กลับมาที่บ้านเรา หากท่านผู้อ่านทุกท่านช่วยกันทำความสะอาด

เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปเยี่ยมชมเส้นทางสายกาแฟและธุรกิจกาแฟจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของงานประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1

ก่อนอื่นต้องบอกว่ากิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกาแฟทั้งหมด ตัวผู้เขียนเป็นคนที่ไม่ดื่มกาแฟ แต่มีอยู่ที่หนึ่งที่ไปแล้วรู้สึกประทับใจกับอุดมการณ์ของเจ้าของร้าน ที่เป็นคนรักธรรมชาติ มาเปิดร้านกาแฟ และปลูกกาแฟออร์แกนิก โดยที่ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ แต่ใช้วิธีอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเข้าใจ จนทำให้คนที่ไม่ดื่มกาแฟ อยากลองที่จะลิ้มรสชาติกาแฟคุณภาพดูสักครั้ง ว่าเสน่ห์ของกาแฟ ที่ปลูกบนที่สูง ปลูกโดยธรรมชาติ และผ่านกระบวนการโพรเซสด้วยตัวเอง จะมีรสชาติเป็นอย่างไร แต่บอกไว้ก่อนว่ากาแฟที่นี่เขาได้รับรางวัลที่ 1 จากการประกวดกาแฟระดับประเทศมาแล้ว

Nine One Coffee กาแฟรักธรรมชาติ เกิดขึ้นได้เพราะความบังเอิญ

คุณวัลลภ ปัสนานนท์ ผู้ปลูกกาแฟออร์แกนิก และเจ้าของร้าน Nine One Coffee เล่าว่า พื้นเพเดิมเป็นคนภาคตะวันออก ทำงานรับราชการอยู่กระทรวงมหาดไทย มานาน 15 ปี ในส่วนเนื้องานไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับงานเกษตรเลย แต่ด้วยพื้นฐานนิสัยเป็นคนรักธรรมชาติ เวลามีช่วงพักร้อนก็จะขับรถขึ้นดอยมาเที่ยวกางเต็นท์นอนดูธรรมชาติเป็นประจำ ประจวบเหมาะกับที่ตัวเองมีที่ดินอยู่ที่เชียงใหม่ 1 แปลง มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ จึงอยากพัฒนาที่ดินตรงนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ซึ่งเมื่อก่อนพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าเมี่ยง แต่ในปัจจุบันเริ่มหมดยุคของคนที่ดื่มชาเมี่ยง ทำให้สวนเมี่ยงบางจุดเริ่มไม่มีรายได้เข้ามา จึงเริ่มหาพืชตัวอื่นมาปลูกทดแทน โดยคุณวัลลภ ลาออกจากงานเริ่มมาเปิดร้านกาแฟตั้งแต่ปี 2540 ทำตั้งแต่กาแฟสดยังไม่มีบทบาทในเมืองไทย ช่วงนั้นนับได้ว่าเป็นช่วงรอยต่อระหว่างกาแฟสำเร็จรูปกับกาแฟสดพอดี

การเข้ามาเปิดร้านกาแฟถือเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่าความชอบ พอดีเป็นคนชอบอยู่กับธรรมชาติ และที่ดินที่มีอยู่ก็ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ จึงเริ่มอยากหาอะไรทำ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนพื้นที่ใกล้เคียง กาแฟจึงเป็นทางเลือกเดียวถ้าจะเก็บต้นไม้ไว้ อย่างอื่นไม่ต้องนึกถึงเพราะทำไม่ได้เด็ดขาด สิ่งที่จะอยู่รอดคือกาแฟ จึงเลือกที่จะปลูกกาแฟ เพราะกาแฟเป็นพืชที่มีความพิเศษกว่าพืชชนิดอื่น คือสามารถปลูกร่วมกับต้นไม้อย่างอื่นได้ กาแฟไม่ต้องการแดดมาก ถ้าลองนึกภาพดู ไม่ว่าจะเป็นพืชล้มลุก ผัก ผลไม้ หรือไม้ดอก ถ้าจะทำเป็นสวนเป็นไร่ พวกนี้ต้องเปิดพื้นที่ออกให้หมดเพื่อให้รับแสงแดดเต็มที่ ที่กาแฟไม่ต้อง เราสามารถปลูกกาแฟแซมได้เลย นั้นจึงเป็นที่มาของการที่เลือกปลูกกาแฟ

กาแฟที่เลือกปลูกคือสายพันธุ์ ทริปปิกา หรือสายพันธุ์ดั้งเดิม อะราบิก้า พอเป็นตัวเลือกตัวนี้ จึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลด้วยการอ่านหนังสือ ศึกษาวิธีการปลูกการดูแล จนถึงกระบวนการโพรเซส ศึกษาด้วยตัวเองเพราะยุคนั้นยังไม่ค่อยมีคนรู้เรื่องพวกนี้เยอะ ก็จะมีเพียงหน่วยงานทางภาครัฐ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาให้ความรู้บ้างเล็กน้อย

ทำเองครบวงจร ตอบโจทย์เกษตรยั่งยืน

“ตอนที่เลือกทำอาชีพเกษตรกรรม ก็คิดเลยว่าต้องยืนด้วยขาของตัวเองให้ได้ เพราะชาวสวนกาแฟส่วนใหญ่จะปลูกอย่างเดียว พอผลผลิตออกก็ขายผลดิบ ราคาก็ไปผูกกับกลไกตลาด โอกาสไม่สำเร็จก็มีสูง…จึงคิดว่าถ้าทำกาแฟก็อยากทำแนวใหม่ ในตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีแนวคิดแบบนี้ เราปลูกกาแฟเอง แล้วเราก็แปรรูปเอง คั่วเองทำร้านของตัวเอง มีแบรนด์ของตัวเอง หรือเรียกว่า Seed to cup ทำตั้งแต่ปลูกถึงเสิร์ฟ เรียกได้ว่า Nine One Coffee เป็นร้านแรกๆ ที่ทำแบบนี้

เมื่อเริ่มทำแบบครบวงจร รู้เลยว่าขั้นตอนที่ยากที่สุด คือการเริ่มต้นทำงานในสวน ที่จะทำอย่างไรให้กาแฟสมบูรณ์ ทำอย่างไรให้รสชาติกาแฟออกมาดี เป็นสิ่งที่ยากเพราะเราไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดธรรมชาติได้ถ้าเสียหายก็ต้องรื้อทิ้งเสียเวลาหลายปี แต่ถ้าผ่านขั้นตอนการปลูกดูแลมาได้กระบวนหลังจากนั้นก็ไม่น่าเป็นห่วง อย่างการคั่วกาแฟถ้าเราคั่วผิดชั่วโมงต่อมาเราคั่วใหม่ได้ แต่ถ้าปลูกหรือใส่ปุ๋ยดูแลไม่ดี เริ่มใหม่ได้อีกทีคือปีหน้า”

“จุดเด่น ของ Nine One Coffee ที่ต่อให้มีร้านกาแฟเพิ่มขึ้นมาอีกก็ไม่กลัว คือผมเริ่มจากจุดที่ไม่ได้สนใจในเรื่องของปริมาณการผลิต ไม่ได้สนใจว่าจะทำราคาแข่งขันกับใคร เราทำอย่างไรก็ได้ที่จะทำกาแฟของเราให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฉะนั้นตอนที่ตัดสินใจทำ เริ่มสะสมความรู้ทุกอย่าง ทั้งงานสวน การโพรเซส แปรรูป ชง คั่ว ชิม เราต้องหาความรู้ทุกๆ ส่วนที่เชื่อมโยงกันเพื่อให้เราประเมินตัวเองได้ว่าพัฒนาหรือยัง พัฒนาไปถึงขั้นไหนแล้ว เปรียบเสมือนเราเป็นตาชั่งที่วัดคุณภาพตัวกาแฟของเราได้ เราก็สามารถมั่นใจที่จะทำการตลาด มั่นใจการสื่อสารกับผู้บริโภคได้…กลุ่มลูกค้า ช่วงแรกเป็นคนไทยในวงแคบๆ จนมาช่วงหลายปีหลังมานี้มีลูกค้าต่างชาติเข้ามาเยอะมาก เพราะชาวต่างชาติชอบดื่มกาแฟดำ และกาแฟเราก็รสชาติดี พร้อมบรรยากาศร้านที่ตั้งอยู่กลางธรรมชาติ นั่งฟังเสียงน้ำตก อากาศดีตลอดปี

ในส่วนของลูกค้าคนไทย เริ่มมีมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนเพราะตอนนี้เขารู้แล้วว่า Nine One Coffee ทำกาแฟพิเศษ โดนใจคอกาแฟที่ต้องการลิ้มรสชาติกาแฟจริงๆ เมล็ดกาแฟของเรามีทั้งคั่วเอง ส่งให้โรงงานคั่ว และส่งให้กับร้านกาแฟที่ไม่มีเครื่องคั่วขายแบบสำเร็จรูป และลูกค้าที่สนใจซื้อไปดริปเองก็เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่รู้ว่า Nine One Coffee ได้รางวัลชนะเลิศการประกวดกาแฟ”

Nine One Coffee ชื่อนี้มีที่มา

เจ้าของเริ่มต้นลองผิดลองถูกในอาชีพนี้อยู่นาน เพราะไม่มีความรู้เรื่องต้นไม้มาก่อน คนพื้นที่เขาก็ทำตามความคุ้นเคย เรื่องของหลักวิชาบางอย่างเขาก็ไม่รู้ เขาเองก็ยังไปไม่ถึงตรงนั้น ปลูกไปก็มีการซ่อม รื้อทิ้งบ้าง ทำไปค่อยหาประสบการณ์ผิดบ้างถูกบ้าง จนตอนนี้เข้าใจถึงเรื่องการปลูกที่ดี ทำยังไงถึงจะแปรรูปแล้วได้คุณภาพที่ดี ตอนนี้ถึงจุดที่จะทำให้ดีกว่าเดิม แต่กว่าจะสำเร็จก็ใช้เวลานานนับ 10 ปี เพราะกาแฟปลูกไปแล้วจะให้ผลผลิตปีที่ 3 ปีที่ 5 กว่าจะรู้ว่าผิดพลาด ถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน แต่ถามว่าท้อไหม ตอบเลยว่าไม่ เพราะรู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่ได้มีพื้นฐานมาก่อน รู้อยู่แล้วว่าต้องเจอปัญหาเยอะแน่ๆ จึงทำได้แค่ขยัน ขยันหาความรู้ ขยันถามคนในพื้นที่ แต่ไม่เคยคิดถอดใจ ส่วนชื่อ Nine One Coffee คือพอเราจะเริ่มทำกระบวนการทุกอย่างเอง ก็ต้องสร้างแบรนด์ และคิดว่าสร้างแบรนด์อย่างไรให้จดจำง่ายและมีความหมาย ซึ่งตอนแรกก็คิดไว้หลายชื่อมาก แต่สุดท้ายมาจบที่ Nine One Coffee

Nine คือ เลข 9 เปรียบเหมือนถ้วยกาแฟ

One คือ เลข 1 เปรียบเหมือนหูจับแก้ว

Coffee เติมลงไปในถ้วยกาแฟ มีอักษร ff สองตัว เปรียบเสมือนไอหอมกรุ่นของกาแฟ

กลายเป็นความบังเอิญอย่างที่ 2 ที่เลข 9 คือ นาย เลข 1 คือ วัน ซึ่งบังเอิญตรงกับชื่อของผม เลยเป็นที่มาของชื่อร้านเป็นความบังเอิญที่ลงตัว พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด

คุณวัลลภ บอกว่า ปรับตัวไม่ยาก เพียงแค่หันมาใส่ใจรายละเอียดในสิ่งที่ทำ คุณขายกาแฟ คุณก็ต้องรู้เรื่องกาแฟ มากกว่าที่รู้แค่ว่ากาแฟที่เอามาขายเป็นสายพันธุ์โรบัสต้า หรืออะราบิก้า เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ได้ดื่มกาแฟเพียงแค่แก้ง่วง คอกาแฟจริงๆ เขาจะเริ่มหันมาใส่ใจขั้นตอน และที่มาที่ไปของกาแฟที่เขาดื่มมากขึ้น ซึ่งจุดนี้แหละเป็นจุดบอดของร้านกาแฟหลายแห่งที่รับกาแฟมาขาย พอลูกค้าถามว่ากาแฟนี้สายพันธุ์อะไร ปลูกจากแหล่งไหน ตอบไม่ได้ก็ถือว่าเป็นความไม่ประทับใจอย่างหนึ่ง ดังนั้น เจ้าของร้านต้องหันมาใส่ใจรายละเอียดเหล่านี้ให้มากขึ้นเพื่อเก็บเป็นวิชาต่อสู้กับร้านกาแฟที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด หมั่นศึกษาหาความรู้ เช่น กาแฟที่เรารับมาปลูกจากที่ไหน สายพันธุ์อะไร ปลูกจากจังหวัดไหน มีวิธีการแปรรูปอย่างไร แบบ wet process, dry process หรือ honey process ก็ต้องตอบให้ได้

“การดื่มกาแฟ ถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่ต้องใส่ใจทุกขั้นตอน” คุณวัลลภ กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรืออยากขึ้นดอยไปนั่งจิบกาแฟที่ร้าน Nine One Coffee ตั้งอยู่ที่ ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ 50220 โทร. (081) 842-3232

สำหรับท่านที่เป็นคอกาแฟห้ามพลาด การประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ งานนี้ถือเป็นเวทีสำคัญแห่งการแลกเปลี่ยนแนวคิดใหม่ๆ และการสร้างแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ

ฟักแม้ว มะระแม้ว มะระหวาน หรือ ซาโยเต้ (Chayote) เป็นพืชจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับฟัก แฟง แตงกวา มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศเม็กซิโก เชื่อว่าหมอสอนศาสนาคริสต์นำเข้ามาในประเทศไทย แต่เมื่อใดไม่มีข้อมูลที่สามารถอ้างอิงได้

ฟักแม้ว เป็นประเภทไม้เลื้อย มีอายุข้ามปีหรือมากกว่า 1 ฤดู เถา ยาว 3-5 เมตร ใบ มี 3-5 เหลี่ยม ยาว 8-15 เซนติเมตร ผลเป็นประเภทผลเดี่ยว ดอกเพศผู้ เพศเมีย แยกกันอยู่คนละดอก แต่อยู่ในต้นเดียวกัน เถาเป็นรูปเหลี่ยม เนื้อผลพัฒนามาจากฐานรองดอก ขยายใหญ่ไปหุ้มเมล็ดไว้ คล้ายกับผลมะม่วง ผลฟักแม้ว มีทรงกลม ด้านยาวมากกว่าความกว้าง ผลขรุขระ สีเขียวอ่อน ยาว 7-20 เซนติเมตร และกว้าง 5-15 เซนติเมตร น้ำหนักผลเฉลี่ย 200-400 กรัม ต่อผล เนื้อมีรสหวาน

การปลูกหรือส่วนขยายพันธุ์ ใช้ปลูกทั้งผล คัดเลือกผลที่สมบูรณ์ แก่เต็มที่ ไม่มีโรค แมลง ติดมาด้วย วางส่วนก้นลงหลุมปลูก แล้วเกลี่ยดินกลับลงหลุม หรืออาจวางนอนก็ได้ แล้วกลบดินเพียงครึ่งผล เมื่อได้รับความชื้น รากจะงอกออกที่ก้นผลใกล้กับเมล็ด ต่อมาเถายาวขึ้นและแตกแขนงออก ตัดแต่งปีละ 3-4 ครั้ง ให้เหลือไว้เพียง 3-5 เถา อายุ 4-5 เดือน เริ่มให้ผล โดยเฉลี่ย 25-40 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี ใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร ทำค้างให้เลื้อย จะได้ผลสวยงาม

แหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่จังหวัดตาก เพชรบูรณ์ และเลย การดูแลรักษาปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกแตงกวา หรือฟัก แฟง ภาคกลางอากาศร้อนปลูกไม่ค่อยได้ผล มีที่จังหวัดกาญจนบุรีบางแห่งปลูกได้ แต่ปลูกบนที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 500-1,200 เมตร จะให้ผลดีที่สุด

ตำราเคลื่อนที่ด้านเศรษฐกิจพอเพียง อย่าง คุณสมศักดิ์ เครือวัลย์ ปราชญ์ของแผ่นดิน จังหวัดระยอง หรือเรียกกันว่า ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ในวัย 66 ปี นับเป็นแบบอย่างที่ดีงามสำหรับผู้คนในยุคนี้ ในยุคที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเสด็จสู่สวรรคาลัย เหลือเพียงแต่พระราชปณิธานและพระราชดำริ รวมทั้งพระราชดำรัสอีกจำนวนมาก ให้พสกนิกรชาวไทยได้ปฏิบัติเพื่อความผาสุกและความร่มเย็น ซึ่งผู้ใหญ่สมศักดิ์ได้เดินตามรอยพ่อในทุกมิติ จนประสบความสำเร็จ และมีวันนี้ได้เพราะน้อมนำพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้อย่างจริงจัง ทั้งศึกษาภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้รู้อย่างถ่องแท้

เพราะหากนำพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ จะพบว่า “ความรวย” อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม และใครๆ ก็รวยได้ แต่ต้องเริ่มต้นจากตัวเอง โดยผู้ใหญ่สมศักดิ์แนะทางรวยตามวิถีพึ่งพาตนเอง โดยให้เริ่มต้นทำเรื่องของตัวเองก่อน และต้องทำตัวเองให้รอด จึงจะแบ่งปันผู้อื่นได้

“แต่ก่อนจะทำเรื่องของคนอื่น แต่ทำไม่ได้ เพราะเข้าใจไม่ตรงกัน ผลสุดท้ายก็กลับมาทำเรื่องของตัวเอง เอาตัวเองให้รอด พอตัวเองเริ่มรอด แต่กว่าจะรอดก็นาน เพราะมีอะไรต้านเยอะแยะ บางทีทำอะไรที่เราว่าดี คนนั้นเขาว่าไม่ดี บางทีคนที่ว่าไม่ดี เขามีอำนาจ เขามีพลัง จนเราไม่สามารถทำตรงนั้นได้ ผลสุดท้ายก็ถอยออกมา ถอยออกมานอกกรอบมาทำเอง เริ่มจากการพึ่งพาตนเองให้ได้ก่อน มีเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงทรงตรัสไว้ 2 ขั้น คือ 1. ขั้นพื้นฐาน และ 2. ขั้นก้าวหน้า หลักเศรษฐกิจพอเพียงมีเท่านี้ ให้พึ่งพาตนเอง ย้ำว่า อย่าข้ามขั้น ให้เดินทีละก้าว ให้กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง”

ผู้ใหญ่สมศักดิ์อธิบายและบอกต่ออีกว่า

“แต่ส่วนใหญ่จะข้ามขั้น แต่ฉันไม่ข้ามขั้นนะ ฉันทำจนขั้นพื้นฐานสำเร็จ พอขั้นพื้นฐานสำเร็จแล้ว ขั้นก้าวหน้ามาเอง เขารออยู่แล้ว ขั้นก้าวหน้า อยากได้เงิน เงินก็มา อยากได้ทอง ทองก็มา อยากได้เพื่อน เพื่อนก็มา แต่ต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน ขั้นพื้นฐานต้องแน่นก่อน และขั้นพื้นฐานที่ว่า มันมีอะไร เกี่ยวกับดินและน้ำ สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา เริ่มจากสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ อาหาร อยากกินพริกปลูกพริก อยากกินมะเขือก็ปลูกมะเขือ ง่ายจะตาย ไม่ต้องไปคำนึงว่าจะลงทุนเท่าไร”

“บางคนจะลงทุนก็ไปคำนึงว่า ไม่มีทุน มันไม่เกี่ยวกับทุนหรอก มันเกี่ยวกับปัญญา มีปัญญาหรือเปล่า ปัญญากับทุนมันคนละเรื่อง ทุนมันคือสตางค์เป็นหนี้ แต่ใช้ปัญญาไม่เป็นหนี้ พริกเม็ดหนึ่งเพาะได้ตั้งกี่ต้น และพริกเม็ดต้องซื้อไหม ไม่ต้องซื้อหรอก ต้องใจเย็นๆ ทำเรื่องนี้ต้องใจเย็น อย่าใจร้อน ก็ใจร้อนปลูกพริก ได้กินไม่กี่วัน”

“ขั้นตอนง่ายๆ มีนิดเดียว ถ้านึกไม่ออกว่าจะปลูกอะไรก่อน เขามีตำราอยู่ว่า ลองคิดจะปลูกต้นไม้ให้ได้วันละ 10 ต้น วันนี้คิดไม่ออก ปลูกมะพร้าว 10 ต้น พรุ่งนี้คิดไม่ออก ลองปลูกกะเพราสัก 10 ต้น ปลูกตะไคร้ 10 ต้น มะรืนนี้คิดไม่ออก ปลูกพริก 10 ต้น ลองปลูกต้นไม้ให้ได้วันละ 10 ต้น 10 ต้น ปลูกทุกวัน ลองจด แล้ว 3 เดือน ได้กี่ต้น ปลูกต้นไม้ทุกวัน วันละ 10 ต้น 3 เดือน ไม่ต้องขอใครกิน พริกออกแล้ว มะเขือออกแล้ว มีกิน 3 เดือน” ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ถ่ายทอดประสบการณ์จริงจากการน้อมนำพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จนประสบความสำเร็จ

ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ยังตั้งข้อสังเกตอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับวิธีคิดของคนในประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้การเริ่มต้นเดินหน้าใช้ชีวิต “พอเพียง” เป็นเรื่องยาก เพราะต้องเริ่มจากการปลูกต้นอะไรสักอย่าง ที่อยากปลูก และมีกำลังทำได้ อย่างเช่น พริก ปลูกง่าย แต่ไม่รู้มันปลูกกันไม่ได้ ไม่รู้ด้วยสาเหตุเพราะอะไร

“มีคนบอกไม่ให้ปลูกหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือคนบอกปลูกซะยาก แต่ปลูกง่ายจะตาย ปลูก 3 เดือนทุกๆ วัน เหลือกิน ลองปลูกทุกวัน วันละ 10 ต้นๆ ทุกวัน อย่าหยุดน่ะ ปลูกสัก 6 เดือน เดินไปหิ้วไปไหนถือตะกร้าเต็ม ไม่ต้องไปขาย หิ้วไป มันมีคาถาในหลวงแจกไว้ว่า ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา ลองถือตะกร้าพริก มะเขือ เดินแจกไป ได้อะไรไม่รู้ คนแจกน่ะรู้ เพราะฉะนั้น อยากจะรู้ได้อะไร ลองแจกดู แต่อย่าหยุดปลูกนะ ปลูกทุกวัน วันละ 10 ต้น ครบ 1 ปี เมื่อไร คุณมีที่ 2 ไร่ 3 ไร่ เมื่อไร คุณไม่มีที่ปลูกหรอก”

“เพราะฉะนั้นก็ลองคิดดูว่าจะเลือกเอาพริกเหลือหนึ่งกิโลไปขาย หรือจะเอาพริกหนึ่งกิโลไปแจกเพื่อน แล้วใส่ถุงเพาะ ทั้ง 2 วิธีนี้เป็นปริศนาอยู่ แต่ผมเลือกเพาะ ผมไม่ขาย แจกพริกแล้วเพาะพริก เก็บไว้ทุกวันๆ เชื่อไหมหนึ่งปี มันเก็บพริกขากลับ มันก็ผ่านต้นพริก สตางค์มาเอง น้ำใจคนมันมี ในหลวงตรัสไว้เยอะแยะหมด ถ้าพื้นฐานทำ พื้นฐานเศรษฐกิจก้าวหน้าจะมาเอง” ผู้ใหญ่สมศักดิ์ แนะวิธีเริ่มต้นเป็นเศรษฐี แง่คิดยอดเยี่ยมของผู้ใหญ่

หลักวิธีคิดและวิธีการที่ผู้ใหญ่สมศักดิ์นำมาใช้นั้น เป็นหนึ่งในคาถาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานให้กับประชาชนคนไทยและคนทั่วโลก โดยเน้นว่า ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา ขาดทุนคือกำไร

“นี่เป็นคาถาของในหลวงทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นวันนี้ผมทำพื้นฐานแน่นแล้ว แต่หลังจากพื้นฐานแน่นแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 บอกว่า อย่าลืมเพื่อนที่อยู่ข้างเรา พยายามหามิตรเข้าไว้ วิธีหามิตรคือ การให้ ให้บ่อยๆ จะกลายเป็นบารมี ท้ายที่สุดวันนี้ ถ้าคนเอาตัวรอดแล้ว คนเดินเข้ามาหา ไม่ต้องเดินเข้าไปชวนมาเรียน มาศึกษา ถ้าเราเอาตัวรอด เขาจะเดินเข้ามาเอง แต่ถ้าเราคุยอวดดีเหลือเกิน เอาตัวไม่รอด ไปบังคับคนมาก็ไม่มา ในหลวงรัชกาลที่ 9 เลยตรัสเรื่องการพึ่งตนเอง ต้องพึ่งได้จริง คำว่า พอก็พอแล้ว แต่ต้องพอได้จริง” ผู้ใหญ่สมศักดิ์ บอกเล่าด้วยความอิ่มใจ

ฉะนั้น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากจะทำให้เป็นคนรวยทางโลกแล้ว ยังรวยทางธรรม ได้หลักธรรมจากการทำเกษตรกรรมในแต่ละวัน อย่างที่ผู้ใหญ่สมศักดิ์ยกตัวอย่างการปลูกพริก แค่เรื่องเดียว ได้ทั้งเรื่องการให้ การรับ ความพอในหัวใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายคนไทยยุคนี้อย่างมาก

“ทำเรื่องนี้ไม่มีความทุกข์ เพราะมันพอดี พอต้องดีด้วยน่ะ ต้องพอดี พอดี อย่ามากจนเกินไป อย่าน้อยจนเกินไป อย่าให้คนอื่นซะตัวเองเดือดร้อน หรืออย่าเอาคนอื่นซะตัวเองเดือดร้อน ต้องพอดีๆ นั้นแหละ คือความสุข ความสุขไม่ได้อยู่ที่สตางค์ แต่ความสุขอยู่ที่ใจ ทำยังไงใจถึงจะมีความสุข ก็เจอหน้าคนยิ้ม ไม่ใช่เจอหน้าบึ้ง และทวงหนี้ อันนั้นก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเจอคนต้องยิ้ม และคนยิ้มก็ต้องมีความสุขด้วยนะ ไม่ใช่เจอหน้ายิ้ม แต่หันหลังไปไม่มีจะกิน ไม่มีความสุขแล้ว เพราะฉะนั้น ทำตนเองให้มีความสุข หลังจากนั้นค่อยมองเพื่อนบ้าง” ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ทิ้งท้าย

พร้อมกับบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เจอหนทางแห่งความร่ำรวย แต่เมื่อเจอแล้ว ต้องเริ่มต้นทำ เพราะความร่ำรวยที่ว่านี้ก็คือ ความพอเพียงในหัวใจนั่นเอง

กยท. จับมือ อาลีบาบา เปิดตลาดกลางยางพาราออนไลน์ ซื้อง่ายๆ แค่คลิก เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการเพิ่มช่องทางการซื้อขายยางพารารูปแบบใหม่ เน้นจุดเด่นที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อประมูลยางพาราได้โดยตรง
กยท. จับมือ อาลีบาบา – นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท อาลีบาบา (ผู้ประกอบการเว็บไซต์ขายส่งสินค้ารายใหญ่ของโลก) ได้เข้าหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อหาแนวทางการจัดตั้งตลาดซื้อขายยางแบบส่งมอบจริงผ่านระบบออนไลน์ในประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการยางพาราของประเทศจีน ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายช่องทางการตลาด เนื่องจากปัจจุบันตลาดซื้อขายยางในประเทศไทยมีอยู่ 2 ระบบ คือ ระบบตลาดสัญญาซื้อขายยางพาราล่วงหน้า และระบบตลาดกลางยางพารา ดังนั้น การจัดตั้งระบบการซื้อขายยางพาราออนไลน์จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการเพิ่มช่องทางการซื้อขายยางพารารูปแบบใหม่ เน้นจุดเด่นที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อประมูลยางพาราได้โดยตรง และนัดเวลาการส่งมอบสินค้าได้ตามความต้องการ โดย กยท. จะทำหน้าที่ควบคุมและรับรองคุณภาพมาตรฐานยางพาราที่ส่งเข้าตลาดทั้งหมด

“แนวทางการร่วมมือกับอาลีบาบาในครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อเสถียรภาพราคายางอย่างแน่นอน เนื่องจากประเทศจีนเป็นผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ จึงคาดว่าปริมาณการซื้อยางพาราผ่านระบบออนไลน์จะไม่ต่ำกว่า 2 แสนตัน/ปี ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยจะได้เปรียบเรื่องการมีผลผลิตยางพาราหลายรูปแบบ ซึ่งนอกจากยางแท่งแล้ว ยังมีน้ำยางข้นและยางแผ่นรมควันคุณภาพดีที่สามารถนำมาประมูลซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ได้ เพื่อประโยชน์ต่อผู้ค้าที่จะได้เลือกซื้อวัตถุดิบที่หลากหลายขึ้น ในส่วนรายละเอียดต่างๆ จะมีการหารืออีกครั้งภายในสัปดาห์หน้าเพื่อกำหนดวิธีการที่ชัดเจนต่อไป” นายณกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย