ขณะเดียวกันนับเป็นโจทย์หนึ่งที่กรมการพัฒนาชุมชนกำลังคิด

แก้ปัญหาผลิตมาแล้วขายที่ไหน โดยมองว่าสิ่งที่จะมาช่วยตอบโจทย์ได้ คือ เทรดเดอร์ (Trader) ที่เป็นทั้งหลงจู๊ ทำหน้าที่ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่ไม่มีศักยภาพทางด้านการตลาด นำออกไปสู่ตลาด และเป็นตัวกลาง ทำหน้าที่กระจายหรือจำหน่ายสินค้าออกไปยังตลาดต่างๆ เป็นเสมือนตัวเชื่อมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ซึ่งได้มีการจัดตั้งบริษัท โอท็อป อินเตอร์เทรดเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นเป็นบริษัทแม่

ขณะเดียวกันปัจจุบันมีการจัดตั้งโอท็อปเทรดเดอร์ครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว จังหวัดละ 1 แห่ง โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประมาณ 45 แห่ง ส่วนที่เหลืออีกกว่า 20 แห่ง จะพัฒนาความพร้อมขึ้นไปเพื่อให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้ครบทั้งหมดในปี 2561 เนื่องจากการเป็นนิติบุคคล จะช่วยให้เข้าถึงนิติสัญญาต่างๆ ในเชิงธุรกิจได้ทั้งหมด เช่น ใบกำกับภาษี ซึ่งพัฒนาการจังหวัดจะทำหน้าควบคุมดูแลเทรดเดอร์

ลุย 4 แนวทางยกระดับโอท็อป
นายณรงค์ กล่าวว่า ปี 2560 กรมการพัฒนาชุมชนได้กำหนดแนวทาง 4 เรื่อง ที่สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 ในการพัฒนาสินค้าสินค้าให้เทรดเดอร์นำไปทำการตลาดต่อ คือ 1. สตอรี่ มุ่งเน้นให้ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการใส่ใจในการสร้างเรื่องเล่าของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาและวิถีชีวิต 2. ดีไซน์ ต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า เช่น ลูกค้า สปป.ลาว นิยมซื้อสินค้าแบบ 3 กล่อง 100 บาท

3. ใบรับรองคุณภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างการยอมรับให้กับผู้บริโภค เช่น หมวดอาหาร จะต้องได้มาตรฐาน อย. หรือใบรับรองจากสถาบันอาหาร เป็นต้น 4. อีคอมเมิร์ซ เป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในระบบออนไลน์ โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ทำเอ็มโอยูกับหลายภาคส่วน ได้แก่ ลาซาด้า ไทยแลนด์มอลล์ และได้จับมือกับญี่ปุ่นเปิดช่องทางใหม่ OTOPTHAI.SHOP ซึ่งได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2560

“จุดอ่อนอยู่ที่ผู้ผลิตไม่สามารถที่จะอัพโหลดสินค้าเข้าสู่ระบบได้ ตอนนี้ พช.ได้ร่วมกับลาซาด้าให้ความรู้แก่เทรดเดอร์ทั้ง 76 จังหวัด และผู้ผลิต/ผู้ประกอบการที่เราพิจารณาดูแล้วว่ามีศักยภาพ เช่น ศิลปินโอท็อป โอท็อปขึ้นเครื่อง เป็นต้น ในการนำเอาสินค้าขึ้นระบบ ซึ่งจะดำเนินการภายในเดือนกันยายนนี้ทั้งหมด 6 รุ่น”
ลุยโอท็อปไลฟ์สไตล์ 30 แห่ง

สำหรับการสร้างแบรนด์สินค้าโอท็อปนั้น ปัจจุบันมีรูปแบบร้านค้า 2 สไตล์ ได้แก่ 1. โอท็อปไลฟ์สไตล์ เป็นลักษณะของร้านกาแฟ ที่มีสินค้าโอท็อปจำหน่ายด้วย เปิดบริการไปแล้ว 2-3 แห่งที่จังหวัดกาญจนบุรี จันทบุรี คาดว่าภายในปี 2560 จะมีโอท็อปไลฟ์สไตล์กว่า 30 แห่ง และ 2. โอท็อปเอาท์เลต ลักษณะเป็นมินิมาร์ทโอท็อปกระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่อสร้างความจดจำ โดยจะขายแฟรนไชส์ 3 ขนาด คือ ขนาด S M และ L
ต่างประเทศตอบรับดี

นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ประธาน บริษัท โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของโอท็อปเทรดเดอร์ คือการสู่ระบบการตลาดให้ได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ และทำให้ผู้ผลิตมีรายได้ แต่ต้องยอมรับว่าสินค้าโอท็อปมีพื้นฐานมาจากชาวบ้านที่พัฒนาขึ้นมา ซึ่งมีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเอง โดยจุดแข็งคือ เป็นสินค้าที่เป็นภูมิปัญญา เกิดจากชุมชน และทิศทางของโลกก็ให้การต้อนรับความเป็นชุมชน แต่ก็มีจุดอ่อนในเรื่องของมาตรฐานการผลิต ซึ่งต้องเข้าใจพื้นฐานก่อนจึงจะทำการตลาดได้

“ในระยะเวลา 1 ปีที่มีการจัดตั้งเทรดเดอร์ขึ้นมาเกิดการเรียนรู้ว่าตลาดในประเทศแข่งขันกันสูงมาก ฉะนั้นตลาดต่างประเทศจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ และที่ผ่านมาการทำตลาดในต่างประเทศประสบความสำเร็จค่อนข้างมากในกลุ่ม CLMV และจีน”
นายวัชรพงศ์ กล่าวอีกว่า แผนงานโอท็อปเทรดเดอร์มี 2 แนวทาง ได้แก่ โอท็อปไลฟ์สไตล์ และโอท็อปเอาท์เลต โดยเป็นการขายแบรนด์ ไม่ใช่ขายตัวสินค้า เพราะเมื่อแบรนด์ติดตลาดแล้ว สินค้าต่าง ๆ ก็จะตามไปด้วย ซึ่งแบรนด์ร้านค้าโอท็อปเอาท์เลตจะขายทั้งในประเทศ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ชุมชน และต่างประเทศ เช่น จีนได้เจรจาซื้อแบรนด์โอท็อปเอาท์เลตแล้ว และคาดว่าปลายปีนี้จะเปิดโอท็อปเอาท์เลตในดิวตี้ฟรีใน สปป.ลาว และห้างสรรพสินค้าในมาเลเซีย

นอกจากนี้ ยังได้งบประมาณจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก่อสร้างโอท็อปเอาท์เลตประเทศไทย เนื้อที่ 6,000 ตารางเมตร บริเวณ กม.44 ถนนสายเอเชีย หน้าโครงการพุทธอุทยานมหาราช (หลวงปู่ทวดองค์ใหญ่) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะเป็นโชว์รูมสินค้าโอท็อปจากทั่วประเทศ และเป็นศูนย์พัฒนาบรรจุภัณฑ์กลางอีกด้วย

คนไทยรัดเข็มขัดแน่น! ธุรกิจร้านอาหารยอดขายหล่นฮวบ สมาคมภัตตาคารไทยเผยกำลังซื้อฉุดพฤติกรรมเปลี่ยน คนไทยกินข้าวนอกบ้านน้อยลง ขณะที่ร้านอาหารดีลิเวอรี่ออนไลน์มาแรง ฟากผู้ประกอบการโรงแรมอัดโปรโมชั่นสู้

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ร้านอาหารไทยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา พบว่ายอดขายของร้านอาหารทุกขนาดตกลง โดยร้านขนาดเล็ก-กลางที่ไม่มีแบรนด์ลดลงมากถึง 50% ขณะที่ร้านอาหารขนาดใหญ่มีแบรนด์ตกลงราว 20-30% ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย ทั้งภาวะเศรษฐกิจไทยที่ไม่ดี ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทำให้คนไทยระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

“คนไทยยังนิยมกินข้าวนอกบ้านอยู่ แต่ความถี่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมเฉลี่ย 4 ครั้ง ต่อคน ต่อสัปดาห์ ปัจจุบันลดลงเหลือ 1-2 ครั้ง ต่อคน ต่อสัปดาห์เท่านั้น นอกจากนี้ปริมาณในการสั่งอาหารแต่ละครั้งยังลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง จากเฉลี่ยอยู่ 6 เมนูบนโต๊ะ เหลือเพียง 3 เมนู และเมนูพวกปลากับซีฟู้ด ซึ่งมีราคาสูงมากกว่า 300 บาทขึ้นไป ก็มีปริมาณการสั่งน้อยลง ทำให้รายได้ของร้านอาหารลดน้อยลง”

นางฐนิวรรณ กล่าวด้วยว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อพฤติกรรมทานอาหารนอกบ้านของคนไทย คือ ธุรกิจร้านอาหารดีลิเวอรี่ รับออเดอร์ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันพบว่าการแข่งขันในตลาดนี้รุนแรงมากขึ้น โดยพบว่าปัจจุบันมูลค่าร้านอาหารตลาดออนไลน์ทั่วประเทศ ทั้งช่องทางโซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มดังอย่าง Uber Eat และ Line Man มีมูลค่ารวมสูงถึง 4,000 ล้านบาท

“ธุรกิจร้านอาหารในไทยต้องเร่งปรับตัว โดยยังคงขายผ่านหน้าร้านอยู่ แต่เจาะช่องทางขายผ่านออนไลน์ควบคู่กันไปด้วย ขณะเดียวกันต้องมองหานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาโปรดักต์ให้อยู่ได้นานขึ้น จูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติซื้อกลับไปทานได้”
ด้าน นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ยอดขายจากลูกค้าคนไทยในร้านอาหารของโรงแรมเฉลี่ยลดลง10-20% โดยช่วงที่ยอดขายยังพอไปได้คือช่วงเทศกาลและวันหยุด ซึ่งทางโรงแรมต้องใช้กลยุทธ์อัดโปรโมชั่นเช่น มา 3 จ่าย 2 และมา 4 จ่าย 3 เพื่อดึงดูดลูกค้าคนไทย เนื่องจากลูกค้าโรงแรมทั้งชาวไทยและต่างชาตินิยมไปทานร้านอาหารข้างนอกและในห้างสรรพสินค้าแทน

“โรงแรมที่มีสัดส่วนรายได้จากร้านอาหารสูง คือโรงแรมที่มีตำแหน่งทางการตลาดชูเรื่องอาหารชัดเจนเช่น นำเชฟดังมาทำอาหาร และโรงแรมที่เน้นลูกค้าตลาดองค์กรมาจัดประชุมสัมมนา ขณะที่เทรนด์การสร้างโรงแรมใหม่ ผู้ประกอบการไม่ได้ทุ่มเงินลงทุนเพื่อสร้างห้องอาหารจำนวนมากเหมือนแต่ก่อน แต่จะสร้างแค่ 1-2 ห้องอาหารเท่านั้น และเปิดเป็นคอฟฟี่ช็อปให้บริการควบคู่แทน เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้า” นางศุภวรรณ กล่าว

จังหวัดตรัง และ จังหวัดพัทลุง มีพื้นที่อาณาเขตติดต่อกัน แต่ถูกจัดแบ่งการบริหารคนละกลุ่มจังหวัด ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีพื้นที่ติดกัน มีเขาพับผ้า เทือกเขาบรรทัด เป็นเส้นแบ่งเขตแดน รวมทั้งประชาชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอย่างแนบแน่นมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย มีการแลกเปลี่ยน ย้ายถิ่นฐาน เสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน โดยจังหวัดตรังตั้งอยู่บนฝั่งทะเลอันดามัน ส่วนจังหวัดพัทลุงอยู่บนฟากทะเลอ่าวไทย กระนั้นไม่ทำให้การดำรงชีวิตของประชาชนแตกต่างกัน ยังคงยึดมั่นถือมั่นในวัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจนถึงปัจจุบัน มีก้าวย่างการพัฒนาความเจริญอย่างช้าๆ เรียบง่าย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว ฯลฯ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งตัวชี้วัดที่ตอบโจทย์ต่อการพัฒนาและสร้างรายได้เข้าจังหวัดเป็นอย่างดี เห็นได้จากเมืองท่องเที่ยวต่างๆ มักสร้างคำขวัญการท่องเที่ยวของจังหวัดเพื่อเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยวรู้จักจังหวัดในเบื้องต้น แต่สะท้อนภาพอัตลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวอย่างแจ่มชัด

จากความสัมพันธ์ของสองจังหวัด ที่ผ่านมามีการดำเนินกิจกรรมสร้างเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว มีการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อม 2 ฝั่งทะเล รวมถึงจัดทำเส้นทางจักรยานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย

ล่าสุด 3 หน่วยงานในสองจังหวัดดังกล่าวคือ จังหวัด สำนักงานการท่องเที่ยวกีฬา และชมรมกีฬาจักรยานจังหวัด ตรังและพัทลุง กำหนดจัดกิจกรรมร่วมกัน “ปั่นชมเมืองเชื่อมสัมพันธ์” ปั่น กิน เที่ยว บ้านพี่เมืองน้อง “ตรัง-พัทลุง” ในวันที่ 27 สิงหาคม 2560 เริ่มสตาร์ตจาก “Trang Andamam Gateway” (ตรัง อันดามัน เกตเวย์) ตั้งอยู่ภายในเขาพับผ้า เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเขาปู่เขาย่า (เทือกเขาบรรทัด) ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง สิ้นสุดที่ลานสวนหมาก ควันหมุย หมุย ตำบลร่มเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง รวมระยะทาง 53 กิโลเมตร โดยมี “ศิริพัฒ พัฒกุล” พ่อเมืองตรัง กับ “วันชัย คงเกษม” พ่อเมืองพัทลุง เป็นหัวหน้าคณะ “ปั่นน่อง สองล้อ” ในครั้งนี้

“ศิริพัฒ พัฒกุล” กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ประกาศให้จังหวัดตรังเป็น “เมืองจักรยาน-Slow Life Style Trang” เนื่องจากประชาชนหันมาปั่นจักรยานกันจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จังหวัดตรังโชคดีที่มีเส้นทางปั่นจักรยานที่เหมาะสม สองฟากฝั่งถนนมีวิวทิวทัศน์ที่งดงาม บรรยากาศดี ธรรมชาติบริสุทธิ์ จึงจัดกิจกรรมปั่นจักรยานอย่างต่อเนื่อง และมีความคิดว่าน่าจะมีกิจกรรมปั่นจักรยานเหย้าเยือนไปจังหวัดใกล้เคียง ก่อนจัดกิจกรรมปั่นเหย้าเยือนจังหวัดพัทลุง สัมผัสเส้นทางประวัติศาสตร์ ธรรมชาติบนเขาพับผ้า แวะชมปลาหวดที่น้ำตกเขาคราม สู่การรำลึกอุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง พร้อมรับประทานอาหารพื้นบ้าน ผลไม้ตามฤดูกาลจังหวัดพัทลุง

“แม้เป็นกิจกรรมปั่นจักรยานบรรยากาศแบบชิลๆ แต่สิ่งสำคัญคือ สร้างความรัก ความสามัคคี การรู้จักกันระหว่างนักปั่นจักรยานทั้งสองจังหวัด เพื่อสร้างมิตรภาพที่ไม่มีขอบเขต เรามีน้ำใจด้วยกัน ระหว่างผมกับผู้ว่าฯพัทลุงประสานความร่วมมือระหว่างชมรมกีฬาจักรยาน สำนักงานการท่องเที่ยวกีฬาทั้งสองจังหวัด ซึ่งนักปั่นจะสามารถเก็บเกี่ยวธรรมชาติ แต่งเติมความสุขได้อย่างเต็มอิ่ม ได้สัมผัสประเพณี ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นทั้งสองจังหวัด ซึ่งจุดขายของจังหวัดพัทลุงฝั่งอ่าวไทย และจังหวัดตรังฝั่งอันดามัน ต่อไปจะเชื่อมจังหวัดสตูล กระบี่ และนครศรีธรรมราช ตรัง-พัทลุง อยู่ใกล้กัน ข้ามภูเขาก็ถึงกันแล้ว อยากให้สานสัมพันธ์ต่อกัน เรามีการท่องเที่ยวที่ไม่ต้องแข่งขันกัน แต่เดินไปพร้อมๆ กัน ผนึกกำลังสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นทั้งสองจังหวัด ทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ถ้าจังหวัดตรังทำเป็นเครือข่ายโดยให้จังหวัดตรังเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะลงทางใต้ ตะวันออก อีสาน เหนือ จะทำให้จังหวัดตรังเป็นแม่งานเมืองจักรยานอย่างแท้จริง”

ด้าน “วันชัย คงเกษม” พ่อเมืองพัทลุง บอกว่า กิจกรรมปั่นจักรยานฯ เริ่มจาก Trang Andamam Gateway (ตรังอันดามันเกตเวย์) เขาพับผ้า สู่จังหวัดพัทลุง ผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์เขาพับผ้า จากนั้นชมฝูงปลาหวด น้ำตกเขาคราม ที่มีการอนุรักษ์ ก่อนปั่นเข้าสู่อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง ซึ่งเป็นไฮไลต์ที่ควรค่าต่อการศึกษาเรียนรู้

“ประวัติความเป็นมาของอุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง เกิดขึ้นเมื่อปี 2508 ที่บ้านเกาะหลุง หมู่ที่ 1 ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง เป็นเรื่องราวคำกล่าวขาน เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์เลือดและการเมืองของด้ามขวานทอง ที่เกิดความขัดแย้งรุนแรงนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่าง ‘รัฐกับประชาชน’ ซึ่งบ้านเกาะหลุง ชุมชนเล็กที่ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่สงบเงียบ ต่อมาสภาพสังคมแปรเปลี่ยน มีโจรผู้ร้าย บ่อน อบายมุข และสิ่งผิดกฎหมายแทรกซึมเข้าหมู่บ้าน ขณะที่กฎหมายเข้าไม่ถึง ชาวบ้านไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร

จึงรวมตัวกันลุกขึ้นต่อสู้โจรเพื่อชีวิตและทรัพย์สิน สวัสดิภาพของตัวเองและครอบครัว แต่ภาครัฐกลับมองชาวบ้านด้วยสายตาหวาดระแวง และส่งเจ้าหน้าที่จับกุมแกนนำชาวบ้านไปสอบปากคำ ระยะหลังๆ มีการกักขังทำร้ายร่างกาย ที่ถูกกล่าวขานและกลายเป็นตำนานคดีถังแดง คือการใช้ผ้าปิดตานำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินต่ำก่อนถีบลงมา หากคนไหนไม่ตอบคำถาม หรือได้รับคำตอบไม่เป็นที่พอใจ จะจับขึ้นเฮลิคอปเตอร์อีกครั้งแล้วถีบลงมาอีก ไม่ว่าจะเป็นหรือตายจะถูกนำไปยัดใส่ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตรแล้วจุดไฟเผาอย่างโหดเหี้ยม วันนี้คดีถังแดงแผ่นดินเลือดในอดีตกลายเป็น ‘อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง’ ตั้งอยู่บนผืนดินที่ซื้อจากเงินบริจาคของชาวบ้าน บนเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน เป็นสถานศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและวิถีชุมชน ทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การจัดการที่เข้มแข็งของกลุ่มเครือข่ายสินธุ์แพรทอง”

ย้อนกลับมาที่กิจกรรมปั่นจักรยาน จังหวัดพัทลุงมีชมรมจักรยานเป็นกลุ่มก้อนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ โดยผู้ว่าฯ วันชัยจะเข้าร่วมกับนักปั่นจักรยานพัทลุงประมาณ 300 คน ด้วย

“ตรัง-พัทลุง อยู่คนละกลุ่มจังหวัด แต่มีพื้นที่ติดกัน จังหวัดตรังทำแหล่งท่องเที่ยวอันดามันเกตเวย์ไปแล้ว พัทลุงกำลังก่อสร้างเกตเวย์ของพัทลุง ปีงบประมาณ 2561 ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเดินชมเส้นทางประวัติศาสตร์ แหล่งเรียนรู้ ซึ่งขออนุญาตใช้พื้นที่จากอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เขาปู่เขาย่า หลังจากนี้จังหวัดพัทลุงจะจัดกิจกรรมเหย้าเยือนจังหวัดตรังเช่นกัน” ผู้ว่าฯ วันชัย กล่าว

นายวิชัย โภชนกิจ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวเหนียวได้รับความเสียหายมากกว่าล้านไร่ และผลผลิตข้าวเหนียวหายไปกว่า 20% อาจทำให้ราคาข้าวเหนียวราคาสูง แต่เกษตรกรอาจไม่ได้รับประโยชน์จากราคาข้าวสูงขึ้นเพราะเกษตรกรไม่มีข้าว ส่วนความช่วยเหลือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวนาที่ได้รับผลกระทบและทำประกันความเสียหายจากน้ำท่วม เพื่อนำเงินไปปลูกข้าวรอบใหม่หรือปลูกพืชชนิดอื่นชดเชย

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ปีนี้ราคาข้าวเป็นที่น่าพอใจ และผู้ส่งออกซื้อข้าวจากโรงสีเพื่อส่งออกต่อเนื่อง แต่ไม่คึกคักมากนัก ส่วนผลผลิตข้าวเหนียวที่จะออกเดือนตุลาคมถึงมกราคมปีหน้า แม้บางพื้นที่ประสบน้ำท่วม แต่เชื่อว่ามีพื้นที่ดอนมีผลผลิตออกมาดี โดยต้องดูในเรื่องคุณภาพข้าวที่ออกสู่ตลาดด้วย ซึ่งรัฐต้องเร่งสำรวจและเตรียมความพร้อมเพื่อไม่ให้ตลาดปั่นป่วนได้ โดยขณะนี้ราคาข้าวเหนียวเปลือก (ความชื้น 27-28%) รับซื้อที่ 7,000 บาทต่อตัน

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ประเมินเบื้องต้นสถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดช้ากว่าปกติ ซึ่งในภาคอีสานน่าจะเก็บเกี่ยวได้เดือนธันวาคม อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะไม่กระทบในภาพรวมต่อปริมาณผลผลิต หากไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำอีก สมาคมฯยังคงเป้าหมายส่งออกปีนี้ 10 ล้านตัน

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับพันธมิตร แถลงข่าวการจัดงาน “TISTR and FRIENDS 2017” ครั้งที่ 4 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2560 ณ โซนบี ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสร้างสรรค์ ธุรกิจก้าวไกล นำผู้ประกอบการไทยสู่ 4.0”

นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ career-evolution.net ประธานการแถลงข่าวกล่าวว่า การจัดงาน “TISTR and FRIENDS 2017” เป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ วว. และหน่วยงานพันธมิตร ได้สานพลังนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ ด้วยกลไกของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้มีคุณภาพ และมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย ได้ใช้ วทน. ในการยกระดับผลิตภัณฑ์ เพื่อการแข่งขันในตลาดการค้าระดับประเทศและระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำการตลาดในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ ที่เปิดกว้างให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ มีโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น

“ถือได้ว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นในงาน TISTR and FRIENDS จะเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่เน้นการพัฒนา 6 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ พัฒนาและออกแบบกระบวนการผลิต ระบบมาตรฐาน เครื่องจักร และวัตถุดิบต้นน้ำ ผ่านกลไกระบบพี่เลี้ยง หรือที่ปรึกษาเทคโนโลยี เชื่อมโยงการบริการด้านการตลาดและการเงินผ่านเครือข่ายในการทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เชื่อมต่อและบรรลุยังวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ปี 2015-2020 คือ ประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ช่วยให้สังคมและชุมชนในท้องถิ่น สามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยตัวเอง มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน ก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อ ชุมชน และสังคม อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลตามแผนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เรียกว่า Thailand 4.0” รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ กล่าวต่อว่า นอกจากการดำเนินงานดังกล่าวแล้ว วว. ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน อาทิ การบริหารจัดการที่ดี การขนส่ง การเงิน และการตลาด ซึ่งในปีนี้มีพันธมิตรมาร่วมสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งขึ้นอีก 2 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพฯ ในการร่วมให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านการเงินการลงทุน และบริษัท ตลาดต่อยอด จำกัด ซึ่งเป็นตลาดกลางการค้าแห่งภูมิภาคอาเซียนแห่งแรกในเมืองไทย ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการไทย สามารถขยายตลาด และพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภคได้กว้างขวางและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ดร. ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงจุดเด่นของกิจกรรมในงาน TISTR and FRIENDS ว่า เป็นการจัดแสดงผลงานที่เกิดจากการร่วมมือของ วว. และหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาผู้ประกอบการไทย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โอทอป และ SMEs ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แบบครบวงจร โดยมุ่งเน้นการนำเสนอประเด็นการทำธุรกิจผ่านระบบ E – Commerce ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 โดยสนับสนุนผู้ประกอบการที่ผ่านการใช้ วทน. ในการยกระดับผลิตภัณฑ์ ให้สามารถมีทางเลือกในการจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น รวมทั้งการเปิดตัวพันธมิตร (Friends) รายใหม่ เพื่อเพิ่มมิติใหม่ให้หลากหลายในการพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและโอทอป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนในระบบเศรษฐกิจประเทศอย่างยั่งยืน โดยนำหลักยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเป็นตัวกำหนดทิศทางและการดำเนินการ

“ในปี 2560 กิจกรรม TISTR and FRIENDS จะเป็นโครงการที่ช่วยประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการนำ วทน. โดย วว. และพันธมิตร มาใช้ต่อยอดและยกระดับผลิตภัณฑ์ผู้ประกอบการภายในประเทศ พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นให้ผู้ที่สนใจและมีแผนที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการเริ่มต้นโดยมี วว. และพันธมิตร ช่วยสนับสนุนส่งเสริม สร้างผู้ประกอบการใหม่ให้มีฐานรากที่เข้มแข็งเพื่อการแข่งขันในระดับสากล…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า “งาน TISTR and FRIENDS 2017” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน ศกนี้ ที่โซนบี ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ภายในงานจะแบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 โซนหลักๆ ด้วยกัน ดังนี้