กรมฯ ได้สนับสนุนอุปกรณ์การตลาดและปัจจัยพื้นฐานให้สหกรณ์

การเกษตรนำไปใช้ในการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา มีสหกรณ์รวบรวมข้าว 351 แห่งในพื้นที่ 48 จังหวัด ปริมาณ 1.76 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 15,735 ล้านบาท สหกรณ์รวบรวมมันสำปะหลัง 97 แห่ง ปริมาณ 576,467 ตัน สหกรณ์รวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 98 แห่ง ปริมาณ 1.087 ล้านตัน และสหกรณ์ที่รวบรวมยางพารา 441 แห่ง ปริมาณ 250,678 ตัน ซึ่งช่วยดูดซับผลผลิตไว้ส่วนหนึ่งไม่ให้ล้นตลาด และช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตรได้ระดับหนึ่ง โดยกรมฯพยายามจะผลักดันให้สหกรณ์หันมาทำธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรให้มากขึ้น

สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการอยากเห็นสหกรณ์การเกษตรได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยยกระดับคุณภาพและราคาผลผลิตทางการเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งกรมฯได้คัดเลือกสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งเข้ามาสนับสนุนนโยบายดังกล่าว และจะเสริมศักยภาพการรวบรวมผลผลิตการเกษตรของสหกรณ์เพิ่มขึ้นในอนาคต ต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ กรมฯ วางแนวทางเพื่อต่อยอดจากโครงการแก้มลิง โดยสนับสนุนสหกรณ์แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร ปัจจุบันสหกรณ์มีโรงสี 93 แห่ง ได้มาตรฐาน GMP จำนวน 39 แห่ง เป็นสหกรณ์ที่มีการแปรรูปข้าวถุงเพื่อจำหน่าย จำนวน 48 สหกรณ์ การแปรรูปมันสำปะหลังเป็นมันเส้นสะอาดเพื่อนำไปผลิตอาหารสัตว์ มีสหกรณ์รวบรวมมันสำปะหลัง จำนวน 97 สหกรณ์ ผลการรวบรวม 576,467 ตัน มีการแปรรูปเป็นมันเส้น จำนวน 54 สหกรณ์ ปริมาณ 102,411 ตัน การแปรรูปนม มีสหกรณ์โคนมที่มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 100 แห่ง และได้มาตรฐาน GMP ทั้งหมด มีโรงงานแปรรูปนม UHT และนมพาสเจอร์ไรซ์ จำนวน 26 แห่ง การแปรรูปยางพารา มีสหกรณ์รวบรวมยางพารา 441 แห่ง มีการสหกรณ์แปรรูปยางพารา 14 แห่ง โดยแปรรูปเป็นแผ่นพื้นปูกระเบื้อง สายพานลำเลียง หมอนยางพารา ที่นอน รองเท้าบูท เป็นต้น และสนับสนุนสหกรณ์ให้มีการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน สหกรณ์มีโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 46 แห่ง ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ 28,000 ตัน

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เผยใช้กลไกประชารัฐร่วมแอมเวย์ เพิ่มช่องทางการตลาดขายตรงข้าวสหกรณ์ สร้างความร่วมมือยาวนานตั้งแต่ปี 2542 นับแต่เริ่มโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน ส่งมอบข้าวไปแล้ว 3.6 หมื่นตัน สร้างรายได้ให้สมาชิกสหกรณ์กว่า 862.907 ล้านบาท

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงโครงการจำหน่ายข้าวสารสหกรณ์ให้กับ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งขณะนั้นทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์หาลู่ทางขยายช่องทางตลาดข้าวสารของสหกรณ์ภายในประเทศ จึงได้ประสานความร่วมมือไปยังบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการทำตลาดขายตรงข้าวสารสหกรณ์ เพื่อเป็นการช่วยให้สหกรณ์มีตลาดจำหน่ายข้าวสารที่แน่นอน เป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง และทำให้ลดขั้นตอนการตลาดได้มาก ซึ่งทางบริษัทฯได้ตอบรับที่จะดำเนินการร่วมกับสหกรณ์การเกษตร

ในระยะเริ่มต้นโครงการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้คัดเลือกสหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพในการแปรรูปข้าวสารและเป็นสหกรณ์ที่ผลิตข้าวหอมมะลิแท้ เพื่อร่วมดำเนินการกับ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด มีสหกรณ์ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ มีจำนวน 10 สหกรณ์ และเริ่มโครงการจำหน่ายข้าวสารของสหกรณ์ให้กับบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา โดยทางสหกรณ์ได้ทำสัญญาบันทึกข้อตกลงมอบอำนาจให้ บริษัท ซี เอ เอส อินเตอร์เทรด จำกัด ดำเนินการแทนสหกรณ์ทั้ง 10 แห่ง ซึ่งข้าวสารที่ส่งมอบในโครงการต้องผ่านกระบวนการแปรรูปที่มีคุณภาพ เป็นข้าวสารที่ได้มาตรฐานสินค้าสหกรณ์ (ส.ม.ส.) โดยบรรจุถุงภายใต้สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมาย “Amway” ซึ่งแบ่งประเภทการบรรจุและขนาดบรรจุเป็นข้าวสารหอมมะลิบรรจุถุงสุญญากาศ ขนาดบรรจุถุงละ 5 กิโลกรัม และข้าวกล้องหอมมะลิบรรจุถุงสุญญากาศ ขนาดบรรจุถุงละ 2 กิโลกรัม ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 Amway ได้สั่งผลิตสินค้าชนิดใหม่ คือ ข้าวกล้องงอกบรรจุถุงสุญญากาศ ขนาดบรรจุถุงละ 2 กิโลกรัม

“ในวันนี้เป็นการให้คำมั่นสัญญาและลงนามร่วมกันในการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ และพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน โดยเป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงซื้อขายข้าวสารสหกรณ์เพื่อส่งมอบให้กับแอมเวย์ ครั้งที่ 42 กำหนดการส่งมอบระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน 2561 ปริมาณข้าวสาร รวม 430 ตัน แบ่งเป็นข้าวขาวหอมมะลิ 380 ตัน ข้าวกล้องหอมมะลิ 36 ตัน และข้าวกล้องงอก 14 ตัน มูลค่ารวมกว่า 13.252 ล้านบาท ซึ่งนับแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน พบว่าปริมาณและมูลค่าของข้าวขาวหอมมะลิ ข้าวกล้องหอมมะลิ และข้าวกล้องงอก ที่ส่งมอบให้กับบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด คิดเป็นปริมาณกว่า 36,479.768 ตัน และมีมูลค่ารวม 862.907 ล้านบาท

ปัจจุบันมีสหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ รวม 5 แห่ง ประกอบด้วย 1. สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด จังหวัดนครราชสีมา 2. สหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด 3. สหกรณ์การเกษตรปราสาท จำกัด จังหวัดสุรินทร์ 4. ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรบุรีรัมย์ จำกัด จังหวัดบุรีรัมย์ และ 5. สหกรณ์การเกษตรพร้าว จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทุกสหกรณ์มีศักยภาพในการผลิตข้าวสาร โดยมีโรงสีข้าวที่ผ่านมาตรฐาน GMP HACCP และอย. มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 40 – 100 ตันต่อวัน เป็นสหกรณ์ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องการผลิตข้าวสารที่มีคุณภาพ ส่งผลทำให้ข้าวหอมมะลิที่ส่งจำหน่ายภายใต้ตราสินค้า Amway เป็นที่ยอมรับ ว่าเป็นข้าวหอมมะลิแท้ 100% ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว การรวบรวมผลผลิต จนนำไปสู่การแปรรูปเป็นข้าวสารที่มีคุณภาพ เมล็ดข้าวขาว เรียวยาว มีรสหวาน และมีความหอมที่คงทน จนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และสร้างความร่วมมือในธุรกิจซื้อขายข้าวสารระหว่างสหกรณ์การเกษตรกับบริษัท แอมเวย์ ประเทศไทย จำกัด ยาวนานมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 19 ปี

เมื่อวันที่ 25 มกราคม นางอรสา อาวุธคม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ได้จัดประชุมหารือแนวทางในการประชาสัมพันธ์แผนงานโครงการ ประจำปี 2561 เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ทราบแผนการตลาดของ ททท.สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบูรณาการการทำงานด้านการตลาดร่วมกัน ส่งเสริมให้การท่องที่ยวของจังหวัดให้มีจำนวนนักท่องเที่ยว และมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น สำหรับปี 2560 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 6,351,828 คน เป็นชาวไทย 5,214,545 คน และชาวต่างชาติ 1,137,283 คน สร้างรายได้ 36,234 ล้านบาท

แผนการตลาดของ ททท.สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ปีนี้ มีโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลท่องเที่ยว” เพื่อสื่อสารการตลาดสร้างกระแสการเดินทางเข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น จากโครงการ “Go Green…Go Prachuap” เพื่อส่งเสริมนักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen Y ให้เข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม โครงการ “ครอบครัวสุขสันต์ @ประจวบคีรีขันธ์” กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มครอบครัวในรูปแบบกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว โครงการ “เธอกับฉันรักกันที่ประจวบฯ – กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวคนไทยกลุ่มความสนใจพิเศษ,

กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจัดกิจกรรม เช่น ฮันนีมูน งานแต่งงานในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โครงการ “Healthy Food Good Health @ Prachuap Khiri Khan” มีกลุ่มเป้าหมายให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม Silver Age มีการเดินทางมากขึ้น และเพิ่มรายได้กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่ โครงการ “เที่ยวประจวบคีรีขันธ์…วันธรรมดาที่ไม่ธรรมดา” ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดาเพิ่มมากขึ้น ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน

นางอรสากล่าวอีกว่า ปีนี้นโยบายรัฐบาล ต้องการสร้างกระแสท่องเที่ยวเมืองรอง โดยใช้มาตราการประกาศลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง 15,000 บาท เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าสู่เมืองรอง 55 จังหวัด และชุมชนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน คาดว่าจะสร้างรายได้สู่เศรษฐกิจรากฐานไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ผ่านแคมเปญ Amazing Thailand Go Local เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโตซึ่งมีกิจกรรมที่หลากหลาย

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศสภาพอากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบนกับฝนตกหนักและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม จนถึง วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561) ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 26 มกราคม 2561

ระบุว่าในช่วงวันที่ 29 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2561 ประเทศไทยตอนบนจะมีสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจากนั้นจะมีอากาศหนาวเย็นลง อุณหภูมิจะลดลง 6-8 องศาเซลเซียสกับมีลมแรง โดยเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และเกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

สำหรับภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 31 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2561

ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง

ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และติดตามข้อมูลจากเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

โดยกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าต้นน้ำ 13 จังหวัดภาคเหนือต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาวิกฤตอย่างหนัก ป่าไม้ถูกบุกรุกเพื่อปลูกข้าวโพด บนพื้นที่กว่า 8.6 ล้านไร่ ล่าสุดถูกเสนอเข้าเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่หลายฝ่ายยังต้องร่วมกันหาทางออกรูปแบบ set zero ไปยัง “คณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปเพื่อการพัฒนา” โดยให้พื้นที่ จ.น่านนำร่อง “อาจารย์ยักษ์” ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายลุยแก้ปัญหาภูเขาหัวโล้นรูปแบบโคก-หนอง-นาโมเดล โดยให้อุทยานศรีน่าน จ.น่าน เป็นพื้นที่ต้นแบบขยายผล

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.วิวัฒน์ได้กล่าวระหว่างลงพื้นที่ในงาน “เอามื้อจอบแรกที่น่านตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนคืนป่าต้นน้ำด้วยปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง” จ.น่าน ว่า ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเป็นปัญหาที่สะสมมานาน โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำ 4 สายหลัก ปิง วัง ยม น่าน ซึ่งถือเป็นต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาถูกทำลายกว่า 8.6 ล้านไร่ ประชาชนอาศัยอยู่ 8 แสนรายประสบปัญหาที่ดินทำกิน หน่วยงานขาดการเชื่อมโยงต่างคนต่างแก้จึงไม่เป็นรูปธรรม
ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีมติว่า การจัดการป่าเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชันหรือเขาหัวโล้นต้องใช้ 3 แนวทาง ควบคุมดูแลพื้นที่ ดูแลคน และพัฒนาเกษตร เน้นบูรณาการ 4 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ จึงให้อุทยานศรีน่านเป็นต้นแบบเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำเป็นครั้งแรกใน การอบรมสร้างการรับรู้ให้ชาวบ้านจับจอบสร้างระบบน้ำใช้รูปแบบโคกหนองนาโมเดล และห่มดิน ไม่มีการใช้สารเคมี จะเพิ่มผลผลิตได้ 3 เท่า ลดปลูกพืช เชิงเดี่ยวใช้ศาสตร์พระราชา โดยให้มีการกักเก็บน้ำจากการขุดร่องน้ำตามความลาดชัน ซึ่งได้รับความสนใจจากเครือข่ายเกษตรกรน่านเข้าร่วม 108 แปลง 15 อำเภอ และจะขยายผลไปยังแห่งอื่นต่อไป เช่น แม่แจ่ม

เพิ่มป่าต้นน้ำเป้า 1 หมื่นไร่

นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยราชการไม่ประสบผลสำเร็จในการฟื้นฟูพื้นที่และจัดสรรที่ดินยาก เพราะชาวบ้านไม่เข้าใจ จึงจัดผังจัดการน้ำดิน ปลูกพืชผสมผสาน แบ่งส่วนให้ชาวบ้านอยู่ได้พอเพียง และทวงคืนพื้นที่ป่าไปพร้อมกัน ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มป่าต้นน้ำ จ.น่าน กว่า 1 หมื่นไร่ เป็นพื้นที่คืนจากอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ถูกบุกรุก 1.2 หมื่นไร่ ให้คืนแล้ว 3 พันไร่ โดยมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย ขณะที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ถูกบุกรุกกว่า 1 แสนไร่ ได้คืนมา 1 หมื่นไร่ จะเน้นปลูกป่าโดยน้อมนำโครงการพระราชดำริฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โครงการปิดทองหลังพระเข้ามาร่วมทำให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด

ปัจจุบันทวงคืนผืนป่า 2 แสนไร่ เมืองน่านกลับมาสมบูรณ์มากขึ้น ตอนนี้ป่าต้นน้ำเหลือร้อยละ 60 หายไปร้อยละ 40 นับจากนี้ต้องหยุดยั้งการปลูกข้าวโพดกว่า 4 แสนไร่ให้ได้ มีแผนร่วมกับกระทรวงเกษตรฯให้ปลูกพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 2 ล้านไร่

ขณะที่ นายบัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน บอกว่า การแก้ปัญหาบุกรุกป่าน่านแก้ไขยาก ส่วนหนึ่งเพราะชาวบ้านไม่เข้มแข็ง ไม่เชื่อมั่นหน่วยงานทำให้ไม่มีแรงจูงใจ เมื่อชาวบ้านไม่มีโฉนดที่ดิน ต้องไปกู้เงินปลูกข้าวโพด แต่หลังปี 2557 รัฐบาล คสช.เข้ามาจัดระเบียบจึงค่อยมาคุยกันแก้ไขขอคืนพื้นที่ได้

“ตอนนี้ชาวบ้านเข้าใจจากการอบรมค่อย ๆ หาทางออกร่วมกับชาวบ้านแบบพี่น้อง แก้ทีละเปลาะระหว่างรอกฎหมายใหม่ที่จะออกมา ให้คนอาศัยในพื้นที่อุทยานง่ายขึ้น และ จ.น่านมีพื้นที่ 7 ล้านไร่ กว่า 6 ล้านไร่เป็นภูเขา แหล่งต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดเหลือแค่ 72% ส่วนที่หายไป 28% เป็นภูเขาหัวโล้น จะให้คืน 100% ต้องใช้เวลา ฉะนั้นการมีส่วนร่วมทุกฝ่ายสำคัญ โดยเฉพาะกฎหมายการจัดสรรที่ดินทำกิน ให้เท่าเทียม และมีรายได้จากการปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่ข้าวโพด”

เมื่อวันที่ 26 มกราคม นายอภิชาติ เหมือนมนัส นายอำเภอพบพระ มอบหมายให้ นายรัตนกุล สังขศิลา ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ คำปาแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ พร้อมด้วยฝ่ายทหาร ตำรวจภูธร และตำรวจตระเวนชายแดน ร่วมกันแถลงการตัดไร่ฝิ่น พื้นที่ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก หลังจากได้ใช้เครื่องบินตรวจสภาพป่าที่ผ่านมา พบสภาพป่าถูกทำลาย และมีการปลูกพืช สิ่งเสพติด ฝ่ายปกครองทหาร, ตำรวจ ตชด.,ป่าไม้ ใด้จัดกำลัง ลงพื้นร่วมกัน ออกตรวจ พื้น ทำลายไร่ฝิ่น ประมาณเกือบ 3 ไร่ จากทั้งหมด 3 แปลง ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า พื้นที่ปลูกฝิ่นมีสภาพเขาสูง ต้องเดินทางเท้าเข้าไปนับชั่วโมง และยังต้องใช้กำลังคุ้มกันในระหว่างปฏิบัติการด้วย ซึ่งสภาพต้นฝิ่น มีดอก และถูกกรีดยางไปแล้ว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดี รักษาราชการอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกรมปศุสัตว์จะร่วมกันลงพื้นที่จัดประชุมหารือเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมภาคกลางในวันที่ 29 – 30 มกราคม 2561 อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อติวเข้มและเตรียมความพร้อมเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมไทยรองรับการเปิดเสรี FTA ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ในปี 2564 และปี 2568 พร้อมร่วมจัดบู้ธให้ข้อมูลและคำปรึกษาเกษตรกรโคนมเรื่องการตลาดและการพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ในงานเทศกาลโคนมแห่งชาติประจำปี 2561

ทั้งนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะร่วมกับกรมปศุสัตว์และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จัดประชุมหารือเชิงปฏิบัติการกับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโคนมภาคกลางในวันที่ 29 มกราคม 2561 ที่โรงแรมเซอร์เจมส์รีสอร์ทแอนด์คันทรีคลับ จังหวัดสระบุรี เพื่อให้ข้อมูลเรื่องการเปิดตลาดสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยภายใต้ FTA ไทย-ออสเตรเลีย และ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ พร้อมจัดวิทยากรบรรยายถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์การเลี้ยงโคนมในประเทศนิวซีแลนด์ การผลิตและการตลาดนมฮอกไกโดในประเทศญี่ปุ่น และแนะนำโครงการ “จับมือผู้ประกอบการโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศใช้ประโยชน์จาก FTA” ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อช่วยผู้ประกอบการโคนมไทยหาตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์

โดยกรมฯ จะคัดเลือกผู้ประกอบการเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้านมและผลิตภัณฑ์นม และหาช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมสู่ตลาดต่างประเทศโดยเน้นตลาด CLMV และจีน ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการจะได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Top Thai Brands ในประเทศ CLMV และจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ได้ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์เหลือศูนย์แก่ไทยแล้วภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน และอาเซียน-จีน

นอกจากนี้ ในช่วงงานเทศกาลโคนมแห่งชาติที่จัดขึ้นโดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2561 ณ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะได้ร่วมออกบู้ธ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความตกลง FTAs ของไทย แนะนำข้อมูลการใช้ประโยชน์และโอกาสส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่ไทยมีกับนานาประเทศ และให้ข้อมูลรายละเอียดของโครงการ “จับมือผู้ประกอบการโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศใช้ประโยชน์จาก FTA” กับเกษตรกร ผู้ประกอบการโคนมที่เข้าร่วมงานด้วย

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ช่วยหาตลาดในประเทศและต่างประเทศให้เกษตรกรโคนมไทยรับมือสินค้านมและผลิตภัณฑ์จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่อาจเข้ามาแข่งขันจากการเปิด FTA ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ในปี 2564 และ 2568 ขณะเดียวกัน ให้ปั้นแบรนด์ “Smile Milk” ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของกรมการค้าต่างประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากกองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้เกษตรกรในเครือชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ด้วย

ในการนี้ กระทรวงพาณิชย์พร้อมจับมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยการเตรียมผู้ประกอบการและเกษตรกรโคนมไทยล่วงหน้าก่อนเปิดตลาดนมและผลิตภัณฑ์ในปี 2564 และ 2568 ให้มีความพร้อมรับมือการแข่งขันจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็จะต้องใช้โอกาสที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนและจีนเปิดตลาดลดภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ให้ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของไทยไปต่างประเทศ ซึ่งหลังจากการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และสระบุรี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกรมปศุสัตว์มีกำหนดจะลงพื้นที่พบปะกับเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมครั้งต่อไปในจังหวัดขอนแก่นและกาญจนบุรีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้

สำหรับผู้ประกอบการและเกษตรกรที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศข้างต้น สามารถเข้าเยี่ยมชมและขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บู้ธกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (ภายในบริเวณพื้นที่จัดนิทรรศการของกรมปศุสัตว์) ในงานเทศกาลโคนมแห่งชาติ ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2561 ณ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี หรือติดต่อสอบถามที่สายด่วน FTA Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 0 2507 7555 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในเวลาราชการ

“13 ปีที่ได้มาทำงานตรงนี้ จากคนที่เคยอยู่แต่เรื่องใกล้ตัว ทำในเรื่องใกล้ตัว สอนหนังสือดูงานรับผิดชอบที่เป็นงานปกติ กลายเป็นคนที่มองคนอื่นมากขึ้น กลายเป็นคนที่มององค์กรมากขึ้นและมองว่าถ้าไม่มีองค์กรคงไม่มีเรา ก็ไม่ต่างอะไรถ้าไม่มีมหาวิทยาลัยเราอาจพลาดโอกาสที่จะได้ทำงานจิตอาสา และประทับใจที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ได้นำความรู้ความสามารถไปสร้างสรรค์ และแบ่งปันให้สังคมได้ สำหรับตนเองไม่กล้าใช้ว่าจิตอาสา ใช้คำว่า ทดแทนคุณแผ่นดินดีกว่า เพราะว่าเราเข้าเป็นข้าราชการมีความสามารถอย่างไร ช่วยอะไรกับสังคมและประเทศนี้ได้ก็จะทำ

ในหลวงรัชการที่ 9 เป็นต้นแบบของการทำงานทุกอย่างสำหรับชีวิตของตนเอง ในการทำงานค่ายมีหลายเรื่องรู้สึกท้อแท้ มีคำถามมากกมายเกิดขึ้นจะทำเสร็จไหม ทำไมจะต้องมาใช้ชีวิตลำบากบางพื้นที่ก็ทำงานยากมาก การเป็นอยู่หลับนอนตามสภาพพื้นที่จริงไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ ทำงานตากแดด ตากลมตั้งแต่เช้าจนดึก ทำไมต้องทำถึงขนาดนี้ แต่เมื่อเห็นรูปพระองค์ท่านในปฏิทิน ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำมันน้อยนิดเหลือเกิน พระองค์ท่านเป็นพลังของแผ่นดิน สร้างแรงผลักดันทุกอย่าง ให้ตนเองทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นแรงบันดาลใจ เหนื่อยเมื่อไหร่ผมก็มองท่าน จะหายเหนื่อย”