การปลูกและดูแลรักษา สวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

จัดเตรียมกิ่งพันธุ์มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ขยายต้นตอได้ด้วยตัวเอง จึงทำให้สามารถลดต้นทุนค่ากิ่งพันธุ์มะม่วงได้ โดยขยายพันธุ์มะม่วงด้วยวิธีการเสียบยอด และทาบกิ่ง ใช้มะม่วงแก้วขมิ้นเป็นต้นตอ โดยการเพาะต้นตอเอง ซึ่งมีวิธีการซื้อเมล็ดมะม่วงแก้วขมิ้น 1.50 บาท ต่อเมล็ด นำไปเพาะเมล็ดลงถุงดำ ให้ต้นตอมีความสูงประมาณ 1 เมตรและนำกิ่งพันธุ์มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองมาเสียบยอดกับต้นตอ เลี้ยงต้นมะม่วงไว้ในถุงประมาณ 1 ปี จึงนำไปปลูกลงดินหรือนำออกจำหน่ายได้
การเตรียมดินปลูก โดยปลูกระยะห่างระหว่างแถว 5 เมตร และระยะห่างระหว่างต้น 4 เมตร ขุดหลุม ขนาด 50×50 เซนติเมตร โดยแยกหน้าดินไว้ด้านหนึ่ง คลุกเคล้าปุ๋ยคอกที่หมักทิ้งไว้ รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก จำนวน 10 กิโลกรัม ก่อนเอากิ่งพันธุ์ลงปลูกจนครบพื้นที่ 35 ไร่
วิธีการให้น้ำ ต้นมะม่วงแต่ละต้นวางระบบการให้น้ำแบบน้ำหยด และวางระบบหัวเจ็ทสเปรย์ ไว้ประจำทุกต้น ใช้ปั๊มแรงดันสูง สูบน้ำจากบ่อบาดาล ผ่านท่อส่งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว ส่งไปตามท่อ พีวีซี เป็นสายหลักเข้าไปในสวน ก่อนแยกเข้าท่อ พีอี หัวเจ็ทสเปรย์ ขนาด 0.50 นิ้ว (ครึ่งนิ้ว) การให้น้ำปล่อยสลับกันแต่ละแถว เน้นการให้น้ำช่วงเช้า-เย็น ประมาณ 4-5 นาที ต่อครั้ง หรือความถี่ของการให้น้ำขึ้นอยู่กับสภาพการณ์
การให้ปุ๋ย
– ให้ปุ๋ยคอกหมักค้างปี ปีละ 2 ครั้ง ประมาณต้นละ 10 กิโลกรัม ต่อครั้ง

– ให้ปุ๋ยทางใบ 2-3 ครั้ง ต่อปี สลับกันไป ปุ๋ยทางใบเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ชนิดผงผสมน้ำฉีดพ่นทางใบ ราคา 1,000 บาท ต่อกล่อง (1 ปี ใช้จำนวน 3 กล่อง)

5. การห่อผลมะม่วง เพื่อป้องกันผิวมะม่วงเสียดสีกัน หรือกระแทกกับกิ่ง ป้องกันโรคและแมลง ทำให้สีผิวสวย ลูกมีขนาดโตขึ้น ทางสวนเลือกใช้วัสดุห่อผลมะม่วง ถุงกระดาษคาร์บอน น้ำดอกไม้สีทอง ใช้ถุงกระดาษคาร์บอน ข้างนอกจะเป็นสีน้ำตาลผิวมัน น้ำไม่เกาะ ด้านในสีดำ เมื่อห่อไปแล้วจะทำให้มะม่วงน้ำดอกไม้ สีเขียวนวล ผลโตไม่มีไข่แมลงวันทอง หรือแมลงวันทองเจาะ ถ้าเป็นน้ำดอกไม้สีทอง ผิวจะเป็นสีเหลืองทองสวยงาม
6. การเก็บผลผลิต สังเกตเมื่อผลเริ่มแก่ หรือสังเกตจากถุงห่อผลมะม่วงที่ทำสัญลักษณ์ เช่น หมายเลข 1 หมายถึงห่อชุดแรก หมายเลข 2 และ 3 ตามลำดับ จะเริ่มแกะห่อชุดแรก สังเกตก้นผลมะม่วงเริ่มเหลืองจึงเก็บ เลือกผลที่แก่จัดเพื่อลดปัญหาการบ่ม ผลมะม่วงที่ได้มีผิวสีเหลืองอร่ามนวลงาม ไร้ตำหนิ ผิวเต่งตึง ผลใหญ่ ผลไหนที่ยังไม่แก่ก็ปล่อยไว้ก่อน รอเก็บชุดต่อไป ทยอยเก็บไปเรื่อยๆ จนหมด ดังนั้น ผลผลิตจึงออกเป็นระยะๆ มีไม่มากจนเกินไป ช่วยให้สามารถบริหารการตลาดได้ง่าย
7. วิธีการบ่ม เพื่อให้การสุกของมะม่วงสม่ำเสมอพร้อมสำหรับการจำหน่ายหรือบริโภค และลดความเสี่ยงจากการเน่า การบ่ม ทางสวนจะบ่มด้วยแก๊สอะเซทีลีน หรือถ่านแก๊สที่ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ใส่ถุงพลาสติก ในอัตรา 50 กรัม ต่อมะม่วงประมาณ 20 กิโลกรัม โดยต้องระวังอย่าให้ผลมะม่วงสัมผัสกับถ่านแก๊ส ปิดคลุมด้วยผ้าใบ 1-2 คืน ก่อนเปิดผ้าใบเพื่อให้มะม่วงเริ่มสุก
8. การผลิตมะม่วง GAP ได้ขอคำปรึกษาจาก คุณไพรทอง อินาวัง เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน รับผิดชอบตำบลยางหล่อ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรดีที่เหมาะสม (จีเอพี) สำหรับมะม่วง อยู่ในช่วงกำลังดำเนินการขอใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช ในปี พ.ศ. 2563 นี้

การแก้ปัญหาของเกษตรกรด้านพื้นที่
วิชาการเกษตร เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
– เมื่อมะม่วงอายุได้ 2 ปี บางต้นเริ่มติดผลบ้างแล้ว ได้เด็ดทิ้งปล่อยให้ติดไว้เพียง ต้นละ 2-3 ผล ห่อด้วยถุงคาร์บอน 2 ชั้น ผลผลิตที่ได้ในชุดแรกมีจำนวนน้อย จึงขายได้บ้างและแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สวน

– แมลงศัตรูมะม่วงที่พบ เช่น แมงอีนูน แมลงช้าง เพลี้ยจักจั่นมะม่วง ได้ไปปรึกษาเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอศรีบุญเรือง เจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ออกมาแนะนำเทคนิคการผลิตสารชีวภัณฑ์ในการฉีดป้องกัน แต่ส่วนมากแล้วแมลงจะไม่ค่อยมีปัญหามาก

– กำจัดแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรูมะม่วง โดยมีการทำความสะอาดแปลงมะม่วงอยู่เป็นประจำ โดยการตัดหญ้าด้วยเครื่องตัดหญ้าแบบสะพายหลัง

ผลผลิตต่อไร่ หรือต่อหน่วยพื้นที่
มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ที่ปลูกรุ่นแรก ทำให้ คุณสุริยา ธงชัย มีกำลังใจกับ 2 ปีที่ลงทุนลงแรงไป บนพื้นที่ จำนวน 35 ไร่ การให้ปุ๋ยทางใบ 2-3 ครั้ง ต่อปี เพื่อเพิ่มผลผลิต มีการดูแลต้นมะม่วงให้อุดมสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ใส่ปุ๋ยคอกบริเวณรอบต้นมะม่วง และฉีดปุ๋ยทางใบเป็นปุ๋ยอินทรีย์ “ไร่เทพ” ชนิดผงผสมน้ำฉีดพ่นทางใบ ทำให้มะม่วงออกนอกฤดู ผลผลิตมะม่วงจะออกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกันยายน

การบริหารจัดการการผลิตและการตลาดที่ดี (แผนการผลิตและการตลาด)
การตลาดมักมีปัญหาสำหรับผู้ที่ไม่ได้เตรียมหาตลาดไว้รองรับ สำหรับ คุณสุริยา ได้มีการวางแผนการผลิตและการตลาดไว้ล่วงหน้า ความยั่งยืนในอาชีพสวนมะม่วง
ปี พ.ศ. 2561 ได้ถ่ายทอดความรู้การปลูกมะม่วงให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจ และมีสมาชิกรวมกลุ่มกัน สามารถจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่มะม่วง การเข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่นั้น ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีกว่า เพราะได้รับความรู้ใหม่ เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในด้านการบริหารจัดการ นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่สมาชิกกลุ่มปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ตำบลยางหล่อ อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู

ปี พ.ศ. 2563 จึงรวบรวมสมาชิกผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ในอำเภอศรีบุญเรือง จำนวน 18 ราย พื้นที่ 332 ไร่ เพื่อยื่นขอเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (มะม่วง) ปี 2564 เพราะผลผลิตของสมาชิกเริ่มออกสู่ตลาดแล้ว

ในอนาคตได้วางแผนไว้ว่า จะมีโครงการก่อสร้างโรงงานรวบรวมผลผลิตและบรรจุผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ ที่ได้มาตรฐาน GMP ต่อไป ความเป็นผู้นำ และเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่างๆ
เป็นเกษตรกรต้นแบบสาขาอาชีพทำสวน (มะม่วง)
มีความสามารถสื่อสารและทำให้เกษตรกรเข้าใจได้ง่าย
เป็นประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก. เครือข่าย) ตำบลยางหล่อ อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู
เป็นสถานที่ศึกษาดูงานสำหรับผู้ที่สนใจในการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูกและการดูแลรักษา การเก็บผลผลิตมะม่วง การแปรรูป และการจำหน่ายผลผลิต
เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่เกษตรกร เรื่องการขยายพันธุ์พืช (มะม่วง) โดยการเสียบยอด การตอนกิ่ง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สวนสุริยามะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิถูกต้อง ไม่ได้บุกรุกพื้นที่ป่า การปลูกมะม่วงเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ แตกกิ่งก้านสาขาออกไปรอบต้นมากมาย ทำให้การปลูกมะม่วงก็เหมือนได้เพิ่มพื้นที่ป่า
ใช้ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมปลูก เป็นวิธีการลดการใช้ปุ๋ยเคมี
ป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน เพื่อป้องกันโรคแมลง เช่น
– ผลิตสารชีวภัณฑ์ คือ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เชื้อราบิวเวอเรีย เพื่อเตรียมการในการป้องกันและกำจัดโรคแมลง

– สำรวจโรคแมลงในแปลงอยู่เสมอ ไม่ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลง ซึ่งเป็นการรักษาระบบนิเวศในสวนมะม่วง

มีการจัดการที่อยู่อาศัยและกิจกรรมการปลูกพืชอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและถูกสุขลักษณะ โดยการจัดการกิจกรรมการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์แยกไว้ต่างหากจากที่อยู่อาศัย
5. เลี้ยงแพะ จำนวน 10 ตัว และโคเนื้อ จำนวน 1 ตัว เพื่อกินวัชพืชที่ตัดออกจากแปลงมะม่วง และนำมูลสัตว์ที่ได้ไปใส่ต้นมะม่วง ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้
คุณกมล โสพัฒน์ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า การปลูกไม้ผล โดยเฉพาะมะม่วงซึ่งเป็นพืชดั้งเดิมตั้งแต่สมัยโบราณ มีการรับประทานอยู่เป็นประจำ มะม่วง ตลาดต่างประเทศและในประเทศ มีความต้องการมาก โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จะเห็นได้ว่ามีรายได้ดีกว่าการทำนา การทำอ้อย ปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้ตลอดไป การดูแลรักษาก็ไม่ยาก ไม่เหมือนที่ปลูกข้าว หรือทำไร่อ้อย มีการใช้สารเคมีจำนวนมาก มีผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบันนี้หนองบัวลำภูมีการใช้สารเคมี และการใช้สารเคมีไม่ถูกต้อง ในอ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และพืชอื่นๆ

ดังนั้น แนะนำเกษตรกรที่สนใจอยากจะปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนา ทำไร่อ้อย เพื่อลดการใช้สารเคมี ควรหันมาปลูกไม้ผลโดยเฉพาะมะม่วง ซึ่งมีรายได้ดีกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ทำนา ทำไร่อ้อย หากเกษตรกรท่านใดสนใจอยากศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ทางสำนักงานเกษตรอำเภอศรีบุญเรือง ได้คัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก. เครือข่าย) ประเภททำสวนมะม่วง ตำบลยางหล่อ อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู และได้รางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 จากการประกวดเกษตรกรดีเด่น ระดับจังหวัดหนองบัวลำภู ปี 2563 สาขาทำสวน

เห็ดโคนญี่ปุ่น หรือ เห็ดยานางิ (Yanagi Matsutake) มีชื่อสากลว่า Agrocybe cylindracea Maire ดอกมีสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่เห็ดออกดอก ถ้าอุณหภูมิยิ่งเย็นสีจะยิ่งเข้ม ก้านดอกสีขาว เนื้อแน่น และมีเนื้อเยื่อยาว ทำให้ไม่เปราะหรือหักง่าย รสชาติคล้ายกับเห็ดโคนไทย

เห็ดโคนญี่ปุ่น เป็นเห็ดที่เริ่มนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลายและมีราคาแพง โดยราคาขายส่งเฉลี่ยอยู่ที่ 160 บาท ต่อกิโลกรัม (ตลาดกลางผักและผลไม้จังหวัดราชบุรี, 2558) เนื่องจากรสชาติที่อร่อย เมื่อนำมาประกอบอาหาร หมวกดอกจะเหนียวนุ่มเหมือนเห็ดหอม ก้านดอกจะกรอบเหมือนเห็ดโคนป่า นอกจากนี้ ยังสามารถเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นได้นานกว่า 1 สัปดาห์ โดยยังมีความสด รูปร่าง ขนาด และน้ำหนักไม่เปลี่ยนแปลง การเพาะเลี้ยงสามารถกระทำได้ง่ายเหมือนการเพาะเห็ดถุงทั่วไป และยังเพาะเลี้ยงได้ตลอดปี จึงมีแนวโน้มว่าจะเป็นเห็ดเศรษฐกิจที่มีอนาคต

ในปัจจุบันเห็ดโคนญี่ปุ่นและเห็ดเขตร้อนต่างๆ มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทั้งนี้ เนื่องจากในบางสภาพอากาศ เช่น อากาศร้อนจัด เห็ดจะเจริญเติบโตทางด้านเส้นใยมากกว่าเกิดดอก ผลผลิตที่ได้จึงลดลง ส่วนคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการนั้นจะดีหรือด้อย ปัจจัยหลักสำคัญอย่างหนึ่งคือการขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในกระบวนการผลิต เช่น เชื้อสายพันธุ์เห็ดที่ดี วัสดุเพาะเห็ด และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น แสง บรรยากาศ และแร่ธาตุที่จำเป็น เป็นต้น (Garraway, 1984) รวมถึงปัญหาการเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีผลให้ต้นทุนการผลิตเห็ดสูงขึ้น ดังนั้น หากมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมและการจัดการที่ดีจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้

จากความสำคัญที่กล่าวมาข้างต้น กอปรกับความจำเป็นที่จะต้องศึกษา พัฒนา เทคโนโลยีการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น และเห็ดเขตร้อนอื่นๆ รวมทั้งการศึกษาวิธีการเพาะและการดูแลรักษาเห็ดอย่างเหมาะสม ตลอดจนการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดอย่างมีระบบเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดแนวคิดในการศึกษาการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์เห็ดโคนญี่ปุ่นเพื่อเพาะในเขตพื้นที่ราบขึ้น โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อสนองนโยบายการวิจัยของชาติ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์แผนการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนสามารถนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมหรือเอกชน

วว. ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาสายพันธุ์เห็ดโคนญี่ปุ่นด้วยรังสีแกมมาเพื่อเพาะในเขตพื้นที่ราบ โดยได้ทำการรวบรวมสายพันธุ์เห็ดโคนญี่ปุ่นเพื่อใช้สำหรับทดสอบจำนวน 10 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้ได้คัดเลือกสายพันธุ์เห็ดที่มีศักยภาพซึ่งให้ผลผลิตสูงได้ 5 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ ย1, ย2, ยอ, ยผ และ ยข) เห็ดโคนญี่ปุ่นทั้ง 5 สายพันธุ์ดังกล่าวได้นำไปปรับปรุงพันธุ์โดยกระบวนการฉายรังสี ด้วยเครื่องฉายรังสี Gammacell 220 ที่ระดับปริมาณรังสีต่างๆ (0, 10, 25 และ 50 กิโลแรด) เชื้อเห็ดที่ผ่านการฉายรังสีและเจริญเป็นเส้นใยใหม่และมีชีวิตรอดหลังจากบ่มไว้ที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส คาดว่าจะกลายพันธุ์ด้วยรังสีแกมมาและทนความร้อนได้ และได้ทำการแยกเชื้อเห็ดดังกล่าวให้บริสุทธิ์ได้ 186 ตัวอย่าง (isolate) สำหรับใช้ทดสอบ อัตราการเจริญเติบโตในก้อนเชื้อเห็ด ผลผลิต คุณค่าทางโภชนาการและแร่ธาตุอาหารที่เป็นองค์ประกอบของเห็ด และลักษณะทางสัณฐานวิทยาเบื้องต้นต่อไป ผลการศึกษาพบว่า เมื่อนำมาเลี้ยงบนอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA ที่อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 12 วัน พบว่ามีอัตราการเจริญของเส้นใยที่เร็วกว่าสายพันธุ์แม่

และเมื่อศึกษาอัตราการเจริญเติบโตของเส้นใยในก้อนเชื้อเห็ดสูตรที่ใช้เพาะทั่วไปเป็นระยะเวลา 2 เดือน พบว่า สายพันธุ์เห็ดในกลุ่มที่ผ่านการฉายรังสี 10 และ 25 กิโลแรด มีอัตราการเจริญของเส้นใยในก้อนเชื้อเห็ดเฉลี่ยเท่ากับ 2.48 และ 2.32 เซนติเมตร ต่อสัปดาห์ ตามลำดับ ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตของเส้นใยในก้อนเชื้อเห็ดสูตรทั่วไปเร็วกว่าสายพันธุ์เห็ดในกลุ่มควบคุม (2.06 เซนติเมตร ต่อสัปดาห์) สำหรับการเปรียบเทียบผลผลิตและคุณค่าทางโภชนาการบางชนิด และแร่ธาตุอาหารที่เป็นองค์ประกอบของเห็ดโคนญี่ปุ่น พบว่าเห็ดโคนญี่ปุ่นสายพันธุ์กลายที่ได้จากการฉายรังสีส่วนใหญ่ให้ผลผลิตและปริมาณโปรตีนมากกว่าเห็ดโคนญี่ปุ่นสายพันธุ์แม่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมถึงคุณภาพของดอกเห็ด ได้แก่ ขนาดของดอกเห็ด ความยาว และความกว้างของก้านดอกเห็ดที่ดีกว่าสายพันธุ์แม่

และยังพบว่าในกลุ่มสายพันธุ์กลาย สีของหมวกดอกและสีของก้านดอกเห็ดยังมีการเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อนำมาตรวจสอบความแตกต่างทางพันธุกรรมด้วยเทคนิคชีวโมเลกุล พบว่าลำดับนิวคลีโอไทด์ของเห็ดโคนญี่ปุ่น 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ ยานางิเข้ม C3 และ C12 ที่ได้จากการฉายรังสีแกมมาปริมาณ 10 กิโลแรด และ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ ยานางิ 2/1 C1, ยานางิ 2/2 C3 และ ยานางิเข้ม C12 ที่ผ่านการฉายรังสีปริมาณ 25 กิโลแรด แตกต่างจากลำดับนิวคลีโอไทด์ของ Yanagi Matsutake mushroom จากฐานข้อมูลใน GenBank มาก

ดังนั้น ในงานวิจัยครั้งนี้ วว. ได้เห็ดโคนญี่ปุ่นสายพันธุ์ใหม่ จำนวน 5 สายพันธุ์ โดยใช้รังสีแกมมาในการปรับปรุงพันธุ์เห็ดโคนญี่ปุ่นให้ทนร้อน สามารถเพาะได้ในเขตพื้นที่ราบ และให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดอกดี โดยมีปริมาณโปรตีนที่สูง นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดรูปร่างลักษณะใหม่ของดอกเห็ดด้วย

นอกจากนี้ วว. ยังได้มีการศึกษาชนิดของวัสดุเพาะและอาหารเสริมที่เหมาะสมสำหรับการผลิตหัวเชื้อเห็ดโคนญี่ปุ่น และพบว่า วัสดุสูตรที่ประกอบด้วยข้าวโพด 1 กิโลกรัม รำข้าว 20 กรัม CaCO3 20 กรัม MgSO4 0.2 กรัม เป็นวัสดุเพาะที่เหมาะสมสำหรับการผลิตหัวเชื้อเห็ดโคนญี่ปุ่น โดยพบว่าเห็ดโคนญี่ปุ่น มีการเจริญของเส้นใยที่เร็วและหนา ซึ่งเป็นลักษณะของหัวเชื้อที่ดีและจะทำให้ได้ผลผลิตสูง

วว. เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ด โดยการศึกษาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่เหมาะสมและอาหารเสริมอินทรีย์สำเร็จรูปเพื่อใช้ในการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น ตลอดจนการศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อปริมาณและคุณภาพของดอกเห็ด รวมทั้งเทคโนโลยีที่ช่วยให้ได้ปริมาณสารสำคัญในดอกเห็ดเพิ่มสูงขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดแนวคิดในการวิจัยและพัฒนาการผลิตก้อนเชื้อเห็ดและอาหารเสริมอินทรีย์สำเร็จรูปสำหรับการผลิตเห็ดโคนญี่ปุ่นระบบอินทรีย์ขึ้น

จากโครงการวิจัยเห็ดโคนญี่ปุ่นที่ดำเนินการแล้วเสร็จ วว. ได้นำมาต่อยอดดำเนินงานวิจัยต่อในเรื่องการใช้วัสดุเพาะหรือก้อนเชื้ออินทรีย์ และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ได้ผลิตดอกเห็ดเร็วขึ้น มีปริมาณ และคุณภาพดี ที่มีความปลอดภัยทั้งต่อผู้เพาะเห็ดและผู้บริโภค รวมทั้งสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเห็ดอินทรีย์ ทำให้ได้ผลตอบแทนในราคาที่สูงขึ้น โดยพบว่าสูตรที่เหมาะสมสำหรับการผลิตก้อนเห็ดโคนญี่ปุ่นอินทรีย์คือ สูตรที่ใช้ขี้เลื่อยที่ผ่านกระบวนการหมักอย่างน้อย 1 ปี โดยเส้นใยเห็ดมีอัตราการเจริญเติบโตดีที่สุดคือ 0.303 เซนติเมตร ต่อวัน และน้ำหนักดอกเห็ดต่อก้อนสูงที่สุดคือ 152.90 กรัม ต่อ 4 เดือน หมวกดอกเห็ดมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.73 เซนติเมตร ก้านดอกเห็ดมีความยาว และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.6 และ 0.71 เซนติเมตร ตามลำดับ ซึ่งโดยทั่วไปการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น จะใช้สูตรสำหรับการผลิตก้อนเชื้อเห็ดดังนี้คือ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำข้าว 6 กิโลกรัม ปูนขาว 1 กิโลกรัม ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม ซึ่งผลผลิตเฉลี่ยต่อก้อน ประมาณ 200 กรัม

สำหรับการวิจัยและพัฒนาสารเสริมอินทรีย์ที่ส่งเสริมการเจริญของเส้นใยและดอกเห็ด โดยได้ทำการทดสอบสูตรสารอินทรีย์ที่ส่งเสริมการเจริญและการกระตุ้นการเกิดดอกจากการผลิตสารเสริมอินทรีย์ทั้ง 7 สูตร และสารชีวภาพ (ชุดควบคุม) แล้วทำการผสมลงในก้อนเพาะเห็ด และฉีดพ่นที่บริเวณหน้าก้อนเห็ดหลังจากเชื้อเห็ดเจริญเต็มถุงก้อนเห็ดแล้วพบว่า เห็ดโคนญี่ปุ่นสายพันธุ์ทนร้อนทั้ง 5 สายพันธุ์ มีอัตราการเจริญของเส้นใยที่ดี โดยเฉลี่ยเท่ากับ 0.30 เซนติเมตร ต่อวัน

เมื่อเพาะด้วยขี้เลื่อยหมักนาน 1 ปี ที่ผสมสารเสริมอินทรีย์ เส้นใยมีอัตราการเจริญได้ดีกว่าการทดลองชุดควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็ดโคนญี่ปุ่นสายพันธุ์ ยข C12 (25K) เส้นใยจะมีอัตราการเจริญดีที่สุด คือ 0.35 เซนติเมตร ต่อวัน ปริมาณผลผลิตดอกเห็ดจากชุดการทดลองที่มีการผสมสารเสริมอินทรีย์ลงในก้อนเห็ด ให้ผลผลิตดอกเห็ดต่อกรัมต่อก้อนมากกว่าการวิธีการฉีดพ่นสารเสริมอินทรีย์ไปที่หน้าก้อนเห็ด โดยพบว่าสายพันธุ์ ย 2/1 C1 (25K) เมื่อเพาะด้วยก้อนเห็ดที่ผสมสารเสริมอินทรีย์สูตรที่ 6 ซึ่งมีส่วนประกอบดังนี้คือ ไข่ไก่ 1.25 กิโลกรัม (รวมเปลือก) นมเปรี้ยว 40 มิลลิลิตร ลูกแป้งบดละเอียด 1/2 ลูก น้ำตาล 250 กรัม และน้ำสะอาด 1 ลิตร ให้ผลผลิตดอกเห็ดต่อก้อนมากที่สุดคือ 19.66 กรัม ต่อรุ่น นอกจากนี้ ยังมีผลทำให้คุณภาพของดอก เช่น ขนาดของดอก ก้านดอกเห็ดมีขนาดใหญ่อีกด้วย

ผลงานวิจัยเห็ดโคนญี่ปุ่น โดย วว. ดังกล่าว เป็นความสำเร็จในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปตอบโจทย์ให้กับภาคการเกษตรให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ อันจะนำมาซึ่งความยั่งยืนของคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ (02) 579-9000 ต่อศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

คราม (Indigofera) เป็นพืชตระกูลถั่ว ชนิดหนึ่ง สมัคร Royal Online และเป็นพืชที่ให่สีธรรมชาติที่ตลาดมีความต้องการสูง มีเกษตรกรในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัดที่ปลูกครามเชืองการค้าโดยเฉพาะจังหวัดสกลนคร มีการปลูกครามอย่างแพร่หลายทั้งการปลูกเป็นพืชเดี่ยวและปลูกตามหัวไร่ปลายนา สำหรับพันธุ์ครามที่ปลูกมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ครามสายพันธุ์ฝักงอ (ให้เฉดสีน้ำเงินถึงกรมท่าเข้ม) และสายพันธุ์ฝักตรง (ให้เฉดีสีฟ้า) ซึ่งเกษตรกรมีการตัดต้นและใบครามมาผลิตเป็นเนื้อครามหรือ “ครามเปียก” จำหน่ายให้กับผู้ใช้ครามเพื่อย้อมสีเส้นใยและย้อมผ้าโดยครามเปียกมีราคาซื้อขายอยู่ที่ 100-150 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในช่วงฤดูแล้งครามเปียกจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท สร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกครามได้เป็นอย่างมาก

การปลูกครามแซมในแปลงหม่อน แนะนำให้ปลูกห่างจากแถวหม่อนอย่างน้อย 50 เซนติเมตร หากร่องหม่อนกว้าง 2-3 เมตร สามารถที่จะปลูกครามได้ 2 แถว ระยะห่างระหว่างแถว 1 เมตร ระหว่างต้น 30 เซนติเมตร แต่ถ้าร่องหม่อนแคบก็ให้ปลูกครามแซมเพียงแถวเดียวโดยใช้วิธีการหยอดหรือหว่านเมล็ด และก่อนที่จะปลูกครามต้องตัดต้นหม่อน ในลักษณะตัดต่ำ เนื่องจากครามเป็นพืชที่ต้องการแสงมาก ขณะเดียวกันยังทำให้การจัดการดูแลหม่อนและครามทำได้ง่ายขึ้น ทั้งการใส่ปุ๋ยคอกหลังตัดต่ำ และการใส่ปุ๋ยเคมีโดยนำปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 จำนวน 50 กิโลกรัม และสูตร 15-15-15 จำนวน 50 กิโลกรัม มาผสมกัน แล้วแบ่งใส่แปลงปลูกหม่อนและคราม 2 ครั้งๆ ละ 75 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งครั้งแรกใส่เมื่อครามอายุได้ 1 เดือน และให้ใส่อีกครั้งเมื่ออายุ 2 เดือน

ทั้งนี้การปลูกครามแซมในสวนหม่อนควรเริ่มปลูกในช่วงต้นฤดูฝน หรือเดือนเมษายน-มิถุนายน จะทำให้ครามงอกได้ดีและสม่ำเสมอดีกว่าปลูกในช่วงฤดูฝน หรือหากมีระบบการจัดการน้ำในแปลงหม่อน ก็สามารถปลูกครามได้ตลอดทั้งปี หลังปลูก 3- 4 เดือน ครามจะเริ่มออกดอกและติดฝัก ซึ่งจะให้สีมากที่สุด ก็สามารถตัดต้นและใบครามมาผลิตเป็นครามเปียกได้ และยังเก็บเกี่ยวใบหม่อนมาเลี้ยงไหมได้ด้วย

เกษตรกรอาจผลิตครามเพื่อใช้ย้อมสีเส้นไหมเพิ่มมูลค่าสินค้า หรือถ้าไม่ตัดต้นและใบครามมาผลิตครามเปียก เกษตรกรยังสามารถสร้างรายได้เสริมจากครามที่แซมในร่องหม่อนโดยการเก็บเมล้ดครามมาจำหน่ายให้กับผู้ปลูกครามในเชิงการค้า ซึ่งจะให้ผลผลิตประมาณ 60-70 กิโลกรัมต่อไร่ ในตลาดนั้นมีความต้องการเมล็ดพันธุ์ค่อนข้างสูง โดยราคาซื้อขายเมล็ดครามอยู่ที่กิโลกรัมละ 400-500 บาท เป็นอีกหนึ่งช่องทางเสริมรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ดีกว่าทิ้งร่องหม่อนให้ว่างเปล่า นอกจากนั้นการปลูกครามแซมในร่องหม่อนยังมีข้อดี คือ สามารถช่วยตัดปัญหาเรื่องวัชพืชในแปลงหม่อน และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืชลงได้อีกด้วย