ขณะเดียวกันมีโครงการใหญ่ๆ ที่ทางรัฐบาลได้วางไว้ให้กับจังหวัด

ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่ ท่าเรือบกที่จะสร้างขึ้นที่น้ำพอง โครงการรถไฟรางเบา โครงการมอเตอร์เวย์ การขยายสนามบินเพื่อให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญที่จะนำพาความเจริญเข้ามาสู่จังหวัด สร้างเม็ดเงินจำนวนมากนำมาสู่ GPP ที่เพิ่มขึ้น

ระหว่างที่มีการเร่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมและบริการ จะต้องเร่งผลักดันภาคเกษตรกรรมให้เติบโตจาก 11 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการปรับกลยุทธ์จากแนวทางการทำเกษตรกรรมแบบเดิมมาสู่การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาแทนที่แรงงาน เน้นการใช้เครื่องมืออุปกรณ์การสื่อสารทันสมัยมากขึ้น

จากอดีตจนถึงปัจจุบันภาคเกษตรกรรมในจังหวัดขอนแก่นมีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์อันมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในหลายด้าน คนขอนแก่นมีพื้นที่ปลูกข้าวจำนวนทั้งสิ้นกว่า 2.4 ล้านไร่ ปลูกข้าวเหนียวเพื่อการบริโภคจำนวนกว่า 1.6 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือปลูกข้าวเจ้า

แต่จากแนวคิดต่อไปเพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนไป ชาวบ้านอาจต้องปลูกพืชชนิดอื่นร่วมกับการปลูกข้าวด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีรายได้เพียงทางเดียว และลดความเสี่ยงจากปัญหาผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศและตลาดโลก จนทำให้ลูกหลานต้องอพยพไปหางานต่างถิ่นทำกัน ขาดแคลนแรงงานในจังหวัด ครอบครัวขาดความอบอุ่น

สำหรับภาคการประมงและปศุสัตว์นั้น ถ้ามองในเรื่องโคจะแบ่งส่งเสริมการเลี้ยงออกเป็น 2 ส่วน ตามที่นักวิชาการแนะนำ ได้แก่ การผลิตพันธุ์เพื่อนำไปขายให้กับกลุ่มอื่นเพื่อเลี้ยงต่อ แล้วใช้ประโยชน์ต่างๆ กับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์วัวในแบบต่างๆ ที่ตลาดต้องการ ส่วนการเลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำไม่ควรส่งเสริมเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้หาตลาดรองรับไว้ หรือควรเลี้ยงให้มีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อสร้างความมั่นคงทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ขอนแก่น มีพืชเศรษฐกิจเด่นที่เป็นจุดแข็งของภาคเกษตรกรรมสำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง มีสัตว์เศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ โคเนื้อ สุกร และโคนม ส่วนด้านการประมง ได้แก่ ปลานิล และปลาดุก

จากปัจจัยทางเกษตรกรรมหลากหลายด้าน รวมทั้งจุดแข็งต่างๆ จึงทำให้ภาคเกษตรกรรมของจังหวัดขอนแก่นมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดทุกระดับ ดังนั้น เพื่อเป็นการตอกย้ำฐานรากที่มั่นคงให้ต่อยอดไปอย่างยั่งยืน ทางจังหวัดจึงกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการพัฒนาเกษตรของจังหวัดขอนแก่น ใน 3 ด้านคือ “ภาคเกษตรมั่นคง เกษตรกรมั่งคั่ง รากฐานการผลิตยั่งยืน”

ต้นแบบการตลาดนำการเกษตรหรือโนนเขวาโมเดล ถูกกำหนดให้เป็นหมู่บ้านเป้าหมายเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรในลักษณะบูรณาการที่สมบูรณ์ ภายใต้หลักคือ “การตลาดนำการผลิต” มีการพัฒนาต่อยอดจากแปลงผักขนาดใหญ่ ที่มี GAP ให้เข้าสู่มาตรฐานโรงคัดแยก โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนเอกชนเข้ามารับซื้อผลผลิต

“หรืออย่างที่ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในตลาดพืชผักในลักษณะการรับซื้อสินค้าเกษตรที่ผลิตอย่างมีคุณภาพและรับซื้อต่อเนื่อง อย่างที่เห็นเป็นภาพชัดเจนในตอนนี้คือ ที่อำเภอโนนเขวา ซึ่งกำหนดเป็นโนนเขวาโมเดล ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรกรรมประเภทใดก็ตาม สิ่งที่ฝากไว้คือ ต้องระมัดระวังในเรื่องปริมาณการผลิตและความต้องการของตลาดควรมีความสมดุลเหมาะสมกัน อย่าให้อย่างหนึ่งอย่างใดมีมาก เพราะจะไม่ส่งผลดีต่อภาคเกษตรกรรมเลย”

อย่างไรก็ตาม โนนเขวาโมเดล ได้ร่วมกับทางเทสโก้ โลตัส รับซื้อผักคุณภาพที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจำนวนมากอย่างต่อเนื่องในราคาที่เป็นธรรม ช่วยทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการผลิต แล้วยังมีความมั่นคงทางรายได้

ทั้งยังมีการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร ส่งเสริมให้ใช้พื้นที่ทำเกษตรกรรมให้ถูกต้องเหมาะสมของพืชแต่ละชนิด ตลอดจนการส่งเสริมกิจกรรมเกษตรแปลงใหญ่ พร้อมกันนี้ยังมีภารกิจแบบคู่ขนานด้วยการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เป็น Smart Farmer ทั้งความรู้และทักษะ ตลอดจนการรับมือกับเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ในทุกรูปแบบ

สำหรับการสร้างความยั่งยืนทางภาคเกษตรกรรมด้วยการพัฒนาและรักษาทรัพยากรที่เป็นฐานการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและบริหารจัดการดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อม ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า แล้วยังเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อนำไปสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย

ทั้งนี้การทำเกษตรกรรมทุกประเภท ควรมุ่งหวังให้เกษตรกรทุกรายมีรายได้สม่ำเสมอและต่อเนื่อง ควรมีรายได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน และทั้งปี ไม่ควรรอขายผลผลิตทางการเกษตรเพียงปีละ 1-2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าทางการเกษตรควรตระหนักถึงคุณภาพและมาตรฐานตามหลักปฏิบัติ ตลอดจนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดไว้ทั้งของไทยและต่างประเทศ เพราะถ้าพูดกันถึง Smart Living ที่ต้องเน้นคุณภาพ เพราะถ้าสินค้าที่ผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานจะช่วยทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด นำมาสู่การขายที่มากขึ้น มีรายได้สูงขึ้น

ท่านผู้ว่าฯ ไม่ปฏิเสธว่าในภาคเกษตรกรรมจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ผลิตหรือปลูกอย่างเดียว แต่ควรมีบทบาทในเรื่องการวางแผนแล้วขายเองด้วย ทั้งนี้คงเป็นหน้าที่ของทางภาครัฐที่จะเข้าไปช่วยส่งเสริมให้ความรู้ในสิ่งเหล่านี้เพื่อยกระดับขึ้นอีก และควรเป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสานต่อ

ขอนแก่น เป็นจังหวัดที่มีจุดแข็งอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ เรื่องผ้าไหม และฟอสซิลไดโนเสาร์ โดยมองว่าจะทำอย่างไรให้ทั้งสองอย่างนี้เด่นขึ้นมาจนสร้างรายได้เข้ามาในจังหวัด ที่ผ่านมายังไม่เคยมีลายผ้าไหมประจำจังหวัด แต่ที่ผลิตขายมีลายผ้าจำนวนมากมาย แต่ยังไม่เคยมีลายที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดที่ชัดเจน จึงได้มีการดำเนินการคัดเลือกจนได้ลายผ้าไหมของจังหวัดขอนแก่นในชื่อ “ลายแคนแก่นคูณ” กระทั่งได้รับความสนใจกันอย่างคับคั่ง ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของจังหวัดขอนแก่นสามารถขายได้เงินจำนวนมากกว่าที่ผ่านมา

นอกจากนั้นแล้ว ยังเสนอตัวไปยังสภาหัตถกรรมโลก ของ UNESCO เพื่อขอให้พิจารณาจังหวัดของแก่นเป็นเมืองหัตถกรรมผ้ามัดหมี่ แล้วปรากฏว่าได้ผ่านการคัดเลือกแล้วได้การรับรองให้ขอนแก่นเป็นเมืองหัตถกรรมผ้ามัดหมี่ ทำให้จังหวัดขอนแก่นกลายเป็นเมืองที่ได้รับความสนใจจากต่างประเทศทั่วโลกทันที ขณะเดียวกันยังมีแผนพัฒนาให้ฟอสซิลไดโนเสาร์เป็น GEO PARK หรืออุทยานทางธรณีวิทยา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาหาข้อมูลในระดับนานาชาติ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอน

“สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมา จะต้องทำงานอย่างเร่งด่วนและมีคุณภาพไปพร้อมทุกอย่างควบคู่กัน โดยหวังว่าในอนาคต ขอนแก่นจะไม่เป็น Smart City เพียงอย่างเดียว แต่ต้องยกระดับให้เป็น Global City เพราะหวังว่าเมื่อนักท่องเที่ยวคิดถึงเมืองไทย จะต้องนึกถึงขอนแก่นเป็นอีกแห่งของเมืองแห่งความน่าประทับใจด้วย” ท่านผู้ว่าฯ กล่าว

ฟักทองประดับ Ornamental Gourd มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และอเมริกาเหนือ เช่น ประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา มีการใช้ประโยชน์มายาวนานกว่า 10,000-30,000 ปี จากสายพันธุ์อันแตกต่าง ฟักทองประดับบางชนิดมีการผสมเกสรขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ลูกฟักทองที่ออกมาเหมือนของประดับติดลำต้น บางชนิดเป็นการคัดสายพันธุ์ที่แปลกตามาปลูก เพื่อให้สวนมีรายละเอียดที่แตกต่างไป

ฟักทองประดับ มักใช้ตกแต่งในสวนเป็นสำคัญ โดยปลูกฟักทองให้เลื้อยไต่ตามซุ้มหรือค้างไม้ที่ทำไว้ในสวน อาจปลูกเป็นแนวทางเข้าสู่สวน เมื่อฟักทองติดดอกและออกผล ผลที่ห้อยระย้าจะช่วยเพิ่มสีสันให้กับมุมสวนนั้นๆ ได้อย่างดี แต่หากปลูกฟักทองลงบนพื้นโดยไม่ทำซุ้มหรือค้างไม้ ลำต้นจะเลื้อยไปตามผิวดิน เมื่อเกิดผลจะทำให้เน่าและเสียหายได้ง่าย นอกจากนั้น ยังสามารถเก็บผลฟักทองมาประดับตกแต่งในบ้าน ผลแต่ละลูกที่เก็บมาสามารถเก็บไว้ได้นานอีกด้วย

ฟักทองยักษ์

ฟักทองยักษ์ มีชื่อสายพันธุ์ว่า “บิ๊กมูน” แปลว่า พระจันทร์ดวงใหญ่ ปลูกเป็นไม้ประดับในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง ปลูกครั้งแรกที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาขยายพื้นที่และเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกที่อื่น เช่น สถานีวิจัยแม่หลอด อำเภอแม่แตง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง้ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ขณะนี้ปลูกมากที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า อำเภอปง จังหวัดพะเยา

เมล็ดพันธุ์ต้องสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ ราคาเมล็ดละประมาณ 30-50 บาท ด้วยราคาเมล็ดพันธุ์แพง ต้องเพาะเมล็ดก่อนจึงนำไปปลูกในแปลง เมื่อต้นโตจะเลื้อยไปบนดิน ควรจัดลำต้นให้ขนานไปกับแปลง อาจเหลือเพียงกิ่งเดียว หรือ 2 กิ่ง ก็ได้ แต่ให้แยกไปคนละด้าน รอจนออกดอกและเจริญเต็มที่ ควรช่วยผสมพันธุ์ด้วยการเขี่ยละอองเกสรตัวผู้นำไปผสมกับละอองเกสรตัวเมีย หลังจากผสมพันธุ์แล้วประมาณ 7 วัน จะเริ่มเกิดเป็นผล ห่อผลตั้งแต่ผลเล็กๆ ป้องกันไม่ให้แมลงเจาะเข้าไปวางไข่ภายในผลฟักทองยักษ์ ระยะแรกควรปล่อยให้ผลห้อยติดกับขั้ว

เมื่อผลมีน้ำหนักมากขึ้น และต้องการให้รูปทรงสวยงาม ควรทำค้างให้ลำต้นเลื้อยขึ้นไป แล้วหาวัสดุรองรับน้ำหนักผล ผู้ปลูกต้องหมั่นตรวจดูบ่อยครั้ง เพราะฟักทองเจริญเติบโตเร็วมาก สีผิวจะเปลี่ยนตามไปด้วย

สิ่งสำคัญคือ ต้องหุ้มกระดาษเพื่อช่วยให้สีผิวสวย หุ้มด้วยตาข่ายพลาสติกใสอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันแมลงเข้าทำลายตั้งแต่เริ่มปลูก และจะต้องเปลี่ยนพื้นที่ปลูกทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดโรคเหี่ยว และโรคที่เกิดจากเชื้อราต่างๆ ระยะปลูกไม่กำหนดแน่นอนตายตัว ควรปลูกในเรือนโรงที่มีตาข่ายป้องกันแมลงศัตรูพืช และควรหุ้มด้วยกระดาษและตาข่ายพลาสติกอีกครั้งหนึ่ง

ระยะนี้ต้นมะม่วงเริ่มเข้าสู่ช่วงที่มีใบอ่อนและแทงช่อดอก กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนมะม่วงเฝ้าระวังช่วงที่มีสภาพอากาศร้อน และมีอุณหภูมิสูงขึ้น ให้สังเกตการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟพริก มักพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากเขี่ยเนื้อเยื่อ และดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืชบริเวณใบอ่อน ยอดอ่อน ตุ่มตาใบ ตุ่มตาดอก และช่อดอกมะม่วง

ส่วนการเข้าทำลายในระยะติดดอก จะทำให้ช่อดอกหงิกงอ ดอกร่วงไม่ติดผล หรือทำให้ติดผลน้อย การเข้าทำลายบนยอดอ่อน จะทำให้ใบที่แตกใหม่แคระแกร็น ขอบใบและปลายใบไหม้ ใบอาจร่วงตั้งแต่ยังเล็ก สำหรับใบที่มีขนาดโตแล้ว มักพบการเข้าทำลายตามขอบใบ ทำให้ใบม้วนงอและปลายใบไหม้ การเข้าทำลายที่ยอด จะมีความรุนแรงจนทำให้ยอดแห้ง ไม่แทงช่อใบหรือช่อดอก

หากพบการระบาดไม่มาก ให้เกษตรกรตัดส่วนที่เพลี้ยระบาดนำไปเผาทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก เพราะเพลี้ยไฟพริกจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มบริเวณส่วนยอดอ่อนของพืช กรณีระบาดรุนแรง ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลง สไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะบาเมกติน 1.8% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

หรือสารไซแอนทรานิลิโพรล 10% โอดี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อช่วยให้การพ่นสารฆ่าแมลงมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เกษตรกรควรพ่นในระยะที่ต้นมะม่วงติดดอกอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ระยะเริ่มแทงช่อดอก และระยะเริ่มติดผลขนาดมะเขือพวง (ประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร) หากพบเพลี้ยไฟพริกระบาดรุนแรงให้พ่นซ้ำก่อนระยะดอกบาน หลีกเลี่ยงการพ่นสารฆ่าแมลงในระยะดอกบาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร

ตำบลแจงงาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมด 34,022 ไร่ ชาวบ้านมีอาชีพทำไร่ ทำนา มีพื้นที่ปลูกอ้อย 2.8 หมื่นไร่ ปลูกข้าวเกือบหมื่นไร่ ที่นี่ขาดแคลนแหล่งน้ำชลประทาน ปลูกข้าวได้แค่ปีละครั้ง ชาวบ้านส่วนใหญ่มีรายได้น้อยและฐานะยากจน หมดฤดูทำนา หนุ่มสาวมักอพยพไปรับจ้างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี และชัยนาท เพื่อนำรายได้มาเลี้ยงครอบครัว ทิ้งเด็กเล็กคนแก่ไว้เฝ้าบ้าน

ปลูกเมล่อน “แก้จน”
ปี 2549 กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงร่วมมือกับ บริษัท เจียไต๋ จำกัด ดำเนิน “โครงการนำร่องภาคธุรกิจ ช่วยเหลือคนจน จังหวัดสุพรรณบุรี” โดยส่งเสริมชาวบ้านปลูกเมล่อนเป็นรายได้เสริมเลี้ยงดูครอบครัว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อำเภอหนองหญ้าไซ สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อลงทุนให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ รายละ 450,000 บาท

เจียไต๋สนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการปลูกเมล่อน และรับซื้อผลผลิตคืนจากเกษตรกรในราคาประกัน และส่งนักวิชาการเจียไต๋มาให้คำแนะนำการผลิตตั้งแต่เริ่มเพาะต้นกล้า การใส่ปุ๋ย การกำจัดแมลงศัตรูพืช และช่วยเหลือด้านการตลาดแก่เกษตรกรอยู่ตลอดเวลา

หลังจากเปิดตัวโครงการ มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการในระยะแรกเพียง 20 กว่าราย ปรากฏว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างน่าพึงพอใจ เพราะเมล่อนเป็นผลไม้ที่ปลูกง่าย ขายดี มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการสามารถผ่อนชำระเงินที่กู้มาลงทุนได้เร็วกว่าระยะเวลาที่กำหนด พวกเขามีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง หมดหนี้หมดสิน ที่สำคัญลูกหลานไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานต่างถิ่นอีกต่อไป ลูกหลานกลับมาทำงานที่บ้านเกิดอย่างมีความสุข มีรายได้และฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจนถึงทุกวันนี้

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการปลูกเมล่อน สร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านรายอื่นๆ ในชุมชนหันเข้ามารวมกลุ่มปลูกเมล่อนเพิ่มมากขึ้น พวกเขาได้รวมตัวกันจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง” ภายใต้การนำของ คุณอำนาจ แตงโสภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแจงงาม (อบต. แจงงาม)

ทุกวันนี้เกษตรกรในหมู่บ้านแห่งนี้ รวมทั้งชุมชนใกล้เคียงหันมาปลูกเมล่อนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน สมาชิกทั้งรายเก่าและรายใหม่สนใจลงทุนและขยายพื้นที่ปลูกเมล่อนอย่างต่อเนื่อง มีพื้นที่ปลูกเมล่อนมากกว่า 100 ไร่ เพราะตลาดเมล่อนเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะเมล่อนอยู่ในกลุ่มผลไม้เพื่อสุขภาพ เป็นที่นิยมของคนไทยและต่างชาติ ส่งผลให้เมล่อนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน

และชุมชนแห่งนี้ถูกเรียกขานว่าเป็น “หมู่บ้านเมล่อน” มีรูปปั้นเมล่อนผลยักษ์ เป็นสัญลักษณ์ตั้งอยู่ปากทางเข้าหมู่บ้าน ขณะเดียวกันที่นี่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีผู้สนใจแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมและสั่งซื้อเมล่อนจากฟาร์มตลอดทั้งปี

“เมล่อนบ้านหนองคาง”
ต้นแบบปลูกเมล่อนในโรงเรือน
ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบด้านการปลูกเมล่อนในโรงเรือนปิด ปลอดสารพิษตกค้าง ผ่านการรับรองมาตรฐานการจัดการเกษตรที่ดี (GAP) ผลผลิตส่วนใหญ่จำหน่ายให้ บริษัท เจียไต๋ ก่อนกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด

ผลผลิตเมล่อนของชุมชนแห่งนี้เป็นสินค้าคุณภาพดี เกรดเอ ปลอดสารพิษตกค้าง รสชาติหวาน อร่อย เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อทั่วประเทศ

จุดเด่นของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง คือมีการบริหารจัดการผลิตที่เป็นระบบ กำหนดรอบเวรให้สมาชิกแต่ละรายปลูกเมล่อนห่างกัน 4 วัน เพื่อให้มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดตลอดทั้งปี ที่นี่ยังเป็นต้นแบบของการทำงานแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่ภาครัฐภาค เอกชน สนใจเข้าเยี่ยมชมดูงานตลอดทั้งปี เพราะพวกเขาได้นำวัฒนธรรมการลงแขก ในวิถีชีวิตชาวนาแบบดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้ในอาชีพการทำฟาร์มเมล่อนได้อย่างน่าชื่นชม

สมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปช่วยกันผสมเกสรต้นเมล่อนและเก็บเกี่ยวผลผลิตในแปลงปลูกเมล่อนของเพื่อนสมาชิกแต่ละราย ช่วยให้การทำงานเสร็จไวขึ้น แถมประหยัดค่าจ้างแรงงาน ลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังก่อให้เกิดความรักความสามัคคีในกลุ่มสมาชิก และช่วยพัฒนาการผลิตเมล่อนของชุมชนแห่งนี้ให้มีคุณภาพดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน

การปลูกดูแล
โดยทั่วไป พื้นที่ 1 ไร่ ลงทุนสร้างโรงเรือนผ้าใบสีขาว ขนาด 6.5×40 เมตร ขนาด 208 ตารางเมตร จำนวน 8 หลัง ปลูกเมล่อนได้ 740 ต้น ต่อโรงเรือน ภายในโรงเรือนมีระบบน้ำหยดให้น้ำต้นเมล่อน ข้อดีของการปลูกเมล่อนในโรงเรือนคือ ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคเชื้อรา เพลี้ย และแมลงได้อย่างดี โดยธรรมชาติแล้ว เมล่อนเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี ใช้เวลาปลูกดูแลเพียงแค่ 75 วัน ก็เก็บผลผลิตออกขายได้ ประมาณ 1 ตัน ต่อโรงเรือน

ทางกลุ่มฯ แนะนำให้สมาชิกจดบันทึกการผลิตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่วันที่ดอกบาน รวมทั้งจำนวนดอกที่ผสมในแต่ละวัน เพื่อกำหนดวันเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ระยะเวลา 1 ปี เกษตรกรสามารถปลูกและเก็บเกี่ยวเมล่อนได้ถึง 3 รอบ

หากมีการวางแผนจัดการที่ดี เกษตรกรบางรายอาจปลูกเมล่อนได้ถึง 7 รอบ ในระยะเวลา 2 ปี โดยทั่วไป หลังหักค่าใช้จ่ายจะมีผลกำไรต่อรุ่นไม่ต่ำกว่า 80,000-200,000 บาท แต่เกษตรกรบางรายวางแผนจัดการผลิตอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถสร้างผลกำไรแตะหลักล้านได้อย่างน่าทึ่ง

ทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคางจัดหลักสูตรอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้น ช่วยทำให้เกษตรกรมือใหม่ทุกราย สามารถผลิตเมล่อนญี่ปุ่นคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของตลาด สมาชิกมือใหม่ปลูกเมล่อนตามปฏิทินวงจรชีวิตการเติบโตของพืช เริ่มต้นเพาะกล้าในช่วง วันที่ 1-10 ตัดแต่งแขนงต้นเมล่อน ในช่วงวันที่ 11-22 เริ่มผสมเกสรต้นเมล่อน ช่วงวันที่ 23-25 เข้าสู่ขั้นตอนการคัดผลและแขวนลูกในช่วง วันที่ 26-30 ใส่ปุ๋ยให้ต้นเมล่อนเพื่อเร่งลูก ในช่วง วันที่ 36-60 เร่งเพิ่มความหวานให้ผลเมล่อนในช่วง วันที่ 61-70 วัน และเข้าสู่ระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิต ตั้งแต่ วันที่ 71-75

การผสมเกสรดอกเมล่อนในระยะเวลาที่เหมาะสม สมัครน้ำเต้าปูปลา คือเคล็ดลับสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่ดี ต้นเมล่อนมีดอกสมบูรณ์ เพราะมีเกสรดอกตัวผู้และเกสรดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้จะผลิบานอยู่ระหว่างข้อบนลำต้น

ทางกลุ่มฯ แนะนำให้สมาชิกผสมเกสรในช่วง 07.00-11.00 น. แต่จังหวะที่ดีที่สุดในการผสมเกสร เริ่มตั้งแต่ 07.00-09.00 น. โดยเลือกผสมดอกเพียง 2-3 แขนง ต่อต้น หากพ้นระยะเวลาที่กำหนด มักผสมเกสรไม่ได้ผลเพราะต้นเมล่อนจะคายน้ำ

เกษร เมล่อนฟาร์ม
ป้าเกษร มหาพล หนึ่งในเกษตรกรผู้บุกเบิกปลูกเมล่อนในชุมชนแห่งนี้ ปัจจุบัน ป้าเกษร มีบทบาทเป็นแกนนำของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง ทำหน้าที่ดูแลด้านตลาดให้แก่สมาชิกของกลุ่ม ป้าเกษรบอกว่า การปลูกเมล่อนให้ประสบความสำเร็จ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ตั้งแต่การวางแผนการปลูกดูแลในระยะเวลาที่เหมาะสม ปัจจัยด้านตลาด รวมทั้งการเลือกใช้เมล็ดพันธุ์เมล่อนคุณภาพดี

ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มเลือกใช้เมล็ดพันธุ์เมล่อนของเจียไต๋เป็นหลัก ได้แก่ เมล่อนพันธุ์มรกต ML254 ที่มีลักษณะเด่นคือ ต้นใหญ่ ใบหนา ให้น้ำหนักผลดี เมล่อนมีรสหวาน นุ่ม หอม อร่อย เพราะเป็นเมล่อนญี่ปุ่นสายพันธุ์แท้ ทำความหวานง่าย สินค้าอีกชนิดที่ปลูกง่าย ขายดีคือ เมล่อนพันธุ์โกลเด้นควีน 1520 ที่โดดเด่นในเรื่องรสชาติหวานกรอบ หอม อร่อย ถูกปากผู้บริโภค เมล่อนพันธุ์นี้ปลูกง่ายเติบโตไว ทำความหวานได้ง่าย

สินค้าเมล่อนของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ปลูกง่าย ขายดีตลอดทั้งปี แถมบางช่วงผลผลิตมีน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดอีกต่างหาก เมล่อนเป็นไม้ผลที่ปลูกดูแลง่าย ใช้ระยะเวลาปลูกดูแลสั้น แค่ 75 วัน ก็เก็บผลผลิตออกขายได้ ที่สำคัญสร้างผลกำไรงาม ทำให้เกษตรกรรายเก่าและรายใหม่ขยายพื้นที่ปลูกเมล่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีนักท่องเที่ยว หน่วยงานภาครัฐและเอกชนแวะเวียนเข้ามาศึกษาดูฟาร์มเมล่อนทุกวัน หากใครสนใจอยากชิมรสชาติความอร่อยเมล่อนของชุมชนแห่งนี้ได้ตลอดเวลา

เกษร เมล่อนฟาร์ม ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 3/1 หมู่ที่ 1 ตำบลแจงงาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี สามารถติดต่อชมฟาร์มศึกษาดูงานกับ ป้าเกษร มหาพล ได้ที่เบอร์โทร. 083-317-7829 คุณนิตยา ถิ่นธรณี เบอร์โทร. 086-110-4177 ได้ทุกวัน

เชื่อว่า ความสุขของเด็กบ้านสวนหลายคนคงจะเหมือนๆ กัน ใช้เวลาช่วงวันหยุด เสาร์ –อาทิตย์ ออกกำลังกายปีนป่ายห้อยโหนต้นไม้เป็นลิงค่างแล้วกับเพื่อนๆ อย่างสนุกสนาน ฝึกหัดว่ายน้ำในร่องสวน โดยใช้ลูกมะพร้าวผูกเป็นทุ่นพยุงตัว ยามหิว ก็ปีนต้นไม้เลือกเก็บผลไม้กินตามความพอใจ ทั้งฝรั่งขี้นก กล้วยหอม กล้วยไข่ มะพร้าว ฯลฯ

รสชาติเอร็ดอร่อย เช่น มะม่วงแขนอ่อน(จำได้แม่น ..ผลยาวมาก ) แก้มแดง (ลูกสีสวยงาม เป็นเอกลักษณ์เด่น ) ลิ้นงูเห่า ( รสชาติหวานหอมเหมือนมะม่วงอกร่อง) ทองดำ (ผลดิบ มีรสมันปนเปรี้ยว ผลสุก หอมหวานอร่อยมาก ) อกร่อง (รสชาติหวานหอม อร่อยที่สุดในกลุ่มมะม่วงกินสุก ) ตลับนาค(กลิ่นหอม รสหวานอร่อย )กำปั้น หรือ กระล่อน ( ลูกเล็ก มีกลิ่นหอม รสหวาน ) พิมเสนมัน (ผลสุกงอมมีรสหวานปนเปรี้ยว ) และมันขุนศรี (อร่อยทั้งผลดิบและสุก ) ฯลฯ