การทำไร่ยาสูบถือเป็นเกษตรกรรมที่สร้างงาน สร้างรายได้

ให้แก่เกษตรกรในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทย เช่น แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ สุโขทัย หนองคาย นครพนม ร้อยเอ็ด โดยเป็นพืชไร่ตามฤดูกาลที่จะปลูกในต้นฤดูหนาวเดือนพฤศจิกายนและเก็บเกี่ยวเมื่อสิ้นสุดฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม จากสถิติในปี 2561 พื้นที่ปลูกยาสูบของประเทศไทยมีประมาณ 111,612 ไร่ มีเกษตรกรปลูกยาสูบ 22,075 ครัวเรือน มูลค่าตลาดใบยาสูบแห้งอยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี โดยแบ่งเป็นการขายให้โรงงานภายในประเทศและส่งออกยังต่างประเทศ โดยตลาดสำคัญได้แก่ พม่าและกัมพูชา ราคาเฉลี่ยใบยาสูบอยู่ที่กิโลกรัมละ 55 บาท ซึ่งถือว่าเป็นพืชไร่ที่สร้างรายได้ดีเมื่อเทียบกับการทำนาหรือพืชไร่ชนิดอื่น

การงดรับซื้อบุหรี่ของโรงงานยาสูบ ถือว่าสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวไร่ยาสูบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์และสุโขทัย ที่มีพื้นที่ปลูกยาสูบจำนวนมากในพื้นที่เชิงเขาที่เหมาะสมกับใบยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย เบอร์เวีย และเตอร์กิช เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างเสถียรภาพทางรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่มาอย่างยาวนาน

หากโรงงานยาสูบงดรับซื้อใบยาสูบถึงสามปี เกษตรกรก็จำเป็นจะต้องหาพืชชนิดอื่นหรือหาอาชีพอื่นทดแทน ซึ่งต้นทุนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้น เกษตรกรต้องแบกรับไว้เองแม้ว่าต้นเหตุจะมาจากนโยบายของภาครัฐก็ตาม ทำให้กลุ่มเกษตรกรไร่ยาสูบในจังหวัดต่างๆ เกิดความไม่พอใจต้องออกมาเรียกร้องให้แก้ปัญหานี้เป็นการด่วน

ทางโรงงานยาสูบแห่งประเทศไทยก็มีแผนเพื่อปรับตัวรองรับโครงสร้างภาษีดังกล่าว โดยเฉพาะการเปลี่ยนเป้าหมายสินค้าและตลาดเป็นการส่งออกบุหรี่ไทยไปยังตลาดต่างประเทศ แทนที่จะเป็นการส่งออกเพียงใบยาแห้งหรือยาเส้น แต่ยังติดขัดที่ พ.ร.บ.การยาสูบแห่งประเทศไทย ที่จะแปรรูปโรงงานยาสูบให้เป็นรัฐวิสาหกิจนิติบุคคลกึ่งเอกชนนั้นยังติดค้างอยู่ที่ขั้นตอนของสภา ทำให้การทำตลาดร่วมกับต่างชาติที่สนใจลงทุนยังไม่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย

นอกจากผลกระทบต่อเกษตรกรทางตรงแล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรไร่ยาสูบก็พลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เศรษฐกิจหลักมาจากใบยาสูบ เศรษฐกิจภายในชุมชนก็พลอย ซบเซาตามไป รวมถึงสโมสรยาสูบ เอฟซี ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้ายุทธจักรลูกหนัง ได้แชมป์ไทยแลนด์ลีก มาก่อน ก็ต้องยุบทีมลงไปในปีนี้เช่นกัน

จากการประเมินคาดว่า ภาษีสรรพสามิตยาสูบจะเก็บได้เพิ่มขึ้น 1,500 ล้านบาท ในปี 2561 แต่โรงงานยาสูบจะประสบภาวะขาดทุน 1,575 ล้านบาท จากเดิมที่ได้กำไรและส่งเงินเข้าคลังมากถึง 8,816 ล้านบาทในปี 2560 การปรับขึ้นภาษีแต่ละชนิด จึงมิใช่แค่การมองเพียงตัวเลขยอดจัดเก็บภาษีที่จะได้ แต่พึงประเมินผลกระทบในวงกว้างที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องตามกันให้รอบคอบ

นางสาวนฤมล ศิริทรงธรรม นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยด้านการจัดการยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินกิจกรรมปรึกษาแนะนำเชิงลึกการพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

(เอสเอ็มอี) ในกลุ่ม อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และ/หรืออุตสาหกรรมเครื่องเรือนและของตกแต่ง และอุตสาหกรรมอนาคต คือ กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุขให้มีผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้นหรือมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้นที่นำแนวคิดการออกแบบเชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างคุณค่าในสินค้าหรือบริการ และต่อยอดการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากล

มุ่งหวังพัฒนาการออกแบบแก่เอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 50 กิจการ นักออกแบบอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยกว่า 25 ราย เกิดการพัฒนาต่อยอดการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของประเทศ

“อุตสาหกรรมแฟชั่นมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระดับต้นๆ สร้างมูลค่าการส่งออกประจำปี 2560 ประมาณกว่า 738,037 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรวมกันมากกว่า 1 แสนราย ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 8 แสนคน” นางสาวนฤมล กล่าว

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่กู้ภัยอำเภอคลองใหญ่ ได้รับแจ้งจากชาวประมงพื้นบ้านไม้รูด ว่าพบโลมาอิรวดีขนาดใหญ่เกยตื้นตาย บริเวณหาดไพริน ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด จึงลงพื้นที่ตรวจสอบพบโลมาอิรวดี ร่องรอยช้ำสีแดงที่หัวและหาง นายขวัญเมือง ก่อเยี่ยม ชาวประมงพื้นบ้าน ตำบลไม้รูด บอกว่า พบซากโลมาอิรวดีช่วงสายระหว่างออกมาทำประมง

ต่อมาเวลา 14.00 น. นายสัตวแพทย์ธนพรรณ ชมชื่น จากศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งและชายทะเล จังหวัดระยอง พร้อมเจ้าหน้าที่มาชันสูตรซากโลมา ระบุว่า เป็นโลมาอิรวดี หรือหัวบาตร ขนาดความยาว 167 เซนติเมตร น้ำหนักราว 80 กิโลกรัม อายุ 10 ปี เสียชีวิตมาประมาณ 3 วัน มีร่องรอยบาดแผลที่หัวและข้างตา รวมทั้งที่หาง จะนำไปหาสาเหตุต่อไป ส่วนซากโลมาได้ฝังอยู่ที่หน้าหาดไพรินแล้ว

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สั่งทูตพาณิชย์เดินสายโปรโมต หลังสหรัฐยกระดับเทียร์ 2 ไทยสร้างแรงหนุนภาพลักษณ์สินค้าอาหารทะเลแปรรูป กระตุ้นตลาดส่งออกในตลาดโลกเพิ่มขึ้น

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้นำเข้าและผู้บริโภคทั่วโลกมีความมั่นใจสินค้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานจำนวนมาก หลังจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประกาศในรายงานการค้ามนุษย์หรือทิบรีพอร์ต 2018 (Trafficking in Persons Report 2018 หรือ TIP Report 2018) ด้วยการจัดอันดับให้ไทยดีขึ้นจากเทียร์ 2 ที่เป็นประเทศที่ถูกจับตาเฝ้าระวังพิเศษ เป็นระดับเทียร์ 2 ปกติ ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของสินค้าดีขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มอาหารทะเล ทั้งอาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป ที่จะได้รับอานิสงส์มากไม่เพียงแต่ในตลาดสหรัฐ แต่ยังรวมถึงตลาดในแถบยุโรป และตลาดอื่นๆ ด้วย

ล่าสุดได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ประชาสัมพันธ์แก่ผู้นำเข้าสินค้าอาหารทะเลของไทย ถึงกรณีนี้ เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าไทยในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ยังสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือ และการให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาของไทย นอกเหนือจากเรื่องการรักษามาตรฐานสินค้าไทยให้ที่เป็นที่ยอมรับจากต่างชาติ

“ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทยอย่างมากที่สหรัฐฯ ปรับสถานะไทยขึ้นมาอยู่ที่ระดับเทียร์ 2 ซึ่งเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลนำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญโดยกำหนดให้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นสากล พร้อมทั้งยังได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมเร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง อีกทั้งสหรัฐฯ ต้องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ให้กลับมาดีขึ้น ลดช่องว่างความสัมพันธ์ที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน เชื่อว่าการส่งออกสินค้าเกี่ยวกับประมงจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ใช่แค่เฉพาะตลาดสหรัฐฯ”

ทั้งนี้ ในปี 2560 ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐฯ มูลค่า 997 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.45% และในช่วง 5 เดือนแรกปี 2561 มีมูลค่าส่งออกเป็น 343 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.99%

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้ง 5 สำนักงาน ได้แก่ วอชิงตันดีซี นิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส ชิคาโก และไมอามี เดินสายชี้แจงในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทยต่อบริษัทผู้นำเข้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเร่งเสริมสร้างการบูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการชี้แจงประเด็นที่ถูกกล่าวหา และประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมของไทยให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง จนทำให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ เกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของรัฐบาล ภาคเอกชนไทย และคุณภาพอาหารทะเลจากประเทศไทย

ผู้ประกอบไม้กฤษณาจังหวัดตราดดันปลดล็อกผังเมืองรวมผุด “100 โรงงานสกัดน้ำมัน” รายย่อยในพื้นที่ อ.บ่อไร่ หลังเจอปัญหาเป็นพื้นที่สีเขียวพาดขาว ห้ามตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทุกจำประเภท ชี้เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรไม่ก่อมลพิษ เผย 10 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกไม้-น้ำมันกฤษณาอันดับ 3 ของโลก สร้างมูลค่ากว่า 10,000 กว่าล้านบาท แต่กำลังถูกคู่แข่งสำคัญ “เวียดนาม-จีน” แย่งตลาดหนัก พร้อมชง สมอ.ออกใบรับรองมาตรฐานแบ่งเกรดคุณภาพส่งออก

รายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ระบุว่า จากการสำรวจโครงการพัฒนายกระดับศักยภาพสถานประกอบการ SMES วิสาหกิจชุมชน ในเชิงเทคนิคและมาตรฐานการผลิตด้วยนวัตกรรมสู่มาตรฐานสากล ประจำปีงบประมาณ 2561 ของธุรกิจไม้กฤษณา พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยผลิตและส่งออกไม้กฤษณาและน้ำมันกฤษณาเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากอินโดนีเซีย

เวียดนาม โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 10,000 กว่าล้านบาท โดยแหล่งผลิตน้ำมันกฤษณาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงงานในจังหวัดจันทบุรีและตราด ปริมาณการผลิตรวม 41,248 มิลลิลิตร ทั้งนี้ จากประมาณการของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด ในภาคตะวันออกมีผู้ทำไม้กฤษณาและน้ำมัน 151 ราย จังหวัดตราด มีผู้ทำไม้กฤษณาประมาณ 60-70 รายมีรายได้ประมาณ 170 ล้านบาท/เดือน หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี แต่ระยะ 2 ปีที่ผ่านมารายได้ลดลง 25% เพราะประสบปัญหาการแข่งขันทางการตลาดจากเวียดนาม จีน ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่ในจังหวัดตราดมีประมาณ 15-20 ราย

นายดำ พุทธเกษร ประธานกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสกัดน้ำมันไม้กฤษณาจังหวัดตราด กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้ประกอบการน้ำมันไม้กฤษณาในจังหวัดตราดได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสกัดน้ำมันไม้กฤษณาขึ้น โดยกฤษณาถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดตราด ชาวบ้านมีโอกาสพัฒนาน้ำมันกฤษณาส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกปีละหลายพันล้านบาท ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 70 ราย มีทั้งที่จดทะเบียนจัดตั้งโรงงานแล้วประมาณ 30-40 ราย ส่วนที่เหลือยังไม่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งโรงงานได้ เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันไม้กฤษณาของสมาชิกเหล่านี้ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอบ่อไร่ ซึ่งพื้นที่เกือบทั้งอำเภอเป็นพื้นที่สีเขียวพาดขาวที่ห้ามทำอุตสาหกรรมทุกจำพวก โดยปัจจุบันพื้นที่อำเภอบ่อไร่มีโรงกลั่นน้ำมันไม้กฤษณารายย่อยอีกประมาณ 50 รายที่ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคม เท่ากับในพื้นที่อำเภอบ่อไร่มีโรงกลั่นน้ำมันไม้กฤษณาที่รอการปรับแก้ผังเมืองเพื่อตั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องรวม 100 ราย

ทั้งนี้ ภาครัฐน่าจะมีแนวทางแยกธุรกิจโรงงานกลั่นน้ำมันกฤษณาออกจากประเภทโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป โดยไม่ต้องรอแก้ไขผังเมืองรวม เนื่องจากกระบวนการผลิตไม่ได้ทำลายมลภาวะ ไม่มีน้ำเสีย ไม่มีกลิ่นหรือเสียงดังรบกวนเหมือนกับอุตสาหกรรมทั่วไป เพราะหากรอการจัดทำผังเมืองรวมฉบับใหม่ กว่าจะแล้วเสร็จต้องใช้เวลานานหลายปี เพราะตอนนี้ผังเมืองรวมเพิ่งอยู่ระหว่างประชุมรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่

นายอดิศักดิ์ อุรเคนทร์ อุตสาหกรรมจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการต้องการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานสกัดน้ำมันกฤษณา 46 ราย แต่ยังไม่สามารถอนุญาตให้จัดตั้งโรงงานและให้ใบอนุญาต รง.4 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากพื้นที่ตั้งโรงงานโดยเฉพาะ อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ซึ่งปลูกไม้กฤษณาจำนวนมาก ติดปัญหาผังเมืองรวมจังหวัดตราดเป็นพื้นที่สีเขียวพาดขาว ประเภทอนุรักษ์สภาพแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว ห้ามสร้างโรงงานทุกจำพวก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปลดล็อกเรื่องผังเมือง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไม้กฤษณาให้เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดตราดก่อน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การขอใบรับรองมาตรฐานการผลิต

“จังหวัดสนับสนุนการจัดตั้งคลัสเตอร์ ด้านองค์ความรู้ การลดต้นทุนการผลิตพลังงานในโรงงาน ให้ผลผลิตได้มาตรฐาน ผู้ประกอบการมีความตื่นตัว แต่การตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันมีปัญหาเร่งด่วนต้องปลดล็อกผังเมืองรวมจังหวัดก่อน อนาคตคลัสเตอร์ไม้กฤษณาจังหวัดตราดอาจจะมีการเชื่อมโยงกันในภาคตะวันออกเรื่องวัตถุดิบ นวัตกรรมการผลิต ตลาด ตลอดจนการออกใบรับรองมาตรฐาน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเพราะคลัสเตอร์เพิ่งเริ่มต้นการพัฒนาในปี 2560-2561”

นายพิพัฒน์ ฤกษ์สหกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มภาคตะวันออก 2 และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด กล่าวว่า จังหวัดตราดมีผู้ประกอบการน้ำมันกฤษณา 68 ราย มีพื้นที่ปลูก ประมาณ 5 ล้านต้น มีรายได้ประมาณ 170 ล้านบาท/เดือน หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งผู้ประกอบการมีการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรถูกต้องตามอนุสัญญาไซเตส (CITES) ดังนั้น ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราดจึงต้องการผลักดันให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)ช่วยตรวจสอบสารตกค้างในน้ำมันกฤษณาและกำหนดมาตรฐานกลางตามที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมแบ่งเกรดน้ำมันตามคุณภาพ และออกใบรับรองการส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลางและยุโรป เป็นการสร้างความเชื่อถือให้มาตรฐานของสินค้า และไม่ให้ถูกกดราคา และอนาคตมีแนวทางพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นตลาดกลางน้ำมันกฤษณา เนื่องจากไทยมีโรงงานสกัดน้ำมันกฤษณาที่ทันสมัย และมีวัตถุดิบมากกว่าประเทศอื่น ๆ

“ชาวบ้านบางกลุ่มปลูกแบบออร์แกนิกไร้สารเคมี แต่เมื่อส่งออกกลับถูกกดราคา อ้างว่าเป็นไม้ที่ใช้สารเคมี เป็นอันตรายทำให้ถูกกดราคา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราดได้สนับสนุนให้มีการก่อตั้งสมาคมไม้กฤษณาจังหวัดตราด เบื้องต้นต้องการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดทำมาตรฐานของน้ำมันกฤษณา แบ่งเกรดของน้ำมันตามคุณภาพ เกรด 1-4 และมีใบรับรองสำหรับผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน เพราะการทำตลาดต่างประเทศใบรับรองสำคัญมาก เป็นการสร้างความเชื่อถือให้มาตรฐานของสินค้าและไม่ให้ถูกกดราคา รวมทั้งการจัดหาตลาดให้ผู้ผลิตจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้โดยตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง”

สมาคมการเกษตรเยอรมัน (DLG) ผู้จัดงานแสดงสินค้าและนวัตกรรมเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่รู้จักกันดีในชื่อ “งาน AGRITECHNICA” จับมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย เพื่อจัดงานแสดงสินค้า “อะกริเทคนิก้า เอเชีย” (Agritechnica Asia 2018) ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม 2561 ณ ไบเทค กรุงเทพฯ เพื่อเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนนวัตกรรมชั้นนำจากทวีปยุโรป สู่ภูมิภาคเอเชีย เสริมสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของเกษตรกรไทย

ก่อนหน้านี้ สมาคมการเกษตรเยอรมัน (DLG) ได้สนับสนุนเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลเกษตรอัจฉริยะแก่ประเทศไทย เช่น ส่งเสริมการใช้เครื่องอบข้าวเปลือกแทนการตากข้าวบนลานเพื่อช่วยเกษตรกรให้สามารถผลิตข้าวเปลือกที่ได้มาตรฐานและสามารถสีข้าวได้ทันทีหลังจากเก็บเกี่ยว ทำให้ไม่ถูกกดราคาและสามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ สนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยีเกษตรที่ทันสมัย ให้กับศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง พร้อมให้คำแนะนำการจัดตั้ง ศูนย์ทดสอบเครื่องจักรกลทางการเกษตร (Testing Center) และศูนย์บริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร (Machinery Pools/rings) แก่ประเทศไทย

ภายในงานดังกล่าว ผู้เข้าชมงานจะได้พบนวัตกรรมใหม่ๆ ที่คัดสรรมาเพื่อใช้ในการเกษตรเขตร้อนโดยเฉพาะ เช่น รถไถ PADDY ตัวช่วยการแก้ปัญหาการเตรียมดินที่ดีที่สุดในนาข้าวที่ป้องกันตัวถังของแทรกเตอร์ไม่ให้จมถึงตัวเครื่อง ตัวถังของรถไถมีความทนทานแข็งแรง มีน้ำหนักเบา ขับเคลื่อนด้วยกำลัง 40 แรงม้า ลักษณะพิเศษคือ สามารถป้องกันน้ำเข้าสู่ตัวถัง ใช้ระบบเกียร์เดียวรองรับกับหน้าดินที่ลื่น คงทนด้วยวัสดุใบมีดจากอิตาลี

ตื่นตากับเทคโนโลยีเครื่องหว่านเมล็ดข้าวที่สามารถช่วยให้หว่านเมล็ดข้าวได้แม่นยำมากขึ้น สามารถเปิดช่องหว่านเมล็ดพืช ช่องใส่น้ำเป็นร่องและช่องที่หว่านเมล็ดพืชสามารถทำงานได้พร้อมกัน ต้นข้าวจะขึ้นตรงตามเมล็ดข้าวที่ได้หว่านไว้เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ 8 เปอร์เซ็นต์ และ 6 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เมื่อเทียบกับการหว่านและการดำนาด้วยมือ ซึ่งทั้งสองบริษัทจะขนนวัตกรรมดังกล่าวมาจัดแสดงภายในงานพร้อมผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษาและจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับขนาดพื้นที่การเกษตรของท่านอย่างเจาะลึก

ผู้จัดงานได้เปิดโอกาสให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับโลก ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาจัดแสดงในโซน “Systems & Components” ที่มุ่งนำเสนอวีธีการแก้ไขปัญหาด้านการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรแบบเจาะลึก ผู้เข้าชมงานจะได้พบกับงานวิจัยและองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับโลก การจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนเครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับการผลิต และอะไหล่เครื่องจักรกลการเกษตรจากผู้รับจ้างผลิตชิ้นส่วน (OEM) โดยตรง ตลอดจนการเปิดตัวเทคโนโลยีและนวัตกรรมวิศวกรรมเกษตรใหม่ล่าสุด แบบครบวงจรการผลิต ได้แก่ เครื่องยนต์ ระบบไฮโดรลิกส์ เพลาขับ กระปุกเกียร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบจากผู้ผลิตระดับโลก

ภายในโซนนี้จะเต็มไปด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีการผลิตแบบครบวงจร รวมไปถึง Smart Mobile Farming Application เพื่อการเกษตร นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญของการยกระดับมาตรฐานเครื่องจักรกลการเกษตรของภูมิภาคอาเซียนให้สูงขึ้น

งานอะกริเทคนิก้า เอเชีย นับเป็นสุดยอดงานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรแห่งเอเชีย ขนบริษัทชั้นนำมากกว่า 89 บริษัท จาก 20 ประเทศร่วมออกงาน และมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 8,200 รายจาก 76 ประเทศ ซึ่งงานอะกริเทคนิก้า เอเชีย ครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม 2561 ณ ฮอลล์ 98 ไบเทค กรุงเทพฯ ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

กรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่นิคมสหกรณ์ทั่วประเทศ วางระบบบริหารจัดการผลผลิตร่วมกันเพื่อลดต้นทุนและมีตลาดรองรับชัดเจน กรมส่งเสริมสหกรณ์ คัดเลือกพื้นที่นิคมสหกรณ์เป้าหมาย 6 แห่งที่มีศักยภาพ เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ ยกระดับรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ตั้งเป้าปฏิรูปตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าการเกษตร ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง วางระบบบริหารจัดการผลผลิตร่วมกัน เพื่อช่วยลดต้นทุน มีตลาดรองรับชัดเจนและสร้างรายได้ เพิ่มให้แก่เกษตรกร

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงการเตรียมการจัดพื้นที่นิคมสหกรณ์เป้าหมาย 6 แห่ง เพื่อดำเนินการตามนโยบายในการวางแผนการผลิตทางการเกษตร ว่า นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีนโยบายจะปฏิรูปภาคการเกษตรทั้งระบบ โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต การบริหารจัดการสินค้าและขยายช่องทางการตลาด โดยใช้วิธีการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่เข้ามาขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้ดำเนินการส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่นิคมสหกรณ์เป้าหมาย 6 แห่ง จำนวน 131,670 ไร่ เกษตรกร 4,630 ราย ประกอบด้วย นิคมสหกรณ์สวรรคโลก นิคมสหกรณ์หนองบัว นิคมสหกรณ์ศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย นิคมสหกรณ์พิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ นิคมสหกรณ์แม่สอด จังหวัดตาก และนิคมสหกรณ์นครชุม จังหวัดกำแพงเพชร

ทั้งนี้ ได้แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับปลูกข้าวแปลงใหญ่ จำนวนทั้งหมด 64,970 ไร่ ในพื้นที่นิคมสหกรณ์สวรรคโลก นิคมสหกรณ์หนองบัว นิคมสหกรณ์ศรีสำโรง และนิคมสหกรณ์พิชัย และจะส่งเสริมปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้เสริมหลังฤดูการทำนา ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วผิวมัน ผักบุ้ง เพื่อขายเมล็ดพันธุ์ ส่วนพื้นที่แปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวนทั้งหมด 26,700 ไร่ อยู่ในที่นิคมสหกรณ์แม่สอด และพื้นที่แปลงใหญ่มันสำปะหลัง จำนวนทั้งหมด 49,000 ไร่ ในนิคมสหกรณ์นครชุม ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่นิคมสหกรณ์ทุกแห่งจะต้องดำเนินการผลิตสินค้าการเกษตรทุกชนิด ให้เป็นไปตามมาตรฐานและมีการควบคุมการผลิตให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ กรมฯได้จัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์ในพื้นที่นิคมสหกรณ์จัดหาเครื่องจักรกลต่าง ๆ ที่จะนำไปบริการไถพื้นที่เพื่อเตรียมแปลงเพาะปลูกให้กับสมาชิก พร้อมทั้งจัดหาเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ดูแลการใส่ปุ๋ย การกำจัดวัชพืชต่าง ๆ และการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเฉพาะพื้นที่แปลงใหญ่ข้าว ซึ่งคาดว่าต้นทุนประมาณ 4,250 บาทต่อไร่ จากนั้นสหกรณ์ต้องคำนวณว่าค่าใช้จ่ายในการรับจ้างของสหกรณ์อีก 10% หรือประมาณ 425 บาท เมื่อรวมต้นทุนแล้วจะอยู่ที่ 4,675 บาทต่อไร่ เมื่อผลผลิตถึงฤดูเก็บเกี่ยว สหกรณ์จะเป็นผู้รวบรวม ซึ่งคาดว่าปริมาณผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 850 กิโลกรัม สมาชิกจะได้ขายในราคาตันละ 8,000 บาท เมื่อสหกรณ์หักต้นทุนการผลิตและค่าบริการ 4,675 บาทแล้ว ส่วนที่เหลือก็จะเป็นรายได้ของสมาชิกสหกรณ์

สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรกรแปลงใหญ่ ในพื้นที่ต้นทาง ภายหลังจากที่ได้ คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการแล้ว จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนขับเคลื่อนร่วมกัน เริ่มตั้งแต่การสำรวจข้อมูลเกษตรกร การชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ ตลอดจนการสนับสนุนปัจจัยการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกร เช่น ค่าจัดเก็บเพื่อรอจำหน่าย ค่าประกัน ค่าชดเชยส่วนต่างราคา

ในกรณีที่ราคาต่ำกว่าราคาที่กำหนด สหกรณ์ที่รับซื้อไว้ส่วนกลางทาง และเข้าร่วมโครงการ จะต้องขึ้นทะเบียน ผู้ปลูกรายแปลง เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกปลูกพืชในรูปแบบแปลงใหญ่ มีการวางระบบบริหารจัดการพื้นที่ในรูปแบบแปลงใหญ่ โดยสหกรณ์เป็นผู้จัดการแปลง พร้อมทั้งส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตตามมาตรฐาน GAP โดยร่วมกันบูรณาการทุกหน่วยงานเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนแปลงใหญ่ทั้งระบบ ตลอดห่วงโซ่การผลิต มีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการวางแผนการจัดทำแปลง จัดทำข้อมูลต้นทุนการผลิต

เพื่อจะได้มีข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างทั้งก่อนและหลังเข้าโครงการ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรในพื้นที่ด้วยการรวมเป็นกลุ่ม มีการพัฒนาผู้นำกลุ่ม บริหารจัดการกลุ่ม การใช้ปัจจัยการผลิตและเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ร่วมกัน ขณะที่ส่วนปลายทาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกันจัดหาตลาดเข้ามารับซื้อผลผลิตในพื้นที่แปลงใหญ่ พร้อมทั้งทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายผลผลิต ระหว่างสหกรณ์กับผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาการผลิต มีการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพการผลิตสู่มาตรฐาน GAP ตลอดจนส่งเสริมช่องทางการตลาด

โดยสหกรณ์ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรเพื่อร่วมกันจำหน่าย และประสานงานกับบริษัทที่รับซื้อผลผลิตและภาคีเครือข่ายเข้ามาเพื่อเชื่อมโยงตลาดเข้ามารองรับผลผลิตการเกษตรในพื้นที่แปลงใหญ่
“สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นห่วงในตอนนี้ คือ ปัจจุบันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยเกือบ 60 ปี ซึ่งจากการลงไปสำรวจในพื้นที่การทำเกษตรพบว่าเกษตรกรจ้างแรงงานเข้ามาทำทุกขั้นตอน

ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง สุดท้ายผลิตสินค้าออกมาก็ไม่มีคนรับซื้อ แต่เกษตรกรก็ยังปลูกกันต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ว่าจะต้องปลูกอะไร ปริมาณเท่าไหร่ เพราะไม่มีข้อมูลสำหรับนำมาวางแผนการผลิต แต่ถ้าเป็นพื้นที่นิคมสหกรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแนวเขตชัดเจน สหกรณ์ในพื้นที่จะรู้ข้อมูลสมาชิกทั้งหมดว่าคนไหนปลูกอะไร จำนวนกี่ไร่ ผลผลิตออกมาปริมาณเท่าไหร่

ซึ่งจะทำให้สามารถคาดการณ์ปริมาณผลผลิตและวางแผนในการกระจายสู่ตลาดได้ ดังนั้น กรมฯจึงจะสนับสนุนให้นิคมสหกรณ์ 6 แห่งที่มีศักยภาพ เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อดูแลส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยวางระบบบริหารจัดการผลผลิตร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตลง มีตลาดรองรับที่แน่นอน และส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นในที่สุด” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ว่า ในที่ประชุมมีการหารือถึงร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ที่จะปลดล็อกให้สามารถนำกัญชามาวิจัยทางการแพทย์ในมนุษย์ได้ ซึ่งจากการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการไปเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 และมีเวลาให้คณะกรรมาธิการพิจารณา 90 วัน จึงคาดว่า กฎหมายดังกล่าวจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ช่วงเดือนตุลาคมนี้ และจะมีผลบังคับใช้ใน 180 วัน คือช่วงเดือนเมษายน 2562 ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงวางกรอบระยะเวลาในการดำเนินงาน ว่า วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 จะต้องสามารถนำกัญชามาใช้เป็นยาทางการแพทย์ หรือศึกษาวิจัยในมนุษย์ได้

“คณะกรรมการฯ จะมีคณะทำงาน 4 คณะ ซึ่งแต่ละคณะต้องไปวางกรอบระยะเวลาในการทำงานให้ชัดเจน เช่น คณะทำงานเพื่อพัฒนาการสกัดฯ จะทำอย่างไรให้มีน้ำมันกัญชาหรือยากัญชาใช้ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 หรือคณะทำงานเพื่อวางระบบการควบคุมฯ ที่มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหลัก ก็ต้องไปออกกติการะเบียบต่างๆ ทำอย่างไรให้มีผลิตภัณฑ์ใช้ ใช้ทางการแพทย์ทำอย่างไร ใครจะเป็นคนสั่งจ่าย การศึกษาวิจัยทำอย่างไร ผลิตระดับอุตสาหกรรมทำอย่างไร เป็นต้น โดยการประชุมครั้งหน้าแต่ละคณะทำงานต้องวางกรอบการทำงานที่ชัดเจนแล้ว ว่า การผลิต การสกัดจะเริ่มได้เมื่อไร จำนวนน้ำมันกัญชาต้องใช้มากเท่าไร ซึ่งจะช่วยเรื่องของการวางแผนผลิต ถ้าไม่ทันต้องนำเข้าหรือไม่ เป็นต้น เพื่อให้ทั้งหมดมีการใช้ได้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562” นพ.โสภณ กล่าว