ขอฝากเจ้าของสัตว์หรือซากสัตว์ที่อยู่ในเขตประกาศโรคระบาด

ห้ามเคลื่อนย้ายโดยไม่ได้รับอนุญาตยกเว้นได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้รับผิดชอบในพื้นที่ หากพบสุนัขหรือแมวป่วยตายจากโรคพิษสุนัขบ้า หรือไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ”นายชาติชาย กล่าว

นายชาติชาย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพบสุนัขต้องสงสัย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทันที ซึ่งเจ้าหน้าที่จะขังไว้ตรวจสอบ 14 วัน หากเป็นพิษสุนัขบ้าจะตายภายในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนผู้ที่เลี้ยงสุนัขขอให้รีบนำสุนัขมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนจะเกิดเหตุร้ายขึ้น หรือหากพบญาติที่มีอาการไข้ คันบาดแผล อ่อนเพลีย ตาขวาง คลุ้มคลั่ง ขากรรไกรแข็ง น้ำลายไหลตลอดเวลา กลืนไม่ได้ ขอให้รีบนำมาพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยไว้จะมีอาการอัมพาตและเสียชีวิตภายใน 1-2 สัปดาห์

ด่วน !! ประมง ขึ้นบัญชีดำ ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน จับหมอสีคางดำ หมอมายัน หมอบัตเตอร์ หรือเพาะเลี้ยง เตือนทำผิดระวังโทษหนัก ปรับ 1 ล้านบาท จำคุก 1 ปี

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากปัญหาที่มีการพบการระบาดของปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรบางราย เนื่องจากมีรายงานพบว่า มีการหลุดรอดเข้าบ่อเลี้ยงของเกษตรกรในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และกาญจนบุรี ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปลาดังกล่าวมีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์อันจะส่งผลต่อเกษตรกร สัตว์น้ำพื้นถิ่น ตลอดจนระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ ปัจจุบันไทยประสบปัญหาการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่นหรือเอเลียนสปีชีส์ ที่มีการนำเข้ามาจากถิ่นอื่นโดยไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในบ้านเรา บางชนิดสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ทำให้เจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ดี ถือเป็นการทำลายระบบนิเวศดั้งเดิมของไทย และก่อให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัย

กรมประมง ได้อาศัยอำนาจตาม มาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจึงได้มีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 9 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ. 2561 และได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 ซึ่งประกาศฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับ ตั้งแต่ วันที่ 19 มีนาคม 2561 นี้

สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิดพันธุ์ ตามประกาศที่ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือเป็นผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย ได้แก่ ปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์

1. กรณีที่เกษตรกรที่เลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิด ในบ่อเพาะเลี้ยง ให้รีบนำปลาดังกล่าวส่งมอบให้เจ้าหน้าที่กรมประมงโดยด่วน

2. กรณีที่ประชาชนทำการประมงแล้วได้ปลาทั้ง 3 ชนิดนี้ ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประชาชนสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ควรทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย

3. กรณีที่ปลาทั้ง 3 ชนิด จากธรรมชาติหลุดรอดเข้าในบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรโดยไม่เจตนา เกษตรกรสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ควรทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย

4. กรณีส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หรือกรณีจำเป็นอื่นใดที่เพาะเลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิด ไว้เพื่อศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางราชการให้แจ้งขออนุญาตกรมประมงต่อไป

5. ห้ามผู้ใดปล่อยปลาทั้ง 3 ชนิด ลงในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีความผิด ตามมาตรา 144 แห่ง พ.ร.ก. การประมง 2558

สำหรับบทลงโทษ หากพบผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 64 หรือมาตรา 65 วรรคสอง ต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การประกาศห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงปลาทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นที่หลุดรอดเข้ามาแพร่ระบาดและสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรไทย ดังนั้น จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน หากท่านเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่น (สัตว์น้ำจากต่างประเทศ) และไม่ต้องการเลี้ยงอีกต่อไปแล้ว อย่านำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะ ขอให้ท่านนำสัตว์น้ำต่างถิ่นมามอบให้กับทางกรมประมง หรือสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน เพื่อให้กรมประมงรับไปดูแลและป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ อันจะสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศของประเทศต่อไป

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านเลขที่ 5 ม.6 บ้านน้ำด้วน ต.เมืองบางขลัง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย มีหญิงสาวพิการอาศัยอยู่บ้านกับแม่ที่ป่วยหลายโรครุมเร้า และลูกชายที่ยังเล็ก หาเงินเลี้ยงครอบครัวด้วยการถักตุ๊กตาไหมพรมทำเป็นพวงกุญแจขายมานานเกือบ 5 ปี นับตั้งแต่ประสบอุบัติเหตุถูกรถชน จนกลายเป็นอัมพาตครึ่งตัว เดินไม่ได้ และต้องต่อท่อปัสสาวะ แต่ก็สู้ดิ้นรนหางานทำเพื่อจะมีเงินมาเลี้ยงลูก

น.ส.สีไพร ป่าถ่อน อายุ 38 ปี สาวพิการผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา เปิดเผยว่า หลังจากประสบอุบัติเหตุจนกลายเป็นคนพิการ สามีก็หนีไปมีครอบครัวใหม่ ทิ้งให้ตนอาศัยอยู่กับแม่ และต้องเลี้ยงลูกชายเพียงลำพัง ตนจึงต้องดิ้นรนสู้ชีวิตด้วยการฝึกถักไหมพรมทำพวงกุญแจ เป็นรูปตุ๊กตาหมี กระต่าย แตงโม ดอกทานตะวัน ดอกกุหลาบ สตรอเบอรี่ รูปหัวใจ รวมทั้งทำเป็นกิ๊บติดผม และดอกไม้ ขายในราคา 10-40 บาท เพื่อหาเงินมาเลี้ยง “น้องข้าวต้ม” ลูกชายวัย 8 ขวบ ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้น ป.2

น.ส.สีไพร กล่าวต่อว่า ส่วนแม่ของตนป่วยหลายโรค เบาหวาน ไขมัน ความดัน และโรคกระเพาะ ทำงานหนักไม่ค่อยได้ ต้องอาศัยรับจ้างทำงานเบาๆ ส่วนตนเวลาถักพวงกุญแจ ก็ต้องนอนคว่ำ เพราะมีแผลกดทับที่ก้น ตอนนี้ก็เริ่มเจ็บที่ข้อศอกอีก แต่ก็สู้เพราะทำให้ไม่ต้องคิดมาก ดีกว่านอนหายใจทิ้งไปวันๆ และอยากมีรายได้เลี้ยงลูก ได้วันละสิบบาทก็ยังดี ที่ผ่านมา มีเพื่อนๆ ช่วยกันซื้อ รับเอาไปช่วยขายให้บ้าง ซึ่งตนก็รู้สึกเกรงใจเพื่อนๆ อยากจะมีตลาดที่กว้างขึ้น แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง

ซีจีทีเอ็น สำนักข่าวประเทศจีน รายงานว่า จากผลการจัดอันดับของธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) พบว่ามี 4 ประเทศในทวีปเอเชีย ที่มีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิกาศ ได้เเก่ อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เเละบังคลาเทศ ซึ่งคาดว่ามีเเนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากอุณภูมิของโลกที่สูงขึ้นโดยประเทศโอมานติดอันดับ 5 ที่ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ ธนาคารได้ทำการศึกษา 67 ประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่อาจเกิดได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนเเปลงอุณหภูมิของโลก สภาพอากาศที่รุนเเรง การเผชิญความเสี่ยงในด้านต่างๆ การเปลี่ยนเเปลงพลังงาน เเละความสามารถในการตอบสนองต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนเเปลงไป

ทั้งนี้ อินเดีย กล่าวว่า การเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลต่อรายได้ทางการเกษตรที่จะลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ได้ตั้งรับต่อภาวะสภาพอากาศที่เปลี่ยนเเปลง การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอุณหภูมิ รวมถึงปริมาณน้ำฝน

เเละในส่วนของประเทศปากีสถาน บังคลาเทศ เเละฟิลิปปินส์ ยังคงอ่อนไหวต่อสภาพอากาศที่รุนเเรง เช่น พายุ เเละน้ำท่วม โดยธนาคารระบุว่า ปากีสถานยังคงมีความพร้อมที่จะรับมือต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ยังมีประเทศในเอเชียใต้ เเละเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็นครึ่งหนึ่งของ 10 ประเทศ ที่อ่อนเเอที่สุด ได้เเก่ โอมาน ศรีลังกา โคลอมเบีย เม็กซิโก เคนย่า เเละเเอฟริกาใต้ เเละยังมีอีก 5 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนเเปลงอุณหภูมิ ได้เเก่ ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์เอสโตเนีย และนิวซีแลนด์

รายงานของธนาคารโลกฉบับล่าสุดระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้เกิดการอพยพในสามภูมิภาคของโลก ในทะเลทรายซาฮาราแอฟริกาประชากรกว่า 86 ล้านคน มีแนวโน้มที่จะถูกแทนที่ ภายใน 40 ล้านคนจะเผชิญปัญหาที่คล้ายกันในเอเชียใต้ และละตินอเมริกาจะมีการอพยพกว่า 17 ล้าน

วันที่ 21 มี.ค. นายชูเกียรติ พงศ์ศิริวรรณ ผอ.สำนักจัดการป่าไม้ที่ 3 ลำปาง สั่งการให้ นายสุเทพ พุทชา ผอ.ส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 นายดนุศักดิ์ หมื่นโฮ้ง หัวหน้าสายตรวจป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลำปาง สนธิกำลังร่วมกับ ตำรวจ กก.4 บก.ปทส. ตำรวจ ศปทส.ภ.5 และ ทหาร กว่า 30 นาย เข้าตรวจสอบ ที่บริเวณทุ่งนาท้ายหมู่บ้านทุ่งปง หมู่ 6 ต.ทุ่งกว๋าว อ.เมืองปาน จ.ลำปาง

หลังรับแจ้งจากศูนย์ดำรงธรรม จ.ลำปาง ว่า ภายในหมู่บ้านดังกล่าวมีการลักลอบขนย้ายไม้สักท่อนเข้ามาจำนวนมาก และมีการตั้งแท่นเลื่อยที่ท้ายหมู่บ้านดังกล่าวอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

ที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พบกองไม้สักท่อนจำนวนกว่า 200 ท่อน วางทับถมกัน เพื่อรอเตรียมการแปรรูปเป็นไม้แผ่นเหลี่ยม มีการตั้งแท่นเลื่อยพร้อมเลื่อยวงเดือน 1 ชุดพร้อมเครื่องยนต์ อุปกรณ์แปรรูปไม้ เลื่อยโซ่ยนต์ 1 เครื่อง ไม้สักแปรรูปประมารณ 50 แผ่นเหลี่ยม

เบื้องต้นไม่พบตัวผู้กระทำผิด คาดว่าไหวตัวทันจึงหลบหนีเข้าป่าท้ายหมู่บ้าน เนื่องจากการเดินทางเข้าไปยังจุดเกิดเหตุเป็นทางแคบ เมื่อกลุ่มมอดไม้เห็นเจ้าหน้าที่ จึงทิ้งของกลางไว้ทั้งหมดและหลบหนีไป เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดไม้สักท่อน ไม้สักแปรรูปอุปกรณ์ในการทำไม้เถื่อนส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปาน ตามข้อหา พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ดำเนินการตามกฎหมายทันที

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยหลังพากลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมงาน GRTE 2018 : Global Rubber, Latex & Tyre Expo 2018 ” ระหว่างวันที่14 – 16 มีนาคมที่ผ่านมา ณ ไบเทค บางนา เปิดช่องทางการพบปะระหว่างผู้ค้ากับผู้ซื้อ 3 วัน มีการตอบรับเป็นที่น่าพอใจจากผู้ซื้อภายในและภายนอกประเทศ ยอดขายในงานรวมกว่า 500 ล้านบาท

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศ กล่าวว่า จากการที่ กยท.เข้าร่วมจัดงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง น้ำยาง และยางล้อ GRTE 2018– Global Rubber, Latex & Tyre Expo 2018 โดย กยท.ได้มีการจัดแสดงนวัตกรรมการแปรรูปยางคุณภาพภายใต้มาตรฐาน RAOT – GMP ร่วมกับกลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก GMP มาจัดแสดงผลงาน รวมไปถึงกลุ่มสถาบันเกษตรกรผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปยาง เช่น ที่นอนยาง หมอนยาง เป็นต้น ได้มีโอกาสมาจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า โดยภายในงานมียอดการสั่งจองยางประเภทต่างๆ เช่น ยางแปรรูป โดย กยท. รวมทุกประเภท จำนวน 10,954 ตัน ยาง GMP จำนวน 507 ตัน รวมไปถึงสินค้าแปรรูปจากยางพารา โดยมียอดการซื้อรวมทั้ง 3 วันกว่า 500 ล้านบาท จากลูกค้าที่สั่งจอง 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ไต้หวัน อียิปต์ อินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา ตุรกี

“การจัดแสดงสินค้าในงาน GRTE 2018 ครั้งนี้ นอกเหนือจากการนำนิทรรศการนวัตกรรมยางพารามาตรฐาน GMP มาจัดแสดงแล้ว เป็นการเปิดโอกาสทางการตลาดในการจำหน่ายสินค้าด้านยางพาราทั้งกลางทางและปลายทางให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้มาพบปะกัน ซึ่งผลตอบรับถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ยอดการจำหน่ายเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ นับเป็นเรื่องน่ายินดีและถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้กับสินค้ามาตรฐาน RAOT-GMP ได้จัดจำหน่าย” ผู้ว่าการกล่าวทิ้งท้าย

วันที่ 21 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้าน หมู่ 2 ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล รวมตัวกัน บริเวณวัดปากบารา เพื่อร้องเรียนถึงปัญหาความเดือดร้อนจากน้ำประปาที่ไม่ไหลมานานร่วม 2 เดือน สร้างความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน ไม่มีน้ำใช้ซักผ้า หุงข้าว ชำระร่างกาย ทำกิจการร้านค้า แม้จะปรับเปลี่ยนท่อน้ำภายในบ้านให้ต่ำเพื่อรองรับน้ำที่ทางการประปาจะปล่อยให้เป็นเวลาก็ไม่ได้ผล บางบ้านไม่มีน้ำไหลสักหยด บางบ้านไม่มีกำลังในการไปขนน้ำ เพราะมีแต่คนแก่เฒ่าและเด็กเล็กฐานะค่อนข้างลำบาก ต้องขออาศัยเพื่อนบ้านหาน้ำมาเผื่อให้ ชาวบ้านบอกว่าเป็นอยู่แบบนี้ร่วม 100 หลังคาเรือน ที่ต้องทนทุกข์กับปัญหาน้ำไม่มีใช้ในครั้งนี้ อย่างยาวนานนับเดือน ไม่เฉพาะบ้านเรือนชาวบ้าน วัดก็ยังเดือดร้อน

นางยุวภา ธิรานัน ชาวบ้าน อายุ 43 ปี บ้านเลขที่ 1119 หมู่ 2 บ้านปากบารา เล่าถึงความเดือดร้อนว่า ตั้งแต่วันที่ 16 เดือนก.พ. ถึงวันนี้น้ำไม่ไหล ได้รับคำตอบจากประปาว่า แรงดันไม่พอ แล้วทำไมไม่พยามแก้ด้วยการนำเครื่องมาอัดแรงดันให้ แล้วแก้ด้วยการนำน้ำมาแจกให้ ไปแจกแถวไหนทำไมพวกตนถึงไม่ได้รับ จากน้ำที่ไม่ไหลตนก็ต้องจ่ายค่าน้ำทุกเดือน ทั้งที่เดือนนี้เราไม่ได้ใช้ก็ต้องจ่ายค่าน้ำ 193 แต่หากเทียบกับไฟฟ้าเราไม่ได้ใช้ ไม่ต้องจ่าย แต่นี่ต้องจ่ายค่าน้ำ ไม่เป็นธรรมกับพวกเราเลย

ด้าน น.ส. พิชญา ธนานุภาพไพบูลย์ ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า ปากบารา ต.ปากน้ำ เป็นปลายทางของการรับน้ำจากประปา แม้จะบอกว่าแรงดันไม่ถึงที่นี่ จะด้วยสาเหตุหรือปัจจัยอะไร แต่พวกเราก็ต้องใช้น้ำ ไม่ใช่พวกเราไม่กินข้าว ไม่กินอะไร ก็ลงมาตรวจสอบบ้าง ไม่อย่างนั้นพวกคุณลองปิดวาล์วน้ำดูบ้างว่าพวกเราเดือดร้อนขนาดไหน แผนในการรองรับเมืองท่องเที่ยวไม่มีการเตรียมการเพื่ออนาคตเลยหรืออย่างไร ถึงปล่อยให้เกิดปัญหาเยอะแยะมากมายขนาดนี้ อยากวอนหน่วยงานเขาช่วยเหลือแก้ปัญหาดังกล่าว

ส่วน นางยุพิน ภูรหงษ์ อายุ 54 ปี ชาวบ้าน กล่าวว่า เดือดร้อนจริงๆ ต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ 2 วัน 250 บาท/ครั้ง อากาศร้อนๆ ทุกอย่างต้องใช้น้ำเกือบทั้งบ้าน คนมีเงินก็เดือดร้อนไม่มากนัก ชาวบ้านที่ไม่มีเงิน คนแก่ชรา เด็กเล็ก ก็เดือดร้อนไปตามกัน อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาดูแล น้ำไม่ไหลร่วม 2 เดือนแบบนี้ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร

ขณะที่ นายอดิศักดิ์ มรรคาเขต ผู้จัดการ การประปาส่วนภูมิภาคละงู กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากระบบการกระจายน้ำที่ไม่สมดุลกัน เนื่องจากปริมาณคนใช้น้ำมีเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ระบบการจ่ายน้ำยังเหมือนเดิม ซึ่งในเรื่องนี้ทางการประปาส่วนภูมิภาคละงู ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทำเรื่องของอนุมัติงบประมาณในการปรับเปลี่ยนระบบจ่ายน้ำให้สามารถรองรับประชากรที่สูงขึ้นในอนาคต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถใช้น้ำได้อย่างสมบูรณ์แบบในช่วงเดือน พ.ค.นี้

นอกจากนี้ ทางการประปาภูมิภาคละงู เตรียมแผนระยะสั้นในการเข้าช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนกว่า 100 ครัวเรือน ด้วยการเกลี่ยแรงดันน้ำในพื้นที่แรงดันน้ำสูงให้ชาวบ้านได้ใช้ไปก่อน พร้อมทำจุดแจกจ่ายน้ำในชุมชนที่น้ำไม่ไหลด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ไว้พร้อมแล้ว รอประกาศฯ จากการประปาอีกครั้ง ถึงการเข้าแจกจ่าย

อีกหนึ่งของดีที่ไปเยือนจังหวัดเพชรบุรีคือ “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” โดย สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี เขียนไว้ในหนังสือ “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” ว่า ชมพู่เพชรสายรุ้ง เป็นไม้ผลที่ปลูกในจังหวัดเพชรบุรีเมื่อประมาณ 176 ปีที่แล้ว เดิมมีชื่อเรียกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ชมพู่เขียวเสวย ชมพู่สายน้ำผึ้ง

ซึ่งในปัจจุบัน เรียกว่า “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” เพื่อเจาะจงลงไปว่าเป็นพันธุ์ใหม่ ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าอันไหนคือชมพู่เพชรแท้ๆ หากลองเสิร์ชข้อมูลในกูเกิลว่า “ชมพู่เมืองเพชร” รายชื่อสวนอันดับเเรกที่ปรากฏคือ “สวนชมพู่ลุงเทิ้น”ตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองโสน อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี อีกหนึ่งสวนชมพู่ที่เป็นที่รู้จัก เเละได้รับความนิยม

เรณู ผิวขำ หรือพี่น้ำ ลูกสาว “ลุงเทิ้น” อาสาเป็นคนพาชมสวนชมพู่ที่มีอายุเท่าตนเองก็ว่าได้ ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น พื้นที่กว่า 2 ไร่ ต้นชมพู่อายุนับ 40 ปี ขนาดใหญ่ รายล้อมไปด้วยนั่งร้านทำจากไม้ไผ่ เพื่อให้คนงานปีนขึ้นไปห่อชมพู่ เก็บผลผลิต เเละในบางครั้ง พี่น้ำเล่าด้วยน้ำเสียงขบขันว่า “ลูกค้าก็มีปีนขึ้นไปถ่ายภาพ”

“พี่น้ำ” เล่าย้อนกลับไปกว่า 40 ปีที่เเล้ว “ลุงเทิ้น” เดิมมีอาชีพทำนา ซึ่งในตอนนั้นปลูกข้าวนาปี 6 เดือน ทำนา 1 ครั้ง พอพ้นหน้าทำนา รายได้ก็เริ่มหาย จึงหันมาปลูกชมพู่ ซึ่งเเต่ก่อน “ชมพู่เพชรสายรุ้ง กิโลกรัมละ 40 บาท เท่านั้นเอง”

เวลาผ่านไป อายุของลุงเทิ้นมากขึ้น ร่างกายไม่ได้เเข็งเเรงเหมือนตอนยังหนุ่ม เริ่มทำงานไม่ไหว จึงได้ไอเดียว่า ควรเก็บชมพู่เอาไว้ พี่น้ำตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่ เเล้วมุ่งสานต่องานที่พ่อสร้างไว้ ด้วยการเป็นเกษตรกรแบบเต็มตัวมากขึ้น

“เกือบ 3 ปีนะ ที่พี่เปิดเพจทางเฟซบุ๊ก ช่วงเเรกที่ทำเพื่อให้คนรู้จักกับชมพู่มากขึ้น พอนานเข้าเริ่มมีคนมาพูดว่า มาเมืองเพชรไม่ได้กินชมพู่เพชรเลย เวลาไปชิมหวานมาก เเต่พอซื้อกลับบ้าน จืดบ้าง เน่าบ้างก็มี” พี่น้ำเล่าขณะพาเราเดินเข้าไปใต้นั่งร้านท่ามกลางต้นชมพู่อายุ 40 ปี ขนาดใหญ่ พร้อมเล่าต่อว่า

ทำไม เเม่ค้าไม่ซื่อสัตย์ในอาชีพตนเอง ชมพู่ที่คนมักเข้าใจผิด เพราะคิดว่าถ้ามาถึงเพชรบุรี ชมพู่ทุกพันธุ์คือ “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” เเต่จริงๆ มักเอาชมพู่เพชรสุวรรณ ที่ซื้อขายกันไม่กี่สิบบาท เเต่กลับเอาไปหลอกขายกิโลละเป็นร้อย จึงบอกเล่าข้อมูลลงในเพจ เริ่มมีลูกค้าสนใจ มาซื้อหน้าสวน เกิดการบอกต่อ โดยลูกค้ากลุ่มนี้ไม่เกี่ยงราคา ขอเเค่คุณภาพของชมพู่พอ

หลังจากกระโดดลงสู่สนามค้าขายออนไลน์ “พี่น้ำ” บอกว่าลูกค้ามาจากทางออนไลน์มากกว่าหน้าสวน เนื่องจากระยะทาง เเละการเดินทางมาหน้าสวนยังคงติดขัดสำหรับลูกค้า

ตอนนี้สวนลุงเทิ้นมีการส่งชมพู่เข้าไปในกรุงเทพฯ 3 จุด ได้เเก่ สายใต้ใหม่ สายใต้เก่า หมอชิต เพิ่มการส่งคือ SCG เเต่จะได้ในตัวเมืองที่ 1 วันของไปถึง สำหรับสายใต้ทั้งหมดจะส่งทางรถทัวร์ ให้ลงตามจุด ลูกค้าก็มารับ ถ้าสายอีสานจะไม่มีรถจริงๆ ก็จะเเก้ด้วยการรวมออเดอร์ 1 วัน เเล้วไปส่งที่นครชัยเเอร์ ถนนกำเเพงเพชร เเล้วกระจายของไป กรณีที่ไม่ได้ไปออกบู๊ธ จะส่งของไปที่กรุงเทพฯ 1 จุด เเล้วเรียกไลน์เเมนส่งให้ลูกค้า ส่วนระยะไกล ได้ในบางจังหวัด เพราะชมพู่จะต้องส่งให้เร็วที่สุด

“การที่เราซื่อสัตย์กับลูกค้า เค้าจะไปบอกต่อ เเล้วกลับมาซื้อ จากที่ซื้อครั้งเเรก 2 กิโลกรัม ก็กลับมาซื้อเพิ่มเป็น 10 กิโลกรัมก็มี ถ้าส่งไปเเล้วชมพู่เกิดเสียหายระหว่างส่ง ทางสวนจะเคลมให้ ด้วยการส่งผลไม้ชุดใหม่ไปให้ ทำให้เราได้ใจลูกค้ามากขึ้น” พี่น้ำเล่า ขณะหยิบชมพู่ที่เก็บไว้ในชะลอมมาให้ได้ชมเเละชิม