กระดุมบราซิล เห็ดมีคุณค่าต่อร่างกายเห็ด ได้รับการยกย่องว่าเป็น

อาหารมหัศจรรย์ ด้วยสรรพคุณของการรักษาและคุณค่าทางอาหารมากมาย จนทำให้เกิดกระแสการรับประทานเห็ดแพร่หลายกระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก ประเทศสหรัฐอเมริกามีการศึกษาวิจัยนำมาเป็นยารักษาโรค ประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่นนิยมการบริโภคเห็ดในชีวิตประจำวัน จนเป็นที่กล่าวขานกันว่ารับประทานเห็ดให้ได้ 8 ชนิดต่อหนึ่งมื้ออาหารจะทำให้อายุยืนและปราศจากโรคภัย อีกทั้งเห็ดยังเป็นเมนูอาหารชีวจิตที่ช่วยป้องกันและรักษาโรคภัยต่างๆ ได้ ดังเช่นเห็ดกระดุมบราซิล หนึ่งในหลายผลงานวิจัยดีเด่นของมูลนิธิโครงการหลวง

เห็ดกระดุมบราซิล มีถิ่นกำเนิดในเมืองไพเดด ใกล้กับเมืองเซาเบาโล ประเทศบราซิล ชาวบราซิลตั้งชื่อที่มีความหมายว่าเป็นเห็ดของพระเจ้า ในบ้านเราทำการศึกษาวิจัยจนสามารถเพาะและขยายพันธุ์ได้สำเร็จเมื่อปี 2535 จนถึงปัจจุบันเพาะเลี้ยงขยายในเชิงการค้าได้แล้ว ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาโครงการหลวงขุนวาง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

เห็ดกระดุมบราซิลมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ คือ มีผลช่วยต่อต้านการเกิดเนื้องอก ทำลายและป้องกันการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง มีเยื่อใยอาหารที่ไม่ย่อยสลาย มีการดูดซับสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในร่างกายเอาไว้แล้วขับออกจากร่างกาย สามารถใช้ร่วมกับการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน ใช้ร่วมกับการฉายรังสี ลดการเกิดผลข้างเคียง ช่วยฟื้นฟูร่างกาย ลดความเครียด ช่วยลดภาวะการขาดภูมิคุ้มกัน

สารสกัดจากเห็ดชนิดนี้สามารถกำจัดเชื้อไวรัสเอชไอวี ใช้บำบัดเกี่ยวกับโรคภูมิคุ้มกัน ได้แก่ รูมาตอย เบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และโรคอื่นๆ ช่วยสนับสนุนความแข็งแรงของกระดูก มีวิตามินบี 1 บี 2 และสารตั้งต้นของวิตามินดี มีผลทำให้ลดการเกิดโรคกระดูกพรุน ปรับสมดุลความดันของโลหิต ช่วยกระบวนการย่อยอาหาร บำรุงผิวพรรณ ชะลอความชรา มีสารประกอบอื่นที่ทำให้บาดแผลหายเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาอาการผื่นคัน ตุ่มบวม ผิวหนังถูกทำลาย และโรคผิวหนังอื่นๆ ที่สำคัญเห็ดกระดุมบราซิลมีคุณค่าทางอาหารสูง

จังหวัดในภาคเหนือของไทย เป็นแหล่งปลูกข้าวพันธุ์ดีอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งนอกเหนือจากสายพันธุ์ที่ปลูกและคิดค้นโดยคนไทยเอง กระจายการทดลองปลูกจนได้ผลผลิตเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศแล้ว เทคโนโลยีการปลูกและคิดค้นสายพันธุ์ข้าวยังคงไม่หยุดนิ่ง ไม่เฉพาะสายพันธุ์ที่เติบโตภายในประเทศเท่านั้น ยังคงรวมถึงสายพันธุ์จากต่างประเทศ
ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย เป็นศูนย์วิจัยข้าวแห่งแรกที่นำ “ข้าวญี่ปุ่น” เข้ามาทดลองปลูกในประเทศไทย

สถาบันวิจัยข้าวเริ่มดำเนินงานเพื่อศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้น ตลอดจนความเป็นไปได้ในการปลูกข้าวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ ปี 2507 โดยได้ดำเนินที่สถานีทดลองข้าวพาน จังหวัดเชียงราย ต่อมาในปี 2530 สถานีทดลองข้าวพาน ได้เก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นจากแหล่งต่างๆ มาขยายเมล็ดพันธุ์ จากนั้นนำไปปลูกศึกษาพันธุ์ขั้นต้น เมื่อปี 2531-2532 ปลูกศึกษาพันธุ์ขั้นสูงที่สถานีทดลองข้าวพานและสถานีทดลองข้าวสันป่าตอง เมื่อปี 2532-2533 ปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ระหว่างสถานี เมื่อปี 2533-2534

หลังจากนั้นนำไปปลูกทดสอบผลผลิตในนาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน พิษณุโลก ชัยนาท สกลนคร และจังหวัดหนองคาย พร้อมทั้งบันทึกผลผลิต ลักษณะทางการเกษตรที่สำคัญ ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในช่วงฤดูปลูกตรวจสอบคุณภาพเมล็ดทางกายภาพและทางเคมีตลอดจนทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคและแมลงเมื่อปี 2534-2538 ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิจัยและพัฒนากรมวิชาการเกษตรให้เป็นพันธุ์แนะนำ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2538 และให้ชื่อว่าพันธุ์ ข้าวญี่ปุ่น ก.วก.1 และข้าวญี่ปุ่น ก.วก.2

ลักษณะประจำพันธุ์ ข้าวญี่ปุ่น ก.วก.1 เป็นข้าวเจ้านาสวน ไม่ไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 88 เซนติเมตร ต้นค่อนข้างแข็งแรง กอตั้งตรง ใบแก่ช้าสีเขียวและมีขน กาบใบและปล้องสีเขียว ใบธงค่อนข้างตั้งตรง รวงแน่น ระแง้ถี่คอรวงสั้น เมล็ดข้าวเปลือกสีฟางมีขนสั้น ยอดเมล็ดสีฟางและมีหางเล็กน้อย รูปร่างเมล็ดข้าวเปลือกสั้นป้อมยาว 7.4 มิลลิเมตร กว้าง 3.5 มิลลิเมตร และหนา 2.2 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีขาว ยาวเฉลี่ย 5.18 มิลลิเมตร มีท้องไข่ปานกลาง การร่วงของเมล็ดยาก มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน และให้ผลผลิตประมาณ 700 กิโลกรัมต่อไร่

ลักษณะเด่น ให้ผลผลิตสูงในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถปรับตัวได้ดีในพื้นที่ดินนาเขตภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนได้ดีกว่าข้าวญี่ปุ่นพันธุ์อื่นๆ คุณภาพการสีดี ได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวประมาณ 48 เปอร์เซ็นต์ คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดีตรงตามมาตรฐานสำหรับผู้บริโภคข้าวญี่ปุ่น ราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป

คำแนะนำ ให้ปลูกในเขตภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

การปลูกในฤดูนาปรัง ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม จะให้ผลผลิตสูงกว่าฤดูนาปี เพราะเป็นช่วงฤดูหนาวซึ่งมีอุณหภูมิเหมาะสมในการเจริญเติบโต อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ 7-10 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับนาดำ และ 15 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับนาหว่านน้ำตม โดยเมล็ดพันธุ์ต้องมีความงอกไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อายุกล้าที่เหมาะสมต่อการปักดำในฤดูนาปรังในเขตภาคเหนือตอนบนประมาณ 25-30 วัน และ 15-18 วัน สำหรับภาคเหนือตอนล่าง หรือเมื่อต้นกล้ามีใบ 3-5 ใบ ถอนกล้าอย่าให้ช้ำและนำไปปักดำให้เสร็จภายในวันเดียว เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรงและตั้งตัวได้เร็ว โดยปักดำจับละ 6-8 ต้น ระยะปักดำ 30×15 หรือ 20×20 เซนติเมตร

ข้อควรระวัง ในสภาพที่มีอากาศร้อนและความชื้นสูง ข้าวญี่ปุ่น ก.วก.1 ไม่ต้านทานโรคไหม้ การปลูกข้าวให้ได้ผลดีควรหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมดังกล่าว

ข้าวญี่ปุ่น ก.วก.1 มีระแง้เหนียวมาก การนวดโดยการฟาดข้าวทำได้ยาก หลังจากเก็บเกี่ยวควรตากข้าว ในนา 3-4 วัน แล้วนวดด้วยเครื่องนวดทันที เมล็ดข้าวเสื่อมความงอกเร็ว การเก็บเมล็ดพันธุ์ควรลดความชื้นเมล็ดให้เหลือ 8-10 เปอร์เซ็นต์ และเก็บในปีบหรือภาชนะที่สามารถปิดผนึกได้ ไม่ต้านทานโรคไหม้ โรคขอบใบแห้งและโรคใบสีส้ม ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นสีเขียวและเพลี้ยกระโดดหลังขาว

ลักษณะประจำพันธุ์ข้าวญี่ปุ่น ก.วก.2 เป็นข้าวเจ้านาสวน ไม่ไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 80 เซนติเมตร ต้นแข็ง ทรงกอตั้งตรง ใบแก่ช้าสีเขียวและมีขน กาบใบและปล้องสีเขียว ใบธงค่อนข้างตั้งตรง รวงแน่น ระแง้ถี่ คอรวงสั้น เมล็ดข้าวเปลือกสีฟางมีขนสั้น ยอดเมล็ดสีฟางและมีหางบ้างบางเมล็ด รูปร่างเมล็ดข้าวเปลือกสั้นป้อมยาว 7.3 มิลลิเมตร กว้าง 3.3 มิลลิเมตร และหนา 2.2 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีขาว ยาวเฉลี่ย 5.13 มิลลิเมตร มีท้องไข่น้อย การร่วงของเมล็ดยาก มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 117 วัน และให้ผลผลิตประมาณ 700 กิโลกรัมต่อไร่

ลักษณะเด่น ให้ผลผลิตสูงในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถปรับตัวได้ดีในพื้นที่ดินนาเขตภาคเหนือตอนบน คุณภาพการสีดีมาก ได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวประมาณ 52 เปอร์เซ็นต์คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี ตรงตามมาตรฐานสำหรับผู้บริโภคข้าวญี่ปุ่น ราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป

คำแนะนำ ให้ปลูกในเขตภาคเหนือตอนบน การปลูกในฤดูนาปรังช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมจะให้ผลผลิตสูงกว่าฤดูนาปี เพราะเป็นช่วงฤดูหนาวซึ่งมีอุณหภูมิเหมาะสมในการเจริญเติบโต อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ 7-10 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับนาดำ และ 15 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับนาหว่านน้ำตม โดยเมล็ดพันธุ์ต้องมีความงอกไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์อายุกล้าที่เหมาะสมต่อการปักดำในฤดูนาปรังในเขตภาคเหนือตอนบนประมาณ 25-30 วัน หรือเมื่อต้นกล้ามีใบ 3-5 ใบ ถอนกล้าอย่าให้กล้าช้ำ ควรถอนกล้าและปักดำให้เสร็จภายในวันเดียว เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรงและตั้งตัวได้เร็ว โดยปักดำจับละ 6-8 ต้น ระยะปักดำ 30×15 หรือ 20×20 เซนติเมตร

ข้อควรระวัง ในสภาพที่มีอากาศร้อนและความชื้นสูงข้าวญี่ปุ่น ก.วก.2 ไม่ต้านทานโรคไหม้ การปลูกข้าวให้ได้ผลดีหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมดังกล่าว ข้าวญี่ปุ่น ก.วก.2 มีระแง้เหนียวมาก การนวดโดยการฟาดข้าวทำได้ยาก หลังจากเก็บเกี่ยวควรตากข้าวในนา 3-4 วัน แล้วนวดด้วยเครื่องนวดทันที เมล็ดขาวเสื่อมความงอกเร็ว การเก็บเมล็ดควรลดความชื้นเมล็ดให้เหลือ 8-10 เปอร์เซ็นต์ และเก็บในปีบหรือภาชนะที่สามารถปิดผนึกได้ ไม่ต้านทานโรคไหม้ โรคขอบใบแห้งและโรคใบสีส้ม ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นสีเขียวและเพลี้ยกระโดดหลังขาว

ในปัจจุบันข้าวญี่ปุ่นได้มีภาคเอกชนในจังหวัดเชียงราย หลายรายทำการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก และรับซื้อคืนในราคาประกันแล้วแต่ฤดูกาล ในหลายอำเภอ เช่น อำเภอแม่จัน เมืองเชียงราย เวียงป่าเป้า พาน แม่ลาว ฯลฯ สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามที่ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ 0-5372-1578 โทรสาร 0-5372-1916 หรือ

ในปีนี้ถ้าจะว่าไปแล้ว เป็นปีทองสำหรับผู้เขียน เพราะได้เจอเรื่องมหัศจรรย์หลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องต้นไม้ที่ออกดอกออกผลกันยกใหญ่ ทั้งการได้พบเจอตะเคียนทองต้นใหญ่ยักษ์งอกเบี้ยใต้ต้นเป็นหมื่นๆ แสนๆ ต้น ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบหลายสิบปี ทั้งต้นกาจะหรือมะเกลือกาที่บ้านเมืองนนท์ ที่เพิ่งลงดินได้ 2 ปี กลับออกดอกเต็มต้น หรือจะเป็นเพราะปีนี้อากาศสุดจะวิปริต หรือเพราะเป็นธรรมดาของต้นไม้ที่จะรับรู้ว่าฝนจะตกเมื่อไร จึงได้ผลิตลูกหลานมาอย่างหนำใจ (ไว้โอกาสหน้าจะเขียนเรื่องต้นไม้ทำนายฝน…)

ที่น่าอัศจรรย์ใจก็คือ ผู้เขียนมีโอกาสได้เจอ ต้นทะลอก ต้นยางใหญ่ยักษ์อายุเกินร้อยปี ทั้งๆ ที่วันที่ได้ต้นกล้าครั้งล่าสุดเมื่อ 2 ปีก่อน จากคุณหมอท่านหนึ่ง ซึ่งท่านนำมาจากมาเลเซีย แค่นั้นไม่พอท่านได้ใส่ข้อมูลไว้ในสมองผู้เขียนว่า ในเมืองไทยหาไม่ได้แล้วนะเจ้าคุณพี่ หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ ที่ไทยน่ะสูญพันธุ์ไปแล้ว และที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นก็คือ ต้นทะลอกต้นนี้ออกลูกมาอย่างทะลักทะเลื่อเหมือนจะอวดโฉมให้เราได้เห็นเขาอย่างเต็มตาหลังจากหลบซ่อนตัวไม่ยอมปรากฏโฉมให้ใครเห็น หรือว่าเขาก็ผลิตลูกหลานเยอะแยะนั่นแหละ แต่ไม่มีใครเคยได้ไปสนใจมอง อีกนัยยะหนึ่งก็เหมือนกับจะประกาศเป็นทำนองกลายๆ ว่า…ฉันจะไม่ยอมสูญหายไปจากสยามประเทศอย่างแน่นอน (ฮา…)

สถานที่พบต้นทะลอกต้นนี้ อยู่ห่างจากลำน้ำมูลราวๆ 200 เมตร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ดินของ คุณอุ่นเรือน พลสงคราม หมู่บ้านหนองหัวคน ตำบลกระเบื้องนอก อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งคุณอุ่นเรือนได้เล่าให้ฟังว่า ยามน้ำมูลขึ้นสูงก็จะท่วมบริเวณป่าแห่งนี้ประมาณช่วงเข้าพรรษานับไปอีก 6 เดือน ส่วนพระเอกในเรื่องนี้ที่ไปพบต้นทะลอกต้นนี้เป็นคนแรกก็คือ เด็กหนุ่มเจ้าของฉายา บ้านสวน ตนุสรณ์ หรือ น้องเม่น สมาชิกกลุ่มขุนดงในเฟซบุ๊กที่ชอบหาเมล็ดไม้ไว้แจกจ่ายเพื่อนๆ สมาชิกในกลุ่ม มีอยู่วันหนึ่งไปหาไม้มาทำฟืนแล้วเจอต้นทะลอกออกลูกเต็มต้น

แต่ไม่รู้ว่าเป็นต้นอะไร ถามคนในพื้นที่เขาเรียกกันว่า กระเบาปัก ในที่สุดความได้กระจ่างว่าเป็นต้นทะลอก โดยนักวิชาการป่าไม้นาม มานพ ภู่พัฒน์ ผู้เขียนนั้นเมื่อทราบข่าวจากท่าน บ.ก.จักร อจินไตย หัวหน้าชมรมอนุรักษ์ไม้วงศ์ยาง ว่าเจอต้นทะลอกที่เมืองโคราช จึงรู้สึกยินดีปรีดาเป็นพิเศษ (เป็นสะใภ้แม่ย่า…ฮา…) จึงได้นัดแนะกับน้องเม่นว่า จะนั่งรถไฟไปหาจะไปดูให้เห็นกับตาว่าใช่ต้นทะลอกหรือไม่ ความคิดตอนนั้นถึงไม่ได้เห็นคนแรกก็ขอไปเห็นเป็นคนที่สอง ระหว่างที่ไปใจก็เต้นตุ้มๆ ต่อมๆ เหมือนกลอง นอนก็ไม่หลับ เมื่อถึงโคราชแล้วก็ไม่สนใจฟังว่าใครจะคุยอะไรกัน อยากไปให้ถึงเร็วๆ เหมือนมีเสียงเรียกเพื่อรอการไปเยือน

ทันใดที่ได้เหยียบผืนดินตรงนั้น ผู้เขียนก็เชื่อมั่นว่าสิ่งที่สงสัยนั้นเป็นจริงแน่นอน (ผู้เขียนรู้สึกพิเศษได้ด้วยการขนหัวลุก…ฮา…) และเมื่อได้เห็นต้นของทะลอกก็ยิ่งมั่นใจมากขึ้นไปอีก เพราะลำต้นมีชันหรือยางสีน้ำตาลใสๆ ติดอยู่ ซึ่งมันเป็นลักษณะสำคัญของไม้วงศ์ยาง ถึงแม้ลักษณะใบและผลจะละม้ายไปทางพวกมะพลับ หรือ ตะโก (Diospyros spp.) ก็ตาม อีกอย่างที่เพิ่มความมั่นใจก็คือ ผลที่ได้เก็บมาเมื่อผ่าดูก็ได้กลิ่นหอมอ่อนๆ ตามลักษณะของผลยางทั่วไป

เอาละ! มาดูความสำคัญของต้นทะลอกกันบ้าง ทะลอก เป็น 1 ใน 14 ของไม้วงศ์ยาง ในประเทศไทย พบ 10-13 ต้น และเป็น 1 ในไม้ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ทั่วโลกจะพบต้นทะลอกเฉพาะไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา ทะลอกเป็นไม้วงศ์ยาง ชื่ออาจไม่ค่อยจะคุ้นหูนัก เพราะไม่สูงยักษ์ปักหลั่นแบบไม้ยางอื่นๆ ดร. เต็ม สมิตินันท์ ได้ศึกษาไม้ชนิดนี้เอาไว้เป็นคนแรก โดยเก็บตัวอย่างพรรณไม้มาจากอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2523 ต่อมา ดร. ราชันย์ ภู่มา และ อาจารย์มานพ ผู้พัฒน์ ได้สำรวจเพิ่มเติม พบเพียงไม่กี่ต้นในแถบป่าดงฟ้าห่วน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งสภาพพื้นที่ที่ต้นทะลอกชอบเกิดนั้นคือ ป่าบุ่ง ป่าทาม (ป่าที่น้ำท่วมขังในระยะหนึ่งในช่วงฤดูน้ำหลาก)

ทะลอก เป็นไม้ต้นสูงได้ถึง 25 เมตร มีขนละเอียดตามกิ่งอ่อน หูใบ ช่อดอก กลีบเลี้ยงด้านนอก ใบรูปขอบขนาน ยาว 6-13 เซนติเมตร เส้นแขนงใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว 0.7-1.2 เซนติเมตร ช่อดอกยาว 4-9 เซนติเมตร ตาดอกรูปใบหอก ยาว 1-1.3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ขยายในผล กลีบดอกรูปใบหอก ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ 15 อัน เรียง 3 วง แกนอับเรณูเป็นติ่ง รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวกว่ารังไข่เล็กน้อย ผลรูปรีเกือบกลม ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายมีติ่งแหลม แตกเป็น 3 ซีก กลีบเลี้ยงหนา พับงอกลับ โคนแนบติดผล ยาว 1-1.2 เซนติเมตร ก้านผลยาวประมาณ 1 เซนติเมตร พบในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบกระจายห่างๆ ทางภาคตะวันออกที่อุบลราชธานี และภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่สระแก้ว ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ความสูง 100-200 เมตร (เต็ม, 2557) ชื่อพ้อง Diospyros addita H. R. Fletcher, Vatica thorelii Pierre

ไหนๆ ทะลอกต้นนี้มีถิ่นกำเนิดที่อีสาน ผู้เขียนก็ขอยกผญามาให้ฟังเพื่อให้อินไปกับบรรยากาศ ผญา หรือ ผะหยา เป็นคำกลอนหรือคำปรัชญาของคนไทยในภาคอีสานโบราณ ซึ่งภาษาสืบทอดมาจากภาษาของอาณาจักรล้านช้าง ปัจจุบันการเล่นผญายังหลงเหลือในหมอลำกลอนแบบอีสาน คำว่า ผญา มีความหมายในกลุ่มเดียวกับปัญญา และปรัชญา บางครั้งสามารถใช้แทนกัน ผญาป็นคำร้อยกรองที่คล้องจอง มีสัมผัสระหว่างข้อความไม่เข้มงวด และไม่มีฉันทลักษณ์กำหนดไว้อย่างชัดเจน แต่เวลาพูดจะมีการเน้นคำหนักเบาเพื่อให้ผู้ฟังมีความเพลิดเพลินและสามารถจดจำได้ง่าย เรื่องที่ถูกแต่งเป็นผญามีหลายเรื่อง เช่น คำสอนทางศาสนา เรื่องราวในชีวิตประจำวัน การเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว ธรรมเนียมประเพณี และการละเล่นของเด็ก เป็นต้น

“ต้นไม้หน่วยนักมักหักกิ่ง คนกำกึ้ดหยิ่งยิ่งหนักใจ ต้นไม้หน่วยหลายตายเพราะลูก คนดูถูกเพราะบ่มีผญาปัญญา…”ต้นไม้ตายเพราะมีผลดกเกิน คนที่ตระหนักทระนงในความคิดสูง มักกลัดกลุ้มหนักใจ ต้นไม้ตายเพราะออกผลล่อคนและสัตว์มาทำลาย คนถูกเขาปรามาสเพราะขาดปัญญา สรุปคือ อะไรที่เกินความพอดี มักจะแพ้ภัยตนเอง

ฟังผญาบทนี้แล้ว ผู้เขียนสะท้อนใจขออย่าให้มันจะเป็นลางร้ายเลยนะ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะไม่รอคอยให้ต้นไม้ต้นที่เหลือยืนต้นตายโดยไม่ทำอะไร ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะช่วยกันอนุรักษ์ต้นไม้ให้คงอยู่ ช่วยกันปลูกช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมดีๆ ให้แก่คนรุ่นหลัง ก่อนจบขอทิ้งท้ายไว้สักนิดว่า หากพวกเราเป็นนักกระจายพันธุ์เหมือนนก หนู และสัตว์อื่นๆ ช่วยกันนะช่วยนำเมล็ดพันธุ์ของทะลอกมาเพาะแล้วปลูกต่อไป เพราะมันจะเป็นวิธีที่จะดำรงสายพันธุ์ให้คงอยู่ต่อไปได้

ดูเพิ่มเติมได้ใน FB:กระพี้ พี้จั่น นางไม้แห่งลานสะแบงเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ขุยมะพร้าว ซังข้าวโพด เศษปุ๋ยคอก และเศษวัสดุอื่นๆ ทางการเกษตรที่หลงเหลือจากการใช้ประโยชน์ ส่วนมากมักถูกปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นขยะ เน่าเหม็นที่ไร้มูลค่า อีกทั้งยังสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมดังนั้น หากมีการนำเอาเศษวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์และเพิ่มมูลค่า คงจะดีไม่น้อย

ด้วยแนวคิดดังกล่าว ทำให้นายจำรัส เกตุมณี นายปัญญา ลาไธสง นายวิวัตร ศรีคำสุข นักศึกษาจากภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ช่วยกันคิดค้น เครื่องอัดขุยมะพร้าวด้วยระบบอัตโนมัติขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระและส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีเศษวัสดุเหลือใช้ ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า โดยผลงานดังกล่าวมีอาจารย์ชัยรัตน์ หงส์ทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ผลงานดังกล่าวได้รับการเปิดเผยโดยเจ้าของผลงานว่า เครื่องอัดขุยมะพร้าวอัตโนมัติควบคุมด้วยระบบ PLC จุดประสงค์ที่คิดสร้างเพราะต้องการสร้างมูลค่าเศษวัสดุที่เหลือทิ้งจากการเกษตร และลดขยะที่อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม โดยเครื่องอัดขุยมะพร้าวอัตโนมัติเครื่องนี้ จะขัดเศษขุยมะพร้าวใช้เป็นรูปทรงกระบอก เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายเช่น ใช้ทำเป็นแท่งเมล็ดพันธุ์พืช กล้าไม้และแท่งปุ๋ยสำหรับใส่ต้นไม้ ใช้เป็นแท่นเพาะเมล็ดโดยไม่ต้องใช้ถุงดำ เนื่องจากแท่งวัสดุที่อัดได้ มีความหนาแน่นพอที่จะไม่แตกออกจากกัน ทำให้รูปทรงกระบอกเหมือนถุงดำเพาะกล้าไม้ เป็นการลดปริมาณขยะที่ย่อยสลายยาก เช่น ถุงดำ และประหยัดต้นทุนในการซื้อถุงดำเพาะกล้าไม้อีกทางหนึ่ง

ในส่วนของเครื่องและการทำงาน เครื่องจะแยกการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นจุดลำเลียง สำหรับลำเลียงวัตถุดิบ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 24 โวลต์ ส่วนที่สอง เป็นชุดอัดแท่งขุยมะพร้าว สำหรับอัดแท่งขุยมะพร้าวขนาด 150x200x140 มิลลิเมตร เมื่อประกอบเข้าด้วยกันและทดสอบประสิทธิภาพการทำงานพบว่า เครื่องสามารถอัดแท่งวัตถุดิบมีอัตราเฉลี่ย 7.3 กรัม/1 คู่ ใช้เวลาเฉลี่ย 20 นาที

สำหรับการผลิตแท่งอัดขุยมะพร้าวของเครื่องอัดขุยมะพร้าวต่อการผสม 1 ครั้ง ใช้ปริมาณการผลิต 20 ชิ้น มีอัตราการผลิตแท่งอัดขุยมะพร้าว 360 แท่งต่อชั่วโมงทั้งนี้ ส่วนผสมสำหรับอัดขุยมะพร้าว ประกอบด้วย ขุยมะพร้าว 5 กิโลกรัม สารเหนียว 0.8 กิโลกรัม และน้ำดินเหนียว 6 กิโลกรัม ผสมส่วนผสมให้เข้ากัน แล้วเทลงใน Hopper ของถึงลำเลียง จากนั้นก็เดินเครื่องเพื่อป้อนลำเลียงวัตถุดิบลงชุดอัดแท่ง จากนั้นกระบอกสูบนิวเมตริกส์จะอัดวัตถุดิบให้เป็นแท่งขุยมะพร้าวและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

สภาพอากาศในระยะที่มีฝนฟ้าคะนองกระจายร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักเป็นบางแห่ง กรมวิชาการเกษตร แนะวิธีรับมือการระบาดของโรครากเน่าและโคนเน่า สามารถพบได้ในระยะที่ต้นทุเรียนแตกใบอ่อน โดยจะพบอาการที่ราก เริ่มแรกเห็นใบที่ปลายกิ่งมีสีซีดไม่เป็นมันเงา ใบเหี่ยวลู่ลง เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นใบจะเหลืองและหลุดร่วง หากขุดดูที่รากฝอยจะพบรากฝอยมีลักษณะเปลือกล่อน และเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาล กรณีที่โรครุนแรงอาการเน่าจะลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นทุเรียนโทรมและยืนต้นตาย

ส่วนอาการที่กิ่ง ลำต้น และโคนต้น ระยะแรกจะพบต้นทุเรียนมีใบเหลืองเป็นบางกิ่ง สามารถสังเกตเห็นรอยคล้ายคราบน้ำ บนผิวเปลือกของกิ่งหรือต้น ในช่วงเช้าที่มีอากาศชื้นอาจเห็นเป็นหยดของเหลวสีน้ำตาลแดงออกมาจากบริเวณแผล และจะค่อยๆ แห้งไปในช่วงที่มีแดดจัด ทำให้เห็นเป็นคราบ เมื่อใช้มีดถากบริเวณคราบนั้น จะพบเนื้อเยื่อเปลือกและเนื้อไม้เป็นแผลสีนํ้าตาล ถ้าแผลขยายใหญ่จะลุกลามจนรอบโคนต้น จะทำให้ต้นทุเรียนใบร่วงจนหมดต้นและยืนต้นแห้งตาย อาการที่ใบ ใบช้ำ ดำ มีรอยตายนึ่งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก และจะเกิดอาการไหม้แห้งคาต้นอย่างรวดเร็ว พบระบาดมากในช่วงฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน

สำหรับต้นทุเรียนที่เป็นโรครุนแรงมากหรือยืนต้นแห้งตาย ให้ขุดออกแล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นให้ใส่ปูนขาวและตากดินไว้ระยะหนึ่งแล้วปลูกใหม่ทดแทน หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้รากหรือลำต้นเกิดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายพืชได้ง่ายขึ้น และในแปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี หากมีน้ำท่วมขังให้รีบระบายน้ำออกทันที จากนั้น ให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงดินในแปลงปลูก และควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรเมื่อใช้กับต้นที่เป็นโรคทุกครั้งก่อนนำกลับมาใช้ใหม่

กรณีพบอาการของโรคบนกิ่งหรือที่โคนต้น ให้เกษตรกรถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก จากนั้นทาแผลด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80-100 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-60 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง หรือใช้สารฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ใช้อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อต้น แล้วฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการโรค หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค

หากพบต้นที่ใบเริ่มมีสีซีด ไม่เป็นมันเงา หรือใบเหลืองหลุดร่วง ให้เกษตรกรใช้สารฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1 : 1 ใส่กระบอกฉีดยาฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการของโรค หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อต้น หรือราดดินด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้สลับกับสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร