การเดินทางมาสวนประสมทรัพย์แห่งนี้ไม่ยุ่งยากมีป้ายบอกเส้นทาง

ตลอด หากใช้ถนนสาย 36 เลี้ยวซ้ายจากห้างบิ๊กซี ถึงสวนแห่งนี้ มีระยะทาง 20 กิโลเมตร เท่านั้น หากใช้เส้นทาง 38 มาถึงสวนแห่งนี้ ใช้ระยะทางเพียงแค่ 7 กิโลเมตร หากมาไม่ถูก โทร.สอบถามเส้นทางกับลุงจวบ โทร. (081) 377-3056 หรือ ป้าสม โทร. (081) 481-6598 และ (038) 032-646 ได้ทุกวัน นอกจากจะได้ชิมผลไม้รสอร่อยแล้ว ลูกค้ายังมีโอกาสเลือกซื้อกิ่งพันธุ์ไม้คุณภาพดีนานาชนิด เช่น มะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ฯลฯ ติดมือกลับไปปลูกที่บ้านอีกด้วย

พื้นที่ที่ถูกขุดปลูกเป็นไร่อ้อย กว่า 600 ไร่ ในเขตตำบลหนองจาน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ในความดูแลของเกษตรกรวัยกลางคน คุณศรี ปานมา อายุ 63 ปี ชาวไร่อ้อย แต่กำเนิด แม้อายุจะเลยวัยเกษียณมาแล้ว แต่คุณศรี ก็จัดว่าเป็นเกษตรกรตัวยงคนหนึ่ง ที่ตรากตรำ คร่ำเคร่งกับงานในอาชีพอย่างมั่นคง และมุ่งมั่นศึกษา พัฒนา เพื่อต่อยอด ให้การปลูกอ้อยที่ทำมาตลอดชีวิตมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

คุณศรี ไม่มีวุฒิการศึกษาใดมาประดับ อ่านและเขียนหนังสือได้ไม่มาก แต่ ณ วันนี้ รางวัลที่เป็นเครื่องการันตีว่าเกษตรกรผู้นี้มีคุณสมบัติน่ายกย่องให้เป็น “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” ตามหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวจริง

การปลูกอ้อยที่ดูเหมือนธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา ของคุณศรี มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่การไม่เผาใบอ้อยในไร่เฉกเช่นเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยทั่วไป เป็นสิ่งที่คุณศรีทำมาตั้งแต่จำความได้ว่าเริ่มลงมือปลูกอ้อยทุกขั้นตอนด้วยตนเอง เหตุผลถูกอธิบายเพียงสั้นๆ ว่า ดินที่เสื่อมสภาพจากการเพาะปลูกหลายครั้ง ส่วนใหญ่เสื่อมสภาพจากการขาดธาตุไนโตรเจน ใบอ้อยที่ถูกตัดทิ้งหลังเก็บเกี่ยว เป็นใบอ้อยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง หากไถกลบไปพร้อมกับการเตรียมดินก่อนการเพาะปลูกรอบต่อไป จะช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้กับดิน เป็นการบำรุงดิน ไม่สูญเสียแร่ธาตุในดิน เหมือนการเผาใบอ้อย ซึ่งการเผาใบอ้อยภายในไร่นั้น นอกจากจะไม่เป็นการเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้กับดินแล้ว ยังเป็นการทำลายหน้าดินและแร่ธาตุที่มีอยู่ในดินชนิดอื่นให้หมดไปด้วย

ข้อมูลที่คุณศรีนำมาอธิบาย เขายกตัวอย่างคร่าวๆ จากการวิจัยของนักวิชาการ กรมวิชาการเกษตร ซึ่งทำการวิจัยและเผยแพร่ข้อมูลมายังเกษตรกร แต่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจำนวนมาก ก็ยังไม่ปรับวิธีกำจัดใบอ้อย ยังคงใช้การเผาเช่นเดิม

“ในอนาคต ใบอ้อยที่ถูกไถกลบไปพร้อมกับการเตรียมการปลูกครั้งต่อไป ผมตั้งใจเก็บไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อนำไปขายให้กับโรงไฟฟ้า ในราคากิโลกรัมละ 1 บาท เพราะใบอ้อยเป็นพลังงานอย่างดี สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับทำเชื้อเพลิงได้”

แนวคิดที่เป็นเกร็ดเล็กน้อยนี้ ส่งผลให้คุณศรี มีความแตกต่างทางด้านความคิด รู้ศึกษา เพื่อนำมาต่อยอดกับการเกษตรที่ดำเนินอยู่ แม้จะถูกมองว่าแตกต่างจากเพื่อนบ้านในระยะแรก แต่ผลที่ตอบสนองกลับมา ทำให้คุณศรีได้รับการยอมรับว่า เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าคนหนึ่ง ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับหลักที่สำคัญของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ตั้งแต่การมีความรู้ในอาชีพ การมีข้อมูลในการตัดสินใจ ที่สำคัญก็คือการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นเครื่องมือทางการเกษตรที่คุณศรีเห็นว่ามีความจำเป็น เพราะปัจจุบัน แรงงานคนในภาคเกษตรลดน้อยถอยลงไปทุกขณะ ถึงกับมีข่าวแพร่กระจายว่าในหลายพื้นที่ วิกฤตแรงงานภาคเกษตรอย่างหนักถึงขั้นตกเขียวแรงงานก็มี

“แรงงานภาคเกษตรเริ่มหายากมาก ค่าแรงก็สูง บางรายเสียรู้วางเงินมัดจำไปก่อน เมื่อถึงวันเข้าพื้นที่การเกษตรจริง แรงงานกลับไม่มา ตามก็ไม่ได้”

คุณศรี เห็นความจำเป็นของเครื่องจักรกลการเกษตรมานานแล้ว ก่อนเกิดวิกฤตแรงงานภาคเกษตร โดยแรกเริ่มในอดีต รถไถเดินตาม เป็นเครื่องจักรกลการเกษตรชิ้นแรก ที่ช่วยผ่อนแรงในไร่อ้อย ต่อมาการใช้แรงงานคนในการใส่ปุ๋ยไม่ครบถ้วน ทำให้ผลผลิตไม่ได้ตามต้องการ จึงคิดหาวิธีสร้างเครื่องใส่ปุ๋ย เพื่อให้อ้อยในไร่ได้รับปุ๋ยที่เท่ากัน ในที่สุด คุณศรีก็สามารถสร้างอุปกรณ์ต่อพ่วงเข้ากับรถไถเดินตาม เป็นเครื่องใส่ปุ๋ยภายในไร่อ้อยได้สำเร็จ

ปุ๋ยที่ใช้สำหรับอ้อย คุณศรี เลือกที่จะใช้เพื่อการกำจัดศัตรูพืชไปพร้อมกัน ไม่ให้ปุ๋ยละลายไปกับวัชพืชที่ไม่ต้องการ

“ผมใช้ปุ๋ยน้ำที่ทำจากกากผงชูรส ปริมาณ 200 ลิตร ผสมกับพาราควอด (ยาฆ่าหญ้า) 1 ลิตร จากนั้นนำไปพ่นในแปลงอ้อย วัชพืชที่ไม่ต้องการ เช่น หญ้า เมื่อถูกพาราควอดก็ตาย ส่วนอ้อย เมื่อได้ปุ๋ยน้ำ ก็เจริญงอกงามดี ต้นทุนการให้ปุ๋ยก็ถูกลง อยู่ที่ไร่ละ 200-300 บาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับปุ๋ยเคมีที่ต้องใช้ปริมาณ 1 กระสอบต่อไร่ ราคากระสอบละ 600 บาท แพงกว่าถึง 2 เท่า”

ปัญหาที่ตามมา คือ หากใช้ปุ๋ยน้ำผสมพาราควอดต่อเนื่องนาน จะทำให้ดินแข็ง เพราะไนโตรเจนในดินจะหมดไป ควรแก้ปัญหาด้วยการเว้นระยะการให้ปุ๋ยน้ำผสมพาราควอด 2-3 ปี ระหว่างนั้นใส่ปุ๋ยเคมีแทน แต่ควรให้ปุ๋ยที่มีค่าตัวท้าย หรือค่าโพแทสเซียม (K) สูง จะช่วยทดแทนกันได้

การเพิ่มผลผลิตในไร่อ้อยของคุณศรี ไม่ใช่เรื่องยาก การศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ทำให้คุณศรีได้เทคนิคการเพิ่มผลผลิตอ้อยจากต่างประเทศ มาทดลองใช้ และได้ผลดี โดยเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการเกษตรที่ประเทศออสเตรเลีย พบว่า การให้ปุ๋ยผ่ากลางกออ้อย จะทำให้อ้อยได้รับปุ๋ยทั่วถึงมากขึ้น ผลผลิตก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

การให้ปุ๋ยผ่ากลางกอ เพิ่มผลผลิต ลดวัชพืช

ปกติใส่ปุ๋ยรอบกออ้อย ทำให้ปุ๋ยที่ให้แผ่กระจายออกด้านข้าง ไปยังส่วนที่เป็นดินหรือช่องว่างระหว่างกอ บริเวณดังกล่าวเมื่อมีปุ๋ยจะทำให้วัชพืชขึ้นง่าย

ให้ใช้เครื่องมือทางการเกษตรแหวกกลางกออ้อย จากนั้นจึงใส่ปุ๋ย ปุ๋ยจะแผ่กระจายออกด้านข้าง ทำให้กออ้อยทั้งสองด้านได้รับปุ๋ยเต็มที่ บริเวณพื้นที่ว่างระหว่างกอ ก็ไม่ได้รับปุ๋ย วัชพืชจึงไม่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม การให้ปุ๋ยผ่ากลางกอวิธีนี้ ต้องใช้ลิปเปอร์ระเบิดดินดาน (เครื่องจักรกลการเกษตร) แทงดินลงให้ลึก จากนั้นเมื่อดินแตก ก็ให้ปุ๋ยลงไป จะทำให้ปุ๋ยลงลึกไปใต้กออ้อย อีกทั้งมีพื้นที่กักเก็บน้ำใต้ดินสำหรับอ้อยด้วย

ปริมาณปุ๋ยจากเดิมที่ต้องให้อยู่ที่ 50-70 กิโลกรัม ต่อไร่

เมื่อให้ด้วยวิธีผ่ากลางกอ จะลดปริมาณปุ๋ยลงเหลือเพียงไร่ละ 30 กิโลกรัม

ปัจจุบัน คุณศรีใช้แรงงานคนในภาคเกษตรเพียง 10-15 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงาน เพราะเชื่อมั่นในการทำงานที่ได้มาตรฐาน เช่น เครื่องระเบิดดินดาน เครื่องให้ปุ๋ย เครื่องตัดอ้อย เครื่องพ่นยา เครื่องปลูก เป็นต้น

คุณศรี แนะนำเกษตรกรรายย่อย ที่ไม่มีเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นของตนเอง บางขั้นตอนของการทำการเกษตร ควรมีเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วย จะผ่อนแรงได้มาก และทำให้ผลผลิตได้ตามที่ตั้งเป้าไว้

“ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นรายใหญ่ ถ้าไม่มีเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นของตนเอง ก็รวมกับเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน เมื่อมีปริมาณผลผลิตที่มาก ก็ขอให้โรงงานน้ำตาล ซึ่งมีเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่ (รถตัดอ้อย) เข้ามาดำเนินการให้ได้เช่นกัน”

สำหรับคุณศรีแล้ว ไม่ใช่เพราะเขามีพื้นที่ปลูกอ้อยมาก แต่เพราะเขามีวิธีคิดที่แตกต่าง คุณศรี เห็นว่า ค่าจ้างตัดอ้อยตันละ 555 บาท รวมเบ็ดเสร็จค่าตัดอ้อยทั้งหมดประมาณ 1.5 ล้านบาท หากต้องจ่ายค่าตัดอ้อยทุกปี ปีละ 1.5 ล้านบาท แต่นำเงินส่วนนี้ไปผ่อนชำระค่างวดรถตัดอ้อย เพียง 5-6 ปี ก็มีรถตัดอ้อยเป็นของตนเองได้เช่นกัน

แม้ว่าปัจจุบัน คุณศรี จะมีอายุ 63 ปีแล้ว แต่คุณศรีก็ยังไม่เลิกศึกษาค้นคว้าการพัฒนางานด้านการเกษตร เพราะมีความภูมิใจในอาชีพ หลักข้อสำคัญอีกข้อของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเกษตร เป็นการพัฒนาและต่อยอดได้อย่างดี

ในช่วงที่ผ่านมา เชื้อไวรัส โควิด-19 ได้ทำให้พฤติกรรมของคนเราเปลี่ยนไป ยิ่งในชีวิตประจำวันต่างก็ตื่นกลัวโรคร้าย จากพฤติกรรมที่เคยชิน ต้องอยู่อย่างหวาดระแวง ดีที่ได้บุคลากรทางการแพทย์ของเราที่เอาใจใส่ในสุขภาพของประชาชน นับเป็นที่พึ่งพิงทางใจและกายได้เพียงอย่างเดียวในยุคโรคร้ายนี้ แต่ถึงจะมีผลกระทบอย่างไร ผู้เขียนดีใจอย่างหนึ่ง เกษตรกรมีผลกระทบทางด้านอาหารไม่มากนัก

สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญในยุคนี้ สำหรับคนที่สูงอายุและมีโรคประจำตัวควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ซึ่งเมื่อติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีโอกาสเสียชีวิตได้ง่ายกว่าคนอื่น กลุ่มคนอายุ 60-69 ปี พบว่า เป็นโรคเบาหวานสูงสุด ร้อยละ 15.9 ในผู้ชาย และร้อยละ 21.9 ในผู้หญิง ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานถึง 4.8 ล้านคน

เป็นที่น่ากังวลว่า ข้าวที่เรากินทุกวันในจำนวนที่มากกว่ากับข้าวซึ่งกลายเป็นอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง ซึ่งหมายถึงว่าข้าวสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ในปริมาณสูงเมื่อกินเข้าไป ทำให้คนรักสุขภาพส่วนหนึ่งจึงพิถีพิถันในเรื่องข้าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นอาหารหลักของคนไทยเรา ว่าควรจะต้องบริโภคข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น ข้าวกล้อง ข้าวฮาง หรือไม่ก็เลือกบริโภคข้าวพันธุ์ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำเสียเลย โดยไม่ต้องผ่านกรรมวิธีใดๆ ข้าวพันธุ์ กข 43 จึงเป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ

ข้าวพันธุ์ กข 43 ถูกคัดเลือกจากการผสมข้ามพันธุ์ลูกผสมเดี่ยวระหว่างพันธุ์ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี (พันธุ์แม่) กับพันธุ์สุพรรณบุรี 1 (พันธุ์พ่อ) ที่ศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี ในฤดูนาปรัง พ.ศ. 2542 คัดเลือกได้สายพันธุ์ SPR99007-22-1-2-2-1 ปลูกทดสอบผลผลิตในศูนย์วิจัยข้าวและในนาเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปี 2551 มีการรับรองพันธุ์ คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว พิจารณารับรองพันธุ์ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2552 ใช้ชื่อว่า ข้าวเจ้า กข-43 มีค่าดัชนีน้ำตาลแค่ 57.5

คุณธนรัชต์ เพชรรักษ์ หรือ คุณบีช แห่ง มณีรักษ์ฟาร์ม เป็นลูกชาวนาโดยกำเนิด ในท้องที่ตำบลพักทัน อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี จบการศึกษาสัตวศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิหันตรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี 2562 นี้เอง หลังจากจบก็ไปทำงานเป็นสัตวบาลที่ฟาร์มหมู จังหวัดฉะเชิงเทรา ทำงานไม่ถึงปีก็เก็บเงินได้เกือบแสน จึงได้ลาออกมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว โดยนำเงินส่วนหนึ่งไปขุดโคกหนอกรวมเป็นพื้นที่ 3 ไร่ และคิดว่า จะต้องเอาเงินไปทำอะไรให้ได้เงินคืนมาเร็วที่สุด จึงมาเริ่มต้นที่เห็ดนางฟ้า จึงคิดทำโรงเห็ดไว้ 2 โรง ขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร ซื้อเห็ดภูฏานมา 500 ก้อน ราคาก้อนละ 8 บาท ใช้เวลา 7 วัน ก็เริ่มเก็บดอกเห็ดได้แล้ว นำไปขายที่ตลาดเกษตรจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งอยู่ในอำเภอเมือง เปิดขายเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึงเที่ยง

ช่วงแรกผักที่ปลูกก็มี ผักสลัด ผักบุ้ง ผักกาดขาว คะน้า กวางตุ้ง พริก มะเขือเทศ บวบ แตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือยาว มะเขือเปราะ มะระจีน ชะอม และดอกสลิด ซึ่งเป็นผักที่วางแผนปลูกไว้ตั้งแต่ก่อนจะลาออกจากงาน โดยมอบหมายให้พี่ชายเป็นผู้ดูแล เมื่อลาออกมาผลผลิตก็สามารถสร้างรายได้ได้ทันที รวมถึงไก่ไข่ที่ซื้อไก่สาวมาเตรียมไว้ รวม 50 ตัว ใช้ผักที่ตัดแต่งออกมาก่อนนำไปขายมาเป็นอาหารเสริม

ส่วนอาหารหลักเป็นข้าวเปลือก รำหยาบ รำละเอียด ปลายข้าว ซึ่งมีอยู่แล้วในฟาร์ม นำมาผสมเป็นอาหารให้ไก่ รวมถึงอาหารเสริม เช่น หยวกกล้วยสับหมักกากน้ำตาลและผลไม้สุกที่อยู่ในสวน ไข่ที่ได้จึงมีสีแดงกว่าเลี้ยงด้วยอาหารไก่สำเร็จรูป แต่จะมีเปอร์เซ็นต์ไข่ที่ประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

การเลี้ยงไก่ไข่ปล่อยลานจะมีข้อดีที่อายุไข่จะนานกว่าไก่กรงตับ และมีรสชาติดีกว่า ขายปลีกฟองละ 4 บาท เนื่องจากถือเป็นอาหารสุขภาพ จึงเป็นที่ต้องการ ทำให้ปัจจุบันต้องเพิ่มปริมาณการเลี้ยงไก่ไข่เป็น 150 ตัว ซึ่งเพียงพอสำหรับปริมาณผลพลอยได้จากข้าวที่สีพอดี นอกจากไปจำหน่ายที่ตลาดนัดเกษตรแล้ว ชาวบ้านละแวกนั้นที่มั่นใจในคุณภาพไข่ไก่ของฟาร์มก็จะมาซื้อหาถึงที่

ทางหน่วยราชการโดยเกษตรจังหวัดได้ติดต่อมาให้นำไปจำหน่ายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตในเมืองสิงห์บุรี โดยส่งผักสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยจะบอกล่วงหน้า 3 วัน นาส่วนที่เหลือในปัจจุบัน ทำนาปีละ 2 ครั้ง แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ กับข้าวพันธุ์ กข 43 หลังจากชักน้ำเข้านาจนเป็นตมแล้ว ก็จะใช้ที่หยอดข้าวลากเอาเอง วันหนึ่งจะลากได้วันละ 4 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่แช่ไว้แค่ 24 ชั่วโมง ต่อไร่ จะใช้พันธุ์ข้าวประมาณ 8-10 กิโลกรัม

ข้าว กข 43 จะใช้เวลาจนถึงเก็บกี่ยว 95 วัน ส่วนข้าวหอมมะลิ จะใช้เวลา 120 วัน ผลผลิตข้าวเปลือกต่อไร่ประมาณ 600 กิโลกรัม หลังจากสีแล้วจะเหลือ 70 เปอร์เซ็นต์ คือ 420 กิโลกรัมข้าวสาร ที่ปลูกข้าว กข 43 เนื่องจากมีงานวิจัยของโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และกองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว โดยคัดเลือกจากพันธุ์ข้าวในประเทศไทย พบว่า ข้าวพันธุ์ กข 43 มีปริมาณน้ำตาลกลูโคสต่ำกว่าข้าวชนิดอื่นๆ จึงเหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน

ข้าวในภาคกลางส่วนใหญ่จะปลูกข้าวพันธุ์หอมปทุม สำหรับป้อนโรงสีในแถบนี้ ซึ่งเน้นปริมาณเป็นสำคัญ การปลูกข้าว กข 43 จึงมีปริมาณน้อยมาก พันธุ์ข้าว กข 43 ดังกล่าว ซื้อมาจากศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี ซึ่งมีมาตรฐานเชื่อถือได้ ว่าได้พันธุ์ข้าวแท้แน่นอน และมณีรักษ์ฟาร์มเห็นว่าการปลูกข้าว กข 43 นี้ สามารถนำมาแปรรูปและขายเป็นผลิตภัณฑ์ได้ เนื่องจากมีคนปลูกน้อย

ส่วนราชการได้สนับสนุนให้ มณีรักษ์ฟาร์ม เป็นโรงสีขนาดเล็ก ที่รับสีข้าวจากเกษตรกร ซึ่งมีอุปกรณ์เครื่องสี เครื่องคัด เครื่องอบ ครบถ้วน ข้าวจะถูกอบจนเหลือความชื้นเหมาะสมสำหรับสีก่อน เครื่องสีของฟาร์มสามารถปรับเป็นข้าวกล้องหรือข้าวขาว ค่าสีจะคิดราคา 15 บาท จากข้าวเปลือก 10 กิโลกรัม

ผลพลอยได้จากการสี เช่น ปลายข้าว รำ แกลบ ได้นำมาใช้ในสวนอย่างพอเพียง ชาวนาส่วนใหญ่ปัจจุบันจะปลูกข้าวหอมปทุมทั้งหมด เมื่อเกี่ยวข้าวแล้วก็จะขายเข้าโรงสีทั้งหมด แล้วซื้อข้าวกิน

ปลูกเอง สีเอง นักเลงพอ

เมื่อข้าวที่ปลูกของมณีรักษ์ฟาร์ม พร้อมเก็บเกี่ยวก็จะใช้รถเกี่ยวเหมือนปกติทั่วไป เมื่อนำมาคัดสิ่งเจือปนออกหมด ก็จะอบให้แห้งบรรจุถุงพลาสติก ถุงละ 25 กิโลกรัม เก็บไว้ในยุ้งฉาง แล้วค่อยนำมาสีสัปดาห์ละครั้ง ตามจำนวนที่คาดว่าจะจำหน่ายได้ และตามลูกค้าสั่ง ข้าวสารที่จำหน่ายจะมีทั้ง ข้าว กข 43 และข้าวหอมมะลิ เป็นทั้งข้าวกล้องและข้าวขาว ข้าว กข 43 ทั้งข้าวขาวและข้าวกล้อง จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 70 บาท

ส่วนข้าวหอมมะลิทั้งข้าวขาวและข้าวกล้อง จำหน่ายกิโลกรัมละ 40 บาท ผลิตภัณฑ์ของฟาร์มฯ สามารถจำหน่ายได้ตลอดปี โดยแต่ละปีสามารถผลิตข้าวได้ 4 ตัน ซึ่งจำหน่าย 3 ช่องทาง คือ ตลาดเกษตรสิงห์บุรี ท็อปส์ซุปเปอร์มาร์เก็ตสิงห์บุรี และจำหน่ายทางออนไลน์ โดยผู้ซื้อเป็นผู้ออกค่าขนส่ง

ส่วนผักต่างๆ ปัจจุบัน ส่วนหนึ่งได้ปลูกในโรงเรือนกางมุ้ง ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 20 เมตร ส่วนใหญ่จะปลูกผักใบ เช่น ผักกาดขาว กวางตุ้ง คะน้า เพื่อหลีกเลี่ยงแมลงศัตรูพืช และไม่ได้ใช้สารเคมีใดๆ จะเน้นการใช้น้ำหมักชีวภาพ เช่น ปุ๋ยน้ำหมักปลา ซึ่งได้จากเศษปลาในตลาด ใช้เนื้อปลา 1 ส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน และ น้ำ 1 ส่วน หมักด้วย พด.2 เพื่อเร่งย่อย

ช่วงแรกจะต้องคนทุกวัน และไม่ต้องปิดฝาให้สนิทมาก เมื่อครบสัปดาห์ค่อยปิดฝา ถ้ามีแมลงวันมาไข่ใส่เป็นหนอนก็ไม่เป็นไร ต้องหมั่นคนเรื่อยๆ จนครบเวลา 4 เดือน จึงจะนำมาใช้ได้ ปุ๋ยปลาที่หมักได้ดีแล้วจะมีกลิ่นหอมแบบปลาร้า ใช้ในอัตราส่วน 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้ฉีดพ่นทางใบและราดดินก่อนปลูก

นอกจากนี้ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงก็ใช้ฉีดอย่างต่อเนื่อง ฉีดสลับกับน้ำหมักปุ๋ยปลา คนละสัปดาห์ ส่วนปุ๋ยหมักจะใช้มูลวัวกับมูลไก่ แกลบ มาหมักให้ได้ที่ก่อนใส่ทั้งผักและผลไม้ อีกส่วนที่เป็นน้ำจะเลี้ยงปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาสลิด ปลานิล ปลาแรด เอาไว้กินเอง ที่เหลือจึงจับขายเป็นรายได้เสริม

คุณบีช กล่าวว่า ที่มณีรักษ์ฟาร์ม เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีทั้งพืชและสัตว์ที่เกื้อกูลกัน และเป็นการกระจายความเสี่ยงตามแนวหลักเศรษฐกิจพอเพียง ใครที่อยากทำเกษตรต้องมีใจรักก่อน การทำเกษตรต้องมีความอดทน คนที่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากล้มเลิกกลางคัน เกษตรเหมือนจะทำง่าย แต่จริงๆ แล้วยาก เพราะต้องอดทน นอกจากอดทนต่อความลำบาก รายได้ แล้วยังต้องทนต่อคำพูดและสายตาชาวบ้านที่คุ้นเคยกับการทำการเกษตรแบบเดิมอีกด้วย สนใจผลิตภัณฑ์ ข้าว กข 43 ติดต่อ โทรศัพท์ 097-936-7035 หรือ เฟซบุ๊ก มณีรักษ์ฟาร์ม

ผู้เขียนและทีมงานได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ สมัครโจ๊กเกอร์ เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม 2562 โดยคำขอร้องของ คุณไพฑูรย์ ฝางคำ หัวหน้ากลุ่มเกษตรตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่า คุณไพฑูรย์อยากได้ต้นพันธุ์หน่อไม้ไผ่หวานช่อแฮจากจังหวัดแพร่ ซึ่งผู้เขียนและทีมงานที่ตำบลสวนเขื่อน จังหวัดแพร่ ได้รวมกลุ่มกันปลูก ได้เผยแพร่ออกทางยูทูบ คุณไพฑูรย์เห็นก็สนใจ จึงโทร.มาสั่งกล้าพันธุ์ไผ่หวาน ก่อนจะนำไปส่งให้ ผู้เขียนได้ถามข้อมูลจากคุณไพฑูรย์ว่า ที่ดินที่ทำกินอยู่แห้งแล้งหรือไม่ เพราะหน่อไม้ไผ่หวานนี้จะทำหน่อนอกฤดูได้ถ้าให้น้ำดี คุณไพฑูรย์ บอกว่า พอมีน้ำอยู่ เพราะอำเภอห้วยทับทันก็สมชื่อของเขา มีคำว่า ห้วย ก็มีห้วยอยู่จริง ไม่เหมือนห้วยขวาง ที่กรุงเทพฯ ชื่อว่าห้วยขวาง แต่ก็ไม่มีห้วยจริง เป็นเพียงชื่อเรียกขานกันเท่านั้น

เมื่อเดินทางไปถึงอำเภอห้วยทับทัน ก็สมชื่อของเขาจริง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ จะอยู่ก่อนถึงตัวจังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ 50 กิโลเมตร เลยจังหวัดสุรินทร์ไปเพียง 30-40 กิโลเมตร เท่านั้น ก่อนถึงอำเภอจะพบบึงน้ำขนาดใหญ่ขวางหน้าอยู่ ผู้เขียนเพิ่งเห็นเป็นครั้งแรกก็รู้สึกตื่นเต้น ใครบอกว่าอีสานแห้งแล้ง มีส่วนแห้งแล้งเป็นบางส่วนเท่านั้น

ถนนสายนี้วิ่งผ่านอำเภอห้วยทับทัน เป็นถนนใหญ่ที่วิ่งไปจังหวัดอุบลราชธานีนั่นเอง มีรถทัวร์ รถทุกชนิดวิ่งผ่านทั้งวัน จึงเป็นทำเลเหมาะแก่การค้าขาย ก่อนถึงตัวจังหวัดศรีสะเกษจะมีไก่ย่างอร่อย ชื่อไก่ย่างห้วยทับทันเรียงรายอยู่บนถนนสายนี้ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะนักท่องเที่ยวต่างจอดรถซื้อไก่อร่อยเป็นทิวแถว ผู้เขียนและทีมงานก็ไม่พลาดที่จะเป็นนักชิม ชิมแล้วก็ยกนิ้วให้ เขาทำได้อร่อยจริง เป็นไก่พื้นเมืองเลี้ยงด้วยข้าวเปลือก เนื้อไก่มีกลิ่นหอม ไม่มีน้ำมันเยิ้มเหมือนไก่ฟาร์ม เขาเรียกว่าไก่ย่างไม้มะดันจากห้วยทับทัน สนนราคาก็ต้องแพงสมราคาสมความอร่อยของเขา

นอกจากส่งกิ่งไผ่ การมาครั้งนี้ ตั้งใจจะมาเขียนเรื่องการปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์เกษตรที่ใช้ทำเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม ก็เลยนอกเรื่องไปถึงไก่ย่างอร่อย ได้พูดคุยสัมภาษณ์คุณไพฑูรย์แล้วก็ได้ข้อมูลมาดังนี้ แทนที่ทางกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ของกลุ่มตำบลผักไหมจะปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อการบริโภค แต่ปลูกเพื่อใช้ทำเมล็ดพันธุ์ขายให้กับสหกรณ์การเกษตร ซึ่งจะได้ราคาดีกว่า คือทางสหกรณ์การเกษตรเขาให้ราคาข้าวเปลือกที่ใช้ทำแม่พันธุ์ถึง กิโลกรัมละ 22 บาท ก็เท่ากับขายข้าวเปลือกได้ ตันละ 22,000 บาท ซึ่งการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกข้าวหอมมะลิพันธุ์แท้นี้ ต้องทำอย่างพิถีพิถัน คือทำแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีในแปลงปลูก คำว่า สารเคมี คือยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงทั้งหลาย จะใช้เป็นสารชีวภาพ สารสกัดจากสะเดา แม้ว่าจะยากเย็นอย่างไร ก็ต้องทำเพื่อรักษาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ เพราะเขาให้ราคาสูงสุดแล้ว