การปลูกในปีแรก ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ทุกๆ 2-3 วัน/ครั้ง

เมื่อย่างเข้าปีที่ 2 หลังหมดฤดูฝน ควรงดให้น้ำเพื่อกระตุ้นให้ต้นมะขามป้อมยักษ์เกิดการสะสมอาหารที่กิ่ง ตาดอก และปล่อยให้ต้นสลัดใบทิ้ง เพื่อจำศีลในช่วงฤดูแล้ง เมื่อฝนตกจะกระตุ้นให้ต้นแตกใบ ออกดอก และติดลูกดี

หลังปลูก ควรให้ปุ๋ยเคมีสูตร 25-7-7 จำนวน 1 ช้อนชา โรยรอบทรงพุ่ม ทุกๆ 7 วัน/ครั้ง พร้อมใส่ปุ๋ยสูตรเสมอและขี้ไก่ทุก 14 วัน/ครั้ง และโรยปุ๋ยขี้ไก่พร้อมแกลบรอบทรงพุ่ม ประมาณ 1 กระสอบ และฉีดพ่นปุ๋ยน้ำทางใบ เพื่อเร่งต้นโต ผลโต สะสมตาดอกอีกทางหนึ่ง

เทคนิคปลูกเสริมราก

ครูลออ ผลิตกิ่งพันธุ์เสริมรากออกจำหน่ายแก่ผู้สนใจ ก็ได้รับความสนใจจากเกษตรกรทั่วไปอย่างกว้างขวาง เนื่องจากกิ่งพันธุ์เทคนิคเสริมราก เมื่อนำไปปลูกในปีแรก ต้นมะขามป้อมยักษ์จะมีขนาดใหญ่กว่าปกติหลายเท่า ยิ่งปลูกแบบเสริม 10 ราก แค่ปลูกในระยะเวลาเพียง 2 ปี ลำต้นมะขามป้อมยักษ์จะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 – 4 เมตรกันเลยทีเดียว

ในระยะแรก ครูลอออาศัยเรียนรู้เทคนิคการเสริมราก จากตำราวารสารการเกษตร และนำมาทดลองเสริมรากกับต้นมะขามหวานจำนวน 10 ต้น ปรากฏว่า ติดรากอยู่เพียงต้นเดียว จึงนำข้อผิดพลาดดังกล่าวมาปรับปรุง และฝึกฝนฝีมือกับไม้ผลอื่นๆ เช่น ต้นมะม่วง ต้นกระท้อน มะปราง มะยงชิด จนประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา หากใครสนใจเทคนิคเสริมรากต้นมะขามป้อมยักษ์ สูตรครูลออ ก็ทำตามได้ไม่ยาก เริ่มจากเตรียมต้นพันธุ์มะขามป้อมป่า ตามจำนวนที่ต้องการเสริมราก หลังจากนั้นให้นำต้นพันธุ์ปลูกลงดินพร้อมกับต้นพันธุ์ดีที่ต้องการปลูก 1 ต้น หลังปลูก 1 เดือน ให้นำพันธุ์ต้นป่าที่สมบูรณ์ 1 ต้น มาเสริมรากให้ต้นพันธุ์ดี ทั้งนี้เกษตรกรสามารถเพิ่มจำนวนรากได้ตามที่ต้องการ แต่ควรเว้นระยะห่างในการเสริมรากแต่ละครั้งประมาณ 1 เดือน

ครูลออแนะนำเทคนิคการเสริมราก 2 แนวทาง คือ เทคนิคแรก ใช้วิธีการเสียบยอด โดยเลือกต้นพันธุ์ดี มีตุ่มตากำลังแตก มาลิดใบทิ้งเพื่อลดการคายน้ำ จากนั้นตัดกิ่งพันธุ์ให้เหลือความยาวประมาณ 3-4 นิ้ว ทาปูนแดงที่ปลายกิ่งด้านหนึ่งเพื่อป้องกันเชื้อรา ส่วนอีกด้านเหลาให้เป็นลิ่ม ระหว่างนี้ห้ามให้นิ้วมือสัมผัสกับรอยแผล

จากนั้นนำต้นพันธุ์ป่ามาตัดยอดและผ่าลำต้น นำลิ่มกิ่งพันธุ์ดีเสียบเป็นยอด สวมกันให้พอดี แล้วใช้ผ้าเทปพันปิดแผลไว้ไม่ให้น้ำเข้า ก่อนนำถุงพลาสติกมาครอบและมัดปากถุงไว้ ประมาณ 2 อาทิตย์ ต้นพันธุ์จะเริ่มแตกยอดอ่อน รอจนกว่าต้นจะแตกใบจริงแล้วจึงค่อยถอดถุงพลาสติกออก โดยข้อควรระวังคือระหว่างกางถุงพลาสติกห้ามใช้มือเข้าไปคลี่ถุงด้านใน แต่ควรใช้วิธีสะบัดเพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งพันธุ์ติดเชื้อ

เทคนิคที่ 2 ใช้วิธีการทาบกิ่งหรือแนบกิ่ง นำต้นเพาะเมล็ดมะขามป้อมพันธุ์ป่า ลงปลูกเคียงกับต้นพันธุ์ดี กะระยะให้ต้นพันธุ์ป่าสามารถโน้มหาต้นพันธุ์ดีได้พอเหมาะ จึงใช้มีดปาดสร้างแผลต้นพันธุ์ป่าและต้นพันธุ์ดี โดยแผลของต้นพันธุ์ดีควรมีความลึกแค่ถึงเนื้อไม้ ความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว เพื่อให้แผลมีพื้นที่ในสัมผัสกันได้มากขึ้น

หลังจากนั้นใช้ผ้าเทปพันปิดแผลไว้ ประมาณ 45-60วัน เมื่อแผลติดกันแล้ว จึงค่อยแกะผ้าเทปออก ช่วงแรกที่เปิดแผล ควรใช้เชือกหรือผ้าเทปคล้องทั้ง 2 ต้น ไว้ด้วยกันก่อนเพื่อกันแผลฉีกขาดหรือต้นดีดออกจากกันเพราะแรงลม รอจนครบ 60 วัน เมื่อแผลสมานกันเป็นเนื้อเดียวแล้ว จึงค่อยแกะเชือกออกจากกัน

“ เทคนิคการปลูกแบบเสริมราก มีคุณประโยชน์หลายด้าน ได้แก่ 1 .ช่วยค้ำยันลำต้นไม่ให้ล้มง่าย 2 . มีรากเยอะ ช่วยหาอาหารได้มากขึ้น ทำให้ต้นเจริญเติบโตเร็ว 3. ลำต้นใหญ่ สามารถเลี้ยงลูกได้ดี ไม่มีปัญหาเรื่องผลร่วง 4 . ผลมะขามป้อมมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ” ครูลออกล่าวในที่สุด

ปัจจุบัน ครูลออมีบริการกิ่งพันธุ์มะขามป้อมยักษ์หลากหลายสายพันธุ์ รวมทั้งหน่อพันธุ์กล้วยยักษ์ และกิ่งพันธุ์ไม้ป่าอื่นๆ จำหน่ายแก่ผู้สนใจในราคามิตรภาพ ผู้สนใจสามารถแวะชมได้ที่ไร่มะขามป้อมยักษ์ครูลออ บ้านเลขที่ 300 หมู่ 7 ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี หรือติดต่อพูดคุยเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 088-312-6483, 098-783-3270 ได้ทุกวัน

ระยะหลังภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทั้งอากาศร้อน ฝนแล้ง โรคแมลงก็เยอะ แถมปลายปีเจอน้ำท่วมซ้ำเติมอีก ใครปลูกพืชเชิงเดี่ยว เสี่ยงต่อการขาดทุนสูงมาก หากปรับแนวคิดจากพืชเชิงเดี่ยวสู่การทำเกษตรผสมผสานที่มีหลากหลายพันธุ์พืชในแปลงเดียวกัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะช่วยกระจายความเสี่ยง เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ เพราะมีผลผลิตหมุนเวียนเข้าตลาดได้เรื่อยๆ

พ่อจันทร์ที ประทุมภา ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตร เศรษฐกิจพอเพียงปี 2554 จังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในเกษตรกรต้นแบบที่นำความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ปลูกพืชแบบผสมผสาน จนประสบความสำเร็จ สามารถปลดหนี้สินก้อนโตได้สำเร็จในปีที่ 5 แถมยังเหลือเงินออม ทำให้พ่อจันทร์ทีได้รับรางวัลชนะเลิศด้านเกษตรทฤษฎีใหม่จากการประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงครั้งที่ 1 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

ล้มเหลวสักกี่ครั้ง ก็สู้ไม่ถอย

พ่อจันทร์ที เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ทำงานเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ ด้วยความขยันหมั่นเพียร สะสมเงินทุน ตั้งตัวได้ในฐานะนักธุรกิจ มีกิจการโรงสี มีฟาร์มเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์และสุกรขุน ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างดีในขณะนั้น ต่อมามีเพื่อนมาชวนพ่อจันทร์ทีทำอาชีพนายหน้าจัดหาแรงงานไปทำงานต่างประเทศ พ่อจันทร์ทีเรียกเก็บเงินจากแรงงานส่งให้เพื่อน จำนวน 250,000 บาท เพื่อเป็นค่าประกันและค่าทำวีซ่า ปรากฏว่าเพื่อนโกงเงินไป ทิ้งให้พ่อจันทร์ทีแบกรับภาระหนี้สินทั้งหมด

“ผมเสียใจมาก จนอยากฆ่าตัวตาย แต่ภรรยาผม (แม่สำเภา ศรีนนท์นาม) เตือนสติว่า ฆ่าตัวตายไป ลูกหลานจะกลายเป็น “แพะรับบาป” แทน ทำให้ผมฮึดสู้ใหม่อีกครั้ง ผมยอมขายทรัพย์สินและจำนองที่ดินเพื่อนำเงินล้างหนี้สินก้อนดังกล่าว ผมยอมเปลี่ยนอาชีพจากนักธุรกิจ มาเป็นแรงงานรับจ้างรายวัน ยอมทำงานทุกอย่าง เพื่อให้มีเงินรายได้เลี้ยงดูครอบครัวต่อไป” พ่อจันทร์ที กล่าว

พ่อจันทร์ที โชคดีที่ได้มิตรแท้น้ำใจดี ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ชวนเขาไปคุมงานก่อสร้างที่ประเทศสิงคโปร์ ในช่วงระยะเวลา 1 ปี พ่อจันทร์ทีทุ่มเทแรงกายแรงใจตั้งใจทำงาน ประหยัดอดออม จนสามารถเก็บเงิน 150,000 บาท ติดมือกลับเมืองไทย เพื่อนำมาไถ่ถอนที่นาที่ติดจำนอง และเริ่มต้นทำอาชีพเกษตรกรรมใหม่อีกครั้ง

แม้จะได้ที่นาคืนมา แต่พ่อจันทร์ทีขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน จึงกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 5,000 บาท มาลงทุนทำเกษตร ครอบครัวเขามีรายได้จากการทำเกษตร พออยู่ได้ไปวันๆ ก้าวเข้าสู่ปีที่สอง ถึงเวลาต้องจ่ายดอกเบี้ย ธ.ก.ส. ปรากฏว่า เงินขาดมือ จำเป็นต้องกู้หนี้นอกระบบ หนี้สินมีแต่เพิ่มพูน แต่ยังหาทางปลดหนี้ไม่ได้

พ่อจันทร์ที มีโอกาสไปศึกษาดูงานเกษตรผสมผสานของ “พ่อผาย สร้อยสระกลาง” ปราชญ์ชาวบ้าน ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ พ่อจันทร์ทีเกิดความประทับใจ จึงเริ่มต้นทำการเกษตรแบบผสมผสาน เมื่อปี 2534 เนื่องจากขาดแคลนเงินทุน จึงต้องใช้แรงงานในครอบครัวทำงานขุดสระน้ำ เนื้อที่ 2 งาน ด้วยมือ โดยใช้เวลาขุดสระนานถึง 3 เดือน จึงสามารถเก็บกักน้ำสำหรับใช้ในไร่นาได้ตามความต้องการ พ่อจันทร์ทีปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก แต่ยังมีรายได้ไม่มาก

ตามรอยพ่อ กับเกษตรทฤษฎีใหม่

พ่อจันทร์ที ได้พัฒนาต่อยอดการเรียนรู้เรื่องการทำเกษตร โดยไปศึกษาเรื่องหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมการพัฒนาชุมชน จนเข้าใจหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำมาปรับใช้ในไร่นาสวนผสมของตัวเอง ในช่วงปี 2540-2541 จนเกิดรายได้ที่ยั่งยืน ปลดหนี้สินได้สำเร็จ

พ่อจันทร์ที ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อยู่บนหลักความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน โดยยึดหลักความพอประมาณ ให้ครอบครัวพอมีพอกินก่อน ปลูกอะไรก็กินสิ่งนั้น ทำให้มีกินมีใช้ในครอบครัว ลดต้นทุนการผลิต ไม่ต้องพึ่งปัจจัยภายนอก ยึดหลักความรู้คู่คุณธรรม มีใจนักสู้ไม่ย่อท้อต่อความลำบาก มีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำให้มีครอบครัวที่อบอุ่น

ที่ดินทำกิน จำนวน 22 ไร่ ของพ่อจันทร์ทีถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แบ่งที่ดิน 2 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย ทำนาปลูกข้าวอินทรีย์ 10 ไร่ อีก 10 ไร่ ใช้ปลูกพืชผสมผสานตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ หัวใจสำคัญของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ อยู่ที่ “แหล่งน้ำ” พ่อจันทร์ที ลงทุนขุดสระน้ำกว่า 10 บ่อ เก็บกักน้ำสำหรับใช้เพาะปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย พืชสมุนไพร เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ และปลา ผลผลิตที่ได้ใช้บริโภคก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ให้พึ่งพาตัวเองได้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่ว่า “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ”

“ก่อนปลูก ผมไปสำรวจตลาดก่อนว่า ผู้ซื้อต้องการอะไร จึงค่อยปลูกพืชผักผลไม้ที่ตลาดต้องการ เมื่อผลผลิตออกขาย แม่ค้าปฏิเสธการรับซื้อ โดยอ้างว่า มีแหล่งผลิตที่ส่งขายให้ประจำอยู่แล้ว แต่ผมตัดสินใจขายผลผลิตเอง พืชผักผลไม้ทุกชนิดปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ พืชผักสดมีคุณภาพดี โดยตั้งราคาขายต่ำกว่าท้องตลาด เพื่อเรียกลูกค้า ปรากฏว่าสินค้าขายดีมาก มีกลุ่มลูกค้าขาประจำเกิดขึ้นมากมาย” พ่อจันทร์ที กล่าว

วิธีเพาะต้นกล้าผักหวานป่า

ผักหวานป่า กับ ยางนา ต้นผักหวานป่ากับตะขบ สามารถอยู่ร่วมกันได้ พ่อจันทร์ทีเก่งในเรื่องการเพาะต้นกล้าผักหวานป่า สร้างรายได้จากการขายพันธุ์ต้นผักหวานป่าได้เป็นกอบเป็นกำ พ่อจันทร์ที แนะนำเทคนิคเพาะต้นกล้าผักหวานป่าว่า สิ่งจำเป็นที่ต้องเตรียม ได้แก่ เมล็ดผักหวานป่าที่สุกแล้ว (การเก็บเมล็ดผักหวานป่า สามารถเก็บได้ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ปุ๋ยคอก แกลบดิบ แกลบดำ ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ดินร่วน ถุงเพาะ ขนาด 3×7 นิ้ว และแผ่นผ้ายาง

การเพาะปลูกผักหวานป่า เริ่มจาก นำปุ๋ยคอก แกลบดิบ แกลบดำ และดินร่วน มาผสมให้เข้ากัน ในอัตรา 1 ต่อ 1 นำปุ๋ยน้ำชีวภาพ 1 ลิตร ผสมน้ำ 10 ลิตร คนให้เข้ากัน รดกองปุ๋ยหมักที่เตรียมไว้ นำถุงเพาะที่เตรียมไว้นำดินกรอกใส่ให้เต็ม นำผ้ายางปูพื้นรองวางถุงเพาะต้นกล้าผักหวานป่า

วิธีการเพาะเมล็ดผักหวานป่า ให้นำเมล็ดผักมาบีบให้เปลือกแตกออกเหลือแต่แกน นำมาคลุกปูนขาวเพื่อป้องกันเชื้อราและแมลง แล้วจึงนำไปปลูกในถุงเพาะที่เตรียมไว้ โดยวางเมล็ดเพียงครึ่งแกนเมล็ดไม่ต้องกลบให้มิด และรดน้ำ ผักหวานป่าไม่ชอบน้ำขัง และห้ามรดน้ำบริเวณใบ ให้รดน้ำบริเวณราก และไม่ควรใช้สารเคมีใดๆ ทิ้งไว้ 3-7 วัน เมล็ดจะแตกคล้ายถั่วงอก หลังจากนั้น ทิ้งไว้ 30-40 วัน เมล็ดถึงจะแทงยอดขึ้นบนดิน ผักหวานป่าเมื่อแตกใบ 4-5 ใบ ก็สามารถขายต้นกล้าได้ โดยจะขายส่งราคา ต้นละ 15 บาท ขายปลีก ต้นละ 20 บาท ผักหวานป่าเมื่อมีอายุ 2-3 ปี ก็สามารถเก็บผลผลิตเพื่อนำมารับประทานหรือจำหน่ายได้

สร้างผืนป่าในไร่นา

พ่อจันทร์ที ทำแปลงเกษตรแบบประณีต บนเนื้อที่ 1 ไร่ ภายใต้แนวคิด “สร้างผืนป่าในไร่นา” เพื่อเป็นตัวอย่างของการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปรับคันนาให้ใหญ่ขึ้น ปลูกพืชสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจหลากหลายบนคันนา จากเดิมที่เคยเป็นผืนนาที่แห้งแล้ง ใช้เวลาแค่ปีเดียว กลายเป็นป่าธรรมชาติที่มีความสมดุลทางธรรมชาติ มีเห็ดป่าหลากหลายชนิด ทั้งเห็ดระโงกขาว เห็ดระโงกเหลือง เห็ดโคน ฯลฯ ให้เก็บกิน เก็บขายได้ตลอดทั้งปี

พืชผักสวนครัว ใช้บริโภคในครัวเรือน เหลือกินก็ส่งขายตลาด สร้างรายได้เข้ากระเป๋าได้ทุกวัน บ่อน้ำใช้เก็บกักน้ำและเลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ขายสร้างเงินรายเดือน ส่วนเงินรายปีมาจากการขายข้าว ผลไม้ และการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิต ประเภท มะพร้าว กล้วย เสาวรส สร้างรายได้ทะลุหลักหมื่นต่อเดือน ส่วนไม้ยืนต้น เช่น ต้นยางนา ที่ปลูกไว้รอบคันนา เป็นเงินออมวัยเกษียณและเป็นมรดกให้ลูกหลาน พ่อจันทร์ทีปลูกและขยายพันธุ์ต้นยาง นาเอง ใช้เงินลงทุนไม่ถึง 10 บาท ผ่านไป 20 ปี เมื่อตัดไปขาย สร้างรายได้ 15,000 บาท ต่อต้น ทีเดียว

“เมื่อก่อนผมเคยทุกข์ยากลำบากเพราะแบกหนี้สินก้อนโตจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่หลังจากปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตน้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ทำเกษตรผสมผสาน ก็ประสบความสำเร็จ สามารถปลดหนี้สินและเกิดรายได้ที่ยั่งยืน ความสุขในชีวิตของผมในวันนี้คือ เปิดบ้านเป็นศูนย์ฝึกอบรมเกษตรผสมผสานบ้านโนนรังบูรพา เพื่อถ่ายทอดความรู้ ให้ประชาชนที่สนใจได้เรียนรู้เรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนแนวความคิด รู้จักพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองในชุมชน เพื่อปลดหนี้ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนเช่นเดียวกับผม” พ่อจันทร์ที กล่าวในที่สุด

ปัญหาโรคและแมลง คือ อุปสรรคสำคัญของการปลูกแตงกวา แถมระยะหลังเมืองไทยมีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้เกิดโรคแมลงมากขึ้น ในช่วงหน้าร้อน เช่น โรคไวรัส โรคราน้ำค้าง ทำให้ต้นแตงกวาเกิดอาการใบเหลือง แห้งเหี่ยว ผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ในช่วงอากาศร้อนมากๆ เพศของดอกจะกลายเป็นตัวผู้ ทำให้ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้

บริษัท เจียไต๋ จำกัด ผู้นำธุรกิจเมล็ดพันธุ์อันดับหนึ่งของประเทศไทย ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้พัฒนา “แตงกวาพันธุ์ไฮโซ” เป็นสินค้าทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกร โดยแตงกวาพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นในเรื่อง ความแข็งแรงต้านทานโรคไวรัส ทนอากาศร้อนได้อย่างดีเยี่ยม ให้ผลผลิตที่คุ้มค่า สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรให้มีรายได้สูงขึ้น เหมาะสำหรับปลูกเชิงการค้า

นักวิจัยของเจียไต๋ใช้เวลาทดลองปรับปรุงแตงกวาพันธุ์ไฮโซมากว่า 2 ปี ทดลองปลูกในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพราะเป็นพื้นที่ที่นิยมปลูกแตงกวาเป็นอย่างมาก ซึ่งพบว่าแตงกวาพันธุ์นี้แม้ว่าอากาศจะร้อนจัด ก็สามารถยังให้ผลผลิตที่ดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และยังให้ขนาดมาตรฐาน

แตงกวาไฮโซ มีขนาดผลยาวประมาณ 11 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.8 เซนติเมตร ผลตรงเรียวสวย ไม่งอ การไล่สีของผลเป็นสีขาวเขียวสวยงาม เนื้อแน่นและกรอบ ภายหลังจากที่ได้ให้เกษตรกรทดลองปลูกในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรบางรายสามารถขายผลผลิตได้ กิโลกรัมละ 20 บาท ถือเป็นราคาที่สูงมากสำหรับในช่วงหน้าแล้ง

ขั้นตอนการปลูกแตงกวา

เริ่มจาก เตรียมแปลงปลูกขนาด 1 เมตร โดยระยะห่างระหว่างแปลงยาว 1 เมตร ให้เสร็จก่อนการเพาะเมล็ด วางสายน้ำหยด 2 เส้น ต่อแปลง ก่อนปูแปลงด้วยมัชชิ่งฟิล์ม เจาะหลุมปลูก ให้มีระยะระหว่างต้น 50 ซม. และระยะระหว่างแถว 60 ซม. (จะวัดจากขอบแปลงทั้งสองด้านเข้ามา ด้านละ 20 ซม.) ปักไม้ทำค้าง ตามระยะระหว่างต้น แล้วผูกไม้ค้างเข้าหากัน ทำเป็นลักษณะของกระโจม เชื่อมแกนกลางด้วยไม้ยาว วางตลอดทั้งแนว

การเตรียมเพาะเมล็ด

แนะนำให้เกษตรกรเพาะเมล็ดในวัสดุปลูก คือ พีทมอสส์สีส้ม (แบบละเอียด) รดน้ำให้ชื้น แต่ไม่ให้แฉะ เพราะอาจทำให้รากเน่าได้ หลังการเพาะต้นกล้าแตงกวาประมาณ 7-9 วัน หรือดูที่มีใบจริง ใบแรกโผล่ออกมาให้เห็น ก็เตรียมย้ายลงแปลงปลูกได้เลย โดยปลูกหลุมละ 2 ต้น คลุมแปลงปลูกด้วย spun ball เพื่อกันแมลง และในช่วงฤดูที่ฝนตกหนัก ทั้งนี้เพื่อ ป้องกันลำต้นหัก เมื่อฝนตกรุนแรงได้

การดูแลรักษา

หลังจากย้ายกล้าแตงกวาลงแปลงแล้ว ควรให้ปุ๋ย โดยใช้วิธีเดินรดไปตามต้น หรือให้ปุ๋ยละลายไปพร้อมกับการให้น้ำ ในช่วงแรกของต้นกล้าจะให้ปุ๋ยวันเว้นวัน ควรฉีดสารเคมี เพื่อป้องกันโรคราน้ำค้าง และสารเคมีป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟกับแมลงหวี่ขาว ซึ่งแมลงทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคไวรัส การป้องกันจะเน้นหนักมากในช่วงแรกก่อนที่จะถอด spun ball ออก

ในช่วงเวลา 2 อาทิตย์ หลังจากย้ายต้นกล้า แตงกวาจะโตขึ้นมาก ถอด spun ball ออก จากนั้น ผูกต้นแตงกวาขึ้นกับค้างที่ได้เตรียมไว้แล้ว จากหลุมละ 2 ต้น ให้เลือกผูกเพียง 1 ต้น โดยพิจารณาจากความสมบูรณ์ของต้นเป็นหลัก จากนั้น ตัดต้นที่เหลือทิ้ง เมื่อผูกทุกต้นขึ้นค้างแล้ว จะเริ่มมีการตัดแต่งแขนงแตงกวาได้ ทั้งนี้ การตัดแต่ง ควรเริ่มทำตั้งแต่เห็นส่วนที่เป็นแขนงใน ข้อที่ 1-5 นับจากโคนต้นขึ้นมา สามารถสกิดออกได้เลย และจะเริ่มไว้แขนงได้ตั้งแต่ ข้อที่ 6 เป็นต้นไป

เมื่อต้นแตงกวาโตขึ้น จะต้องมีการผูกยอดให้ติดแนบกับค้าง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการปะทะกับลมที่แรงๆ โดยตรง ซึ่งจะทำให้ต้นหัก นอกจากนี้ จะทำให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต และโอกาสในการเก็บหลงก็จะลดน้อยลง การผูกยอด ควรหยุดผูกเมื่อต้นแตงกวาโตถึงยอดค้าง

การแต่งแขนงต้นแตงกวา จะทำตั้งแต่ ข้อที่ 6 ขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งต้นแตงกวาเจริญเติบโตจนถึงยอดค้าง การแต่งแขนงมีผลดี คือ ทำให้ลูกที่ได้มีลูกดีเป็นจำนวนมาก ลูกที่ตกเกรดจะลดน้อยลง ยิ่งแต่งแขนงเร็วเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีต่อต้นแตงกวามากขึ้นเท่านั้น ตลอดอายุของแตงกวา ควรให้ปุ๋ย เพื่อบำรุงต้นและผล ร่วมกับการฉีดสารเคมีป้องกันและกำจัดโรคและแมลงด้วย

เมื่อแตงกวาอายุได้ประมาณ 30 วัน ก็เริ่มติดผลให้ผลผลิตได้ และสามารถเก็บได้ทุกวันต่อเนื่องกันไปจนประมาณ 20-25 มีด เนื่องจากว่าเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้พื้นที่เดิมปลูกแตงกวาตลอดทั้งปี อาจทำให้พื้นที่ดังกล่าวขาดแคลนแร่ธาตุที่จำเป็นบางอย่างของแตงกวาลงไปได้ ดังนั้น ควรมีการเพิ่มธาตุอาหารรองลงไปด้วย

การป้องกันกำจัดโรคและแมลง

โรคที่สำคัญของแตงกวา ได้แก่ โรคราน้ำค้าง และโรคไวรัส สำหรับโรคราน้ำค้าง สามารถป้องกันตั้งแต่ระยะแรกๆ ด้วยการฉีดสารเคมี สารเคมีที่ใช้ ได้แก่ โนมิวดิว เท็นเอ็ม และบาวีซาน ในบางครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน จะใช้วิธีการผสมสารเคมีเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับสูตรที่ใช้ร่วมกัน คือ โนมิวดิวร่วมกับเท็นเอ็ม

สำหรับโรคไวรัส ยังไม่มีสารเคมีตัวใดที่สามารถกำจัดโรคไวรัสได้ Royal Online แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการกำจัดแมลงที่เป็นพาหะของโรค ได้แก่ เพลี้ยไฟ และแมลงหวี่ขาว สารเคมีที่ใช้ ได้แก่ สกาย คอมโบ น็อคไดน์35 ชอสแมค ไดเมทโธเอท และไดทาฟอส และสูตรที่นิยมใช้ร่วมกัน คือ สกายร่วมกับคอมโบ ไดทาฟอสร่วมกับชอสแมค หรือน็อคไดน์35 ร่วมกับชอสแมค เป็นต้น

ทั้งนี้เกษตรกรควรใช้สารเคมีกำจัดโรคแมลง ตามสัดส่วนที่กำหนดบนฉลากของสารเคมีแต่ละชนิด โดยคำนึงถึงอายุของแตงกวาร่วมด้วย หากต้นแตงกวามีอายุน้อย ควรปรับลดปริมาณสารที่ใช้ลง และการฉีดสารเคมีตัวเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกในที่เดิม อาจมีผลต่อการดื้อยาได้ ดังนั้น เกษตรกรควรสลับการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดโรคและแมลงด้วย

สำหรับเกษตรกรที่สนใจเมล็ดพันธุ์ “แตงกวาพันธุ์ไฮโซ” สามารถติดต่อหาซื้อได้ที่ตัวแทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของเจียไต๋ทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-810-3031 จังหวัดไหนๆ ก็ต้องมีไม้ผลของดีประจำจังหวัด ผลผลิตคุณภาพโดดเด่น สร้างงานและเงินให้กับเกษตรกรในจังหวัดอย่างน้อย 2-3 ชนิด จังหวัดมหาสารคามเอง เป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน ที่อาจมองไม่เห็นความเด่นของไม้ผลชัดมากนัก เพราะความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก สภาพภูมิอากาศ ไม่เอื้ออำนวยเท่าไร เมื่อหากย้อนรอยไป 2 ปี ที่ผ่านมา “เมล่อน” ไม้ผลตระกูลแตง เริ่มมีเสียงกล่าวถึงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

พื้นที่ 14 ไร่ ไม่นับว่ามาก หากใช้เป็นโรงเรือน โรงปรับปรุงพันธุ์ ของไม้ผลสักชนิด แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของ เทพมงคล ฟาร์ม หรือ บริษัท เทพมงคลเมล็ดพันธุ์ จำกัด ที่เพิ่งเปิดตัวทำฟาร์มเมล่อน ติดตั้งโรงเรือน และระบบน้ำหยด ให้เมล่อนคุณภาพดี เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา เพราะนับตั้งแต่ผลผลิตเมล่อนรุ่นแรกที่ได้ ก็ขึ้นห้างวางขายในราคากิโลกรัมละไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยบาท

คุณมงคล ธราดลธนสาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทพมงคลเมล็ดพันธุ์ จำกัด หนุ่มไฟแรงที่เพิ่งผ่านการศึกษาจากสาขาพืชผัก ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มากว่า 10 ปีก่อน หลังจบการศึกษาก็เข้าทำงานตำแหน่งนักส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ ของบริษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ชื่อดังแห่งหนึ่ง และเป็นโอกาสดีที่ทำให้ตลอดระยะเวลาการทำงาน ได้ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การเก็บเมล็ดพันธุ์ การปรับปรุงพันธุ์ รวมถึงการเดินทางไปส่งเสริมยังต่างประเทศหลายประเทศ ทำให้มีโอกาสเก็บเมล็ดพันธุ์เมล่อน และพืชผัก ผลไม้ ชนิดอื่น ติดมือกลับมาด้วย