การเก็บเกี่ยวผลผลิตสวนปริญญาชาวไร่ ปลูกและขยายพันธุ์ต้น

อะโวกาโดด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ซึ่งวิธีนี้จะได้ผลผลิตตรงตามสายพันธุ์ แต่บางครั้งก็เจอปัญหาการกลายพันธุ์ด้วยเช่นกัน แต่โชคดีที่ต้นกลายพันธุ์นั้นให้ผลผลิตที่มีขนาดผลใหญ่ขึ้น และเนื้อแน่นดีด้วย

คุณน้ำมนต์ บอกว่า ต้นอะโวกาโดที่ปลูกในพื้นที่อำเภอมวกเหล็กจะให้ผลผลิตแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์และระยะการออกดอกของต้นอะโวกาโดด้วย โดยสายพันธุ์เบาจะเริ่มให้ผลผลิตรุ่นแรกเข้าสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ทั้งนี้ ผลผลิตอะโวกาโดรุ่นสุดท้ายที่เข้าสู่ตลาดอยู่ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี

การเก็บเกี่ยวผลอะโวกาโดของคุณน้ำมนต์มีเทคนิคง่ายๆ คือ อะโวกาโดต้นไหนมีผลร่วงใต้ต้น แสดงว่าผลเริ่มสุก เริ่มเก็บผลิตได้ ส่วนอะโวกาโดสายพันธุ์เฟอเต้และบู๊ท 7 หากบริเวณขั้วมีสีเหลืองและมีรอยกระขึ้นปลายผล แสดงว่าผลสุกเก็บเกี่ยวได้ ส่วนอะโวกาโดพันธุ์พื้นเมือง ผลสุกมีเปลือกเขียว แต่เนื้อผลนิ่ม หากเก็บผลที่ยังไม่สุกเต็มที่ควรนำไปวางบ่มในอุณหภูมิปกติ 5-7 วัน ก่อนกิน หากต้องการให้ผลสุกเร็ว ควรนำผลใส่ในถังข้าวสารซึ่งมีอุณหภูมิสูง ช่วยให้ผลสุกเร็วขึ้น

“หากต้องการบริโภคอะโวกาโดคุณภาพดี แนะนำให้เลือกซื้ออะโวกาโดที่มีขั้วติดผลทุกครั้ง เพราะหากขั้วหลุด มักเกิดปัญหาเชื้อราเน่าตรงรอยแผล หลังซื้ออะโวกาโด ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องปกติ ไม่ควรเก็บผลอะโวกาโดไว้ในถุงพลาสติกที่ผูกปากถุง เพราะจะทำให้เกิดไอน้ำ ทำให้ผลเน่าได้” คุณน้ำมนต์ กล่าว

ด้านตลาด

คุณน้ำมนต์ บอกว่า อะโวกาโดพันธุ์ปีเตอร์สัน เป็นสินค้าขายดีที่ได้รับความนิยมสูงเพราะมีรสมันอร่อย เนื้อแน่น ไม่ติดหวาน รองลงมาคือ อะโวกาโดพันธุ์พื้นเมือง เพราะมีเนื้อแน่น ติดหวานนิดๆ ผลใหญ่ เนื้อเยอะเหมือนกับพันธุ์บู๊ท 7

ที่ผ่านมาคุณน้ำมนต์ปลูกอะโวกาโดหลากหลายสายพันธุ์เพื่อทดสอบสายพันธุ์และยังจับทิศทางตลาดไม่ได้ ตอนนี้คุณน้ำมนต์เปลี่ยนมาใช้นโยบายการตลาดนำการผลิต เช็กคุณภาพและปริมาณผลผลิตแต่ละสายพันธุ์ พร้อมเก็บข้อมูลว่า ลูกค้าชื่นชอบสายพันธุ์ใดเป็นพิเศษ ก็จะใช้สินค้าตัวนั้นเป็นตัวนำตลาด หากสายพันธุ์ใดให้ผลผลิตไม่ดี รสชาติไม่ถูกใจตลาดก็จะคัดออก และเสียบยอดอะโวกาโดพันธุ์ดีเข้าไปปลูกแทน

นอกจากขายอะโวกาโดผลสดแล้ว คุณน้ำมนต์ยังนำผลสดไปแปรรูปเป็นน้ำสมูธตี้อะโวกาโด และปอกอะโวกาโดหั่นเป็นชิ้น บรรจุกล่องพร้อมกิน (ราคา 30 บาท) วางขายสินค้าทางหน้าเพจและผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า คุณน้ำมนต์ บอกว่า ทุกวันนี้ยอดขายทางตลาดออนไลน์ดีมาก เพราะขายสินค้าในราคาไม่แพง เท่ากับราคาหน้าสวนเลย

อะโวกาโดไม้ผลทำเงิน

คุณน้ำมนต์ กล่าวว่า อะโวกาโดเป็นไม้ผลที่น่าลงทุนในยุคนี้ เพราะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุต้น ปีแรกจะให้ผลผลิตประมาณ 100 กิโลกรัม สำหรับต้นอายุ 6-7 ปี ลำต้นใหญ่ก็จะให้ผลผลิตมาก บางต้นเก็บผลผลิตได้เป็นตัน ทำให้มีรายได้ต่อต้นถึงหมื่นบาท ยิ่งต้นอะโวกาโดมีอายุเยอะก็จะให้ผลผลิตมากขึ้น พื้นที่ปลูกอะโวกาโด 1 ไร่สามารถทำรายได้ทะลุหลักแสนบาท จึงไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด เพราะอะโวกาโดเป็นไม้ผลเพื่อสุขภาพ เป็นที่ต้องการสูงในคนรักสุขภาพ

คุณน้ำมนต์ขายผลผลิตอะโวกาโดในหน้าเพจเฟซบุ๊ก : สวนปริญญาชาวไร่ น้อยหน่า อะโวคาโด และขายส่งหน้าสวน (กิโลกรัมละ 40 บาท) ให้แก่แม่ค้าขาประจำ เพื่อนำไปขายตามแผงตลาดสดและขายปลีกหน้าสวนด้วย (กิโลกรัมละ 50 บาท) คุณน้ำมนต์ บอกว่า ที่สวนมีการรับประกันคุณภาพสินค้าหลังการขาย หากผู้บริโภคพบว่าสินค้าของสวนเรามีปัญหาผลอ่อน ผลเสีย หรือสินค้ามีตำหนิ ทางสวนยินดีเปลี่ยนสินค้าชุดใหม่ให้ทันที

ปัจจุบัน คุณน้ำมนต์เปิดสวนปริญญาชาวไร่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เนื้อที่รวมประมาณ 100 ไร่ นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมการปลูกไม้ผลนานาชนิด พร้อมเลือกซื้อผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นอะโวกาโด น้อยหน่าพันธุ์พื้นเมือง น้อยหน่าเนื้อ และน้อยหน่าหนัง เงาะปากช่องที่มีจุดเด่นเนื้อกรอบ ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติอร่อย

หากใครสนใจอยากร่วมกิจกรรม ชม ชิม ช้อป แชะ “อะโวกาโด” ผลไม้รสอร่อยของสวนปริญญาชาวไร่ ติดต่อคุณน้ำมนต์ได้ที่ สวนปริญญาชาวไร่ เลขที่หมู่ที่ 8 ตำบลหนองย่างเสือ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โทร. 091-545-0092 หรือติดตามข่าวสารได้ทางเฟซบุ๊ก : สวนปริญญาชาวไร่ น้อยหน่า อะโวคาโด

เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เกษตรอำเภอแม่ริม พร้อมเจ้าหน้าที่ติดตามการผลิตทุเรียนคุณภาพของ อาจารย์เสถียร ภิระเป็ง ที่หมู่ที่ 4 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจจึงนำมาเผยแพร่

โดย อาจารย์เสถียร ภีระเป็ง ถือเป็นเกษตรกรต้นแบบ อาจารย์เสถียร กล่าวว่า ตนเองเป็นข้าราชการบำนาญ อดีตรับราชการเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ เมื่อเกษียณอายุราชการ จึงหันมาทำการเกษตรปรับพื้นที่เดิมที่ปลูกดอกเบญจมาศ มาปลูกทุเรียนในระบบปลอดภัยพันธุ์หมอนทอง ระยะห่างระหว่างต้นระหว่างแถว 6×6 เมตร จำนวน 23 ไร่ โดยซื้อต้นพันธุ์มาจากจังหวัดอุตรดิตถ์ พื้นที่เป็นไหล่เขาจึงมีการปลูกแบบขั้นบันได ทำระบบให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ ปลูกมาประมาณ 7 ปี

ปัจจุบันเริ่มให้ผลผลิตแล้วรสชาติหวาน กลิ่นหอมอ่อนๆ เนื้อหนาละมุน และผลผลิตจะออกท้ายฤดูกาลของที่อื่น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น และอยู่ในพื้นที่ระดับความสูงกว่า 900 เมตร จากระดับน้ำทะเลโดยจำหน่ายทางระบบออนไลน์ ในกิโลกรัมละ 200 บาท สามารถสร้างรายได้หลังเกษียณอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

ผู้เขียนจึงค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการในเรื่องการปลูกทุเรียนมาฝากท่านผู้อ่าน ดังนี้ การปลูกทุเรียนนั้น การปลูกแบบชาวสวนนนทบุรี จะยกโคก (พูนดิน) โดยใช้ดินจากบริเวณที่จะปลูก ทำให้ร่วนซุย ควรผสมแกลบดิบ 1 กระสอบ และปุ๋ยคอก 1 กระสอบไปกับดินที่ยกเป็นโคกจะดีมาก และพูนขึ้นมาจากพื้นประมาณ 50 เซนติเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร

จากนั้นขุดหลุมปลูกบริเวณกลางโคก โดยขุดลงไปเท่าขนาดถุงชำ เมื่อตัดถุงชำ (ถุงสีดำ) ออกแล้ว ควรเอาดินส่วนล่างของถุงชำออกประมาณ 1 ใน 5 เพื่อให้รากทุเรียนได้เจอกับดินใหม่ที่เราผสมไว้ในโคก ขณะที่เอาดินจากถุงชำออกนั้น ต้องสังเกตที่รากแก้ว หากพบว่ารากแก้วขดอยู่ก็ควรใช้กรรไกรตัดออก ถ้ารากแก้วไม่ขดไม่ต้องตัด จากนั้นจัดรากฝอยให้แผ่ออกไปรอบๆ ต้น เมื่อทุเรียนโตขึ้นจะได้มีรากสมดุลกัน ทำให้แผ่กิ่งไปรอบๆ ต้นป้องกันการโค่นล้ม วางกิ่งทุเรียนลงในกลางพูนดินให้ลำต้นตั้งตรง จากนั้นปักไม้ค้ำและผูกเชือกเพื่อป้องกันลมโยกต้นทุเรียน โดยปักระยะประมาณขอบดินที่มากับกล้าทุเรียน ระวังไม่ให้โดนราก และผูกเชือกฟางพอให้ไม้ค้ำประคองต้นได้ อย่าผูกแน่นจนเกินไป จากนั้นกลบโคนต้นทุเรียนและใช้ฟางคลุมโคนเพื่อรักษาความชื้น

การรดน้ำต้นทุเรียน วิธีการรดน้ำ ในที่ที่การทำสวนทุเรียนแบบยกร่องไม่ควรใช้แครงสาดทุเรียนที่ปลูกใหม่ๆ เพราะจะทำให้ต้นทุเรียนโยกคลอนชะงักการเจริญเติบโต ควรใช้วิธีการตักรดโคนต้นโดยเฉพาะ อย่ารดจนน้ำนองบ่าออกมานอกบริเวณโคก เพราะจะทำให้ดินโคกพังทลายและน้ำชะล้างหน้าดินไปเสียหมด เมื่อทุเรียนตั้งตัวดีแล้วจึงใช้วิธีสาดเอาได้

ถ้าเป็นสวนขนาดใหญ่ การรดน้ำวันเว้นวันอาจไม่สะดวก ถ้ายิ่งใช้เครื่องยนต์แบบเคลื่อนที่ด้วยยิ่งไม่สะดวก บางสวนอาจทำแบบร่อง บางสวนอาจใช้วิธีวางท่อในสวนแล้วใช้สายพลาสติกต่อ ถ้าใช้สายพลาสติกต่อน้ำมารดควรใช้วิธีประมาณเอาพอให้ดินอิ่มตัวราว 10-20 นาที แล้วแต่ชนิดของดิน ดินเหนียวต้องใช้เวลานานกว่า เพราะน้ำซึมลงได้ยาก ควรสังเกตดินในเรือนพุ่มถ้าเห็นว่าดินมีความชื้นดีอยู่ไม่ต้องรดน้ำให้มาก

ในช่วง 2-3 ปีแรก อย่าปล่อยให้ทุเรียนที่ขาดน้ำนานๆ ในฤดูแล้งทุเรียนจะแสดงอาการให้เห็นอย่างเด่นชัด ใบเหี่ยวเฉาในเวลากลางวัน สีของใบไม่สดใส ใบไม่เป็นมันเหมือนปกติ ขอบใบจะมีสีเหลืองและไหม้จากปลายใบเข้ามาทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตในที่สุด ใบก็จะร่วงผลัดใบ ถ้าไม่รีบให้น้ำต้นทุเรียนจะตายทั้งกิ่ง หรืออาจตายทั้งต้นเลยก็ได้ ดังนั้น การรดน้ำอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะน้ำมีส่วนสัมพันธ์กับคุณภาพของเนื้อทุเรียน เนื้อทุเรียนจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของใบ ถ้าขาดน้ำใบทุเรียนจะร่วง ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงผลและเนื้อทุเรียนด้วย

น้ำเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเกษตรกรรมทุกชนิด เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของพืช น้ำเป็นตัวกลางในการนำเอาอาหารจากดินสู่รากพืช ถ้าขาดน้ำเสียแล้วอาหารในดินหรือปุ๋ยที่ใส่ลงไปก็จะไม่มีประโยชน์ต่อต้นไม้เลย ดังนั้น หลังจากปลูกทุเรียนเสร็จแล้วต้องรดน้ำให้ทันที ทุเรียนต้นเล็กเมื่อปลูกใหม่ควรรดน้ำทุกวัน อย่างน้อย 1 เดือน จากนั้นในช่วงปีแรกอาจให้เพียงวันเว้นวันหรือ 2-3 วันครั้งแล้วแต่ความชื้นของดินบริเวณโคนต้น โดยรดครั้งละประมาณ 5 ลิตร และต้องเพิ่มให้มากขึ้นทุกปี สังเกตดูว่าดินนั้นซึมน้ำได้รวดเร็วหรือไม่ ถ้าซึมได้รวดเร็วก็ควรรดน้ำให้มากขึ้นเล็กน้อย และอาจช่วยเก็บความชื้นในดินไว้ไม่ให้ระเหยเร็วโดยการใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมดินโคนต้น เมื่อความชื้นสูงหรือฝนตกจึงเอาออก เพราะถ้าโคนแฉะทำให้เกิดโรคเน่าได้ง่าย ยังเป็นที่อยู่อาศัยของปลวกซึ่งเป็นศัตรูของทุเรียน

การบังร่มให้ต้นทุเรียน นิสัยทุเรียนไม่ชอบที่โล่งแจ้ง ดังนั้น จึงควรมีไม้บังร่มให้แก่ทุเรียนบ้างโดยเฉพาะทุเรียนในปีแรกที่ยังเล็กอยู่ต้องการร่มเงามาก สามารถบังร่มได้ 2 วิธี คือ 1. ใช้ซาแรนบังร่ม 2. ปลูกไม้บังร่ม

การใช้ซาแรนบังร่ม ตัดซาแรนสูงกว่าต้นประมาณ 1 ฟุต เพื่อให้เงาซาแรนทอดลงมาบังแดดให้ต้นทุเรียนได้ โดยซาแรนที่ใช้บังควรบัง 3 ด้าน เปิดด้านที่โดนแดดตอนเช้าไว้ 1 ด้าน เพื่อให้ลมหมุนเวียนได้สะดวก ส่วนด้านบนไม่ต้องบังซาแรน เนื่องจากการบังซาแรนด้านบนจะช่วยบังแดดแค่ตอนเที่ยง ไม่ได้ช่วยบังต้นทุเรียนเวลาช่วงสายและช่วงบ่าย และการบังซาแรนด้านบนจะทำให้ต้นทุเรียนจะไม่ได้รับน้ำค้างเวลากลางคืน นอกจากนี้ การปักซาแรนควรเว้นระยะให้ห่างจากพื้นดินเล็กน้อยเพื่อให้ลมผ่านได้ และไม่ควรปักติดชิดต้นทุเรียนมากเกินไป เพราะซาแรนจะเก็บความร้อนไว้ เมื่อผืนซาแรนสัมผัสกับใบทุเรียนเป็นเวลานานจะทำให้ใบไหม้ได้

การปลูกไม้บังร่ม ไม้บังร่มจะช่วยให้ร่มเงาและให้ความชื้นแก่ต้นทุเรียน พืชบังร่มชั่วคราวที่ดีที่สุดคือกล้วยหอม หรือกล้วยไข่ เพราะปลูกง่าย โตเร็ว ให้ร่มเงาเร็วที่สุด ส่วนไม้บังร่มถาวรนั้นในสวนแบบยกร่องนิยมปลูกต้นทองหลางสลับระหว่างต้นทุเรียน ต้นทองหลางมีประโยชน์มาก นอกจากบังร่มแล้ว ใบของทองหลางที่หล่นลงร่องสวน ยังสามารถขุดขึ้นมาถมโคนทุเรียนซึ่งเป็นพวกอินทรียวัตถุได้ พอถึงฤดูแล้งน้ำที่ระเหยจากใบทองหลางจะช่วยให้ความชื้นในอากาศมากขึ้น ทำให้ทุเรียนไม่ชะงักการเจริญเติบโต นอกจากนี้ ไม้บังร่มยังเป็นรายได้จุนเจือชาวสวนอีกด้วย เช่น ค่ารักษาสวน ค่าปุ๋ยทุเรียน อีกทั้งยังช่วยป้องกันกำจัดวัชพืช เพราะเมื่อมีไม้บังร่มขึ้นปกคลุมแล้ว สวนก็จะร่ม พวกวัชพืชก็จะขึ้นน้อยลง

การให้ปุ๋ยต้องคำนึงถึงความต้องการธาตุอาหารของทุเรียนในระยะเวลานั้นๆ เป็นหลัก เช่น ระยะการเจริญทางกิ่งใบทุเรียนต้องการไนโตรเจนมาก ก่อนออกดอกเป็นช่วงที่ต้องทำให้ทุเรียนหยุดการเจริญเติบโตทางกิ่งใบเพื่อเตรียมออกดอก ปุ๋ยที่จะใส่ต้องมีไนโตรเจนลดลง เพิ่มปุ๋ยฟอสเฟต และโพแทสเซียมสูง เป็นต้น

การใส่ปุ๋ยให้กับทุเรียนจึงต้องให้สอดคล้องกับช่วงการเจริญเติบโต การใส่ปุ๋ยผิดเวลาอาจเกิดผลเสียและเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ แต่เนื่องจากการใส่ปุ๋ยให้แก่ทุเรียนขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดเป็นสูตรตายตัว หรือมีการทดลองอย่างจริงจัง และดินของแต่ละท้องที่ที่มีการปลูกทุเรียนก็แตกต่างกันไป

การใส่ปุ๋ยทุเรียนเริ่มตั้งแต่การเตรียมโคกปลูก คือผสมแกลบดิบและปุ๋ยคอกบนโคก หรือใส่เศษหญ้าและใบไม้แห้ง ผสมคลุกเคล้ากันไปหรือปุ๋ยอินทรีย์ให้สูงอย่างน้อย 20-30 เซนติเมตร ส่วนปุ๋ยวิทยาศาสตร์ยังไม่จำเป็นต้องใช้

ปุ๋ยทุเรียนในช่วง 2 ปีแรก หลังปลูกยังไม่ให้ผล เป็นระยะที่มีความสำคัญมาก เพราะความสำเร็จในการทำสวนทุเรียนในช่วงนี้จำเป็นต้องบำรุงรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต แม้ว่าต้นทุเรียนเล็กยังต้องการปุ๋ยไม่มากนัก การใส่อาจขุดเป็นร่องตรงระดับปลายราก กว้างราว 1 หน้าจอบ ลึก 3-4 นิ้ว ขุดเป็นวงกลมรอบต้นแล้วโรยปุ๋ยลงในร่องรอบโคนต้นที่ขุดไว้ ใช้ดินกลบปุ๋ยให้มิด ถ้าเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักใส่จนเกือบเต็มร่องที่ขุดไว้ แล้วใช้ดินกลบ

การป้องกันวัชพืชในสวนนับว่าเป็นสิ่งสำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ในการทำสวนทุเรียน ทุเรียนซึ่งมีรากอาหารอยู่ในระดับผิวดิน ถ้าปล่อยให้หญ้าขึ้นรกรุงรัง นอกจากจะแย่งอาหารและน้ำจากต้นทุเรียนแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรูทุเรียนได้ด้วย ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาสวนให้ปราศจากวัชพืชต่างๆ ได้ ก็ต้องคอยดูแลอย่าให้วัชพืชขึ้นคลุมยอดทุเรียนในระยะแรกได้ ซึ่งต้องทำการดายหรือถากถางออกเป็นครั้งคราว ในสวนทุเรียนที่เป็นที่ดอนอย่างน้อยต้องทำการเก็บวัชพืชปีละไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง คือ กลางฤดูฝนขณะฝนทิ้งช่วงซึ่งจะอยู่ประมาณเดือนกรกฎาคม และปลายฤดูฝน หลังจากหมดฤดูฝนแล้วประมาณเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคม ซึ่งวัชพืชที่ถูกกำจัด เมื่อแห้งตายก็จะกวาดเข้าคลุมต้นทุเรียนที่ปลูกได้อีก

การป้องกันกำจัดวัชพืชอีกวิธีหนึ่งคือ การปลูกพืชคลุมหรือพืชแซม เช่น กล้วย หรือพืชคลุมชนิดต่างๆ พืชเหล่านี้จะช่วยคลุมไม่ให้วัชพืชเจริญงอกงามได้เร็ว โดยเฉพาะพืชคลุมดินจะคลุมจนวัชพืชตายหมด พืชคลุมดินเหล่านี้จะขึ้นคลุมปิดบังแสงแดดไม่ให้ส่องถึงผิวดินทำให้ดินไม่ร้อนจัดและชุ่มชื้นอยู่เสมอ รวมถึงทำให้การสูญเสียหน้าดินจากน้ำฝนน้อยลง

แต่ข้อมูลนี้เป็นการปลูกทุเรียนทั่วไปหากอยากจะรู้ว่าอาจารย์เสถียรปลูกทุเรียนในภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ไหล่เขาในจังหวัดเชียงใหม่อย่างไร คงต้องสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร. 085-620-8599

“เป้” หรือ คุณภัทรพงษ์ เรียบร้อยเจริญ หนุ่มไอทีวัย 37 ปี ทำงานประจำที่กรุงเทพฯ มานานนับสิบปี ตัดสินใจแบ่งเวลาว่าง มาเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรตามรอยพ่อแม่ ในชื่อ Oppa Farm ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งทอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี คุณเป้ ปลูกเมล่อนญี่ปุ่น มะเขือเทศยุโรป ผักสลัดในระบบเกษตรอินทรีย์ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) และมาตรฐาน Q อาหารปลอดภัยจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรียบร้อยแล้ว สินค้าทุกชนิดขายดีจนผลิตไม่ทันกับความต้องการตลาด

สมัครเข้าโครงการ YSF
“เมื่อ 3 ปีก่อนผมตั้งใจกลับบ้านมาช่วยครอบครัวทำอาชีพเกษตร เพื่อจะมีเวลาว่างดูแลพ่อแม่อย่างใกล้ชิด แต่ผมไม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องการทำเกษตรเลย จึงเริ่มต้นขอความรู้เรื่องการทำเกษตรจากพ่อแม่ก่อน หลังจากนั้นเดินเข้ากรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อขอคำแนะนำจากนักวิชาการเกษตรโดยตรง ต่อมาผมสมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer (YSF) ปี 2564 จังหวัดกาญจนบุรี ได้แลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่ายด้านการตลาดร่วมกับเพื่อนเกษตรกรในท้องถิ่น” คุณเป้ กล่าว

นางสาวกวินทรากานต์ มาลัยทองแก้วสุภา เกษตรอำเภอท่าม่วง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดโอกาสให้เกษตรกรรุ่นใหม่อายุระหว่าง 17-45 ปี ที่เริ่มต้นทำการเกษตร มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำการเกษตร ต้องการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตตนเอง เข้าร่วมโครงการ Young Smart Farmer เพื่อได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และการสร้างเครือข่าย โดยให้เกษตรกรเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้และออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง” และมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็น “ผู้จัดการเรียนรู้” มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีความสามารถด้านการเกษตร ทดแทนเกษตรกรผู้สูงอายุ และสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาด จนเป็นเกษตรกรมืออาชีพที่เป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในทุกระดับ ขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรและองค์กรเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง และดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“คุณเป้ เป็นหนึ่งใน YSF ต้นแบบของอำเภอท่าม่วงที่ประสบความสำเร็จในด้านการผลิตและการตลาด โดยเปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ ถ่ายทอดความรู้เรื่องการปลูกผักอินทรีย์ การตลาดและการแปรรูปผักอินทรีย์แก่เกษตรกรและผู้สนใจ รวมทั้งสร้างเครือข่ายเกษตรรุ่นใหม่ที่พร้อมจะก้าวหน้าและพัฒนาอาชีพการเกษตรสู่ความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน” เกษตรอำเภอท่าม่วง กล่าว

ปลูกเมล่อนญี่ปุ่น ในโรงเรือน
เดิมทีครอบครัวคุณเป้ ปลูกผักคะน้า ผักชี กุยช่าย โดยใช้สารเคมี แต่คุณเป้สนใจในการทำเกษตรยุคใหม่ ในรูปแบบผักปลอดสารเคมี หวังให้ลูกค้าได้บริโภคพืชผัก Organic เพื่อสุขภาพที่ดี ภายใต้สโลแกน “อยู่ดี – กินดี – ทำดี – สุขภาพดี”

คุณเป้ ชื่นชอบการบริโภคเมล่อนญี่ปุ่น จึงเริ่มต้นด้วยการปลูกเมล่อนสายพันธุ์ญี่ปุ่น New Orange เนื้อส้ม หวาน กรอบ และเมล่อนพันธุ์กรีนแมน เนื้อสีเขียว รสชาติหวาน ประมาณ 16 บริกซ์ หลังจากผสมเกสรต้นเมล่อนได้ 5 วัน จะคัดลูกเมล่อนที่มีสภาพสมบูรณ์ให้เหลือแค่ 1 ผล ต่อต้น ภายในโรงเรือนติดตั้งระบบการให้น้ำแบบตั้งเวลา ที่นี่ไม่ใช้ปุ๋ยเร่งความหวาน แต่ใช้วิธีการลดน้ำ กระตุ้นให้พืชเปลี่ยนจากแป้งเป็นน้ำตาล ทำให้ผลเมล่อนมีรสหวานโดยวิธีการทางธรรมชาติ ทานไปแล้วไม่รู้สึกหวานแสบคอเหมือนกับการใช้ปุ๋ยเร่งความหวาน

ปลูกมะเขือเทศยุโรป
นอกจากนี้ Oppa Farm ยังปลูกมะเขือเทศสายพันธุ์ยุโรป โดยนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ เช่น มะเขือเทศสายพันธุ์ Solarino and Fortesa ซึ่งต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์อย่างเดียวตกเมล็ดละ 15-30 บาทแล้ว หลังจากย้ายต้นกล้าอายุ 1 เดือน เข้ามาปลูกในโรงเรือนซึ่งใช้กาบมะพร้าวเป็นวัสดุปลูก พร้อมติดตั้งระบบน้ำหยด ตั้งเวลาให้น้ำวันละ 6 รอบ ส่วนปุ๋ยให้ตามระยะการเติบโตของพืช

หลังปลูกต้นกล้ามะเขือเทศในโรงเรือนไปได้ 45 วัน ต้นมะเขือเทศเริ่มติดผลสีแดง รอไป 2 สัปดาห์ ก็เริ่มเก็บผลผลิตออกขายในราคากิโลกรัมละ 300 บาท สำหรับต้นมะเขือเทศยุโรปที่ปลูกให้ผลผลิตเฉลี่ยต้นละ 2 กิโลกรัม หากมีการดูแลบำรุงต้นอย่างเหมาะสม สามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ต่อเนื่อง 4-5 เดือน ปัจจุบัน มะเขือเทศยุโรปขายดีจนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด เพราะมะเขือเทศสายพันธุ์นี้รสชาติ หวาน อร่อย กินเล่นเพลินๆ เหมือนกินผลไม้ บำรุงผิวพรรณและบำรุงสุขภาพที่ดีทั้งร่างกาย

ปลูกผักสลัดยกแคร่
เดิมคุณเป้ปลูกผักสลัดอินทรีย์บนดิน แต่ดูแลจัดการยาก จึงปรับเปลี่ยนมาปลูกผักยกแคร่ในโรงเรือนแทน ปัจจุบันมีโรงเรือนปลูกผักสลัดอินทรีย์ จำนวน 10 โรงเรือน สามารถปลูกผักได้ 30 กิโลกรัม ต่อโรงเรียน ที่นี่ปลูกผักสลัดจำนวน 10 ชนิด โดยผักสลัดที่ขายดีและปลูกจำนวนมาก ได้แก่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ผักคอส ผักสลัดฟิลเลย์ และผักกาดหอมบัตเตอร์เฮด ขายในราคากิโลกรัมละ 120 บาท สินค้าขายดีจนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด เพราะผัดสลัดอินทรีย์ของ Oppa Farm สด สะอาด ปลอดภัย มีรสหวาน กรอบ อร่อย

“หัวใจของการปลูกผักสลัดอินทรีย์ มีเคล็ดลับสำคัญอยู่ที่การเตรียมดิน ฟาร์มของผมจะปรุงดินขึ้นมาใช้เอง โดยนำต้นกล้วยมาสับหมักกับมูลวัว ปุ๋ยไส้เดือน ผสมกับดินที่เตรียมไว้ พักดินก่อนปลูก 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นรดน้ำหมักผลไม้และปุ๋ยน้ำหมักจากปลา เพื่อปรับปรุงสภาพดินและราดหัวเชื้อไตโคเดอร์ม่าเพื่อป้องกันเชื้อราในดินก่อนนำไปใช้เป็นวัสดุปลูกในโรงเรือน” คุณเป้ กล่าว

หลังจากนั้นนำต้นกล้าผักสลัดมาปลูกบนแคร่ในโรงเรือนในระยะห่างระหว่างต้น 15 เซนติเมตร ช่วง 7 วันแรกของการปลูก จะติดแผ่นซาแรนช่วยพรางแสงให้กับต้นกล้าก่อน เมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้ก็เอาแผ่นซาแรนออกได้ให้พืชได้รับแสงแดดสำหรับใช้สังเคราะห์อาหาร เปิดให้น้ำวันละ 3-4 รอบ ดูจากสภาพอากาศเป็นหลัก

ช่วงเช้าจะฉีดปุ๋ยสังเคราะห์แสงและรดปุ๋ยน้ำหมักจากเหง้ากล้วย ตอนกลางวันจะฉีดปุ๋ยผลไม้ ส่วนตอนเย็นจะฉีดพ่นน้ำหมักสะเดา หรือน้ำหมักหัวหอมเพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช แปลงปลูกผักสลัดมักเจอปัญหาหนอนผีเสื้อมาวางไข่ ก็จะใช้วิธีเดินสำรวจหาหนอนตอนช่วงกลางคืน เพื่อนำไปทำลาย หากเจอปัญหาเชื้อราจะใช้วิธีฉีดพ่นเชื้อไตโคเดอร์ม่าเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อรา

ทุกวันนี้ มีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาซื้อผักสลัดอินทรีย์ถึงหน้าฟาร์ม นอกจากนี้ คุณเป้ยังจำหน่ายสินค้าผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊ก “Oppa Farm” และส่งขายห้างโรบินสัน กาญจนบุรี ตลาดเกษตรของจังหวัดกาญจนบุรี ทุกวันจันทร์-พุธ-ศุกร์

คุณเป้ ยังร่วมมือกับกลุ่มเพื่อน YSF ตั้งเพจขายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ จำหน่ายผลผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรในเครือข่ายอีกด้วย คุณเป้วางแผนขยายกำลังการผลิตมะเขือเทศ เมล่อน และผักสลัดอินทรีย์ เพื่อรองรับความต้องการของตลาด รวมทั้งเปิดร้านค้าจำหน่ายผลผลิตหน้าฟาร์มและพัฒนาฟาร์มแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของท้องถิ่นในอนาคต

มะยงชิด ผลไม้ขึ้นชื่อจังหวัดนครนายก desktopexchange.net หากใครได้ลิ้มลองรสชาติ เป็นอันต้องติดใจ ด้วยลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนที่อื่น ทั้งขนาดของผลที่ใหญ่ สีของเปลือกและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมมะยงชิด ของที่นี่มีชื่อเสียงกลายเป็นซิกเนเจอร์ของจังหวัด ที่ใครมาแล้วต้องซื้อกลับ

ซึ่งครั้งนี้เทคโนโลยีชาวบ้านก็ไม่พลาดที่จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับสวนมะยงชิดลุงนวย นับเป็นอีกสวนที่ขึ้นชื่อเรื่องของคุณภาพ และรสชาติของมะยงชิดที่หวานกำลังดี มีอมเปรี้ยวหน่อยๆ รวมถึงขนาดผลใหญ่ ที่ใหญ่เท่าๆ กับไข่ไก่ จนแม่ค้าต้องมานอนเฝ้าขอซื้อถึงสวน

คุณอำนวย อินไชยะ (ลุงนวย) ข้าราชการเกีษยณ (เจ้าของสวนมะยงชิดลุงนวย) อยู่บ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 7 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เล่าว่า ก่อนที่จะมาทำสวนมะยงชิด ตนทำงานรับราชการเป็นนายช่างสมุทร อยู่กรมพัฒนาที่ดินมาก่อน งานสวนถือเป็นเรื่องไกลตัว อาศัยความมีใจรัก ระหว่างรับราชการมีโอกาสได้ไปคุมงานตามต่างจังหวัด ก็จะไปเสาะหาพันธุ์ไม้ดีๆ มาปลูกสะสมไว้ ด้วยลักษณะของงานที่ทำค่อนข้างเครียด กลับบ้านก็อยากพักผ่อนได้เห็นสีเขียวๆ เดินดูเพลินๆ ปลูกมาหลายชนิด มาจบสุดท้ายที่มะยงชิด เพราะมะยงชิดเป็นไม้ผลที่ดูแลง่าย ช่วงไปทำงานก็อาศัยให้เทวดาช่วยเลี้ยง

พลิกดินเปรี้ยวปลูกมะยงชิด
ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยคอก ได้ผลดี ต้นทุนต่ำ
ลุงนวย บอกว่า มะยงชิดเป็นผลไม้ที่ออกไม่ตรงกับผลไม้ชนิดอื่น มองเห็นอนาคตว่าจะกลายเป็นของหายากและขายได้ราคาดี ตอนนี้ปลูกมะยงชิดทั้งหมด 12 ไร่ เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นดินเปรี้ยว มีค่า pH 3.5-4 ก่อนปลูกจึงต้องปรับปรุงดินใส่ปุ๋ยคอก แล้วขุดบ่อยกร่องตากดิน ปุ๋ยมูลสัตว์จะเข้าไปช่วยปรับสมดุลในดิน เมื่อต้นไม้ยืนต้นจะปรับสภาพได้เอง

“ก่อนหน้านี้ปลูกมะยงชิดหลายพันธุ์ ไปที่ไหนก็เสาะหามาปลูก หาเองบ้างให้ลูกน้องช่วยหาบ้าง จนมาจบที่พันธุ์บางขุนนนท์ ที่ได้มาจากเพื่อนที่มีบ้านอยู่นนทบุรี จึงให้เขาช่วยหาพันธุ์มา พอปลูกแล้วรู้สึกว่าพันธุ์นี้ถูกใจกว่าพันธุ์อื่น ทั้งเรื่องรสชาติ ขนาดของผล และสีของเปลือก จึงตัดสินใจที่จะปลูกพันธุ์นี้เป็นการค้า”

ลุงนวย เล่าถึงเทคนิคและขั้นตอนการปลูกมะยงชิดว่า อาชีพเกษตรกรรมทำให้ดีต้องมีการวางแผน ผลผลิตแต่ละปีได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย ควรวางแผนการปลูก ที่นี่จะไม่ทำผลผลิตให้ออกพร้อมกันทั้งหมด จะแบ่งปลูกเป็นชุด ชุดละ 5 ไร่ 10 ไร่ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง ชุดนี้โดนฝน ชุดนี้ไม่โดน ถือว่ายังมีผลผลิตได้ออกขายบ้าง