การบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว น้ำตาล และโซเดียมในปริมาณสูง

มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคไต และความดันโลหิตสูง ดังนั้น ในการเลือกซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานในรูปแบบแช่แข็ง ควรดูปริมาณสารอาหารต่างๆ บนฉลากโภชนาการ และควรเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของผู้บริโภคเอง

ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2546 (Dietary Reference Intake for Thais 2003), กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
บัญชีสารอาหารที่แนะนำให้ควรบริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai Recommended Daily Intakes-Thai RDI), สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข
ยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ. 2559-2568, กระทรวงสาธารณสุข สหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด โคขุนคุณภาพ ยกระดับมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นตลาด

จากปัญหาราคาโคขุนตกต่ำ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนในพื้นที่อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร มีรายได้น้อย และขาดความมั่นคงในอาชีพ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวจึงมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด ขึ้น โดยการนำหลักการและวิธีการสหกรณ์มาใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือสมาชิก

นายวัชรินทร์ กลางประพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด บริหารงานคล้ายกับสหกรณ์การเกษตรทั่วไป แต่จุดเด่นจอยู่ที่การแปรรูป โดยมีการบริหารจัดการในส่วนของธุรกิจแปรรูป มีฝ่ายส่งเสริมเรื่องของโคขุน ส่งเสริมการตลาด ฝ่ายตัดแต่งแผนกขนส่งเนื้อ แบบครบวงจร นอกจากนี้ ยังมีการจัดหาทุน สนับสนุนด้านปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นโค และอาหาร ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ แก่สมาชิก เช่น ปัญหาโคป่วย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมคอยให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา

ปัจจุบัน ได้มีการส่งเสริมสมาชิกเลี้ยงโคลูกผสมไทยยุโรป และรับซื้อโคขุนเต็มที่แล้ว เพื่อนำเข้าโรงชำแหละแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ โดยสหกรณ์มุ่งเน้นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น อาทิ เนื้อตัดแต่งตามชิ้นส่วนพร้อมปรุง ลูกชิ้น ไส้กรอก เนื้อหมัก เนื้อบด น้ำหมักเนื้อ เป็นต้น เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่ง ณ วันนี้ ยอดการจำหน่ายเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มั่นใจในความปลอดภัย สหกรณ์จะไม่หยุดนิ่งในการพัฒนา ยกระดับคุณภาพสินค้า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งในอนาคตสหกรณ์จะสร้างโรงชำแหละมาตรฐาน GMP เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น เพิ่มยอดการจำหน่าย นำไปสู่ความก้าวหน้าและเข้มแข็งของสมาชิกและสหกรณ์

“สำหรับการรับซื้อโคจากสมาชิกนั้น สหกรณ์จะรับซื้อตามคุณภาพของไขมันแทรกเนื้อ โดยซื้อตามราคาน้ำหนักซากอุ่น มีคณะกรรมการ พนักงาน และสมาชิก เข้าร่วมในการตัดเกรดไขมัน ซึ่งสหกรณ์ประกาศรับซื้อที่ เกรด 2.5 กิโลกรัมละ 200 บาท เกรด 3 กิโลกรัมละ 220 บาท ถ้า 3.5 เราซื้อในราคากิโลกรัมละ 225 จนถึงเกรด 5 ราคากิโลกรัมละ 290 บาท แต่สำหรับปีนี้ หากสมาชิกสามารถผลิตโคให้มีคุณภาพมากกว่าเดิม สหกรณ์จะเพิ่มราคาให้อีก 300 บาท ต่อตัว และเกรดไขมัน 3.5 จะเพิ่มราคาให้อีก 1,000 บาท ต่อตัว ไปเรื่อยๆ จนถึงเกรด 5 สหกรณ์เพิ่มราคาให้อีก 10,000 บาท ต่อตัว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับสมาชิกในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ทำให้ตลาดมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและเนื้อของสหกรณ์หนองสูงมากยิ่งขึ้น” นายวัชรินทร์ กล่าว

ด้าน นายไพฤทธิ์ วิเศษศรี สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด เล่าว่า ก่อนที่ตนจะมาเป็นสมาชิกสหกรณ์นั้น ต้องขายวัวตามตลาด ทำให้มีปัญหาขายได้ในราคาต่ำ แต่หลังจากที่ตนเข้ามาเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรหนองสูง รู้สึกมีความสุขมาก เหมือนมีสหกรณ์เป็นที่พึ่ง มีที่ปรึกษาและยังมีตลาดรองรับที่แน่นอน อีกทั้งสิ้นปีก็จะมีการเฉลี่ยคืน และมีการปันผลให้กับสมาชิกทุกคน

ตลอดระยะเวลาการดำเนินการของสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด สหกรณ์มุ่งเน้นส่งเสริมสมาชิกเลี้ยงโคขุนคุณภาพรวบรวมนำมาชำแหละแล้วจัดจำหน่ายเป็นธุรกิจที่ครบวงจร ณ วันนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิก ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้ที่มั่นคง ช่วยลดภาระหนี้สิน และสามารถที่จะประกอบอาชีพนี้ไปได้อย่างยั่งยืน

หนอนหัวดำมะพร้าว ศัตรูตัวร้ายที่สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวทั่วประเทศ แม้ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวจะคลี่คลายลงไปแล้ว แต่ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรยังคงเดินหน้าโครงการป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการระบาดต่อไป

นายปราโมทย์ เข็มขาว ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนด้านอารักขาพืชดินและปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า อยากให้เกษตรกรเฝ้าระวังติดตามสถานการ์การระบาดของศัตรูพืชอย่างหนอนหัวดำ ที่ระบาดรุนแรงมากในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยการสำรวจตรวจสภาพพื้นที่การเกษตรหรือสวนมะพร้าวของตนเองก่อนว่า มีปัญหาแมลงศัตรูพืชหรือไม่ ก่อนที่จะขยายไปยังแปลงอื่นที่อยู่ใกล้เคียง สำหรับการผลิตแตนเบียนก็เพื่อให้มีความพร้อมในการนำไปกำจัดศัตรูพืช ถือเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับทุกคน ส่วนสารเคมีแม้จะเป็นสิ่งที่ทางหน่วยงานราชการไม่แนะนำ เนื่องจากมีเอกชนเข้าไปดำเนินการอยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่าการกำจัดหนอนหัวดำต้องใช้สารเคมีมาช่วย ซึ่งอยากให้เกษตรกรใช้สารเคมีที่เราแนะนำให้เท่านั้น

นางจุตติมา สอนประสม เกษตกรผู้ปลูกสวนมะพร้าว อยู่บ้านเลขที่ 41 หมู่ที่ 5 บ้านยาง ตำบลบางใบไม้ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เล่าว่า ครอบครัวปลูกมะพร้าวมาตั้งแต่สมัยตาและยาย มีเนื้อที่ปลูกมะพร้าว ประมาณ 80 ไร่ ทำมะพร้าวน้ำหอม ปัจจุบันมีปัญหาหนอนหัวดำและรุนแรงมากขึ้นในแปลงมะพร้าว จึงได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่เกษตรในการแก้ไขปัญหาด้วยการฉีดสารเคมีเข้าไปในต้นมะพร้าวที่มีความสูง 12 เมตร ต้นละ 15 ซีซี และภายในหนึ่งเดือนก็เริ่มเห็นว่าใบมะพร้าวเริ่มเขียว แตกทางใบสภาพเปลี่ยนไปจากเดิมที่มีหนอนหัวดำระบาดรวมทั้งการใช้แตนเบียนเข้าช่วย

อย่างไรก็ตาม ตนจะเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการเกิดการระบาดของหนอนหัวดำอย่างใกล้ชิด จะไม่นิ่งนอนใจ แม้จะไม่อยู่ในช่วงระบาด และจะปฏิบัติตามคำแนะนำของทางหน่วยงานราชการอย่างเคร่งครัดต่อไป

เป็นความคุ้นเคยของนักท่องเที่ยวที่เมื่อแวะเข้าปั๊มน้ำมันกิจกรรมหนึ่งคือ ช้อปปิ้ง หนึ่งในสินค้าที่เรียกลูกค้าเสียงใสคือ “เฉาก๊วยชากังราว”

“ชากังราว” เป็นชื่อเดิมของจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นจุดกำเนิด เป็นฐานที่มั่นของสินค้าแก้ร้อนในที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยเฉพาะในฤดูการท่องเที่ยว ปัญหาหนึ่ง คือการขนส่งและการเสียโอกาสในการขายช่วงเทศกาล ซึ่งรถขนส่งจะไม่รับจ้างในกิจกรรมขนส่งสินค้า เพราะต้องการขนส่งมวลชนมากกว่า ทำให้ในปี พ.ศ. 2557 ผู้บริหารจึงตัดสินใจในการเพิ่มกำลังการผลิตทางภาคใต้ โดยเลือกจังหวัดสงขลาเป็นแหล่งผลิตและจัดจำหน่ายในกลุ่มลูกค้าทางภาคใต้

วีรพัฒน์ ปรางค์ศรีทอง ผู้จัดการ บริษัท เฉาก๊วยสงขลาชากังราว จำกัด กล่าวถึงที่มาของการมีขึ้นของ บริษัท เฉาก๊วยสงขลาชากังราว

จากแผนการดำเนินการทางธุรกิจผู้บริหารจึงมองโอกาสในอนาคตว่า “เฉาก๊วยชากังราว” จะทำการรุกตลาดกัมพูชา ลาว มาเลเซีย คาดการณ์รายได้เพิ่มขึ้นปีละ 100 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายในประเทศอยู่ที่ 210 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าลงทุนใหม่ด้วยเงินลงทุน 140 ล้านบาท ในการปรับปรุงโรงงานแม่ สร้างโรงงานใหม่ที่หาดใหญ่เพื่อช่วยเพิ่มกำลังการผลิตและลดต้นทุนขนส่ง

ขณะนี้ บริษัทแม่ที่จังหวัดกำแพงเพชรเริ่มส่งสินค้าไปจำหน่ายในประเทศกัมพูชา และ สปป.ลาวแล้ว ส่วนประเทศมาเลเซียอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรธุรกิจโดยวางรากฐานของโรงงานที่หาดใหญ่ เพื่อวางแผนการจัดจำหน่ายและการขนส่งสินค้า ซึ่งมั่นใจว่าสินค้าจะติดตลาดภายใน 1-2 ปี ในปี 2560 บริษัทเข้าร่วม “โครงการโอ-ปอย” โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI (โอ-ปอย)

เริ่มจาก “การปรับปรุงคุณภาพและการพัฒนางาน” ซึ่งหลังจากผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติแล้ว ได้รับคำแนะนำให้ปรับตั้งค่าน้ำหนักเนื้อเฉาก๊วยและน้ำเชื่อมในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้สามารถบรรจุผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 200 ถุง ต่อวัน ลดต้นทุนได้ 378,000 บาท ต่อปี คิดเป็นร้อยละ 14 รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการผนึกถุง ลดความสูญเสียได้อีก รวมแล้วทั้ง 2 กิจกรรมนี้สามารถเพิ่มรายได้ให้กับสถานประกอบการอีก 505,800 บาท ต่อปี

อีกแผนงานคือ “การลดต้นทุนพลังงาน” โดยจัดทำโครงการลดพลังงานไฟฟ้าของเครื่องทำน้ำเย็น ตั้งค่าอุณหภูมิน้ำให้สูงขึ้นจาก 10 องศาเซลเซียส เป็น 15 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 30 นาที จึงจะได้อุณหภูมิน้ำเชื่อมที่ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งทันต่อการสั่งซื้อในแต่ละวันเฉลี่ย 15,000 ถุง ต่อวัน ทําให้ลดพลังงานของ Chiller ลดเวลาการทำงานของ Boiller สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้สถานประกอบการได้ 228,496.05บาท ต่อปี

สำหรับแนวโน้มของการตลาดเฉาก๊วยนั้น วีรพัฒน์บอกว่า มีการเติบโตต่อเนื่อง เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและสภาพแวดล้อมในภูมิภาคที่มีการปรับตัวสูงขึ้นของอุณหภูมิ ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดการบริโภคเครื่องดื่มน้ำดื่ม คาดว่าผลิตภัณฑ์เฉาก๊วยในยี่ห้อชากังราวจะมีสัดส่วนประมาณ 30% ของตลาดรวมทั้งหมดในประเทศ แต่จากการเปิดเสรีการค้าและการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทำให้การขยายกิจการเพื่อไปทำตลาดกับกลุ่มลูกค้า เช่น ลาว กัมพูชา หรือแม้กระทั่งอินโดนีเซียจึงมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องมากขึ้น โดยขายผ่านตัวแทนขายและผู้จัดจำหน่ายในแต่ละพื้นที่ที่เข้าถึงผู้ขายและผู้บริโภคโดยตรง

แม้ว่าในส่วนของวัตถุดิบสำคัญคือต้นเฉาก๊วยต้องนำเข้ามาจากเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และจีน ปีละ 100 ตัน ราคา ตันละ 1 แสนบาท (ข้อมูลจากกลุ่มบริษัททั้งหมด) แต่กระบวนการบริหารวัตถุดิบหรือ Supply chain จะมีการวางแผนระยะยาวกับผู้ขายรายหลักและรายย่อยเพื่อลดความเสี่ยงในการวางแผนการผลิตโดยได้ทำสัญญากับผู้ขายไว้อย่างชัดเจน

ด้าน สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประโยชน์ที่ทางสถานประกอบการได้รับโดยตรงที่เห็นเด่นชัดมากที่สุดคือได้รับรู้ถึงข้อบกพร่องของสถานประกอบการเองว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิต การบริหารงาน และอื่นๆ ที่บางครั้งสถานประกอบการเองอาจจะมองไม่เห็นข้อบกพร่องนั้นๆ นอกจากนี้ยังได้รับการพัฒนาและแก้ไขจุดบกพร่องนั้นเป็นการเฉพาะจุดจริงๆ

ชาวนาหนองแวงสุดทน ทุบฝายกั้นน้ำที่นายทุน ที่สร้างกั้นขวางทางน้ำสาธารณะ แก้ปัญหานาข้าวยืนต้นตาย

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 27 กันยายน 2560 ชาวบ้านหนองแวง ต.หนองแวง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว กว่า 30 คน ได้รับความเดือดร้อน จากภัยแล้ง นาข้าวนับพันไร่ ยืนต้นตาย หลังจากชาวบ้านได้ขอความช่วยเหลือจากนายทุน ในพื้นที่ ที่สร้างฝายกั้นน้ำ และกั้นทางน้ำที่ไหลลงจากเขา มากักเก็บไว้ในพื้นที่ฝายส่วนตัว ทำให้ชาวไร่ชาวนา ที่ทำการเกษตรอยู่พื้นที่ด้านล่าง ไม่มีน้ำไหลลงจากเขา ตามธรรมชาติ ส่งผลให้ชาวไร่ชาวนา ไม่มีน้ำทำนาและหวังน้ำจากน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ทำให้ข้าวยืนต้นตาย ติดต่อกันมากว่า 4 ปีแล้ว

ต่อมาชาวบ้านหนองแวง ได้เดินทางเข้าพบ นายวรภัทร ขำสุวรรณ นายอำเภอโคกสูง จ.สระแก้ว แจ้งว่า ขณะนี้ นาข้าวกว่า 2,000 ไร่ กำลังขาดน้ำยืนต้นตาย เนื่องจากมีนายทุนรายใหญ่กว้านซื้อที่ดิน ในบริเวณติดกับเชิงเขาและสร้างฝายน้ำล้น ขนาดใหญ่ดักทางน้ำที่ไหลลงจากเขาอีด่าง หลังจากนายอำเภอรับทราบ เรื่อง และได้เดินทางไปที่ฝาย ระเริง หมู่ 10 ต.หนองแวง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว และพบว่า มีการสร้างฝายปิดกั้นทางน้ำสาธารณะจริง

ทางด้านนาย วรภัทร ขำสุวรรณ นายอำเภอโคกสูง กล่าวว่า ตนเพิ่งย้ายมา ไม่ทราบว่า มีการสร้างฝายกั้นน้ำ ปิดกั้นคลองสาธารณะ ขณะนี้ได้รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วทราบแล้ว และได้สั่งให้ชาวบ้านนำเครื่องสูบน้ำจากฝาย เร่งสูบน้ำเข้านาเพื่อช่วยเหลือชาวนาอย่างเร่งด่วนแล้ว
ทางด้านนาย สำเร็จ อินสมบูรณ์ อายุ 54 ปี ชาว ต.หนองแวง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว กล่าวว่า หลังจากนายทุน ได้กว้านซื้อที่ดินจำนวนมาก จากนั้น ได้สร้างฝายกั้นน้ำที่เป็นคลองสาธารณะ ที่ไหลลงมาจากเขา อีด่าง และตนก็เริ่มมีหนี้สิน 3-4 ปี มาแล้ว เนื่องจากไม่เคยทำนาได้เลย ขณะนี้เป็นหนี้ ธ.ก.ส.กว่า 200,000 บาท ในขณะที่ นางบุญตา ชาญศิริ อายุ 52 ปี กล่าวว่า ตั้งแต่นายทุนสร้างฝายกั้นน้ำ ไม่ให้น้ำที่ไหลจากเขาลงมา ถึงชาวบ้านที่ทำการเกษตรอยู่ด้านล่าง ทำนาไม่เคยได้ข้าวเลย และขอขอบคุณทางอำเภอโคกสูงที่ ช่วยสูบน้ำและนำน้ำจากฝาย เหมือนพระมาโปรดแล้ว

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ นพ.อธิศพันธุ์ จุลกทัพพะ อาจารย์ประจำศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่ามะเร็งเต้านมยังเป็นโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 ในจำนวนโรคมะเร็งสตรี ซึ่งการรักษาจะประกอบด้วยหลายส่วน ทั้งการผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด ซึ่งผลการรักษาค่อนข้างจะตอบสนองต่อการรักษาที่ดีไม่ว่าจะอยู่ในระยะใดก็ตาม แต่สิ่งที่มีปัญหาคือเรื่องเต้านมเพราะมีผลต่อสภาพจิตใจของผู้หญิงดังนั้นที่รพ.จุฬาฯ จึงพยายามผ่าตัดแบบสงวนเต้าเอาไว้แล้วทำเต้านมเทียมขึ้นมา อาจจะใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง หรือใช้ซิลิโคนแทน แต่บางคนอาจต้องตัดทั้งเต้า ขึ้นอยู่กับว่าเป็นระยะที่เท่าไหร่ แต่หากตรวจเจอเร็ว รักษาเร็วก็สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้าเอาไว้ได้ แต่ปัญหาคือพบว่าร้อยละ 50 มาพบแพทย์เมื่อเป็นโรคมะเร็งเต้านมในระยะที่ 2, 3 แล้ว ทำให้ต้องตัดทิ้งทั้งเต้าไปจำนวนไม่น้อยเลย

นพ.อธิศพันธุ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดจะมีผลกระทบทำให้ผมร่วง ทางรพ.จุฬาฯ จึงได้นำเข้าเครื่องครอบศีรษะแบบหล่อเย็นระหว่างการให้ยาเคมีบำบัดลดภาวะผมร่วงจากการให้เคมีบำบัดฟรี ปัจจุบันมีอยู่ 5 เครื่อง และให้บริการมาประมาณ 8 ปีแล้ว โดยหลักการเครื่องมือนี้จะทำให้เกิดความเย็นที่ศีรษะเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงที่บริเวณนั้นน้อยที่สุด เพื่อลดปริมาณยาที่จะไปถึงเส้นผมก็จะทำให้ผมร่วงน้อยลง ซึ่งพบว่าช่วยลดผมร่วงจำนวนมากได้ถึงร้อยละ 40-70 อีกทั้งยังช่วยให้ผมเกิดเร็วกว่าการไม่ได้ใช้เครื่องมือดังกล่าว โดยผมเกิดใหม่ภายใน 2-3 เดือน เพราะรากผมยังอยู่ แต่ถ้าไม่ได้ใช้ก็อาจจะต้องรอให้ผมเกิดใหม่ประมาณ 3-4 เดือน อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพตรงนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนเอง และก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ป่วยเองด้วยว่าจะใช้หรือไม่ใช้ เพราะบางคนอาจจะไม่ชอบเนื่องจากมีความเย็นมาก

“เต้านมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้หญิง การเสียเต้านมไปเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อจิตใจ และการใช้ชีวิตในสังคมทางศูนย์สิริกิติ์ฯ จึงได้มีการตั้งกลุ่มจิตอาสาเพื่อนช่วยเพื่อน ศูนย์สิริกิตติ์ฯ ขึ้นมาทำกิจกรรมเพื่อให้การช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ป่วย เช่น การเย็บเต้านม เทียมและทำวิกผมปลอม ทำหมวกเพื่อแจกให้ฟรีกับผู้ป่วยด้วย และยังร่วมกับพยาบาล และแพทย์ในการให้คำปรึกษา ให้กำลังใจสำหรับผู้หญิงที่กำลังเผชิญกับการป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมด้วย” นพ.อธิศพันธุ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวจังหวัดอุดรธานี รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือการจัดการมูลฝอยติดเชื้ออุดรธานี โดยมี นายอิทธิพล ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลนคร (ทน.) อุดรธานี นพ.สามิต ประสันนาการ สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ ท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 22 แห่ง เข้าร่วมประชุม ที่ศูนย์ประชุมอุดรดุษฎี โรงแรมเจริญ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

นายสิธิชัยกล่าวว่า อปท. มีหน้าที่ต้องจัดการขยะมูลฝอยและขยะมูลฝอยติดเชื้อ ต้องกำกับดูแลให้ถูกหลักสุขาภิบาล โดยเฉพาะขยะติดเชื้อที่มีความสำคัญมาก มีกฎหมายและกำกับกระทรวงชัดเจน อปท. จะต้องทำเป็นข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติ เพื่อเข้ามากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ผู้เข้ามาเก็บขนขยะติดเชื้อจะต้องถูกตรวจสอบมีระบบที่ถูกต้อง จึงจะได้รับอนุญาตจาก อปท. นั้นๆ เพื่อควบคุมมาตรฐาน และตรวจติดตามจากต้นทางถึงปลายทาง

นายอิทธิพลเผยว่า ทน.อุดรธานี ได้ใช้งบประมาณดำเนินโครงการ “เตาเผาขยะติดเชื้อ” เพื่อจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้นในชุมชนและสถานพยาบาลในเขต ทน.อุดรธานี ณ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครอุดรธานี ติดต่อกันมากว่า 12 ปี เมื่อหมดอายุการใช้งานได้รับสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล จัดสร้างเตาเผาขยะมูลฝอยติดเชื้อทดแทนที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ มูลค่ากว่า 271 ล้านบาท ขณะนี้ได้เริ่มทำงานมาระยะหนึ่งแล้ว

“สถานีกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ ทน.อุดรธานี global-customer.com ยังมีหน้าที่รองรับขยะมูลฝอยติดเชื้อ 6 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน คือ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และอุดรธานี เบื้องต้นจะเริ่มในพื้นที่อุดรธานีก่อน โดยจะมีรถขนขยะติดเชื้อควบคุมอุณหภูมิไปรับขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาล ตามวันเวลาที่กำหนด นำกลับมาเผาทำลาย ในอัตราค่าบริการกิโลกรัมละ 13 บาท จากนั้นจะขยายพื้นที่ไปต่างจังหวัดที่ติดกับอุดรธานีกิโลกรัมละ 14 บาท และจังหวัดที่ข้ามจังหวัดอื่นไปกิโลกรัมละ 15 บาท”

พาณิชย์เปิดโครงการเสริมสร้างศักยภาพร้านค้าชุมชนไทยสู่ “โชห่วย-ไฮบริด” ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าในร้านและผลิตภัณฑ์ชุมชนไปสู่มือผู้บริโภค ได้รับความร่วมมือจากไปรษณีย์ไทย และผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตของ DEPA

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวในการเป็นประธานโครงการ “เสริมสร้างศักยภาพร้านค้าชุมชนไทยสู่ โชห่วย-ไฮบริด” ว่า เนื่องจากเป็นโครงการสำคัญที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมอย่างจริงจังเพื่อผลักดันเศรษฐกิจฐานรากของไทย ผ่านร้านค้าชุมชนให้สามารถเผชิญความท้าทายต่อการแข่งขันที่รุนแรง

แนวทางการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล (DEPA), บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของธุรกิจในท้องถิ่นเพื่อนำมากำหนดแนวทางการส่งเสริมของกระทรวงพาณิชย์ พบว่าร้านค้าชุมชนไทยมักจะพบกับอุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจ 3 ด้าน คือ 1. ด้านการตลาด การขายสินค้าที่ไม่ตรงใจผู้บริโภค 2. ด้านโลจิสติกส์/สินค้าคงคลัง ไม่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี และ 3. ด้านข้อมูลเพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจ ไม่จัดทำรายงานข้อมูลทางการเงิน

รมช.พาณิชย์กล่าวอีกว่า การพัฒนาธุรกิจการค้าจะลงพื้นที่ทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ (เชียงใหม่ กรุงเทพฯ อุดรธานี และสงขลา) เพื่อให้ความรู้ทางวิชาการแก่ร้านค้าชุมชนและด้านปฏิบัติในการลงมือปรับภาพลักษณ์ ณ ร้านค้าจริง โดยมีร้านที่เข้าร่วมแล้วจำนวน 200 ร้านค้า จากนั้นกรมจะคัดเลือกร้านค้าที่มีความพร้อมจำนวน 100 ร้านค้า เพื่อให้คำปรึกษาในเชิงลึก พัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็นร้านโชห่วย-ไฮบริด

สำหรับร้านโชห่วย-ไฮบริด จะทำหน้าที่เป็นจุดรวบรวมคำสั่งซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค/ผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่น ชำระเงินผ่านทางระบบออนไลน์ โดยเป็นความร่วมมือของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในหมู่บ้าน และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กำลังพัฒนาการซื้อ-ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ที่สามารถนำมาปรับใช้กับร้านค้าโชห่วยและร้านค้าชุมชน

นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน เปิดเผยถึงผลสรุปโครงการจัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำคลองกลายแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนในลุ่มน้ำทั้ง 52 หมู่บ้าน 5 ตำบล ในเขตอำเภอนบพิตำ และอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เพิ่งเสร็จสิ้นว่า ประกอบด้วย 3 แผนงาน 260 โครงการ ความจุรวม 88 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยเฉพาะแผนงานสำคัญเร่งด่วน การสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำคลองกรุชิง 60 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำคลองแซะ 10 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำหมอนมด 10 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำคลองกัน 5 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งการสร้างฝายคลองกลายขนาดกลาง ประตูระบายน้ำป้องกันน้ำเค็มและเขื่อนป้องกันตลิ่ง

“ปริมาณน้ำท่าของคลองกลายปีหนึ่ง 645 ล้าน ลบ.ม. แต่ทั้งลุ่มน้ำมีแหล่งน้ำเก็บกักเพียง 3 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น น้ำส่วนใหญ่จึงไหลลงทะเลอย่างน่าเสียดาย ในขณะพื้นที่ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำ อุทกภัย และน้ำเค็มรุกล้ำตลอดเวลา และจากการสำรวจของชาวบ้านเอง ต้องการน้ำ 316 ล้าน ลบ.ม. เผื่ออนาคต 30 ปีข้างหน้า แต่ในชั้นต้นชาวบ้านเห็นด้วยที่จะพัฒนาแหล่งน้ำ 88 ล้าน ลบ.ม.ไปก่อน”