“การปลูกละมุดเชิงการค้า” ละมุด จัดเป็นไม้ผลขนาดกลาง

มีเส้นผ่าศูนย์กลางพุ่ม อยู่ระหว่าง 4-8 เมตร ไม่สลัดใบ ความสูงของต้นจะแตกต่างกันไปตามพันธุ์ อยู่ระหว่าง 9-15 เมตร ต้นแผ่กิ่งก้านสาขาแข็งแรง กิ่งเหนียวไม่หักง่าย ออกดอกติดผลตลอดทั้งปี กรมส่งเสริมการเกษตร สำรวจพบว่า แหล่งปลูกละมุด ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดราชบุรี รองลงมาคือสุโขทัย และนครราชสีมา ที่เหลือปลูกกระจัดกระจายอยู่ใน 31 จังหวัด ที่ผ่านมา ไทยเคยส่งออกละมุดแช่แข็งและผลละมุดสดไปยังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บูรไน และยุโรป

สำหรับ ละมุด ที่ปลูกในเมืองไทย สามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพันธุ์ผลเล็ก ได้แก่ พันธุ์มะกอก พันธุ์ปราจีน พันธุ์สีดา ส่วนพันธุ์ผลขนาดกลาง ได้แก่ พันธุ์กระสวยมาเล พันธุ์ดำเนิน พันธุ์นมแพะ และกลุ่มผลใหญ่ ได้แก่ พันธุ์กำนัน พันธุ์ ทช01 พันธุ์ CM19 พันธุ์สาลี่เวียดนาม และพันธุ์ตาขวัญ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีจุดเด่น-จุดด้อย ที่แตกต่างกันออกได้ ได้แก่

พันธุ์มะกอก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ละมุดกรอบ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีรสชาติดี รสหวาน หอม กรอบ แต่มีขนาดผลเล็ก ผลมีลักษณะกลมเมื่อยังเล็กอยู่ เมื่อโตขึ้นก็จะค่อยๆ ยาวเหมือนผลมะกอก จัดอยู่ในกลุ่มขนาดผลเล็ก คือ 45 กรัม ต่อผล ผลมีผิวสีน้ำตาลอมเหลืองเมื่อแก่จัด ผลสุกเนื้อในจะแข็งกรอบ มีสีน้ำตาลอมแดง เนื้อละเอียด ผิวไม่นิ่ม ให้ผลดก อายุเก็บเกี่ยว 6 เดือน ผลสุกจัดความหวาน 17 องศาบริกซ์ เกษตรกรก็นิยมปลูกกันเป็นอาชีพมาก เพราะมีรสชาติดีและเป็นที่นิยมของตลาด

พันธุ์กระสวยมาเลย์ มีขนาดผลกลาง 150-250 กรัม ต่อผล รูปร่างผลยาวรี สีเปลือกค่อนข้างเหลือง ลักษณะเนื้อเมื่อสุกละเอียด ค่อนข้างเละ สีเนื้อน้ำตาลแดง อายุเก็บเกี่ยว 8-9 เดือน พันธุ์ CM19 จากประเทศมาเลเซีย นิยมเรียกกันติดปากว่า “ละมุดยักษ์มาเล” มีขนาดผลใหญ่ ประมาณ 200-300 กรัม ต่อผล ขนาดผลค่อนข้างโต ลักษณะผลมีทั้งรีและกลมในต้นเดียวกัน สีเปลือกผลน้ำตาลเข้ม เนื้อละเอียดสีน้ำตาล เนื้อละมุดจะไม่กรอบเมื่อสุก อายุเก็บเกี่ยว 8-9 เดือน

พันธุ์ ทช.01 เกิดจากการคัดเลือกพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร พันธุ์ ทช.01 มีขนาดผลใหญ่เฉลี่ย 200 กรัม ต่อผล อายุเก็บเกี่ยว 8 เดือน เมื่อสุกเนื้อจะไม่กรอบ สีเปลือกน้ำตาลเข้ม สีเนื้อในน้ำตาลแดง

พันธุ์ไข่ห่าน ขนาดผลใหญ่มาก ขนาดคล้ายกับไข่ห่าน เปลือกผลบาง เนื้อสีน้ำตาลอ่อน รสชาติหวานเย็น มีปริมาณเนื้อมาก เมื่อสุกเนื้อค่อนข้างหยาบไม่แข็ง กรอบ ให้ผลได้ไม่ดก

โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตละมุดอย่างมีคุณภาพ โดย คุณสุรศักดิ์ วัฒนพันธุ์สอน และคณะ ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย พบว่า การตัดแต่งทรงพุ่มละมุดทุกกรรมวิธี สามารถช่วยให้ผลผลิตที่มีผลขนาดใหญ่มากกว่าการไม่ตัดแต่งทรงพุ่มเลย วิธีการตัดแต่งแบบเปิดแกนกลางและการตัดแต่งแบบครึ่งวงกลม ทำให้ได้ผลผลิตละมุดมีขนาดผลโตขึ้นมากว่าการตัดแต่งทรงพุ่มแบบทรงเหลี่ยม และแบบฝาชีหงาย

นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัย พบว่า ละมุดพันธุ์มะกอก ที่ปลูกจากกิ่งตอน หากใส่ปุ๋ยคอก ในอัตรา 2 กิโลกรัม ต่อต้น ร่วมกับใส่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในอัตรา 6-2-3 กิโลกรัม ต่อต้น ในต้นละมุดอายุ 1-2 ปี จะทำให้ต้นละมุดมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี และมีขนาดทรงพุ่มเพิ่มเร็วขึ้น ให้ผลผลิตมากกว่าการใส่ปุ๋ยเคมีที่อัตราต่ำกว่านี้ ให้ผลผลิตได้ในปีที่ 2

ด้านการจัดการน้ำ พบว่า การให้น้ำต้นละมุดตั้งแต่เริ่มปลูก จะทำให้ละมุดมีการเจริญเติบโตได้ดี แตกตาดอกและตาใบมากขึ้น สำหรับต้นละมุดที่เพิ่งปลูกใหม่ๆ ควรให้น้ำทุกๆ วันในตอนเย็น ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับสภาพความชุ่มชื้นของดินและสภาพแวดล้อมต่างๆ ส่วนต้นละมุดที่ให้ผลผลิตแล้ว การให้น้ำจะไม่มีผลกระทบต่อการออกดอกติดผลแต่อย่างใด

ถึงแม้จะทนต่อความแห้งแล้งได้ดี แต่ต้นละมุดก็ต้องการน้ำอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ละมุดออกดอกและดอกกำลังบาน ในช่วงที่ผลแก่และเริ่มจะสุก หากมีฝนตกจะทำให้ความหวานลดลงบ้างเล็กน้อย แต่ยังจัดว่ายังหวาน เมื่อฝนเริ่มหาย อย่างไรก็ตาม การบังคับน้ำหรือการอดน้ำ ควรกระทำในช่วงหน้าหนาวในระยะผลแก่ก่อนจะทำการเก็บผล ประมาณ 20 วัน เพื่อเร่งให้ผลละมุดมีความหวานมากขึ้นและเนื้อกรอบ ส่วนการให้น้ำหรือบังคับน้ำเพื่อเร่งการออกดอกนั้น ไม่มีความจำเป็น เพราะละมุดมีนิสัยที่มีการติดดอกออกผลมากอยู่แล้ว

ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลออกไปในแต่ละรุ่น ต้นละมุดจะมีการสะสมอาหารพร้อมที่จะออกดอกติดผลได้ในรุ่นต่อไป ในช่วงฤดูแล้งนั้นควรจะให้น้ำเป็นระยะๆ อย่างน้อยเดือนละ 2-3 ครั้ง และก่อนจะหมดฤดูฝน เกษตรกรควรนำเศษหญ้ามาสุมโคนต้นเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของดินไว้ให้นาน และช่วยไม่ให้แสงแดดส่องถึงพื้นดิน น้ำที่รดลงไปจะมีการระเหยออกมาน้อย ช่วยประหยัดน้ำ และประหยัดแรงงานในการให้น้ำได้อีกทางหนึ่ง

จังหวัดภูเก็ต ในฐานะเมืองท่องเที่ยว ที่ดินมีราคาแพงมาก เพราะเป็นทำเลทองของการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ แต่ที่นี่ ยังมีการทำนาปลูกข้าวอยู่นะ ชาวบ้านไม้ขาว อำเภอถลาง ชุมชนชายทะเลตอนเหนือของเกาะภูเก็ต ยังคงรักษามรดกวัฒนธรรม วิถีชีวิตกึ่งชนบทได้อย่างดีเยี่ยมภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พวกเขาอนุรักษ์วิถีชีวิตการทำนาเช่นเดียวกับรุ่นปู่ย่าตายาย พวกเขาทำเกษตรแบบเรียบง่าย มีความเอื้ออาทรของวิถีชีวิตแบบไทยๆ ที่ต่างชาติเห็นแล้วชื่นชมด้วยความประทับใจ

บ้านไม้ขาว อำเภอถลาง

“นาผืนสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ต” ตั้งอยู่ หมู่ที่ 4 บ้านไม้ขาว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบัน มีพื้นที่ประมาณ120 ไร่ มี นายเนตร เดชากุล เป็นผู้ริเริ่มรวบรวมเพื่อนบ้านหันกลับมาทำนาข้าว ซึ่งเดิมเป็นนาร้าง โดยเสนอผ่าน นายมาโนช สายทอง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จัดทำโครงการเสนอทางจังหวัดภูเก็ต เริ่มทำเป็นโครงการเชิงอนุรักษ์อาชีพชาวนาภูเก็ตอย่างจริงจัง ในปี พ.ศ. 2554 ในช่วงที่ ดร. ปรีชา เรืองจันทร์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ถือเป็นจุดเริ่มต้นโครงการ “นาผืนสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ต” ที่เน้น “ปลูกวันแม่เก็บเกี่ยววันพ่อ” โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานเปิดงาน และหัวหน้าส่วนราชการผู้นำชุมชน พลังมวลชนและประชาชนในพื้นที่ร่วมงาน มีหน่วยงานในพื้นที่ร่วมจัดนิทรรศการมาอย่างต่อเนื่อง

“เนตร เดชากุล” ผู้ริเริ่มทำนาผืนสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ต

ลุงเนตร เดชากุล เป็นคนภูเก็ตโดยกำเนิด อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 56/2 หมู่ที่ 4 บ้านไม้ขาว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นบุตรของ นายนัด เดชากุล นางข้อย เดชากุล เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนบ้านไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เมื่อลุงเนตรจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เข้าสู่อาชีพรับจ้างทั่วไป กับครอบครัว ทำงานบริษัทเอกชน ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (ยาม) ปฏิบัติที่สนามบินภูเก็ต

ในปี 2535 ลุงเนตรได้สมัครเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษา กับ กศน. อำเภอถลาง ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย จากการศึกษาเล่าเรียนทำให้เขาคิดว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนจะมีเงินใช้เพียงเดือนชนเดือน ถ้าทำอาชีพทางเกษตรหันมาใช้ชีวิตแบบพอเพียงน่าจะมีรายได้เพียงพอและมีเงินเก็บ ลุงเนตรตัดสินใจลาออกจากงาน มาใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร “รัชกาลที่ 9”

ในเดือนแรกที่เขาออกจากงานมาทำอาชีพเกษตรผสมผสาน มีรายได้ 70,000 บาท จึงเกิดความภาคภูมิใจ ยึดมั่นในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำอาชีพทางการเกษตรอย่างจริงจัง พร้อมกับเรียนต่อ กศน. จนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เห็นพื้นนาร้างคนภูเก็ตไม่มีใครทำนาแล้ว เพราะเป็นงานหนักหันไปทำงานสบายเป็นลูกจ้างภาคธุรกิจ จึงเกิดความคิดที่จะฟื้นฟูอาชีพทำนา ในตอนแรกชักชวนเพื่อนบ้านมารวมกลุ่มทำนาข้าว

ในปี 2554 ลุงเนตร ได้ทำโครงการ “ปลูกข้าววันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ” เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต โดยเชิญ ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้นมาเป็นประธาน ซึ่งโครงการนี้จัดมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นความภาคภูมิใจที่สามารถรักษานาข้าวผืนสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ตไว้ได้ จากเดิมมีพื้นนาประมาณ 70 ไร่ ปัจจุบันมีผืนนามากกว่า 120 ไร่

ลุงเนตร กล่าวว่า “ลุงกับป้ามีที่นาของตนเองเพียง 3 ไร่ เช่าที่นาของเพื่อนบ้านในชุมชนอีก 14 ไร่ รวมพื้นที่นาของลุง 17 ไร่ ในที่ดิน 17 ไร่ ลุงได้แบ่งตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ คือแบ่งเป็นนาข้าว กับพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกพริก ปลูกมะเขือ ตะไคร้ เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ดไข่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ และที่ทำใหม่ คือทดลองปลูกเมล่อนญี่ปุ่นในโรงเรือน ถือว่าเป็นการเรียนรู้ของใหม่ ลุงเรียนรู้ตลอดเวลา ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ย ประมาณ 20,000 บาท ต่อเดือน เพียงพอกับการดำเนินชีวิต ของที่ปลูกช่วงแรกลุงเอาไปแจกแบ่งกันกินมากกว่า สิ่งตอบแทนกลับมา คือทำให้ลุงขายของได้

ลุงเนตร เอาต้นข้าวใส่กระถางขายโรงแรม กระถางละ 150 บาท ลุงเพาะต้นพริกขาย ต้นละ 20 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่มีเข้ามาเสมอ ถ้าเราดำเนินชีวิตตามแนวทางของในหลวงเราไม่มีทางอดตาย จากเดิมตอนที่ทำงานบริษัท เมื่อเวลาเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องเจ็บป่วยไม่สบาย บางครั้งเรายังไม่สามารถไปเยี่ยมได้ ดูเป็นคนใจดำ เพราะลางานไม่ได้ ออกจากบ้านแต่เช้ากลับถึงบ้านก็ค่ำ กินข้าวเสร็จก็เข้านอนพักผ่อน ชีวิตหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ อย่าหวังว่าจะช่วยเหลือสังคมเลย แค่ในครอบครัวยังไม่ค่อยมีเวลา

” เมื่อกลับมาทำเศรษฐกิจพอเพียงก็พบเลยว่า เวลาที่เสียไปมันเป็นเวลาของเราอย่างแท้จริง ทำมากขยันมากเราก็ได้มาก แต่ที่สำคัญคือครอบครัวทำแล้วมีความสุข ครอบครัวก็เป็นสุข มีเวลาช่วยเหลือชุมชน…รู้จักคำว่า พอก็เป็นสุขแล้ว…” ลุงเนตร กล่าวในที่สุด

เชื่อว่า มีข้าราชการและพนักงานบริษัทจำนวนมากที่อายุใกล้ 60 ปี เริ่มนับวันถอยหลังที่ก้าวเข้าสู่วัยเกษียณอย่างมีความสุข แต่บางคนอาจมีความกังวลว่าเมื่อตนก้าวพ้นวัยทำงานไปแล้วจะใช้เวลาว่างที่เหลืออย่างไร จะเข้าวัดฟังธรรม อยู่บ้านเลี้ยงหลาน หรือใช้พื้นที่ว่างข้างบ้านปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หากใครยังคิดไม่ตกว่าจะวางแผนการใช้ชีวิตอย่างไร อยากให้ลองอ่านชีวิตเกษตรก่อนเกษียณ ของ “ดร. ปรีชา ชื่นชนกพิบูล” เขาวางแผนทำสวนเกษตรไว้ล่วงหน้า จนรู้ปัญหาอุปสรรคในการทำสวนเกษตร เมื่ออายุครบ 60 ปี เขาสามารถเก็บเกี่ยวความสุขในวิถีชีวิตเกษตรกร หลังวัยเกษียณได้อย่างเต็มที่

ดร. ปรีชา ชื่นชนกพิบูล ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (ETV) ในสังกัด สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ

ลูกหลานชาวสวนรังสิต

ดร. ปรีชา เล่าว่า ผมเกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร เดิมคุณแม่ทำนาอยู่ คลอง 14 ปลูกข้าวได้เกวียนละ 1,200 บาท เมื่อย้ายมาอยู่ที่นี่ ก็หันมาทำสวนแทน พื้นที่ทำกินแห่งนี้อยู่ในโครงการปฏิรูปที่ดินของจังหวัดปทุมธานี เมื่อเปลี่ยนการเพาะปลูกจากทำนา มาทำสวน ก็ต้องไปยื่นขออนุญาตจากหน่วยราชการ ครอบครัวผมหันมาทำสวนส้มบางมด ต้องใช้สารเคมีเยอะมาก ต้องฉีดยาทุกๆ 7 วัน ร่างกายก็ทนไม่ไหว ก็ขอร้องคุณแม่ว่า อย่าทำต่อเลย พอดี คุณแม่ป่วย ผมจึงแบ่งเวลาว่างจากงานประจำมาทำสวนเอง เริ่มจากลงทุนหลายแสนเพื่อทำสวนมะนาว ก่อนจะปรับปรุงเป็นสวนเกษตรผสมผสานเหมือนอย่างทุกวันนี้

สวนผลไม้แบบผสมผสานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการปฏิรูปที่ดินของสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี ที่ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ไม่สามารถขายที่ดินได้ ปัจจุบันครอบครัว ดร.ปรีชา ถือครองที่ดินจำนวน 7 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ ถนนสายรังสิต นครนายก คลอง 12 ฝั่งเหนือ เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า ที่ปฏิรูปที่ดิน ล็อก 5 ไร่ หมู่ 4 ต. บึงน้ำรัก และ จัดอยู่ในเขตการปกครองของตำบลสนั่นรัก จ.ปทุมธานี

ความสุขจากการเลี้ยงปลา
ในวันที่แดดร่มลมตก อากาศกำลังเย็นสบายๆ ดร. ปรีชา ทิ้งมาดผู้บริหาร อีทีวี มานั่งให้อาหารปลาริมสระน้ำพร้อมกับเล่ากิจกรรมเกษตรก่อนเกษียณให้ฟังว่า การเลี้ยงปลาเป็นหนึ่งในพื้นที่แห่งความสุข และเป็นส่วนหนึ่งในงานด้านเกษตรกรรม สวนแห่งนี้มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 7 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวา ถูกใช้ประโยชน์ทางการเกษตรอย่างคุ้มค่า ผืนน้ำใช้เลี้ยงปลา จำนวน 3 สายพันธุ์ ทั้งปลาสวาย ปลายี่สก และ ปลาตะเพียน อาหารที่นำมาให้ปลาคือ ผลไม้สุกงอมจนขายไม่ได้หรือมีรอยตำหนิ เช่น ขนุน มะม่วง และ มะละกอสุก

ตอนแรก ดร. ปรีชา ซื้อปลา 157,000 ตัว มาปล่อยเลี้ยงในบ่อดิน คาดหวังว่า เลี้ยงปลาให้รอดสัก 5,000 กว่าตัว ใช้เวลาเลี้ยงสักปีเศษ ค่อยจับปลาขาย จะได้ปลาที่มีน้ำหนักอย่างต่ำตัวละ 1 กิโลกรัม แม่ค้ารับซื้อปลาในราคากิโลกรัมละ 50 บาท จะมีรายได้เข้ากระเป๋าเกือบ 5 แสนบาทเลยทีเดียว แต่ท้ายสุดเขาก็ต้องล้มเลิกความคิด เพราะความรักความผูกพันจากการเลี้ยงปลาเป็นเพื่อน

“ผมเลี้ยงปลาแบบชีวจิต กินผลไม้ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น มะม่วง มะละกอสุก ผมไม่เคยทิ้ง นำมาเลี้ยงปลาได้หมด ตอนเย็นหลังเลิกงาน ผมก็นั่งเล่นให้อาหารปลาทุกวัน เลี้ยงพวกเขามาได้ 2 ปี จนกลายเป็นความรักความผูกพัน ปลาในสระน้ำทั้งหมด ผมไม่เคยขายเลยสักตัว ตอนนี้ ปลาสวายในบ่อ น้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 5 กิโลกรัมแล้ว ส่วนปลาตะเพียน มีน้ำหนักเฉลี่ยต่อตัวไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม”

ดร. ปรีชา กล่าวว่า การเลี้ยงปลาในสวนแห่งนี้ เกิดผลดีต่อระบบนิเวศ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำท้องร่องครั้งละประมาณ 20,000 บาท ปัจจุบัน ปลา 3 สายพันธุ์ ที่นำมาเลี้ยงมีข้อดีแตกต่างกัน เริ่มจาก “ปลาสวาย” จะกินผลไม้สุกที่นำมาเลี้ยง “ปลาตะเพียน” กินวัชพืชใต้น้ำเป็นอาหาร ส่วน “ปลายี่สก” จะอยู่ระหว่างกลาง กินมูลปลาตะเพียนและปลาสวาย ดังนั้น วงจรชีวิตความเป็นอยู่ของปลาทั้ง 3 สายพันธุ์จึงช่วยเหลือเกื้อหนุนกันโดยเองตามธรรมชาติ

ขณะเดียวกัน การเลี้ยงปลากินพืช ช่วยให้ร่องสวนแห่งนี้ไม่มีปัญหาเรื่องสาหร่ายพันใบเรือเหมือนกับสวนอื่นๆ ประหยัดเงิน ไม่ต้องเสียค่าลอกท้องร่อง ดร. ปรีชา เล่าว่า วิธีการเลี้ยงปลาลักษณะนี้ ยึดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

สวนผลไม้อินทรีย์
สวนไม้ผลผสมผสานของ ดร. ปรีชา ถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าทุกตารางนิ้ว แบ่งการใช้ประโยชน์ได้เป็น 3 โซน ส่วนแรก ทำเป็นสวนมะม่วง ปลูกมะม่วงหลายสายพันธุ์กว่า 400 ต้น ส่วนที่สอง เป็นพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทอง ส่วนที่สาม ปลูกไม้ผลแบบผสมผสานร่วมกับสวนพืชสมุนไพรคละเคล้ากันไป เช่น ปลูกมะยงชิด 40 กว่าต้น เพื่อใช้บริโภคในครอบครัว แจกจ่ายให้ญาติสนิทมิตรสหายที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมสวนแห่งนี้

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลไม้ในสวนของ ดร. ปรีชา ล้วนให้ผลผลิตดก และมีคุณภาพดี เพราะ ดร. ปรีชา ใส่ใจบำรุงดูแลดินให้อุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ มีคนงานช่วยโกยขี้เลนจากท้องร่องขึ้นมาใส่ร่องสวน เท่ากับเติมปุ๋ยมูลปลามาช่วยบำรุงต้นไม้ไปด้วยในตัว ทำให้ต้นมะม่วงที่ผ่านการตัดแต่งกิ่ง หรือผ่านการทำสาวมะม่วง (Repair) ได้รับธาตุอาหารที่ดี ลำต้นสมบูรณ์ เกิดการแตกหน่อ สวนกล้วยหอมทอง ก็มีผลผลิตที่ดีไม่แพ้กัน สังเกตได้จากสีผลที่เหลืองอร่ามและเปล่งปลั่งน่ารับประทาน แม่ค้าเห็นสินค้าแล้ว ตาลุกวาว ยินดีรับซื้อผลผลิตแบบไม่อั้น

ดร. ปรีชา กล่าวว่า สวนกล้วยหอมทอง พื้นที่อื่น อาจเลี้ยงหน่อกล้วยสัก 3-4 หน่อ ต่อกอ แต่สวนผมเลี้ยงต้นกล้วยได้กอละ 10 หน่อ เพราะดินมีความอุดมสมบูรณ์มาก แค่ใช้วิธีโกยดินเลนจากท้องร่องมาโปะ ร่องสวน ก็ทำให้ต้นไม้ได้รับธาตุอาหารที่ดีมากขึ้น ดินดี ต้นไม้ก็เติบโตได้อย่างเต็มที่ กล้วยหอมทองของสวนผม จึงมีรสชาติหวาน หอม อร่อย ผลอวบใหญ่ น่ากิน หลังเก็บเกี่ยวกล้วยหอมทองเสร็จ วางแผนพักดินในแปลงนี้สักหนึ่งปี เพื่อลดปัญหาในเรื่องโรคพืช แต่จะสลับไปปลูกกล้วยหอมทองในแปลงถัดไปแทน

พืชสมุนไพร ขายดีไม่แพ้กัน
ดร. ปรีชา ยังปลูก “ตะไคร้” ปลูกแซมอยู่ริมท้องร่องสวน สาเหตุที่เลือกปลูกตะไคร้เพราะเป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรยอดนิยมประจำครัวคนไทย แปลงตะไคร้เหล่านี้ จะตัดออกขายในเร็วๆ นี้ คาดว่าจะได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 3 ตัน ขายในราคากิโลกรัมละ 14 บาท และยังมีรายได้จากแปลงปลูกมะละกอ โดยขายมะละกอดิบ ในราคากิโลกรัมละ 10 บาท มะนาวของสวนแห่งนี้ ผลโต น้ำดี มีกลิ่นหอม รสชาติเปรี้ยวจี๊ดจ๊าดถึงใจ ก็ขายดีเช่นกัน

“เกษตรผสมผสาน” โกยรายได้งาม
เมื่อถามตัวเลขรายได้จากการทำสวนเกษตรผสมผสานว่าเพียงพอสำหรับเลี้ยงตัวเองไหม คำตอบที่ได้ก็คืออยู่ได้สบาย เหลือกิน เหลือใช้ เพราะสวนเนื้อที่ 7 ไร่ แห่งนี้ มีค่าใช้จ่ายหลักหมื่น เป็นค่าแรงงานให้กับคนงาน จำนวน 1 คน เท่านั้น ส่วนปุ๋ย ยา ก็ไม่ต้องซื้อ แค่เก็บเศษใบไม้ใบหญ้า ผลไม้ในสวนมาทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และซื้อปุ๋ยคอกมาใช้บ้าง ถือว่ารายได้จากผลผลิตในสวนเกษตรผสมผสานแห่งนี้ สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างสบายๆ นี่ผมทำเป็นสวนเกษตรตัวอย่างก่อนเกษียณให้ดูแล้ว พูดได้เต็มปากว่า ทำได้จริง” ดร. ปรีชา เล่าอย่างอารมณ์ดี

ปลูกพืชให้ตอบโจทย์ตลาด
ดร. ปรีชา บอกว่า การทำเกษตร sportboard.net อย่ามัวปลูกอย่างเดียว ต้องหัดเรียนรู้การตลาดด้วย ใช้หลักการตลาดนำการผลิตด้วย เพราะตลาด เป็นหัวใจหลักสำคัญ ที่จะช่วยให้เราขายผลผลิตได้ราคาที่ดี เกษตรกรมือใหม่ ต้องหัดเรียนรู้ทิศทางความความต้องการของตลาดในแต่ละช่วงเทศกาลด้วย เพื่อผลิตสินค้าให้ทันกับความต้องการของผู้ซื้อ

“ช่วงเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมกราคม ผมวางแผนตัดกล้วยออกขายแล้ว เพราะตรงกับเทศกาลตรุษจีน กล้วยถือเป็นผลไม้มงคลที่นิยมใช้ไหว้เจ้า ราคากล้วยในช่วงนั้นจะขายได้ราคาดีมาก หวีละ 50 บาท นี่คือตัวอย่างการวางแผนการปลูก ต้องผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับช่วงเทศกาลสำคัญ เพราะเป็นช่วงที่ผู้คนต้องกินต้องใช้พืชผักผลไม้จำนวนมาก ทุกวันนี้เกษตรกรบางรายเจ๊งเพราะปลูกโดยไม่นึกถึงตลาด พอเห็นบ้านโน้นปลูกผลไม้ชนิดนี้แล้วขายดี ก็แห่ปลูกตามเขาไปจนสินค้าล้นตลาด ขายขาดทุน” ดร. ปรีชา เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง

ดร. ปรีชา ตั้งใจทำสวนไม้ผลผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทำให้สวนผลไม้แห่งนี้ กลายเป็นหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ของคณาจารย์ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จากทั่วประเทศ แวะเวียนเข้ามาศึกษาหาความรู้กันอย่างต่อเนื่อง หากใครสนใจอยากเยี่ยมชมสวนหรืออยากแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการทำสวนเกษตรผสมผสานกับ ดร. ปรีชา ก็สามารถแวะเข้าชมได้ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ หรือพูดคุยสอบถามกับดร. ปรีชา ได้ที่เบอร์โทร. 081-808-5138

หน่อไม้ป่าบ้านยางโทน – “หน่อไม้บ้านหนูอร่อยแน่นอนค่ะ หวานกรอบ ทุกบ้านจะต้องมีหน่อไม้เก็บเอาไว้ นี่แหละคือ บ้านยางโทนค่ะ” น้องปอ ด.ญ.ธนพร บริสุทธิ์ บอกเล่าเอกลักษณ์ของบ้านยางโทน

หน่อไม้ป่าบ้านยางโทน -บ้านยางโทน ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี มีป่าชุมชนขนาดใหญ่ พื้นที่ 1,847 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำห้วยโป่งช้างเผือก เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าวังใหญ่ และป่าแม่น้ำน้อย ลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณและป่าไผ่รวกที่มีความสมบูรณ์ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากป่ามากมายในแต่ละปี โดยเฉพาะผลผลิตจากหน่อไม้ เนื่องจากความสมบูรณ์ของไผ่รวกที่มีกระจายทั่วผืนป่า ชาวบ้านสามารถเก็บหน่อไผ่รวกไปขายสร้างรายได้มากมาย บางบ้านนำมาใส่ถุงพลาสติกมัดให้แน่นและนำไปนึ่งเพื่อถนอมอาหารเก็บไว้กินได้ ตลอดปี