การที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหาร

สัตว์ลดลงนั้น เกิดจากการทำความเข้าใจแก่ผู้เลี้ยงถึงโทษของการใช้สารดังกล่าว ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจัง โดยปีงบประมาณ 2560 ได้มีการจับกุมดำเนินคดีต่อโรงงานผลิตอาหารโคขุน 12 ราย มี 4 ราย ถูกริบเครื่องผสมอาหารสัตว์มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังจับกุมผู้ใช้สารเร่งเนื้อแดงเลี้ยงโคขุนอีก 16 ราย และมีการยึดเคมีภัณฑ์สารเร่งเนื้อแดง 225 กิโลกรัม และอาหารสัตว์อีกจำนวนมาก มูลค่าของกลางรวมทั้งสิ้นมากกว่า 5 ล้านบาท นอกจากนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกอื่นเมื่อเลิกใช้สารเร่งเนื้อแดง กรมได้พัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่มีคุณสมบัติเกือบเทียบเท่าสารเร่งเนื้อแดงได้แล้ว และสายพันธุ์สัตว์เพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่ดี ให้ผลผลิตด้านคุณภาพเนื้อที่ดีอีกด้วย และกรมจะรับรองฟาร์มสุกรและฟาร์มโคขุนปลอดสารเร่งเนื้อแดงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ คาดว่าสิ้นปีนี้ไทยจะปลอดสารเร่งเนื้อแดงในวงการปศุสัตว์

กาฬสินธุ์-นายชีพ น้อมเศียร ขนส่งจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานโครงการสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกแกลบ เผยว่า เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกแกลบ เพื่อส่งเข้าโรงไฟฟ้าชีวมวลและเป็นวัสดุก่อสร้างอื่นๆ จำนวนมาก โดยได้ดัดแปลงตัวถังรถให้มีความกว้าง ความยาว และความสูง เพื่อให้สามารถบรรทุกแกลบได้ปริมาณมากๆ ซึ่งเป็นการต่อเติมแบบถาวรผิดแผกแตกต่างไปจากสภาพเดิม โดยมิได้รับอนุญาตจากกรมขนส่งทางบก ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน เพราะการดัดแปลงตัวถังรถดังกล่าว และมีการบรรทุกแกลบให้มีความสูง จะทำให้จุดศูนย์ถ่วงของรถเพิ่มสูงขึ้น เป็นสาเหตุทำให้เสียการทรงตัวขณะขับเคลื่อนและอุบัติเหตุพลิกคว่ำได้ง่าย เมื่อมีการดัดแปลงต่อเติมรถบรรทุกให้มีขนาดความสูงดังกล่าวในขณะที่รถบรรทุกแกลบวิ่ง ยังเสี่ยงกับการเฉี่ยวชนกับรถคันอื่น หรือเกี่ยวกับต้นไม้ สายไฟฟ้า หรือสายสื่อสารอื่นๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ แกลบที่บรรทุกยังอาจจะตกหล่น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ชาวบ้านและผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งจะเป็นเหตุให้รถที่วิ่งสวนไปมาเกิดอุบัติเหตุได้

เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยในการคมนาคมขนส่งในเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึง เรียกผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกแกลบในจังหวัดเข้ามาทำความเข้าใจ รับฟังแนวทางการใช้รถบรรทุกแกลบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่สำคัญคือป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ ที่จะทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดทั้งเป็นการปลูกจิตสำนึกความปลอดภัย สร้างภาพลักษณ์ที่ดีบนท้องถนนอีกด้วย

“ให้แก้ไขปรับปรุงตัวถังรถให้ถูกต้องตามกฎระเบียบที่ทางราชการกำหนด เริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือภายในวันที่ 20 เมษายนนี้ หากกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายยินยอมให้ลงโทษขั้นสูงสุด”

12 – 16 เมษายน 2560 จวนมาแอ่วงาน “ปี๋ใหม่เมือง ดอกเอื้องงาม (Songkran Festival, a Romantic Touch of Orchids)” ชมเสน่ห์ดอกเอื้องเมืองเหนือและกล้วยไม้ไทยกว่า 100 ชนิดที่บานสะพรั่งทั่วเรือนกล้วยไม้ ร่วมสรงน้ำพระพุทธรูปเสริมบารมีปี๋ใหม่เมือง นั่งสามล้อถีบแอ่วชมสวนแวะผ่อดอกเอื้อง จวนกั๋นปั่นรถถีบก๋างจ้อง ถ่ายภาพม่วนใจ๋ปี๋ใหม่เมืองกับมุมถ่ายภาพแบบล้านนา สาธิตทำอาหารและขนมพื้นเมือง ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งจับจ่ายซื้ออาหารและสินค้าพื้นเมืองในกาดหมั้วครัวฮอม พร้อมร่วมลุ้นรับตั๋วเครื่องบินไทยสมายล์ จำนวน 10 รางวัล ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 053-114110-5

“Ride a tricycle, admire Thai native orchids and enjoy Lanna New Year at Royal Park Rajapruek “

April 12 – 16, 2017. “Songkran Festival, a Romantic Touch of Orchids” at Royal Park Rajapruek. Admire the charms of Thai native orchids and Thai orchids over 100 species that bloom around the orchid pavilion / Pouring water onto the Buddha image for lucky / Ride Tricycle in the garden and stop by to see the beautiful of Thai native orchids/ Take photos in Lanna scene / Demonstration of cooking and local desserts / Enjoy cultural performances and shopping food and local goods in local market. Get a chance to win 10 Thai Smile tickets. For more information, please contact 053-114110-5.

ก้าวสู่ความเป็นศูนย์เรียนรู้และคลังความรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมด้วยมาตรฐานห้องสมุดสีเขียว โดยเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว 39 หน่วยงาน ซึ่งมี สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นแกนนำ ร่วมกับ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และ VGreen คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การพัฒนาห้องสมุดสีเขียว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 รวมทั้งได้กำหนดแนวทางการตรวจประเมินห้องสมุดสีเขียว เพื่อให้เป็นแนวทางการพัฒนาและเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงานห้องสมุดสีเขียว สนับสนุนนโยบายการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศและเป็นไปตามทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก

โดยในปี 2560 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานห้องสมุดสีเขียว เป็นห้องสมุดต้นแบบห้องสมุดสีเขียว แห่งแรกของประเทศไทย และได้เข้ารับประทานเกียรติบัตรจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จแทนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 และประชุมวิชาการสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมถ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “ห้องสมุดดิจิทัลกับการก้าวสู่ยุค Thailand 4.0” เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560

ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการพัฒนาห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดสีเขียวตามมาตรฐานในระดับประเทศ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ผ่านมาเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว ได้ร่วมกันพัฒนาห้องสมุดสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้และคลังความรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บุคลากรห้องสมุดมีความพร้อมก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการห้องสมุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานห้องสมุดสีเขียว โดยสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ได้ประสานงานให้เกิดการตรวจประเมินห้องสมุดสีเขียว ตามมาตรฐานที่ประกาศโดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ และจัดการฝึกอบรม สัมมนา บรรยาย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ อาทิ จัดทำ Carbon Footprint ระดับองค์กร และระดับบุคคล จัดกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานลดปริมาณขยะ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และล่าสุดเมื่อกลางเดือน มีนาคม 2560 เครือข่ายห้องสมุดสีเขียวยังได้ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม บริจาคหนังสือ สื่อการศึกษา ให้กับโรงเรียนที่ประสบอุทกภัย และจัดทำห้องสมุดให้กับศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 42 จังหวัดนครศรีธรรมราช

สำหรับความภาคภูมิใจในครั้งนี้ ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ กล่าวว่า “ รางวัลที่ได้รับคือผลสะท้อนจากการร่วมแรงร่วมใจของบุคลากร สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเราได้กำหนดวิสัยทัศน์ของสำนักหอสมุด มก.ร่วมกันอย่างชัดเจนในการเป็นคลังความรู้ของมหาวิทยาลัย เป็นห้องสมุดดิจิทัลด้านการเกษตรของประเทศ และเป็นห้องสมุดสีเขียวที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องการประหยัดพลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ตามนโยบาย Green University ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถบริหารจัดการและให้บริการตามข้อกำหนดมาตรฐานห้องสมุดสีเขียวทั้ง 8 หมวด ได้อย่างสมบูรณ์ มีการจัดการโลจิสติกส์และพื้นที่จัดเก็บหนังสือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาการให้บริการบนเส้นทางสีเขียว จนก้าวสู่การเป็น Eco-Library และเป็นห้องสมุดคาร์บอนนิวทรัลแห่งแรกของประเทศ เป็นต้นแบบห้องสมุดสีเขียวที่มุ่งเน้นการพัฒนา Green Service, Green Management, Green Environment และ Green Heart ทั้งยังเป็นผู้พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือห้องสมุดสีเขียวเครือข่ายแรกของประเทศ เพื่อร่วมกันจุดประกายความคิดและสร้างความตระหนักรู้เรื่องการให้บริการห้องสมุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากคณะผู้ตรวจประเมิน ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก องค์การมหาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (VGREEN) คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าคณะผู้ตรวจประเมินร่วมกับสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ และ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยการสนับสนุนของ ดร.กนิษฐา กาญจนจารี มูลนิธิสวิตา ”

อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณห้องสมุดสีเขียวต้นแบบและห้องสมุดสีเขียวนำร่องที่ผ่านการตรวจประเมินปี 2560 (ในระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2560 ) ตามมาตรฐานห้องสมุดสีเขียว โดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โอกาสนี้ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ปรึกษาเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว ร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ห้องสมุดสีเขียวต้นแบบ 1 แห่ง และห้องสมุดสีเขียวนำร่องจำนวน 10 แห่ง มีดังนี้

ห้องสมุดสีเขียวต้นแบบ 1 แห่ง ได้แก่ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศูนย์สารสนเทศสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และโรงเรียนสา จังหวัดน่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสาธารณะนโยบายน้ำ เนื่องในวันน้ำโลกในประเด็น “การวางแผนด้านน้ำในบริบทการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการ บูรณาการเชิงพื้นที่” เพื่อยกระดับความสามารถในการวางแผนน้ำทั้งระดับประเทศ ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด และลุ่มน้ำ ให้รับมือกับสถานการณ์ความเสี่ยงเรื่องน้ำที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ดร.ศิริพงษ์ หังสพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาประเด็นวิจัยเชิงยุทธศาสตร์เรื่อง การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ น้ำ ที่ดิน และการจัดการสิ่งแวดล้อม สกว. กล่าวว่า วาระของวันน้ำโลกของปี 2560 องค์การอนามัยโลก (WHO) และยูนิเซฟ ได้ประกาศและเล็งเห็นความสำคัญร่วมกันของน้ำเสียเนื่องด้วยว่าปัจจุบันโลกนี้ยังมีประชากรประมาณ 2,400 ล้านคน ที่ยังไม่มีระบบสุขาภิบาล และ 946 ล้านคน ยังขับถ่ายในที่ที่ไม่มีส้วม สถิติดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าระบบสุขาภิบาลและการจัดการน้ำเสียเป็นสิ่งจำเป็น

ด้วยเหตุนี้ปี 2560 องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดวาระวันน้ำโลกเป็นเรื่อง “น้ำเสีย” เพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำของโลกปัจจุบัน โดยการปรับชุดความคิดของคนเกี่ยวกับน้ำเสียใหม่ว่า “น้ำเสียคือทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ได้เหมือนขยะ” ดังเช่นกรณีตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ มีการใช้นวัตกรรมเข้ามาปรับแก้ไขน้ำเสียมาเป็นน้ำดี เอาน้ำเค็มมาทำเป็นน้ำจืด เพื่อการอุปโภค บริโภคของประชากร โดยในช่วงแรกนั้นประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพของน้ำดีที่ผ่านการบำบัดมาจากน้ำเสีย แต่ปัจจุบันพบว่า ปัจจุบันประชากรมากกว่า 90 % ของประเทศให้การยอมรับการใช้น้ำดีที่พัฒนามาจากน้ำเสีย ในส่วนภาคนโยบายของประเทศไทย มีความจำเป็นที่ต้องมีการบูรณาการแผนการจัดการน้ำทั้งระดับชุมชน คณะกรรมการลุ่มน้ำ และจังหวัดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกภาพผ่านการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของภาครัฐ ประชาชน และเอกชน

ด้าน รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “เศรษฐศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำ” กล่าวว่า การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของประเทศเป็นประเทศเป็นปัญหาที่ไม่มีวันจบสิ้น เพราะรัฐกำหนดหน้าที่การแก้ปัญหาไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควรยกตัวอย่าง ถ้าน้ำไม่พอ รัฐจะจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มให้ แต่เมื่อมีแหล่งน้ำเพิ่มก็มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่เกิดความสมดุล ดังนั้นควรมีเกณฑ์กำหนดว่าใครใช้น้ำมากต้องรับผิดชอบมากกว่า

โดยนักวิจัยจาก ม.ธรรมศาสตร์ ยังระบุเพิ่มว่า มาตรการในร่าง พรบ.ทรัพยากรน้ำ ได้ระบุปริมาณการใช้น้ำสูงสุด และอัตราค่าใช้น้ำสำหรับเชิงพาณิชย์และกิจกรรมขนาดใหญ่ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ลดหย่อน ยกเว้น นอกจากนี้ควรจัดตั้ง “กองทุนน้ำ” ซึ่งได้เงินมาจากผู้ที่ประโยชน์จากการใช้น้ำทุกประเภท ยกตัวอย่างเช่นภาคกลางมีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน 11.385 ล้านไร่ ถ้าเก็บในอัตรา 100 บาท/ไร่ จะมีรายรับ 1,138 ล้านบาท ภาคกลางใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าเก็บในอัตรา 0.15 บาท/ลูกบาศก์เมตร จะมีรายรับ 375 ล้านบาท เป็นต้น

ในขณะที่ รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นักวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เวทีสาธารณะปีนี้ มุ่งเน้นการเผยแพร่แนวคิด แผนงาน และผลงานวิจัยที่ได้ดำเนินการในแง่ของการวางแผนน้ำกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน การวางแผนน้ำแบบบูรณการในระดับประเทศและพื้นที่

อีกประการ การวิจัยในรอบปีที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาสถานการณ์น้ำที่โยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ของประเทศ และพัฒนาดัชนีเพื่อดูสภาพน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ ว่ามีความสัมพันธ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละลุ่มน้ำ ครอบคลุมทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ ทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่

นอกจากประเด็นดังกล่าว รศ.ดร.สุจริต ยังเสนอให้มีการนำผลการวิจัยเกี่ยวข้องมาจัดทำเป็นคู่มือการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในภาวะปกติภาวะขาดแคลนน้ำ ควบคู่กับใช้กลไกโควต้าน้ำและราคาน้ำเข้าช่วย โดยข้อมูลทั้งหมดจากการประชุมในครั้งนี้ จะจัดทำเป็นข้อเสนอให้กับรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ร่วมกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จัดโครงการ “รณรงค์บริโภคนมช่วงสงกรานต์ จากใจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” เป็น 1 ในโครงการรณรงค์บริโภคนมตลอดปี 2560 เพื่อส่งเสริมให้บริโภคนมเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ทั้งนี้ กระทรวงร่วมกับภาคเอกชนจัดโปรโมชั่นลดราคานมและผลิตภัณฑ์นม 5-40% ช่วงวันที่ 1-15 เมษายน นี้ มีห้างสรรพสินค้าร่วมโครงการ ได้แก่ เทสโก้โลตัส สยามแม็คโคร ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และแมกซ์แวลู ซุปเปอร์มาร์เก็ต กว่า 2,000 สาขา ทั่วประเทศ

นายทศพร ศรีศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ปี 2556 รายงานว่า วัยรุ่นไทยเตี้ยกว่ามาตรฐาน โดยเด็กไทยเมื่อมีอายุ 18 ปี ผู้ชายมีความสูงเฉลี่ย 167.1 เซนติเมตร ผู้หญิงความสูงเฉลี่ย 157.4 เซนติเมตร จึงตั้งเป้าเพิ่มความสูงเด็กไทย อายุ 18 ปี ให้ได้มาตรฐาน ภายในปี 2568 ผู้ชายควรมีความสูงเฉลี่ย 177 เซนติเมตร ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 165 เซนติเมตร คนไทยเพิ่มการบริโภคนม จาก 14 ลิตร/คน/ปี เป็น 20 ลิตร/คน/ปี ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียที่พัฒนาแล้ว อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มีอัตราการดื่มนม ประมาณ 30 ลิตร/คน/ปี และในอเมริกามีการดื่มนม ประมาณ 70 ลิตร/คน/ปี

วันที่ 28 มีนาคม 2560 หลังจากทั่วทุกพื้นที่ในจังหวัดสกลนคร เกิดพายุฤดูร้อนมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้พายุจะส่งผลกระทบในหลายอำเภอ แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลดีอีกด้านให้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวและควาย เนื่องจากฝนที่ตกลงมาทำให้ท้องทุ่งเต็มไปด้วยหญ้าที่เขียวขจี พันธุ์ไม้ต่างๆแตกยอดเขียวอ่อน เกษตรกรต่างพากันดีใจนำวัวควายของแต่ละคนที่มีสภาพผอมโซมาหลายเดือน พากันนำไปเลี้ยงตามท้องทุ่งในระแวกหมู่บ้าน ปล่อยให้กินหญ้าและพืชต่างๆที่ถูกฝนตกลงมาใส่จนงอกงาม เป็นอาหารชั้นดีให้กับวัวและควาย

นายนน เนาว์ศรีสอน อายุ 67 ปี เกษตรกรบ้านดงขุมข้าว อำเภอเมืองสกลนคร กล่าวว่า ตนมีควายที่เลี้ยงไว้ทั้งหมด 8 ตัว ก่อนหน้าที่จะมีพายุฤดูร้อน ควายที่เลี้ยงไว้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากต้องต้อนออกจากคอกไปเลี้ยงไกลหลายกิโลเมตร แต่พอฝนมาทำให้หญ้ากลับมาเขียวขจีอีกครั้ง ส่งผลดีต่อควายที่เลี้ยงไว้มีแหล่งอาหารใกล้บ้าน ไม่ต้องต้อนไปเลี้ยงไกลที่สำคัญไม่ต้องเสียเงินซื้อฟางแห้งมาเลี้ยงควาย และไม่ต้องเหนื่อยเพิ่ม ไม่มีความเสี่ยงเวลาไปเลี้ยงไกลๆซึ่งควายอาจหายหรือถูกขโมยได้.

เบทาโกรเปิดโรงงานใหม่ ขยายกำลังการผลิตอาหารสุนัขและแมว ด้วยวัตถุดิบจากโปรตีนคุณภาพ เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในอาเซียน ด้วยกระบวนการผลิตตามนโยบายด้านคุณภาพ (Quality) และความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) มาตรฐานสากลเทียบเท่าโรงงานผลิตอาหารของคน (Food Grade) รองรับลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ ตั้งเป้าโต 60%

เครือเบทาโกร จัดงาน Grand Opening asiacruisenews.com โรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง บริษัท เพ็ท โฟกัส จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเต็มรูปแบบแห่งแรกของเครือฯ ณ ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยมี นายสัตวแพทย์ยุคล ลิ้มแหลมทอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ผู้บริหารเครือเบทาโกร อาทิ ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานกรรมการ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติจากส่วนราชการต่างๆ คู่ค้า ลูกค้า เดินทางมาร่วมงานกันอย่างอบอุ่น

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร กล่าวว่า ปัจจุบัน คนเลี้ยงสัตว์เลี้ยงด้วยความรักและผูกพัน เสมือนสมาชิกในครอบครัว จึงเป็นโอกาสของเบทาโกร ในการขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพ สำหรับลูกค้าที่มีความพิถีพิถันมากขึ้น

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีปริมาณความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงแบบอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ดอยู่ที่ประมาณ 14,800 ตันต่อเดือน และใช้สำหรับส่งออกอีกประมาณ 25,000 ตันต่อเดือน มีมูลค่าตลาดรวมเฉพาะอาหารสุนัขและแมว อยู่ที่ 25,000 ล้านบาท เครือเบทาโกรจัดเป็น 1 ใน 5 ของผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ของประเทศ ในปีที่ผ่านมา สามารถทำยอดขายได้สูงกว่าเป้าหมาย มีการเติบโตกว่า 20% ในขณะที่ปีนี้ตั้งเป้าเติบโตถึง 60% ซึ่งมากกว่าอัตราการเติบโตรวมของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศที่โตเพียง 10-15%

“เราให้ความสำคัญกับคำว่า คุณภาพชีวิตที่ดี ของทุกชีวิตที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งหมายรวมถึงสุนัขและแมวที่เปรียบได้กับสมาชิกในครอบครัว อาหารสำหรับน้องหมา น้องแมว จึงควบคุมคุณภาพการผลิตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบคุณภาพ โดยเฉพาะโปรตีนชั้นดีจากเนื้อสัตว์ เพื่อคุณค่าทางโภชนาการ ช่วยให้สัตว์เลี้ยงสามารถดูดซึมไปใช้ได้ดีกว่า สร้างภูมิต้านทานโรค ขนเงางาม มีสุขภาพดีในระยะยาว และทำให้รสชาติอร่อย มีความน่ากินเพิ่มขึ้น

ด้านกระบวนการผลิต มีระบบควบคุมอุณหภูมิการจัดเก็บและการขนส่ง (Cold Chain Management) เนื้อสัตว์ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ตั้งแต่โรงงานแปรรูปมาสู่ห้องเย็นในโรงงาน เพื่อคงคุณค่าความสด สะอาด ปลอดภัย ที่สำคัญ ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โรงงานมีการออกแบบพื้นที่การผลิตตามหลักการ

ออกแบบทางวิศวกรรมอาหารเพื่อความสะอาดและปลอดภัย (Hygienic Design) กำหนดให้เป็น Low Care Area และ High Care Area แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ทั้งประตูทางเข้า-ออก พื้นที่ผลิต และพนักงานซึ่งต้องเปลี่ยนชุดเครื่องแบบ อุปกรณ์ต่างๆ ก่อนผ่านเข้าสู่พื้นที่ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้ามของเชื้อจุลินทรีย์ (Cross Contamination) มาตรฐานสากลเทียบเท่าโรงงานผลิตอาหารของคน (Food Grade)” นายวสิษฐกล่าว