กระทรวงวิทย์แต่งตั้ง “ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต” ดำรงตำแหน่ง

ผู้ว่าการ วว. คนใหม่โชว์วิสัยทัศน์มุ่งเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จ ผู้ประกอบการ SMEs OTOP ประชาชน ด้วย วทน.

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยคำแนะนำของ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เห็นชอบแต่งตั้ง “ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต” รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม เป็น ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) คนปัจจุบัน พร้อมขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรรม มุ่งให้ วว. เป็นหุ้นส่วนความสำเร็จ ให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs OTOP และประชาชน โดยยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) เป็นเครื่องมือในการบริหารการดำเนินงานขององค์กร

ทั้งนี้ ประวัติ ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิตวัสดุศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโท (Ceramics Sci. & Engineering), Rutgers University, USA. และระดับปริญญาเอก (Ceramics Sci. & Engineering), Rutgers University, USA. ดร. ชุติมา ได้ดำรงตำแหน่งใน วว. ตั้งแต่เป็นนักวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการaบริหาร ดูแลงานในสายสนับสนุนต่างๆ ตั้งแต่งานบริหารบุคลากร งานบริหารความเสี่ยง งานพัฒนาองค์กร งานการเงินและการบัญชี และพัสดุ การรณรงค์ ค่านิยม เป็นต้น ล่าสุดดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการ นวัตกรรม ดูแลด้านยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรมขององค์กร ดูแลงานยุทธศาสตร์วิสาหกิจ งานจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมขององค์กร

ดร. ชุติมา มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ เซรามิก เพียโซอิเล็กทริก อัลตราโซนิกส์ ซึ่งเป็น พื้นฐานที่สำคัญในวงการอุตสาหกรรม นอกจากนั้น ยังมีความรู้ที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารงานวิจัย งบประมาณ การบริหารความเสี่ยงองค์กร การบริหารการเงินการคลัง การบริหารยุทธศาสตร์ จากไทยแลนด์ 4.0 สู่ TISTR 4.0 ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการบริหารองค์กรตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ยั่งยืน

นอกจากนั้น ดร. ชุติมา ยังผ่านการฝึกอบรมจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ รุ่น 56) วิทยาลัยการป้องกันประเทศ ประกาศนียบัตรขั้นสูง กฎหมายและกฎหมายมหาชน สถาบันพระปกเกล้า (ปรม.รุ่นที่ 11) 2556 ประกาศนียบัตรขั้นสูงนักการบริหารงบประมาณ (นงส. รุ่นที่ 1) สำนักงบประมาณ 2558 ประกาศนียบัตร การบริหารความเสี่ยงองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2557 ประกาศนียบัตรการบริหารการเงินการคลังระดับสูง รุ่นที่ 3 กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ปี 2559 ประกาศนียบัตรหลักสูตรสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture) สำนักงานรัฐบาลอิเล็คทรอนิกส์ ปี 2559 ประกาศนียบัตรหลักสูตร Leadership succession Program รุ่นที่ 8 จัดโดย IRDP ปี 2560 และหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง รุ่นที่ 9 สำนักงานป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ปี 2561

ในก้าวย่างสำคัญซึ่ง ดร. ชุติมา ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ วว. หน่วยงานวิจัยระดับชาติของประเทศไทยนั้นมีทิศทางการขับเคลื่อนภารกิจ วว. เพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 โดยมุ่งให้ วว. เป็นหุ้นส่วนความสำเร็จ ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs OTOP และประชาชน ด้วยการใช้ วทน. โดยยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) เป็นเครื่องมือในการบริหารการดำเนินงานขององค์กร

“ในฐานะที่ วว. เป็นองค์กรวิจัยพัฒนา ทิศทางการขับเคลื่อนขององค์กร มุ่งสร้างให้ วว. เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยพัฒนาที่มีผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเร่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการทำงานให้ร่วมกันสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงบูรณาการ โดยอยู่บนฐานของทรัพยากรชีวภาพ (Bio-based) เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ตอบสนองการขับเคลื่อนประเทศและเศรษฐกิจฐานราก ชุมชน และประชาชนเชิงพื้นที่ (Area based) สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำ” ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าว

ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุปว่า ตลอดช่วงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง 4 ปี นั้น การดำเนินงานของ วว.จะมุ่งนโยบายให้ความสำคัญในการใช้องค์ความรู้ วทน. เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ซึ่งขับเคลื่อนโดยการนำความเชี่ยวชาญและโครงสร้างพื้นฐาน วทน. ไปสร้างประโยชน์อย่างครบวงจร (Total Solution Provider) พัฒนาเทคโนโลยีที่สนองตามบริบทของผู้ใช้ประโยชน์ (Appropriate technology) และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนเชิงพื้นที่ (Area based) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ ดร. ชุติมา ยังได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานของ วว. ในการเป็นองค์กรที่เติบโต เปี่ยมด้วยศักยภาพ และพร้อมรับพลวัตรการเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ผลงานเพื่อให้เกิดสังคม นวัตกรรมที่ยั่งยืน ผ่านการบูรณาการประสานพลังให้เกิดขึ้นกับบุคลากรและเครือข่ายพันธมิตร เพื่อ ให้เกิดผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ ชัดเจน และรวดเร็ว

คุณพรทิวา ตนะพงษ์ (คนที่ 2 นับจากซ้ายมือ) รองกรรมการผู้จัดการ ด้านการค้าต่างประเทศ และคณะผู้บริหาร บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด มอบข้าวตราฉัตรไลท์ กข 43, ขนมข้าวหอมมะลิอบกรอบ “ริโอ้“ และก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูปตรา Cook en’joy ให้กับ นาวาเอกหญิง อุบลวรรณ รุดดิษฐ์ (คนที่ 3 นับจากขวามือ) นายกสมาคมภริยาทหารเรือ เพื่อเป็นรางวัลแจกให้กับผู้ร่วมสนุกงานกาชาด ประจำปี 2561 ฉลอง 125 ปี สภากาชาดไทย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม ที่สวนลุมพินี

นับเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่ คุณทินกร ศิริสมบัติ ชายวัย 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 9/1 หมู่ที่ 2 ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนอาชีพจากที่ทำอาชีพรับจ้างทั่วไปมาเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และสามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จ โดยได้รับคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2554 ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

สำหรับเกษตรกรคนเก่งผู้นี้ ได้เริ่มมาเลี้ยงโคนมเมื่อปี พ.ศ. 2545 ซึ่งได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ประกอบกับพื้นที่ใกล้เคียงมีเกษตรกรเลี้ยงโคนมเป็นตัวอย่างอยู่ก่อนแล้ว และมีสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์คห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด ซึ่งเป็นแหล่งรับซื้อน้ำนมดิบที่มั่นคง

“ด้วยเห็นว่าอาชีพการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพพระราชทานฯ จึงนำเงินออมที่เก็บไว้ไปซื้อที่ดิน จำนวน 1 ไร่ และกู้เงินจากกองทุนหมู่บ้านเพื่อซื้อลูกโคนมเพศเมีย จำนวน 1 ตัว” คุณลุงทินกร กล่าว

จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงโคนมนั้น คุณลุงทินกรบอกว่า ได้เลี้ยงด้วยวิธีการง่ายๆ ตามความรู้ที่มี โดยการผูกล่ามไว้ข้างบ้านและเกี่ยวหญ้าจากพื้นที่สาธารณะมาเลี้ยงโค ต่อมาเมื่อมีความชำนาญมากขึ้น ได้นำเงินออมจากการรับจ้างมาซื้อแม่โคเพิ่มอีก จำนวน 4 ตัว รวมมีโคนม 5 ตัว

ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ได้สมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์คห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด และเข้ารับอบรมการเลี้ยงโคนม รวมทั้งได้เบอร์สมาชิก เพื่อจัดส่งน้ำนมให้สหกรณ์

จากนั้นคุณลุงทินกรได้พัฒนาวิธีการเลี้ยงโคนมให้ดียิ่งขึ้นโดยเพิ่มแม่โคนมเป็น 9 ตัว มีผลผลิตน้ำนมเฉลี่ยถึง 9 กิโลกรัม/ตัว/วัน

ในช่วงระยะเวลาการประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนมมานั้น มีหลายครั้งที่เขาต้องประสบปัญหาส่งผลกระทบกับการประกอบอาชีพ เช่น การเกิดภาวะวิกฤติเนื่องจากปัญหาน้ำนมล้นตลาด ราคาตกต่ำ รายได้ไม่คุ้มทุน แต่คุณลุงทินกรก็ยังคงมุ่งมั่นเลี้ยงโคนม

“เพราะมีความเชื่อมั่นว่าเป็นอาชีพพระราชทานฯ” คุณลุงทินกร กล่าว

พร้อมกันนี้ ด้วยเห็นว่าสถานการณ์โคนมคงจะมีแนวโน้มดีขึ้น ตามกลไกตลาด จึงได้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสโดยการรับซื้อโคนมจากเพื่อนเกษตรกรที่ขายให้ในราคาต่ำอีกจำนวน 16 ตัว รวมมีโคนม 25 ตัว

จากที่ได้ทุ่มเทให้กับการประกอบอาชีพมาหลายปี พร้อมกับได้สร้างสมประสบการณ์การเลี้ยง คุณลุงทินกรจึงมีการพัฒนาการเลี้ยงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการภายในฟาร์ม

คุณลุงทินกรได้เน้นการเลี้ยงโดยใช้อาหารหยาบคุณภาพเพื่อลดต้นทุน รวมทั้งเช่าพื้นที่เพื่อปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงโคนม หญ้าที่ปลูก คือ รูซี่ กินนีสีม่วง เพื่อเป็นแหล่งอาหารหยาบคุณภาพดีสำหรับโคนม รวมแปลงหญ้า 24 ไร่ ต่อมาได้ซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อสร้างโรงเรือนสำหรับเลี้ยงโคนมเพิ่มเติม จัดการให้อาหารโดยเน้นหญ้าสดคุณภาพดีจากแปลงหญ้าที่ปลูกและเสริมด้วยกากสับปะรดและอาหารสำเร็จรูป

จากการเลี้ยงที่เจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่องจึงทำให้คุณลุงทินกรสามารถขยายจำนวนโคนมในฟาร์มได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2550 ได้ซื้อโคนมเพิ่ม รวมลูกโคที่เกิดขึ้นในฟาร์มเป็น 30 ตัว ให้ผลผลิตน้ำนมดิบ 200 กิโลกรัม/วัน อีกทั้งยังพัฒนาการเลี้ยงจนได้รับการรับรองให้เป็นฟาร์มมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นฟาร์มโคนมต้นแบบสาธิตของจังหวัดเพชรบุรี

จนในปี 2551 คุณลุงทินกรสามารถพัฒนาการเลี้ยงโคนมอย่างต่อเนื่อง ศึกษาด้วยตนเองจนมีผลผลิตน้ำนมในฟาร์มมากกว่า 380 กิโลกรัม/วัน และสามารถนำเงินที่ได้จากน้ำนมดิบมาสร้างบ้านของตนเอง

“ระเบิดฐานนม” เทคนิคทำให้ได้น้ำนมสูง

จากประสบการณ์การเลี้ยงโคนมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณลุงทินกรสามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จได้เป็นอย่างดีนั้น มีปัจจัยที่สำคัญคือ การที่เน้นการพัฒนาการเลี้ยงโคนมตามหลักวิชาการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องมาโดยตลอด

เคล็ดลับการเลี้ยงโคนมของคุณลุงทินกร ได้มีการปรับปรุงพันธุ์โคนมโดยใช้การผสมเทียม รวมทั้งมีการคัดเลือกแม่โคในฟาร์มโดยเน้นรูปร่างภายนอก เช่น ลักษณะโครงสร้างใหญ่ รูปทรงตรงตามลักษณะประจำสายพันธุ์ รูปทรงเป็นสามเหลี่ยม เส้นเลือดที่เต้านมใหญ่ เต้านมกว้างและระยะเต้านมห่าง คอเล็ก ผิวหนังบาง กีบสวย ซึ่งลักษณะที่กล่าวนั้น ถือเป็นลักษณะของโคนมที่แข็งแรงและให้น้ำนมดี

นอกจากนี้ ยังมีการนำสายพันธุ์บราวน์สวิสมาทดลองผสมเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ของโคนมภายในฟาร์มด้วย นอกจากเรื่องของสายพันธุ์แล้ว คุณลุงทินกรยังมุ่งเน้นการเลี้ยงด้วยอาหารหยาบและอาหารข้นคุณภาพดี

โดยในส่วนของอาหารหยาบนั้นเน้นการใช้หญ้าคุณภาพดี เช่น รูซี่ กินนีสีม่วง โดยจะตัดให้กินในระยะที่เหมาะสม อายุไม่เกิน 45 วัน และฟางแห้งในฤดูแล้ง

สำหรับอาหารข้นใช้การผสมจากวัตถุดิบและวัสดุเหลือใช้ราคาถูกที่มีในท้องถิ่นเป็นหลัก เน้นจัดสัดส่วนอาหารที่มีอาหารหยาบหมักและอาหารข้นร่วมด้วย อาทิ มันเส้น สับปะรดหมัก กากถั่วเหลือง กากเบียร์ กระถินป่น รำแป้ง วิตามิน แร่ธาตุรวมสำหรับโครีดนม

คุณลุงทินกรจะให้อาหารแก่แม่โคได้กินเต็มที่ตามต้องการ ก่อนรีดนม 15 นาที ตัวละไม่น้อยกว่า 8-9 กิโลกรัม/ครั้ง วันละ 2 ครั้ง และจัดหาอาหารแร่ธาตุก้อนให้โคได้เลียกินตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคในการจัดการเพื่อให้ได้น้ำนมสูง ที่เรียกว่า “การระเบิดฐานนม” ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกรรายอื่นๆ

โดยเทคนิคที่คุณลุงทินกรดำเนินการคือ การเน้นเพิ่มอาหารและยาบำรุงเป็นพิเศษสำหรับแม่โคหลังนมแห้ง 1 เดือน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับแม่โคก่อนและหลังคลอด อีกทั้งมีการจัดการฝูงโคนมที่จัดสัดส่วนแม่โคให้นมในสัดส่วนที่สูงกว่าแม่โคไม่ให้นม โดยมีสัดส่วนร้อยละ 60 ของแม่โคนมทั้งหมด

ในส่วนการป้องกันโรค คุณลุงทินกรจะเน้นการสุขาภิบาลและการทำวัคซีนเพื่อป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยปีละ 2 ครั้ง พร้อมกับการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาโรคบรูเซลโลซีส วัณโรคและพาราทูเบอร์คูโลซีส ปีละครั้ง ถ่ายพยาธิ 21 วัน/ครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีการฉีดยาบำรุงร่างกาย โดยดูจากสุขภาพและฉีดหลังคลอด 2 สัปดาห์

“ที่สำคัญอีกประการคือ การควบคุมปัญหาโรคเต้านมอักเสบโดยการรีดด้วยมือตาม หลังการรีดด้วยเครื่องทุกครั้ง เน้นความสะอาดในคอกรีดและอุปกรณ์รีดนม หลังรีดนม ให้แม่โคพักในคอกในระยะหนึ่งก่อนปล่อยเพื่อให้รูเต้านมปิดสนิทป้องกันเชื้อโรค” คุณลุงทินกร กล่าว

ในส่วนของการจัดการฟาร์ม คุณลุงทินกรได้พัฒนารูปแบบการจัดการฟาร์มจนได้รับรองให้เป็นฟาร์มมาตรฐานโคนม โดยมีลักษณะแยกโรงเรือนออกเป็นส่วนๆ คือ คอกรีดนม คอกพักโค คอกลูกโค คอกโครุ่น-โคสาว คอกโคสาวท้อง คอกโคพักท้อง ห้องเก็บอาหาร ห้องเก็บวัสดุ ที่เก็บยาเวชภัณฑ์ ที่เก็บอุปกรณ์รีดนม ที่เก็บมูลโค ที่เก็บฟาง/หญ้าเลี้ยงโค เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการและเพื่อความเหมาะสมต่อการดูแลป้องกันโรคภายในฟาร์ม

ขณะที่การตลาดนั้น คุณลุงทินกรได้เข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์คห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด โดยส่งน้ำนมให้สหกรณ์ วันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและบ่าย มีการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย มีปริมาณน้ำนมเฉลี่ยมากกว่า 21 กิโลกรัม/ตัว/วัน มีค่าไขมันนมเฉลี่ยร้อยละ 4 คุณภาพของน้ำนมอยู่ในระดับดีถึงดีมากตลอดปี

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเครือข่ายผู้เลี้ยงโคนม ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนและแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่มีปัญหา รวมทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่างๆ เป็นอย่างดีทั้งหมดนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางความสำเร็จในอาชีพของ คุณทินกร ศิริสมบัติ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ดีเด่น ประจำปี 2554

เพิ่มปริมาณน้ำนม ด้วยเทคนิคระเบิดฐานนม

ในการเลี้ยงโคนมของคุณลุงทินกรนั้น การพัฒนาระบบการจัดการฟาร์ม เพื่อให้โคนมสามารถให้ผลผลิตน้ำนมได้มากนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่คุณลุงทินกรได้กระทำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการนำวิชาการตามข้อแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมปศุสัตว์เข้ามาช่วย รวมถึงการคิดค้นพัฒนาเทคนิคการเลี้ยงของตนเองขึ้นมา

การระเบิดฐานนม เป็นหนึ่งในเทคนิคที่คุณลุงทินกรได้คิดค้นขึ้น และได้ปฏิบัติใช้ในฟาร์มจนประสบความสำเร็จ สามารถทำให้แม่โคมีปริมาณการให้น้ำนมต่อตัวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

“การเลี้ยงโคนมนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดีคือ ต้องมีการดูแลเอาใจแม่โคนมเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ การเลี้ยงโคนมของผมนั้น ผมจะถือหลักว่า ต้องเลี้ยงโคนมเหมือนกับการเลี้ยงลูกหลานในครอบครัวของเรา โคนมนั้นทุกตัวมีความสามารถในการให้น้ำนมสูงทั้งสิ้น โดยเราเลี้ยงโคนมตัวหนึ่ง จะสามารถรีดน้ำนมได้ไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 กิโลกรัม อย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ต้องมีการดูแลเอาใจใส่ ให้ทั้งอาหารและยาบำรุงอย่างเต็มที่” คุณลุงทินกร กล่าว

คุณลุงทินกร บอกว่า จุดเริ่มต้นของการใช้เทคนิคระเบิดฐานนมนั้น เกิดขึ้นจากวันหนึ่งได้ซื้อแม่โคนมท้อง 3 จากฟาร์มของเพื่อนเกษตรกรเข้ามาเลี้ยง แต่แม่โคกลับไม่ให้ปริมาณน้ำนมมากนัก จึงมาพิจารณาหาสาเหตุ

“ผมดูลักษณะโคนมแล้ว เป็นโคที่มีรูปทรงสวย มีลักษณะการให้นมดี แต่พอรีดนมจริงๆ กลับให้น้ำนมไม่ดี จึงมาพิจารณาหาสาเหตุ ก็พบว่า จากการเลี้ยงที่ผ่านมา แม่โคไม่ได้รับการให้อาหารที่ดี และไม่มีการบำรุงเลย ผมจึงนำมาปรับโปรแกรมการเลี้ยงใหม่ทั้งหมด มีทั้งการให้อาหารและฉีดยาบำรุงอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้น แม่โคก็ให้ปริมาณน้ำนมเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก โดยเพิ่มจากเดิมที่ให้น้ำนมเพียง 18 กิโลกรัม ต่อวัน เพิ่มขึ้นมาเป็น 32-40 กิโลกรัม เลยทีเดียว แต่กว่าจะสำเร็จได้ ผมก็ลองผิดลองถูกอยู่นานเหมือนกัน”

สำหรับเทคนิคการระเบิดฐานนมนั้น คุณลุงทินกรให้ข้อแนะนำว่า ปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ที่ต้องทำคือ การให้อาหาร และการฉีดยาบำรุง รวมถึงการถ่ายพยาธิ ซึ่งจะเริ่มทำตั้งแต่แม่โคตั้งท้องได้ประมาณ 7 เดือน โดยการให้อาหารนั้น จะดูจากสภาพโคเป็นหลักว่ามีลักษณะอ้วนหรือผอม จากนั้นจะให้อาหารกินอย่างเต็มที่ในช่วงแรก โดยอาหารที่ให้นั้นจะใช้สูตรอาหารที่คิดส่วนผสมขึ้นเอง โดยมีปลาป่น เปลือกสับปะรดหมัก กากเบียร์ แร่ธาตุ กินดิน รำ เป็นส่วนผสมหลัก โดยให้แม่โคกินเต็มที่ วันละ 5-7 กิโลกรัม นานประมาณ 2 เดือน ก่อนหยุดรีดนม

แต่เดือนสุดท้าย จะหยุดการให้อาหารข้น เปลี่ยนมาให้ฟางหรือเปลือกสับปะรดหมักเพียงอย่างเดียว เพื่อให้แม่โคนมแห้งมากที่สุด และต้องมีการรีดนมออกทุกวัน เพื่อป้องกันการเกิดการอักเสบของเต้านม ซึ่งตรงนี้เจ้าของโคต้องมีการตรวจเช็คดูแลตลอดว่า เต้านมของแม่โคมีการอักเสบ หรือเป็นฝีเกิดขึ้นหรือไม่ หากพบก็รีบให้ดำเนินการแก้ไข พอนมเหลือวันละ 6-7 กิโลกรัม ต่อวัน ก็จะหยุดการรีด ปล่อยให้เป็นโคดราย หลังจากแม่โคคลอดลูกแล้วประมาณ 3 เดือน ก็จะผสมพันธุ์รอบใหม่

“ส่วนเรื่องของยาบำรุง จะมีการฉีดยาให้กับแม่โคอย่างต่อเนื่อง ทุก 7-10 วัน ซึ่งอันนี้จะต้องดูจากสภาพโคเป็นหลัก ว่าอ้วนหรือผอม และหลังจากคลอดลูกแล้ว การฉีดยาบำรุงก็จะทำต่อเนื่อง โดยฉีดให้ทุก 7-15 วัน เช่นกัน รวมถึงการถ่ายพยาธิอย่างต่อเนื่องด้วย” คุณลุงทินกร กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้สนใจเทคนิคการระเบิดฐานนมของคุณลุงทินกรนั้น ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (081) 014-8283 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ จ.ตรัง นายเฉลิม ศรีสุข อายุ 65 ปี และ นางถนอมจิต ศรีสุข อายุ 61 ปี สองสามีภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 256 หมู่ที่ 3 ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งมีอาชีพทำสวนยางพารา ประสบปัญหาได้รับความเดือดร้อนอย่างมากหลังจากที่ราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จึงตัดสินใจโค่นต้นยางพาราอายุ 15 ปี ในพื้นที่กว่า 2 ไร่ ซึ่งเป็นยางเปิดกรีดมาประมาณ 8 ปี นำไม้ยางพาราส่วนหนึ่งไปขายหารายได้มาจุนเจือครอบครัว โดยเหลือตอไม้ยางพาราความสูงประมาณ 1.5 – 2 เมตร เพื่อทำเป็นค้างไว้ปลูกต้นเสาวรสที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ และเชื่อว่าผลผลิตจากเสาวรสจะสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้

นายเฉลิม กล่าวว่า ยางพาราช่วงนี้ไม่มีราคา จึงลองเปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่นบ้าง ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมียางพาราอยู่บนเนื้อที่ประมาณเกือบ 2 ไร่ จึงตัดสินใจโค่นต้นยางเพื่อทำเสา ค้างต้นเสาวรส ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมของตลาด อีกทั้งยางพาราไม่มีราคา จึงเปลี่ยนมาปลูกเสาวรสแทน ซึ่งได้ปลูกไว้ข้างบ้านส่วนหนึ่งเมื่อตอนลมพัดทำให้ค้างเสาวรสล้มลงเกือบทั้งหมด จะยกขึ้นก็ไม่ได้แล้วเพราะต่ำ ตนเองได้หันมาใช้พื้นที่ว่างปลูกต้นเสาวรสมาประมาณปีกว่าๆ โดยได้ซื้อหาพันธุ์มาเอง ทางรัฐบาลไม่ได้มาหนุนเสริมแต่อย่างใด ที่ได้หันมาปลูกต้นเสาวรส เพราะได้รับความนิยมมากขึ้น ผลผลิตที่มีอยู่ตอนนี้ก็มีไม่พอขาย ตนเองจึงตัดสินใจโค่นต้นยางเพื่อมาปลูกต้นเสาวรสแทน

“ได้คิดทำแบบนี้คนแรก โดยการโค่นต้นยางให้เหลือไว้แต่ตอ มีความสูงประมาณ 1.5–2 เมตร เพื่อทำเสาค้างต้นเสาวรส เพราะหากซื้อเสาปูนตกเสาละร้อยกว่าบาท ซึ่งต้องใช้หลายเสาและต้องลงทุนเยอะ จึงยอมโค่นต้นยางพารา ซึ่งเชื่อว่าตอนนี้ปลูกเสาวรสจะดีกว่ากรีดยางพาราแน่นอน เพราะสามารถเก็บเสาวรสขายได้ตลอดแม้จะเข้าช่วงหน้าฝนก็ตาม ซึ่งต่างกับการกรีดยางที่พอฝนตกก็ไม่สามารถกรีดยางได้ อย่างน้อยขายเสาวรสมีรายได้ต่อวัน วันละ 500-1,000 บาท ส่วนกรีดยางพาราในแต่ละวันมีรายได้แค่ 100 บาท เท่านั้น โดยตนเองจะขายเสาวรสอยู่ที่ ราคากิโลกรัมละ 40 บาท ได้ปลูกเสาวรสพันธุ์สีม่วง ประมาณ 200 ต้น นอกจากนี้ จะปลูกเสาวรสแล้ว ยังมีมะม่วงหาวมะนาวโห่ พร้อมเตรียมวางแผนปลูกทุเรียนไว้อีกด้วย” นายเฉลิม กล่าว

น.ส.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ไทยส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ในหลายชนิด อาทิ ข้าว พืชผักและผลไม้ต่างๆ สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการจัดเก็บสถิติที่ชัดเจนผ่านระบบพิกัดศุลกากรของไทย ยกเว้น สินค้าข้าวอินทรีย์ ดังนั้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560–64 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ได้มอบหมายให้ สศก. เป็นผู้ดำเนินการจัดทำพิกัดศุลกากรสำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์

น.ส.ทัศนีย์ กล่าวว่า สศก. ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำรหัสสถิติต่อท้ายพิกัดศุลกากร ระยะ 1 สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มอีก 5 ชนิด ต่อจากข้าว ได้แก่ 1. ใบชาเขียว 2. มะพร้าวอ่อน 3. กะทิสำเร็จรูป 4. มังคุด และ 5. ทุเรียน ตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคม 2561