การทำสวนได้เงินเป็นรายปี 1 ปี มีรายได้เข้ามาแค่ 2-3 เดือน

จะต้องบริหารเงินอย่างไร ให้อยู่ทั้งปี ถ้าเป็นสวนเล็กๆ จะวางแผนเอาเงินทุนตรงนั้นมาใช้จ่ายอย่างไร หนี้สิ้นที่กู้มาลงทุนจะแบ่งใช้อย่างไร คือต้องมีการจัดวางให้ดี การเกษตรไม่ได้สวยหรูเหมือนที่วางไว้ การที่จะออกจากงานประจำแล้วทำเกษตรคือต้องมีเงินทุน ทั้งทุนเดิมและทุนใหม่ ทุนเดิมคือ ต้องมีที่มีทาง ถ้าออกจากงานมีเงินก้อนมาซื้อที่จะถือเป็นการลงทุนที่เยอะพอสมควร และจะขยับขยายต่อไปได้ยาก เพราะเงินที่มีอยู่นำไปซื้อที่หมด ทุนใหม่คือ การเริ่มต้นซื้อเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์การเกษตรใหม่ และยังต้องมีค่าต้นพันธุ์อีก

จะบอกกับหลายคนที่เข้ามาถาม เห็นเราอายุยังน้อยยังสามารถทำได้ เราก็จะตอบกลับไปเสมอว่า เรามีต้นทุนเดิมอยู่แล้ว แค่มาทำให้เป็นและต่อยอด ซึ่งตอนนี้ตัวเธอก็เหมือนคนที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้ใหม่ เริ่มนับตั้งแต่ทุเรียนใบแรก ไม่เข้าใจตรงไหนก็ใช้วิธีถามและจดบันทึกทุกขั้นตอน พยายามกอบโกยความรู้ให้ได้มากที่สุด เกษตรกรมือใหม่ใจต้องสู้ คนส่วนใหญ่กลัวแดด ไม่สู้แดด แต่ถ้ามาเป็นเกษตรกรแล้วคือต้องสู้ ต่อให้อยู่กลางแดดก็ต้องทนให้ได้” คุณจี๋ บอกเล่าประสบการณ์การเป็นเกษตรกรมือใหม่ที่ต้องเจอ

ตลอดระยะเวลา 2 ปี กับการเป็นเกษตรกร
สร้างความรู้ ความชำนาญ และพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ

เจ้าของบอกว่า เธอพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งหลังจากที่แต่งงานมาสร้างครอบครัวของตัวเอง เธอเริ่มทำเกษตรอย่างจริงจัง เริ่มต้นด้วยการปรับพื้นที่ล้มสวนปาล์มน้ำมันเก่าทิ้ง เพราะปาล์มน้ำมันราคาตกต่ำ ต้องใช้คนงานเยอะ ตัวเธอเองก็ไม่มีคนงานอยู่ในมือ และด้วยราคาที่ไม่จูงใจให้ไปหาคนงานมาเพิ่ม จึงตัดสินใจล้มปาล์มแล้วเริ่มต้นปลูกทุเรียนใหม่ ซึ่งแปลงที่กำลังจะปลูกใหม่ด้วยมือตัวเอง มีพื้นที่ 22 ไร่ จะลงมือปลูกในอีก 2 เดือนข้างหน้าช่วงฤดูฝน โดยเรียนรู้จากแปลงของพ่อและของแฟน มีการเริ่มศึกษาตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมใบ ครั้งที่ 1 เพื่อให้ต้นสมบูรณ์ ขั้นตอนการทำใบ ครั้งที่ 2 เพื่อที่จะเอาดอก จากนั้นเรียนรู้ขั้นตอนการทำดอกทุเรียน ทุเรียนเป็นลูก เริ่มคุมการให้น้ำ มีการจดบันทึกทุกขั้นตอนเพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบในปีหน้า

ซึ่งนอกจากการเรียนรู้แล้วเธอก็มีส่วนในการพัฒนาที่มรดกให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ที่จากสวนปาล์มที่มีการประเมินราคาที่ดินต่ำ แต่ตอนนี้เธอเปลี่ยนจากต้นปาล์มมาเป็นต้นทุเรียน การประเมินที่ดินก็จะสูงขึ้น และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับทุเรียนได้จากการขายออนไลน์ เพราะปกติพ่อทำแค่ขายให้เฉพาะพ่อค้าคนกลาง เขาให้เท่าไร ก็ต้องเอา ด้วยความที่เป็นคนรุ่นเก่าเอาเร็วเข้าว่า ไม่อยากยุ่งยาก ชอบรับเงินเป็นก้อนมากกว่าการขายทีละลูก เธอจึงใช้สื่อโซเชียลให้เป็นประโยชน์ นำทุเรียนที่ผิวไม่สวย แต่ข้างในยังดีมาแกะขายเพิ่มมูลค่า

จากเป็นทุเรียนตกเกรดเหลือลูกละ 60 บาท มาเพิ่มมูลค่าให้ได้ลูกละ 100-120 บาท และเพิ่มยอดขายด้วยการนำทุเรียนพันธุ์โบราณของที่สวนมีอยู่แล้ว เช่น พวงมณี ก้านยาว กระดุม และจันทบุรี 1 มาแกะขายเพิ่ม เพราะพันธุ์เหล่านี้ไม่สามารถส่งออกต่างประเทศได้ ตลาดไม่รองรับ ก็นำมาแกะขายสร้างมูลค่าดีกว่า ซึ่งทุเรียนแกะขายส่งออนไลน์ของสวนจะมีจุดเด่นตรงที่ตัดทุเรียนที่แก่จัด 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ป้ายน้ำยาเร่งสุก รสชาติจะดีกว่า เพราะถ้าเป็นทุเรียนป้ายยารสชาติจะซ่า ความหวานจะลดลง และสีไม่เข้มเท่าไร แต่ถ้าตัดทุเรียนแก่รสชาติจะหวานมันอร่อย

ในส่วนของทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่เป็นพันธุ์สร้างรายได้หลัก จะตัดส่งล้งเพื่อขายต่อตลาดต่างประเทศเกือบทั้งหมด รวมแล้วมีพื้นที่การปลูกทุเรียนทั้งหมดกว่า 80 ไร่ ผลผลิตที่ได้ 3 ตันกว่า ต่อไร่ 1 ต้น เคยนับได้ประมาณ 80 ลูก ถ้าเป็นภาษาชาวสวน เขาเรียกว่า แบกเก่ง คือแบกลูกได้เยอะ แต่ถ้าแบกมากเกินไป ต้นจะโทรม ลูกจะเล็ก แต่ถ้าให้ปุ๋ยถึงน้ำถึง ต้นสมบูรณ์ก็สามารถแบกได้ น้ำหนักต่อผลโดยเฉลี่ย 2 กิโลกรัมขึ้นไป

ทุเรียนไซซ์ที่ตลาดต้องการ จะต้องมีน้ำหนัก 2-7 กิโลกรัม จากประสบการณ์ที่เคยขาย ถ้าเกินลูกละ 4 กิโลกรัม ลูกค้าจะไม่ชอบ

ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต เริ่มออกมีผลผลิตให้เก็บตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมไปเรื่อยๆ จนถึงเดือนมิถุนายน สามารถกำหนดไม่ให้ผลผลิตออกมาชนกับทุเรียนในฤดูได้ เพราะทำสวน 2 ที่

สวนที่ 1 สวนของพ่อ ออกเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม

สวนที่ 2 ของแฟน จะทำรุ่นหลังให้ออกปลายฤดูช่วงเดือนมิถุนายน จะได้ราคาสูงขึ้นมาอีก ซึ่งตรงนี้จะเป็นขั้นตอนถัดไปที่อยากเรียนรู้

ราคา ตัดครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ราคากิโลกรัมละ 130 บาท ถือว่าราคาดี แต่ช่วงในฤดูจะลดลงมา เหลือกิโลกรัมละ 115-125 บาท ถือว่าอยู่ได้แบบสบายๆ ขอแค่อย่าต่ำกว่า กิโลกรัมละ 80 บาท ก็พอ

ตลาดส่งออกต่างประเทศ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์
ส่วนมากตอนนี้ยังพึ่งการส่งออกต่างประเทศเป็นหลักกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แบ่งขายออนไลน์ในประเทศเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ลูกค้าทางออนไลน์ส่วนใหญ่ติดตามจากที่เคยทำคลิปการลงสวนทำกิจกรรมไว้ ซื้อเพราะเห็นเราเป็นชาวสวน เห็นตั้งแต่ขั้นตอนทำลูกจนถึงเก็บเกี่ยว จึงแบ่งไว้ขายเองแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะตลาดออนไลน์ยังไม่กว้างเท่าที่ควร

ฝากถึงเกษตรกรมือใหม่
คุณจี๋ บอกว่า ไม่สามารถจะเป็นตัวอย่างให้กับใครหลายคนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าก็ไม่ได้ตั้งใจมาโดยตรง แต่ในเมื่อออกมาแล้ว ก็ต้องทำจุดที่ตัวเองยืนอยู่ให้ดีที่สุด ต้องสลัดคราบนักวิทยาศาสตร์ออกไป เราไม่ได้ทำงานในห้องแอร์แล้ว เรามาทำงานกลางแดดแล้ว และต้องคิดว่าเราคือเกษตรกรอาชีพ จะต้องทำตรงนี้เป็นเม็ดเงินของเราเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัวด้วยอาชีพเกษตรกรรม ต้องห้ามท้อ มันจะไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่หวังไว้ตลอด สิ่งที่หวังกับความเป็นจริงมันไม่เหมือนกัน วันหนึ่งเคยท้อวันละหลายๆ รอบ เคยท้อจนกระทั่งจะกลับไปทำงานเดิม แต่ชีวิตก็ต้องเดินหน้าสู้ต่อ ท้อได้แต่อย่าถอย ค่อยๆ แก้ไป ไม่มีใครออกมาแล้วชี้นิ้วสั่งแล้วได้ทุกอย่าง คุณจี๋ กล่าวทิ้งท้าย

คุณธีระพงษ์ สุขสว่าง หรือ คุณตั้ม อยู่บ้านเลขที่ 43 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองสามวัง อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์รุ่นใหม่ที่หันมาสนใจอยากจะอนุรักษ์พันธุ์กล้วยโบราณหายากและมากคุณค่าให้คงอยู่ ซึ่งนอกเหนือจากคุณค่าทางจิตใจแล้ว การอนุรักษ์กล้วยสายพันธุ์แปลกยังกลายเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับคุณตั้มได้เป็นอย่างดี

คุณตั้ม เรียนจบปริญญาโท สาขาวิศวกรรมเคมี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากเรียนจบได้มีโอกาสทำงานตามสายที่ตนเองเรียนมาเป็นระยะเวลากว่า 3-4 ปี และมีเหตุจำเป็นที่ต้องลาออกมาช่วยพ่อแม่ที่มีอายุมากขึ้น โดยพื้นฐานครอบครัวคุณตั้มเป็นเกษตรกรมาก่อน คุณพ่อคุณแม่เป็นชาวสวนส้ม แต่ทำได้สักระยะสวนส้มแถวปทุมธานีก็เกิดวิกฤต ส้มเป็นโรคตาย ที่บ้านจึงปรับเปลี่ยนมาปลูกไม้ประดับ ลีลาวดี หมากแดง เป็นไม้ขุดล้อมขายแทน จนกระทั่งในปี 2554 ตนเองและคุณพ่อคุณแม่ก็เริ่มหันมาสนใจเกี่ยวกับกล้วยพันธุ์แปลกหายาก ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากพี่ข้างบ้าน

ปลูกกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม สร้างรายได้หลัก
ขายต้นพันธุ์กล้วยแปลก เป็นรายได้เสริม
คุณตั้ม เล่าว่า สาเหตุที่ตนเองเริ่มสนใจที่จะปลูกกล้วยพันธุ์แปลก ส่วนหนึ่งมาจากความมีใจรักและอีกส่วนคือมองเห็นช่องทางการสร้างรายได้เสริมให้ครอบครัวด้วย เนื่องจากช่วงนั้นมีเพื่อนบ้านหลังติดกันเขาเป็นพ่อค้าขายต้นไม้ และมักจะมีกล้วยพันธุ์แปลกติดไปขายและก็ขายดี จึงเกิดความสนใจและได้ไปสอบถามข้อมูลจากเขา เขาเห็นตนชอบจึงให้กล้วยพันธุ์แปลกมาให้ทดลองปลูก ประมาณ 4-5 สายพันธุ์ ซึ่งในระหว่างนั้นก็เห็นว่าธุรกิจของพี่เขาดีขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความคิดที่จะทำบ้าง จึงบอกให้พี่เขาช่วยหาพันธุ์แปลกมาขายให้เพิ่ม จากนั้นก็เริ่มสะสมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ ปี 2554 จนถึงปัจจุบันสะสมได้ร้อยกว่าสายพันธุ์ นับได้ว่าเป็น 1 ใน 3 เจ้า ที่มีกล้วยสายพันธุ์แปลกและหายากที่สุดในตอนนี้

ซึ่งหลังจากที่เริ่มสะสมและมีพันธุ์แปลกมากมายหลายสายพันธุ์ ก็เริ่มมองเห็นช่องทางการตลาดของตัวเอง เริ่มทำการตลาดเอง มีจุดเด่นที่การจัดส่งต้นพันธุ์ให้ลูกค้าทางไปรษณีย์ ผลตอบรับค่อนข้างดี จนกระทั่งเมื่อปี 2560 ก็เริ่มขยับขยายพื้นที่ปลูกกล้วยหอม และกล้วยน้ำว้าเป็นพันธุ์ขายผลเพิ่ม โดยแบ่งปลูกกล้วยน้ำว้า 3 ไร่ กล้วยหอม จำนวน 1 ไร่ครึ่ง เนื่องจากเริ่มเห็นช่องว่างของการขายหน่ออย่างเดียว

ว่าไม่สามารถสร้างรายได้ที่แน่นอนได้ เพราะตนไม่สามารถที่จะกำหนดได้ว่า ครั้งนี้หน่อจะออกมากี่หน่อ หรือกำหนดไม่ได้ว่า ครั้งนี้ลูกค้าจะต้องการมากน้อยขนาดไหน แต่ถ้าขายผลก็ยังสามารถที่จะรู้ล่วงหน้าวันที่ผลผลิตออก และคำนวณปริมาณผลผลิตได้ แต่ถ้าการขายหน่อต้องรอลูกค้ามาซื้อ บางเดือนขายได้แค่หลักพัน บางเดือนขายได้หลักหลายหมื่นมันไม่แน่นอน จึงเลือกปลูกทั้งสองอย่างเพื่อความมั่นคง ขายผลเป็นรายได้หลัก พันธุ์แปลกเป็นรายได้เสริมที่ดี

เริ่มอนุรักษ์พันธุ์กล้วยแปลก ตั้งแต่ ปี 54
จนถึงปัจจุบัน สะสมได้มากกว่า 170 สายพันธุ์
เจ้าของบอกว่า กล้วยพันธุ์แปลกที่สะสมไว้ ส่วนใหญ่ได้มาจากพี่ข้างบ้าน และที่ตนเองหาเองเพิ่มเติม ซึ่งความยากของการอนุรักษ์กล้วยพันธุ์แปลกไม่ใช่แค่เพียงหายาก แต่บางครั้งกล้วยพันธุ์เดียวกัน แต่ต่างจังหวัดหรือต่างภาคเรียกชื่อไม่เหมือนกัน บางครั้งตนเองไปแลกพันธุ์กับคนที่ไม่รู้จริงก็จะได้พันธุ์เดิมพันธุ์ซ้ำกลับมา หรืออีกกรณีคือ โดนหลอก แนะนำว่าถ้าจะซื้อต้องไปซื้อสวนที่รู้จักและไว้ใจได้

วิธีการจัดการแปลงปลูก
การปลูกกล้วยของที่นี้จะเน้นความถูกต้องของสายพันธุ์ โดยจะเน้นตั้งแต่การขุดหน่อ การวางตำแหน่งก่อนปลูกของกล้วยแต่ละสายพันธุ์ จนถึงขั้นตอนการปลูก

ในขั้นตอนการปลูกเราสามารถกำหนดทิศทางในการออกเครือของผลกล้วยได้ด้วย โดยการหันรอยตัดของหน่อให้ตรงข้ามกับทิศทางที่จะให้เครือของกล้วยออกผล การปลูกต้องวางเหง้ากล้วยลงไปในหลุม แล้วกลบดินให้มิดเหง้ากล้วย แล้วต้องเหยียบดินที่กลบให้แน่นเพื่อให้ไม่มีช่องว่างระหว่างดินกับเหง้ากล้วย จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มแล้วปิดด้วยฟางหรือเศษหญ้าแห้ง

พื้นที่สวนมีทั้งหมด 12 ไร่ จะแบ่งพื้นที่ปลูกกล้วยไว้ครึ่งหนึ่ง 6 ไร่ มี 4 ร่อง ปลูกเฉพาะแต่ละสายพันธุ์ ปลูกครั้งละ 2-3 ร่อง เพื่อที่ทุกๆ 2-3 ปี จะต้องสลับพื้นที่ปลูก เพราะว่ากล้วยเป็นพืชที่อายุไม่ยืน จึงจำเป็นต้องย้ายแปลงปลูกและต้องมีการเตรียมดินเอาไว้สลับพื้นที่ปลูก ถ้าปลูกซ้ำที่เดิมผลผลิตจะออกได้ไม่ดีเท่าที่ควร ยกตัวอย่างก่อนหน้าไม่นานมานี้ที่แปลงเพิ่งจะโดนพายุ ทำให้สายพันธุ์ที่สะสมไว้ได้รับความเสียหายไปมากกว่าสิบสายพันธุ์ เพราะเตรียมแปลงปลูกใหม่ไม่ทัน ทำให้จากเดิมมี 187 สายพันธุ์ ลดเหลือ 170 กว่าสายพันธุ์

การแบ่งพื้นที่ปลูก…เลือกปลูกสายพันธุ์ละ 2-3 ต้น แต่ถ้าสายพันธุ์ใดลูกค้านิยมก็จะปลูกให้เพียงพอต่อความต้องการ 10-20 ต้น ซึ่งสายพันธุ์หลักที่สร้างรายได้จะมี พันธุ์น้ำว้าดำ พันธุ์เทพนม พันธุ์สาวกระทืบหอ พันธุ์เทพรส และอื่นๆ อีกนับแล้วประมาณ 10 สายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์ที่ขายได้บ่อยๆ ก็มีประมาณ 50 กว่าสายพันธุ์ โดยกลุ่มลูกค้าที่เข้ามา จะมีอยู่ 4 ประเภท

1. ลูกค้าที่มีความทรงจำในวัยเด็กว่าเคยกินกล้วยสายพันธุ์นี้แล้วอร่อยมาก แต่ตอนโตหาซื้อกินไม่ได้ แล้วเขามาเห็นเขาก็ดีใจซื้อไปปลูกไว้กินเอง
2. ซื้อไปเป็นไม้ประดับ เลือกสายพันธุ์ที่ใบลายๆ หรือมีดอกสีสันสวยงาม
3. พ่อค้านักเก็งกำไร ซื้อแล้วนำไปขายต่อ
4. ลูกค้าที่ซื้อพันธุ์ทั่วไป อย่างกล้วยน้ำว้า และกล้วยหอม อันนี้ซื้อไปเพื่อนำไปปลูกขายผล กลุ่มนี้จะซื้อจำนวนมาก

ผลผลิต …เกือบทุกสายพันธุ์จะมีผลออกมาให้เห็น แต่ผลที่ออกมานั้นส่วนใหญ่ลักษณะจะไม่เหมาะกับการนำมากิน บางพันธุ์มีผลเล็กเท่านิ้วก้อย หรือบางพันธุ์เป็นกล้วยป่า ข้างในจะมีเมล็ด และอีกพันธุ์ที่มีผลใหญ่ 1 ลูก น้ำหนักหลายขีด ประเภทนี้แป้งจะมากกัดกินเข้าไปจะรู้สึกเหมือนเคี้ยวมันสำปะหลัง

ยกตัวอย่าง การปลูกกล้วย
สายพันธุ์แปลก
ขอยกตัวอย่างการปลูกกล้วยเทพนม เจ้าของบอกว่า คล้ายกับการปลูกกล้วยน้ำว้า ขุดหลุม ลึกxกว้าง 50×50 เซนติเมตร สำหรับที่จะใส่วัสดุรองก้นหลุม แต่ถ้าไม่ใส่ ให้ขุดตื้นขึ้นมาเหลือ 30 เซนติเมตร แต่ต้องดูขนาดเหง้าด้วย ถ้าเหง้ามีขนาดใหญ่ก็ขุดลึกหน่อย

การดูแล… เมื่อขุดหลุมลงปลูกเสร็จที่สำคัญคือ ต้องเหยียบดินให้แน่นแล้วรดน้ำ เพราะถ้าไม่เหยียบดินให้แน่นจะเกิดช่องว่างในดินเวลารดน้ำ น้ำจะขังเยอะทำให้รากเน่า เพราะกล้วยเป็นพืชที่ชอบชุ่ม แต่ไม่ชอบแฉะ ช่วงเดือนแรกต้องดูต้นดีๆ เพื่อให้ต้นสร้างราก เมื่อสร้างรากออกมาแล้วเริ่มแตกใบที่ยอดประมาณเดือนครึ่งก็ถือว่ารอดแล้ว

ผลผลิต… ถ้าปลูกเพื่อตัดหน่อขาย ระยะเพียง 6-7 เดือน ก็สามารถขุดขายได้แล้ว 1 ต้น ให้ผลผลิตประมาณ 5-8 หน่อ ขึ้นอยู่ที่ความสมบูรณ์ของหน่อและสายพันธุ์ด้วย เช่น กล้วยงาช้าง จะมีหน่อออกมาเยอะมาก ออกรอบต้น 2 รอบ ประมาณ 20 กว่าหน่อ แต่ก็ไม่ได้สมบูรณ์ทุกหน่อ ถ้าดูแล้วหน่อไหนไม่สมบูรณ์ก็ปาดทิ้ง เพื่อจะได้เก็บหน่อที่สมบูรณ์แข็งแรงไว้

ข้อดีของการปลูกเพื่อขายต้นพันธุ์ …

1. ดูแลง่ายกว่า แต่ต้องรดน้ำใส่ปุ๋ยคล้ายกัน แต่ถ้าปลูกเพื่อขายหน่อจะต้องการน้ำมากหน่อย
2. ได้จำนวนผลผลิตมากกว่า ถ้าขายผล 1 ต้น ได้ 1 เครือ แต่ถ้าขายหน่อ 1 ต้นแม่ สามารถขายได้ 5-7 หน่อ
3. มีความเสี่ยงน้อยกว่า ถ้าต้นแม่พันธุ์หักก็ยังสามารถขายหน่อได้
4. ขายผลผลิตได้เร็วกว่า

ราคาขาย …ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์หายากง่าย ตอนนี้ที่สวนมีต้นพันธุ์ราคาตั้งแต่ 50-2,000 บาท ต้นพันธุ์ที่ราคาแพงที่สุดคือ กล้วยร้อยปลี ราคา 2,000 บาท มีลักษณะเป็นดอกห้อยลงมายาวประมาณ 60-130 เซนติเมตร ซึ่งเรียกว่า หัวปลี ส่วนสายพันธุ์ที่ราคารองลงมาคือ สายพันธุ์ฮัวเมา ราคาต้นละ 1,500 บาท มาจากฮาวาย ลักษณะผลจะกลมๆ ใหญ่ๆ เกือบเท่ากระป๋องเบียร์และเป็นเหลี่ยม 10-20 เหลี่ยม

รายได้ …การขุดต้นพันธุ์ขายเหมาะกับการทำเป็นรายได้เสริม เพราะมีรายได้ที่ไม่แน่นอน บางเดือนขายได้หลักร้อยถึงหลักพัน บางเดือนขายได้หลักหลายหมื่น ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าในช่วงนั้น หรือถ้าลูกค้าต้องการมาก แต่เรามีไม่พอกับที่ลูกค้าต้องการก็ขายไม่ได้ เพราะบางครั้งลูกค้าต้องการสายพันธุ์ซ้ำๆ กัน ก็ผลิตให้ไม่ทัน ถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่พอสร้างรายได้ ซึ่งในอนาคตมองว่าอยากที่จะพัฒนาและสร้างรายได้จากกล้วยสายพันธุ์แปลกที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่ามากกว่านี้ แต่อาจจะต้องร่วมกับผู้รู้เข้ามาทำการวิจัยหาจุดเด่นของกล้วยแต่ละสายพันธุ์ว่าสามารถนำไปแปรรูปหรือสร้างประโยชน์อะไรได้บ้าง คุณตั้ม กล่าวทิ้งท้าย

ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นที่รับน้ำตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ประสบภัยน้ำท่วมทุกปีมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ “ชุมแสง” โดนน้ำท่วมอ่วมอรทัยในปี 2554 นานถึง 3 เดือนกว่า พืชผลการเกษตรที่ถูกน้ำท่วมเสียหายหมด ประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนอย่างหนัก

เมื่อคราวอุทกภัยใหญ่ บ้านทับกฤชใต้ถูกน้ำท่วมนานกว่า 3 เดือน พืชผลเกษตรเสียหายหมด แต่กลับมีพืชอยู่ชนิดหนึ่งที่ถูกน้ำท่วมนานก็สามารถทนอยู่ได้ หลังจากน้ำลดลงพืชชนิดนั้นกลับให้ผลผลิตดีมาก นั่นก็คือ “ไผ่อินโดจีน” เป็นไผ่รับประทานหน่อสายพันธุ์หนึ่งที่ คุณนิรุต ผลพิกุล อยู่บ้านเลขที่ 4/1 หมู่ที่ 6 บ้านทับกฤชใต้ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ปลูกอยู่ 12 ไร่

คุณนิรุต กล่าวว่า พื้นที่สวนไผ่ของตนถูกน้ำท่วมนานกว่า 3 เดือน ระดับน้ำสูงประมาณ 3 เมตรครึ่ง หลังจากระดับน้ำลดลงก็พบว่า ไผ่อินโดจีนที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ 12 ไร่ ยังยืนต้นอยู่ได้ไม่ล้มตาย จะมีตายก็เฉพาะไผ่ต้นอ่อนๆ เพิ่งจะลงปลูกใหม่ไม่ถึงปี นอกนั้นไม่ตาย

“จะว่าไผ่น้ำท่วมไม่ตายเสียทุกสายพันธุ์ก็ไม่ได้ เพราะละแวกบ้านที่ปลูกไผ่สีสุก ไผ่รวก และไผ่อื่นๆ ถูกน้ำท่วมตายหมด มะพร้าวที่ว่าแน่ๆ ยังตาย จะมีก็ไผ่อินโดจีนที่สวนผมเท่านั้นที่ไม่ตาย”

คุณนิรุต กล่าวอีกว่า นี่คือ จุดเด่นของไผ่ และหลังน้ำลดไผ่ก็แตกหน่อออกมามากมาย ในช่วงนี้สามารถแทงหน่อไปขายเป็นรายได้ชดเชยอย่างงดงามหลังน้ำท่วม ที่ไม่ต้องรอผลผลิตพืชอื่นเลย จึงมองว่าไผ่อินโดจีนไม่ใช่ทางเลือกของผู้ที่มีพื้นที่รับน้ำท่วม แต่เป็น “ทางออก” ที่จะต้องปลูกเพื่อให้มีรายได้เข้ามาหลังน้ำลด

คุณนิรุต บอกว่า ที่ต้องปลูกไผ่อินโดจีนนั้นก็เพราะเจ้าหน้าที่เกษตรประจำพื้นที่คือ คุณอรรถพร หรือ คุณบ๊อบ เข้ามาแนะนำให้ทดลองปลูกไผ่ดู เพราะไปเจอไผ่อินโดจีนเป็นไผ่สายพันธุ์หนึ่งที่ให้หน่อดก หน่อใหญ่ สามารถแทงหน่อขายเป็นรายได้เสริม นอกเหนือจากการทำนาและปลูกข้าวโพด

“ผมทำนาอยู่ 140 กว่าไร่ และปลูกข้าวโพดอีก 10 กว่าไร่”

คุณนิรุตบอก พร้อมกับเล่าอีกว่า ตนไปดูไผ่อินโดจีนที่มีคนรับมาขายต่อ คนขายบอกว่าไผ่ทนน้ำท่วมได้ดี เลยตัดสินใจทดลองปลูก 100 กิ่ง ราคาขาย กิ่งละ 150 บาท นำมาก็ขุดหลุมปลูกกว้าง 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร กลบโคนให้แน่นตามที่คนขายแนะนำ ระยะปลูก 4 x 4 เมตร รดน้ำให้ชุ่มไปจนกว่าดินจะรัดรากดี ต้นกล้าแข็งแรงแตกยอดอ่อนออกมา ก็ปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ เรื่องน้ำคอยให้บ้างช่วงหน้าแล้ง ช่วงอื่นปล่อยได้เลย สำหรับปุ๋ยใช้ปุ๋ยที่เหลือจากใส่ข้าวโพด หรือใส่ข้าวในนานำมาหว่านหรือใส่โคนต้น ไม่ต้องมากนักแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

ขณะที่ต้นไผ่ยังเล็กปัญหาที่พบคือ ต้นหญ้าจะขึ้นในแปลง ตรงนี้ก็ต้องดายหญ้าทิ้ง หรือเอารถไถเข้ามาไถระหว่างร่องบ้าง อย่าปล่อยให้หญ้าสูงท่วมต้นไผ่ แต่พอต้นไผ่เจริญเติบโตสูงขึ้นแล้ว ใบไผ่จะคลุมดินต้นหญ้าก็จะค่อยๆ หมดไป

ประมาณ 1 ปี ไผ่ก็จะเริ่มให้หน่อ

“แรกๆ ก็เก็บไว้รับประทานเองบ้าง ให้พรรคพวกเพื่อนฝูงบ้าง ที่เหลือก็ตัดหน่อขาย”

ระยะแรก ขุดหน่อไผ่ขายครึ่งหนึ่ง ได้เงินประมาณ 1,000-2,000 บาท ยิ่งตัดหน่อขาย ก็ยิ่งได้เงินเพิ่มมากขึ้น เพราะไผ่ให้หน่อออกมาตลอด จากรายได้ครั้งละ 1,000-2,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 2,000-3,000 บาทต่อการตัดหน่อขายหนึ่งครั้ง ปัจจุบัน ได้ผลผลิตหน่อไผ่ตัดขายครั้งหนึ่งประมาณ 20,000 บาท ต่อ 1 อาทิตย์

ใน 1 อาทิตย์ ตัดหน่อ 2 ครั้ง ประมาณ 1,000 กิโลกรัม ใน 1 เดือน จะมีรายได้ประมาณ 70,000-80,000 บาท หักค่าใช้จ่ายต่างๆ เหลือประมาณ 60,000-70,000 บาท ถ้าใส่ปุ๋ยดีๆ ผลผลิตก็ได้ดี และถ้าเป็นช่วงฤดูร้อน หากให้น้ำและบำรุงต้นด้วยปุ๋ยไผ่ก็จะให้ผลผลิตดี ราคาขายจะสูงกว่าช่วงหน้าฝน ไผ่จึงไม่ใช่ตัวเลือก แต่เป็น “ทางออก” ในการสร้างรายได้หลังน้ำลดที่รวดเร็วมาก

สำหรับท่านที่สนใจ ไผ่อินโดจีน อยากจะทราบรายละเอียด โทรศัพท์ติดต่อ คุณนิรุต ผลพิกุล ได้ที่ โทร. 084-649-0889 หรือติดต่อที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ โทร. 056-229-445 ทุกวัน เวลาราชการ

แมลงทอด ได้รับความนิยมบริโภคในตลาดบ้านเรามาก่อนหน้านี้พักใหญ่ แต่กระแสความนิยมดูเหมือนจะลดลง เมื่อเดินตามตลาดพบได้น้อยกว่าเมื่อก่อน ทั้งที่จริง เราไม่เคยรู้เลยว่า ปัจจุบัน แมลงทอด ยังคงได้รับความนิยมบริโภคอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มสูงมากขึ้น แต่เพราะความนิยมบริโภคกระจายออกไปตามจังหวัดต่างๆ ไม่ได้กระจุกตัวอยู่เพียงหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น

แมลงทอด โดยเฉพาะ จิ้งหรีด ได้รับความนิยมบริโภค Royal Online V2 เนื่องจากเป็นอาหารที่ให้โปรตีนและไขมันสูง และได้รับการการันตีจากหลายหน่วยงานภาครัฐว่า เป็นแมลงที่ปลอดสารเคมี ยกเว้นเมื่อนำไปทอดแล้วใส่สารกันบูดหรือสารเพื่อรักษาสภาพอาหารเข้าไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ที่บ้านแสนตอ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันจัดว่าเป็นแหล่งผลิตแมลง โดยเฉพาะจิ้งหรีด ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นของประเทศ ที่ต้องเอ่ยเช่นนี้ เพราะก่อนหน้านี้จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดแรกที่เริ่มเลี้ยงและขยายพันธุ์แมลง จนเป็นที่รู้จักระดับประเทศ แต่วันนี้แหล่งผลิตที่เริ่มขึ้นก่อนแหล่งอื่นกลับลดจำนวนการผลิตลง และบ้านแสนตอแห่งนี้กลับมีพื้นที่การผลิตเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นอีก โดยตั้งเป้าผลิตส่งออก และทำเป็นฟาร์มจิ้งหรีดมาตรฐาน GAP เพื่อการส่งออก

คุณไพบูรณ์ คำมูลมาตย์ หนึ่งในผู้ทำฟาร์มจิ้งหรีดอย่างเป็นระบบ เปิดฟาร์มให้เข้าดูการเลี้ยงจิ้งหรีดอย่างใกล้ชิด ที่ต้องเอ่ยเช่นนี้ เพราะโดยปกติ จิ้งหรีด เป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหวต่อสารทุกชนิด แม้กระทั่งควันไฟจากการเผา กลิ่นบุหรี่ ควันบุหรี่ กลิ่นน้ำหอม หากอยู่ในระยะที่จิ้งหรีดรับกลิ่นได้ จิ้งหรีดมีโอกาสตายสูง ดังนั้น การเปิดฟาร์มจึงเป็นการเสี่ยงอีกชนิดหนึ่ง

12 ปีแล้ว ที่คุณไพบูรณ์ เริ่มทำฟาร์มจิ้งหรีด โดยเริ่มต่อจากน้องเขย ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มนำจิ้งหรีดระบบฟาร์มมาเลี้ยงในหมู่บ้านแสนตอ เนื่องจากมีผู้ว่าจ้างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ให้น้องเขยเลี้ยงจิ้งหรีด โดยลงทุนเองทั้งหมด แต่รับซื้อคืนทั้งหมดเช่นกัน น้องเขยจึงลงทุนเริ่มแรกด้วยการทำโรงเรือน และซื้อไข่จิ้งหรีด 6,000 ขัน ราคาขันละ 100 บาท เท่ากับลงทุนเฉพาะพันธุ์จิ้งหรีดไป 60,000 บาท ไม่รวมค่าโรงเรือนและอื่นๆ เมื่อได้ผลผลิตผู้ว่าจ้างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ก็มารับซื้อคืนตามตกลง ส่วนคุณไพบูรณ์ก็อาศัยคราวนั้นเข้าไปศึกษาดูงานการเลี้ยงจิ้งหรีด และตัดสินใจลงทุนทำฟาร์มเองหลังการช่วยงานน้องเขย 25 ปี เพราะเห็นตลาดไปได้ดี