กล่าวได้ว่า มะนาวแป้นสิรินนท์ ให้ผลผลิตคุณภาพดีเหมาะสำหรับ

ปลูกเชิงการค้า สู้กับมะนาวสายพันธุ์อื่นๆ ได้อย่างสบาย ปัจจุบันจุดเด่นในเรื่องกลิ่นหอมและรสชาติความเปรี้ยวของมะนาวแป้นสิรินนท์ โดนใจกลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร พ่อครัวนิยมใช้มะนาวแป้นสิรินนท์ไปปรุงรสในหม้อต้มยำและผัดไทย เพราะทำให้อาหารทุกจานมีกลิ่นหอมของมะนาว มีรสชาติอร่อยจัดจ้านจนลืมไม่ลงทีเดียว

การันตีคุณภาพทุกต้น

มะนาวแป้นสิรินนท์ มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากมะนาวในท้องตลาดทั่วไปก็คือ ไม่ต้องดูแลมาก สำหรับผู้สนใจที่ไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรมาก่อนเลยก็ตาม ก็สามารถปลูกดูแลมะนาวพันธุ์นี้ได้อย่างสบาย เพราะคุณเล็กได้ทำแผ่นพับเพื่อแนะนำขั้นตอนการดูแลต้นมะนาวให้กับลูกค้าทุกรายอยู่แล้ว หากใครซื้อกิ่งพันธุ์มะนาวแป้นสิรินนท์ไป บำรุงรักษาตามคำแนะนำ มั่นใจได้เลยว่า ภายในระยะเวลา 8-12 เดือน จะเห็นผลผลิตเต็มต้นอย่างแน่นอน

มะนาวแป้นสิรินนท์มีคุณภาพดี ตรงตามความต้องการตลาด เพราะผลิตกิ่งพันธุ์โดยใช้วิธีการเสียบยอดแบบปลอดเชื้อ บนตอส้มโอเพาะเมล็ด ทำให้ต้นมะนาวมีรากที่แข็งแรงทนทาน โตไว หลังจากเสียบกิ่งเสร็จแล้ว นำไปคลุมถุงพลาสติก เพื่อรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในสภาพคงที่ ยอดจะได้ไม่เหี่ยว ซึ่งการขยายพันธุ์แบบวิธีนี้ อัตราการติด จะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากเกือบ 100% กิ่งที่เสียบจะติดยอดภายในระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ และเลี้ยงกิ่งพันธุ์ต่อไปอีก 2 เดือน เพื่อดูแลให้ต้นมะนาวมีระบบรากที่แข็งแรง ใบแตกยอดก่อน จึงค่อยนำกิ่งพันธุ์ออกจำหน่ายให้แก่ผู้ที่สนใจ

หากใครมีข้อสงสัย หรือสนใจอยากได้มะนาวแป้นสิรินนท์ไปทดลองปลูก สามารถติดต่อสั่งซื้อได้โดยตรงกับ คุณเล็ก โทร. 086-569-6225 หรือ คุณกัลยารัตน์ (คุณแดง) ชมฉ่ำ โทร. 084-656-1174 ได้ทุกวัน หรือเยี่ยมชมแปลงปลูกมะนาวแป้นสิรินนท์ได้ที่ สวนบางไผ่พันธุ์ไม้ เลขที่ 113/4 หมู่ที่ 4 ซอยวัดสังฆทาน ถนนนครอินทร์ พระราม 5 ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี

อยู่ว่างๆ เพราะเกษียณอายุ เลยมีเวลาฟังวิทยุมากขึ้น ส่วนใหญ่ ถ้ามีการวิจารณ์เศรษฐกิจของประเทศแล้ว มักจะพูดถึงการเกษตร ว่าผลผลิตข้าวของเราต่ำกว่าประเทศอื่นได้แค่ 30 ถัง ต่อไร่ หรือพื้นที่การเกษตรเราเล็กเกินไป ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ยากจน จากหัวข้อข่าวความคิดเห็นเหล่านี้ เป็นแรงบันดาลใจให้รื้อฟื้นความคิดเห็นเล็กๆ น้อยๆ จากความจำเก่าๆ ออกมา

พูดถึงผลผลิตการเกษตรแล้ว เวลาสอบถามเกษตรกร มักจะบอกผลผลิตให้ต่ำๆ และต้นทุนสูง เพื่อที่รัฐบาลจะได้ให้ความช่วยเหลือ แต่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าแบ่งเกษตรกรออกเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน พื้นที่อุดมสมบูรณ์ภาคกลาง กับพื้นที่ในเขตน้ำฝนภาคอีสานและภาคเหนือ กับพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติคือน้ำท่วมประจำ จะเห็นว่าเกษตรกรในเขตชลประทาน ปลูกข้าวได้ผลผลิตสูง เพราะน้ำอุดมสมบูรณ์ ได้ผลผลิตร่วม 80 ถัง ต่อไร่ขึ้นไป แต่พื้นที่ในเขตน้ำฝน โดยเฉพาะที่ปลูกข้าวหอมมะลิหรือข้าวเหนียว ผลผลิตอาจจะต่ำกว่าเขตชลประทาน แม้พันธุ์ข้าวหอมมะลิหรือข้าวเหนียว ซึ่งลักษณะพันธุ์จะให้ผลผลิตต่ำ แต่ให้คุณภาพของเมล็ดดี จำหน่ายได้ราคาสูง น่ารับประทาน

ไม่ว่าจะเป็นพืชอะไร มักจะเป็นแบบนี้ คืออะไรที่ให้ผลผลิตสูง จะมีคุณภาพสู้พวกผลผลิตต่ำแต่ลักษณะคุณภาพดีไม่ได้ สำหรับพื้นที่ๆ ประสบภัยธรรมชาติ น้ำท่วมประจำ เกษตรกรอาจจะไม่ได้ปลูกข้าวในหน้าฝน รอไปทำนาปรัง หรือปลูกไปเสียหายไป ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยระดับประเทศยิ่งต่ำลง ทั้งนี้ ไม่ใช่ชาวนาทุกคนที่ได้ผลผลิตต่ำและยากจน

พูดถึงการทำการเกษตรแปลงใหญ่นั้น เราคงไม่ได้คิดถึงประเทศในยุโรป หรืออเมริกา หรือประเทศอื่นๆ ที่เกษตรกรมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล เพราะโครงสร้างสังคมไม่เหมือนกัน เพราะประเทศเรา เกษตรกรมีเป็นจำนวนมาก สมัยก่อนทำการเกษตรมาแต่ดั้งเดิม พอมีลูกมีหลานก็ยกมรดกที่ดินให้ แบ่งออกให้เท่าๆ กันจนมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ แต่เคยมีความคิดว่า เกษตรกรสามารถเอาพื้นที่มารวมกันทำเป็นแปลงใหญ่ๆ อาจจะตีขนาดของที่ดินแต่ละรายเป็นจำนวนหุ้น แต่ทุกคนก็ยังถือครองที่ดินอยู่เหมือนเดิม ของใครของมัน เมื่อได้รายได้ออกมาก็สามารถเฉลี่ยผลตอบแทนออกมาตามจำนวนหุ้นที่ถือ

ประโยชน์ของแปลงใหญ่คือ การจัดการที่สามารถจัดทำเป็นระบบ เหมือนเป็นบริษัท เช่น การใช้พันธุ์พืช การปฏิบัติรักษา หรือการเก็บเกี่ยว โดยทุกขั้นตอนสามารถอาศัยเครื่องมือกลใหญ่ๆ ที่มีประสิทธิภาพทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนลง วิธีนี้จะต้องมีการสร้างทีมงาน เช่น ผู้จัดการฟาร์ม ฝ่ายเครื่องจักรกล ฝ่ายแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว พัฒนาผลผลิต หรือฝ่ายแรงงาน เป็นต้น สำหรับระบบสหกรณ์ก็สามารถแชร์เครื่องมือกันได้ แม้จะมีพื้นที่ฟาร์มของใครของมัน แต่ถ้ารวมเป็นแปลงเดียวกันได้ การจัดการจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

การเพิ่มขนาดธุรกิจอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้เอาพื้นที่มารวมกันและทำได้ง่ายกว่า คือเมื่อได้ผลผลิตเกษตรซึ่งเป็นวัตถุดิบออกมาแล้ว ก็เอามาแปรรูปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหรือของใช้ ในรูปแบบที่ตลาดให้ความสนใจและพยายามส่งขายให้ไกลถึงตลาดปลายทาง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือตั้งแต่วัตถุดิบจากไร่นา เป็นสินค้าถึงตัวผู้บริโภคที่บ้านนั้น เกษตรกรรับทำเองหมดเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้สูงขึ้น ถ้าปลูกอะไรได้แล้วขายเลย ได้ราคาถูก เพราะเป็นเพียงวัตถุดิบเท่านั้น คนที่ซื้อไปก็สบาย ไม่ต้องปลูกเอง เอาวัตถุดิบไปแปรรูปได้กำไรสบายๆ

ซึ่งปัจจุบัน ในประเทศของเราเองมีเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรหลายรายมีความรู้เรื่องเหล่านี้ และพยายามที่จะทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะมีงานวิสาหกิจชุมชน ศูนย์เรียนรู้ กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์ ที่เคยไปดูงานมา สามารถทำธุรกิจ แปรรูปวัตถุดิบที่ผลิตได้เอง แต่ที่พัฒนาไปได้ไม่ไกลนักเนื่องจากความสามารถทางการตลาดและการพัฒนาเทคโนโลยีสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ยังสู้บริษัท โรงงานใหญ่ๆ ที่มีเครื่องมือทันสมัยไม่ได้ และโรงงานใหญ่ๆ มีคนที่มีความรู้ทางออกแบบผลิตภัณฑ์ สิ่งเหล่านี้ คิดว่า จะต้องกระตุ้นให้เกษตรกรร่วมกันคิด ว่าจะพัฒนาตัวเองหรือกลุ่มตัวเอง เดี๋ยวนี้ แม้แต่เส้นไหมหรือเส้นใยฝ้าย อาจจะนำเข้ามาจากต่างประเทศ แล้วมาทอในโรงงานภายใน เกษตรกรสู้ไม่ไหว ซึ่งจริงๆ แล้ว เกษตรกรรวมกลุ่มกัน สร้างผลิตภัณฑ์ด้วยความคิดและความชำนาญที่สืบทอดกันมา ก็อาจจะสามารถสู้โรงงานต่างๆ ได้

เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานให้กับเกษตรกรไทย โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรไม่มากนัก แนวคิดนี้ ทำให้คิดถึงย้อนไปเมื่อผมได้เรียนเกษตรเมื่อ 50 ปีเศษที่ผ่านมา อาจารย์ได้เคยพาไปเยี่ยม พี่ชวน พงศ์สุวรรณ ซึ่งเป็นรุ่นพี่อาวุโสที่ฉะเชิงเทรา และพี่เขาพาไปเยี่ยมไร่นาสวนผสมที่ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง และต่อมาในช่วงทำงานระยะแรก ผมก็ได้มีโอกาสไปทำงานกับพี่ชวนที่ฉะเชิงเทรานั่นเอง ซึ่งการทำไร่นาสวนผสมในอดีตนั้น คล้ายกับการทำแปลงตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่นี้ คือเป็นการเพิ่มขนาดธุรกิจเกษตรในฟาร์มให้หลากหลาย หรือทำแบบผสมผสาน เป็นการลดความเสี่ยง เพราะทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ถ้าเสียหาย ก็หมดตัว และการทำหลายๆ อย่างนี้ สามารถเกื้อกูลกัน เช่น เอามูลสัตว์ ไปใช้เป็นปุ๋ยปลูกผัก เศษผัก ผลไม้มาใช้เป็นอาหารสัตว์ รำข้าวเป็นอาหารปลา ฯลฯ

มีเกษตรกรจำนวนมากนำแนวคิดนี้มาดัดแปลงให้เข้ากับอาชีพและท้องถิ่น และบางคนยังทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยมีในตลาดปกติ เช่น เลี้ยงกบ เพาะเห็ด หรือทำฟาร์มสมุนไพร ซึ่งสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยตรง แต่ก็มีเกษตรกรบางรายที่ไปหารายได้เพิ่มจากนอกภาคเกษตร เช่น เป็นแรงงานรับจ้าง ก่อสร้าง หรือขายสินค้าต่างๆ สำหรับเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบผสมผสานนี้ ขอเสนอข้อคิดว่า เกษตรกรควรจะต้องรักษาความสะอาด ดูแลด้านสุขภาพอนามัยในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและสัตว์เลี้ยง

สินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นอีกผลิตภัณฑ์อันหนึ่งที่เกษตรกรสร้างขึ้น มีเทคโนโลยีแลกเปลี่ยนกันระดับนานาชาติ คือมีการทำกันแทบทุกประเทศทั่วโลก สินค้าที่ได้จากเกษตรอินทรีย์ เรียกว่า premium grade หรือสินค้าคุณภาพ มีราคาสูง หลายๆ ประเทศมีร้านขายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ เป็น niche market แต่ในประเทศไทยเรามีเคาน์เตอร์วางสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาด super market ประเทศต่างๆ ในยุโรป อเมริกา มีการทำการเกษตรอินทรีย์ไม่มาก สมัยก่อนคิดว่าคงไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในปัจจุบันอาจจะเพิ่มขึ้น แต่การเกษตรนอกจากเกษตรอินทรีย์แล้ว ก็ยังต้องใช้สารเคมี เช่น ปุ๋ย สารเร่งดอกผล ยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช เพื่อให้การจัดการเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะมีหน่วยงานและมาตรการที่ควบคุมความปลอดภัยอย่างเข้มแข็ง อันนี้รวมถึงร้านอาหารด้วย เช่น ห้องน้ำเหม็น เขาจะสั่งปิดร้าน ให้แก้ไขทันที

ประเด็นนี้ขอเสนอให้เป็นโยบายของรัฐบาลไทยให้เร่งพัฒนา ความปลอดภัย และสุขอนามัยของอาหารและร้านอาหาร ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง โดยมีหน่วยงานตรวจสอบรับรองที่เคร่งครัด ที่ประเทศเรามีการรับรอง โดยใช้ตัว Q เป็นสัญลักษณ์ อาจจะรับรองเป็นตลาดๆ หรือเป็นศูนย์การค้า เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

สำหรับการไม่เผาฟางในนาข้าว เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เรารณรงค์กันมายาวนาน เพราะฟางข้าวเป็นอินทรียวัตถุที่จำเป็นที่จะต้องใส่กลับคืนไปสู่ดิน เพื่อให้ดินมีสภาพร่วนซุยและเป็นตัวกระตุ้นให้ต้นข้าวดูดธาตุอาหารจากดินหลายชนิดไปใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น ในปัจจุบัน มีการเก็บเกี่ยวข้าวโดยรถเกี่ยวข้าว ทำให้แนวคิดเรื่องการไม่เผาฟางทำได้ง่ายขึ้น เพียงแค่กระจายฟางข้าวที่ป่นละเอียดพอสมควรไปให้ทั่วแปลงนา สำหรับตอซังข้าวที่เหลืออยู่ก็มีเครื่องมือตัดกระจายอยู่แล้ว

สาเหตุที่ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ เช่น ผลไม้ นม มักจะมีรสชาติดีกว่า เพราะอินทรีย์วัตถุสามารถให้ต้นไม้ดูดธาตุอาหารหลายชนิดไปใช้ และการเลี้ยงสัตว์ก็มีการเจริญเติบโตตามธรรมชาติ แม้จะได้ผลผลิตน้อย แต่ได้ผลผลิตดีที่ไม่มีอะไรมากระตุ้นให้ส่วนประกอบทางเคมีแปรเปลี่ยนไป เปรียบเทียบได้กับสาวๆ นางเอกงิ้ว ที่อยู่ตามธรรมชาติปกติเป็นคนน่ารักน่าใกล้ชิด พอแต่งตัวเล่นงิ้ว พอกหน้าเขียนคิ้วทาปากออกมาแล้ว ดูสวยก็จริงแต่ก็ไม่สามารถสัมผัสที่เป็นธรรมชาติได้ ถ้าเป็นหนุ่มๆ เวลาจะมองสาวๆ จะชอบสาวที่แต่งหน้าเก่งๆ เหมือนงิ้ว หรือหน้าตาแบบธรรมชาติ ก็เลือกเอา

ผมคิดว่าการที่จะให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงรับการแนะนำจากเราให้ลึกซึ้งนั้น ยากมาก จะเกิดขึ้นได้เมื่อลองทำแล้วเห็นผล ซึ่งค่อยๆ ซึมซับทีละน้อยๆ เคยแนะนำให้ปลูกถั่วเหลืองและข้าวโพดทดแทนนาปรังในหน้าแล้ง เพราะขาดแคลนน้ำ มีเกษตรกรหลายรายที่ทำตามและปลูกได้ผลดีมากๆ แต่ต่อมาก็ล้มเลิกหันไปทำนาปรังเหมือนเดิม เพราะถนัดกว่า และการปลูกข้าวให้รายได้ที่สูงกว่า ยกเว้นเรื่องการปลูกทานตะวันในช่วงปลายฤดูฝน ที่เราโหมทำหลายๆ ปี และได้ผลมาจนปัจจุบัน เพราะทานตะวันมีตลาดเด่นชัดในช่วงแรก

ยังไงก็อยากเตือนน้องๆ ที่ยังทำงานอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ว่าการส่งเสริมเกษตรกรนั้น คำนึงถึงตัวผู้รับคือเกษตรกรที่ต้องพัฒนาตัวเอง ผลิตสินค้าครบวงจรที่มีคุณภาพ ดึงดูดผู้บริโภค และปลอดภัย เพื่อเข้าแข่งขันในตลาด สร้างชื่อเสียงว่าเป็น local made เรื่องรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะตามมาทีหลัง แต่อยากให้เป็นรายได้ที่แน่นอนยาวนาน การทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ โดยเฉพาะถ้ามีการรวมเกษตรกรเป็นกลุ่ม ทุกประเด็นเป็นธุรกิจและระบบ ซึ่งบัญชีจะเห็นความแตกต่างจากของเดิมที่เคยทำ และสิทธิของเกษตรกรรายบุคคล

คุณอำไพ สุขไกรรัตน์ หรือน้าไพ ทำสวนเกษตรแบบผสมผสาน เนื้อที่ 32 ไร่ อยู่บ้านเลขที่ 22/12 หมู่ที่ 3 ตำบลหินดาด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกไม้ผล เช่น ปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ลิ้นจี่ อินผลัม ส้มโอ ส้มเขียวหวาน เนื่องจากไม้ผลให้ผลผลิตเพียงปีละครั้ง น้าไพจึงตัดสินใจปลูกมะกรูด เป็นพืชเสริมรายได้ เพราะต้นมะกรูดจะมีผลผลิตออกมาสม่ำเสมอ เป็นสินค้าที่ตลาดต้องการสูง ไม่ต้องเหนื่อยวิ่งหาคนซื้อเหมือนพืชอื่นๆ

น้าไพ ตัดสินใจปลูก มะกรูดพวง เพราะเป็นมะกรูดพันธุ์ผลใหญ่และติดเป็นพวง ผลมีลักษณะขรุขระมาก และมีจุกที่หัว ใบมีขนาดใหญ่ เกษตรกรจำนวนมากนิยมปลูกมะกรูดพวง เพื่อผลิตใบและผลขายส่งให้แก่โรงงานน้ำมันหอมระเหย และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยจากใบและผลมะกรูด เช่น สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน เครื่องสำอาง โรงงานน้ำพริก อุตสาหกรรมยา ฯลฯ

การปลูกมะกรูด ควรเลือกสภาพพื้นที่ที่เป็นแหล่งดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำที่ดี ให้ขุดหลุมลึก ขนาด 50 เซนติเมตร กว้าง 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมและแถวก็ประมาณ 4-5 เมตร หลังจากนั้นปล่อยดินตากแดดอยู่สัก 1-2 เดือน ก่อนปลูก 15 วัน ให้เอาปุ๋ยคอกใส่ลงไปครึ่งปี๊บ นำกิ่งตอนวางลงหลุม ตั้งให้ตรงกลบดินกดให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม นอกจากนี้ น้าไพยังปลูกกล้วยน้ำว้าแซมในสวนมะกรูด เพื่อช่วยเป็นร่มเงาและเป็นรายได้เสริมอีกรายหนึ่ง

การดูแลรักษาในสวนมะกรูด แค่รดน้ำเช้าเย็นเท่านั้น ในช่วง 1-2 เดือนแรก เมื่อต้นมะกรูดมีอายุสัก 8 เดือน จึงบำรุงต้นอีกครั้งโดยใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยสูตรเสมอ ใส่รอบๆ บริเวณทรงพุ่ม ให้น้ำเพียงแค่วันละครั้งเดียว เมื่อต้นมะกรูดเติบใหญ่ ขึ้นก็ไม่ต้องให้น้ำ ใช้น้ำฝนตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว โดยทั่วไปต้นมะกรูดจะเก็บใบขายได้เมื่ออายุ 2 ปี พอต้นมะกรูดอายุได้ 3 ปี จึงจะมีผลเก็บขายได้

ต้นมะกรูด มีปัญหาโรคและแมลงรบกวนน้อย ที่เจออยู่บ้าง ได้แก่ หนอนชอนใบ ที่มาทำลายทำให้ใบมะกรูดบิดงอ ใบไม่สวย ไม่สามารถตัดส่งขายได้ วิธีป้องกันคือ เด็ดนำไปเผาทำลายให้หมด หรือฉีดสารสกัดจากสะเดา หรือปุ๋ยน้ำหมักที่เกิดจากการหมักพืชสมุนไพรนานาชนิด เช่น ข่า ตะไคร้ และพริกขี้หนูป่นหมักรวมกันแล้วก็ผสมมาฉีดขับไล่แมลง เมื่อต้นมะกรูดมีอาการดีขึ้นก็ควรตัดแต่งกิ่งที่อยู่ชิดติดกัน หรือกิ่งที่คดงอทิ้ง เพื่อให้มีรูปทรงลำต้นที่ดี แถมช่วยเพิ่มผลผลิต ที่สำคัญเป็นการกำจัดโรคแมลงได้ดีอีกทางหนึ่ง

น้าไพ เล่าว่า ราคามะกรูดขึ้นลงตามภาวะตลาดในแต่ละช่วงฤดู สำหรับฤดูฝนมีผลผลิตเข้าตลาดมาก จะขายได้ในราคาถูก แค่กิโลกรัมละละ 20-30 บาท ส่วนฤดูแล้ง จะขายมะกรูดได้ในราคาสูงกว่า 30 บาท ต่อกิโลกรัม ทุกวันนี้น้าไพพึงพอใจกับรายได้จากการขายมะกรูด เพราะไม่ต้องลงทุนมาก ไม่ต้องดูแลใส่ใจเป็นพิเศษเหมือนกับพืชชนิดอื่นๆ และสามารถเก็บผลมะกรูดออกขายได้ทุกๆ 3 เดือน ทุกวันนี้น้าไพมีรายได้จากการขายมะกรูดต่อปีหลายแสนบาททีเดียว

อย่างที่ทราบกันดีว่า น้ำผึ้ง คือของดีมีประโยชน์ จะนำมาประกอบอาหาร หรือทำเป็นยาคุณค่าก็สูงทั้งนั้น แต่น้ำผึ้งแท้ๆ ไม่มีส่วนผสมอื่นเจือปนในปัจจุบันหากินยากขึ้นทุกที สาเหตุหลักคือ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติลดน้อยลง ประกอบกับมีผู้รู้วิธีการเลี้ยงและดูแลผึ้งโพรงป่าที่ถูกต้องมีจำนวนน้อย ดังนั้น ตอนนี้หากใครกำลังมองหาอาชีพเสริมหรืออาชีพหลัก การเลี้ยงผึ้งโพรงป่า ถือว่าเป็นอาชีพที่น่าสนใจไม่น้อย วิธีการเลี้ยงดูแลไม่ยาก ลงทุนน้อยเปรียบเสมือนคนเลี้ยงเป็นเจ้าของบริษัท ตื่นเช้ามาลูกน้องตื่นออกไปทำงาน ไม่ต้องมีโบนัส สวัสดิการ เพียงดูแลเอาใจใส่เรื่องความสะอาด ผลตอบแทนที่ได้คุ้ม

คุณสยาม สกุณนา หรือ อาจารย์สยาม ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงผึ้งโพรงป่า เล่าว่า กว่าจะเป็นมืออาชีพอย่างทุกวันนี้ได้ ตนลองผิดลองถูกมานานกว่า 4 ปี เมื่อก่อนเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาเกษตรกรรมอยู่ที่ กศน. จังหวัดพะเยา ต่อมาได้ลาออกไปทำงานบริษัทปุ๋ย หลังจากนั้นลาออกจากบริษัทปุ๋ยอีก ด้วยเหตุผลที่ว่าเบื่องานประจำ เพราะนิสัยส่วนตัวเป็นคนรักอิสระ ไม่ชอบเป็นลูกน้องใคร จึงกลับมาอยู่บ้านที่อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา เช่าที่ทำนาจำนวนกว่าร้อยไร่ แรกๆ ก็ดี เพราะมีพื้นฐานเรื่องปุ๋ยเยอะ ประกอบกับช่วงนั้นราคาข้าวยังดีอยู่ แต่ช่วงหลังๆ ราคาข้าวเริ่มตก จากตันละหมื่นกว่าบาทเหลือเพียงตันละสี่ถึงห้าพันบาท ช่วงนั้นก็เจ๊งเลย เป็นหนี้ล้านกว่าบาท

เริ่มเลี้ยงผึ้งโพรง เพราะเป็น “หนี้”

หลังจากที่เลิกทำนา อาจารย์สยาม เป็นหนี้ธนาคารล้านกว่าบาท ถ้าจะดันทุรังทำเกษตรต่อไปคงไม่ไหว ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ ครั้นจะกลับไปทำงานเดิมอายุก็มากแล้ว ช่วงนั้นคือเครียดมาก ไม่รู้จะหันไปทางไหน ตอนนั้นจำได้ว่าเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดีเห็นชาวบ้านที่หาผึ้งป่าเป็นอาชีพ วันหนึ่งเขาได้น้ำผึ้ง 20-40 ขวด ต่อวัน เป็นน้ำผึ้งเดือน 5 ขายราคาบ้านๆ ก็ได้ขวดละ 200 บาท ลองคำนวณดูเล่นๆ วันหนึ่งขายได้ 40 ขวด ตกวันละ 8,000 บาท และประกอบกับที่ตัวเองชอบกินน้ำผึ้งอยู่แล้ว จึงลองเดินเข้าป่าไปหาน้ำผึ้งโดยที่ไม่มีความรู้อะไรเลย ถือว่าเป็นการแก้เครียดไปด้วย ช่วงแรกหาไม่ได้เลย เพราะคิดว่าผึ้งต้องอยู่ตามพุ่มไม้สูงๆ ถามชาวบ้านเขาก็ไม่บอก

เกือบถอดใจ และวันหนึ่งไปนั่งพักเหนื่อยแถวริมห้วย ได้ยินเสียงคล้ายแมลงบินออกมาจากพื้นดิน หลังจากนั้นจึงเข้าใจ ผึ้งรังแรกที่เจอคือเจอในหลุมเป็นผึ้งโพรง จากประสบการณ์ครั้งนั้นจึงต่อยอดมา จากที่หาผึ้งไม่ได้เลยกลายเป็นว่าหาได้มากกว่าชาวบ้านซะอีก หาได้วันละเป็น 10 รัง จึงมีความคิดจะเอาผึ้งป่ามาเลี้ยง เพราะตั้งประเด็นตรงที่ว่าความต้องการของตลาดต้องการสูงมาก หาเท่าไรก็ไม่พอขาย ตรงนี้เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมเลี้ยงผึ้งป่า

วิธีการเลี้ยง และการดูแล

วิธีการเลี้ยงผึ้งโพรงป่าไม่ยุ่งยากอะไร เพราะผึ้งที่เราดูแลเป็นผึ้งที่ถูกคัดสายพันธุ์โดยธรรมชาติ มีความแข็งแกร่ง ให้ใช้วิธีคิดง่ายๆ เหมือนกับว่าเราเอาไก่ป่ามาเลี้ยง ตามใจเขา แทนที่เราจะบังคับให้เขาตามใจเรา ลองเอาตัวเองไปเป็นผึ้งป่าดูว่าเขาชอบแบบไหน ไม่ชอบแบบไหน เราก็จัดเอื้อสิ่งแวดล้อมในรังให้เขาอยู่สบาย หมั่นดูแลความสะอาด กำจัดมด แมลง ด้วยน้ำมันเครื่องเก่าหยอดไปที่ขาตั้งรังผึ้ง ถ้ารังสกปรกยากที่ผึ้งจะอยู่ ไม่ควรใช้ขี้ผึ้งทาในรัง ถือว่าเป็นตัวล่อหนอนแว็ก

หนอนแว็ก ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของผึ้ง เวลาระบาดผึ้งจะไม่ยอมกลับรังแล้วก็หนีรังไปเลย องค์ประกอบหลักที่จะทำให้ผึ้งป่ามาอยู่กับเรา รังต้องดี สบาย ไม่ร้อน ถ้าจะให้ดีความกว้างของรังควรมีความกว้าง 38 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร และยาว 50 เซนติเมตร เจาะโพรงผึ้งให้ถูกตำแหน่ง ผึ้งจะอพยพไปตามแหล่งอาหาร ต้องดูว่าช่วงนี้มีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ไหม มีดอกไม้บานทั้งปี อยู่ใกล้แหล่งอาหาร แหล่งน้ำ แบบนี้เข้าตามคุณสมบัติเราก็ทำแหล่งล่อได้

การดูแลนั้น แรกๆ อาจารย์สยามก็ทำเหมือนชาวบ้านเอาไม้มาเจาะโพรงเอาขี้ผึ้งมาทา ผึ้งก็เข้าบ้างไม่เข้าบ้าง ทำ 100 รัง เข้า 10-20 รัง ถือว่าสุดยอดแล้ว แต่พอเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด ทดลองทำกลิ่นล่อผึ้งป่าขึ้นมา เพราะว่าใช้ขี้ผึ้งมันมีข้อจำกัด ขี้ผึ้งก็จะเป็นตัวทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย โดยการใช้กลิ่นล่อผึ้งจากฟีโรโมน ที่เรียนแบบจากต่างประเทศ เปรียบเสมือนกลิ่นผึ้งอพยพ แล้วฉีดสเปรย์สัปดาห์ละครั้ง

ระยะเวลาให้น้ำผึ้ง

ปกติทั่วไปผึ้งจะให้น้ำหวาน 3-4 เดือน ต่อการเก็บน้ำผึ้ง 1 ครั้ง แต่สำหรับอาจารย์สยามจะเก็บเฉพาะน้ำผึ้งเดือน 5 เท่านั้น เพราะช่วงระยะเวลาอื่นน้ำผึ้งคุณภาพจะต่ำ มีความชื้นสูง เก็บรักษาไว้ไม่ได้นาน รสชาติของน้ำผึ้งจะไม่มีความหอมที่หลากหลาย เพราะมีข้อจำกัดคือ ไม่ใช่ฤดูดอกไม้บาน ไม่มีความหลากหลายของมวลพฤกษา รสชาติไม่ค่อยดี จะขายราคาไม่แพงก็ได้

เทคนิคการคั้นน้ำผึ้งแบบพิเศษ ได้น้ำผึ้งใสบริสุทธิ์ เก็บรักษาได้นาน 2 ปี

ถ้าจะให้น้ำผึ้งสะอาด ใสบริสุทธิ์ไม่มีสิ่งปนเปื้อนเลยต้องเริ่มตั้งแต่การตัดแยกตัวอ่อนออกจากรัง ไม่ให้โดนมือตั้งแต่แรก เมื่อตัดแล้วให้ใช้ถุงพลาสติกห่อเก็บทันทีไม่ให้โดนอากาศ หลังจากนั้นก็เข้าสกัดด้วยเครื่องที่พลังงานแสงอาทิตย์ วิธีที่อาจารย์สยามคิดค้นขึ้นมา ที่นี่จะไม่ใช้การบีบน้ำผึ้งด้วยมือ หรือเครื่องจักร แต่อาจารย์คิดเครื่องสกัดน้ำผึ้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นมาเอง ใช้อุณหภูมิไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส แล้วปล่อยให้น้ำผึ้งไหลลงมาจนหยดสุดท้าย เพราะฉะนั้นตัวอ่อนจะไม่มีปนน้ำผึ้งเลย ทำให้ได้น้ำผึ้งที่บริสุทธิ์

การตลาด และการแปรรูปผลิตภัณฑ์

ต้องบอกก่อนเลยว่า อาจารย์สยามไม่มีหน้าร้าน ตลาดของอาจารย์ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์แล้วติดใจ บอกต่อกันไป อีกส่วนขายผ่านทางสื่อโซเชี่ยล แค่นี้ก็ผลิตไม่ทันขายอยู่แล้ว สาเหตุหลักที่ขายดีถึงทุกวันนี้เพราะด้วยเรื่องของคุณภาพ ถ้าไม่ใช่น้ำผึ้งเดือน 5 ไม่ขาย ด้วยเหตุนี้จึงได้ใจลูกค้า และนอกจากน้ำผึ้งเดือน 5 ยังมีการขายอุปกรณ์เลี้ยงผึ้งโพรงป่าอย่างครบวงจร หรือจะเป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งต่างๆ เช่น

รังตรงส่วนที่เป็นขี้ผึ้ง นำมาทำขี้ผึ้ง มีคนมารับซื้อถึงที่ กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 200-300 บาท เพื่อเอาไปเป็นส่วนผสมของเทียน ทางภาคเหนือเขาเชื่อว่าถ้าเป็นเทียนทำจากผึ้งป่า จะศักดิ์สิทธิ์
หัวกะทิน้ำผึ้ง ผึ้ง 1 รัง จะมีหัวกะทิแค่ 1-2 รวง เท่านั้น เมื่อกินรสชาติจะหอมหวาน มีคุณค่าสูง ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
น้ำผึ้งที่เก็บจากเดือน 5 เท่านั้น บรรจุขวด ขนาด 750 ซีซี ราคาขายปลีก ขวดละ 350 บาท

แนะนำเกษตรกรอยากเลี้ยงผึ้งป่าเป็นอาชีพเสริม

อาจารย์สยาม แนะนำว่า สมัครน้ำเต้าปูปลา สำหรับผู้ที่อยากเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพเสริม ทำประมาณ 5-10 รัง ก็สามารถอยู่ได้แล้ว เพราะผึ้ง 1 รัง 1 ปี สามารถให้ผลผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 10 ขวด ขวดละ 300 บาท 10 ขวด คิดเป็นเงิน 3,000 บาท 10 รัง คิดเป็นเงิน 30,000 บาท ต่อปี ลงทุนครั้งเดียวใช้ได้นาน ลงทุนเพียง 1,300 บาท สามารถเลี้ยงได้ 1 รัง อุปกรณ์ต้องเป็นรังไม้ได้มาตรฐาน จะใช้ไซซ์ฝรั่งไม่ได้ ต้องเป็นรังไม้เก่าปลอดกลิ่น ไม่ใส่สี ไม่มีกลิ่นแปลกปลอม แล้วก็ทำให้ระบายอากาศได้ดี

“การเลี้ยงอย่างแรกต้องเรียนรู้และเข้าใจผึ้งก่อน เรียนรู้นิสัยของผึ้งบ้านเรา ถ้าเข้าใจก็ง่าย ต้นทุนปรับใช้ได้ตามที่เราสะดวก ถือว่าเป็นอาชีพที่น่าสนใจมากๆ เพราะตอนนี้ตลาดผึ้งพันธุ์ภายในประเทศยังไม่พอบริโภค ยิ่งเป็นผึ้งป่ายิ่งหายาก เพราะตอนนี้ข้าราชการ หรือพนักงานเงินเดือน ที่ไม่ค่อยมีเวลาก็เริ่มหันมาสนใจเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพเสริมกันแล้ว ไม่ต้องดูแลมาก” อาจารย์สยาม บอก

ร.ต.ท. จรูญ เทพสุริวงค์ หรือ จ่าหมี ตำรวจ สภ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา หมู่ที่ 2 ต.ดีหลวง อ.สทิงพระ จ.สงขลา ได้ปลูกมะละกอฮอลแลนด์ในเนื้อที่ 5 ไร่ มาเกือบ 4 ปี และเป็นการลงทุนปลูกรุ่นแรก สามารถทำเงินได้สูงถึงเดือนละกว่า 6 หมื่นบาท จากการขายมะละกอฮอลแลนด์เพียงอย่างเดียว ไม่รวมรายได้ขายกล้วยน้ำหว้าที่ปลูกแซม เก็บขายวันละนับ 100 กก. ราคา กก. ละ 20 บาท และตลาดวิ่งชนมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงสวน เพื่อส่งขายทั้งในตลาด จ.สงขลา ยะลา ปัตตานี หรือแม้แต่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และมีออเดอร์ใหม่ๆ เข้ามาตลอด ไม่เคยประสบปัญหาด้านการตลาดและราคา

ร.ต.ท. จรูญ กล่าวว่า ตนรับราชการตำรวจอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายสิบปี ถูกลอบวางระเบิดจนขาขวาขาด จึงขอย้ายกลับมาอยู่บ้านที่ จ.สงขลา ด้วยความชื่นชอบการเกษตรอยู่แล้ว จึงใช้เวลาว่างจากหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราช ไปศึกษาหาความรู้จากเพื่อนบ้าน วิธีปลูกมะละกอฮอลแลนด์ ในเนื้อที่ 5 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 แสนบาท ปลูกได้ประมาณ 8 เดือน ออกผลเก็บขายได้ และเพียงแค่รุ่นแรกก็คืนทุนทันที และนับจากนั้นมาเก็บขายได้ทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 100 กก.

ร.ต.ท. จรูญ กล่าวอีกว่า ข้อดีของมะละกอฮอลแลนด์คือ รสชาติหวาน เนื้อแน่น ลูกดกให้ผลผลิตต่อเนื่องและทนต่อโรค ส่วนเทคนิคในการปลูกให้ได้ผลคือ พื้นที่ปลูกน้ำไม่ท่วม ต้องมีน้ำพอเพียงตลอดทั้งปี ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ประเภทขี้ไก่แกลบ ผสมปุ๋ยเคมีเล็กน้อย เพื่อเพิ่มความหวาน เพียงแค่นี้ก็จะทำให้มะละกอฮอลแลนด์ให้ผลผลิตต่อเนื่องตลอดทั้งปี และเก็บขายมีรายได้ทุกวัน