ขนุนเป็นผลไม้ที่ตลาดต่างประเทศต้องการมากขึ้นเป็นลำดับ

โดยเฉพาะขนุนแปรรูป ทั้งอบแห้ง ขนุนน้ำเชื่อม และขนุนแช่แข็ง ตลาดสำคัญอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ แต่สำหรับขนุนผลสด ประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุด สามารถดูดซับเอาขนุนคุณภาพของเราไปในแต่ละปีเป็นจำนวนไม่น้อย

ขนุน มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่อินเดีย และบริเวณใกล้เคียง ชาวอินเดียเรียกขนุนว่า กาตะหาร์ ขนุนในไทยแบ่งตามลักษณะเนื้อผลได้ 2 ชนิด คือ ขนุนละมุด เมื่อสุกแก่เนื้อยวงและซังมีลักษณะอ่อนนุ่ม เละ และแฉะ เนื้อหลังแกะแยกเมล็ดออก ยวงจะไม่คงรูปเดิม ความนิยมของผู้บริโภคจึงลดน้อยลง แต่ยังมีข้อดีที่มีกลิ่นหอมฉุน และสามารถปรับตัวได้ดี จึงนิยมมาใช้เป็นต้นตอพันธุ์ และอีกชนิดหนึ่ง ขนุนหนัง เป็นขนุนที่ตลาดต้องการ นอกจากนี้ ยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้อีก 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรก ขนุนฝ้าย มีเนื้อยวงสีขาว หรือสีครีม กลุ่มที่สอง ขนุนเหลือง

มีเนื้อยวงสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองทอง เป็นที่นิยมของตลาดมากที่สุด และกลุ่มที่สาม ขนุนจำปา มีเนื้อยวงสีนาก สีครั่ง สีปูนแห้ง สีจำปา หรือเหลืองออกแดง ในกลุ่มนี้เป็นที่นิยมน้อยกว่าขนุนกลุ่มที่สอง แต่มากกว่ากลุ่มที่หนึ่ง ตามสถิติของกรมส่งเสริมการเกษตร รายงานว่า ปัจจุบัน มีพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ 249,000 ไร่ แหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่ ชลบุรี ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา กาญจนบุรี และระยอง ปัจจุบัน พันธุ์ที่ตลาดต้องการมากที่สุดคือพันธุ์ทองประเสริฐ ซึ่งแซงหน้าพันธุ์ทองสุดใจ ที่เคยเป็นแชมป์มาในอดีต

มาดูลักษณะประจำพันธุ์ของขนุนพันธุ์ทองประเสริฐกัน เป็นพันธุ์ผลกลม ทรงต้นโปร่ง ติดผลดก ให้ผลทวาย อายุเก็บเกี่ยว 140-150 วัน เปลือกผลสีเขียวอมน้ำตาล หนามใหญ่ ฐานกว้างค่อนข้างเรียบ ขั้วผลสั้น น้ำหนักผลอยู่ระหว่าง 12-15 กิโลกรัม เนื้อผลสีขาวอมเหลือง เนื้อแน่น และหนา ความหวาน 20-20 องศาบริกซ์ ให้เปอร์เซ็นต์เนื้อสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกันแล้วสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ ลองมาเปรียบเทียบกับพันธุ์ทองสุดใจ มีทรงต้นรูปปิระมิด ติดผลดกมาก รูปทรงผลเรียวยาว สีเปลือกเหลืองอมน้ำตาล หนามสั้น ถี่ ฐานแคบ ปลายแหลม เปลือกบาง น้ำหนักผล 10-20 กิโลกรัม ขั้วผลขนาดกลาง เนื้อยวงสีเหลืองเข้ม มีซังน้อย ขนาดใหญ่และหนา รสชาติหวาน กรอบ ให้เนื้อ 35-40 เปอร์เซ็นต์

ดังนี้จะเห็นจุดเด่นของพันธุ์ทองประเสริฐ ที่เป็นพันธุ์อายุเบา ให้ผลภายในสองปี หากใช้ต้นพันธุ์ประเภทเสียบยอด ขนาดผลไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไป ความหวานไม่จัดจ้านเกินไป เนื้อยวงสีเหลืองสวย และเมล็ดไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ด้วยปัจจัยดังกล่าว พันธุ์ทองประเสริฐจึงสามารถเบียดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายของดีหนีไปจีนเสียส่วนใหญ่

หลายคนเมื่อได้ยินแล้วอดนึกขำ หัวเราะว่า นอนนาแก้จนได้อย่างไร

วันนี้มีโอกาส เดินทางไปตามคำบอกของชาวบ้านว่า มีผู้ทำโครงการนอนนาแก้จน มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการและนำไปเป็นตัวอย่าง ที่บ้านบัว พบกับเจ้าของสวนและโครงการ หลังทักทายกันแล้ว ก็พาเที่ยวชม

ดร. พลังพงศ์ คำจวง กรรมการบริหาร ศูนย์อุตสาหกรรมบัวแก้วธานี อยู่บ้านเลขที่ 224 หมู่ที่ 5 บ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เล่าถึงความเป็นมาของโครงการชวนนอนนาแก้จนว่า แต่เดิมก็ทำนา ทำสวน หลังจากเรียนหนังสือจบก็เคยคิดที่จะทำงานราชการ แต่ชีวิตก็ไปทำธุรกิจหลายอย่าง และสุดท้ายก็มาทำโรงงานตัดเสื้อผ้า และผลิตถุงกอล์ฟส่งประเทศญี่ปุ่น แต่จากปัญหาภาวะเศรษฐกิจจึงหยุดไปช่วงหนึ่ง แต่ยังคงผลิตเสื้อผ้าเช่นเดิม

ในช่วงนั้นก็หันมาลงเล่นการเมืองระดับท้องถิ่น ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นนายกเทศบาลตำบลบัวสว่าง และเนื่องจากมีแนวคิดโครงการช่วยชาวบ้าน จึงคิดโครงการ “นอนนาแก้จน” ขึ้น พร้อมกับโครงการขยายไฟฟ้า เพื่อเป็นฐานของการทำโครงการ

ต่อมาได้ลงมือทำเองเพื่อเป็นการนำร่อง ให้ชาวบ้านเห็น ฟื้นวิถีชีวิตชุมชน คนในหมู่บ้าน หันมาทำจริงจัง พร้อมยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ไปด้วย จึงมีชาวบ้านสนใจและทำกันมากมาย

สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วม หากไม่มีวัว ควาย เลี้ยง…ทางโครงการก็จะแจกให้ยืมเลี้ยง เมื่อวัวและควายนั้นได้ลูกหลานออกมาก็จะมอบให้กับคนที่นำไปเลี้ยง ส่วนแม่พันธุ์ก็จะคืนมาให้กับเกษตรกรรายอื่นต่อไป ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการให้ ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มประชากรวัว ควาย ในตัวด้วย พร้อมส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้ปุ๋ยมูลวัวและควาย

“โครงการนอนบ้านมั่งคั่ง นอนนาแก้จน เป็นนโยบายที่คิดขึ้นจากพื้นฐานชีวิตความเป็นอยู่ของคนชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด แต่คุณภาพชีวิต การศึกษา สุขอนามัย สิ่งอำนวยความสะดวกน้อยกว่าคนในเมือง วันนี้นโยบายดังกล่าวจึงเป็นแนวทางอีกทางหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตคนชนบทดีขึ้น เมื่อเศรษฐกิจชาวบ้านชนบทเข้มแข็งมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น คิดว่าจะทำให้สังคมในเมืองเข้มแข็งเป็นเงาตามตัว นี้จึงเป็นที่มาของแนวคิดดังกล่าว” ดร. พลังพงศ์ บอก

ดร. พลังพงศ์ บอกว่า วิถีชีวิตชนบทไทยที่กำลังจะหายไป เพราะสังคมอุตสาหกรรมเข้ามาทดแทนแรงงานชนบท โดยสินค้าเกษตรถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่และการทุจริตเชิงนโยบายของรัฐบาลหลายคณะตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ต้นทุนปุ๋ยยากำจัดศัตรูพืชราคาสูง ราคาพืชผลตกต่ำ ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ภัยแล้ง น้ำท่วม ภัยธรรมชาติ นี่แหละคือกระดูกสันหลังของชาติ ไม่ได้เป็นเนื้อกับเขา เป็นเพียงแค่กระดูกรอวันผุเท่านั้น

เมื่อเกษตรกรได้ไปอยู่ในที่ดินทำกินของตนเองหรือที่ทำงานของเขา เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย มีเงินออม ครอบครัวอยู่พร้อมหน้าอบอุ่น ประเพณีมีคนสืบทอดให้รุ่นหลัง เงินกระจายทุกกลุ่ม ราคาที่ดินหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น ความเจริญกระจายตัว จะทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง มีผลทำให้เศรษฐกิจในเมืองมั่นคงไปด้วย เป็นวงจรที่มั่นคง มีเสถียร ประเทศชาติมั่งคั่ง

การแก้จนต้องเริ่มจากการพึ่งพาตนเอง ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

จากสภาพปัจจุบันภาคเกษตรกรรม พบว่าชาวบ้านมีหนี้สินเพิ่มขึ้น เนื่องจากรายจ่ายมากกว่ารายได้ เกิดการกู้หนี้ยืมสิน ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐก็จะมักจะใช้วิธีการแก้ปัญหาความจนด้วยการทุ่มเทงบประมาณให้กับชาวบ้าน แต่คนเหล่านั้นก็ไม่มีความพร้อมที่จะบริหารจัดการเงิน ทำให้มีเงินเท่าไรก็ไม่พอ ขณะที่ปัญหาความจนก็ยังคงอยู่ ซึ่งข้อเท็จจริงจากการที่ได้ไปวิเคราะห์ในระดับล่าง

ปัญหาความยากจนที่แท้จริงก็คือ การที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถึงแม้ความจนต้องแก้ด้วยตัวเอง แต่ต้องมีชักนำคน เริ่มต้นช่วยเหลือและเพิ่มแนวทางการแก้จน ให้เขาพึ่งตนเองได้ก่อน

ดร. พลังพงศ์ กล่าวอีกว่า คำว่า “นอนนาแก้จน” หากนึกย้อนภาพในอดีตของคนอีสานที่เมื่อถึงฤดูกาลทำนา ชาวนาก็จะลงไปนอนที่ทุ่งนา และมีการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ดังนั้น การไปอยู่เถียงนาก็คือ สภาพการพึ่งพาตนเองที่ไม่ใช้การบริโภคจากภายนอก ซึ่งเมื่อได้แนวคิดนี้ จึงได้นำชาวบ้านในหมู่บ้านนำร่อง คือบ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยสิ่งแรกต้องเริ่มจากการปรับกระบวนทรรศน์ที่จะพึ่งพาตนเองก่อน เพราะถ้ามัวแต่จะรอรับอย่างเดียวก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ

ดร. พลังพงศ์ บอกว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ได้รับการเลือกเข้าไปเป็นผู้บริหาร เทศบาลตำบลบัวสว่าง ได้ใช้งบประมาณลงทุนขยายเขตไฟฟ้าสู่ไร่ สู่นา เพื่อนำความสว่างไสวให้ทั่วพื้นที่รับผิดชอบ เพราะคิดว่าเมื่อไฟฟ้าไปถึง ชาวบ้านจึงจะสามารถออกไปอาศัยตามหัวไร่ปลายนาได้ตลอดทุกฤดูกาล ไม่ต้องอุดอู้ปลูกเรือนติดๆ กันในหมู่บ้านเหมือนสลัม บางครอบครัวมีลูกมากต้องเอาตู้เสื้อผ้ามากั้นเป็นห้องเล็กๆ

โครงการนี้ นำมาสู่การพิชิตความยากจน ลดรายจ่ายอย่างถาวรคือ ค่าน้ำมันรถจักรยานยนต์เทียวไปนาทุกวัน ซึ่งหลายคนอาจปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ไว้กินเอง จึงต้องเทียวไปเฝ้า ซึ่งรายจ่ายค่าน้ำมันในส่วนนี้ก็จะหมดไป

จากการประเมิน ได้ประเมินจากโครงการนอนนาแก้จน มีอยู่ 4 ด้าน คือ

ความยากจนลดลง
พออยู่พอกิน
ชีวิตมีสุข
ครอบครัวแห่งการเรียนรู้ โดยพบว่าครอบครัวที่เข้าโครงการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สังเกตได้จากซื้อหวยน้อยลง แต่ไม่ถึงกับไม่ซื้อเลย กินเหล้า สูบบุหรี่ ก็ลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งก็จะทำให้ความยากจนลดลง แต่ไม่ใช่หมดไปเสียทีเดียว เป็นแบบค่อยเป็นคอยไป แต่ที่สำคัญก็คือ เขามั่นใจเรื่องของการแก้จนที่ว่า ต่อไปนี้เขาจะแก้จนด้วยการไม่รอรับเงินอย่างเดียวแล้ว พื้นที่นำร่องตำบลสว่างนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีในแง่ของการพึ่งพาตนเอง ครอบครัวมีสุข ความขัดแย้งในครอบครัวลดลง ซึ่งเมื่อพื้นที่นำร่องประสบความสำเร็จแล้ว เชื่อว่าในอนาคตจะนำไปขยายเป็นเครือข่ายไปทั่วทั้งจังหวัดสกลนคร

เมื่อปี 2529 ประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกมะพร้าว 2.59 ล้านไร่ แหล่งปลูกมะพร้าวส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะอยู่ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช แม้ว่าประเทศไทยจะมีการปลูกมะพร้าวมาเป็นเวลานานหลายชั่วอายุคนก็ตาม แต่ปรากฏว่า เมื่อปี 2521 เกิดวิกฤตขาดแคลนวัตถุดิบมะพร้าว ถึงขนาดต้องนำเข้าน้ำมันมะพร้าวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในปี 2523 ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันมะพร้าวคิดเป็นมูลค่า 112.2 ล้านบาท

สาเหตุผลผลิตมะพร้าวลดลง

คุณเกริกชัย ธนรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร เล่าว่า เมื่อปี 2550 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่ให้ผลผลิตแล้ว 1.6 ล้านไร่ ให้ผลผลิต 1.724 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 1,077 กิโลกรัม ปัจจุบัน ประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่ให้ผลผลิต 1.16 ล้านไร่ หายไป 4 แสนกว่าไร่ สาเหตุที่ทำให้พื้นที่ปลูกมะพร้าวลดลง เนื่องจากสวนมะพร้าวของเกษตรกรในแหล่งปลูกใหญ่ๆ เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นสวนเก่าแก่ที่มีอายุมาก บางสวนมีต้นมะพร้าวอายุเป็นร้อยปี เมื่อต้นมะพร้าวมีอายุมาก ผลผลิตก็ลดลง ต้นมะพร้าวที่มีอายุมากต้นสูง ดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวยาก ขาดการเอาใจใส่บำรุงรักษา ขาดการใส่ปุ๋ย เกิดแมลงศัตรูระบาดหลากหลายชนิดเป็นเวลานานต่อเนื่องกัน ประกอบกับขาดความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตที่ถูกต้อง ขาดแคลนพันธุ์มะพร้าวที่จะนำไปปลูกทดแทน จึงทำให้พื้นที่ปลูกมะพร้าวไม่เพิ่มขึ้น

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ราคามะพร้าวตกต่ำลงมาก ผลละประมาณ 3-4 บาท และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ยางพารากับปาล์มน้ำมันมีราคาสูงกว่า และมีการส่งเสริมให้มีการปลูกในภาคใต้มากขึ้น ทำให้เกษตรกรในหลายจังหวัดที่เคยปลูกมะพร้าวหันไปให้ความสนใจยางพารากับปาล์มน้ำมัน บางแห่งเปลี่ยนพื้นที่จากสวนมะพร้าวเป็นสวนปาล์มกับสวนยางพารา ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับมะพร้าวต้องนำเข้ามะพร้าวมาจากต่างประเทศ เนื่องจากผลผลิตมะพร้าวในประเทศมีไม่เพียงพอ” คุณเกริกชัย บอก

ยางพาราราคาตก มะพร้าวราคาสูง

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าว เช่น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น กะทิกล่อง ซึ่งมีบริษัทต่างๆ ผลิตกันออกมามากมายจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ราคามะพร้าวอุตสาหกรรมหรือมะพร้าวแกง ราคาผลละ 14 บาท ในปัจจุบันเกษตรกรกลับหันมาปลูกมะพร้าว เนื่องจากราคาดี หันมาสั่งจองพันธุ์มะพร้าวจำนวนมาก

เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนมะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรมดังกล่าว คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 2/2560 วันที่ 27 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบ “ยุทธศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม พ.ศ. 2561-2579” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตมะพร้าวให้มีปริมาณผลผลิตเพียงพอและมีคุณภาพตามความต้องการของผู้บริโภค ให้เกษตรกรมีความสามารถในการผลิต ลดต้นทุนการผลิต การป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว พัฒนากลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปมะพร้าวหลายรูปแบบ สร้างโอกาสทางการค้าและสร้างมูลค่าเพิ่ม

กรมวิชาการเกษตร ผลิตมะพร้าวพันธุ์ดี

คุณเกริกชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร บอกว่า กรมวิชาการเกษตร ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการกิจกรรม 3 ข้อ คือ สนับสนุนการผลิตต้นพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดี การขยายพันธุ์มะพร้าวแบบรวดเร็ว และการสร้างแปลงผลิตพันธุ์มะพร้าวเพื่อการพัฒนาพันธุ์

กรมวิชาการเกษตร สั่งศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรเพาะแม่พันธุ์มะพร้าวลูกผสมให้มากขึ้น และได้ให้งบประมาณกับศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรเพาะแม่พันธุ์มะพร้าวลูกผสมให้มากขึ้น

ผอ. เกริกชัย บอกด้วยว่า แต่เดิมศูนย์ฯ ชุมพร เป็นแหล่งเดียวที่เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์มะพร้าว ขณะนี้ได้ขยายไปหลายแห่งตามศูนย์เครือข่ายของศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ฯ ระนอง สตูล สงขลา และนราธิวาส รวมพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ โดยเพิ่มพ่อแม่พันธุ์ไปไว้ตามศูนย์ดังกล่าว

มะพร้าว เป็นพืชที่ขยายพันธุ์ช้ากว่าพืชอื่น การขยายพันธุ์ในวันนี้กว่าจะได้ผลผลิตอย่างน้อย 4-5 ปี ผลมะพร้าวจะอยู่บนต้นอีก 1 ปี กว่าจะเก็บผลผลิตมาเพาะอีก 1 ปี ยอดสั่งจองมะพร้าว 2 ล้านกว่าต้น

ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร มียอดสั่งจองมะพร้าวพันธุ์ต่างๆ ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 มีจำนวนถึง 2,287,871 ต้น ในขณะที่ศูนย์มีศักยภาพการผลิตในปี 2561-2565 รวมทุกพันธุ์ได้จำนวนแค่ 1,283,545 ต้น เพราะเราผลิตได้ปีละ 200,000 ต้น เท่านั้น

ผอ. เกริกชัย บอกว่า ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร เป็นศูนย์เดียวเท่านั้นที่ผลิตมะพร้าวลูกผสมพันธุ์ดี จึงทำให้การผลิตหน่อมะพร้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร เพราะการติดผลมะพร้าวแต่ละทะลาย มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ ประมาณ 60 ผล/ต้น/ปี ในพันธุ์ไทย คือ พันธุ์ไทยทับสะแก และนครศรีธรรมราช เป็นต้น ส่วนมะพร้าวลูกผสม จะได้ประมาณ 80 ผล/ต้น/ปี

จากการที่ได้ผลผลิตมะพร้าวต่ำ ผลมะพร้าวที่นำมาเพาะก็พลอยให้ผลผลิตต่ำไปด้วย และยังมีอัตราการงอกต่ำอีกด้วย ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทำให้เราได้ต้นกล้าหรือหน่อที่พร้อมจะนำไปปลูกเพียง 55% เท่านั้น นอกจากนั้นจะเสียไปประมาณ 45% ซึ่งทางศูนย์กำลังศึกษาอยู่ว่า จะทำอย่างไร จึงจะทำให้ได้ต้นกล้าหรือหน่อมะพร้าวมากขึ้น

จะพยายามสร้างความหลากหลายในพันธุ์มะพร้าว

ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร มีพันธุ์ลูกผสมอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ชุมพร 2 กับลูกผสมสวี 1 ซึ่งสร้างมาแล้ว ประมาณ 30 กว่าปี

พันธุ์ลูกผสมสวี 1 เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ต้นเล็กกับพันธุ์ต้นสูง ทำให้มีผลดก เป็นมะพร้าวที่ดีมีเนื้อหนา เปลือกบาง ให้ผลผลิตเร็ว 3 ปีครึ่ง ไม่ถึง 4 ปี ก็เก็บผลผลิตได้แล้ว อายุการเก็บเกี่ยว 11 เดือน เมื่อเทียบกับพันธุ์ไทยพื้นเมืองต้องใช้เวลาถึง 7 ปี แต่พันธุ์ลูกผสมสวีมีข้อเสียคือ ผลเล็ก เกษตรกรไม่ชอบ เนื่องจากมะพร้าวบ้านเราซื้อขายกันด้วยขนาดของผล เลยถูกตีเป็นมะพร้าวเกรดต่ำ

พันธุ์ชุมพร 2 เนื่องจากมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมสวี 1 ผลเล็ก ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรก็พยายามปรับปรุงพันธุ์ให้มีผลใหญ่ขึ้น จึงเอาพันธุ์ไทยเข้ามาปรับปรุงพันธุ์ โดยเอาพันธุ์ไทยมาเป็นพ่อผสมกับลูกผสมสวี 1 ได้ลูกผสมออกมาเป็น ชุมพร 2 ข้อดีของชุมพร 2 คือ ได้ผลใหญ่ขึ้น เนื้อหนา อายุไม่เกิน 4 ปีครึ่ง ก็ได้ผลผลิต ผลใหญ่เป็นที่ต้องการของตลาด ปัจจุบันมียอดสั่งจอง 1.6 ล้านต้น กว่าจะจ่ายหมดยอดสั่งจองต้องใช้เวลานานทีเดียว

ผอ. เกริกชัย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ได้สร้างพันธุ์มะพร้าวขึ้นมาอีกพันธุ์หนึ่ง คือ พันธุ์ลูกผสม 3 ทาง เพื่อให้เป็นทางเลือกของเกษตรกร ศูนย์ได้ทำการศึกษาวิจัย ปรับปรุงพันธุ์มาตั้งแต่ ปี 2538

“ต้องยอมรับว่า นักวิชาการเกษตรรุ่นก่อนๆ ที่ทำงานศึกษาวิจัยการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล พยายามสร้างพันธุ์มะพร้าวขึ้นมาด้วยความพยายาม โดยมองไปถึงอนาคต แม้จะใช้เวลานานนับ 10 ปี”

ที่มาของมะพร้าวพันธุ์ลูกผสม 3 ทาง คือ พันธุ์สวี ซึ่งเกิดจากแม่มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย พ่อเป็นเวสต์แอฟริกันต้นสูง ผสมกับพันธุ์ไทยต้นสูง ผลงานศึกษาวิจัยเสร็จแล้ว เรียกว่า มะพร้าวลูกผสม 3 ทาง ซึ่งกว่าจะได้มา ใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี สถาบันวิจัยพืชสวนกำลังขอเป็นพันธุ์แนะนำ

การขยายพันธุ์มะพร้าวแบบรวดเร็ว

ผอ. เกริกชัย กล่าวว่า เพื่อที่จะให้ทันกับความต้องการของเกษตรกร ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ร่วมกับ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้เสนอโครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมะพร้าว และร่วมมือกับสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโครงการขยายพันธุ์มะพร้าวลูกผสม 3 ทาง ด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยขอใช้งบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัย (สวก.) นอกจากนั้น กรมวิชาการเกษตร ยังได้ให้งบประมาณผลิตมะพร้าวพันธุ์ชุมพร 2 และมะพร้าวกะทิโดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออีกด้วย

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ได้ให้ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร จัดทำโครงการวิจัยสร้างแปลงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มะพร้าวเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตต้นกล้ามะพร้าวลูกผสมพันธุ์ดีในระยะสั้น ให้เร่งสร้างแปลงพ่อแม่พันธุ์มะพร้าวเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตต้นกล้าพันธุ์มะพร้าวลูกผสมพันธุ์ดีในระยะสั้น และให้เร่งสร้างแปลงพ่อแม่พันธุ์ในการผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมชุมพร 2 และพันธุ์มะพร้าวลูกผสม 3 ทาง ซึ่งศูนย์ฯ ชุมพรได้ขยายแปลงพ่อพันธุ์ ในศูนย์เครือข่ายของกรมวิชาการเกษตรออกไปอีกประมาณ 1,010 ไร่ ในจำนวนพื้นที่ดังกล่าวนี้ เป็นการปลูกทดแทนแปลงพ่อพันธุ์เดิมที่มีอายุมากและลำต้นสูงมากอีก จำนวน 300 ไร่

เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน สร้างแปลง พ่อ-แม่พันธุ์

เนื่องจากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร เป็นศูนย์ที่ผลิตมะพร้าวลูกผสมพันธุ์ดีให้เกษตรกรเพียงแห่งเดียว จึงทำให้การผลิตหน่อพันธุ์มะพร้าวไม่ทันกับความต้องการของเกษตรกร กรมวิชาการเกษตร จึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตหน่อพันธุ์มะพร้าว

ผอ. เกริกชัย กล่าวว่า ได้มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมโดยการสร้างแปลง พ่อ-แม่ พันธุ์มะพร้าว ได้แก่ บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด สถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย บริษัท ซีพี ที่จังหวัดกำแพงเพชร โดยได้ให้พ่อแม่พันธุ์ไปปลูกในแปลงขยายพันธุ์ของเขา พร้อมกับได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผสมเกสร สำหรับ บริษัท ซีพี ที่กำแพงเพชร ได้ร่วมกันทำแปลงทดสอบแปลงผลิตมะพร้าวลูกผสม 3 ทาง

นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ชุมพร ก็ได้ให้กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน สร้างแปลงเพาะพันธุ์มะพร้าวชุมชน โดยจะส่งนักวิชาการเกษตรของศูนย์ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเนิร์สเซอรี่ และสร้างแปลงเพาะพันธุ์มะพร้าว ซึ่งต่อไปเกษตรกรก็จะมีรายได้จากการจำหน่ายพันธุ์มะพร้าว จะทำให้สามารถเพิ่มจำนวนพันธุ์มะพร้าวได้เร็วขึ้น

กระจายมะพร้าวพันธุ์ดี ไปแหล่งปลูกทั่วประเทศ

ผอ. ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กล่าวอีกด้วยว่า กรมวิชาการเกษตร วางแผนในระยะยาวรองรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว โดยจะกระจายพันธุ์มะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรมไปในแหล่งปลูกสำคัญทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรมีมะพร้าวพันธุ์ดีปลูก แปลงพ่อแม่พันธุ์ใหม่ของศูนย์ ในปี 2560-2563 จะเริ่มให้ผลผลิต ในปี 2564 คาดว่า ปี 2564-2568 จะสามารถผลิตต้นกล้ามะพร้าวพันธุ์ดีได้ ประมาณ 429,700 ต้น/ปี ช่วงปี 2569-2573 จะผลิตต้นกล้ามะพร้าวพันธุ์ดีได้ ประมาณ 701,415 ต้น/ปี และปี 2573 เป็นต้นไปจะสามารถผลิตต้นกล้ามะพร้าวพันธุ์ดีได้อย่างน้อย 701,415 ต้น/ปี

กว่าเราจะได้ผลผลิตมะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรมโดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จะต้องรอคอยนานสักเท่าไร จะมีนักวิชาการเกษตรสืบทอดไปอีกกี่คน และจะมีพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมาอีกสักกี่พันธุ์

มะพร้าวแกง หรือมะพร้าวอุตสาหกรรม ไม่ใช่พืชสวนธรรมดาที่จะสร้างขึ้นมาได้ง่ายๆ ต้องใช้เวลานานนับ 10 ปีทีเดียว สนใจที่จะสร้างแปลงเพาะพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดี ติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ตำบลวิสัยใต้ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร รหัสไปรษณีย์ 86130 โทร. 077-556-073, 077-556-194

คุณมงคล สุทธิสาร หรือ คุณกอล์ฟ yourplanforthefuture.org เจ้าของบ้านสวนช่อจันทร์ เลขที่ 20 หมู่ที่ 2 บ้านสะอาด ตำบลพรสวรรค์ อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด จบการศึกษาระดับปริญญาตรี การตลาด โดยก่อนหน้านี้คุณกอล์ฟทำงานที่ร้านอาหารระดับ 5 ดาว อยู่ที่กรุงเทพฯ ฝ่ายการตลาด ด้วยหน้าที่ต้องมีการจัดหาซื้อวัตถุดิบ บวกกับร้านอาหารที่คุณกอล์ฟทำ มีมากถึง 6 สาขา

ช่วงหน้าแล้งร้านอาหารประสบปัญหาขาดแคลนมะนาวเป็นอย่างมาก ทางเชฟไม่สามารถหามะนาวมาทำอาหารได้พอ คุณกอล์ฟจึงต้องลงมาช่วยหาวัตถุดิบ ช่วงนั้นไปเกือบทุกตลาดก็ไม่ค่อยมี หายากมาก มะนาวแป้นรำไพที่เคยใช้ขาดตลาด จึงหันมาใช้มะนาวพันธุ์อื่นแทน แต่ด้วยคุณสมบัติของมะนาวพันธุ์อื่นไม่สามารถสู้แป้นรำไพได้ เพราะมะนาวแป้นรำไพมีลักษณะเด่น เปลือกบาง น้ำหอม ได้รสชาติ ช่วงนั้นลูกค้าที่ร้านขาดหายไปเลย คือรสชาติไม่ได้ กลิ่นไม่ได้ คุณกอล์ฟจึงต้องกลับไปใช้มะนาวแป้นรำไพอย่างเดิม ถึงแม้ว่าราคา ลูกละ 15 บาท ก็ต้องยอม ณ ตอนนั้น คุณกอล์ฟเลยมีความคิดว่าหันมาปลูกมะนาวดีกว่า ปลูกแล้วส่งร้านอาหารที่ตนเองทำงานอยู่นี่แหละ ปลูกแล้วได้ผลดีมาก ทีนี้ผลผลิตไม่พอที่จะส่งร้านอาหารทั้ง 6 สาขา ด้วยเมนูที่หลากหลาย วันหนึ่งต้องใช้มะนาวเป็นหมื่นลูก คุณกอล์ฟจึงลาออกจากงานมาลุยสวนมะนาวเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง ปลูกแต่พันธุ์แป้นรำไพป้อนให้ร้านอาหารก็ไม่พอขาย ปัจจุบัน ที่สวนของคุณกอล์ฟปลูกมะนาว 500 กว่าต้น หรือประมาณ 3 ไร่ จึงต้องไปหาลูกไร่อีกทีให้เขาปลูกช่วย

ปลูกมะนาวอย่างไรให้ได้ผลผลิตนอกฤดู

มะนาว เป็นไม้ผลขนาดเล็กที่นิยมนำมาปรุงอาหารต่างๆ หลากหลายเมนู มะนาวยังเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง สามารถนำมาทำน้ำสมุนไพรต่างๆ ได้หลากหลายชนิด การปลูกมะนาวสามารถปลูกได้หลากหลายวิธี แต่ถ้าต้องการบังคับมะนาวให้ออกนอกฤดูโดยไม่ใช้สารเคมี ที่นิยมปลูกกันในปัจจุบันคือ การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ โดยมีขั้นตอนดังนี้

การคัดเลือกพันธุ์
1.1 พันธุ์มะนาวที่ปลูกในวงบ่อซีเมนต์ เพื่อบังคับให้ออกดอก ติดผลนอกฤดู สามารถบังคับให้ออกดอกติดผลได้ทุกสายพันธุ์ มะนาวที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในวงบ่อซีเมนต์ คือมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 มะนาวพันธุ์ตาฮิติ มะนาวพันธุ์แป้นรำไพ มะนาวพันธุ์ด่านเกวียน