การเลี้ยงสาหร่ายให้มีคุณภาพ น้ำจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด

ความเค็มของน้ำจะอยู่ที่ระดับ 25-30 พีพีที ถ้าความเค็มต่ำกว่า 25 พีพีที นั้นสาหร่ายจะละลายหายไป และถ้าความเค็มสูงกว่า 40 สาหร่ายก็จะตายเช่นกัน และถ้าเกิน 35 พีพีที สาหร่ายจะมีกลิ่นคาว ในกรณีที่น้ำเค็มที่สูบจากทะเลเค็มเกินต้องเติมน้ำจืดเพื่อเจือจางในระดับที่เหมาะสม การเติมน้ำจืดควรระมัดระวังเรื่องคลอรีนที่ใส่ในน้ำประปา จึงควรมีบ่อพักน้ำ

แต่ถ้าน้ำมีระดับความเค็มน้อยจากการวัดค่าตอนสูบน้ำเข้าก็จะหยุดสูบน้ำเข้าเพื่อรอให้น้ำทะเลมีระดับค่าใกล้เคียงกับปกติ เช่น ในช่วงหลังฝนตกน้ำเค็มจะมีค่าน้อยกว่า ต้องทิ้งไว้สักระยะหนึ่งให้เข้าสู่ภาวะความเค็มปกติ แต่ที่หาดท้ายเหมืองโชคดีที่มีโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม และบ่อเลี้ยงกุ้งทิ้งน้ำเสียลงทะเล น้ำที่ใช้ตลอดปีจึงมีความสะอาดปลอดภัยกว่าที่อื่น ไม่จำเป็นต้องฆ่าเชื้อเลย ที่มั่นใจเช่นนี้เพราะคุณภาพของผลผลิตสาหร่ายจะเป็นตัววัดคุณภาพของน้ำ ควรจะต้องมีการตรวจค่าความเค็มของน้ำทุกๆ 3 วัน ถ้าพบว่าความเค็มลดลงหรือมากเกินก็ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำทันที แต่ถ้าค่าความเค็มเหมาะสมก็สามารถเลี้ยงต่อไปได้อีก แต่ไม่ควรเกิน 5 วัน

เมื่อเตรียมน้ำเสร็จแล้ว ก็นำต้นสาหร่ายที่เป็นแม่พันธุ์มาใส่ในแผงเพาะสาหร่าย แผงดังกล่าวทำจากท่อพีวีซีและตาข่ายพลาสติกสีดำ รูตาข่าย 10 มิลลิเมตร เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 50 คูณ 50 เซนติเมตร ใช้ตาข่าย 2 ชั้น ชั้นแรกเป็นที่อยู่ของสาหร่าย ชั้น 2 เป็นฝาปิด 1 บ่อ ลงได้ 9-10 แผง ต้นพันธุ์ที่เหมาะจะแข็งกว่าปกติ และมียอดอ่อนเป็นพวงขนาดเล็กๆ อยู่เต็ม เมื่อวางต้นพันธุ์สาหร่ายกระจายจนทั่วก็เอาตาข่ายชั้น 2 มาปิดไว้พร้อมมัดเชือกทั้งสี่ด้านป้องกันไม่ให้ต้นพันธุ์หล่นออกจากแผง แล้วนำมาหย่อนลงในบ่อตามความลึกที่ 30-60 เซนติเมตร จากผิวน้ำในบ่อ

ในช่วงระหว่างดูแลหมั่นสังเกตน้ำ ถ้าน้ำใสเกินไปแสดงว่าอาหารสำหรับสาหร่ายหมดแล้ว จึงควรถ่ายน้ำออกเอาน้ำใหม่เข้ามา และต้องตรวจค่าความเค็มทุกๆ 3 วัน น้ำที่ดีเหมาะสมกับการเลี้ยงสาหร่ายจึงจะมีความขุ่นเล็กน้อย ระดับของกระชังในฤดูร้อนควรจะต้องอยู่ลึกกว่าปกติ เพราะมีแสงแดดส่องทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงสุด ในช่วงหน้าหนาวสาหร่ายเม็ดพริกสามารถเจริญเติบโตได้ดีและผลผลิตมีจำนวนมากกว่าฤดูอื่น

ผลผลิตในฤดูหนาวสามารถเก็บเกี่ยวได้ภายใน 1 เดือน ส่วนฤดูฝนจะใช้เวลา 45 วัน และในฤดูร้อนจะใช้เวลา 50-60 วัน ส่วนผลผลิตในฤดูหนาวจะมีน้ำหนักถึงแผงละ 12-14 กิโลกรัม ส่วนหน้าฝนจะมีผลผลิตประมาณ 8-11 กิโลกรัม ส่วนหน้าร้อนผลผลิตสาหร่ายจะลดลงเหลือแค่ 6-8 กิโลกรัมเท่านั้น

วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิต

ในฟาร์มนายหัวจะแบ่งเป็นบ่อเลี้ยง 12 บ่อ บ่อเพาะพันธุ์ 2 บ่อ รวมเป็น 14 บ่อ โดยปกติจะเลี้ยงคราวละ 3 บ่อ เพื่อให้มีผลผลิตต่อเนื่อง การเก็บสาหร่ายก็สามารถทำได้ง่ายๆ โดยดึงแผงเลี้ยงสาหร่ายขึ้นจากน้ำแล้วเอาสันมือกดลงไปที่ตาข่าย ช้อนเอาสาหร่ายมาใส่ภาชนะจนหมดแผง แล้วนำมาใส่บ่อที่มีเครื่องตีออกซิเจนที่มีขนาดเล็กกว่าบ่อเลี้ยง เพื่อให้สาหร่ายสะอาดปราศจากสิ่งเจือปนและเป็นการพักฟื้นให้สาหร่ายแข็งแรงทนทานต่อการขนส่งรวมถึงการเก็บรักษา ใช้เวลาในบ่อ 2-3 วัน จึงนำมาจำหน่าย

สาหร่ายเม็ดพริกจะถูกบรรจุในถุงซิปพลาสติกขนาดบรรจุ 1-2 กิโลกรัม แล้วใส่กล่องโฟมอีกที เพื่อไม่ให้ช้ำเสียหาย ส่งทางขนส่งสาธารณะทั่วไป ส่วนผู้ซื้อเมื่อได้รับสาหร่าย มีคำแนะนำว่าห้ามแช่น้ำจืดเด็ดขาดเพราะสาหร่ายจะละลายหายไปกับน้ำจืดและห้ามแช่ตู้เย็นสาหร่ายจะละลายเป็นน้ำ แนะนำให้เก็บในอุณหภูมิห้องซึ่งสามารถเก็บได้นาน 7-10 วัน และหมั่นรินน้ำที่ค้างถุงทิ้งด้วย สนนราคาสาหร่ายเม็ดพริกอยู่ที่กิโลกรัมละ 200-250 บาท ค่าขนส่งกิโลกรัมละ 100 บาท ค่ากล่องโฟม 40-100 บาท กล่องโฟมใหญ่สามารถบรรจุได้ 10 กิโลกรัม

สนใจลองชิมส้มตำสาหร่ายได้ที่ ร้านจ๊อสพิซซ่า หน้าหาดท้ายเหมือง หรือติดต่อสั่งซื้อสาหร่ายเม็ดพริกได้ที่ คุณจิระศักดิ์ มุสิแดง โทรศัพท์ (087) 566-9855

เป็นอันว่าเนื้อหาบรรยายกล้วยหอมทอง-กล้วยน้ำว้า สำหรับภาคเช้าเสร็จสิ้นเรียบร้อย สาระสำคัญของเนื้อหาจากวิทยากรทุกท่านถูกถ่ายทอดลงในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านครบทุกท่าน ขณะเดียวกัน หากท่านติดตามมาตลอดทุกตอนจะเห็นว่าทุกท่านปล่อยความรู้และประสบการณ์อย่างเต็มที่ไม่มีเก็บ จนเมื่อมาถึงช่วงท้ายรายการจึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าสัมมนาได้ถามปัญหาข้อสงสัยจากวิทยากรแต่ละท่าน

ถาม – ชื่อไพบูลย์ มีอาชีพทนายความมาจากจังหวัดศรีสะเกษ แล้วชอบงานเกษตรกรรมมาก พร้อมกับได้ติดตามงานสัมมนาของเทคโนฯ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดได้มาเข้าร่วมสัมมนาไผ่ จากนั้นนำไปต่อยอดจนขณะนี้มีอาชีพสวนไผ่เพิ่มขึ้น แล้วยังส่งไผ่ไปขายต่างประเทศได้รับความสนใจดี

สำหรับการมาร่วมสัมมนาเรื่องกล้วยในครั้งนี้ เท่าที่ฟังจากวิทยากรทุกท่านล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่อยากจะทราบว่าเคยปลูกกล้วยแล้วไม่ประสบความสำเร็จบ้างไหม ส่วนตัวผมเองได้ปลูกกล้วยน้ำว้าไว้บ้างเหมือนกัน แล้วพบปัญหาเรื่องแมลงหนอนกอกับโรคตายพราย ซึ่งสร้างปัญหาต่อการปลูกกล้วยอย่างมาก ดังนั้น จึงขอทราบแนวทางในการป้องกันและกำจัด

อีกประเด็นคือมีความสนใจที่จะปลูกมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งกว่าจะได้ผลผลิตต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี ฉะนั้น ระหว่างรอมะพร้าวถ้าต้องการจะปลูกกล้วยในสวนมะพร้าวมีทางพอเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร อีกทั้งควรใช้พันธุ์กล้วยอะไรจึงจะเหมาะสมที่สุด

คุณคมกฤช – กล้วยที่ปลูกอยู่เป็นกล้วยน้ำว้าพันธุ์ปากช่อง 50 อันมาจากเนื้อเยื่อ และบางส่วนใช้หน่อจากที่อื่น ดังนั้น ในประเด็นหนอนกอ สิ่งที่พึงระวังคืออย่านำต้นพันธุ์หรือหน่อจากแหล่งที่ไม่รู้จักมาปลูกเพราะเสี่ยงมาก

ดังนั้น ถ้าต้องการหาพันธุ์กล้วยมาปลูกควรใช้ความละเอียดรอบคอบในการหาข้อมูลแหล่งพันธุ์ที่รู้จักหรือเชื่อถือได้ดีกว่า แต่สำหรับที่สวนของผมไม่ค่อยเจอปัญหาเช่นนี้เนื่องจากมีการบริหารจัดการอย่างดี ซึ่งแนวทางนี้เป็นการป้องกันหนอนกอหรือโรคตายพรายได้อย่างดี

ที่ผ่านมาพบว่าในสวนของชาวบ้านที่พบหนอนกอมักมาจากมูลวัวที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ และโรคตายพรายควรแก้ไขด้วยการวางระบบน้ำ เพราะชาวบ้านที่เจอโรคตายพรายมักเป็นสวนที่ปลูกกล้วยแบบธรรมชาติใช้น้ำฝนอย่างเดียว

ส่วนการปลูกกล้วยในสวนมะพร้าวคงไม่มีปัญหา และควรใช้ระยะปลูก 4 คูณ 4 เมตร กับ 2 คูณ 2 เมตร อาจใช้น้ำว้ามะลิอ่องปลูกได้

ถาม – ชื่อสมศักดิ์ มาจากจังหวัดอุทัยธานี ปัจจุบันมีสวนกล้วยน้ำว้าอยู่ และมีความสนใจพันธุ์กล้วยน้ำว้ายักษ์ของอาจารย์พัชนี พร้อมกับต้องการทราบว่าที่ขุดด้วยแบ๊กโฮขนาดหลุม 1 เมตร เพื่อต้องการขายหน่อนั้น เวลาขุดหน่อขายไม่ลำบากหรือ?? เพราะขนาดที่สวนขุดลึกเพียง 50 เซนติเมตร ยังขุดหน่อด้วยความลำบากเลย

อาจารย์พัชนี – การขุดลึก 1 เมตร และกว้าง 1 เมตรกว่า เพราะต้องการให้ผลผลิตมีความสมบูรณ์มาก แต่ถ้าต้องการขายหน่อจะขุดลึกเพียง 50 เซนติเมตรเท่านั้น ฉะนั้น การขุดหลุมลึกเพราะต้องการให้ผลผลิตมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นแล้ว กล้วยพันธุ์ยักษ์นี้ยังสามารถปลูกได้กับดินทุกชนิด เพียงแต่ต้องพิจารณาว่าดินชนิดนั้นมีลักษณะอย่างไร แล้วค่อยดูว่าจะขุดให้มีความลึกเท่าไร อย่างกรณีถ้าดินไม่สมบูรณ์ควรจะขุดให้ลึกและกว้างเพื่อนำดินที่สมบูรณ์มีคุณภาพมาถมใส่หลุมที่เรียกกันว่าการปรุงดิน

ถาม – ชื่อวิภาดา มาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช สนใจแนวทางปลูกกล้วยอินทรีย์ตามที่คุณสมยศมีประสบการณ์มา เพราะที่ผ่านมาตัวเองได้ลงมือปลูกกล้วยแบบอินทรีย์แล้วแต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้เวลาผ่านไปหลายปียังไม่มีผลผลิตเลย ต่างจากเพื่อนบ้านที่อยู่ละแวกนั้นได้ปลูกกล้วยแนวอินทรีย์เหมือนดิฉันและปลูกเวลาใกล้เคียงกันด้วย แต่ของเขาได้ผลผลิตแล้ว จึงขอถามคุณสมยศว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมจนป่านนี้ยังไม่มีผลกล้วย

คุณสมยศ – ความจริงปัญหานี้ตอบยากเพราะไม่เห็นพื้นที่ปลูกจริง แต่ถ้าจะพอประมวลเอาจากประสบการณ์อาจต้องพิจารณาจากปัจจัยปลูกเบื้องต้นก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นพันธุ์ วิธีปลูก คุณภาพดิน การดูแลใส่ปุ๋ย และความสมบูรณ์ของน้ำ เพราะการปลูกกล้วยยังไงก็ต้องมีผลออกมาบ้าง เนื่องจากเป็นพืชที่ดูดซับธาตุอาหารได้รวดเร็ว

อีกทั้งระบบรากของกล้วยยังหากินตามผิวดิน ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ควรใส่ปุ๋ยให้ตรงตามเวลาแล้วควรให้ห่างจากโคนต้น ในกรณีที่ต้องใส่มูลสัตว์จะต้องหมักไว้นาน 3 เดือน เพราะการใช้มูลสดจะเจอปัญหาหนอนกอทันที

กับอีกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะการนำกล้วยไปปลูกในสวนยางพาราที่มีร่มเกินไป ขาดแสงแดดที่เพียงพอ เพราะความจริงกล้วยควรปลูกกลางแจ้งเพื่อให้ใบได้รับแสงแดดอย่างพอเพียงในการปรุงอาหาร ฉะนั้น แนะนำให้ปลูกในที่โล่งมากกว่า

ถาม – มาจากเชียงใหม่ อยากถามคุณคมกฤชว่า ช่วงที่เหมาะสมกับการปลูกกล้วย เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดเป็นโรคตายพราย คุณคมกฤช – ได้ยินมาบ่อยเหมือนกันว่าควรปลูกกล้วยก่อนหรือหลังเข้าพรรษาจะดีกว่าเพราะจะได้ป้องกันโรคตายพราย ทั้งนี้ ความจริงแล้วถ้าสามารถจัดระบบการให้น้ำไว้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ไม่ว่าจะปลูกกล้วยช่วงไหนก็ได้ทั้งนั้น

“เพราะที่สวนของผมได้วางระบบน้ำไว้อย่างดีจึงไม่เคยปัญหา ขณะเดียวกัน ข้อดีของการวางระบบน้ำก็คือสามารถกำหนดผลผลิตให้ออกตรงกับช่วงเทศกาลสำคัญอันเป็นผลดีต่อการตลาด”

ในคราวหน้าเป็นการสัมมนาในช่วงสอง ที่ว่าด้วยเนื้อหาของการนำกล้วยหอมทองและกล้วยน้ำว้าไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ทั้งแบบผลสดที่เป็นหวีส่งเข้าห้างสรรพสินค้าดัง หรือแยกขายเป็นผลเดี่ยวส่งขายตามร้านสะดวกซื้อ รวมถึงการนำกล้วยมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยตาก ซึ่งผลสำเร็จของทุกธุรกิจไม่ได้มาแบบง่ายๆ แต่ผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ ฉะนั้น กว่าจะมาถึงวันนี้พวกเขาต้องต่อสู้อะไรมาบ้าง ขอให้ทุกท่านติดตามอ่านในคราวต่อไปให้ได้

เชื่อว่าถ้าพูดถึงราชาผลไม้อย่าง ทุเรียน หลายท่านคงนึกถึงแหล่งปลูกฝั่งภาคตะวันออก อย่าง จังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด หรือแหล่งใกล้กรุงเทพฯ ที่มีชื่อเสียงคือ จังหวัดนนทบุรี แต่ครั้งนี้ท่านผู้อ่านอาจต้องแปลกใจ เพราะคราวนี้เราจะพูดถึงแหล่งปลูกทุเรียนใกล้กรุงเทพฯ อีกแห่งคือ ที่จังหวัดปทุมธานี หรือจะเรียกได้ว่าสวนแห่งนี้เป็นสวนทุเรียนแห่งแรกในจังหวัดปทุมธานีก็ว่าได้

นับว่าเป็นข่าวดีไม่น้อยสำหรับท่านที่ชื่นชอบทุเรียนเป็นชีวิตจิตใจ ถึงหน้าทุเรียนอยากจะรับประทานทุเรียนรสชาติดีๆ สักทีก็ไม่ต้องไปไกลแล้ว แต่ขอกระซิบนิดหนึ่งว่า ด้วยความที่สวนแห่งนี้อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไม่มาก จึงทำให้ผลผลิตหมดเร็ว ถ้าอยากรับประทานทุเรียนอร่อยๆ ต้องรีบจอง

คุณสุพจน์ ตันพิชัย คือเจ้าของ “สวนทุเรียนหมอนทองพลัดถิ่น” คลองเก้า บ้านเลขที่ 9/8 หมู่ที่ 7 ตำบลบึงสามกา อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี คุณสุพจน์ มีอาชีพเป็นเกษตรกรอยู่แล้ว ทำสวนส้มเขียวหวานมาก่อน ปลูกส้มตั้งแต่ พ.ศ. 2531 แต่ต้องโค่นสวนส้มทิ้ง เหตุเพราะช่วงนั้นเกิดอาการโรคลูกร่วง โรคระบาด ส้มโตได้เท่าลูกมะนาวผลก็หลุด ไม่คุ้มทุน จึงเริ่มปลูกทุเรียนลงไป ในช่วงที่ปลูกส้มได้ทดลองปลูกทุเรียนไว้ก่อนหน้าประมาณ 10 ต้น ปรากฏว่าปลูกแล้วได้ผลดี รสชาติอร่อย ตนจึงโค่นสวนส้มทิ้ง หันมาเอาดีกับการปลูกทุเรียนอย่างจริงจัง ช่วงแรกระหว่างรอผลผลิต คุณสุพจน์จะปลูกกล้วยหอมแซมในสวนทุเรียนก่อน เพราะปลูกทุเรียนต้องรอเวลาผลผลิตนาน 7-8 ปี อาศัยหารายได้จากกล้วยหอม แต่กล้วยหอมสามารถปลูกได้แค่ปีเดียว หลังจากปลูกกล้วยหอมก็เปลี่ยนมาปลูกกล้วยน้ำว้าต่อ การปลูกกล้วยแซมในสวนทุเรียนก็สามารถสร้างรายได้ระหว่างรอผลผลิตทุเรียนได้เป็นอย่างดี แต่คุณสุพจน์บอกว่าทุกวันนี้ตนก็ยังทำสวนส้มอยู่ แต่สวนอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร

ถามว่า ทำแล้วได้ผลไหม ตอบว่าได้ แต่ก็จะมีช่วงที่เกิดปัญหาแบบที่นี่ มาตอนนี้มียาใช้ นำมาผสมน้ำ ใช้สว่านเจาะต้น แล้วใส่เข้าไป 3 เดือน ทิ่มทีหนึ่ง แต่ต้นทุนจะสูงหน่อย แต่วิธีนี้หายได้ผลดี ใบจะเขียว ลูกได้มาตรฐาน

ปลูกทุเรียน 42 ไร่ ได้ผลผลิตไม่มาก แต่คุ้มค่า

ที่สวนแห่งนี้มีทั้งหมด 50 ไร่ ปลูกทุเรียน 42 ไร่ แบ่งปลูกมังคุด 8 ไร่ ณ ปัจจุบัน รายได้ส่วนใหญ่ได้จากการปลูกทุเรียนหมอนทอง เพราะมังคุดเพิ่งเริ่มปลูกได้ไม่นาน และถ้าถามว่า ปลูกทุเรียน 42 ไร่ ได้ผลผลิตดีไหม คุ้มค่ากับการลงทุน และเวลาหรือเปล่า ตอบได้เลยว่าคุ้ม ถึงแม้ว่าผลผลิตที่ออกมาไม่เป็นที่แน่นอน บางฤดูออกผลดก บางฤดูติดผลพอประมาณ แต่ที่นี่จะได้ผลผลิตที่มีน้ำหนักดี ลูกใหญ่ เฉลี่ยแล้วลูกละประมาณ 3-3.5 กิโลกรัม มีลูกละ 2 กิโลกรัมบ้าง เป็นส่วนน้อย เนื่องจากตนเริ่มปลูกทุเรียนได้เพียง 15 ปี ประกอบกับสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่แน่นอนด้วย

ปลูกทุเรียนที่ปทุมธานีไม่ได้ยากอย่างที่คิด สมัยที่คุณสุพจน์ปลูก ซื้อกิ่งพันธุ์มาจากนนทบุรีและจันทบุรี ราคาสมัยนั้นต้นละ 30 บาท สมัยนี้ไม่ได้แล้ว ต้นละเป็น 100 บาท คุณสุพจน์แนะนำว่าทุเรียนปลูกที่ไหนก็ได้ ขอให้มีน้ำ ทุเรียนปลูกได้ทุกดิน แต่ถ้าปลูกกับดินเหนียวรสชาติทุเรียนจะดี รสชาติจะเหมือนทุเรียนนนทบุรี แต่ดินเหนียวจะปลูกยากสักนิดเพราะดินเหนียวให้น้ำแฉะไป ดินแห้งยากต้องดูด้วย อาจจะลำบากหน่อย ถ้าปลูกดินเหนียวช่วงเล็กๆ จะโตดี แต่ตอนโตจะสู้ดินทรายไม่ได้ ระบบไร่จะโตเร็ว ต้นจะสูงกว่านี้

ขุดหลุม กว้างประมาณ 1 เมตร เวลาปลูกให้ยกลอยขึ้นมา เท่ากับให้เป็นเนิน ความลึกไม่มาก ประมาณ 30 เซนติเมตร เริ่มใช้ต้นกล้า อายุไม่มากความสูงของต้นประมาณ 70 เซนติเมตร วางต้นสูงจากพื้นดินมาครึ่งหนึ่ง เวลาปลูกเอาดินกลบหลุมแบบเดิม แล้วเอาต้นทุเรียนวางตั้งไว้ เพื่อให้รากขยาย ลงต้นไปครึ่งถุงทุเรียน เพื่อให้เป็นเนิน พรวนดิน เวลารากออกจะขยายง่าย เพราะพื้นดินที่นี่เป็นพื้นดินเก่า ไม่เหมือนดินใหม่ที่ร่วนอยู่แล้ว

ความห่างระหว่างต้นที่สวนคุณสุพจน์ ปลูก 6 เมตร ถือว่าแคบไปนิดหนึ่ง เพราะเราทำสวนส้มมาก่อน จึงปลูกระหว่างส้มก่อน พอตายปุ๊บมีตอส้มเราทำอะไรไม่ได้ ส้มที่ปลูกเว้นระยะห่าง ประมาณ 3 เมตร ต่อต้น จึงต้องเว้นระยะปลูกทุเรียนที่ 6 เมตร แต่ถ้าจะให้ดีต้องเว้นความห่างระหว่างต้นไว้ที่ 8 เมตร กำลังสวย กิ่งก้านจะขยายได้กว้าง อากาศเข้าได้ดี ผลผลิตก็จะได้มากกว่านี้

ช่วงปลูกใหม่ๆ ให้คลุมฟางไว้เก็บความชื้น รดน้ำบ่อยๆ ถ้าจะให้ดีใช้ซาแรนบัง เพราะทุเรียนปลูกใหม่ไม่ชอบความร้อน ทางที่ดีคือให้ปลูกไม้ผลช่วยบังแดด

ใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-16 หรือใส่ปุ๋ยยูเรีย ใหม่ๆ ให้รดน้ำ ดูสภาพของดิน ถ้าดินแห้งรดบ่อยๆ เพราะทุเรียนถ้าแห้ง ใบจะร่วงแล้วตายไปเลย ช่วงแรก ใช้วิธีตักน้ำในร่องสวนรด เมื่อต้นทุเรียนโตขึ้นมาหน่อย เราจะใช้เรือรดน้ำ อย่าให้แฉะไป หรือแห้งไป ถ้าใส่ปุ๋ยก็ให้น้ำมากหน่อย

ช่วงก่อนออกดอกต้องเว้นน้ำ พอให้ใบเริ่มเหี่ยวนิดๆ แล้วค่อยรดน้ำเข้าไป สักพักดอกจะออก ค่อยๆ พรมไปเรื่อยๆ

ปลูก 4-5 ปี ออกดอก ฉีดยาฆ่าแมลง ดูแล ให้อาหารเสริม ให้เจริญเติบโต

นับจากดอกบาน 3 เดือนครึ่ง เก็บผลผลิตได้

ขนาดผล ขึ้นอยู่กับอาหารที่ใส่เข้าไป หมั่นใส่ปุ๋ย 1 ปี ใส่ปุ๋ยคอกครั้งหนึ่ง ปุ๋ยเคมีก็ต้องใช้บ้าง รสชาติหวานมัน เนื้อเหนียว

ผลผลิต

ปลูกทุเรียน 42 ไร่ หักที่ตายไปบ้าง จะเหลือประมาณ 25 ไร่ 1 ปี ให้ผลผลิต ประมาณ 20 ตัน เพราะทุเรียนที่สวนยังไม่ดกทุกต้น แล้วแต่บางปีถ้าติดเยอะจะได้ผลผลิตประมาณ 20-30 ตัน

คุณสุพจน์ บอกว่า มีตลอด คือหนอนเจาะต้น ตัวนี้อันตรายที่สุด ยาฆ่าแมลงก็เอาไม่อยู่ ต้องหาให้เจอแล้วจับออกมาเอง ยาฆ่าแมลงให้ผลแค่คุมไม่ให้หนอนมาวางไข่ ต้นทุเรียนที่โดนหนอนเจาะ สังเกตจากต้นจะมีแผลเยิ้มๆ ปูดๆ ออกมา ดูยากมาก ต้องดูตอนเช้า-เที่ยง พอบ่ายจะมองไม่เห็น ถ้ากินเยอะให้ดูที่โคนต้น เปลือกไม้จะกองอยู่ เอาสกรูไรไปเคาะ ต้องหมั่นตรวจสวน เพราะถ้ากินแล้วข้างในต้นทุเรียนกลวงหมดเลย ดูภายนอกต้นจะปกติแต่ข้างในไม่เหลือแล้ว ถ้ากินทั้งต้นใบจะเหลือง กินไวมาก ตัวนิดเดียวแต่วันหนึ่งกินไม่ธรรมดา

การตลาด

ราคาขายทุเรียนที่สวนคุณสุพจน์ จะมีเฉพาะทุเรียนหมอนทอง กิโลกรัมละ 130 บาท ลูกเล็ก-ใหญ่ ขายราคาเท่ากันหมด ไม่มีตกเกรด แล้วแต่คนชอบ

เจ้าของขายเองโดยตรง ลูกค้าจะมาซื้อเองที่สวน แม่ค้ามารับที่สวนมีบ้างแต่น้อยมาก ส่วนใหญ่ลูกค้าจะโทร.มาจอง โทร.มาเร็วก็มีของ ถ้าช้าก็หมด ผลิตไม่ทันตลาด ไม่ต้องหาตลาด ถึงฤดูแม่ค้า ลูกค้า เข้าหาเอง ส่วนมากลูกค้าที่มาก็อยากได้ทุเรียนที่มีคุณภาพ รสชาติดี

เจ้าของบอกว่า ไม่คิดแปรรูป เพราะขายแบบนี้ง่ายกว่า ใช้แรงงาน 4 คน อยู่ได้สบาย ผลผลิตออกมาแบบพอดี ไม่ดกมาก เฉลี่ยลูกละ 3 กิโลกรัม ทุเรียนขนาดประมาณ 3-3.5 กิโลกรัม กำลังอร่อย ตลาดนิยมตัดขาย 3 กิโลกว่าถึง 4 กิโล คนรับประทานจะชอบลูกไม่เกิน 3 กิโลกรัม ถ้ามากกว่านี้ราคาจะสูง ขายยาก

สำหรับท่านที่สนใจอยากปลูกทุเรียนในเมืองดูบ้าง หรือสนใจอยากรับประทานทุเรียนหมอนทองอร่อยๆ มีคุณภาพ สามารถติดต่อ คุณสุพจน์ ตันพิชัย ได้ที่เบอร์โทร. (081) 918-9072

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 เจาะพื้นที่พิษณุโลก ศึกษาสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีศักยภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ระบุชัด 4 สินค้าน่าจับตามอง อ้อยโรงงาน มะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออก กล้วยน้ำว้า และพืชผัก แนะดึง Agri-Map Online ช่วยบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่เหมาะสม และพัฒนาพื้นที่ไม่เหมาะสมทั้งด้านดิน แหล่งน้ำ และปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับการผลิต

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรจังหวัดพิษณุโลก โดยการใช้แผนที่เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โดยในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) ได้ศึกษาสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีศักยภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด สร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์อุปทาน และมีต้นทุนผลตอบแทนที่คุ้มค่าทดแทนการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม

จากการศึกษาในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พบว่า มีสินค้าที่น่าสนใจ 4 ชนิด ได้แก่ 1) อ้อยโรงงาน เนื่องจากมีโรงงานในพื้นที่ภาคเหนือรองรับผลผลิตมากถึง 9 แห่ง มีหน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างเป็นระบบ 2) มะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออก มีตลาดในแถบเอเชียอย่างญี่ปุ่น จีน เกาหลี มาเลเซีย และตลาดโซนยุโรป ยังมีความต้องการต่อเนื่อง และมีกลุ่มการผลิตต้นแบบศักยภาพสูง ที่อำเภอเนินมะปราง และอำเภอวังทอง 3) กล้วยน้ำว้า มีโรงงานแปรรูปและกลุ่มที่เข้มแข็ง เป็นสินค้าสร้างชื่อของจังหวัด และ 4) พืชผักปลอดภัย มีกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ ภายใต้การสนับสนุนของเทศบาลตำบลพันเสา อำเภอบางระกำ เป็นแกนนำหลัก

สำหรับแนวทางพัฒนาพื้นที่ไม่เหมาะสมจังหวัดพิษณุโลก สศท.2 ได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินงานในการบริหารจัดการไว้ 3 ขั้นตอน คือ 1) เตรียมการศึกษาวิเคราะห์ด้านกายภาพ และด้านเศรษฐกิจการเกษตร โดยคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัดร่วมบูรณาการข้อมูลและวิเคราะห์ประมวลผลสินค้าที่มีศักยภาพ จำแนกพื้นที่ตามการบริหารจัดการสินค้าเกษตรกรรมเป็นรายอำเภอ รายตำบล และกำหนดกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ 2) มีการวางแผนบริหารจัดการเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตด้วยข้อมูลสารสนเทศ เทคโนโลยี นวัตกรรม งานวิจัย และ 3) พัฒนาระบบการตลาดสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมบูรณาการ และนำไปวางแผนปฏิบัติตามขอบเขตอำนาจหน้าที่

นอกจากนี้ กรณีพื้นที่ไม่เหมาะสมที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เนื่องจากเกษตรกรปลูกข้าวเพื่อการบริโภค และเกษตรกรที่มีพื้นที่น้อย ดังนั้น ให้มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพดิน พัฒนาแหล่งน้ำ ให้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการผลิต ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวที่มีความเหมาะสมสูง (S1) และปานกลาง (S2) ควรให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมถึงการยกระดับมาตรฐานสินค้าตามแนวทาง และรูปแบบของนาแปลงใหญ่ ซึ่งภาครัฐมีการสนับสนุนให้ดำเนินงานโครงการอยู่ก่อนแล้ว

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจ โดยการใช้แผนที่เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Zoning by Agri-Map หากเกษตรกรท่านใดต้องการทราบข้อมูลการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มเติมสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ Agri-Map Online หรือสอบถามจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในได้ในพื้นที่จังหวัด

กรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งเป้าระยะยาวพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งในระดับจังหวัด เขต และประเทศไม่น้อยกว่า 58,520 ราย เพื่อเป็นบุคลากรสำคัญในภาคการเกษตร

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer นับเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย ที่มีทิศทางแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นการเตรียมพร้อมกับการสร้างบุคลากรด้านการเกษตรรุ่นใหม่ให้มีความทันสมัยและทำการเกษตรอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ให้เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ 20 ปี ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเกิดเครือข่าย Young Smart Farmer ทั้งระดับจังหวัด เขต และประเทศ ไม่น้อยกว่า 58,520 ราย

สำหรับแนวทางการสร้างและพัฒนา Young Smart Farmer เพื่อเป็นบุคลากรที่สำคัญในภาคการเกษตร มีวัตถุประสงค์หลัก 1.เพื่อให้ทันกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 2.สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 3.เสริมสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจและความมั่นคงในการประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยที่เกษตรกรรุ่นใหม่จะต้องสามารถเป็นผู้นำทางการเกษตร มีความภาคภูมิใจในอาชีพพึ่งพาตนเองได้ และเป็นที่พึ่งให้แก่เพื่อนเกษตรกรได้ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรรุ่นใหม่ เข้าร่วมโครงการ 9,116 ราย และผ่านการประเมินคุณสมบัติเป็น Young Smart Farmer 5,477 ราย ซึ่งในปี 60 มีเกษตรกรคนรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการแล้ว 2,310 ราย

ด้านคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็น YSF ก็คือ จะต้องมีความรู้เรื่องที่ทำ มีข้อมูลตัดสินใจ มีการจัดการผลผลิต/ตลาดใส่ใจคุณภาพรับผิดชอบสังคม/สิ่งแวดล้อมภาคภูมิใจที่เป็นเกษตรกร โดยเกษตรกรรุ่นใหม่จะต้องได้รับการประเมินศักยภาพและต้องผ่านคุณสมบัติด้านรายได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี มีอายุระหว่าง 17 – 45 ปี ในด้านแผนการขับเคลื่อนการพัฒนา YSF จะประกอบไปด้วยหลักสูตรอบรมในแต่ละระดับ คือ 1.เริ่มจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรุ่นใหม่แต่ละรุ่น 2.มีการพัฒนากิจกรรมการเกษตรด้วยนวัตกรรม รวมทั้งบริหารจัดการกิจกรรมเกษตรด้วยระบบ IoT(internet of Things) 3.พัฒนาเป็นผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ (StartUp) รวมทั้งพัฒนาระบบธุรกิจเกษตรด้วยนวัตกรรม, Smart Farm, Digital Market 4.สินค้าเกษตรได้รับรองมาตรฐานสากล Go to Global และยกระดับผู้ประกอบการรุ่นใหม่สู่สากล

“สำหรับการดำเนินงานในปี 60 นี้ GClub Slot กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และเครือข่าย YSF ดำเนินโครงการตลาด YSF อ.ต.ก. โดยมีเจ้าหน้าที่ อ.ต.ก. มาเป็นพี่เลี้ยง คอยให้คำปรึกษาแนะนำ ให้ความรู้ด้านระบบการบริหารจัดการตลาดแบบครบวงจร ให้กับเครือข่าย YSF ได้เรียนรู้การบริหารจัดการตลาด การสร้างช่องทางการตลาด เพื่อให้มีความพร้อมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการเรียนรู้หลังการจัดการเรียนรู้การตลาดแบบหมุนเวียนของเครือข่าย และเพื่อหาแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการตลาดของร้านค้า YSF พร้อมทั้งร่วมกันถอดบทเรียนการจัดการตลาดแบบหมุนเวียน โดยมีตัวแทน YSF จากเขต 1-9 ทำการประเมินผลการเรียนรู้หลังการจัดการเรียนรู้การตลาดแบบหมุนเวียน และหาแนวทางร่วมกันในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการตลาดของร้านค้า YSF ต่อไป” นายสมชาย กล่าว

อย่างไรก็ดีเกษตรกรและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ YSF สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอ ใกล้บ้าน หรือสามารถสมัครได้กับเครือข่าย YSF Thailand ซึ่งก็จะประสานกับเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรอีกทางหนึ่ง

พื้นที่ อ. ลาดหลุมแก้ว จ. ปทุมธานี แม้จะมีโรงงาน และโครงการที่พักอาศัยเกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ยังคงเป็นหนึ่งในพื้นที่เกษตรกรรมสำคัญของประเทศ ข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี ระบุว่าปีพ.ศ. 2558 มีอยู่กว่า 404,700 ไร่ หรือ 42% ของพื้นที่จังหวัดทั้งหมด โดยยังมีเกษตรกรที่ยึดอาชีพทำนา และปลูกพืชสวนเป็นหลักอยู่ แต่เกือบทั้งหมดยังเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว มีการใช้สารเคมีสูง ทำให้ประสบปัญหาทางด้านต้นทุนการผลิต และราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน เกษตรกรต้องไถกลบหรือถอนผลผลิตทิ้ง เนื่องจากไม่คุ้มทุนกับค่าแรงงานในการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ในช่วงที่สินค้าเกษตรมีภาวะตกต่ำ อีกทั้งการใช้สารเคมีไม่ถูกหลัก ส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ที่สำคัญทำให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อทรัพยากรธรรมชาติ ผืนดิน และแหล่งน้ำ