กระทบลูกโซ่ประมง-ท่องเที่ยวประธานสมาคมการประมงแห่งไทย

กล่าวว่า ปัจจุบันกิจการเรือประมงทั่วประเทศกำลังขาดแคลนแรงงานไม่ต่ำกว่า 74,000 คน หากรัฐบาลไม่รีบแก้ไข จะกระทบกันเป็นลูกโซ่ เช่น โรงงานแปรรูปอาหารทะเลก็จะไม่มีวัตถุดิบ ส่วนนักท่องเที่ยวที่ต้องการบริโภคอาหารทะเลจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เพราะอาหารทะเลขาดตลาด รวมทั้งโรงแรม รีสอร์ต ก็จะได้รับผลกระทบตามกันไปด้วย

“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ปูทะเลตัวใหญ่จากราคากิโลกรัมละไม่ถึง 1,000 บาท ได้ขยับราคาขึ้นเป็น 2,000 บาท ปูม้าจากราคา 100 บาท/กิโลกรัม ก็ขยับขึ้นเป็น 200-300 บาท แม้แต่ปูเป็นที่เคยขาย 200-300 บาท/กิโลกรัม แต่ขณะนี้ได้ขยับราคาขึ้นเป็น 600-800 บาท/กิโลกรัม แล้ว หากไม่แก้ไขปัญหานี้ คนไทยก็จะต้องกินอาหารทะเลที่มีราคาสูงมาก ทั้งที่เราเป็นประเทศที่สามารถจับปลาได้เอง” นายมงคล กล่าว
แม่ค้าปลาสดรายหนึ่งในตลาดสดชุมพรกล่าวว่า ราคาอาหารทะเลในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เนื่องจากเรือประมงมีปัญหาทั้งเรื่องขาดแคลนแรงงานและเข้าสู่ฤดูมรสุม ไม่สามารถออกเรือทำประมงได้ตามปกติ

ด้าน นายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า โดยภาพรวมราคากุ้งขยับขึ้น 5-10 บาท/กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับขนาด เช่น กุ้งขนาด 60 ตัว/กิโลกรัม ราคาประมาณ 200 บาท ส่วนสัตว์น้ำทะเลอื่นๆ มีปริมาณน้อยมาก เนื่องจากเรือประมงไม่สามารถออกจับสัตว์น้ำได้ ราคาจึงขยับสูงขึ้น
นายโอฬาร อุยะกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องสยาม จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำประสบปัญหาขาดแคลนสัตว์น้ำมาประมาณ 2-3 เดือนแล้ว ปัจจัยหลักคือเป็นช่วงมรสุมและการทำตามกฎไอยูยู ทำให้เรือประมงเหลือน้อย และออกจับสัตว์น้ำได้น้อย ขณะนี้จึงต้องมีการนำเข้าสัตว์น้ำเพื่อผลิตสินค้าให้ทันออเดอร์ส่งออกในช่วงปลายปีนี้

ปลาทูไทยแท้ๆ หายากมาก
นางประชุม อยู่ประเสริฐ เจ้าของร้านเจ๊ชุม จำหน่ายปลาทูนึ่งที่ตลาดสดเทศบาลสมุทรสงคราม (ตลาดแม่กลอง) จังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า ขณะนี้ไม่มีปลาทูไทยออกสู่ตลาด ถ้ามีก็เป็นปลาทูขนาดเล็กมากและมีจำนวนน้อย แม่ค้าส่วนใหญ่จึงต้องไปรับซื้อปลาทูนำเข้าจากห้องเย็น โดยนำเข้าจากมาเลเซีย ซึ่งเป็นปลาทูตัวสั้น ส่วนปลาทูอินเดียและปากีสถานตัวใหญ่กว่า ขณะที่ปลาทูจากอินโดนีเซียไม่ได้นำเข้ามาแล้ว เพราะห้ามเรือไทยเข้าไปจับ

สำหรับราคาที่ซื้อจากห้องเย็นกล่องละ 10 กิโลกรัม (กก.) หากเป็นปลาทูตัวเล็ก เกรดไม่ค่อยดี หรือที่เรียกว่าปลาทูแมว ราคา 700 บาท/กล่อง หากเกรดดีขึ้นมา ราคาตั้งแต่ 800-1,000 บาทขึ้นไป/กล่อง ซึ่งถือว่าราคาแพงขึ้น เพราะเดิมราคาเพียงกล่องละ 700 บาท ทั้งนี้จะนำมาจำหน่ายกล่องละ 6-7 ตัว ราคา 100 บาท ส่วนปลาทูที่เนื้อไม่ดีนัก แม่ค้าบางรายจะนำมาแกะเนื้อชั่งกิโลขาย รวมถึงมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อไปจำหน่ายต่อในราคา 6-7 ตัว/กล่อง ราคา 120-130 บาท ในอนาคตราคาปลาทูอาจจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และปลาทูไทยอาจจะมีน้อยจนแทบไม่มี เพราะไม่มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

แห่พึ่งนำเข้า-ดันราคาปลาพุ่ง
นายอาคม เครือวัลย์ ประธานชมรมแปรรูปอาหารทะเล จังหวัดสมุทรสาคร และเจ้าของกิจการแปรรูปอาหารทะเล บริษัท นงค์ ก. จำกัด เปิดเผยว่า จากนโยบายจัดระเบียบเรือประมงจนถึงขณะนี้ส่งผลให้เรือประมงไทยไม่สามารถออกจับปลาได้ โรงงานต่างๆ ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ราคาอาหารทะเลก็ต้องปรับตัวสูงขึ้นตาม เช่น ปลาหมึกนำเข้าจากประเทศเปรู อาร์เจนตินา ปากีสถาน และอินโดนีเซีย โดยราคาสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 20 บาท เป็น 100 กว่าบาท ขณะที่หมึกแห้งก็ต้องนำเข้าจากประเทศเวียดนาม กัมพูชา

ตอนนี้ยังมีปลาอีกหลายชนิดหายไปจากตลาด เพราะกฎระเบียบเข้มงวดจนไม่สามารถทำการประมงได้ เช่น ปลาสำลีต้องนำเข้าจากมะริด เมียนมา ราคาก็แพงขึ้น เกือบจะถึง 300 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ปลาแปะเชีย หรือจะระเม็ดขาว 700-800 บาท/กิโลกรัม จากเดิมไม่ถึง 200 บาท/กิโลกรัม ส่วนปลากะพงเป็นปลาเลี้ยงจะไม่กระทบเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นกะพงจากทะเลจากเดิมกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท เป็น 200 กว่าบาท ราคาไต่ขึ้นไม่มีลง แต่ปลาเลี้ยงก็ยืนราคาเดิม 120-160 บาท/กิโลกรัม

“แม้แต่กะปิเวลานี้บ้านเราแทบไม่มีกิน ต้องซื้อกะปิกัมพูชาเข้ามาผสม ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไปอาหารทะเลก็จะราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเราต้องนำเข้า ยิ่งเขารู้ว่าเราไม่มีปัญญาทำกิน ก็ยิ่งโก่งราคาเราไม่มีที่สิ้นสุด เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ประเทศที่เคยทำประมงอันดับ 1 ของโลก ต้องมานำเข้าหมดทุกอย่าง ทางออกมืดมนไปหมด”

นายอาคม กล่าวอีกว่า ปลาที่หายไปจากทะเลไทยแล้ว คือ ปลาทู เนื่องจากการบริหารของภาครัฐที่อนุญาตให้เรืออวนลอยอวนจม และอวนลากคู่สามารถทำได้ ทำให้จับปลาใหญ่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปหมด ปลาเล็กไม่มีโอกาสได้เกิด ตอนนี้ตั้งแต่สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี หัวหิน หรือตลาดมหาชัยไม่มีปลาทูสดวางขาย ส่วนที่วางขายนั้นเป็นปลานำเข้าทั้งหมด
กุ้งทะเลราคา 500-600 บาท/กิโลกรัม

นายชุมพล ยศวิปาน นายกสมาคมพื้นบ้านคลองวาฬ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันปลาเศรษฐกิจอย่างปลาทูแทบจะไม่มีให้เห็นในทะเลไทย ปัจจุบันปลาทูตัวใหญ่ราคาไม่ต่ำกว่า 150 บาท/กิโลกรัม ส่วนในท้องตลาดจะสั่งซื้อจากอินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม ราคาอยู่ที่ 120 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นปลาคนละสายพันธุ์กับปลาทู ลักษณะจะคล้ายปลาลัง ส่วนปลาหมึกตัวใหญ่ที่ซื้อตรงจากเรือ ราคา 160-170 บาท/กิโลกรัม แต่ถ้าแม่ค้ารับไปขายต่อน่าจะอยู่ที่ 200-250 บาท/กิโลกรัม

ขณะที่ปูม้าราคา 300 กว่าบาท/กิโลกรัม กุ้งราคา 500-600 บาท/กิโลกรัม คนจนรากหญ้าไม่สามารถซื้อได้ เพราะราคาอาหารทะเลสูงขึ้นเรื่อยๆ
นายสุพร โต๊ะเส็น นายกสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ช่วงนี้ชาวประมงชายฝั่งหาปลาลำบากขึ้น เพราะสัตว์น้ำไม่เข้าตามฤดูกาล เช่น ปลากุเลาที่เริ่มหาได้ยากขึ้น แต่ที่เริ่มหายไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ ปลาทูและปลาลัง ส่วนปลาทั่วไปก็มีราคาสูงขึ้น
ปลาตรังขาดตลาดแต่ขึ้นราคาไม่ได้

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดตรัง สำรวจบรรยากาศการขายปลาในตลาดสดเทศบาลนครตรัง และตลาดชุมชนทั่วไป พบว่าแผงขายปลาหลายแห่งมีปริมาณปลาน้อยมาก ส่วนใหญ่จะมีปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาทู ปลาหลังเขียว ปลาสีเสียด ปลาสากขนาดเล็ก เป็นต้น ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าต่างบอกว่าปลามีน้อย เพราะเรือออกจากฝั่งไปหาปลาไม่ได้ และส่วนใหญ่บอกว่าราคาปลายังปกติ ไม่มีการปรับขึ้น
ขณะที่ในห้างโรบินสัน แม็คโคร เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ก็มีปริมาณปลาไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นปลาน้ำจืดที่สั่งเข้ามาจากภาคกลาง เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน ปลานวลจันทร์ ปลาจีน โดยเฉพาะปลาสวายจะขายดีที่สุด เนื่องจากเชื่อว่ามีสารโอเมก้าสูงกว่าปลาแซลมอน ทำให้ผู้คนนิยมไปซื้อมารับประทานกันเพิ่มมากขึ้นจนขาดตลาด

นายปรารภ ชูแสง พ่อค้าปลาในตลาดบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองตรัง เปิดเผยว่า ช่วงนี้ปลามักจะขาดตลาดบ่อย เนื่องจากเกิดพายุฝน เรือออกจากฝั่งลำบาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนหงายหรือข้างขึ้นแทบจะไม่มีปลาขาย เพราะชาวประมงจับปลาไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่ราคาจะทรงตัว และมีบางชนิดที่ขึ้นบ้าง เช่น ปลาสากหรือปลาน้ำดอกไม้ จากปกติ 80-100 บาท/กิโลกรัม ก็จะขยับสูงขึ้นเป็น 100-120 บาท
ขณะที่ปลาเล็กทั่วๆ ไป เช่น ปลาทู ราคาแทบไม่มีกำไร บางครั้งรับมากิโลกรัมละ 100 บาท ก็จะมาขายไม่เกิน 120 บาท หากขายราคาแพง ทางแม่ค้าก็จะขายไม่ได้ เพราะชาวบ้านรายได้น้อย เนื่องจากราคายางตกต่ำ และฝนตกต่อเนื่องยังไม่สามารถกรีดยางได้ จึงต้องขายในราคาปกติ ยังไม่มีการปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด

“ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่” เล็งเจรจาดิวโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่น 1-2 โครงการปีนี้ ล่าสุด EXIM Bank ปล่อยกู้ 2,257.50 ล. ลุยชีวมวล 3 โรง 22.2 MW พร้อมโชว์งบฯ ครึ่งปี 2560 กำไรสุทธิ 224.74 ล้าน บ.

ดร. แคทลีน มาลีนนท์ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เปิดเผยว่า ผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2560 บริษัทมีกำไรสุทธิ 224.74 ล้านบาท โดยที่กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการเพิ่มขึ้นในส่วนของโครงการใหม่ๆ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีโรงไฟฟ้าที่สร้างแล้วเสร็จ รวม 4 โรง นอกจากนี้ บริษัทยังรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ ขนาด 1 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ปัจจุบัน บริษัทมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งในประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้น 37 โครงการ กำลังการผลิตเสนอขายรวม 298.42 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นในประเทศ 29 โครงการ กำลังการผลิตเสนอขาย 121.7 เมกะวัตต์ และประเทศญี่ปุ่น จำนวน 8 โครงการ กำลังการผลิตเสนอขายจำนวน 176.72 เมกะวัตต์
โดยช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ บริษัทมีกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น อีกประมาณ 3.24 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนที่จะเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น เพิ่มเติมอีกจำนวน 1-2 โครงการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาและศึกษาโครงการ คาดว่าจะสามารถเห็นความชัดเจนได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยก่อนหน้านี้ บริษัทได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 154.98 เมกะวัตต์

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 โครงการ รวม 22.2 เมกะวัตต์ ล่าสุดบริษัท ออสการ์ เซฟ เดอะ เวิลด์ จำกัด (OSCAR) และบริษัท บางสวรรค์ กรีน จำกัด ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank วงเงิน 2,257.50 ล้านบาท สำหรับลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลโดยบริษัท ออสการ์ เซฟ เดอะ เวิลด์ จำกัด (OSCAR) 2 โครงการ กำลังการผลิตเสนอขายโครงการละ 8.8 เมกะวัตต์ รวม 17.6 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แล้ว โดยโรงไฟฟ้า OSCAR 1 จะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2561และโรงไฟฟ้า OSCAR 2 เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 1 โครงการ จะดำเนินการโดยบริษัท บางสวรรค์ กรีน จำกัด (BSW) กำลังการผลิตเสนอขาย 4.6 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะ COD ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560

เลิกเก็บงานวิจัยสมุนไพรไว้บนหิ้ง สวก.จับมือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และองค์การเภสัชกรรมบูรณาการผลิตสมุนไพร ออกจำหน่ายในเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 10 รายการ หลัง ครม.หนุนแผนพัฒนาสมุนไพรแห่งชาติเต็มที่ คาด 5 ปีข้างหน้ามูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าเท่าตัว

จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้วงการสมุนไพรไทยตื่นตัวมากขึ้น ถือว่าเป็นการส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรทั้งระบบอย่างยั่งยืนให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยไทยมีความได้เปรียบในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถผลิตวัตถุดิบสมุนไพรได้หลากหลายชนิด มีแหล่งผลิตกระจายอยู่ทั่วประเทศ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรของไทยจึงมีโอกาสก้าวขึ้นสู่เวทีโลกได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ผลงานวิจัยของไทยรวมทั้งสมุนไพรของไทย มักวิจัยแล้วเก็บไว้เป็นส่วนใหญ่ ไม่มีการนำไปต่อยอดพัฒนาเชิงพาณิชย์เท่าที่ควร

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุด สวก.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร และผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อบูรณาการ

การทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรให้ครบวงจร ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลให้สามารถต่อยอดผลงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการกับภาคเอกชน คาดว่ามูลค่าสมุนไพรของไทยจะเพิ่มอีกเท่าตัว ใน 5 ปีข้างหน้าจากปัจจุบันประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท

ความร่วมมือนี้ จะก่อให้เกิดโครงการวิจัยนำร่องเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 10 รายการ ที่ครอบคลุมการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยมีเป้าหมายในระยะเวลา 5 ปี ไทยจะเป็นประเทศส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน ขณะนี้ยาบางส่วนไม่ต้องทำวิจัย บางอย่างก็ขึ้นบัญชียาหลักของชาติไปแล้ว ช่วงนี้เรื่องสมุนไพรนายกรัฐมนตรีผลักดันเต็มที่ ผลงานวิจัยบางส่วนเสร็จแล้ว 5 รายการ อยู่ในระหว่างการขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) เช่น ยาหอมเบอร์ 20 ทำให้หลับสบาย ยาแก้ปวดหลัง ยาแก้โรคสะเก็ดเงินของโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ยาขมิ้นชัน สำหรับผู้ที่ขาดเหล็กหรือผู้เป็นโรคธาลัสซีเมีย กำลังขึ้นทะเบียนกับ อย.อยู่ สมุนไพรห้ารากแก้ตัวร้อน เป็นต้น เรื่องการทดสอบตัวยา ทางศิริราชจะรับไปดำเนินการ องค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้ผลิตตัวยาให้เพราะมี GMP บางส่วนศิริราชจะนำไปผลิตเป็นเม็ดเอง เพราะมีโรงงานผลิตยา

“ยาสมุนไพรมีการทดสอบกับคนไข้เป็นพันคน แต่บางทีแพทย์ที่ไม่ได้ทดสอบยาไม่กล้าสั่งจ่ายยาหรือออกนโยบายให้โรงพยาบาลจัดซื้อ หากโรงพยาบาลของรัฐมาซื้อ ก็จะไปได้ จะว่าไปแล้ว สมุนไพรเราก็ใช้มาเป็น 100 ปีแล้ว”

กรมศุลฯ ติวเข้มผู้ประกอบการต่างชาติ รับ กม.ใหม่บังคับใช้ 13 พ.ย. 60 เร่งกฎหมายลูก เปิดฟังความเห็น สั่งตั้งทีมตรวจปล่อยสินค้าเสี่ยงด่าน “แหลมฉบัง-สุวรรณภูมิ” เดือนธันวาคมนี้ ครม.ไฟเขียวภาษีสรรพสามิตใหม่ยกแผง ไม่รวม “น้ำเมา-ยาสูบ-ไพ่”

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากรกล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายศุลกากรฉบับใหม่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ ทางกรมศุลฯ จึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเมื่อ 22 สิงหาคม 2560 ได้จัดงาน “ศุลกากรพบภาคธุรกิจต่างประเทศ” เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อความสะดวกทางการค้ามากขึ้น

“กฎหมายใหม่จะเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง โดยจะนำระบบไอทีเข้ามาใช้มากขึ้น เพื่อลดอุปสรรคการทำธุรกิจให้ได้มากที่สุด เราจะออกกฎหมายลูก ซึ่งเฉพาะส่วนที่เป็นอำนาจอธิบดีก็มีเป็น 100 มาตราแล้ว เช่น การอำนวยความสะดวกการค้าเสรี เขตปลอดอากรที่ไม่ต้องขออนุญาต การลดเวลาสินค้าผ่านแดนให้ต้องออกไปประเทศที่ 3 ภายใน 30 วัน จากเดิมที่มากองอยู่ที่ชายแดนเป็นเวลานาน ส่วนเรื่องสินบนรางวัลนำจับก็จะลดลงเหลือ 20% จาก 55% โดยมีเพดานไม่เกิน 5 ล้านบาท ตอนนี้กฎหมายลูกทำได้ 80% แล้ว ในเดือนกันยายนนี้ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกที”

สำหรับในปีงบประมาณ 2561 กรมศุลฯ ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าแบบเป็นทีม โดยเฉพาะสินค้าที่มีความเสี่ยง อาทิ เหล็ก พลาสติก รถยนต์ สินค้าไอที สินค้าเกษตร เครื่องจักร อาหารเสริม วิตามิน เป็นต้น ซึ่งจะเริ่มจากท่าเรือแหลมฉบัง และสนามบินสุวรรณภูมิ ภายในเดือนธันวาคมปีนี้ และจะขยายไปท่าเรือกรุงเทพในระยะต่อไป

“ถ้าเป็นตู้สินค้าที่มีความเสี่ยง poipetsix.co.uk หรือมีประวัตินำสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์-ทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามา เราก็จะใช้ทีมตรวจให้รอบคอบมากขึ้น โดยทีมจะมีเจ้าหน้าที่จากหลายส่วน จากเดิมมีเฉพาะส่วนบริการคนเดียวก็ตรวจปล่อยได้ รวมถึงจะมีเจ้าหน้าที่สำนักปราบปรามเป็นทีมพิเศษเข้าไปตรวจสอบหลังปล่อยของแล้วด้วย” นายกุลิศ กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบกฎหมายลูกที่ออกภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยรายละเอียดจะมีการปรับปรุงอัตราจัดเก็บภาษีสรรพสามิตทุกชนิดสินค้า แต่จะยกเว้นประเภทสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบและไพ่ ที่ยังไม่ได้เสนอ ครม. ในคราวนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการกักตุนสินค้า เพราะกว่าอัตราใหม่จะมีผลบังคับใช้จริง ต้องรอวันที่ 16 กันยายน 2560

สำหรับการปรับปรุงอัตราภาษีสรรพสามิตรอบนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับการที่เปลี่ยนไปใช้ฐานภาษี “ราคาขายปลีกแนะนำ” จึงยืนยันว่าจะไม่เป็นการเพิ่มภาระผู้ประกอบการในช่วงนี้ ทั้งนี้ นอกจากจะปรับอัตราภาษีของสินค้าสรรพสามิตที่มีอยู่เดิม อาทิ รถยนต์ น้ำมัน เป็นต้น ก็ยังมีการเพิ่มประเภทการจัดเก็บอย่างกรณีภาษีความหวานที่เก็บจากเครื่องดื่ม ภาษีชา-กาแฟ เป็นต้น

“ปรับภาษีรอบนี้ไม่ได้หวังรายได้ เพราะปีงบประมาณ 2560 คาดว่าจะเก็บรายได้เกินเป้ากว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยน่าจะเก็บได้ 5.56-5.58 แสนล้านบาท จากเป้าหมาย 5.49 แสนล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2561 มีเป้าหมายเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท”

“อุตตม” วางโมเดลภาคอีสานปั้น “ฟู้ดวัลเลย์-เขตส่งเสริมไบโอชีวภาพ” หนุนตั้งนิคมใหม่ 3 จังหวัด “อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร” นำร่อง “เกษตรแปรรูป” พร้อมจูงใจนักลงทุน ปักธงอีสานใช้อุตสาหกรรมเป็นตัวกำหนดสิทธิประโยชน์การลงทุน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามแผนการพัฒนาประเทศของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเป้าหมายการพัฒนา เพื่อให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมด้านการเกษตร ดังนั้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่โดยกำหนดให้ 1 จังหวัดของภาคอีสานจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอาหารในรูปแบบของ “ฟู้ดวัลเลย์” และอีก 1 จังหวัดจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพในรูปแบบของ “เขตส่งเสริมไบโอชีวภาพ”

ขณะเดียวกันกำหนดให้อีก 3 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม โดยให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่วางรูปแบบโครงสร้างนิคมอุตสาหกรรมให้ชัดเจน เช่น การแบ่งโซนเพื่อเช่าหรือขายสำหรับสร้างโรงงาน SMEs ลานประชารัฐให้เป็นพื้นที่กิจกรรมแสดงสินค้าท้องถิ่น ห้องปฏิบัติการด้านการทดสอบ โดยให้เอกชนสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์เพื่อช่วยการพัฒนาสินค้า กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้รายเล็กโรงกำจัดขยะอุตสาหกรรม และนิคมทุกแห่งจะต้องเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

“รัฐบาลมีแผนตั้งนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง เพื่อดึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) มาลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมไอโบชีวภาพ เพราะ 3 พื้นที่เคยทำการศึกษาไว้แล้ว และมีเอกชนเสนอโครงการเข้ามา และมีวัตถุดิบป้อนให้อุตสาหกรรมได้ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง โดย จ.มุกดาหารและหนองคายกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) อยู่แล้ว จึงง่ายที่จะสานต่อ ขณะที่อุดรธานีมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจสูง ทั้งหมดเราเปิดทางให้นักลงทุนทำจะร่วมกับ กนอ. หรือ กนอ. ลงทุนทำเองก็ได้ หลังจากนี้จะเริ่มศึกษาว่าควรเป็นรูปแบบใดเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมในอีก 1-2 ปีนี้”