กรมแพทย์แผนไทยฯเผย 31 มีนารู้ผล! ประสิทธิภาพยามะเร็ง

เมื่อวันที่ 22 มกราคม นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงความคืบหน้าการทดสอบยามะเร็งของนายแสงชัย แหเลิศตระกูล ว่า เบื้องต้นจากการเก็บตัวอย่างใน 1,062 คน และขณะนี้ได้ผลมาทั้งสิ้น 566 คน พบว่าในกลุ่มนี้เป็นคนไข้ใหม่ร้อยละ 70 เป็นคนไข้เก่าร้อยละ 30 ซึ่งในจำนวนนี้ผู้ป่วยรู้สึกว่ามีผลตอบสนองที่ดีขึ้นร้อยละ 80 โดยอาการที่ดีขึ้นของผู้ป่วยมี 3 ประการ ได้แก่ นอนหลับ มีแรง และรับประทานอาหารได้ ส่วนการลดขนาดของก้อนเนื้อยังไม่มีผลมายืนยันมากนัก แต่คาดว่าในอนาคตทุกอย่างจะดีขึ้น นอกจากนี้ ยังได้มีการทำวิจัยต่อใน 3 เรื่อง คือ กลุ่มที่มาเป็นใคร โดยยึดผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งที่พบคือร้อยละ 55 ของผู้มารับยาไม่ได้รักษาแล้ว แต่ที่น่าสังเกตคือ ในจำนวนนี้เกือบครึ่งผ่านการรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันและหลายรายอาการอาจดีขึ้นหรือคงที่ ซึ่งตรงนี้ต้องติดตามผลต่อไป

“ที่ผ่านมาทราบผลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เรื่องการปนเปื้อนโลหะหนัก สเตียรอยด์ เบื้องต้นไม่พบสารปนเปื้อน จะพบเพียงเชื้อที่ทำให้ท้องเสีย ที่ก็มีโอกาสพบได้ในยาสมุนไพร เพราะเราเป็นเมืองร้อน ขณะนี้จะเหลือการรอผลการต้านโรคมะเร็งในระดับหลอดทดลองจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งภาพรวมทั้งหมดของยามะเร็งของนายแสงน่าจะทราบผลภาพรวมทั้งหมดภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561” นพ.เกียรติภูมิ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันนี้ 22 มกราคม 2561 นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้มอบหมายให้นายเสกสม ลินดาพรประเสริฐ์ ปลัดอำเภอ นางพรพิมล สงวนแก้ว เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับ พ.อ.ธีรยุทธฑ์ เส้งรอด รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 9 นายบุญเลิศ วิริยาวุท ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชนและสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจสอบภายในโรงงานกระดาษไทยจังหวัดกาญจนบุรี อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

ทั้งนี้ เพื่อหารือเตรียมที่จะพัฒนาโรงงานกระดาษไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นแหล่งให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งถือว่าเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมืองกาญจน์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีมีแนวคิดที่จะพัฒนาและปรับภูมิทัศน์ภายในโรงงานกระดาษ และโดยรอบโรงงานแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะปัจจุบันมีสภาพที่เสื่อมโทรมมาก แต่ตัวตึกยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงาม

สำหรับโรงงานกระดาษกาญจนบุรีมีเนื้อที่ 69 ไร่ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2476 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้ริเริ่ม และเปิดดำเนินกิจการในปี พ.ศ.2478 เป็นโรงงานแห่งแรกในประเทศไทยที่ผลิตธนบัตรไทยโดยใช้เยื่อไม้ไผ่ในการผลิต และปัจจุบันยังคงดำเนินกิจการตามปกติ ทางจังหวัดกาญจนบุรีจึงเตรียมที่จะเรียกทุกฝ่ายเข้าประชุมหารือในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 นี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนช่วยกันปรับภูมิทัศน์ทั้งในโรงงานและโดยรอบโรงงานให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อน และแหล่งความรู้ของประชาชนชาวจังหวัดกาญจนบุรีและนักท่องเที่ยวอีกด้วย โดยจะร่วมบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่โรงงานกระดาษ ให้เป็นภูมิบ้าน ภูมิเมืองของคนเมืองกาญจน์ และคนไทยทั้งประเทศ

เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าตรวจเยี่ยมกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และมอบแนวทางการดำเนินงานโดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ และผู้บริหารกรมฯ ให้การต้อนรับ โดย นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้มีการพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดยารักษาโรค เน้นการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน ให้ประชาชนไทยใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพให้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการเกษตรเพาะปลูกสมุนไพรในแต่ละชุมชน ช่วยกระจายโอกาสและสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งขณะนี้มีการวิจัยพัฒนาเรื่องยามะเร็ง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วย

ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมฯ ได้มีการวิจัยยารักษามะเร็งปากมดลูก หรือยา N040 ซึ่งพบว่าผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อยาดังกล่าวได้ดี ถึงร้อยละ 50 และมีร้อยละ 30 ที่ก้อนมะเร็งหายไป โดยจากการเก็บตัวอย่างในกลุ่มผู้ป่วย 32 คน เป็นเวลา 1 ปีไม่พบผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยมี 16 คน ตอบสนองต่อการักษาที่ดี ในจำนวนนี้มี 4 คน ที่ก้อนหายไปแต่เพราะยังไม่มีกลุ่มควบคุมจึงยังไม่สามารถระบุได้ชัดว่าการหายไปของก้อนเกิดขึ้นจากยาหรือไม่ ส่วนอีก 12 คน มีการตอบสนองต่อยาตามลำดับขั้น โดยเป็นการใช้การประเมินตามแผนปัจจุบันที่เป็นการระบุว่าก้อนมีการตอบสนองลักษณะใด ส่วนอีก 16 คนมีความเปลี่ยนแปลงและมีระยะการดำเนินโรคปกติ แต่โดยรวมยาดังกล่าวมีความปลอดภัย กับผู้ป่วยและผู้ป่วยมีผลตอบสนองดี

“ส่วนในการทำวิจัยในระยะ 2 จะเป็นการวิจัยทางคลินิก ซึ่งจะมีกลุ่มควบคุมเพื่อทำให้เราเห็นผลการรักษาที่ชัดเจนขึ้น ดีขึ้น และมั่นใจว่าการหายของก้อนเนื้อมาจากยา ซึ่งขณะนี้ยังไม่เริ่มเข้าเฟส 2 แต่กำลังดำเนินการ โดยหากเปิดเข้าสู่การทดลองระยะนี้เมื่อใดจะมีการประกาศเพื่อขอรับอาสาสมัครในการทดลอง ซึ่งอาสาสมัครจะเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีตัวเลือกในการรักษาจากการแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ หรือจะเป็นการดูแลเฉพาะอาการ อย่างไรก็ตามการจะทำการวิจัยเรื่องยามะเร็งต้องผ่านการจัดทำแนวทางการรักษาโรคมะเร็งหรือโปรโตคอล ให้กับคณะกรรมการจริยธรรมในคนก่อน ซึ่งสิ่งที่ทำจะไม่ผิดหลักจริยธรรม ผู้ป่วยมีความปลอดภัย และอาสาสมัครต้องยินยอมพร้อมใจ โดยยาดังกล่าวเริ่มวิจัยตั้งแต่ปี 2557 และผลเพิ่งออกมาช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมาว่าผู้ป่วยมีผลการตอบสนองต่อยาดี” ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าว

ภญ.มณฑกา กล่าวต่อว่า ยา N040 มีส่วนผสมประมาณ 10 ชนิด ได้แก่ เถามวกขาว หญ้าขัด ตับเต่าใหญ่ ถั่วพู ราชพฤษ์ หนามโค้ง กางหลวง ตับเต่า สานเงิน และค้องเขาเขียว ซึ่งก่อนจะรับประทานได้ต้องผ่านกระบวนการผลิตมาในรูปแบบแคปซูล ไม่ใช่ไปผสมรับประทานเอง สำหรับการบริโภคจะให้บริโภคตามน้ำหนักตัว และในการจะรับประทานต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ด้วยผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตามในการรับประทานยารักษามะเร็งปากมดลูก ผู้ป่วยก็จะต้องได้รับการรักษาที่จำเป็นตามมาตรฐาน ส่วนผลข้างเคียงของ ยาN040 ที่ถือว่าเป็นยาใหม่นั้น ในทดลองในเฟส 1 จากการตรวจผลเลือด และตรวจรายงานผลข้างเคียง ยังไม่พบผลข้างเคียงที่อันตราย จะมีเพียงอาการเวียนศีรษะเล็กน้อย และคาดว่าจะเริ่มเฟส 2 ได้ภายใน 1 ปี และขณะนี้ ยาN040 ได้มีการจดอนุสิทธิบัตรของกองทุนภูมิปัญญา ซึ่งอยู่ในสังกัดของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพราะเป็นคนให้ทุนทำวิจัยที่มีการทำวิจัยมาตั้งแต่ปี 2536 โดยเป็นตำรับของล้านนา ส่วนการเลือกพัฒนาสูตรยารักษามะเร็งปากมดลูกนั้นก็เกิดจากการนำยาดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับยามาตรฐานแล้ว และพบว่ายา N040 มีศักยภาพในการรักษามะเร็งปากมดลูกได้

ภญ.มณฑกา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทางกรมฯยังจะมีการรับอาสาสมัครผู้ป่วยมะเร็งตับจำนวน 81 คน เพื่อมาเข้าร่วมโครงการพัฒนายารักษามะเร็งตับหรือสมุนไพรในตำรับเบญจอำมฤตย์ ซึ่งที่ผ่านมามีการเก็บข้อมูลในผู้ป่วยกว่า 300 คน ยังไม่พบรายงานที่น่ากังวลว่ามีผลข้างเคียง จะมีเพียงท้องเสีย ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยสูง ซึ่งขณะนี้มีผู้ร่วมโครงการ 12 คนแล้วผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี

วันที่ 23 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จ.นครราชสีมา มีกระทิงโทนเพศผู้ 1 ตัว น้ำหนักกว่า 1.2 ตัน อายุประมาณ 2 ปี เดินข้ามถนนเส้น 3052 วังน้ำเขียว – เขาใหญ่ ระหว่างหมู่บ้านคลองทราย หมู่ที่ 8 และบ้านคลองทุเรียน หมู่ที่ 6 ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งชาวบ้านที่ผ่านมาพบ ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายไว้ได้ โดยกระทิงตัวดังกล่าวมีลักษณะเชื่องและไม่ได้มีทีท่าว่าจะกลัวคนแต่อย่างใด

ทั้งนี้จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ทราบว่ากระทิงเพศผู้ตัวนี้ คาดว่าออกมาจากพื้นที่เขาแผงม้า แล้วมาเดินเพ่นพ่านอยู่ริมถนน ก่อนเข้าไปในหมู่บ้านคลองทราย รวมทั้งหมู่บ้านคลองทุเรียนเป็นประจำ จนเป็นที่ค้นตาของชาวบ้าน และได้รับการตั้งชื่อจากชาวบ้านว่า “คุณทองดี” เนื่องจากเป็นกระทิงที่มีรูปทรงสวยงาม และไม่มีลักษณะก้าวร้าว โดยมันจะออกมาหากินอาหารในบริเวณไร่ข้าวโพดของชาวบ้านในช่วงเย็น และเดินกลับเข้าป่าเขาแผงม้า ในช่วงเช้าเช่นนี้เสมอ ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ได้ทำร้ายหรือขับไล่มันแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2561 เวลา 13.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีราคายางพาราว่า

มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเล็กน้อย รัฐบาลพยายามทำทุกมาตรการ แต่ราคาก็ยังขึ้นได้ช้าอยู่ เพราะมีหลายกลไกด้วยกัน ซึ่งตนได้สั่งกำชับให้เร่งรวบรวมสรุปในเรื่องของการใช้ยางทั้งน้ำยางข้น ยางแผ่น ที่นำไปสู่การผลิตที่จะนำไปสู่รูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยจะเป็นการขับเคลื่อนในระยะยาว

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวถึงสถานการณ์น้ำในลำน้ำมูลที่ไหลผ่าน อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ลดระดับลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะบริเวณบ้านท่าม่วง อำเภอสตึก อย่างน่าตกใจจนมองเห็นสันดอนทรายโผล่กลางลำน้ำ ซึ่งชาวบ้านเกรงว่าปริมาณน้ำจะมีไม่เพียงพอสำหรับการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภค ในเรื่องการดำเนินการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาอำเภอสตึก มีจุดสูบน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณลำน้ำมูล บ้านท่าม่วงและที่อ่างเก็บน้ำลำตะโคง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโครงการชลประทานบุรีรัมย์ ปกติทุกปี หากปริมาณน้ำในลำน้ำมูลลดลงหรือมีปริมาณน้ำน้อย การประปาส่วนภูมิภาคจะเปลี่ยนมาสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะโคงแทน

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำดังกล่าวมีเพียงพอสำหรับในการทำน้ำประปาในเขต อำเภอสตึก ตลอดช่วงฤดูแล้งปี 2561 ส่วนของการแก้ไขปัญหาระดับน้ำในลำน้ำมูลลดต่ำลงในช่วงฤดูแล้งทุกปี นั้น กรมชลประทานมีแผนก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำมูลบริเวณบ้านท่าม่วง โดยในปี 2561 จะดำเนินการสำรวจออกแบบ และคาดว่าจะดำเนินการจัดเข้าแผนก่อสร้างได้ในปี 2563

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เผยใช้กลไกประชารัฐร่วมแอมเวย์ เพิ่มช่องทางการตลาดขายตรงข้าวสหกรณ์ สร้างความร่วมมือยาวนานตั้งแต่ปี 2542 นับแต่เริ่มโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน ส่งมอบข้าวไปแล้ว 3.6 หมื่นตัน สร้างรายได้ให้สมาชิกสหกรณ์กว่า 862.907 ล้านบาท

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงโครงการจำหน่ายข้าวสารสหกรณ์ให้กับ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งขณะนั้นทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์หาลู่ทางขยายช่องทางตลาดข้าวสารของสหกรณ์ภายในประเทศ จึงได้ประสานความร่วมมือไปยังบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการทำตลาดขายตรงข้าวสารสหกรณ์ เพื่อเป็นการช่วยให้สหกรณ์มีตลาดจำหน่ายข้าวสารที่แน่นอน เป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง และทำให้ลดขั้นตอนการตลาดได้มาก ซึ่งทางบริษัทฯได้ตอบรับที่จะดำเนินการร่วมกับสหกรณ์การเกษตร

ในระยะเริ่มต้นโครงการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้คัดเลือกสหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพในการแปรรูปข้าวสารและเป็นสหกรณ์ที่ผลิตข้าวหอมมะลิแท้ เพื่อร่วมดำเนินการกับ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด มีสหกรณ์ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ มีจำนวน 10 สหกรณ์ และเริ่มโครงการจำหน่ายข้าวสารของสหกรณ์ให้กับบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา โดยทางสหกรณ์ได้ทำสัญญาบันทึกข้อตกลงมอบอำนาจให้ บริษัท ซี เอ เอส อินเตอร์เทรด จำกัด ดำเนินการแทนสหกรณ์ทั้ง 10 แห่ง ซึ่งข้าวสารที่ส่งมอบในโครงการต้องผ่านกระบวนการแปรรูปที่มีคุณภาพ เป็นข้าวสารที่ได้มาตรฐานสินค้าสหกรณ์ (ส.ม.ส.) โดยบรรจุถุงภายใต้สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมาย “Amway” ซึ่งแบ่งประเภทการบรรจุและขนาดบรรจุเป็นข้าวสารหอมมะลิบรรจุถุงสุญญากาศ ขนาดบรรจุถุงละ 5 กิโลกรัม และข้าวกล้องหอมมะลิบรรจุถุงสุญญากาศ ขนาดบรรจุถุงละ 2 กิโลกรัม ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 Amway ได้สั่งผลิตสินค้าชนิดใหม่ คือ ข้าวกล้องงอกบรรจุถุงสุญญากาศ ขนาดบรรจุถุงละ 2 กิโลกรัม

“ในวันนี้เป็นการให้คำมั่นสัญญาและลงนามร่วมกันในการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ และพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน โดยเป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงซื้อขายข้าวสารสหกรณ์เพื่อส่งมอบให้กับแอมเวย์ ครั้งที่ 42 กำหนดการส่งมอบระหว่างเดือนมกราคม –เมษายน 2561 ปริมาณข้าวสาร รวม 430 ตัน แบ่งเป็นข้าวขาวหอมมะลิ 380 ตัน ข้าวกล้องหอมมะลิ 36 ตัน และข้าวกล้องงอก 14 ตัน มูลค่ารวมกว่า 13.252 ล้านบาท ซึ่งนับแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน พบว่าปริมาณและมูลค่าของข้าวขาวหอมมะลิ ข้าวกล้องหอมมะลิ และข้าวกล้องงอก ที่ส่งมอบให้กับบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด คิดเป็นปริมาณกว่า 36,479.768ตัน และมีมูลค่ารวม 862.907 ล้านบาท

ปัจจุบันมีสหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ รวม 5 แห่ง ประกอบด้วย 1. สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด จังหวัดนครราชสีมา 2. สหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด 3. สหกรณ์การเกษตรปราสาท จำกัด จังหวัดสุรินทร์ 4. ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรบุรีรัมย์ จำกัด จังหวัดบุรีรัมย์ และ 5.สหกรณ์การเกษตรพร้าว จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทุกสหกรณ์มีศักยภาพในการผลิตข้าวสาร โดยมีโรงสีข้าวที่ผ่านมาตรฐาน GMP HACCP และอย. มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 40 – 100 ตันต่อวัน เป็นสหกรณ์ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องการผลิตข้าวสารที่มีคุณภาพ

ส่งผลทำให้ข้าวหอมมะลิที่ส่งจำหน่ายภายใต้ตราสินค้า Amway เป็นที่ยอมรับ ว่าเป็นข้าวหอมมะลิแท้ 100% ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว การรวบรวมผลผลิต จนนำไปสู่การแปรรูปเป็นข้าวสารที่มีคุณภาพ เมล็ดข้าวขาว เรียวยาว มีรสหวาน และมีความหอมที่คงทน จนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และสร้างความร่วมมือในธุรกิจซื้อขายข้าวสารระหว่างสหกรณ์การเกษตรกับบริษัท แอมเวย์ ประเทศไทย จำกัด ยาวนานมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 19 ปี

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า จากการประกาศยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลหน้าโรงงานและยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาลทรายภายในประเทศ เพื่อใช้บริโภคในประเทศ เป็นหนึ่งในแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 ตามคำสั่งคณะรักษาความแห่งชาติ(คสช.) นั้น สอน.ได้สำรวจราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานลดลง จากเฉลี่ย 19-20 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 18.18 – 18.31 บาทต่อกก. และราคาน้ำตาลทรายขาวธรรมดา อยู่ที่ 17.06 – 17.22 บาทต่อกก.

นอกจากนี้จากยอดการขนย้ายน้ำตาลทรายที่จำหน่ายหน้าโรงงาน ระหว่างวันที่ 16 – 20 มกราคม 2561 มียอดขนย้ายจำนวน 53,000 ตัน (หรือ 530,000 กระสอบ) และในวันที่ 23 มกราคม 2561 ที่ผ่านสอน. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบราคาน้ำตาลทรายที่ห้างค้าปลีก (โมเดิร์นเทรด) พบว่าส่วนใหญ่ปรับราคาลดลงแล้ว โดยเฉลี่ยราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ 21.50 บาทต่อกก. จากเดิมราคาอยู่ที่ 23 บาทต่อกก. ทำให้ สอน. มั่นใจว่าน้ำตาลทรายที่ค้างอยู่ก่อนการปรับราคาจำนวน 30,000 ตัน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 ได้จำหน่ายหมดไปแล้ว อย่างไรก็ตามกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์จะกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดแน่นอน

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. ได้ร่วมกับกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธวพ.) หรือ SME Development Bank บูรณาการความร่วมมือพัฒนาศักยภาพชุมชนในพื้นที่พิเศษ และชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 9 คลัสเตอร์ ซึ่ง ธวพ.จะใช้ศักยภาพด้านความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเงิน การจัดทำบัญชี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาด ถ่ายทอดให้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ อพท. ให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนและผู้ประกอบการ SMEs

มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนอันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพได้อย่างจริงจัง โดย ธวพ. จะเข้ามาส่งเสริมเรื่องการทำระบบบัญชี และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่แล้วของชุมชนและผู้ประกอบการ ด้วยการยกระดับมาตรฐานให้กับสินค้าและบริการเหล่านั้น ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ที่ต้องการให้ชุมชนใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้เข้ามาพัฒนาสินค้าและบริการของตัวเอง เพื่อจะได้ “ทำน้อยแต่ได้มาก” โดยธพว.คิดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ใช่ “ทำมากแต่ได้น้อย” เหมือนเช่นในอดีต และจุดแข็งของ ธวพ. อีกอย่างหนึ่งคือ มีเงินทุนสนับสนุนที่ชุมชนหรือผู้ประกอบการสามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเริ่มต้นที่ 3% ให้ชุมชนและเอกชนได้มีเงินทุนไปขยายและปรับปรุงกิจการ

นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้อำนวยการสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน อพท. กล่าวว่า นอกจาก 14 ชุมชนในพื้นที่พิเศษ ที่ อพท. พัฒนาศักยภาพเป็นชุมชนด้านการท่องเที่ยวได้แล้วนั้น จากการลงพื้นที่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 9 คลัสเตอร์ อพท. ได้ประเมินชุมชนออกเป็น 3 เกรด ตามขีดความสามารถ เพื่อง่ายต่อการวางแผนเข้าไปพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council หรือ GSTC)

“จากการลงพื้นที่ใน 9 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว อพท. ใช้เกณฑ์ GSTC ประเมินศักยภาพและความพร้อมให้กับ 120 ชุมชน แบ่งเป็น 3 เกรด เอ บี และซี ตามศักยภาพ โดยพบว่ามีชุมชนเกรดเอ จำนวน 50 ชุมชน ที่มีความพร้อมที่จะเข้าไปต่อยอดการทำตลาด ส่วนชุมชนเกรด บี อพท. และ เอสเอ็มอีแบงก์ ต้องเข้าไปพัฒนาเพิ่มเติม ส่วนเกรดซี คงต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนา ดังนั้นในชุมชนเกรด เอ และ บี น่าจะเป็นเป้าหมายให้ทาง ธวพ. เข้าไปต่อยอดให้ความรู้ด้านการเงินและการตลาด” นางสาววัชรีกล่าว

บนถนนนิมมานเหมินท์ ซอย 7 จ.เชียงใหม่ มีร้านอาหาร Blackitch Artisan Kitchen ซึ่งแตกต่างจากร้านอาหารอื่น ๆ ในย่านนั้น ด้วยความที่ไม่ใช่อาหารแฟชั่น หรืออยู่ในลิสต์ของร้านอาหารที่ต้องมานั่งถ่ายรูปแล้วเช็กอิน

“Blackitch Artisan Kitchen” เป็นร้านอาหารที่เน้นใช้วัตถุดิบในพื้นที่เป็นสำคัญ และเสิร์ฟในรูปแบบ chef’s table ผ่าน “เชฟแบล็ค” หรือ “ภานุภน บุลสุวรรณ” ที่เป็นเจ้าของร้าน โดยเขาบอกว่าเมนูแต่ละวันจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นจะได้วัตถุดิบอะไรมา ดังนั้น ลูกค้าจะไม่รู้ล่วงหน้าว่า เมนูอาหารของวันที่มารับประทานนั้นมีอะไรบ้าง

“อาหารที่ทำจะผ่านการคำนวณมาแล้วให้ครบ 5 หมู่ ซึ่งจะใช้ของที่เป็นออร์แกนิกให้ได้มากที่สุด และด้วยความที่ร้านมีเพียง 2 โต๊ะ 12 ที่นั่ง ดังนั้น ผมสามารถพูดคุยกับลูกค้าได้อย่างใกล้ชิด เพื่อบอกว่าแต่ละเมนูทำจากวัตถุดิบอะไรบ้าง”

นิยามอาหารของร้านนี้ คือ local cuisine, seasonal cuisine และ culture cuisine เป็นการทำอาหารตามที่ธรรมชาติให้มา ซึ่ง “เชฟแบล็ค” จะเข้าตลาดด้วยตัวเอง มีการพูดคุยกับแม่ค้าถึงที่มาของวัตถุดิบ รวมทั้งลงพื้นที่ไปตามชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเลือกสรรวัตถุดิบที่ดีมาเสิร์ฟให้กับผู้บริโภค

ความโดดเด่นอีกอย่างของ Blackitch Artisan Kitchen ได้แก่ ของหมักดองทั้งหลาย เครื่องปรุงทุกอย่างที่ถูกนำมาเป็นส่วนผสมของการทำอาหาร ไม่ว่าจะเป็นซอส ซีอิ๊ว น้ำปลา กะปิ มิโซะ เต้าเจี้ยว “เชฟแบล็ค” จะนำของจากชุมชนมาผ่านกระบวนการหมักดองจนได้เป็นเครื่องปรุงนานารสชาติ ยกเว้นเกลือกับน้ำตาลเท่านั้นที่เป็นของซื้อใหม่

นอกจากนี้ “เชฟแบล็ค” ตั้งเป้าให้ร้านเป็น zero waste ยกตัวอย่าง หากลูกค้าอยากได้น้ำแตงโม จะได้อีกเมนูจากเปลือกแตงโมทันที ซึ่งทางร้านจะเสนอเมนูที่สามารถใช้วัตถุดิบให้ได้ทั้งหมด และในช่วงท้ายของคอร์ส จะสอบถามลูกค้าว่าเริ่มอิ่มแล้วหรือไม่ เพื่อจะได้ปรับปริมาณอาหารให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเป็นขยะอาหาร โดยในกรณีที่ลูกค้ากินเหลือเยอะ หรือเลือกกิน จะมี 2 ทางเลือก คือแบ่งอาหารให้กับคนข้าง ๆ หรือนำเศษอาหารไปทิ้งในกล่องด้วยตัวเอง