การเกษตรแม่นยำสูง หรือ Precision Agriculture คือการนำเทค

ใช้ในงานเกษตรกรรม และนำข้อมูลที่ได้รับนั้น มาบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกหรือปศุสัตว์อย่างเหมาะสมเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง, Big Data ข้อมูลจำนวนมหาศาล, Machine Learning การเรียนรู้ของเครื่อง, Artificial Intelligence (AI) ปัญญาประดิษฐ์ คำศัพท์ต่างๆ เหล่านี้ อาจจะเคยผ่านหูผ่านตามาแล้วบ้าง

แต่สำหรับคนที่อยู่นอกวงการเทคโนโลยีสารสนเทศยากจะเข้าใจ ทำให้ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัวไปแล้ว ลองอธิบายให้เห็นภาพ IoT ก็คือ การติดต่อสื่อสารกับอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อเปิด-ปิด เป็นต้น

และจากการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ทั้งคู่ เมื่อนำข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) ที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์แยกแยะโดยคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว ทำให้อุปกรณ์บางอย่างสามารถจดจำรูปแบบการทำงานซ้ำๆ เกิดการเรียนรู้รูปแบบจากข้อมูล (Machine Learning) เหล่านั้น พัฒนาเป็นการตอบสนองผู้ใช้งาน (AI) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน มีลักษณะการทำการเกษตรแม่นยำสูงบ้างแล้ว ตัวอย่างการใช้เครื่องมือและข้อมูลมาช่วยการวางแผนและพัฒนาการเพาะปลูก“กดดูรู้ดิน” แอปพลิเคชั่นจากกรมพัฒนาที่ดิน จะให้ข้อมูล เช่น กลุ่มชุดดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน แนวทางการจัดการดิน ปัญหาของดิน และพืชที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก เมื่อมีการใช้งาน ระบบจะแสดงแผนที่ดิน สามารถกำหนดตำแหน่งปัจจุบันที่ใช้งาน หรือเลื่อนไปตำแหน่งที่สนใจ เพื่อดูข้อมูลต่างๆ นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถเลือกเปลี่ยนเป็นภาพแผนที่จากดาวเทียมได้อีกด้วย

ผู้เขียนคิดว่าแอปพลิเคชั่นดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในการวางแผนและเลือกวิธีบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อพื้นที่ สามารถช่วยลดข้อผิดพลาด และคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้
อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ โครงการจัดรูปที่ดินบ้านหัวเขา 1-2 ตำบลหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นงานทดลองการเกษตรแม่นยำสูงกว่า 100 ไร่ มีการใช้อุปกรณ์เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวแทนการหว่านแบบเดิม จะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเพียงไร่ละ 7-15 กิโลกรัม จากที่ต้องใช้มากถึง 25-30 กิโลกรัม/ไร่ และยังปลอดภัยจากการจิกกินและสูญเสียเมล็ดพันธุ์ข้าว ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง หากนำมาใช้ร่วมกับแอปพลิเคชั่นกดดูรู้ดิน ก็สามารถวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน ให้รู้ว่าดินแต่ละจุดมีหรือขาดธาตุอาหารสำคัญสำหรับข้าวหรือไม่ ทำให้การให้ปุ๋ยถูกต้องตามความต้องการ ไม่สิ้นเปลือง จะยิ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอย่างเห็นได้ชัด

ปกติชาวนาส่วนใหญ่จะให้น้ำมาก เป็นสาเหตุต้นข้าวไม่ยอมแตกกอ แต่ถ้ามีการศึกษาพฤติกรรมของต้นข้าว โดยการงดให้น้ำ ก็จะเป็นกระบวนการแกล้งข้าว ทำให้ต้นข้าวแตกกอและแตกรวงได้ สำหรับการเก็บเกี่ยวควรหาจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ เพราะถ้าเก็บเกี่ยวเร็วเกินไป จะทำให้ข้าวมีความชื้นสูง แต่หากเก็บเกี่ยวช้าเกินไปก็จะทำให้ข้าวแห้งกรอบ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ทำให้ได้ราคาข้าวไม่ดี

การใช้อุปกรณ์เซ็นเซอร์วัดข้อมูลต่างๆ ปัจจุบัน ราคาลดลงอยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกรสามารถหาซื้อได้ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจอากาศ (Weather Station) เซ็นเซอร์วัดดิน (Soil Sensor) เซ็นเซอร์ตรวจโรคพืช (Plant Disease Sensor) เซ็นเซอร์ตรวจวัดผลผลิต (Yield Monitoring Sensor) เซ็นเซอร์เคมี (Chemical Sensor) เป็นต้น เซ็นเซอร์เหล่านี้สามารถนำไปวางเป็นระบบเครือข่ายไร้สาย (Wireless Sensor Network) โดยนำไปติดตั้งหรือปล่อยในพื้นที่เป้าหมายเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ จากนั้นก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์แยกแยะ เพื่อหาแนวทางดูแลผลผลิตที่เหมาะสม

ผู้เขียนเข้าใจดีว่า การริเริ่มทำสิ่งแปลกใหม่เป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา เป็นนิมิตหมายดีที่เกษตรกรรุ่นใหม่มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ กล้าที่จะแตกต่าง โดยตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะสร้างผลผลิตที่ดีกว่าเดิมได้อย่างไร เป็นผู้มีความใฝ่รู้ ทดลองนำเทคโนโลยีมาใช้งาน ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ช่วยยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถขายได้ราคาเพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ดี ก้าวสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่ “ทำน้อยได้มาก” ดังนั้น การเกษตรแม่นยำสูง จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่รัฐควรส่งเสริม เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างแพร่หลายต่อไป

นายสุชัย กิตตินันทะศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) ซึ่ง สศท.6 ได้ศึกษาสินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด (Top 4) ของพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ พบว่า สินค้า TOP 4 ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มะม่วงน้ำดอกไม้ ปลาสลิด โดยข้าวนาปี เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) ในพื้นที่มีความเหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) เฉลี่ย 2,136 บาท/ไร่ ข้าวนาปรัง เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ ในพื้นที่มี S1/S2 เฉลี่ย 2,284 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ที่มีความเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) พบว่า เกษตรกรไม่มีการเพาะปลูกทั้งข้าวนาปีและนาปรัง มะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งไม่มีการจำแนกพื้นที่ความเหมาะสม ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 26,960 บาท/ไร่ และ ปลาสลิด ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 9,817 บาท/ไร่

นอกจากนี้ สินค้าทางเลือกเพื่อเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกร ควรปรับรูปแบบการผลิตเป็นเกษตรแบบผสมผสานแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือการเลี้ยงปลาเพียงอย่างเดียว ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างหลากหลาย อาทิ มะพร้าวน้ำหอม มีต้นทุนการผลิต 4,466 บาท/ไร่/ปี สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ให้ผลผลิตใน 40-60 วัน/รอบ เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ 17,800 บาท/ไร่/ปี (ประมาณ 6 รอบ) ราคาผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดี มีตลาดชุมชนเมืองรองรับและแปรรูปทำวุ้นมะพร้าวอ่อน รวมทั้งมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อที่สวน เกษตรกรสามารถปลูกรอบคันบ่อเลี้ยงปลา คันนาข้าว และการดูแลรักษาใส่ปุ๋ยในปริมาณที่น้อย ส่วนการรดน้ำ รดน้ำตอนปลูกใหม่ ส่วนต้นโตไม่ต้องรดน้ำ เพราะรากสามารถดูดน้ำจากบ่อปลาได้ ทั้งนี้ ราคารับซื้อของจังหวัด เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 7.83 บาท

ผักกระเฉด มีต้นทุนการผลิต 28,800 บาท/ไร่/ปี ให้ผลผลิตใน 90 วัน เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ 52,800 บาท/ไร่/ปี (ประมาณ 4 รอบ) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสมุทรปราการ มีตลาดรองรับแน่นอน พ่อค้าคนกลาง มารับซื้อที่แปลง และสามารถปลูกผักกะเฉด สลับกับการเลี้ยงปลาได้ โดยปัจจุบันผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด อย่างต่อเนื่อง ราคารับซื้อของจังหวัด เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 7.96 บาท

ทั้งนี้ หากเกษตรกรต้องการปรับเปลี่ยนการผลิต ควรวางแผนการผลิต ศึกษาต้นทุนและผลตอบแทน ระยะเวลาการปลูกหรือเลี้ยง จนกระทั่งเก็บเกี่ยว โดยมีข้อมูลสนับสนุนความต้องการของตลาด โดยเกษตรกร หรือท่านที่สนใจข้อมูลสินค้าทางเลือกในพื้นที่ หรือข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญ สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 โทร. (038) 352-435 หรือ zone6@oae.go.th

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประกาศการรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารฯ และสารผสมเพิ่ม อีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซีโก้แอสฟัลท์ จำกัด และ บริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด อีก 3 บริษัทจ่อคิวอยู่ระหว่างการทดสอบคาดรู้ผลเร็วๆ นี้

นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการพิจารณาการรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่มสำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ ได้รับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มฯ ให้แก่บริษัทผู้ผลิตน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มฯ ที่ยื่นคำขอรับรองเข้ามาจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ซีโก้แอสฟัลท์ จำกัด และ บริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด ซึ่งทั้ง 2 บริษัทดังกล่าวได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานทั้งในส่วนของมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ ในการตรวจสอบความเข้ากันได้ของน้ำยางพารากับดินซีเมนต์ และมาตรฐานทางวิศวกรรม ในการตรวจสอบการรับแรงอัดของรถที่วิ่งบนผิวถนนรวมถึงค่าความยืดหยุ่นของผิวถนนตามที่ระบุในคู่มือการควบคุมคุณภาพและการรับรองมาตรฐานวัสดุสำหรับงานก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ (ยางพารา)

รองผู้ว่าการกล่าวย้ำว่า ขณะนี้ยังมีอีก 3 บริษัทที่อยู่ระหว่างการรอผลทดสอบ ซึ่งถ้าผ่านการทดสอบและได้การรับรองจากทางคณะกรรมการฯ แล้ว ทาง กยท. จะประกาศให้ทราบทางหน้าเว็บไซต์ของ กยท. www.raot.co.th สำหรับผู้ที่ประสงค์จะยื่นคำขอรับรองมาตรฐานน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม หรือสารผสมเพิ่มฯ รวมถึงผู้ที่ยื่นคำขอรับรองมาตรฐานฯ ที่ไม่ผ่านการรับรองดังกล่าว ก็สามารถยื่นคำขอรับรองได้ ซึ่ง กยท.พร้อมเป็นหน่วยงานที่ให้ปรึกษาและคำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในการปรับปรุงสูตรการผลิตน้ำยาง ติดต่อขอรับคำปรึกษาหรือยื่นคำขอเข้ารับการตรวจรับรองมาตรฐานได้ที่ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง โทร. (02) 940-5712 ต่อ 130 หรือ (086) 389-4240 ได้ในวัน และเวลาราชการ

อุปกรณ์ตัดหน่อไม้ นี้ผลงานนักเรียนโรงเรียนท่ามะขามวิทยา ต.ดอนทราย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี มีแนวคิดมาจากที่ดัดขนตา นำมาทดลองสร้างอุปกรณ์ตัดหน่อไม้ ใช้เศษเหล็กนำมาประกอบลงทุนแค่หลักร้อยบาท ตัดหน่อไม้เร็วกว่าใช้มีด ตาหน่อไม่เสีย

นายอภิเชษฐ์ เกตุกร ผู้อำนวยการโรงเรียนท่ามะขามวิทยา อาจารย์อรไท พิธุพันธ์ ครูสอนวิชาฟิสิกส์ พร้อมด้วยนางสาวอัญชิสา สตราคาม นายประกาศิต ครุฑดำ ได้พาไปชมการตัดหน่อไผ่หวาน ที่บ้านของนางสาวพรกมล โพชพันธ์ หลังจากที่นักโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และปีที่ 6 โรงเรียนท่ามะขามวิทยา ได้คิดค้นสร้างนวัตกรรมใหม่จากการนำเศษเหล็กที่เหลือใช้ มาประดิษฐ์ ทดลองทำอุปกรณ์ตัดหน่อไม้ทดแทนการใช้มีด หรือชะแลงในการขุดหน่อไม้ ทำง่ายสะดวก เพียงแค่นำอุปกรณ์ดังกล่าวไปวางบริเวณโคนหน่อไม้แล้วใช้เท้าข้าวหนึ่งเหยียบหลังไว้ ส่วนเท้าอีกข้างใช้แรงกดคันเหยียบตรงกลางอุปกรณ์ก็กดลงสามารถตัดหน่อไม้ออกจากโคนขาดกระเด็นทันที เกิดความสะดวก และประหยัดเวลามาก

นางสาวพรกมล โพชพันธ์ กล่าวว่า ที่บ้านปลูกหน่อไม้ไว้ขายตลาดตลอดทั้งปี แต่ก่อนจะใช้มีดตัด แต่ละครั้งใช้เวลาค่อนข้างนาน สับหลายครั้งกว่าจะขาด จึงมีแนวคิดหาอุปกรณ์ที่จะมาช่วยตัดหน่อไม้ให้เร็วขึ้น จึงได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ชิ้นนี้ขึ้นมา เป็นเครื่องต้นแบบ ทำมาจากเศษเหล็กที่เหลือใช้มาเชื่อมต่อกันจนเป็นอุปกรณ์ที่สมบูรณ์แบบใช้งานได้จริง ตัดได้เรียบ ไม่เสียตาหน่อจะขยายพันธุ์ต่อไป ตาหน่อจะเกิด ขึ้นใหม่ภายใน 20 วัน แตกต่างจากใช้มีดตัดจะทำให้บริเวณตาหน่อขาดหาไป กว่าหน่อจะเกิดใหม่ช้ามาก

แนวคิดนี้เกิดมาจากเครื่องดัดขนตา ที่มีกลไกช่วยหนีบขาดัดขนตา จึงมีแนวคิดดัดแปลงจากเครื่องดัดขนตากลายมาเป็นเครื่องตัดหน่อไม้แทนในลักษณะที่พอกดบริเวณช่วงกลาง ก็จะทำให้อุปกรณ์ทำงานโดยมีใบมีดลักษณะเป็นสามเหลี่ยมที่คมอยู่ 2 ด้าน เมื่อใช้เท้าเหยียบจะทำงานตัดหน่อไม้ทันที

อาจารย์อรไท พิธุพันธ์ ครูสอนวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนท่ามะขามวิทยา กล่าวว่า ได้สอบถามเด็กว่า มีปัญหาอะไรบ้างเกี่ยวกับอาชีพในครอบครัว เพื่อสร้างโครงงานขึ้นมาแก้ปัญหาได้จริงในชีวิตประจำวัน จนทราบว่าบางคนรับจ้างตัดยอดมะพร้าว บางคนปลูกหน่อไม้ไว้ขาย ตอนแรกคิดเครื่องตัดยอดมะพร้าว แต่มองแล้วว่าใหญ่เกินไป จึงเปลี่ยนย่อลงมาเป็นอุปกรณ์ตัดหน่อไม้แทน สอบถามทราบว่าเวลาจะตัดหน่อด้วยการใช้มีดสับหลายครั้ง ทำให้เสียเวลานาน แผลที่โคนไม่สวย ขายไม่ค่อยได้ราคานัก อีกทั้งยังเสียตาหน่อไม้ที่จะแตกหน่อใหม่ช้ากว่าปกติด้วย จึงช่วยกันคิดช่วยกันออกแบบอย่างไรให้ตัดขาดได้ภายในครั้งเดียว เมื่อประดิษฐ์ออกมาแล้วจึงประสบความสำเร็จอย่างที่เห็น

นายอภิเชษฐ์ เกตุกร ผู้อำนวยการโรงเรียนท่ามะขามวิทยา เปิดเผยว่า เป็นผลงานของครูและนักเรียนได้ร่วมกันทำสิ่งประดิษฐ์นี้ขึ้นมา เป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 8 ราชบุรี ที่ทำอย่างไร จะให้เด็กสร้างนวัตกรรมเป็นผลงานขึ้น จึงให้นโยบายกับครูผู้สอน และนักเรียน โดยผลงานชิ้นนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับการเรียนวิชาฟิสิกส์ ที่ครูได้สอนไปแล้วพร้อมได้ประยุกต์ทฤษฎีมาใช้ โดยตอนนี้ได้นำนักเรียนไปยื่นขอจดอนุสิทธิบัตร ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดราชบุรีแล้ว เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ

สำหรับการประดิษฐ์อุปกรณ์ตัดหน่อไม้ ของโรงเรียนท่ามะขามวิทยา ถือเป็นนวัตกรรมชิ้นใหม่ที่ช่วยให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจกับผลงานของตัวเองที่ได้คิดค้นขึ้นมาและยังสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อครอบครัว ถือเป็นตัวอย่างผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่น่าส่งเสริมและให้การสนับสนุน
สำหรับผู้ที่สนใจ อยากจะศึกษาดูผลงานของเด็กๆ ติดต่อได้ที่ อาจารย์อรไท พิธุพันธ์ ครูสอนวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนท่ามะขามวิทยา โทร 081–7352113 หรือ เบอร์ผู้อำนวยการโรงเรียน โทร 096–9594263

เลี้ยงปลาสวายอยู่ที่ หมู่ 10 ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี หรือที่คนชอบตกปลารู้จักสถานที่แห่งนี้ดี ในชื่อ บ่อตกปลานิลพัฒน์

คุณเม่งฉ่อง ชายผู้มากด้วยรอยยิ้มและมีอารมณ์ขัน เล่าให้ฟังว่า การประกอบสัมมาอาชีพในชีวิตของเขานั้น เรียกง่ายๆ ว่ามากมายหลากหลายอาชีพ อะไรที่คิดว่าทำแล้วเป็นการสร้างรายได้ทำหมดทุกอย่าง เพราะชีวิตคือ การต่อสู้

“ชีวิตผมนี่ ถ้าพูดกันแบบยาวๆ จนมาขณะนี้ ทำมาหลายอย่าง ทำสวนผักบ้าง สวนผลไม้บ้าง คราวนี้พอดินที่ปลูกไม่ดีก็ไปเป็นพนักงานขับรถ พอขับรถมาได้ระยะก็มาแต่งงาน ซึ่งตอนนั้นแม่ยายเขาทำบ่อปลาอยู่ ก็เลยลองขอลูกปลาเขามาทดลองเลี้ยง พอเลี้ยงไปได้ขนาดก็ไปจำหน่าย มันก็ได้เงินดีเหมือนกัน ทำไปทำมาก็หาเช่าที่เพื่อทำการเลี้ยงอย่างเต็มตัว” คุณเม่งฉ่อง เล่าถึงการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา

ในช่วง ปี 2526 คุณเม่งฉ่อง เล่าว่า เลี้ยงพวก ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาสวาย ในเนื้อที่ประมาณ 30-50 ไร่ ต่อมาขยับขยายพื้นที่มาเรื่อยๆ มีทั้งที่ดินตนเอง และเช่าที่บุคคลอื่น เลี้ยงปลามาจนถึงปัจจุบันนี้ ประมาณ 500 ไร่ โดยปลาที่เลี้ยงหลักๆ จะเน้นที่ ปลาสวาย

“ลูกพันธุ์ปลาสวายที่เราใช้เลี้ยง ซื้อมาจากนครสวรรค์ ซึ่งช่วงนั้นยังมีให้เลือกไม่มากนัก พอเรารู้จักคนมากขึ้น เราก็มีตัวเลือก ไม่ได้รับเจ้าไหนเป็นเจ้าประจำ เพราะว่าต้องประหยัดเรื่องเงินทุน เจ้าไหนที่เขาจำหน่ายให้เราได้ราคาถูก เราก็จะซื้อเจ้านั้นหมุนเวียนกันไป ก็ไม่ต้องไปผูกขาดกับใครมากนัก” คุณเม่งฉ่อง เล่าถึงอุปสรรคของการหาซื้อลูกพันธุ์ปลาสวายในช่วงแรก

จากประสบการณ์ที่มากกว่า 30 ปี ทำให้เวลานี้ปลาสวายของคุณเม่งฉ่องเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง จนมีบริษัทส่งออกมารับถึงที่ เพื่อส่งไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย

คุณเม่งฉ่อง บอกว่า ขนาดบ่อที่เลี้ยงนับว่ามีความสำคัญมาก ซึ่งถ้าใครมีพื้นที่บ่อขนาดเล็ก ประมาณ 1 ไร่ ให้ใส่ปลาสวายไซซ์ใหญ่ อายุ 3-4 เดือน เลี้ยงประมาณ 3,000 ตัว แต่ถ้าเป็นลูกปลาที่มีขนาดเล็ก ประมาณก้านไม้ขีดไฟ สามารถใส่ลงไปอนุบาลได้ ประมาณ 100,000 ตัว

“เราสามารถเลี้ยงเพื่อจำหน่ายได้หลายขนาด อย่างเราเอาไซซ์เล็กมาอนุบาลในบ่อ ขนาด 1 ไร่ พอเลี้ยงได้ขนาดไซซ์เท่าไม้บรรทัด อายุ 3-4 เดือน เราก็จับจำหน่ายได้เลย เพื่อให้มีรายได้บ้าง แล้วก็เหลือไว้ในบ่อสัก 3,000 ตัว พอโตขนาดใหญ่ก็จับจำหน่ายได้อีก อันนี้เป็นวิธีสำหรับคนมีเนื้อที่เล็กๆ นะ เมื่อก่อนผมก็เริ่มแบบนี้ก่อน” คุณเม่งฉ่อง กล่าว

เนื่องจากการเลี้ยงปลาสวายของคุณเม่งฉ่องเลี้ยงในปริมาณมาก รูปแบบบ่อที่ใช้เลี้ยงจึงมีขนาดใหญ่มากกว่า 30 ไร่ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวในเรื่องรูปทรง แต่ขอให้มีความลึกที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ 5-6 เมตร บางช่วงของบ่อมีความลึกถึง 20 เมตร เพื่อให้ปลาสวายไม่สัมผัสกับผิวน้ำที่มีความร้อนมากเกินไป เพราะจะทำให้ปลาเครียด

เมื่อปลาได้ขนาดที่สามารถจำหน่ายได้ ก็จะใช้อวนลากจับโดยไม่วิดน้ำออกจากบ่อ และยังแบ่งพื้นที่อีกส่วนของบ่อกั้นด้วยตาข่ายสำหรับอนุบาลลูกปลา เมื่อปลาสวายไซซ์ใหญ่จำหน่ายหมด ก็จะปล่อยลูกปลาที่อนุบาลไว้ออกมาภายนอกเลี้ยงต่อไป

“บ่อที่ผมเลี้ยงแบบใหญ่ๆ นี่ ไม่ได้วิดน้ำให้แห้งแล้วมาจับปลานะ เพราะถ้าเกิดดินมันทรุด บ้านเขาทรุดเราจ่ายไม่ไหว เราก็ใช้อวนลากเอา พอปลาขนาดใหญ่จำหน่ายไปหมด เราก็เอาชุดเล็กที่อนุบาลแยกไว้มาเลี้ยง มันก็จะเป็นปลาที่เลี้ยงในรุ่นต่อไป” คุณเม่งฉ่อง อธิบาย

อาหารที่ใช้สำหรับเลี้ยงปลาสวายที่ฟาร์มแห่งนี้ ถ้าเป็นลูกปลาสวายที่อนุบาลไว้ จะให้กินอาหารเม็ด ที่มีโปรตีน 35-40 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเช้าและเย็น เมื่ออายุครบประมาณ 3-4 เดือน จะเปลี่ยนเป็นเศษอาหารที่ลดต้นทุน หาได้จากท้องถิ่น

“อาหารสำหรับปลาสวายที่ใหญ่มาหน่อย อายุเกิน 3 เดือน ก็จะเป็นพวกเศษอาหารพวกน้ำก๋วยเตี๋ยว บางทีก็เศษกระดูกเป็ด กระดูกไก่ เศษอาหารที่ได้จากห้างสรรพสินค้า อย่างเช้ามืดผมก็ไปเอาเศษผักตามตลาดสดมา เราก็ไปติดต่อขอมา เดี๋ยวนี้พอคนอื่นเลี้ยงเอาแบบนี้ให้ปลากิน ปลาโตดีก็เริ่มมีแย่งไปขอซื้อ จากของที่ดูไม่น่าจะมีราคาก็ลืมแย่งกันซื้อมา ส่วนวันหนึ่งให้กินเท่าไรก็ไม่ได้กะเกณฑ์ เพราะปลามันไม่ได้ร้อง มีเท่าไรก็ให้กินเท่านั้น ตามที่เราหาได้”

“ส่วนเรื่องตาย ก็ต้องมีบ้าง เพราะว่าเราเลี้ยงในปริมาณที่เยอะ มันเป็นธรรมดาที่ต้องมีตาย บางทีมันก็มีเงี่ยงทิ่มแทงกันเอง ของแบบนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนเรื่องโรคก็ไม่ค่อยมีมากเท่าไร บางทีเราก็ไม่รู้หรอก เพราะว่ามันอยู่ในน้ำเรามองไม่เห็น แต่ถ้าจัดการให้ดีเรื่องโรคก็ไม่เป็นปัญหา ปลาสวายนี่ก็อดทนพอควร” คุณเม่งฉ่อง กล่าว

คุณเม่งฉ่อง บอกว่า ปลาที่พร้อมจำหน่ายต้องเลี้ยงอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป จะมีน้ำหนักต่อตัวมากกว่า 3 กิโลกรัม โดยการเลี้ยงหลายๆ บ่อ เพื่อให้มีส่งจำหน่ายตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง

“ตลาดที่รับซื้อนี่ ทุกขนาดไซซ์รับซื้อหมด ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เพราะเขาก็ตีราคาตามของ แต่สำหรับเราคนเลี้ยง เราก็ต้องชอบให้ได้น้ำหนักเยอะๆ เพราะปลาที่เราเลี้ยงตัวใหญ่ ราคามันต้องแพงกว่าตัวเล็กแน่นอน” คุณเม่งฉ่อง กล่าว

ปลาสวายที่ฟาร์มของคุณเม่งฉ่องจำหน่ายอยู่ที่ ราคากิโลกรัมละ 28-32 บาท ซึ่งมีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อถึงหน้าฟาร์ม“เรื่องตลาด ตั้งแต่เลี้ยงมาก็ไม่มีปัญหา บางคนคิดว่าเกิดเลี้ยงมากๆ แล้ว จะไปส่งจำหน่ายที่ไหน ก็จะบอกว่าของแบบนี้ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย เดี๋ยวพอคนเห็นเขาก็มาซื้อที่เราเอง อย่างตอนนี้ดูนิยมกันมาก ก็เอาไปแปรรูปเอาหนังออก กระดูกออก เอาเนื้อขาวๆ ทำให้ดีแล้วส่งออกต่างประเทศ คนรู้จักมากขึ้น ก็มีความนิยมกันมากขึ้น” คุณเม่งฉ่อง เล่าถึงเรื่องการตลาด

นอกจากเลี้ยงเพื่อส่งจำหน่ายแล้ว คุณเม่งฉ่อง ยังแบ่งพื้นที่ของฟาร์มให้เป็นบ่อสำหรับให้ผู้ที่ชื่นชอบการตกปลา ได้มีกิจกรรมผ่อนคลายในช่วงวันหยุดอีกด้วย

“ผมก็ทำเป็นบ่อตกปลา ให้คนที่เขาชอบทางนี้ ก็คิดท่านละ 100 บาท พอเข้ามาก็เก็บเงินเลย มันก็เหมือนเป็นที่พักผ่อนสำหรับคนที่ชื่นชอบ บางคนนี่เก่งมากตกได้เยอะ ได้เขาก็เอาไปหมด มันก็เป็นความภูมิใจของเขาที่ได้มาตกปลา แล้วก็ได้เอาปลาที่ตกได้ไปอวดภรรยา เป็นอีกวิธีด้วยที่ให้เรามีรายได้ขึ้น” คุณเม่งฉ่อง กล่าวถึงวิธีคิดเพื่อเพิ่มรายได้

สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงปลาสวาย เพื่อสร้างรายได้เป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมก็ตาม คุณเม่งฉ่อง แนะนำว่า“อย่างคนมือใหม่ อย่างแรกเลยที่จะบอกแนะนำคือ บ่อที่เลี้ยงอย่าให้ตื้นกว่า 1.50 เมตร ให้ลึกลงไปกว่านี้ได้ยิ่งดี เพราะว่าถ้าตื้นกว่านั้นความร้อนมันจะลงไป ทำให้ปลาสวายเครียด มันไม่ตายแต่มันไม่โต เพราะสภาพแวดล้อมมันไม่เหมาะสม

ยิ่งบ่อมีขนาดใหญ่ๆ ได้ยิ่งดี 5 ไร่ 10 ไร่ 30 ไร่ น้ำที่ใช้เลี้ยงก็ขอให้เป็นน้ำที่สะอาด อย่าให้มีปลาช่อน เพราะเวลาที่เราอนุบาลปลาเล็ก มันจะกินลูกปลาเราหมด ส่วนช่วงที่เอาลูกปลามาปล่อย ถ้าพื้นที่ไม่มากก็ปล่อยเลี้ยงแต่พอดี ไม่ต้องหนาแน่นมากเกินไป อาจจะเลี้ยงผสมกับปลานิลด้วยก็ได้ ผสมกันไปเลย มันก็จะแข่งกันโต พอปลานิลโตได้ดีได้ขนาดเราก็จับปลานิลจำหน่ายก่อน เราก็จะมีเงินไว้ใช้จ่ายบ้างประมาณนี้ ส่วนเรื่องการตลาดไม่ต้องไปกังวล เดี๋ยวคนซื้อมาหาเอง ส่วนการเลี้ยงก็อยากให้มีใจรักสักหน่อย เพราะเราก็จะอดทนรอ มีกำลังใจ พอจำหน่ายได้นั้นแหละคือความสำเร็จของเรา” คุณเม่งฉ่อง กล่าว

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยงานส่งเสริมเทคโนโลยี เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) มอบทุนสนับสนุนการพัฒนาต้นแบ บนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) สู่เชิงพาณิชย์ จำนวน 12 ทุน จำนวนหนึ่งแสนบาท ให้แก่ 12 ทีม ที่เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์

ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักศึกษา นักเรียน และคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างต้นแบบนวัตกรรม ใน “โครงการพัฒนาทักษะการสร้างนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Innovation JumpStart)” เพื่อพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม AI ที่พร้อมขยายผลใช้งานจริงในอนาคต สร้างโอกาสให้กลุ่มนักพัฒนาเทคโนโลยี AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ก้าวกระโดดเข้าสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ (สตาร์ทอัพ) ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี : เมื่อเร็ว ๆ นี้ (19 ส.ค. 62) ที่โรงแรมแมน ดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ