่วมงานได้เดินทางกัน เริ่มต้นสงสัยไหมว่า ในศตวรรษที่ 15 ทำไมเขาถึงคิดต่อเรือลำใหญ่ๆ วิ่งไปทั่วโลก โดยไม่มีแผนที่ชัดเจน แค่คาดหวังว่าจะมีแผ่นดินอยู่ข้างหน้า ทั้งนี้ เนื่องจากการคาดหวังว่าจะพบสิ่งที่ดีกว่านั่นเอง เมื่อโคลัมบัส ค้นพบอเมริกา โดยขึ้นฝั่งทางตะวันออกที่ใกล้ทางยุโรป แล้วต่อมามีการเคลื่อนย้าย อพยพมาฝั่งตะวันตก ดังปรากฏตามเรื่องเล่าใน pocket book เชิงประวัติศาสตร์ และภาพยนตร์ ซึ่งชาวยุโรปก็ไปเอเชีย และออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ด้วยความมุ่งหมายเดียวกันด้วย

ตามที่ค้นหาใน google เห็นข้อมูล พอจะสรุปได้ว่า ขณะที่ชาวอเมริกันพื้นเมือง หรืออินเดียนแดง มารวมอาศัยอยู่ที่ California หลายๆ เผ่าเป็นเวลานาน จนกระทั่งชาวยุโรปได้เดินทางมาสำรวจเมื่อศตวรรษที่ 16-17 โดยได้ชื่อว่าเป็นชุมชนชาว Spain แห่งใหม่ ในปี 1821 พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของเม็กซิโก แล้วมาเป็นของอเมริกาเมื่อปี 1848 โดยเป็นรัฐที่ 31 ของอเมริกา ในวันที่ 9 กันยายน 1850 California เป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 6 ของโลก และประชาชนหนาแน่นในอันดับที่ 35 เป็นแหล่งที่เริ่มต้นมีชื่อเสียงทางอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และกลุ่มพวกฮิปปี้ ที่ San Francisco Bay เป็นแหล่งที่มีรายได้ต่อครัวเรือนค่อนข้างสูง และบริษัทที่มีชื่อเสียงที่อยู่ที่นี่คือ Chevron, Apple, และ McKesson และที่สำคัญที่สุดคือการเกษตร โดยเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงประชาชนในสหรัฐอเมริกา เคยทราบมาว่า มีส่วนแบ่งการผลิตอาหารของประเทศ ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์