กลุ่มผลิตกล้ายางบ้านกำแวง โซ่พิสัย รวมตัวเพาะกล้ายางขาย

รายได้งามนอกจากยางพาราที่ทำให้เกิดรายได้ของอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬแล้ว การผลิตกล้ายางที่มีคุณภาพยังเป็นอาชีพสำคัญอีกอย่างที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านไม่น้อย ทั้งนี้เพราะนอกจากผลิตขายในพื้นที่ของอำเภอแล้ว ยังผลิตขายส่งให้กับต่างอำเภอ อีกทั้งยังจำหน่ายในจังหวัดอื่นอีกด้วย

สำนักงานเกษตรอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ให้การสนับสนุนการผลิตกล้ายางแก่ชาวบ้าน ให้ข้อมูลว่า ในพื้นที่หมู่บ้านกำแวงถือเป็นแหล่งผลิตกล้ายางที่ได้คุณภาพ และมาตรฐานจากกรมวิชาการเกษตร เพราะผ่านกระบวนการและวิธีตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการทำให้ได้กล้าที่ให้ผลผลิตยางได้ดีเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ ดังนั้น จึงชักชวนชาวบ้านที่สนใจในการเรียนรู้เรื่องการปลูกยางและการทำต้นกล้ามารวมตัวกันเพื่อผลิตต้นกล้าจำหน่าย แล้วกำหนดชื่อว่า “กลุ่มผลิตกล้ายางบ้านกำแวง”

เมื่อเห็นว่าภาคอีสานสามารถปลูกยางได้จึงชักชวนชาวบ้านที่สนใจมาปลูก พอชาวบ้านขาดแคลนพันธุ์ก็ต้องดิ้นรนหาพันธุ์มาให้ปลูก ครั้นปลูกกันมากขึ้น ชาวบ้านบอกว่าไม่ต้องไปหาพันธุ์ที่แหล่งอื่นอีกแล้ว ชวนกันมาทำพันธุ์ขายเองดีกว่า ทำครั้งแรกจุดประสงค์เพื่อให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่นมีพันธุ์ปลูก ต่อมามีการขยายผลออกไปด้วยการทำแล้วขาย

มีชาวบ้านไม่น้อยที่ให้ความสนใจเรื่องการปลูกยางถึงแม้พวกเขาเหล่านั้นจะขาดความรู้ความเข้าใจวิธีการปลูกหรือการเจริญเติบโตของต้นยางมาก่อนก็ตาม แต่ด้วยความตั้งใจจริง ใส่ใจ และสนใจ รวมไปถึงความอดทนในการเพียรพยายามเรียนรู้จนทำให้ในที่สุดหลายคนประสบความสำเร็จสามารถทำได้เอง

เริ่มทำกล้าเมื่อปี 2526 ตอนนั้นเป็นผู้บุกเบิกด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านทำเพื่อสร้างรายได้ เป็นการสอนให้ติดตา สอนการชำ จากนั้นไม่นานหลายคนที่เรียนรู้มีความตั้งใจ ฝึกทำกันซ้ำไปมาหลายครั้ง ผิดบ้างถูกบ้าง จนเกิดความชำนาญและเก่งจนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง

สำหรับขั้นตอนในการเพาะกล้ายางนั้น เจ้าหน้าที่พนักงานการเกษตรฯ อธิบายว่า ตอนแรกจะต้องตกแต่งรากก่อน ความยาวของรากช่วงที่ตัดแต่งให้วัดจากรอยดินเดิม ประมาณ 20 เซนติเมตร หรือราวหนึ่งคืบ แล้วตัดแต่งรากฝอยออกให้หมด แล้วจึงนำไปเสียบในน้ำให้รอยสีเขียวห่างจากปากถุงสัก 1 นิ้ว แล้วจึงเติมดินให้เต็ม

การเพาะต้นกล้ายางของกลุ่มผลิตกล้ายางบ้านกำแวงอาจมีวิธีแตกต่างจากที่อื่นเพราะโดยปกติการเพาะต้นกล้าที่ทำกันทั่วไปจะรดน้ำในถุงดำที่มีดินบรรจุอยู่แล้วจึงเสียบกิ่ง แต่วิธีของกลุ่มกลับใช้วิธีเสียบในน้ำที่มีดินเหนียวล้วนเป็นวัสดุอยู่ในถุงดำเพื่อให้ต้นยางมีคุณภาพและไม่ตาย เพราะคุณสมบัติที่ดีของดินเหนียวจะสร้างความแน่นทำให้ต้นไม่อ่อนไหวสั่นคลอน

ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นข้อดีเพราะมีส่วนช่วยทำให้ระบบรากเจริญงอกงามอย่างต่อเนื่องโดยไม่เสียหายหากเกิดการสะเทือน อีกทั้งลดความเสี่ยงต่อการตายระหว่างการขนย้ายอีกด้วย จึงมีโอกาสรอดมากกว่าตาย เมื่อถึงเวลาจะปลูกลงดินให้กรีดถุงออก จะพบว่าดินและรากยึดติดกันอย่างแน่น

ที่อื่นทำตามหลักวิชาการคือ รดน้ำก่อนแล้วจึงเสียบกิ่งลงถุง ถ้าถามว่าต่างกันอย่างไร ข้อดีของแบบเดิมคือ ต้นจะสวยเมื่อโตขึ้น เพราะอากาศในดินมีการระบายได้และรากงอกเร็วกว่า แต่ข้อเสียคือ มีโอกาสตายมากในระหว่างเคลื่อนย้าย เพราะลำต้นที่อยู่ในถุงยังไม่แน่น มีการสั่นคลอนทำให้รากหลุดฉีกขาดเสียหาย

หลังจากปักชำต้นกล้าแล้วจะนำไปตั้งไว้ที่เรือนอนุบาลกล้าก่อน ซึ่งระยะเวลาที่ชำไว้จนรากงอกประมาณ 1-1 เดือนครึ่งหรือให้สังเกตใบว่ามีสีเขียวแก่จึงนำไปปลูกได้ ส่วนพันธุ์ที่ขายเป็นพันธุ์ที่ทางราชการส่งเสริมปลูก เพราะใช้ต้นตอและตาที่มีคุณภาพ กิ่งพันธุ์ทุกกิ่ง ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเป็นที่เรียบร้อย

รับประกันว่าเมล็ดต้นกล้าได้ทำการคัดเลือกจากแปลงที่มีอายุยาวนาน แต่ถ้าหาไม่ได้จะไปนำเมล็ดที่จังหวัดระยองมาเพาะ ทั้งนี้จะให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์ที่มาจากต้นพ่อพันธุ์ที่แก่และต้องมีอายุยาวนานเป็นสิบปี ไม่ให้เก็บตามสวนยางขนาดเล็ก ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าสายพันธุ์ยางที่โซ่พิสัย ที่บ้านกำแวงรับประกันเต็มร้อย

“กลุ่มผลิตกล้ายางบ้านกำแวง” มีสมาชิกเป็นชาวบ้านจากในหมู่บ้านจำนวนกว่า 10 คน เพื่อผลิตกล้ายางส่งให้ร้านสมพงษ์ทำหน้าที่จำหน่าย โดยมี คุณสมคิด อุบลเกิด ทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้ประสานงานระหว่างการผลิตและการจำหน่าย ทั้งนี้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อขาย

คุณสมคิด บอกว่า ชาวบ้านยึดอาชีพเพาะต้นกล้าเป็นอาชีพหลักเพราะสร้างรายได้ดี มีการทำกันเกือบทั้งหมู่บ้าน โดยมีการผลิตแล้วส่งเฉลี่ยกลุ่มละ 2-3 หมื่นต้น ต่อครั้ง ซึ่งหากคิดเป็นปี ประมาณ 4-5 แสนต้น ปัจจุบันราคาขายต้นละ 40 บาท นอกจากนั้นยังประกอบอาชีพปลูกยางและทำนาบ้างแต่ไม่มาก

แล้วยังบอกต่ออีกว่า ราคาต้นกล้าที่ผ่านมาในปี 2553 ราคาต้นละ 70 บาท ปี 2544 ต้นละ 50 บาท คาดว่าปีหน้าถ้าราคาผลผลิตยางลดลง ราคาต้นกล้าคงต้องลดตามไปด้วย

ด้วยคุณภาพของต้นกล้าที่ถูกผลิตขึ้นมาอย่างถูกต้องและได้รับการรับรอง ดังนั้นลูกค้าที่มาซื้อส่วนใหญ่จะอยู่อำเภอละแวกนี้และใกล้เคียงอาทิ ที่ โซ่พิสัย เซกา พรเจริญ นอกจากนั้น ถ้าไปไกลก็จะส่งไปที่จังหวัดสกลนครด้วย เพราะเป็นตลาดประจำกันมานาน ทั้งนี้ทางกลุ่มฯมีต้นกล้ายางไว้ขายตลอดทั้งปี เพราะแต่ละกลุ่มมีการผลิตอยู่ตลอดเวลา

ปัจจุบัน สถานการณ์ปลูกยางพาราของจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือดูจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การผลิตน้ำยางที่ดีมีคุณภาพนอกจากต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านการบริหารจัดการที่ดีแล้ว การมีพันธุ์ที่ดีเหมาะสมกับพื้นที่ปลูกถือเป็นสิ่งสำคัญมาก และพันธุ์ที่ดีก็ควรมาจากกล้าพันธุ์ที่มีคุณภาพเช่นกัน

“กลุ่มผลิตกล้ายางบ้านกำแวง” ตำบลคำแก้ว อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ จึงรับประกันคุณภาพกล้ายางทุกต้นว่าชัวร์ สนใจสั่งซื้อกล้ายาง โทรศัพท์ 085-453-3535

ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จ.พิจิตร ได้ มีโอกาสไปดูงานการเกษตรที่ไต้หวันเป็นครั้งที่ 4 (ได้ไปดูงานเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา) สถานที่ดูงานแห่งหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้กับคณะดูงานเกษตรไต้หวันในครั้งนี้คือ “การปลูกต้นหอมไต้หวัน” ที่ตำบลซานซิง เมืองยี่หลาน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกต้นหอมที่ใหญ่ที่สุดและต้นหอมที่นี่มีคุณภาพดีและรสชาติดีที่สุดของเกาะไต้หวัน ตำบลซานซิง ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไต้หวัน

ทางคณะดูงานได้เข้าเยี่ยมชม Spring Onion Culture Museum ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ของ ต.ซานซิง ที่รวบรวมเอาองค์ความรู้เรื่องประวัติความเป็นมาของเมือง, การปลูกต้นหอมว่าที่นี่ทำกันอย่างไร, มีโรค-แมลงศัตรูอะไรบ้าง โดยมีเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์บรรยายให้ความรู้ และตอบข้อซักถาม ซึ่งจากข้อมูลที่ได้คือ สถานที่ที่ใช้สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์นั้นเดิมเป็นอาคารเก็บรักษาข้าวในช่วงยุคล่าอาณานิคมของญี่ปุ่น ซึ่งอาคารเก็บข้าว(เหมือนยุ้งข้าวบ้านเรา) มีอยู่เป็นจำนวนมากในเกาะไต้หวัน แต่ต่อมาไม่ได้ใช้ก็ปล่อยทิ้งร้างไปก็มาก

ทาง ต.ซานซิง ได้ปรับปรุงพัฒนาให้โรงเก็บข้าวเก่ามาเป็นพิพิธภัณฑ์ต้นหอมขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเกษตรของเมืองและเปิดพิพิธภัณฑ์ต้นหอมอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อปี 2548 ทุกๆ ปีทาง ต.ซานซิงจะจัดงานเทศกาลต้นหอมและกระเทียม ซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่จนเป็นที่รู้จักและคนไต้หวันจะรู้ว่า เมื่อถึงเดือนมกราคมของทุกปีจะมี “เทศกาลต้นหอมและกระเทียม” ขึ้นที่นี่ โดยจากข้อมูลผักตามฤดูกาลในรอบปีของไต้หวัน คือ

คนไต้หวันนิยมบริโภคผักตามฤดูกาล เพราะเชื่อว่าจะทำให้สุขภาพแข็งแรง และปัจจุบันคนไต้หวันเปลี่ยนพฤติกรรมรับประทานข้าวในแต่ละมื้อน้อยลง แต่จะเน้นการรับประทานผักและผลไม้มากขึ้น (จากอดีตบริโภค ข้าว 70%, ผักและผลไม้ 30% ปัจจุบัน กลับกัน บริโภคข้าว 30% และบริโภคผักและผลไม้ 70%)

เข้าไปในตัวอาคารของพิพิธภัณฑ์ในส่วนของห้องแรกจะเป็นการจัดแสดงเรื่องของการปลูกต้นหอม ซึ่งมีทั้งภาพ แสง สี และเสียง ซึ่งทำให้ทั้งผู้ชม แม้แต่เด็กๆ เองถ้ามาเที่ยวก็สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย โดยการจัดแสดงได้นำทั้งรูปที่เป็นภาพถ่ายจริงของขั้นตอนการปลูกหอมตั้งแต่เริ่มเตรียมดินจนถึงการเก็บเกี่ยว และบางส่วนมีรูปการ์ตูนเข้ามาช่วยสื่อสารดึงดูดสร้างความสนใจให้กับเด็กๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ตาม เช่นเดียวกับสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ ที่ใช้รูปต้นหอม (เหมือนต้นหอมผู้ชายปั่นและผู้หญิงซ้อนจักยาน) ซึ่งนักท่องเที่ยวทุกคนอดที่จะถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกไม่ได้

เมื่อเราได้และเมื่อฟังคำบรรยายจากเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ก็ทราบว่า ต.ซานซิง นั้นมีชื่อเสียงมากเรื่องของการปลูกต้นหอมที่มีคุณภาพดีที่สุดในไต้หวัน ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีความเหมาะสม ดินมีลักษณะร่วนปนทราย ทำให้การระบายน้ำดี มีน้ำดี (ซึ่งทางภาครัฐของไต้หวันค่อนข้างเอาใจใส่และดูแลเรื่องของระบบชลประทานค่อนข้างดีมาก) โดยต้นหอมของที่นี่มีลักษณะโดดเด่นที่สุดคือ “ส่วนของลำต้นส่วนที่เป็นสีขาว จะมีความยาวมากเป็นพิเศษ คือยาว 15-20 เซนติเมตรเลยทีเดียว ลำต้นยาวและรสหวาน มีกลิ่นหอม มีรสไม่เผ็ดมากเกินไป ยังมีคุณสมบัติที่มีคุณภาพเผ็ดอ่อน ลำต้นมีความยาวมากยาวเฉลี่ย 40 เซนติเมตร” (ต้นหอมของไต้หวัน จะเป็นคนละชนิดกับต้นหอมของไทย ซึ่งต้นหอมไทยต้นจะเล็กและสั้นกว่ามาก

ส่วนที่เป็นหัวจะกลมโตกว่า รสชาติเผ็ด และกลิ่นฉุน ต้นหอมไต้หวันจะมีลักษณะเหมือนกับต้นหอมญี่ปุ่นมากกว่า แต่อาจจะด้วยการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ต้นหอมให้มีลักษณะเป็นที่ต้องการของคนไต้หวัน จึงมองดูว่าต้นหอมไต้หวันต้นจะดูเล็กกว่าต้นหอมญี่ปุ่น)

ราคาของต้นหอมก็จำขึ้นกับความยาวของลำต้นส่วนที่เป็นสีขาว โดยจะแบ่งเป็นสองประเภทคือ “ต้นหอมเกรดเอ” คือมีส่วนของลำต้นสีขาวยาว 15 เซนติเมตรขึ้นไป ถือว่าเป็นต้นหอมได้คุณภาพ ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และรู้จักต้นหอมของ ต.ซานซิง ลำต้นสีขาวจะต้องยาวนั้นเกษตรกรจะได้ราคาค่อนข้างสูง ส่วน “ต้นหอมเกรดรอง” คือความยาวของลำต้นส่วนที่เป็นสีขาวมีความยาวไม่ถึง 15 เซนติเมตร และความยาวรวมของลำต้นและใบสั้นตามที่กำหนด ต้นหอมเหล่านี้จะถูกขายตามท้องตลาดทั่วไป ตลาดนัด ร้านอาหาร และนำไปแปรรูปเป็นขนมชนิดต่างๆ หรือนำไปแปรรูปทำเป็นผง เป็นต้น

ต้นหอมเกรดรองที่ลำต้นสั้นจะมีราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องเอาใจใส่ในการปลูกต้นหอมของตนเองให้มากขึ้น จึงจะได้ราคาดี ในการรับซื้อที่นี่จะมีสหกรณ์เป็นคนกำหนดราคาโดยจะประกันราคาให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก (ไต้หวันจะใช้ระบบของสหกรณ์ดำเนินงานด้านการเกษตรทั้งหมดและมีประสิทธิภาพสูงมากทั้งเรื่องราคาที่เกษตรกรที่ควรจะได้รับ, การบริหารจัดการผลผลิต และการกระจายสินค้า โดยแต่ละสหกรณ์ในไต้หวันจะมีการแข่งขันกันเองเพื่อให้เกษตรกรของตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุด)

ระบบการปลูกต้นหอมของไต้หวัน จะใช้วิธีการเพาะเมล็ดก่อนเมื่อได้ต้นกล้าต้นหอมแล้วจึงย้ายปลูกลงแปลงการเตรียมแปลงของไต้หวันก็คล้ายกับบ้านเราแต่ที่ไต้หวันจะใช้รถเตรียมแปลงขนาดเล็ก (ไม่ได้ใช้รถไถเหมือนบ้านเรา) ซึ่งการเตรียมแปลงค่อนข้างมีความประณีตมาก เครื่องขึ้นแปลงสามารถพรวนและตีดินได้ละเอียด ประกอบกับสภาพดินที่ออกจะเป็นดินร่วนปนทราย และการเตรียมแปลงที่ดีทำให้แปลงมีการระบายน้ำที่ดี ซึ่งเกษตรกรไต้หวันจำเป็นต้องพิถีพิถันเรื่องการเตรียมแปลงมากเป็นพิเศษเนื่องจากไต้หวันฝนตกบ่อย เมื่อแปลงปลูกพร้อม เกษตรกรก็จะนำ “ฟางข้าว” (ไต้หวันไม่เผาฟางข้าวและตอซังเหมือนบ้านเรา) มาคลุมแปลงให้ทั่วทั้งแปลงเขาบอกว่าการคลุมแปลงด้วยฟางข้าวมีประโยชน์มาก คือ ฟางข้าวจะช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับแปลงปลูกเพราะสภาพอากาศของไต้หวันในช่วงกลางวันอากาศค่อนข้างร้อนมาก

การย้ายกล้าปลูกในช่วงแรกต้องระวังอย่าให้แปลงปลูกต้นหอมขาดน้ำ แปลงต้องมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอด ฟางข้าวยังช่วยลดปัญหาเรื่องของวัชพืชที่ขึ้นบนแปลงได้เป็นอย่างดี ลดเวลาและแรงงานมากำจัดวัชพืชไปได้เป็นอย่างมาก และอีกประการเมื่อฟางข้าวผุเปื่อยก็จะถูกไถกลบในแปลงปลูกทำให้โครงสร้างดินดี นี่เป็นประโยชน์ของฟางข้าว ดังนั้นเกษตรกรที่ทำนาถ้าไม่ไถกลบ ก็จะเก็บฟางข้าวไว้ใช้คลุมแปลงปลูกผัก หลังจากคลุมแปลงด้วยฟางเรียบร้อยแล้ว และกล้าต้นหอมที่เพาะเอาไว้พร้อมคือ มีใบจริง 2-3 ใบ และมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ก็สามารถย้ายปลูกได้ การย้ายกล้าปลูก เกษตรกรจะมีเหล็กรูปตัวที (T) ซึ่งเหล็กรูปตัวทีนี้ จะเป็นตัวที่เกษตรกรจะใช้แทงดินนำร่องให้ดินเป็นรูลึกประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วเสียบกล้าลงไปในรูดังกล่าวแล้วใช้มือบีบดินให้แน่นเพียงเท่านี้เป็นอันเสร็จขั้นตอนการปลูก

ส่วนการให้น้ำเท่าที่สังเกตจะมีการวางระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ ในเรื่องของการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูในแปลงปลูก จะมีการวางกับดักล่อแมลงโดยเฉพาะแมลงวันทอง จะเป็นแบบกล่องล่อให้แมลงวันทองเข้าไปแล้วตกไปตายในกล่องล่อแมลงที่มีน้ำบรรจุอยู่ (น้ำผสมกับฟีโรโมนช่วยดึงดูดแมลงวันทองเข้ามาในกับดัก) โดยไต้หวันให้ความสำคัญเรื่องของความปลอดภัยในการทำการเกษตรมาก มีการตรวจสอบสารตกค้าง อย่างการปลูกต้นหอมเองก็จะยึดหลัก TGAP (Taiwan Good Agriculture Practices) หรือ การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมของไต้หวัน และแนวโน้มการบริโภคคนไต้หวันมีความต้องการสินค้าอินทรีย์มากขึ้นเรื่อยๆ ภาครัฐบาลไต้หวันก็พยายามผลักดันไม่ให้เกษตรกรใช้สารเคมีและผลิตสินค้าอินทรีย์

ในการปลูกเลี้ยงต้นหอม จนเก็บเกี่ยวได้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 100 วัน เกษตรกรก็จะทำการถอนต้นหอมออกจากแปลงปลูกและนำไปล้างทำความสำอาดในบ่อน้ำ ทำการลอกใบที่ไม่ดีออก จากนั้นมัดเข้ากำ และบรรจุลงกล่องส่งจำหน่ายสหกรณ์ ราคาต้นหอมนั้น ถ้าในฤดูหนาวที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก จะเฉลี่ยอยู่ที่ กิโลกรัมละ 50-100 บาท แต่ถ้าในช่วงฤดูร้อนหรือพายุเข้า ต้นหอมจะมีราคาสูงมาก คือ สูงสุดอาจจะ กิโลกรัมละ 500-600 บาท ทีเดียว

“ห้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากต้นหอม” เป็นห้องที่คณะดูงานต้องทึ่งถึงความพยายามและตั้งใจของทางเกษตรกร, สหกรณ์ และภาครัฐบาล ไต้หวันที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ จากต้นหอมมากกว่า 50 ชนิด เช่น “น้ำมันพืชต้นหอม” ที่เวลาเราทำกับข้าวเช่นผัดผักอยากให้อาหารหอมขึ้นก็ใส่น้ำมันต้นหอมไปเล็กน้อยเท่านั้น , “ไอศกรีมต้นหอม” เป็นไอศกรีมที่ใช้ผงที่ได้มาจากต้นหอมบดแห้งก็อร่อยได้รสชาติและกลิ่นต้นหอมอ่อนๆ , “ชารากต้นหอม” เป็นการนำส่วนของรากต้นหอมมาอบแห้งนำมาชงกับน้ำร้อนดื่มบำรุงร่างกายและแก้หวัดได้เป็นอย่างดี, ซอสต้นหอม, คุกกี้ต้นหอม, ทองม้วนต้นหอม, เส้นก๋วยเตี๋ยวต้นหอม, และอีกมากมายให้เลือกซื้อเป็นของฝาก

“ร้านต้นหอม” เป็นร้านที่อยู่ด้านนอกอาคารซึ่งเป็นร้านค้าที่จำหน่ายอาหารที่ทำจากต้นหอม หรือมีต้นหอมเป็นส่วนผสม ร้านจะบอกเคล็ดลับเกี่ยวกับวิธีการใช้ต้นหอมที่ใช้เป็นส่วนผสมหลักในอาหาร ตัวอย่างเช่น ขนมทอดที่มีไส้เป็นต้นหอม (คล้ายขนมกุ่ยฉ่ายทอด) , บะหมี่ ที่ขึ้นชื่อมาก ซึ่งเส้นมีส่วนผสมของต้นหอม, น้ำซุปที่ใช้รากต้นหอม ที่ส่วนมากมักจะทิ้งไปนำรากต้นหอมมาปรุงด้วยเห็ดซึ่งจะให้กลิ่นหอมเป็นพิเศษ, ผัดมะเขือยาวใส่ต้นหอม เป็นต้น

คนไต้หวันเวลาทำอาหารมักจะนิยมใส่ต้นหอมด้วย เพราะนอกจะช่วยเรื่องของความหอมและรสชาติแล้ว คนไต้หวันมีความเชื่อว่า “ต้นหอม” เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง, โชคดี, และสติปัญญาดีอีกด้วย

ในบรรดาผักพื้นบ้านที่มีรสเปรี้ยวทั้งหลายนั้น ผักที่เป็นที่นิยมรับประทานมากที่สุดของชาวอีสาน น่าจะเป็นผักติ้วขาว ใบส้มโมง และยอดมะกอกป่า โดยเรามักจะพบเห็นแม่ค้านำมาวางขายตามตลาดสดหรือตลาดนัดอยู่เสมอๆ โดยที่ยอดผักติ้วกับยอดมะกอกอาจจะเห็นได้ค่อนข้างบ่อย ส่วนใบส้มโมง (หรือบางจังหวัดเรียกว่า ผักโมง หรือหมากโมง) นั้น อาจจะเห็นได้ไม่บ่อยนัก แล้วแต่ที่ตั้งของจังหวัดนั้นๆ หากจังหวัดไหนมีป่าธรรมชาติเหลืออยู่มากก็อาจจะพบเห็นได้บ่อย แต่หากจังหวัดไหนเหลือป่าธรรมชาติอยู่น้อยก็นานๆ ครั้ง จึงจะได้เห็นผักรสเปรี้ยวชนิดที่ว่านี้

แท้ที่จริงผักชนิดนี้เป็นผักที่พบเห็นได้ในภาคอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคใต้และภาคตะวันออก เพียงแต่ว่า ชาวบ้านเรียกชื่อผักส้มโมงต่างออกไป ในเทคโนโลยีชาวบ้านฉบับนี้ เราจะลองไปติดตามดูว่า ผักส้มโมง ผักโมง หรือหมากโมง นั้น ชาวบ้านในภาคอื่นเรียกชื่อว่าอย่างไร?

ส้มโมง หรือ ชะมวง

ส้มโมง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia cowa Roxb. ex DC. อยู่ในวงศ์ Guttiferae วงศ์เดียวกันกับมะขามแขก มังคุด และมะพูด ชื่อที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางก็คือ ชะมวง หรือที่ชาวใต้เรียกว่า ใบมวง หรือ กะมวง นั่นเอง ซึ่งพอเอ่ยชื่อ ชะมวง ออกมา หลายคนต่างก็พากันร้อง อ๋อ ขึ้นมาทันที

เพราะหลายคนเคยลิ้มรสของแกงหมูชะมวง แกงส้มไข่ปลาเรียวเซียว แกงเนื้อใส่ใบชะมวง ต้มเนื้อใบชะมวง ต้มส้ม หรือยำชนิดต่างๆ มาแล้ว โดยเฉพาะชาวใต้และชาวจันทบุรีคงจะรู้ได้ดีว่าตำรับอาหารที่ได้เอ่ยชื่อมานั้นมีรสโอชาขนาดไหน แม้แต่คนเขียนเอง ขณะที่เขียนเรื่องนี้อยู่ก็ยังต้องกลืนน้ำลายลงคอไปพลางๆ เพราะอัตลักษณ์เฉพาะตัว (รสเปรี้ยว) ของผักดังกล่าว

ส้มโมง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 15-20 เมตร เรือนยอดมีลักษณะเป็นพุ่มรูปกรวยต่ำ แตกกิ่งชั้นเดียว เปลือกเรียบ สีน้ำตาลปนเทาเข้ม เปลือกชั้นในสีแดง มีน้ำยางสีเหลืองซึมออกมาเป็นเม็ดๆ, ใบเดี่ยว รูปรีแกมรูปหอก ผิวใบเกลี้ยง ปลายใบเรียวแหลม ใบอ่อนมีสีแดงอมเหลือง เมื่อแห้งเป็นสีน้ำตาลแกมชมพู, ดอก อยู่ต่างต้นและมีกลิ่นหอม

ผล รูปกลมแกมรูปไข่ ลักษณะคล้ายผลมังคุด เมื่อสุกสีเหลืองส้ม เมื่อแห้งมีสีดำ และมีเมล็ดในสีส้ม ระยะเวลาที่ออกดอก คือ เดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน และติดผล (ช่วงผลแก่) ราวๆ เดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ว่าดอกอยู่ต่างต้น หมายความว่า มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียแยกอยู่คนละต้น

ในเมื่อพี่น้องของเรา ในเกือบทุกภาค ต่างก็รู้จักส้มโมง หรือชะมวงเป็นอย่างดี อีกทั้งยังรู้จักวิธีการที่จะนำเอาใบเพสลาดของชะมวงไปปรุงอาหารในตำรับต่างๆ เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เหตุใดเล่าที่เกษตรกรของเราจะไม่คิดปลูกชะมวงขึ้นไว้ในไร่ในสวนของตนเอง หากปลูกน้อยก็พอได้ใช้ประกอบอาหาร ไม่ต้องซื้อผักจากตลาด ประหยัดเงินในกระเป๋าได้

แต่หากปลูกมาก ก็น่าจะนับเป็นไม้เศรษฐกิจ ใช้เป็นสินค้าวางตามตลาดนัดใกล้บ้าน สร้างเงินให้แก่ครอบครัวได้ หรือคนที่มีหัวก้าวหน้าหน่อย ก็อาจจะนำเมล็ดมาเพาะต้นพันธุ์ขายได้ เป็นการเผื่อแผ่แก่เกษตรกรรายอื่นและเป็นการหารายได้ไปในเวลาเดียวกัน แม้จะขายได้เพียงต้นละ 20-30 บาท ก็นับว่าไม่เหนื่อยเปล่า

เพื่อว่าคนที่ยังไม่เคยชิมต้มขาหมู (ใส่ใบชะมวง) แบบชาวจังหวัดระยอง หรือต้มส้มปลาไหล ต้มเครื่องใน หรือต้มส้มปลาแห้ง หรือต้มกระดูกหมู-กระดูกวัว (ตำรับชาวใต้) ก็จะมีโอกาสได้ชิมเพิ่มมากขึ้น

คุณค่าสารอาหารจากใบอ่อนชะมวง

กองโภชนาการ กรมอนามัย เคยศึกษาคุณค่าสารอาหารจากใบอ่อนของชะมวง พบว่า ใบชะมวง 100 กรัม พบว่ามีสารอาหารหลักๆ คือ พลังงาน 51 กิโลแคลอรี โปรตีน 1.9 กรัม ไขมัน 0.6 กรัม คาร์โบไฮเดรต 9.6 กรัม แคลเซียม 27 มิลลิกรัม วิตามินเอ 7,333 หน่วยสากล (I.U.) และยังมีวิตามินบี 1 วิตามินซี และไนอะซิน

ส่วนที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้นั้น นอกจากใบเพสลาดและยอดอ่อนแล้ว ผลอ่อนก็ยังนำมาใช้ในการประกอบอาหารได้ นอกจากนี้ ส่วนต่างๆ ของชะมวงก็ยังมีรสเปรี้ยวที่มีสรรพคุณทางยาอีกด้วย กล่าวคือ ใบและผล-ใช้กัดเสมหะ แก้ไข้ ระบายท้อง และแก้ธาตุพิการ, ผลอ่อน-แก้ไข้ ระบายท้อง กัดเสมหะ ฟอกโลหิต และราก ใช้แก้ไข้

โดยธรรมชาติแล้ว ชะมวงเป็นไม้ที่พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในป่าดิบชื้นที่ลุ่มต่ำ และแถวป่าพรุทางภาคใต้และภาคตะวันออก ส่วนแถวป่าในเขตภูพานก็ทราบว่ามีส้มโมงขึ้นอยู่ประปราย แต่ไม่ทราบว่าปัจจุบันนี้จะเหลืออยู่มากน้อยขนาดไหน ถ้ามันเหลืออยู่น้อยนัก พี่น้องชาวอีสานก็เร่งช่วยกันปลูกก็สิ้นเรื่อง ในไม่ช้าป่าแถบอีสานก็จะมีส้มโมงให้เก็บกินเช่นเดียวกับในอดีต

นอกจากชะมวงแล้ว ยังมีไม้ในวงศ์เดียวกันกับชะมวงอีก แต่ต่างชนิดกัน เรียกชื่อว่า ชะมวงป่า หรือชะมวงกา (นราธิวาส) เป็นไม้ที่พบมากในแถบภาคใต้ มีลักษณะคล้ายๆ กับชะมวง ผลและใบ สามารถนำมาแกงส้ม ใส่ในต้มแกงได้ หรือรับประทานเป็นผักสดได้ ชะมวงป่า มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia bancana Mig. ก็ขอนำมาบอกกล่าวไว้เป็นของแถม

คนที่มีต้นชะมวง หรือต้นส้มโมงอยู่แล้ว ก็ขอให้ท่านจงเข้าใจว่า ท่านมีของดีไว้ในครอบครองแล้ว และจงอย่ารีรอที่จะศึกษาตำรับอาหารต่างๆ ที่ปรุงด้วยใบและผลอ่อนของชะมวงให้มากขึ้น คนอีสานที่อาจจะคุ้นเคยอยู่กับอาหารประเภทลาบ พล่า และส้มตำ หรือแม้แต่แจ่วฮ้อน ก็ควรจะศึกษาอาหารที่ใช้ใบชะมวงตามตำรับชาวใต้ หรือชาวภาคตะวันออก เช่น แกงหมูชะมวง ต้มขาหมู หรือต้มส้มต่างๆ ไว้บ้าง

และในทางกลับกัน พี่น้องชาวใต้หรือชาวภาคตะวันออก ก็อาจจะศึกษาการปรุงอาหารตำรับอีสานที่ใช้ใบชะมวงเป็นผักแกล้มหรือผักปรุงรสไว้บ้าง หากทำได้เช่นนี้ ไม่ว่าเราจะเดินทางไปในภาคไหน เราก็จะหาอาหารตำรับที่เข้ากับใบชะมวงได้ทั่วไป การใช้ใบชะมวงและผลชะมวงก็จะกว้างขวางขึ้น เกษตรกรผู้ปลูกชะมวงก็จะมีต้นไม้เป็นที่พึ่งได้อีกชนิดหนึ่ง เพราะตลาดกว้างขึ้นนั่นเอง

ต้นส้มโมง ส้มมวง หมากโมง หรือชะมวง หากเริ่มปลูกในวันนี้ อีกเพียง 2-3 ปีข้างหน้า ก็จะมีผักชะมวงไว้รับประทานแล้ว ฉะนั้น หากใครคิดได้ในวันนี้ หาต้นพันธุ์มาปลูกเสีย ในอนาคตเราก็จะไม่น้อยหน้าพี่น้องชาวใต้ ชาวตะวันออก หรือแม้แต่ชาวอีสานอีกต่อไป

พอเข้าหน้าหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ภูมิอากาศโดยเฉลี่ยในภาคเหนือจะหนาวเย็นกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดพาเอาความหนาวเย็นมาจากประเทศจีน ซึ่งต้องผ่านภาคเหนือก่อน อุณหภูมิในภาคเหนือจึงเปลี่ยนแปลงก่อนภาคอื่น ในต่างจังหวัดพื้นที่โล่งประมาณปลายเดือนตุลาคมจะพบเห็นแมลงปอบินโฉบฉวัดเฉวียนไปมาในตอนเช้าๆ ก็จะเป็นสัญลักษณ์ให้เรารู้ว่า ฤดูหนาวจะเริ่มมาเยือนอีกไม่นาน ให้เตรียมตัวเพื่อรับหน้าหนาว

แต่ในเมืองไม่มีแมลงปอเป็นทูตของฤดูหนาวมาบอก ก็จะรู้ตัวเมื่อฤดูหนาวมาถึงแล้วโดยไม่ได้เตรียมตัว แต่บรรยากาศในเมืองจะมีสีสันเปลี่ยนแปลงไป โดยดูจากร้านค้าจะพบว่าร่มและเสื้อกันฝนที่เคยวางเด่นไว้หน้าร้านจะเปลี่ยนเป็นเสื้อกันหนาวหลากสีสัน โดยเฉพาะเสื้อกันหนาวมือสองจากต่างประเทศแขวนขายกันให้เกลื่อนเมือง เสื้อกันหนาวมือสองที่เอ็กซ์ปอร์ตมาจากต่างประเทศ (ตลาดโรงเกลือ) นับว่าเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของความหนาวในเมืองได้เป็นอย่างดี

สัญลักษณ์อีกอย่างที่บ่งบอกสีสันฤดูหนาวได้เป็นอย่างดี คือ ดอกไม้นานาพรรณที่เกษตรกรชาวสวนดอกไม้จากภาคเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่หน้าฝนก็จะพร้อมใจกันผลิบานกันในหน้าหนาวอย่างพร้อมเพรียง เราจะเห็นดอกไม้เมืองหนาวต่างๆ วางเรียงรายอยู่ตามร้านต้นไม้ให้เห็นทุกร้าน โดยต้นคริสต์มาสสีแดงสดใสวางเป็นแถวดูเด่นตา นอกจากนี้ ยังมีต้นคริสต์มาสสีเหลือง และชมพูแซมตาให้ดูได้อีก ไม้ดอกกระถางอีกชนิดหนึ่งที่เห็นได้เฉพาะหน้าหนาว ซึ่งมีสีสันฉูดฉาดมากมายให้ได้เลือกซื้อหา ได้แก่ เบญจมาศกระถาง

เบญจมาศ (Chrysanthemum Dendranthema grandiflora) เป็นไม้ดอกล้มลุก มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีนและญี่ปุ่น ถ้าแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์ก็จะแบ่งได้เป็นเบญจมาศที่ปลูกเพื่อตัดดอกกับเบญจมาศที่ปลูกเพื่อเป็นไม้กระถาง ในปัจจุบันมีการพัฒนาพันธุ์ของเบญจมาศกระถางกันมากมาย นอกจากความหลากหลายสีสันแล้ว ยังมีความหลากหลายในลักษณะของรูปทรงดอกอีกด้วย และการแตกทรงพุ่มและการเจริญเติบโตของเบญจมาศกระถางก็ยังมีความแตกต่างกัน

โครงการพัฒนาบ้านโปงตามพระราชดำริ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ที่บ้านโปง ในปี พ.ศ. 2527 ด้วยทรงทราบว่าราษฎรชาวบ้านโปงมีการอนุรักษ์ป่าและต้นน้ำลำธารเป็นอย่างดี เนื่องจากบริเวณแถบนี้เป็นแหล่งต้นน้ำของห้วยโจ้ ซึ่งจะไหลไปรวมกันเป็นแม่น้ำแม่ปิง ได้มีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดหาพืชพรรณที่เหมาะสมในการปลูกเลี้ยงมาให้ชาวบ้านแม่โปง เพื่อจะได้มีอาชีพเป็นหลักเป็นฐานโดยไม่ต้องไปรบกวนแหล่งต้นน้ำลำธาร

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยฝ่ายพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร จึงได้รับสนองพระราชดำริโดยการจัดตั้งเป็นโครงการพัฒนาบ้านโปงตามพระราชดำริ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การปลูกเลี้ยงเบญจมาศกระถางและเบญจมาศตัดดอก เพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้านบ้านโปงและชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง เมื่อปี พ.ศ. 2530

อาจารย์ธนวัฒน์ รอดขาว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ซึ่งจบปริญญาตรี สาขาพืชสวน จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เข้ามารับผิดชอบดูแลด้านการผลิตและอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกเลี้ยงเบญจมาศกระถาง และเบญจมาศตัดดอกของโครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ต่อมาได้ไปศึกษาต่อทางด้านการเพาะเนื้อเยื่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อมาพัฒนางานของเบญจมาศทางด้านการขยายพันธุ์ เนื่องจากการขยายพันธุ์ด้วยการเด็ดยอดปักชำไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตให้ได้มากเพียงพอสำหรับการทำการค้าได้

ต้นพันธุ์เบญจมาศกระถาง

มาจากการปั่นตา

จากที่เคยมีการขยายพันธุ์เบญจมาศด้วยการปักชำยอด ซึ่งได้ในปริมาณน้อย และมีโรครบกวนมาก ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนจากวิธีเดิมเป็นการขยายพันธุ์ต้นเบญจมาศด้วยการนำยอดไปปั่นเนื้อเยื่อ เนื่องจากโครงการต้องการผลิตต้นพันธุ์จำนวนมากเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปเป็นต้นกล้าได้พอเพียงกับความต้องการ จึงเป็นที่แน่ใจได้ว่าต้นกล้าเบญจมาศที่ได้จะเป็นต้นกล้าที่มีความสะอาดปลอดเชื้อโรค ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเริ่มแรกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ เมื่อนำต้นพันธุ์เบญจมาศมาลงปลูกในโรงเรือนอนุบาลตามที่เตรียมไว้อย่างดีแล้ว ประมาณ 1 เดือน จึงนำลงมาชำในกระถาง 5 นิ้ว ที่ใส่วัสดุปลูกพร้อม

วัสดุปลูก

การเตรียมวัสดุปลูกเป็นสิ่งสำคัญ coresysit.com วัสดุที่ใช้ปลูกจะประกอบด้วย ขุยมะพร้าว 2 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน ทรายหยาบและปุ๋ยหมักอย่างละ 1 ส่วน นอกจากวัสดุปลูกแล้วยังต้องใช้ปุ๋ยรองพื้น คือปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต สูตร 0-46-0 อีกจำนวน 0.5 กิโลกรัม ผสมให้เข้ากันกับเครื่องปลูก รดน้ำให้พอชุ่ม แล้วนำวัสดุปลูกใส่กระถางพลาสติกดำ 5 นิ้ว เพียง 2 ใน 3 ส่วน ของกระถางเท่านั้น แล้วใส่ปุ๋ยละลายช้าลงไปในกระถาง ประมาณ 15 กรัม ต่อกระถาง แล้วจึงเติมวัสดุปลูกจนเต็มกระถาง

และนำต้นพันธุ์มาปักชำในกระถางให้ครบ 5 ต้น โดยปักเอียงออกนอกขอบกระถาง ประมาณ 45 องศา และชำลงลึกประมาณ 1/3 ของความยาวต้น ปลูกเลี้ยงอยู่ในโรงเรือนอีกประมาณ 20 วัน จนกว่าจะออกรากและต้นสามารถตั้งตัวได้ จึงนำออกมาปลูกไว้กลางแจ้ง โดยปูพลาสติกดำหรือซาแรนรองบนพื้นป้องกันหญ้าที่จะเกิด

ต้องเด็ดยอด เพื่อให้แตกกอ

หากต้องการให้เบญจมาศกระถางแตกกอดี จะต้องเด็ดยอด เมื่อต้นตั้งตัวได้ดีแล้ว และสูงประมาณ 5-6 เซนติเมตร เมื่อตรวจดูกระถางว่ามีต้นครบหรือไม่ ถ้าไม่ครบต้องปลูกต้นซ่อมให้ครบ แล้วจึงเริ่มเด็ดยอดด้วยมือ ไม่ต้องใช้กรรไกร ก็จะเหลือต้นเบญจมาศเท่ากันทุกต้นในกระถาง เพราะจะทำให้กิ่งแขนงใหม่ที่แตกออกมามีความยาวใกล้เคียงเสมอกันหมด

หลังจากเด็ดยอดเบญจมาศแล้วประมาณ 15 วัน กิ่งแขนงก็จะเริ่มแตกออกมายอดละหลายกิ่ง รดน้ำใส่ปุ๋ยตามปกติจากการเริ่มปลูกตอนเดือนกรกฎาคมแล้วต้นเดือนธันวาคมเบญจมาศกระถางก็ผลิดอกพร้อมจำหน่าย โครงการของเราจะพิถีพิถันในการจำหน่าย เราจะคัดเลือกกระถางที่สวยสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งจะต้องมีต้นเบญจมาศครบและออกดอกสมบูรณ์ทั้ง 5 ต้น ตามที่ได้ปลูกไว้Ž ซึ่งอันนี้ผมได้ไปดูกระถางที่คัดออก ก็เห็นสวยเต็มกระถางดี จึงถามว่า ทำไม ต้องคัดออก จึงได้คำตอบนี้มา แสดงว่าคุณภาพต้นเบญจมาศของโครงการนี้มั่นใจได้ว่าสวยสมบูรณ์แน่นอน

เบญจมาศกระถางนี้ถึงเกษตรกรอยากทำก็ไม่ใช่ทำกันได้ทุกภาคของประเทศไทย จะทำได้แค่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางจังหวัดเท่านั้น เพราะในภาคอื่นความหนาวเย็นของอากาศมีไม่เพียงพอที่จะให้เบญจมาศออกดอกพรั่งพรูสวยงาม สามารถทำเป็นการค้าได้ และการซื้อหาไปก็เพื่อดูความสวยงามเพียงในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 1 เดือน เท่านั้น หลังจากนั้น ก็จำเป็นต้องปล่อยให้ตายไป เพราะไม่สามารถนำมาปลูกเลี้ยงได้อีก เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้นเพียงฤดูเดียว เหมาะสำหรับนำมาตกแต่งสถานที่ทั้งกลางแจ้งหรือในอาคาร สำนักงาน ในช่วงเทศกาล หรือวาระสำคัญ เพิ่มสีสันบรรยากาศให้กับงานได้เป็นอย่างดี

ถ้าเกษตรกรกลุ่มใดต้องการไปศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเบญจมาศกระถาง หรือเบญมาศตัดดอก ในโครงการพัฒนาบ้านโปงตามพระราชดำริ เพื่อนำความรู้นี้ไปปลูกเลี้ยงเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ในชุมชน สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่