ขณะเดียวกันเตรียมอุปกรณ์นึ่ง คือ นำถ้วยตะไลเรียงใส่ซึ้งนึ่งใส่น้ำลง

ไปในลังถึงนำขึ้นตั้งไฟให้เดือดนานประมาณ 10 นาที เพื่อให้ถ้วยร้อน ยกลังถึงใส่ถ้วยตะไลลงจากเตา นำแป้งที่เตรียมไว้มาหยอดใส่ถ้วย ปิดฝานึ่งใช้ไฟแรงนานประมาณ 15 นาที พอขนมสุกจึงยกขึ้นจากเตาแช่ในภาชนะที่มีน้ำเย็นเพื่อสะดวกต่อการแคะ และนำใส่กล่องและถุงจำหน่ายที่หน้าร้านมีราคาตั้งแต่ 30 40 และ 50 บาท นอกจากนี้ ยังมีการทำขนมน้ำดอกไม้อีกด้วย

สถานที่ทำขนมขายจะอยู่ที่บ้านตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองจังหวัดสระแก้ว ตนและครอบครัวทำขายมาเป็นเวลานานจนเป็นที่เลื่องชื่อ ถึง เปิดขายตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ต่อมาเมื่อเป็นที่รู้จักมากขึ้นจึงขยายสาขามาขายที่บริเวณใกล้หอนาฬิกา ท่าน้ำนนท์ จังหวัดนนทบุรี (ศาลากลางเก่านนทบุรี) ติดป้ายรถเมล์ตั้งแต่ช่วงเช้าประมาณ 8 โมงถึง 4 โมงเย็น ถ้าวันไหนหมดก็จะกลับเร็ว และจะนำขนมไปทำจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า งานแสดงต่างๆ ทั่วประเทศ

จุดเด่นประการสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับ “บ้านขนมมรกต” ก็คือ การสร้างแฟรนไชส์ในยุคปัจจุบันนี้นับว่าเป็นที่นิยมและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในรูปแบบของการสมัครเป็นสมาชิก และนำมาแป้งมาทำขนมจำหน่าย ผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถนำไปทำขายได้ทันทีเพียงแต่เตรียมอุปกรณ์สำหรับนึ่งก็สามารถขายได้ โดยใช้แป้งสีต่างๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้ และจะจัดส่งให้ตามต้องการนอกจากนี้ ยังทำในรูปแบบของขนมถ้วยฟูแช่แข็งส่งขายยังต่างประเทศ ซูเปอร์มาร์เก็ตอีกด้วย

หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่ใดสนใจในการกำขนมถ้วยฟูสมุนไพรสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณภัสสรภรณ์ ทรัพย์ทวีพูนผล บ้านเลขที่ 12/7หมู่บ้านพรรณดา ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว 27000 โทร. 08-1945-2085 คุณภัสสรภรณ์ บอกว่ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้สนใจทั่วไป

วันที่ 4 ส.ค. นายประเสริฐ อินทับ ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เขื่อนศรีนครินทร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ปัจจุบันวันที่ 4 ส.ค.61 เวลา 07.00 น. อยู่ที่ระดับ 174.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นปริมาณน้ำ 15,338.54 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 86.44%

ถ้านำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำเมื่อปีที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์มีข้อมูลระดับน้ำอยู่ที่ระดับ 167.98 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นปริมาณน้ำ 13,143.36 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 74.07% ถือได้ว่าปริมาณน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ในวันนี้ได้เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว 12.37 %

และในสถานการณ์น้ำในปัจจุบันที่ประเทศไทย โดนอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมถึงในจ.กาญจนบุรี

โดยเมื่อวันที่ 3 ส.ค. มีน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์เพิ่มขึ้น 62.39 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์ที่สามารถใช้ได้ 5,073.54 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้ระบายน้ำออกตามแผนการระบายน้ำโครงการชลประทานวันละ 14.96 ล้านลูกบาศก์เมตร

และตอนนี้ยังสามารถรับน้ำได้อีก 2,406.46 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 13.56 % ทำให้มั่นใจได้ว่าอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ยังคงสามารถรองรับน้ำฝนได้อีก โดยไม่เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยของตัวเขื่อน รวมไปถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนชนท้ายน้ำอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เขื่อนศรีนครินทร์ ได้ออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานสากล โดยมีหน่วยงานด้านตรวจสอบและบำรุงรักษาเขื่อน ทำการตรวจสอบเขื่อน เป็นประจำทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุก 3 เดือน ด้วยเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน ที่ติดตั้งไว้กับตัวเขื่อนตั้งแต่การก่อสร้างเขื่อน

และทุก ๆ 2 ปี จะมีการตรวจสอบประเมินความปลอดภัยเขื่อน ตามมาตรฐานเขื่อนใหญ่โลก (ICOLD) โดยคณะกรรมการตรวจประเมินความปลอดภัยของเขื่อน หรือเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติ เช่น ฝนตกหนักต่อเนื่อง เกิน 48 ชั่วโมง ในขณะที่ปริมาตรกักเก็บมากกว่า 95 % ของความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับกักเก็บปกติ หรือ มีแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางใกล้เคียงกับพื้นที่ กฟผ. จะตรวจสอบเขื่อนในกรณีพิเศษ

โดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบเขื่อนกรณีพิเศษ จากฝ่ายบำรุงรักษาโยธา เพื่อรายงานและวิเคราะห์ผลที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น

แต่เนื่องจากสถานการณ์น้ำในช่วงนี้ที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงเพิ่มการตรวจสอบเขื่อนให้มีความถี่มากขึ้นกว่าเดิม เช่น การตรวจอัตราการซึมของน้ำผ่านตัวเขื่อน การตรวจวัดระดับน้ำในหลุมวัดน้ำ เดิมตรวจสอบสัปดาห์ละครั้ง เป็นตรวจสอบทุกวัน

ส่วนการตรวจสอบ การทรุดตัวและเคลื่อนตัวของเขื่อน จากเดิมไตรมาสละครั้ง เป็นเดือนละครั้ง จึงขอให้ประชาชน มีความมั่นใจ ในความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนศรีนครินทร์ ด้าน นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่งมีความจุอ่าง 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับ 155 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยข้อมูล ณ วันที่ 4 ส.ค.61 เวลา 7.00 น. มีปริมาณน้ำในเขื่อน 7,410 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 84% โดย กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณ ปรับแผนระบายน้ำ ตามมติของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการน้ำ ประชุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค.61 มีแผนการระบายน้ำ ดังนี้

วันที่ 4 ส.ค.61 ระบายน้ำเฉลี่ย 36 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน วันที่ 5 ส.ค.61 ระบายน้ำเฉลี่ย 39 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และวันที่ 6-12 ส.ค.61 ระบายน้ำเฉลี่ย 43 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน สาเหตุที่ต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ เนื่องจากมีปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนมาก

จึงจำเป็นต้องระบายน้ำ เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำเพียงพอ ซึ่งอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 1,450 ล้านลูกบาศก์เมตร ทางเขื่อนวชิราลงกรณ รับทราบปัญหาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการทางด้านท้ายน้ำ และได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

แต่เนื่องจาก ณ เวลานี้มีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างมากกว่าวันละ 100 ล้าน ลบ.ม. อย่างต่อเนื่อง จึงต้องบริหารจัดการน้ำในอ่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ และถ้าปริมาณน้ำฝนที่ไหลเข้าอ่างลดลงก็จะทำการลดการระบายน้ำลงเท่าที่จะทำได้

ทั้งนี้ กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณ มีการรายงานแผนการระบายน้ำ ให้หน่วยงานราชการในจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดราชบุรี ทราบเป็นประจำทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ หากมีข้อสงสัย หรือได้รับข่าวต่างๆ ที่ผิดปกติ โปรดสอบถามข้อเท็จจริงโดยตรง ที่ กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณ หมายเลข 02-4368739 หรือ 034-599077 ต่อ 3110 , 3111 และติดตามเหตุการณ์ทางกล้อง CCTV ตลอด 24 ชั่วโมงที่ http://www.vrk.egat.com หรือ Application EGAT Water

นายไววิทย์ เปิดเผยต่อว่า ด้านความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน เขื่อนวชิราลงกรณ มีการออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานสากลโดยมีหน่วยงานด้านบำรุงรักษาเขื่อนฯ ทำการตรวจสอบเขื่อน เป็นประจำทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกปี

โดยคณะกรรมการตรวจประเมินความปลอดภัยเขื่อนฯ ทุกๆ 2 ปี หรือ เมื่อมีเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบกับตัวเขื่อน เช่น ฝนตกหนัก ระดับน้ำในเขื่อนมากกว่า 80% หรือ มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ก็จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเขื่อนด้วยเครื่องมือวัดที่ติดตั้งไว้ภายในตัวเขื่อนและบริเวณใกล้เคียงทันที เพื่อรายงานและวิเคราะห์ผลทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น จึงขอให้ประชาชน มีความมั่นใจ ในความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน

ข้าวยำ เป็นอาหารที่เชื่อว่า ทุกคนน่าจะรู้จัก และเคยลิ้มลองมาแล้ว หรือบางคนเคยได้ยินชื่อ แต่ยังไม่เคยลิ้มลอง ถ้าเป็นคนใต้หรือเคยผ่านไปทางใต้ เมื่อพบอาหารชนิดนี้แล้ว เชื่อว่า ต้องรีบสั่งมาชิมทันที เพราะด้วยสีสันหน้าตาที่สวยงาม รสชาติกลมกล่อมจากเครื่องปรุงนานาชนิดจึงทำให้ ข้าวยำ กลายเป็นสัญลักษณ์อาหารปักษ์ใต้พื้นเมืองอีกเมนูหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก

ข้าวยำ ทำจากข้าวที่เรารับประทานอยู่ทุกวันนี่เอง แต่เพิ่มการปรุงแต่งเล็กน้อย เพื่อให้ข้าวเหล่านั้น มีสีสันและรสชาติ ที่น่ารับประทาน การทำข้าวยำปักษ์ใต้ให้อร่อย ต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญ เริ่มแรกต้องเลือกซื้อบูดูดิบ โดยน้ำบูดูที่ดีต้องมีสีน้ำตาลแดง มีกลิ่นหอมไม่เหม็นคาว เมื่อนำมาทำน้ำข้าวยำจะได้น้ำบูดุที่ดี รสไม่หวานหรือไม่เค็มเกินไป และไม่เหม็นคาว การทำข้าวยำของคนใต้จะอร่อยหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับน้ำบูดู (น้ำบูดู เป็นเครื่องปรุงรสชนิดหนึ่งของอาหารใต้ มีรสเค็ม ทำมาจากเครื่องในปลาหมักกับเกลือ เนื่องจากน้ำบูดูมีรสเค็ม คนใต้จึงนำมาใส่อาหารแทนน้ำปลา)

รสชาติของน้ำบูดูดิบจะมีรสเค็ม แหล่งที่มีการทำน้ำ บูดูมาก คือ จังหวัดยะลาและปัตตานี เวลานำมาใส่ในข้าวยำต้องเอาน้ำบูดูมาปรุงรส เพื่อเพิ่มรสหวานเล็กน้อย หรือแล้วแต่ความชอบ น้ำบูดูของชาวใต้มีกลิ่นคาวของปลา และมีมันปลาลอยหน้า เพราะทำมาจากปลา กลิ่นคล้ายขอน้ำปลาร้าทางภาคอีสาน แต่กลิ่นน้ำบูดูจะรุนแรงน้อยกว่า

คำว่า ข้าวยำ เป็นคำถิ่นใต้ ที่หมายถึงสรรพคุณผักสมุนไพร ที่ใช้ใส่ในข้าวยำ ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ และเวชการ ซึ่งเป็นทั้งอาหารและยาบำบัด บำรุงพร้อมในจานเดียว ซึ่งล้ำเลิศกว่าอาหารจานเดียวของชาติใดๆ

ข้าวยำ ในทางโภชนาการจัดเป็นอาหารจานเดียวของไทยที่ให้สารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ เป็นอาหารธรรมชาติที่ให้วิตามินและเกลือแร่ โดยเฉพาะในผักสดๆ นั้นมีเส้นใยสูง เหมาะสมกับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก หรือควบคุมน้ำหนัก ทั้งยังช่วยให้ระบบขับถ่ายดี ดังนั้นข้าวยำจึงจัดเป็นอาหารสุขภาพ ที่ทำก็ง่าย และคุณค่าทางโภชนาการที่สูงอีกด้วย

ข้าวยำ สำหรับชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดภาคใต้ เรียกข้าวยำ ว่า นาชิกาบู ซึ่ง นาชิ แปลว่า ข้าว กาบู แปลว่า ยำ และนิยมหุงข้าวด้วยใบยอป่า ราดด้วยน้ำบูดู มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้งป่น พริกแห้งคั่วป่นและผักสดที่มีในท้องถิ่น รับประทานคู่กับไข่ต้มที่ใช้เป็นเครื่องเคียง

ข้าวยำของคนใต้ มีกี่แบบ

ข้าวยำปักษ์ใต้ จะมี 2 แบบ คือ ข้าวยำคลุกเครื่อง และข้าวยำน้ำบูดู

– ข้าวยำคลุกเครื่อง จะมีข้าวสวยเป็นหลัก คลุกเคล้ากับเครื่องแกงที่โขลกละเอียด ใส่กุ้งแห้งหรือปลาย่างป่น มะพร้าวคั่ว และผักหั่นฝอย ซึ่งส่วนมากจะเป็นผักพื้นบ้านที่ปลอดสารพิษ นำมาหั่นฝอย ได้แก่ ตะไคร้ ชะพลู ใบยอ พังโหม (ใบตดหมูตดหมา) ใบขมิ้น ใบมะกรูด แล้วนำไปคลุกรวมกัน เรียกว่า “ข้าวยำคลุกเครื่อง”

ส่วนผสมของเครื่องแกงข้าวยำคลุกเครื่อง ได้แก่ พริกสด พริกไทยดำ หอมแดง กระเทียม ขมิ้น ข่า ผิวมะกรูด ตะไคร้ น้ำตาลปี๊บ และกะปิอย่างดี นำมาโขลกรวมกันจนละเอียดเหมือนเครื่องแกง (พังโหม หรือ ชื่อพื้นเมืองเรียก ตำยานตัวผู้ พังโหม ย่านพาโหม หญ้าตดหมา ทั้งลำต้นและใบมีกลิ่นเหม็น เพราะมีสาร Methyl mercaptan ประโยชน์ด้านสมุนไพร ใบ เป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุก เสียด และยังขับลมในลำไส้และรักษาโรคกรดไหลย้อน)

ส่วนผสม ข้าวยำน้ำบูดู
ข้าวสวย
กุ้งแห้งป่น
มะพร้าวหั่นฝอย คั่วจนเหลืองกรอบ
พริกขี้หนูคั่วป่น
ผักต่างๆ (หั่นฝอย) เช่น ใบชะพลู ใบมะกรูด ถั่วงอก แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู ตะไคร้ หรือจะใช้ดอกดาหลา (จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะนิยมรับประทานกัน)
มะม่วงดิบสับหั่นเส้นเล็ก
มะนาว
น้ำข้าวยำ (น้ำบูดู)
เครื่องปรุง น้ำบูดู
น้ำบูดู
น้ำเปล่า
น้ำตาลปี๊บ
หอมแดงทุบพอแตก
ตะไคร้หั่นท่อนสั้น
ใบมะกรูดฉีก
ข่า ทุบพอแตก

วิธีทำน้ำยำ
1. นำน้ำบูดูกับน้ำเปล่า ตั้งไฟให้เดือด
2. ใส่หอม ตะไคร้ ข่า ใบมะกรูดฉีก น้ำตาลปี๊บ ต้มต่อจนน้ำบูดูข้น ชิมให้รสเค็มนำหวาน กะพอน้ำข้น กรองเอาแต่น้ำ ยกลง
วิธีรับประทาน ตักข้าวสวยใส่จาน ใส่มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้งป่น และผักทั้งหมด ราดน้ำยำ คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วรับประทานทันที
ข้าวยำปักษ์ใต้ เมื่อปรุงเสร็จแล้วจะมีหลายรสชาติ ได้แก่ รสมันของมะพร้าว รสเปรี้ยวจากมะม่วงและมะนาว รสเค็มหวานจากน้ำบูดู รสเผ็ดของพริกป่น แถมด้วยรสชาติของผักต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นอาหารบำรุงธาตุก็ว่าได้

หนึ่งจานใน ข้าวยำ ให้อะไรบ้าง

ข้าวสวย เป็นสารอาหารหลักที่ให้พลังงาน จะใช้ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือก็ได้เพราะจะได้เพิ่มกากใย หรืออาจเป็นข้าวสวยหุงด้วยน้ำสมุนไพร เช่น ใบยอ (ยอป่า) ดอกอัญชัน ก็ได้
มะม่วงดิบซอย ช่วยปรุงรส (นิยมใช้มะม่วงพื้นบ้าน เช่น มะม่วงเบา หรือจะใช้ มะขามสด มะยม มะปริง มะมุด หรือจะเป็นส้มโอเปรี้ยวก็ได้เช่นกัน) นอกจากให้วิตามินซีแล้ว ยังช่วยปรุงรสข้าวยำ ลดความเค็มน้ำบูดู และช่วยให้รสชาติของข้าวยำอร่อยยิ่งขึ้น

มะพร้าวคั่ว ส่วนประกอบสำคัญของข้าวยำ เพิ่มความหอมมัน แบบรสชาติอาหารใต้ มะพร้าวคั่วจะให้ไขมัน ฟอสฟอรัส โปรตีนและแคลเซียม

กุ้งแห้งป่น สำคัญพอๆ กับมะพร้าวคั่ว จะใช้กุ้งแห้งป่นหรือปลาป่นก็ได้ ให้คุณค่าทั้งโปรตีนและแคลเซียม
– พริกขี้หนู รสเผ็ดร้อน ช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร ขับลม ช่วยย่อยอาหาร
– หอมแดง รสเผ็ดร้อน แก้ไอเพื่อเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ไข้หวัด
– มะนาว ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ฟอกโลหิต
– ตะไคร้ แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร
– ใบมะกรูด ช่วยดับกลิ่นคาว

– ถั่วฝักยาว รสมันหวาน มีคุณค่า ช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะ ลำไส้ บำรุงธาตุ
– ข่า รสเผ็ดและร้อน ช่วยขับลม ในลำไส้
ข้าวยำ ไม่ว่า ข้าวยำคลุกเครื่อง หรือข้าวยำน้ำบูดู ก็เป็นอาหารจานเดียวของไทยที่ให้สารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ และยังเป็นอาหารจากธรรมชาติที่ให้วิตามินและเกลือแร่ โดยเฉพาะผักสดๆ มีเส้นใยสูง เหมาะกับการลดหรือควบคุมน้ำหนัก ทั้งยังช่วยในระบบขับถ่ายอีกด้วย

ข้าวยำ เหมาะกับการกินอาหารให้เป็นยาบำรุง เพื่อป้องกันและรักษาโรคที่เรียกว่า “โภชนาการบำบัด” ด้วยเป็นอาหารพื้นบ้านชนิดเดียว ที่มีคุณค่าทางโภชนาการของเครื่องปรุงที่ให้คุณค่าทางอาหารครบถ้วนใน 1 มื้อ จนทำให้อาหารชนิดนี้เป็นเมนูเพื่อสุขภาพ

ข้าวยำ เป็นอาหารเชิงวัฒนธรรมพื้นบ้านของคนใต้ที่สืบทอดกันมานาน จนนับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาด้านอาหารโภชนาการของคนภาคใต้ ที่สั่งสมสืบทอดกันมายาวนาน

มังคุดผลไม้ยอดนิยมของคนไทยและคนต่างชาติ แต่กับชาวสวนแล้ว มักจะมีปัญหาด้านราคาอยู่เสมอ เป็นอย่างนี้มาตลอด จนเรียกว่า “เป็นตำนาน” โดยเฉพาะชาวสวนภาคตะวันออกที่ต้องวุ่นวายกับราคามังคุดที่ตกต่ำเกือบทุกปี ตัวอย่างเมื่อปี 2553 ราคามังคุดตกต่ำมาก ชาวสวนหลายรายถึงกันโค่นต้นมังคุดทิ้งไป แล้วปลูกพืชใหม่ทดแทน จะด้วยความคับแค้นหรือน้อยใจคงจะปะปนกันไป ข้ออ้างที่พวกเขาได้รับฟังจากผู้รับซื้อก็คือ มังคุดคุณภาพต่ำ ผิวลาย เนื้อแก้ว ยางไหล หู (กลีบเลี้ยง) ไม่สวย สรุปว่ามังคุดของชาวสวนด้อยคุณภาพ ส่งออกก็ไม่ได้ ขายภายในประเทศราคาก็ไม่ดี

สำหรับลักษณะของมังคุดผิวมันได้กำหนดไว้ ดังนี้ เป็นผลมังคุดที่มีผิวเปลือกสะอาด เป็นมัน อาจมีร่องรอยหรือตำหนิได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ผิวเปลือก เนื้อในคุณภาพดี-สีขาวสะอาด ไม่มียางไหล ไม่เป็นเนื้อแก้ว และเนื้อไม่ติดเปลือก

ส่วนมังคุดผิวลาย หมายถึง ผลมังคุดที่เปลือกนอกอาจมีร่องรอยการทำลายของโรค/แมลงศัตรูหรือจากเหตุอื่นๆ ทำให้มีตำหนิได้ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวเปลือก เนื้อในมีคุณภาพเหมือนกับมังคุดผิวมัน

อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นแล้วว่า ผู้บริโภคที่มีกะตัง และลูกค้าต่างประเทศ เขาต้องการมังคุดคุณภาพ ผู้ซื้อจะดูจากลักษณะภายนอก ที่ดูดีไว้ก่อน มันเป็นเครื่องบ่งชี้คุณภาพภายใน หากย้อนไปที่ภาษิตไทยบทหนึ่งที่ว่า “ไก่งามเพราะคน คนงามเพราะแต่ง” ก็คงจะถึงบางอ้อว่า การทำมังคุดผิวมัน เป็นกลยุทธ์หนึ่งทางการค้า ที่ต้องเริ่มต้นจากชาวสวน ต้องประณีตในการปฏิบัติในแปลง ให้ได้ผลมังคุดคุณภาพดี และต้องทำความสะอาดผล/ คัดเกรด แยกผลผลิตมังคุดตามคุณภาพ ตามการสั่งซื้อของผู้ค้า ซึ่งเป็นวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ชัดเจน ราคารับซื้อจากผู้ค้าจะสูงขึ้นอย่างมาก ตรงนี้ครับ เป็นที่มาของการผลิตมังคุดผิวมัน ช่องทางแก้ปัญหาด้านราคาที่ยั่งยืน

มังคุดผิวมัน: ขั้นตอนและวิธีการผลิต

คุณสมชาย บุญก่อเกื้อ ได้อธิบายถึงวิธีการผลิตมังคุดผิวมันไว้ว่ามีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้

1.การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ต้องฟื้นฟูต้นมังคุดให้สมบูรณ์ ปกติฤดูการเก็บเกี่ยวมังคุดจะเริ่มราวๆกลางเดือนเมษายน ไปหมดที่กลางเดือนมิถุนายน ภายหลังการเก็บเกี่ยวผลมังคุดแล้ว จะต้องทำการตัดแต่งกิ่งมังคุด กำจัดวัชพืช ให้น้ำและใส่ปุ๋ย ให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคม โดยเริ่มจากการปฏิบัติ ดังนี้

1.1 ตัดแต่งกิ่งมังคุด ตัดตรงส่วนปลายกิ่ง และขอบทรงพุ่ม ที่ปลายกิ่งทับซ้อนและสะกัน กิ่งแห้ง กิ่งหัก กิ่งที่เสียหายจากการทำลายของโรค-แมลงศัตรู และกิ่งที่แตกเกะกะภายในทรงพุ่มทำให้แน่นทึบ ทั้งนี้เพื่อให้โปร่ง แสงแดดส่องผ่านเข้าในทรงพุ่มได้ทั่วถึง ส่วนต้นที่สูงเกินไปจะตัดส่วนยอดทิ้งบางส่วน

1.2 กำจัดวัชพืช จะการใช้เครื่องมือตัดแทนการใช้สารกำจัด วัชพืช แล้วนำเศษวัชพืชทั้งหมดไปคลุมบริเวณโคนต้นมังคุด เพื่อช่วยป้องกันและเก็บความชื้นในดิน และเมื่อสลายตัวแล้วจะเป็นปุ๋ยให้ต้นมังคุด การปฏิบัติตรงนี้เป็นการเร่งให้มังคุดแตกใบอ่อนได้เร็วยิ่งขึ้น

1.3 ใส่ปุ๋ยบำรุงต้น หลังจากการตัดแต่งกิ่ง และกำจัดวัชพืชแล้ว ทำการใส่ปุ๋ยบำรุงต้นมังคุดทันที เพื่อฟื้นฟูสภาพต้นให้สมบูรณ์ โดยใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ในอัตรา 1 – 2กก./ต้น หรือ 2 – 3 กก./ต้น พิจารณาจากขนาดของต้นมังคุดว่าเล็กหรือใหญ่ หว่านปุ๋ยบริเวณใต้ทรงพุ่มให้ทั่ว เสริมด้วยการให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ทุกๆ 10 – 15 วันประมาณ 4 – 5 ครั้ง โดยการผสมและปล่อยไปพร้อมๆ กับการให้น้ำตามระบบพ่นฝอย (มินิสปริงเกอร์)

1.4 บังคับให้แตกใบอ่อน พอถึงต้นเดือนสิงหาคม ทำการเร่งหรือบังคับให้ต้นมังคุดแตกใบอ่อนพร้อมกัน โดยการฉีดพ่นสารไทโอยูเรีย อัตรา 30 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม เพื่อต้นมังคุดจะแตกใบอ่อนพร้อมกัน ประมาณปลายเดือนสิงหาคม – ต้นเดือนกันยายน เมื่อมังคุดแตกใบอ่อนแล้ว จะต้องดูแลใบอ่อนให้ดี โดยการฉีดปุ๋ยชีวภาพเพื่อเสริมธาตุอาหารทางใบ ให้น้ำสม่ำเสมอ พร้อมฉีดพ่นสารสกัดจากพืชสมุนไพรสูตรไล่แมลง ทุก 10 – 15 วัน

ระยะนี้ใบอ่อนจะมีการพัฒนาเป็นใบแก่ที่สมบูรณ์ จึงต้องทำการสำรวจแมลงศัตรูทุก 7 วัน เพื่อตรวจดูเพลี้ยไฟและหนอนกินใบอ่อน หากพบหนอนกินใบอ่อนระบาดมาก ประมาณ 20 % ของจำนวนยอดทั้งหมดในต้น จะพ่นสารเคมีพวกไซเปอร์เมทริน 35 % อัตรา 50 ซีซี ผสมน้ำ 200 ลิตร และหากพบเพลี้ยไฟ มากกว่า 1 ตัวต่อยอด จะฉีดพ่นสารเคมีอิมิดาโคลพริด 10 % อัตรา 20 กรัมผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่น1 – 2 ครั้งเพื่อกำจัดให้ทันกาล ช่วงนี้เป็นระยะการพัฒนาของใบอ่อน และตายอดมังคุด ไปเป็นใบแก่ที่พร้อมจะออกดอก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 9 – 12 สัปดาห์ คือ ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม- กันยายน -ตุลาคม ถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูหนาวนั่นเอง