การมาซื้อต้นไม้ที่ตลาดคำเที่ยง แนะนำให้ขับรถเข้าทางเทสโก้

โลตัส-ตลาดคำเที่ยง ออกทางด้านหลังก็จะเจอกับตลาดคำเที่ยง หรือจะเข้าทางถนนที่เลยเทสโก้ โลตัส ไปเลี้ยวซ้ายเข้าไปเจอสามแยกไฟแดงก็เลี้ยวซ้าย สัก 100 เมตรก็เลี้ยวขวาเลาะข้างห้างเทสโก้ โลตัสไป สามารถขับรถไปจอดได้ที่หน้าร้านทุกร้าน ซื้อเสร็จก็ยกใส่รถได้เลย สินค้าก็ราคาถูกมาก ผู้เขียนเคยสอบถามราคากระถางพลาสติกสีดำขนาด 12 นิ้ว ที่พะเยาขาย 25 บาท แต่ที่ตลาดคำเที่ยงขายเพียง 15 บาทไม่เกินนี้ กาบมะพร้าวสับพะเยาขาย 120-150 บาท ที่ตลาดคำเที่ยงขายไม่เกิน 100 บาท กล้าไม้ดอกไม้ประดับถุงเล็กๆ ราคาไม่เกินถุงละ 2 บาท หลายคนอาจจะเถียงว่าค่าขนส่งแพง แต่ถ้าเราไปธุระอย่างอื่นแล้วเลยไปซื้อก็ถือว่าถูก หรือรวมกันหลายๆ คนจำนวนมากๆ ก็จะคุ้มค่า

ถ้ามีโอกาสไปจังหวัดเชียงใหม่แนะนำไปเที่ยวชมหรือเลือกซื้อต้นไม้หลากหลาย รวมถึงสัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์การเกษตร เพื่อทำสวนผลไม้ สวนไม้ดอกไม้ประดับเพื่อชื่นชมความสวยงาม ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เชิญแวะตลาดคำเที่ยง ได้เลยครับท่าน

สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้พอใจราคาคละหน้าฟาร์ม แตะ 3 บาท/ฟอง ชี้เกษตรกรอยู่ได้-ผู้บริโภครับได้ แนะบางกลุ่มรู้จักพอ ถ้าไม่อยากเจอวังวนราคาตกต่ำอีก
นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ เปิดเผยว่า ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกรในปัจจุบันอยู่ที่ฟองละ 3.00 บาท เป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ หลังจากเกษตรกรแบกรับภาวะขาดทุนมานานร่วม 2 ปี ขณะเดียวกัน ก็เป็นราคาที่ผู้บริโภครับได้ ถือเป็นจุดสมดุลของราคาไข่ที่ควรสร้างให้มีเสถียรภาพเช่นนี้ต่อไปอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือร่วมใจแก้ปัญหาของภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไข่

อย่างไรก็ตาม ในทุกวงการย่อมมีคนหลายประเภทปะปนกันอยู่ ขณะที่ราคาไข่มีความเหมาะสมแล้วก็ยังมีคนบางกลุ่มต้องการขอขยับราคาไข่ไก่ขึ้นอีก ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว

“ขอให้เอ้กบอร์ด กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ อย่าใจอ่อนกับคนกลุ่มเล็กๆ ผมเองก็เป็นเกษตรกร เข้าใจดีว่าใครๆ ก็อยากมีรายได้เพิ่มกันทั้งนั้น แต่การขอขึ้นราคาไข่ไปเรื่อยๆ อาจส่งผลกระทบในภาพรวม เช่น ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน และจะจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มจำนวนไก่ที่เลี้ยงกระทั่งส่งผลให้ปริมาณไข่ล้นตลาดอีกครั้ง กลายเป็นวังวนของวัฎจักรราคาไข่ตกต่ำอีกรอบ เราร่วมกันแก้ปัญหามาถึงปัจจุบันที่พอมีราคาขายพ้นต้นทุนมาได้ก็น่าพอใจแล้ว ความเจ็บปวดที่ต้องขายไข่ขาดทุนมันฝังใจเราไม่อยากกลับไปเผชิญกับมันอีก”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องประสบภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่องนานนับ 2 ปี ส่งผลให้หลายรายติดหนี้ ไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้สิน และบางรายถึงกับต้องขายสินทรัพย์ เลิกอาชีพไป จึงเป็นที่มาของการระดมทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนำทีมโดยรมว.เกษตรฯ เอ้กบอร์ด ผู้ประกอบการภาคเอกชน และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศ ตลอดจนกระทรวงพาณิชย์และผู้บริโภคที่เข้าใจและเห็นใจเกษตรกร กระทั่งมีผลลัพธ์ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ สามารถดึงราคาไข่ขึ้นให้เกษตรกรพ้นขาดทุนได้แล้วอย่างสมดุล นับแต่นี้ไปจึงควรรักษาเสถียรภาพราคาไข่ให้นิ่ง ไม่ให้กลับไปสู่วังวนเช่นเดิมอีก

ปัจจุบัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ (smartphone) กลายเป็นอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติความสามารถหลากหลาย การใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่น หรือเรียกสั้นๆ ว่า “แอป” โทรศัพท์เคลื่อนที่มีระบบทำงานแบ่งเป็น 2 ค่ายใหญ่ๆ คือ ระบบไอโอเอส (iOS) บนโทรศัพท์ไอโฟน ของ บริษัท แอปเปิ้ล และระบบแอนดรอยด์ (Android) ของ บริษัท กูเกิ้ล ที่ถูกใช้บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้ออื่นๆ ทำให้ผู้พัฒนาแอปต้องคำนึงว่าจะให้ผู้ใช้งานบนระบบหนึ่งระบบใดหรือทั้งสองระบบ

จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้ เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์และข้อมูลข่าวสารจากแอปต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่องานด้านเกษตรกรรม โดยผู้เขียนจะขอแนะนำตัวอย่าง ดังนี้

แอปแรก คือ “ฟาร์ม D” ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นแอปที่เกษตรกรสามารถใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี เพื่อการวิเคราะห์วางแผนในการสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสมได้ด้วยตนเอง แอป “ฟาร์ม D” (D มาจาก Design หรือการออกแบบ) ใช้แนวคิดการจัดการฟาร์ม (Farm Management) มาเป็นพื้นฐานในการพัฒนา มีการนำข้อมูลราคาผลผลิตสินค้าเกษตร ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และผลตอบแทนสุทธิสินค้าเกษตรในแต่ละจังหวัด มาวิเคราะห์วางแผนการผลิต

เมื่อเกษตรกรเลือกผลิตสินค้าเกษตรประเภทใดบนจำนวนพื้นที่ของตนเองที่มีอยู่ แอปจะแสดงผลปฏิทินการผลิต รายละเอียดประกอบด้วย สินค้าที่เกษตรกรเลือก ต้นทุนการผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิตรวม และผลตอบแทนสุทธิรวม เกษตรกรจะได้แผนการดำเนินงานตลอดทั้งปี แม้เบื้องต้นจะยังไม่ครอบคลุมปัจจัยอื่นๆ เช่น เงินทุน แรงงาน เป็นต้น แต่ผู้เขียนเห็นว่าแอปนี้ยังคุ้มค่าต่อการทดลองใช้ เพื่อจะได้มีข้อเสนอแนะให้กับทีมพัฒนาเพื่อปรับปรุงต่อไป

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นของระบบแอนดรอยด์และคู่มือ ได้ที่ http://www.oae.go.th/view/1/OAE_Farm_D/TH-TH และขณะนี้อยู่ในระหว่างพัฒนาระบบไอโอเอส ให้สามารถใช้งานได้

แอปต่อไป ชื่อ “Plantix” เป็นแอปที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทสัญชาติเยอรมัน ที่แพร่หลายไปกว่า 155 ประเทศ ทำหน้าที่เสมือนเป็นห้องแล็บเคลื่อนที่ เพื่อใช้วินิจฉัยโรคที่เกิดกับพืช ความเสียหายจากศัตรูพืช การขาดสารอาหาร และแนะนำมาตรการดูแลรักษา ผู้ใช้งานเพียงถ่ายรูปความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับพืชที่ปลูกทุกซอกทุกมุม จากนั้นระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ในแอปจะทำหน้าที่นำรูปภาพเหล่านั้นไปประมวลผลจากฐานข้อมูล เพื่อคาดการณ์ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร พร้อมแนะนำวิธีแก้ไข ดังนั้น หากมีการใช้แอปนี้มากๆ ฐานข้อมูลจะยิ่งกว้างและลึก จะทำให้การวิเคราะห์ได้ถูกต้องและแม่นยำสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีชุมชนออนไลน์ที่คอยช่วยเหลือในการตอบคำถามให้กับผู้ใช้งานที่ประสบปัญหาอีกด้วย

แอปนี้สามารถใช้งานได้ฟรี โดยผู้พัฒนามีปณิธานว่า จะให้คงสถานะแบบนี้ไว้ ถือว่าเป็นคุณูประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ใช้งานทั่วไป ขณะนี้ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดผ่านระบบแอนดรอยด์ได้เท่านั้น และสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ https://plantix.net/community/en

สำหรับแอปที่ถูกพัฒนาเพื่อเกษตรกรโดยเฉพาะ คือ “Farmbook” ของกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นสมุดทะเบียนเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้แทนสมุดทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) ช่วยอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปรับปรุงตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานเกษตรอำเภอ

เกษตรกรสามารถใช้แอปนี้แทนเอกสารยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัล เพื่อรับสิทธิประโยชน์และเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เกษตรกรสามารถใช้ รับข้อมูลข่าวสารและตรวจสอบข้อมูลกิจกรรมด้านการเกษตรบนแผนที่แบบออนไลน์ รวมถึงการตรวจสอบสิทธิเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือในกรณีประสบภัยพิบัติ หรือตามมาตรการแก้ปัญหาอื่นๆ ของภาครัฐ

ข้อมูลในแอปประกอบด้วย 9 ด้าน คือ

ข้อมูลพื้นฐานครัวเรือน
สมาชิกในครัวเรือนและการเป็นสมาชิกองค์กร
การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งที่เป็นของตนเอง ที่ดินเช่า ประเภทเอกสารสิทธิ เลขที่เอกสาร และเนื้อที่ตามเอกสาร
การประกอบกิจกรรมการเกษตร โดยระบุรายละเอียดของประเภทกิจกรรมการเกษตร วันที่และเนื้อที่ปลูก และวันที่และเนื้อที่ที่จะเก็บเกี่ยว
การเข้าร่วมโครงการภาครัฐ
รายได้
หนี้สิน
เครื่องจักรกลการเกษตร และ
แหล่งน้ำ ซึ่งจะรวบรวมอยู่ในฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร ยังมีแอป ชื่อ “Farmcheck” ที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับเกษตรกรผู้สนใจข่าวสารและองค์ความรู้ด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาตนเองและประกอบอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และมีตลาดรองรับ แอปจะส่งข่าวสารด้วยระบบแจ้งเตือน (Notification) เช่น

– การแจ้งเตือนข่าวสารโรคพืช ภัยแมลง และภัยธรรมชาติ

– ข้อมูลแหล่งผลิตพืชจากระบบฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร มากกว่า 400 ชนิด ทั่วประเทศ

– การวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่เกษตรกรรม โดยใช้ข้อมูลพิกัดตำแหน่ง (Geolocation) ของเครื่องผู้ใช้งานประมวลผลกับฐานข้อมูลผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัลของกรมส่งเสริมการเกษตร ให้ข้อมูลคำแนะนำการเพาะปลูกที่เหมาะสมของแปลงเพาะปลูก

– ข้อมูลสถานที่รับซื้อผลผลิตการเกษตรทั่วประเทศ

– องค์ความรู้ด้านการส่งเสริมการเกษตรที่กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้แนะนำ

ผู้สนใจ สามารถดาวน์โหลดแอปได้ทั้งระบบแอนดรอยด์และไอโอเอส และหากต้องการคู่มือการใช้งาน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://digital.doae.go.th/home/download.html

ผู้เขียนเชื่อว่า หากมีการโฆษณาเผยแพร่และรณรงค์ให้มีการใช้งานแอปเหล่านี้อย่างกว้างขวางจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เพราะจะช่วยลดความสูญเสียจากการลองผิดลองถูก เพิ่มคุณภาพและปริมาณของผลผลิต ทั้งนี้ ต้องขอบคุณหน่วยงานของรัฐที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำเกษตร โดยการพัฒนาแอปที่เหมาะสมกับคนไทย และหากมีกรณีตัวอย่างที่เกษตรกรนำแอปไปใช้งานจริง หรือการออกไปอบรมแนะนำวิธีการใช้งาน ก็จะทำให้ได้รับความนิยมยิ่งขึ้น

สวัสดีครับ ฉบับนี้ขอพาท่านไปพบกับคนที่ประสบความสำเร็จกับธุรกิจ มีครอบครัวที่อบอุ่น ธุรกิจที่มั่นคงแต่ก็ยังนำพาชีวิตให้ก้าวหน้าต่อไปในทางสายอื่นๆ โดยยึดเอาแนวทางคำสอนของพ่อ พระราชดำรัสที่นำมาซึ่งชีวิตที่พอเพียง โดยไม่ต้องรอให้ธุรกิจไปไม่รอดแล้วจึงหันมาทำเกษตรตามแนวคำสอนของพ่อ แต่ขอลงมือทำจริง ไม่มัวนั่งฝอยแต่ทฤษฎีเพื่อพิสูจน์ว่านี่คือคนจริง ของจริง จะเป็นอย่างไร น่าสนใจขนาดไหน ตามไปชมกันเลยครับ

ที่ดินแดนยุทธหัตถี “ดอนดีฟาร์ม” พาท่านมาพบกับ คุณสง่า มีปลอด และ คุณฉันทนา หอมจันทร์ ที่บ้านเลขที่ 89/1 หมู่ที่ 4 ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

“ผมกับแฟนทำธุรกิจเสื้อผ้าอยู่ที่กรุงเทพฯ มานานจนถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักในแวดวงเสื้อผ้าขายส่ง แต่เมื่อ 4 ปีที่แล้วเรามานั่งคิดดูธุรกิจของเราประสบความสำเร็จก็จริงแต่เราก็ยังไม่ได้เดินตามฝัน ยังไม่ได้ทำในสิ่งที่เรารักจริงๆ นั่นคือการเลี้ยงสัตว์ ทำสวน ผมก็ไปศึกษาแนวคิด พระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง ก็เกิดแรงจูงใจอยากจะลงมือทำเกษตร พอดีในช่วงนั้นเราได้ไปเที่ยวรีสอร์ตที่อำเภอสวนผึ้ง ราชบุรี ก็รู้สึกว่าแบบนี้นี่แหละที่เราชอบ”

เมื่อได้ข้อสรุป ทั้ง 2 ท่านจึงกลับมาลงทุนทำรีสอร์ตและเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ที่บ้านของคุณฉันทนา ในอำเภอพนมทวน โดยตั้งชื่อว่า ดอนดีฟาร์มแกะ ที่เป็นทั้งที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรและฟาร์มที่มีกิจกรรมหลากหลาย ทั้ง ขี่ม้า ป้อนนมแพะแกะ ผักไฮโดรโปนิกส์ และร้านอาหาร

แพะ แกะ ธุรกิจสร้างเงินสดไปได้หลายทาง มีหลายตลาด

คุณสง่า เล่าต่อว่า ตอนเริ่มต้นทำดอนดีฟาร์มตั้งใจจะเลี้ยงแพะ แกะ เป็นหลัก เพราะมองว่าแพะ แกะไปได้หลายทาง มีหลายตลาด มันตอบสนองในเรื่องธุรกิจการท่องเที่ยวได้ ขายพันธุ์ได้ ขายเนื้อได้ จึงเริ่มจากแพะและแกะมาก่อน ตอนเริ่มต้นเราก็เริ่มเลี้ยงจากจำนวนน้อยๆ ก่อน เริ่มต้นจากแพะลูกผสมพันธุ์บอร์จำนวน 100 แม่ ส่วนแกะผมเลี้ยงพันธุ์ลูกผสมบอนด์กับพันธุ์พื้นเมือง ดอร์เปอร์กับพันธุ์พื้นเมือง แกะเริ่มต้นเลี้ยงที่ 150 แม่ จนเราเริ่มมีตลาดที่วิ่งเข้ามาหาเองทั้งตลาดเนื้อ ตลาดลูกแกะป้อนนมตามรีสอร์ตต่างๆ รวมไปถึงตลาดขายพันธุ์ที่เกษตรกรมาซื้อของเราไปเลี้ยงต่อ เราจึงขยายการเลี้ยงแพะแกะออกไป ตอนนี้มีแพะทั้งหมด 300 กว่าตัว แกะอีก 400 กว่าตัว

พูดถึงเรื่องตลาดของแพะและแกะ คุณฉันทนา เล่าว่า แพะ แกะเป็นธุรกิจเงินสดที่ซื้อง่ายขายง่าย และมีตลาดดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างการขายพันธุ์ทั้งแพะและแกะอายุ 6-7 เดือน ก็ขายออกไปเพื่อเลี้ยงไว้ทำพันธุ์ได้ ลูกแกะป้อนนมก็ราคาดี ส่วนแพะขุนก็ใช้เวลา 3 เดือน แกะขุนใช้เวลา 2 เดือนก็จับขายได้ มีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ แต่ถ้ามองที่ตลาดปลายทางคือตลาดเนื้อนั้น แพะจะมีตลาดที่กว้างกว่าและมีราคาดีกว่าแกะ เพราะแกะในบ้านเราคนนิยมบริโภคน้อยกว่าแพะ แต่ในภาพรวมแกะก็มีตลาดที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะแกะเลี้ยงง่ายกว่า ขุนให้น้ำหนักขึ้นได้เร็วกว่า ใช้เวลาขุนสั้นกว่าแพะ ต้นทุนการเลี้ยงแกะจึงต่ำกว่า

ขยายฝูงวัวลูกผสมชาโรเลส์เป็นเงินออม

คุณฉันทนา เล่าต่อไปว่า หลังจากที่เราเริ่มไปได้กับแพะ แกะ เราก็มามองว่าเรามีแปลงหญ้าอยู่เยอะทั้งหญ้าเนเปียร์ หญ้าแพงโกล่า อีกทั้งมีแรงงานที่เลี้ยงแพะ แกะอยู่แล้ว จึงสนใจและซื้อวัวเข้ามาเพิ่มเพราะคิดว่าวัวเนื้อก็มีตลาดรองรับอยู่เหมือนกัน” จากวันที่เริ่มต้นจะเลี้ยงวัวจนถึงวันนี้ 1 ปีกว่าๆ วันนี้ดอนดีฟาร์มมีแม่วัวลูกผสมชาโรเลส์อยู่ 11 ตัว

คุณสง่า บอกว่า จากวันที่ตกลงใจผมก็หาความรู้ หาข้อมูลเรื่องวัวไปเรื่อยๆ จากการถาม การอ่าน จนแน่ใจว่าวัวเนื้อลูกผสมยุโรปน่าจะเป็นคำตอบที่ดี ผมจึงตัดสินใจซื้อแม่วัวลูกผสมชาโรเลส์เข้ามาเรื่อยๆ โดยไปเลือกซื้อวัวจากแถวราชบุรีเข้ามาเก็บไว้ โดยตั้งเป้าว่าจะสร้างฝูงวัวลูกผสมชาโรเลส์เลือดไม่เกิน 75% มองว่าการเลี้ยงวัวก็เหมือนการเก็บเงิน ออมเงินไปทุกวัน แพะ แกะอาจจะเป็นเงินสดที่ซื้อขายได้เร็วได้เงินเร็ว แต่วัวต้องใช้เวลาเลี้ยงค่อยๆ ดูแลกันไปเหมือนเราเก็บเงินใส่ออมสินทุกวันระยะหนึ่งเราก็จะมีเงินออม

“แม่วัวทั้งหมดของดอนดีฟาร์มจะถูกเลี้ยงขังรวมกันในคอกที่มีพื้นที่กว้างขวางให้วัวเดินเล่นได้สบาย ผมเลี้ยงแบบขังเพราะไม่มีพื้นที่แปลงหญ้าให้วัวแทะเล็ม แปลงหญ้าที่มีก็ใช้ร่วมกันกับม้า แพะและแกะ ผมจึงต้องตัดหญ้ามาให้วัวกิน ในส่วนของอาหารข้นผมจะให้ข้าวโพดหมักยีสต์วันละประมาณ 150 กิโลกรัม (ต่อวัวประมาณ 20 ตัว) ในตอนเช้า หลังจากนั้นจะให้หญ้าเนเปียร์ โม่กับแพงโกล่า ในตอนกลางวันก็จะมีฟางใส่รางไว้ให้ แล้วจะให้หญ้าเนเปียร์โม่อีกครั้งตอนเย็น”

เปิดฟาร์มทำแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตรยังไปได้ดี

คุณฉันทนา เล่าถึงธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ทำอยู่ว่า เราเริ่มธุรกิจท่องเที่ยวเพราะใจรัก เราสองคนรวมทั้งญาติพี่น้องช่วยกันปรับปรุงมาจนวันนี้ดอนดีฟาร์มเริ่มเป็นที่รู้จัก เราพยายามเพิ่มเติมกิจกรรมต่างๆ เข้ามานอกจากกิจกรรมเรื่องสัตว์ อย่างป้อนนมลูกแกะ ขี่ม้า เรายังมีทั้งผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษ ร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบของเราเอง เรามีบ่อปลา เราเลี้ยงกบเพื่อเอามาทำเป็นอาหารสำหรับลูกค้า เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ มีมะนาว มะละกอ เด็ดมาสดๆ ใช้ทำส้มตำเสิร์ฟลูกค้า ตอนเย็นๆ จะมีลูกค้าเป็นครอบครัวมานั่งเล่นในฟาร์มให้ลูกๆ วิ่งเล่น ขี่จักรยาน คุณพ่อคุณแม่ก็นั่งจิบกาแฟชมวิวกันไป วันนี้เราจึงขยับขยายมาได้เพราะการบอกต่อปากต่อปาก นอกจากนั้น เรายังออกร้านตามงานต่างๆ เอาผลผลิตของเราไปจำหน่าย เอาลูกแกะของเราไปให้เด็กๆ ป้อนนม เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้มีคนรู้จักดอนดีฟาร์มของเรามากขึ้น

ดอนดีฟาร์มแกะมีวันนี้ได้เพราะไม่รอให้ล้ม

คุณสง่า บอกว่า ตอนนี้เราหันมาทำธุรกิจเกษตรหลายอย่าง ทั้งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ปศุสัตว์ ปลูกพืช รวมทั้งร้านอาหาร รายได้ก็มาจากทุกทางมากบ้างน้อยบ้างถัวๆ กันไป ทำให้เห็นว่าธุรกิจเกษตร การท่องเที่ยวเชิงเกษตรในบ้านเรายังไปได้ เศรษฐกิจพอเพียงตามคำสอนของพ่อยังไปได้ ผมบอกคนอื่นเสมอว่าจะไม่รอให้ธุรกิจล้ม ตัวเองล้มแล้วค่อยหันมาสนใจธุรกิจเกษตร ผมสนใจตั้งแต่ต้นเพื่อเดินตามทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง วันนี้เห็นแล้วว่าเราไปได้จริง ในอนาคตผมตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะทำให้ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธุรกิจเกษตร ด้านปศุสัตว์สำหรับคนที่สนใจ นักเรียน นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้

คุณสง่า เล่าต่อว่า กว่าจะมีวันนี้ได้ ดอนดีฟาร์มโดนหลอกมาเยอะ ผมลองผิดลองถูกเรื่องแพะ แกะมาเยอะ กว่าจะมีวันนี้ได้ก็โดนหลอกเรื่องพันธุ์ เรื่องตลาดมาไม่รู้เท่าไร ดังนั้น วันนี้หากใครต้องการความรู้ต้องการพันธุ์แพะ แกะที่ให้ข้อมูลจริง ไม่หลอกลวงไม่ปิดบัง เข้ามาหาเราได้เลยไม่มีผิดหวัง

ใครสนใจอยากสอบถามหรืออยากไปเที่ยวชม ชิมอาหารอร่อยๆ สัมผัสบรรยากาศดีๆ ที่ ดอนดีฟาร์ม ติดต่อพูดคุยกับคุณฉันทนา ได้ที่โทร. (087) 509-9745 ครับ ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้ว ขอลากันไปก่อน สวัสดีครับ

คุณแดง บุญมี หรือ ลุงแดง เจ้าของไร่พริกไทยสดพันธุ์ซีลอน “ไร่ลุงแดง บ้านเผ่าไทย” บ้านเลขที่ 4 หมู่ที่ 8 บ้านเผ่าไทย ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก โทร. (084) 906-0967 เกษตรกรที่ผันตัวเองจากเดิมที่เคยทำไร่ข้าวโพด ทำนา มาปลูกพริกไทย เพื่อจำหน่ายเป็นพริกไทยสด สร้างรายได้นับแสนบาทต่อปี

ลุงแดง ย้อนกลับไปว่า เดิมก็เหมือนเพื่อนเกษตรกรทั่วไปในแถบนี้ที่จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และทำนาข้าว ได้บ้างไม่ได้บ้างแต่ก็ต้องทำทุกปี ซึ่งทำมานานมาก แต่ก็ได้เพียงพอใช้จ่าย เมื่ออายุมากขึ้นก็มองหาพืชชนิดใหม่ที่ทำงานหนักน้อยลง ปลูกครั้งเดียวแต่เก็บเกี่ยวได้นาน

ลุงแดง เล่าว่า เมื่อ 3 ปีก่อนได้เจอเพื่อนเกษตรกรปลูกพริกไทยอยู่ จึงได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องการปลูกพริกไทย และทราบว่าเป็นพืชที่ปลูกเพียงครั้งเดียว แต่เก็บเกี่ยวได้นานนับ 10 ปี แล้วยังให้ผลผลิตเป็นอย่างดีในพื้นที่โซนนี้ ที่สำคัญราคาพริกไทยสดมีราคาค่อนข้างดีและมีความต้องการมากพอสมควร
การลงทุนปลูกในครั้งแรก ลุงแดงได้ขอซื้อพันธุ์กลับมาทดลองปลูกเพียงไม่กี่ต้นเพื่อนำมาทดลอง แต่ผลพบว่าพริกไทยที่นำมาปลูกให้ผลผลิตเป็นอย่างดี ติดผลดก ใช้กินในครัวเรือน แบ่งเพื่อนบ้าน จากนั้นจึงตัดสินใจปลูกแบบจริงจัง จำนวน 360 หลัก โดยใช้ระยะปลูก ระหว่างต้น 2 เมตรxระหว่างแถว 2.5 เมตร และในปีที่ผ่านมาได้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 200 หลัก ซึ่งขยายพื้นที่เพิ่มออกไปอีก ประมาณ 1,000 หลัก

ลุงแดง เล่าย้อนกลับไปว่า ตอนที่ปลูกพริกไทยครั้งแรกนั้น กว่าจะเตรียมแปลงและระบบน้ำเสร็จราวปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงหน้าแล้งและอากาศหนาว แต่ลุงแดงก็ลองปลูกดู เพราะดูแล้วว่าพริกไทยค่อนข้างทนแล้งได้ แต่ขอให้มีน้ำช่วยก็ปลูกเลย พอปลูกไป

แม้อากาศจะแล้งแต่เมื่อต้นพริกไทยได้น้ำอย่างสม่ำเสมอพบว่า ต้นพริกไทยอยู่ได้ แตกยอดมาใหม่ใบเขียว จับมัดขึ้นเสาไปเรื่อยๆ จนสูงท่วมหลัก ซึ่งหลักในตอนนั้น ใช้เสาสูง 2.50 เมตร ฝังเสาลงดินไป 50 เซนติเมตร ประมาณ 9 เดือน หลังปลูก ต้นพริกไทยก็ออกดอกเต็มไร่เลย ผลผลิตดีและสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังปีที่ 2 ขึ้นมา
ต่อมาก็ลองขยายพันธุ์ดูบ้าง ก็มีปักชำ โดยตัดกิ่งมาเป็นท่อนๆ ชำในถุงดำแล้วทำกระโจมมุงหลังคาพลาสติกอบไว้สัก 1 เดือน แต่เปอร์เซ็นต์การรอดไม่ค่อยดีนัก จะได้ต้นพันธุ์แค่ 50% เท่านั้น ก็มาเปลี่ยนวิธีการขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง
ซึ่งนำขุยมะพร้าวแช่น้ำไว้สัก 1 คืน บีบน้ำให้พอหมาด แล้วยัดใส่ถุงขนาดเล็ก ใช้มีดกรีดถุงผ่าครึ่งถุง นำไปประกบตามข้อพริกไทย เพราะส่วนข้อจะเป็นส่วนที่จะออกราก เพียง 30-45 วัน รากพริกไทยก็จะเดินเต็มถุง พอรากเปลี่ยนสีจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลก็จะเหมาะสมในการตัดส่งขายหรือมาอนุบาลชำลงถุง แต่มีข้อจำกัดคือ สามารถตอนได้เฉพาะหน้าฝนเท่านั้น จึงจะได้ผลดีเกือบ 100% ลุงแดง กล่าว
พื้นที่ปลูก และการลงเสา

ขั้นตอนแรก คือการไถแปรหน้าดิน และปรับสภาพความร่วนซุยของหน้าดิน โดยการไถพรวน เนื่องจากบริเวณแปลงปลูกมีความสูงต่ำไม่เท่ากัน บางส่วนเป็นดิน บางส่วนเป็นดินปนหินกรวด ก็ได้มีการไถพรวน และกำจัดสิ่งกีดขวางออกไปก่อน ประเด็นสำคัญคือ ควรจะมีการไถพรวนเพื่อให้ดินร่วนซุยก่อนเริ่มปลูก เนื่องจากรากของพริกไทยจะขยายออกไปในดิน
ถ้าหากดินมีความร่วนซุย รากก็จะขยายออกไปรอบข้างได้ดี ทำให้ต้นโตไว

ขั้นตอนต่อไปคือ การขุดหลุมลงเสา โดยระยะห่างระหว่างเสา คือ 2.5×2.5 เมตร (สาเหตุที่เว้นระยะห่างค่อนข้างมาก เนื่องจากเมื่อต้นโตเต็มที่ จะได้มีพื้นที่สำหรับเข้าไปเก็บผลผลิต หรือตัดหญ้าใส่ปุ๋ย) โดยหลุมที่ขุดมีขนาด กว้าง 15 เซนติเมตร ลึก 10 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ผสมกับสารป้องกันปลวกแมลง (ฟูราดาน)

หลังจากลงเสาเสร็จเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือ วางระบบน้ำ ทางไร่เลือกใช้ท่อ PE สาเหตุที่ใช้ท่อ PE เนื่องจากทนแดด ทนฝนได้ดี เหยียบได้ไม่แตกหัก อายุการใช้งานนานกว่าท่อ PVC โดยท่อใหญ่ที่ต่อจากปั๊มสำหรับจ่ายน้ำแต่ละแถว ใช้ท่อ PE ขนาด 60 มิลลิเมตร และต่อเข้าแถวด้วยท่อ PE ขนาด 20 mm. 2 bar. จากนั้นส่วนที่ต่อเข้าเสาแต่ละเสา ใช้ท่อ PE mini เมื่อเตรียมเสร็จเรียบร้อย ก็จัดการนำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้มาลงปลูกได้เลย โดยปลูกเสาละ 4 ต้น มัดลำต้นพริกไทยติดกับหลักไว้ เพื่อให้ต้นโตเกาะหลักขึ้นไปเรื่อยๆ

วิธีปลูกและดูแลรักษา
การเตรียมการก่อนปลูก เริ่มจากการเตรียมดิน แปลงปลูกจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีการระบายน้ำได้ดี ปรับพื้นที่ไม่ให้มีสภาพน้ำขัง ไม่ชื้นแฉะหรือเป็นแอ่งน้ำ ไถพรวนดินลึก 40-60 เซนติเมตร ปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ โดยการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 2-3 ตันต่อไร่ เพื่อให้ดินสามารถดูดซับธาตุอาหารได้ดี หากดินเป็นกรด ควรปรับด้วยปูนขาว หรือปูนโดโลไมต์ เพื่อให้ความเป็นกรดน้อยลง ตากดิน 15 วัน ยกแปลงเป็นลอนลูกฟูก

วิธีปลูก ปลูกค้างละ 1 หลุม ปลูกห่างจากโคนค้าง ประมาณ 15 เซนติเมตร ขุดหลุมพรวนรอบเสา ผสมดินกับปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกเก่า นำกิ่งพันธุ์ที่เตรียมไว้ ขุดหลุมปลูกแค่เท่าถุงดินเดิม ปลูกหลุมละ 1 ต้น รอบเสา 4 ด้าน ก็จะใช้ทั้งหมด 4 ต้น ต่อเสา ให้ปลายยอดเอนเข้าหาค้าง หันด้านที่มีราก (ตีนตุ๊กแก) ออกด้านนอกค้าง กลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม

เทคนิคนำกิ่งลงชำถุง
ลุงแดง แนะนำว่า ถ้าได้รับกิ่งพันธุ์แบบตุ้มตอน แกะถุงพลาสติกที่ห่อหุ้มรากออกก่อนอย่างเบามือ พยายามอย่าให้ขุยมะพร้าวที่รากยึดไว้แตก ตัดตุ้มโดยใช้กรรไกรหรือมีดคัตเตอร์ตัดเชือกปอที่รัดตุ้มไว้หัวท้ายออกทั้งหมด
เมื่อแกะตุ้มเสร็จก็นำกิ่งพันธุ์ลงถุงดำโดยใส่ดินไปก่อน ประมาณครึ่งถุงแล้วค่อยเอากิ่งพันธุ์ส่วนที่เป็นรากวางลงไปกลางถุง เอามืออีกข้างจับยอดไว้ไม่ให้ต้นพันธุ์เอนไปมา แล้วเอามืออีกข้างตักดินใส่ให้เต็มถุง กดดินบริเวณรอบๆ กิ่งพันธุ์ให้แน่น

จากนั้นรดน้ำ รออีกประมาณ 45 วัน จึงค่อยนำลงปลูกในแปลงปลูก อย่ารดน้ำมากเกิน เอาแค่ชื้นพอดี และควรพักต้นพันธุ์ไว้ในที่ร่มรำไร อากาศถ่ายเทได้ดี ขั้นตอนก็มีเพียงเท่านี้ พื้นที่วางต้นชำ ควรวางบนพื้นดินที่มีความชื้นตลอด แต่น้ำไม่ขัง

ข้อควรระวังการชำกิ่ง
ข้อควรระวังที่สำคัญคือ ห้ามนำถุงกล้าพริกไทยวางบนปูนหรือแผ่นพลาสติกใดๆ เพราะพริกไทยจะแตกยอดสวยงามให้เห็นในระยะแรกเท่านั้น แต่ต่อมารากจะค่อยๆ ถูกทำลายด้วยเชื้อรา เช่น เชื้อราไฟทอปทอร่าที่เป็นสาเหตุของโรครากเน่าและจะยืนต้นตายในที่สุด เพราะการระบายน้ำที่ก้นถุงไม่ดี รวมถึงอุณหภูมิบนพื้นผิววัสดุด้วย
การดูแลรักษา
เริ่มจากการใส่ปุ๋ย จะใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ปุ๋ยดังกล่าวจะช่วยปรับสภาพความเป็น กรด-ด่าง ของดินให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของพริกไทย และช่วยปรับโครงสร้างของดิน ทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย สามารถดูดซับความชื้นและเพิ่มแร่ธาตุ ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15, 8-24-24 และ 12-12-17+Mg ให้พิจารณาเลือกใส่สูตรใดสูตรหนึ่งตามความเหมาะสม เช่น
ปีที่ 1 ใส่ปุ๋ยเคมี ประมาณ 300-500 กรัม ต่อค้าง แบ่งใส่ 3 ครั้ง ต่อปี หรือตามความเหมาะสม
ปีที่ 2 ใส่ปุ๋ยเคมี 1 กิโลกรัม ต่อค้าง แบ่งใส่ 3 ครั้ง หรือตามความเหมาะสม
ปีที่ 3 และปีถัดไป ใส่ปุ๋ยเคมี 1.5 กิโลกรัม ต่อค้าง แบ่งใส่ 3 ครั้ง หรือตามความเหมาะสม
ครั้งที่ 1 ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หลังจากเก็บเกี่ยวพริกไทย เพื่อฟื้นความสมบูรณ์ของต้นพริกไทย
ครั้งที่ 2 ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เพื่อเร่งการออกดอกและติดผล
ครั้งที่ 3 ปุ๋ยเคมี สูตร 12-12-17+Mg ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม เพื่อบำรุงผล
ส่วนปุ๋ยทางใบและฮอร์โมนบำรุง สามารถใช้ได้ตามความสะดวก ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ดีขึ้น
ลุงแดง อธิบายว่า การใส่ปุ๋ยไม่มีสูตรตายตัว คงขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโตและระยะของการให้ผลผลิตบนต้นและการสังเกตของเจ้าของไร่