การจัดการหน่อที่เกิดขึ้นโดยให้มีจำนวน 1 หน่อจะมีการเติบโต

ที่ดีกว่าการให้มีจำนวน 2 หน่อ ซึ่งเมื่อสักโตมากขึ้น การมี 2 หน่อ นอกจากจะเติบโตน้อยกว่าแล้ว อาจทำให้รูปทรงของต้นสักไม่ดี เนื่องจากการแก่งแย่งแสงสว่างกัน หน่อสักที่เกิดหลังการตัดหมดจะมีการเติบโตดีกว่าหลังการตัดขยายระยะ เนื่องจากตอสักหลังการตัดหมดจะมีอายุมากกว่า มีขนาดตอที่โตกว่า และระบบรากได้มีการพัฒนาและสะสมอาหารไว้แล้ว โดยขนาดของตอจะมีผลต่อการเติบโตของสักทั้งด้านความโตและความสูง เมื่ออายุ 10 ปี สักที่แตกหน่อจะมีมวลชีวภาพและการเก็บกักคาร์บอนได้สูงกว่าสักที่ปลูกใหม่อีกด้วย แม้ว่าจะมีขนาดความโตและความสูงไม่แตกต่างกัน แต่จะมีส่วนรากที่แตกต่างกันเนื่องจากมีระบบรากจากตอเดิมอยู่ด้วย

การแตกหน่อจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเตรียมพื้นที่ การปลูก ค่ากล้าไม้และค่าปุ๋ย ในปีแรก และการเติบโตที่เร็วกว่าทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืชด้วย จากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงิน การแตกหน่อสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึงร้อยละ 60 ในขณะที่จากการดำเนินการโดยบริษัทเอกชน ค่าใช้จ่ายในปีที่ 1 ลดลงถึงร้อยละ 87 การแตกหน่อจึงเป็นแนวทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรในการลดต้นทุนการปลูก

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเพื่อจะให้มีการสืบต่อพันธุ์โดยการแตกหน่อ จะต้องพิจารณาถึงต้นเดิม หากต้นเดิมมีพันธุกรรมที่ไม่ดี มีรูปทรงและการเติบโตที่ไม่ดี การปลูกใหม่โดยการใช้กล้าจากสักจากแหล่งที่คัดเลือกพันธุ์ดีหรือกล้าที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จะให้ผลผลิตที่ดีกว่าและให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุนมากกว่า ซึ่งหลังจากรอบตัดฟันสักพันธุ์ดีแล้ว การสืบต่อพันธุ์โดยวิธีการแตกหน่อจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ควรแนะนำให้แก่เกษตรกรเพื่อลดต้นทุน ให้ผลผลิตที่ดี คุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังจะทำให้สวนป่าสักมีความยั่งยืนตลอดไป

กรมวิชาการเกษตร ปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศสีดารับประทานผลสด ชี้จุดขายพันธุ์ใหม่ ให้วิตามินซีสูง โดนใจสายสุขภาพ แถมผลผลิตยังสูงกว่าพันธุ์การค้าและพันธุ์ของเกษตรกร รสเปรี้ยวนำ เหมาะสำหรับทำส้มตำ

มะเขือเทศสีดา เป็นมะเขือเทศที่มีสีแดงอมชมพู มีน้ำมาก เนื้อหนาและแน่น น้ำหนักเฉลี่ย 40 กรัม ผลมะเขือเทศสีดา ปลูกและผลิตได้ตลอดปีในทุกภาคของประเทศไทย โดยมีแหล่งปลูกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครพนม สระบุรี และนครราชสีมา สำหรับพันธุ์การค้าของมะเขือเทศสีดาที่เกษตรกรปลูกกันแพร่หลายในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ลูกผสมที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ต่างๆ แต่เนื่องจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมมีกระบวนการที่ซับซ้อนและเป็นผลประโยชน์ทางการค้า ทำให้เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศสีดาลูกผสมมีราคาสูงกว่าเมล็ดพันธุ์ผสมเปิดถึง 7.5 เท่า หรือสูงกว่า 600 บาท/ไร่

ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตร ได้ผสมพันธุ์และคัดพันธุ์มะเขือเทศสีดาสำหรับปลูกในฤดูฝนโดยสามารถคัดเลือกได้พันธุ์ ศก.1 ศก.4 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ติดผลเร็ว ผลมีสีชมพู และพันธุ์ศก.19 มีความทนทานต่อโรคเหี่ยวเขียว แต่เนื่องจากพันธุ์ดังกล่าวเป็นพันธุ์ที่พัฒนามานานแล้ว ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รวมถึงการผสมตัวเองในกลุ่มพันธุ์เดิมมานาน ทำให้ศักยภาพการผลิตลดลง พันธุ์อ่อนแอต่อสภาพแวดล้อม โรคและแมลง ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษจึงได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศสีดาพันธุ์ผสมเปิดขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีผลผลิตและวิตามันซีสูง มีความสม่ำเสมอของสายพันธุ์ เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง ช่วยลดต้นทุนด้านเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร เป็นการเพิ่มรายได้ที่ยั่งยืนให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง

การปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศสีดารับประทานผลสด เริ่มดำเนินการตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ในปี 2555–2558 ได้รวบรวม คัดเลือกพันธุ์ ปี 2559–2560 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิต ปลูกเปรียบเทียบและทดสอบพันธุ์กับพันธุ์ลูกผสมการค้า ทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกรตามแหล่งปลูกต่างๆ วิเคราะห์ปริมาณวิตามินซี และการประเมินความพึงพอใจของเกษตรกรผู้ปลูกและผู้บริโภคมะเขือเทศสีดา จนได้มะเขือเทศสีดารับประทานผลสดพันธุ์ใหม่ ใช้ชื่อว่า “พันธุ์ศรีสะเกษ 2” ผ่านการพิจารณาเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562

มะเขือเทศสีดาพันธุ์ศรีสะเกษ 2 มีลักษณะเด่นคือ ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 6.62 ตัน/ไร่ สูงกว่าพันธุ์การค้าลูกผสมและพันธุ์ของเกษตรกร มีปริมาณวิตามินซีสูงถึง 43.3 mg/100g ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้สูงถึง ร้อยละ 0.93 ซึ่งทำให้มีรสเปรี้ยวนับว่าเป็นข้อดีเด่น เนื่องจากการใช้ประโยชน์ของมะเขือเทศสีดาจะเน้นหนักไปในด้านของการใช้ปรุงรสอาหารให้มีความเปรี้ยว เช่น ส้มตำ

ซึ่งจากการประเมินความพึงพอใจของเกษตรกรผู้ปลูกและผู้บริโภคมะเขือเทศสีดาในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ พบว่า เกษตรกรที่มีความพอใจมะเขือเทศสีดาพันธุ์ศรีสะเกษ 2 สูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษมีเมล็ดพันธุ์คัดมะเขือเทศสีดาศรีสะเกษ 2 จำนวน 3 กิโลกรัม ซึ่งสามารถนำไปปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์หลักได้พื้นที่ประมาณ 30 ไร่

กรมวิชาการเกษตร ส่งสะตอพันธุ์ตรัง 1 ถึงมือเกษตรกร ชูจุดขายให้ผลผลิตนอกฤดู เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เผยเป็นสะตอผลิตนอกฤดูพันธุ์แรกของกรม ใช้เวลาปลูกสั้น 3 ปีให้ผลผลิตแถมเก็บขายได้มากกว่า 1 ครั้ง ต่อปี ต้นไม่สูงมาก เก็บเกี่ยวง่าย ฝักตรง ยาว เมล็ดมีขนาดสม่ำเสมอเรียงชิดติดกันตลอดทั้งฝัก ง่ายต่อการขนส่ง รสชาติดีหวานมันโดนใจนักเปิบสะตอ

คุณพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สะตอเป็นพืชพื้นเมืองทางภาคใต้ของประเทศไทย ถือเป็นพืชผักเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญ สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด มีคุณค่าทางอาหารและทางสมุนไพร ทำให้ความต้องการบริโภคสะตอของตลาดมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรสนใจปลูกสะตอกันอย่างแพร่หลายเกือบทุกภาคของประเทศ แต่ในปัจจุบันผลผลิตสะตอยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากสะตอให้ผลผลิตได้เป็นช่วงฤดู คือจะให้ผลผลิตมากในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม รวมทั้งสะตอพันธุ์ที่เกษตรกรเพาะปลูกส่วนใหญ่จะใช้วิธีการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ทำให้ได้ผลผลิตช้า

จากสถานการณ์ดังกล่าวคณะนักวิจัยศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง กรมวิชาการเกษตร จึงมีแนวคิดพัฒนาปรับปรุงพันธุ์สะตอเพื่อเป็นพันธุ์แนะนำให้เกษตรกรปลูก โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ได้สะตอพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตนอกฤดูระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน สำหรับนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้าสร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยคณะนักวิจัยได้ดำเนินการสำรวจคัดเลือกพันธุ์สะตอที่ให้ผลผลิตนอกฤดูจากสวนเกษตรกรได้พันธุ์สะตอจำนวน 12 สายต้น นำมาปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรังพบว่าสะตอสายต้น ตง. 4 เป็นสายต้นที่ดีที่สุด เนื่องจากสามารถให้ผลผลิตได้ทั้งในฤดูและนอกฤดู และให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพดี คณะนักวิจัยจึงเสนอพิจารณาเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร โดยใช้ชื่อ สะตอพันธุ์ตรัง 1

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สะตอพันธุ์ตรัง 1 มีลักษณะเด่นตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการคือให้ผลผลิตทั้งในฤดูช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม และนอกฤดูช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน เนื่องจากไม่ทิ้งใบหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้สะตอพันธุ์ตรัง 1 สามารถให้ผลผลิตได้มากกว่า 1 ครั้งในรอบปี และยังให้ผลผลิตเร็วโดยจะเริ่มออกดอกเมื่ออายุ 3 ปีหลังปลูก รวมทั้งฝักยังมีลักษณะตรงและยาว เมล็ดมีขนาดสม่ำเสมอเรียงชิดติดกันทำให้ง่ายต่อการบรรจุฝักลงภาชนะ ทรงพุ่มต่ำ เกษตรกรจึงสะดวกต่อการดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยวผลผลิต

สะตอพันธุ์ตรัง 1 เป็นสะตอพันธุ์แรกที่ผ่านการพิจารณาเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีลักษณะประจำพันธุ์ที่สำคัญคือ ให้ผลผลิตนอกฤดูทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า เพราะราคาผลผลิตสะตอนอกฤดูสูงมาก ประมาณ 15 บาท ต่อฝัก ขณะที่ผลผลิตในฤดูมีราคาเพียง 3-5 บาท ต่อฝัก ใช้เวลาปลูกสั้นเพียง 3 ปีก็ให้ผลผลิตแล้ว ลำต้นไม่สูง เกษตรกรจึงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่ยาก รสชาติดี หวานมัน ด้วยลักษณะเด่นประจำพันธุ์สะตอตรัง 1 ดังกล่าวจึงทำให้พันธุ์เป็นที่ต้องการของเกษตรกรจำนวนมาก ซึ่งฝ่ายผลิตพันธุ์ของศูนย์วิจัยพืชสวนตรังได้ทำแปลงต้นพันธุ์และเพาะต้นกล้าสะตอไว้สำหรับติดตาขยายพันธุ์จึงไม่มีปัญหาเรื่องการขยายพันธุ์ หากเกษตรกรสนใจสามารถสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง

นางเพ็ญศิริ วงษ์วาท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดอุดรธานีเป็นแหล่งผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองส่งออกอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกจำนวนมาก มีระบบการปลูกที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ส่งผลให้มะม่วงมีคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีน ลาว มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา คาดการณ์ปี 2564 ส่งออกผลผลิตประมาณ 1,800 ตัน/ปี จึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดที่ต้องเร่งการขยายตลาดส่งออกให้เพิ่มมากขึ้น

จากการติดตามสถานการณ์การผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จังหวัดอุดรธานี พบว่า มีพื้นที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองประมาณ 6,300 ไร่ ให้ผลผลิตรวม 6,000 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 900 – 1,000 กิโลกรัม/ไร่ แหล่งผลิตสำคัญอยู่ในอำเภอหนองวัวซอ และกระจายอยู่ในอำเภอน้ำโสม วังสามหมอ กุมภวาปี ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูก 658 ราย ส่วนใหญ่มีการรวมกลุ่มผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกร ราคาต้นพันธุ์อยู่ที่ 30 – 60 บาท/ต้น เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกมะม่วงนอกฤดูเพื่อส่งออก

เนื่องจากได้ราคาสูง ซึ่งจะปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 2 เริ่มทำนอกฤดูในปีที่ 4 และสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 25 ปี) เกษตรกรจะทำการเก็บเกี่ยวทั้งหมด 3 รอบ คือ รอบที่ 1 ช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม รอบที่ 2 เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ และรอบที่ 3 ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ทำให้มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจังหวัดอุดรธานี มีผลผลิตจำหน่ายตลอดทั้งปี ซึ่งหลังจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เจ้าหน้าที่ของบริษัทส่งออกจะมารับผลผลิตถึงแหล่งผลิต โดยจะทำการคัดเกรดมะม่วงสำหรับส่งออกตลาดต่างประเทศและในประเทศ หลังจากคัดเกรดผลผลิตแล้วจะนำเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ และบรรจุหีบห่อตามมาตรฐานการส่งออก

ด้านสถานการณ์ตลาดมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ส่งจำหน่ายตลาดหลักในประเทศ ได้แก่ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดอุดรเมืองทอง และขายปลีกในจังหวัด ส่วนผลผลิตร้อยละ 30 ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งคุณสมบัติของมะม่วงเพื่อการส่งออกคือ มีผิวนวลสีเหลืองอมเขียวถึงเหลืองอ่อน ไม่มีรอยแมลง รูปร่างไม่ผิดทรงมะม่วง ความแก่ 80 – 90 % โดยมีการแบ่งเป็น 3 เกรด คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเกรด A น้ำหนักประมาณ 300 – 600 กรัม/ผล หรือ 2 – 3 ผล/กิโลกรัม

ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 50-70 บาท/กิโลกรัม (ราคา ณ กุมภาพันธ์ 2564) ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และจีน มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเกรด B น้ำหนักประมาณ 200 – 299 กรัม/ผล หรือ 4 – 5 ผล/กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 25 – 35 บาท/กิโลกรัม ส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว มาเลเซีย และเวียดนาม และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเกรด C จะมีคุณสมบัติคล้ายกับเกรด B แต่ผิวของมะม่วง สามารถ

มีรอยแมลงได้เล็กน้อย โดยราคาขึ้นอยู่ตามเกรด ตลาด และช่วงเวลาการขาย ส่วนมะม่วงผลอ่อนจากการตัดแต่งช่อดอก หรือที่เรียกว่ามะม่วงกะตอย จะเน้นบริโภคเป็นผักเคียงหรือส่วนผสมในอาหารท้องถิ่น ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 7 – 10 บาท/กิโลกรัม จะส่งออกไปยังตลาดประเทศเมียนมา และกัมพูชา ซึ่งมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ อาจส่งผลให้ปริมาณการส่งออกและราคาผลิตผลิตปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มคลี่คลาย คาดว่าทิศทางการส่งออกและราคาจะปรับตัวสูงขึ้น

ผู้อำนวยการ สศท.3 กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของจังหวัดอุดรธานี ได้รับมาตรฐานรับรอง GAP จึงเป็นเครื่องการันตีและสร้างความมั่นใจกับผู้ค้าและผู้บริโภคได้ว่าผลผลิตได้มาตรฐานและมีคุณภาพ อีกทั้ง จังหวัดยังมีการบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่ดีไม่มีของเสีย (Zero Waste) ซึ่งผลผลิตทุกส่วนสามารถสร้างรายได้ทั้งหมดไม่เหลือทิ้ง ประกอบกับมีการส่งเสริมด้านการตลาด ภายใต้งานกาชาดมะม่วงแฟร์ของดีหนองวัวซอ และตลาดออนไลน์ อาทิ เว็บไซต์ตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ เพื่อช่วยกระจายรายได้กับเกษตรกร

ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรสนใจและหันมาปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพิ่มขึ้น และในอนาคตเกษตรกรมีแนวโน้มที่จะขยายพื้นที่ปลูกเพื่อรองรับความต้องการของตลาด ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด เกษตรกรควรเฝ้าระวังโรคแอนแทรกโนส โรคขั้วผลเน่า และแมลงศัตรูพืช ได้แก่ ด้วงเจาะเมล็ดมะม่วง เพลี้ยไฟ แมลงวันผลไม้ และเพลี้ยแป้ง ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิต สำหรับเกษตรกรหรือผู้สนใจต้องการข้อมูลสถานการณ์การผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของจังหวัดอุดรธานี สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.3 อุดรธานี โทร. 04 2292 557 หรืออีเมลล์ zone3@oae.go.th

ลักษณะของฝรั่งพันธุ์พิจิตร 2 การปลูก และการดูแล
ฝรั่ง เป็นผลไม้ที่ปลูกง่าย สามารถผลิตได้ทั้งปี โดยในบ้านเราผลผลิตส่วนใหญ่จะมีจำหน่ายมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม และมีจำหน่ายน้อยในช่วงเมษายนของทุกปี ซึ่งชาวสวนฝรั่งโดยมากจะเลี่ยงการผลิตฝรั่งออกในช่วงเดือนเมษายน เพราะเป็นช่วงที่ผลไม้จากภาคตะวันออก ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลใหญ่ของผลไม้บ้านเราออกสู่ตลาดหลายชนิด และมีจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่รู้กันของชาวสวนฝรั่งว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ มะม่วง เงาะ ทุเรียน มังคุด ออกสู่ตลาดเมื่อไหร่ เมื่อนั้นผลไม้ชนิดอื่นแทบหมดความสำคัญ และช่วงนั้นจะเป็นช่วงตกต่ำของผลไม้ชนิดอื่น เพราะเป็นช่วงที่มีผลไม้ออกสู่ตลาดมากที่สุดนั่นเอง

ส่วนช่วงที่ฝรั่งมักมีราคาสูงจะเป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีผลไม้ชนิดไหนออกสู่ตลาด อย่างช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ช่วงนั้นราคาฝรั่งจะสูงถึง 25-40 บาท/กิโลกรัม กับอีกช่วงคือเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งบ้านเราจะมีเทศกาลต่างๆ มากในช่วงนี้ ในบ้านเรามีฝรั่งที่ปลูกในเชิงการค้าหลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์หลักๆ ก็จะมีฝรั่งแป้นสีทอง, กิมจู และรองลงมาก็จะมี ขาวอัมพร, ฝรั่งไร้เมล็ด, พันธุ์แป้นไส้แดง, กรอบสามสี ,ทับทิมสยาม และในยุคที่ฝรั่งสายพันธุ์ใหม่ๆ จากไต้หวันเข้า ก็จะมีสายพันธุ์หงส์เปาสือ, ซีกวา, เฟิ่นหงส์มี่, เหวินหง, เจินจู, สุ่ยหมี่ เป็นต้น

ข้อดีของฝรั่ง นอกจากจะปลูกง่ายแล้ว ยังให้ผลผลิตได้เร็ว คือ หลังปลูกไปแล้วเพียง 6 เดือน ขึ้นไป ก็สามารถออกดอกและติดผลได้บ้างแล้ว ทำให้เกษตรกรที่เริ่มทำสวนหรือปลูกใหม่มีรายได้เร็วกว่าไม้ผลชนิดอื่นๆ ที่ต้องรอเวลาอย่างน้อย 2-4 ปี ขึ้นไป เป็นพืชที่สามารถบังคับให้ออกดอกติดผลได้หลายวิธี ซึ่งที่นิยมคือ การตัดแต่งกิ่ง หรือปลายใบของกิ่ง รองลงมาก็จะเป็นการโน้มกิ่ง เป็นต้น ทำให้เกษตรกรสามารถคาดการณ์กำหนดให้ผลผลิตออกสู่ตลาดตามที่เกษตรกรต้องการได้

ฝรั่งสายพันธุ์ดีของจังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ได้คัดเลือกจากการนำเมล็ดมาเพาะ และคัดเลือกนานหลายปีจนได้ฝรั่งสายพันธุ์ดี เนื้อดี รสชาติหวาน กรอบ 2 สายพันธุ์ คือ ฝรั่งพันธุ์ “พิจิตร 1” (ผิวผลสีเขียว เนื้อขาว) และฝรั่งพันธุ์ “พิจิตร 2” (ผิวผลสีแดง เนื้อแดง)

ฝรั่งพันธุ์ “พิจิตร 2”
ผิวผลมีสีแดง เนื้อสีแดงอมม่วง เป็นฝรั่งอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นจากการเพาะเมล็ดของฝรั่งพันธุ์แดงบางกอก หลังจากการเพาะเมล็ด ต้นฝรั่งที่เพาะเมล็ดโตจนออกดอกและติดผล พบว่า มีบางต้นที่แสดงลักษณะที่ดีและดีมากกว่าเดิม คือ ฝรั่งพันธุ์ “พิจิตร 2” ผลมีขนาดใหญ่ เฉลี่ย 350-600 กรัม เนื้อหนา รสชาติหวาน กรอบ ทานอร่อย มีกลิ่นหอม ส่วน ใบ ดอก ผล จะมีสีม่วงแดง สวยมาก และแน่นอน ฝรั่งที่มีผิวและเนื้อสีแดงม่วง ก็จะย่อมมีสารแอนโทไซยานินสูง สีผลฝรั่งเป็นที่สนใจแก่ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก และได้ตั้งชื่อพันธุ์ว่า “พันธุ์พิจิตร 2” เพราะต้นแม่เกิดขึ้นที่จังหวัดพิจิตร นั่นเอง

ฝรั่งพันธุ์ “พิจิตร 2” จัดเป็นไม้ผลที่น่าปลูกมาก เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกได้เร็วสำหรับการปลูกไม้ผล กล่าวคือ ปลูกเพียง 6 เดือน ต้นสามารถออกดอกและติดผลแล้ว และสามารถเก็บผลผลิตขายได้ภายใน 1 ปี เท่านั้น ซึ่งตอนนี้สวนคุณลี จำหน่ายผลฝรั่งพันธุ์ “พิจิตร 2” ได้กิโลกรัมละ 50 บาท ออกจากหน้าสวน ถือว่าเป็นผลไม้ที่มีมูลค่าในการจำหน่ายที่ค่อนข้างดี ถ้าเทียบกับไม้ผลหลายๆ ชนิด ที่มีการดูแลที่มากและนานกว่า ซึ่งตอนนี้ สวนคุณลี ก็ขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น เพื่อให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาด สำหรับท่านที่สนใจผลผลิต หรือต้นพันธุ์ฝรั่งแท้จากต้นตำรับ ติดต่อได้ที่ สวนคุณลี โทร. (081) 886-7398, (056) 613-021 หรือช่องทาง เฟซบุ๊ก : สวนคุณลี

การปลูกฝรั่งให้ความสำคัญในเรื่องของสภาพดินปลูก ที่จะต้องเป็นดินที่มีการระบายน้ำที่ดี และมีอินทรียวัตถุสูง เป็นที่สังเกตว่า การนำกากอ้อยมาใช้เป็นปุ๋ยหมักในการปรับโครงสร้างของดิน และที่เน้นเป็นพิเศษ คือ จะต้องมีการตรวจเช็กค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน เมื่อดินเป็นกรด จะแนะนำให้ใส่ปูนโดโลไมท์ ระยะการปลูกมีหลายระยะตามความเหมาะสมของแต่ละสวน เช่น 2.5×3 เมตร, 3×3 เมตร, 4×4 เมตร เป็นต้น ยกตัวอย่าง ถ้าระยะปลูกระหว่างแถวและระหว่างต้น ประมาณ 3×3 เมตร ในเนื้อที่ 1 ไร่ จะปลูกฝรั่งได้ประมาณ 160 ต้น มีคำแนะนำเพิ่มเติมว่า

การใช้ระยะปลูกที่ห่างพอสมควร มีส่วนช่วยในเรื่องของระบบการถ่ายเทอากาศที่ดี มีส่วนช่วยลดปัญหาโรคและแมลงได้ แล้วบางสวนเอาเครื่องจักร หรือรถขนาดเล็กเข้าทำงานก็จะง่าย ดังนั้น ระยะปลูกก็ต้องปลูกห่างออกไป เพื่อให้ใช้เครื่องจักรเข้าทำงานสะดวก

การเตรียมหลุมปลูก
ขนาดของหลุมปลูกควรกว้าง ประมาณ 1 หน้าจอบ ถ้าเป็นดินร่วน แต่ถ้าเป็นดินที่ไม่ดี จำเป็นต้องขุดหลุมกว้างขึ้น เพื่อเปลี่ยนสภาพดินในหลุมให้ดีขึ้น ดังนี้ ควรขุดดินโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ดินบน และดินล่าง ดินบน เป็นส่วนที่มีอินทรียวัตถุมากอยู่แล้ว ให้แยกไว้ส่วนหนึ่ง ดินล่าง คือดินที่เมื่อขุดลึกลงไปแล้วพบว่า ดินมีสีจางลง เป็นชั้นที่ไม่มีอินทรียวัตถุ ตากดินไว้ 10-15 วัน เพื่อให้แสงแดดส่องฆ่าเชื้อโรคในหลุมปลูกและในดิน กลบดินบนลงในหลุม ผสมปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ต่อดิน 2 ส่วน โรยสารสตาร์เกิล จี (สารไดโนทีฟูแรน)

ซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดแมลงชนิดเม็ดสำหรับรองก้นหลุม และโรยรอบๆ โคนต้น ซึ่งสารสตาร์เกิล จี จะช่วยป้องกันแมลง เช่น มด, ปลวก ที่เข้ามากัดกินรากของต้นกล้าได้ตั้งแต่เริ่มปลูก รวมถึงยังป้องกันการทำลายของแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยแป้ง, เพลี้ยอ่อน, แมลงหวี่ขาวบริเวณยอดอ่อนของฝรั่ง สามารถคุมได้นาน 30-45 วัน แล้วจึงนำต้นฝรั่งลงในหลุมทับชั้นดินบน จนมีระดับสูงกว่าระดับพื้นดินธรรมดาประมาณ 10 เซนติเมตร การที่ต้องกลบดินให้สูงกว่าระดับดินเดิมนั้น เพื่อที่เมื่อเวลาปลูกแล้ว ต้นจะยุบตัวลงเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้พอดีระดับดินเดิม ถ้าไม่เผื่อไว้จะเป็นแอ่ง และมีน้ำขังทำให้รากเน่าตายได้

วิธีปลูกฝรั่ง
หลังจากเตรียมหลุมปลูกเรียบร้อยแล้ว ให้นำกิ่งพันธุ์ปลูกลงในหลุม สมัคร GClub กลบดินให้แน่นพอสมควร แล้วใช้ไม้ปักเป็นหลักผูกกันลมโยก และรดน้ำทันที จากนั้นใช้ทางมะพร้าวมาคลุมพรางแสงแดดให้แก่ต้นฝรั่งจนกว่าต้นฝรั่งจะตั้งตัวได้ แต่ถ้าต้นฝรั่งมีความแข็งแรงดีอยู่แล้ว ในถุงดำระบบน้ำดี ก็ไม่จำเป็นต้องทำที่บังแดดให้แต่อย่างใด

การปักไม้ค้ำกันลม ในระหว่างที่ต้นฝรั่งยังเล็กอยู่ ควรปักไม้ค้ำต้นฝรั่งกันลม เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นโยก เพราะอาจกระทบกระเทือนทำให้ต้นฝรั่งไม่โต การปักไม้ค้ำกันลม ควรใช้ไม้รวก หรือแขนงไม้ไผ่ ยาว 1 เมตร ค้ำกิ่งต้นละ 1-2 อัน และใช้เชือกพลาสติกผูกติดกับกิ่ง แต่อย่าผูกให้แน่นมาก เพราะอาจเจริญเติบโตช้า การค้ำต้นฝรั่ง ฝรั่งจะเริ่มออกผลเมื่อประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ควรใช้ไม้ไผ่ปักไว้เพื่อพยุงต้นฝรั่ง โดยใช้ปลาย หรือไม้ไผ่ขนาดเล็ก ยาว 1 เมตร หรือมากกว่านั้น ปักใกล้กับกิ่งที่ออกผลแล้ว ควรยึดกับกิ่งไว้บางส่วน จะผูกขั้วผลกับกิ่ง หรือไม้ปัก เพื่อไม่ให้ผลถ่วงต้น เพราะน้ำหนักผลฝรั่งมาก ถ้ามีลมพัดแรงต้นจะเฉาตายและรากจะขาด

การให้น้ำฝรั่ง หลังจากปลูกฝรั่งแล้ว ต้องหมั่นคอยรดน้ำในช่วงระยะแรก จนกว่าต้นฝรั่งจะตั้งตัวได้ดี หลังจากนั้นก็สังเกตดูความชุ่มชื้นของดิน ถ้าดินแห้งมากต้องรีบให้น้ำ และถ้ามีฝนตกหนักก็ควรสำรวจระบายน้ำออกจากแปลงถ้าน้ำท่วมขัง การให้น้ำจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามความต้องการของต้นฝรั่ง ช่วงของการเจริญเติบโต

การใส่ปุ๋ย เบื้องต้นนั้น โดยปกติการปลูกพืชทุกชนิด ควรมีการใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีสูตรอย่างต่อเนื่อง ใช้ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในช่วงนั้นๆ โดยเฉพาะฝรั่งที่มีการออกผลดก และติดผลจำนวนมากเกือบตลอดทั้งปี ที่แนะนำ คือ ใช้สูตรเสมอ เช่น 15-15-15, 16-16-16, 19-19-19 เป็นต้น ใช้เป็นสูตรยืนพื้น ก่อนตัดแต่งกิ่งฝรั่ง ก็จะเปลี่ยนเป็นปุ๋ยสูตร 8-24-24 เพื่อให้ต้นได้มีการสะสมอาหาร จนออกดอก และติดผลขนาดเล็ก พร้อมที่จะห่อผล จากนั้นก็จะมาสลับสูตรปุ๋ยที่มีตัวหน้าสูง (เพื่อขยายขนาดผล) และตัวท้ายสูง (เพิ่มคุณภาพและความหวาน) เช่น ปุ๋ยสูตร 21-7-14, 11-6-25, 13-10-21, 8-24-24, 13-13-21 เป็นต้น