ข่าวดีส่งท้ายปี ทั้งจีนและฟิลิปปินส์สั่งซื้อข้าวไทย รวม 324,000 ตัน

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า เดือน พ.ย.นี้ ได้ตกลงขายข้าวให้ทั้งรัฐบาลจีน และฟิลิปปินส์ ปริมาณรวม 180,000 ตัน เมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา แบ่งเป็นจีน 100,000 ตัน เป็นข้าวขาว 5% ส่งมอบปลาย พ.ย.-ธ.ค.นี้ และ 28 พ.ย.
กรมฯชนะการประมูลนำ เข้าข้าวขาว 25% ฤดูกาลผลิตใหม่ ของหน่วยงาน National Food Authority (NFA) รัฐบาลสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ปริมาณ 80,000 ตัน กำหนด ส่งมอบข้าวภายในเดือน ธ.ค.2561

รวมทั้งผู้ส่งออกข้าวไทย 2 ราย ชนะการประมูลด้วย 144,000 ตัน รวมทั้งหมด 324,000 ตัน ถือเป็นข่าวดี อย่างยิ่งส่งท้ายปีสำหรับชาวนาและตลาดข้าวไทย เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศปริมาณมากมารองรับผลผลิตข้าวนาปีที่กำลังออกสู่ตลาดใน ช่วงสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา NFA ได้เปิดประมูลนำเข้าข้าวเป็นการทั่วไปหรือประมูลของเอกชน เป็นข้าวขาว 25% ปริมาณ 500,000 ตัน ผลปรากฏว่า ผู้ส่งออกข้าวไทย 2 ราย ชนะการประมูลรวม 144,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 28 ของปริมาณที่เปิดประมูล โดยมีกำหนดส่งมอบเดือนธ .ค. 2561 – ม.ค. 2562
ดังนั้น ไทยจะต้องเตรียมส่งออกข้าวทั้งของรัฐบาลและเอกชน ปริมาณรวม 324,000 ตัน ซึ่งถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่งส่งท้ายปี สำหรับชาวนาและตลาดข้าวไทย เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศปริมาณมากมารองรับผลผลิตข้าวนาปีที่กำลังออกสู่ตลาดในช่วงสิ้นปีนี้ ส่งผลบวกต่อราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรจะได้รับเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และต่อการค้าข้าวไทยทั้งระบบ

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 27 พ.ย.2561 ไทยส่งออกข้าวแล้วปริมาณ 9.89 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 161,384 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน 4.52% มั่นใจว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ 11 ล้านตัน ตามเป้าอย่างแน่นอน เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าข้าว ยังมีคำสั่งซื้อข้าวไทยอย่างต่อ เนื่อง อาทิ กลุ่มประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ที่จะมีการนำเข้าข้าวก่อนช่วงเทศกาลคริสต์มาส

ดีแทค อยากเห็นสังคมไทยที่ดีขึ้น ด้วยการริเริ่ม โครงการ “พลิกไทย” เพื่อเชิญชวนให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีไอเดียในการแก้ไขปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ดีแทค ได้คัดเลือกแนวคิดกิจกรรม จำนวน 10 แนวคิด ที่สามารถปฏิบัติได้จริง และสามารถสร้างประโยชน์แก่สมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวในเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม และจะมอบเงินทุนสนับสนุนเบื้องต้น เพื่อให้โครงการสามารถเป็นจริงได้ ซึ่งโครงการซูเปอร์ตะบันน้ำ เป็น 1 ใน 10 โครงการ ที่ได้รับการต่อยอดสนับสนุนจากดีแทค

โครงการนี้ ผ่านการคัดเลือกมาแล้วว่า เครื่องตะบันน้ำ สามารถใช้งานและสร้างประโยชน์ต่อคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

คุณจีระศักดิ์ ตรีเดช นายกสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ กล่าวว่า แม้พื้นที่ต้นน้ำจะเป็นแหล่งกำเนิดของแหล่งน้ำให้กับคนปลายน้ำ แต่ในทางกลับกัน ชุมชนในเขตต้นน้ำเองกลับเข้าไม่ถึงการใช้น้ำ เพราะแหล่งน้ำอยู่ต่ำกว่าพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลกระทบต่อชุมชนบนพื้นที่สูงในการจัดหาและขนส่งน้ำจากแหล่งน้ำที่ต่ำขึ้นสู่พื้นที่สูง เพื่อการอุปโภคและบริโภคในระดับครัวเรือน รวมถึงการทำการเกษตรเชิงนิเวศ ที่ผ่านมาการนำน้ำจากพื้นที่ต่ำขึ้นสู่พื้นที่สูง มักมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน รวมถึงชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่ในกรอบคิดของการใช้พลังงานจากน้ำมันและไฟฟ้า ในการนำน้ำมาใช้เพื่อการพัฒนาระบบเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว

ด้วยอุปสรรคที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้การผลิตอาหารของชุมชนบนพื้นที่สูงในระบบเกษตรเชิงนิเวศเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ซึ่งผู้พัฒนานวัตกรรมมีแรงบันดาลใจ ในการอยากช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมีขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยนการผลิตอาหารและการเกษตร จากเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่เกษตรเชิงนิเวศ

จากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ปัญหาร่วมกับชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของชุมชนบนพื้นที่สูง พบว่า ชุมชนมีโอกาสเป็นอย่างมากในการเข้าถึงน้ำในราคาต้นทุนต่ำ เพราะที่ตั้งของชุมชนเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีปริมาณน้ำต้นทุนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดการน้ำบนพื้นที่สูงให้ชุมชนสามารถเข้าถึงการใช้น้ำต้นทุนต่ำได้ ซึ่งนั่นคือ “เครื่องตะบันน้ำ”

“ตะบันน้ำ” ลดค่าใช้จ่าย ไม่ใช้น้ำมัน ไม่ใช้ไฟฟ้า เงินเหลือเก็บเต็มๆ

คุณวิไช ด้วงทอง เกษตรกรปลูกพืชไร่ อยู่บ้านเลขที่ 87 หมู่ที่ 2 ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เล่าว่า ชาวบ้านในตำบลวังกวางส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกพืชไร่ เนื่องจากมีตัวแปรสำคัญคือพื้นที่อยู่สูง ปลูกพืชที่ใช้น้ำเยอะไม่ได้ การจัดสรรน้ำจากแหล่งน้ำ จึงต้องใช้ปั๊มสูบน้ำขึ้นมา แหล่งน้ำจะอยู่ตามสันเขาและพื้นที่ต่ำ ที่ผ่านมาใช้เครื่องปั๊มน้ำ น้ำมันดีเซลสูบน้ำขึ้นมาเก็บไว้ในถัง มีค่าใช้จ่ายสูง ราคาขายพืชก็ไม่สูงมาก จึงไม่คุ้มทุน

“ผมเป็นเกษตรกรมานานกว่า 20 ปี ต้องประสบปัญหาต้นทุนการทำเกษตรที่สูง เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ เมื่อก่อนจะปลูกได้แต่เฉพาะพืชไร่ คือ มันสำปะหลัง และข้าวโพด อาศัยแต่น้ำฝนเป็นหลัก เพราะไม่มีทุนที่จะนำน้ำขึ้นมาใช้ ซึ่งข้าวโพดและมันสำปะหลัง หากปลูกซ้ำพื้นที่เดิมมากๆ ผลผลิตก็จะไม่เจริญงอกงามเท่าที่ควร ผลผลิตลดน้อยลง เพราะดินเสื่อมคุณภาพ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านแถวนี้ค่อนข้างมาก ผมจึงเริ่มหันหาวิธีที่จะปลูกพืชอย่างอื่นเสริม โดยพืชที่เลือกปลูกเป็น มะขาม และพืชผักสวนครัว แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำเพิ่มก็ต้องยอม เพื่อชีวิตที่ดีกว่า แรกๆ ใช้เครื่องปั๊มน้ำน้ำมันดีเซลต้นทุนค่อนข้างสูง เสียค่าน้ำมัน อาทิตย์ละ 1,000-2,000 บาท คิดเป็นเดือนเฉลี่ยเดือนละ 7,000-8,000 บาท รายได้ก็ยังไม่คุ้มกับรายจ่าย” คุณวิไช บอก

เมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นบ่อยๆ คุณวิไชจึงไปหาเพื่อนที่พอจะมีความรู้ เพื่อนแนะนำให้รู้จักกับสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ เมื่อเข้าไปเขาได้เล่าถึงปัญหาที่เจอมา ทางสมาคมฯ จึงได้เข้ามาสนับสนุน เครื่องตะบันน้ำ ของโครงการพลิกไทยให้มาทดลองใช้

เมื่อเริ่มนำเครื่องตะบันน้ำมาทดลองใช้ ปรากฏว่าใช้ได้ผลดี ประหยัด ไม่ใช้ไฟฟ้า ไม่ใช้น้ำมัน หากนับตั้งแต่เริ่มการใช้งานเครื่องตะบันน้ำจนถึงปัจจุบันตอนนี้ เริ่มทดลองใช้มาเป็นระยะเวลาปีกว่า ในช่วงที่ใช้ได้จดบันทึกรายรับรายจ่ายไว้ ดังนี้

พื้นที่ทำการเกษตร มีทั้งหมด 17 ไร่ แบ่งปลูกข้าวโพด 7 ไร่ มันสำปะหลัง 3 ไร่ มะขามหวาน 5 ไร่ และพืชผักสวนครัว 2 ไร่ ใช้เครื่องตะบันน้ำเพียงเครื่องเดียว สามารถลดค่าน้ำมันได้ทั้งหมด ในกรณีที่มีใบไม้ไปอุดตันที่เครื่อง หรือแหล่งน้ำมีน้ำน้อย อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาบ้างเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าหากเดือนไหนไม่มีปัญหาก็จะมีเงินเหลือเก็บเต็มๆ

โดยเครื่องตะบันน้ำ 1 เครื่อง สามารถสูบน้ำได้ วันละ 3,000-4,000 ลิตร แต่ต้องขึ้นอยู่กับระดับความสูงของพื้นที่ด้วย อย่างที่สวนคุณวิไช ใช้น้ำวันละ 2,000 ลิตร เทียบต้นทุนคิดต่อรอบ ประหยัดค่าน้ำมัน รอบละ 3,000-4,000 บาท 2 อาทิตย์ นับเป็น 1 รอบ เฉลี่ยค่าใช้จ่าย 8,000 ต่อ เดือน แต่เมื่อมีเครื่องตะบันน้ำ สามารถประหยัดค่าน้ำมันได้เกือบทั้งหมด

พูดได้ว่า เครื่องตะบันน้ำ มีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น คุณวิไชและชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดี มีเงินเหลือเก็บ และสามารถทำสวนปลูกพืชผักสวนครัวได้เพิ่ม จากเคยทำไร่อย่างเดียว ตอนนี้มีรายได้ทุกวันจากการขายผักสวนครัว

การติดตั้ง และระบบการทำงานไม่ยาก ต้นทุนต่ำ

คุณอุดม อุทะเสน หนึ่งในทีมช่างเครื่องตะบันน้ำ ให้ข้อมูลว่า เครื่องตะบันน้ำที่ติดตั้ง ใช้กลไกแบบง่ายๆ คือ การวางท่อเอาน้ำจากที่ต่ำขึ้นที่สูง การติดตั้งมีท่อ พีวีซี ต่อสูงกว่าตัวเครื่อง ไม่ต่ำกว่า 1 เมตร วางท่อลงจากจุดน้ำเข้า ประมาณ 10 เมตร เข้าตัวเครื่อง

ระบบเครื่องทำงานโดยอาศัยแรงน้ำจากข้างบน ไหลเข้าในตัวเครื่องตะบันน้ำข้างล่าง

เครื่องตะบันน้ำ มีส่วนประกอบคือ เช็ควาล์ว 2 ตัว ถังรับส่งน้ำ 2 ใบ

โดยเช็ควาล์วตัวแรกที่คอยรับน้ำจากข้างบนไหลลงข้างล่าง เกิดแรงที่หนักขึ้น จะดันลิ้นวาล์วตัวแรกให้ปิด

เมื่อวาล์วตัวแรกปิดจะเกิดแรงดันน้ำในถังตัวแรก พอเกิดตัวแรกดัน เช็ควาล์วตัวที่สอง จะเปิดให้น้ำไหลผ่านเข้าไปถังที่สอง ถังที่สองจะเป็นถังที่มีอากาศอยู่ครึ่งหนึ่ง อากาศที่เข้าไปทำให้อากาศยุบตัว น้ำไหลผ่านเข้าไป จึงเกิดแรงดันน้ำสู่ที่สูง โดยจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ

พื้นที่ติดตั้งที่เหมาะสม

การจะติดตั้งเครื่องตะบันน้ำอย่างแรกต้องดูพื้นที่ว่าเหมาะสมหรือไม่ พื้นที่เหมาะสมต้องเป็นแนวลาดชันตามลำน้ำ ท่อรับน้ำด้านบนต้องอยู่สูงกว่าตัวเครื่อง ไม่ต่ำกว่า 1 เมตร เพื่อให้น้ำไหลไป ทำให้กลไกของตะบันน้ำทำงาน เกิดการปิดเปิดทำให้เกิดแรงกลขึ้นมา ได้แรงน้ำไปสู่ที่สูง

ปริมาณการสูบน้ำ โดยเฉลี่ยจากการทดสอบ 1 นาที สูบน้ำได้ประมาณ 1.50 ลิตร ความต่างที่ 1 เมตร แล้วส่งขึ้นพื้นที่ลาดชัน ประมาณ 200 เมตร ถ้าเฉลี่ยเป็นวัน เครื่องตะบันน้ำตัวนี้สามารถสูบน้ำได้ วันละ 3,000-4,000 ลิตร โดยมีต้นทุนการผลิตเพียง เครื่องละ 5,000 บาท

สอบถามข้อมูล รายละเอียดและการติดตั้งเครื่องตะบันน้ำได้ที่ คุณอุดม อุทะเสน โทร. 087-216-5686

โครงการซูเปอร์ตะบันน้ำ โดยสมาคมเพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์เทือกเขาเพชรบูรณ์ ได้รับการสนับสนุนโดยโครงการ “ดีแทคพลิกไทย” ด้วยการระดมทุนผ่านเว็บไซต์ https://www.dtac.co.th/plikthai/p/water-sink

ทำให้สามารถผลิตและติดตั้งเครื่องตะบันน้ำสำหรับเกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 20 เครื่อง สินค้าเกษตร ข้าว-มัน-ยาง-อ้อย เป็นปัจจัยชี้ระดับ “กำลังซื้อ” ของเกษตรกรทั่วประเทศ

ฐานของเกษตรกรกลุ่มนี้กลายเป็น “ฐานเสียง” ใหญ่ทางการเมือง ราคาสินค้ากลุ่มนี้ยังเป็นดัชนีที่มีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจฐานราก

5 ปี ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการสับเปลี่ยนกำลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จาก “นายพล” เพื่อนร่วมรุ่นนายกรัฐมนตรี มาสู่นักบริหารจากกระทรวงมหาดไทย

ฉากการต้อนรับม็อบและแกนนำชาวสวนยางของ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีพลเรือน เกิดขึ้นซ้ำซากทุกฤดูกาล ข้อเรียกร้องทุกครั้งคือ “อุดหนุนราคา-เยียวยา” รายได้ให้ชาวสวนยาง แม้ว่าล่าสุด (20 พ.ย. 61) คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติช่วยเหลือทางตรงให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง 999,065 ราย และคนกรีดยาง 304,266 ราย ให้ความช่วยเหลือ ไร่ละ 1,800 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ โดยช่วยเจ้าของสวนยาง จำนวน 9.99 แสนราย ไร่ละ 1,100 บาท และคนกรีดยาง 3.04 แสนราย ไร่ละ 700 บาท ใช้งบประมาณรวม 18,604 ล้านบาท มาตรการนี้จะทำให้ชาวสวนยางกว่า 1.3 ล้านราย ได้รับอานิสงส์ อีกรอบ

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่เคยดำเนินการแล้วไม่ได้ผล กลับมาใช้อีกครั้ง คือการสั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ 8 หมื่นแห่ง ทำถนนลาดยางผสมซีเมนต์ อย่างน้อยหมู่บ้านและตำบลละ 1 กิโลเมตร ซึ่งจะต้องใช้น้ำยางสด 1.44 ล้านตัน หรือคิดเป็นน้ำยางข้น 7.2 แสนตัน ใช้งบประมาณ 49,700 ล้านบาท

มาตรการขายผ้าเอาหน้ารอดที่ต้องแนบท้ายข้อเสนอทุกครั้ง คือ “การแปรรูป” ในการนี้ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์สำรวจรวบรวมสมาชิกเกษตรกรสวนยาง ตั้งกลุ่มแปรรูปเพื่อการส่งออก ด้วยการคัดเลือกสหกรณ์ในพื้นที่ที่สนใจเข้ามาดำเนินโครงการโดยเร็ว และกรมเร่งหางบฯสนับสนุนยาง-ยังเป็นสินค้าที่กระทรวงการคลังรับไว้ในโครงการ “ประชารัฐ-ประชานิยม”ช่วงโค้งสุดท้ายของปี ก่อนเข้าสู่ฤดูการเลือกตั้ง ฝังไว้ในโครงการ “ช็อปช่วยชาติเวอร์ชั่น 2” ด้วยการให้ “ยางรถยนต์” เป็น 1 ใน 3 สินค้าที่นำมาลดหย่อนภาษีได้ในวงเงินไม่เกิน 15,000 บาท

ขณะที่มาตรการแก้ปัญหาระยะยาวที่เคยประกาศลดพื้นที่ปลูก 8 ล้านไร่ ในปีนี้สั่งการให้วางแผนลดพื้นที่ปลูก 4 ล้านไร่

ในยุครัฐบาล คสช. รัฐบาลจ่ายงบประมาณเพื่ออุ้มชาวสวนยางมาแล้ว 75,000 ล้านบาท แต่ “ผลงาน” ของการใช้เงินงบประมาณตั้งแต่ปี 2557 บางโครงการยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ-เบิกเงินยังไม่ครบตามที่อนุมัติ 8 โครงการ อาทิ

1.โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ถึงปลายปี 2562 มีสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรยื่นกู้ 510 แห่ง ได้รับอนุมัติ 371 แห่ง เบิกเงินกู้เพียง 8,503 ล้านบาท

2.โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา วงเงิน 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาถึงปี 2567 เกษตรกรเข้าร่วม 290 แห่ง

3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการกิจการยาง (น้ำยางข้น) วงเงิน 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาถึงเดือน เม.ย. 2562 มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ 33 บริษัท 53 โรงงาน

4.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาถึงปี 2562 มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 15 บริษัท

5.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 20 ราย

6.ขยายเวลาชำระหนี้ โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางของ กยท. ปัจจุบันเหลือสต๊อกยาง 104,550.40 ตัน

7.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม ระยะเวลาถึงเดือน พ.ย. 2562 วงเงิน 15,000 ล้านบาท เกษตรกรเบิกเงินกู้แล้ว 136,475 ครัวเรือน

8.โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานรัฐ ในปี 2561 ใช้น้ำยางข้น 9,952 ตัน ยางแห้ง 785 ตัน และ กยท.รับซื้อน้ำยางสด 3,952 ตัน นำไปแปรรูปเป็นน้ำยางข้นเพื่อจำหน่ายให้หน่วยงานรัฐ

มาตรการใหม่ที่มีการสนธิกำลังทั้งกระทรวงเกษตรฯ, กระทรวงการคลัง และภาคเอกชนที่จำหน่ายยางและผลิตภัณฑ์ยางให้จัดโปรโมชั่นช่วงเทศกาลปีใหม่เพื่อเพิ่มการบริโภค รัฐบาลคาดหวังไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แห่งวาระการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งล่าสุดว่า…

“ภาครัฐจะแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ และเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคายางมีทิศทางแนวโน้มที่สูงขึ้น”

ตั้งแต่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร จนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2542-2561) มีการจ่ายเงินงบประมาณเพื่ออุ้มราคายางมาแล้วกว่า 1.8 แสนล้านบาท

อีกไม่ถึง 100 วันจะมีการเลือกตั้ง หากราคาสินค้าเกษตรและมาตรการอุ้ม-อุดหนุน ข้าว-มัน-ยาง-อ้อย ยังไม่กระเตื้องเป็นรูปธรรม ย่อมส่งผลต่อคะแนนการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

ไผ่เป็นพืชตระกูลเดียวกับหญ้า โดยไผ่ได้ชื่อว่าเป็นหญ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ไผ่เป็นพืชสารพัดประโยชน์สำหรับเกษตรกร เนื่องจากทุกส่วนของไผ่เราสามารถจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนของหน่อใช้เป็นอาหาร บริโภคได้ทั้งหน่อสดและเอาไปดองเพื่อถนอมอาหาร ส่วนลำต้นสามารถใช้เป็นไม้ใช้สอยได้ต่างๆ นานา ทำค้างสำหรับพืชไม้เลื้อย ทำรั้วบ้าน ทำด้ามจอบด้ามพร้า สานตะกร้ากระบุง ทำเครื่องเรือน หรือสร้างบ้านได้แทบทั้งหลัง แม้แต่ใบก็เอามาทำปุ๋ยได้

ในสมัยก่อนเราพึ่งพาไม้ไผ่ในชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก ปัจจุบันแม้ไผ่ธรรมชาติจะลดน้อยลงไป แต่สำหรับเกษตรกรการปลูกไผ่ไว้ในสวนของตัวเองเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อหาได้มากทีเดียว เพราะในปัจจุบันไม้ไผ่ที่ตัดขายตามร้านค้ามีราคาแพงมาก ดังนั้น การปลูกใช้เองเป็นการดีที่สุดสำหรับเกษตรกรในยุคนี้

ยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจในภาคใต้ จากสภาวะเศรษฐกิจส่งผลให้ราคายางเคลื่อนไหวแพงบ้างถูกบ้าง และในช่วง 2-3 ปีมานี้ ยางมีราคาถูกมาก ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งโค่นยางทิ้งเมื่อถึงอายุ และมักจะมองหาพืชชนิดอื่นปลูกทดแทนยาง เช่น ปาล์มน้ำมัน สะละ ทุเรียน มังคุด กล้วย แล้วแต่ความถนัด บางสวนก็โค่นยางออกบางส่วนเพื่อปลูกพืชอย่างอื่นแซม เกษตรกรชาวสวนยางทางภาคใต้ต่างพากันปรับตัว หาวิธีต่างๆ เสริมรายได้ เพื่อความอยู่รอด

สวนไผ่อาบู ตั้งอยู่ที่ ตำบลลำภี อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โดย คุณบุญชู สิริมุสิกะ ชายหนุ่มที่ทิ้งอาชีพวิศวกรในเมืองหลวงกลับคืนสู่บ้านเกิด ที่มีรากฐานอาชีพทำสวนยางและสวนปาล์ม แน่นอนว่าเป้าหมายการลาออกมาทำเกษตรของเขาไม่ได้อยู่ที่เงินเพียงอย่างเดียว แต่เขาแสวงหาความสุขและความมั่นคงที่แท้จริง

จากวิศวกรมาเป็นเกษตรกร

คุณบุญชู เล่าให้ฟังว่า เขาเรียนจบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยวและแปรสภาพ คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เรียนจบก็มีโอกาสมาทำงานเป็นวิศวกรออกแบบระบบการผลิต ให้กับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่น

ในเวลานั้นเขามองอาชีพด้านการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวว่าเป็นอาชีพที่ลำบาก มันเหนื่อย เกษตรเท่ากับจน เนื่องจากในวัยเด็กช่วงที่ปิดเทอมและช่วงวันหยุด เขากับพี่จะต้องช่วยที่บ้านทำงานในสวนอยู่ตลอด แทนที่จะได้มีโอกาสนอนดูการ์ตูนสบายๆ เหมือนเด็กคนอื่นๆ พอมีโอกาสได้เรียนและจบออกมาทำงานเป็นวิศวกร เขาบอกกับตัวเองว่า นี่แหละคือตัวตน นี่แหละคืองานที่เขาชอบ

ครั้งหนึ่งเขามีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหาร มีประธานบริษัทและกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น ท่านได้ถามเขาว่า “คุณจะทำงานกับบริษัทเรากี่ปี เขาก็ตอบว่าผมจะทำไปเรื่อยๆ จนเกษียณอายุ แต่นายญี่ปุ่นกลับบอกเขาว่า คุณทำงานที่นี่ 5 ปีก็พอแล้ว ภายใน 5 ปี ทุกคนควรมีความก้าวหน้าในอาชีพ หากใครคนใดทำงานเดิมนานๆ ก็เสมือนองค์กรกำลังปิดกั้นโอกาสที่เขาจะได้แสดงความสามารถในด้านอื่นที่เขามี” ณ เวลานั้นเขาก็ยังงงๆ อยู่ว่าทำไมนายญี่ปุ่นจึงสอนเขาอย่างนั้น

หลังจากทำงานได้ประมาณ 6 ปี วันหนึ่งเขามีโอกาสได้ดูรายการทีวีเกี่ยวกับการเกษตร รายการปราชญ์เดินดิน ตอน “ลุงนิล คนของความสุข” ของทีวีบูรพา ลุงนิล เป็นปราชญ์เกษตรที่จังหวัดชุมพร เขาเห็นลุงนิลมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีความสุขกับการทำเกษตรบนพื้นที่แปลงเกษตรเล็กๆ เป็นการทำเกษตรแบบสวนสมรม ลุงนิลได้อยู่กับครอบครัว ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันทุกวัน เขาบอกกับตัวเองว่านี่แหละชีวิตที่มีความสุข มันควรจะเป็นแบบนี้

ตั้งแต่นั้นมา ความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ในงานวิศวกรรมที่เขาเคยชอบก็ค่อยๆ ลดน้อยลง ช่วงเวลาว่างเขามักมองหาความรู้ใหม่ๆ ด้านการเกษตรอยู่เรื่อยๆ เหมือนความสนใจในชีวิตมันเปลี่ยน

เขาเริ่มรู้สึกว่าแม้รายได้จากการทำงานเป็นวิศวกรจะมีรายได้มากก็จริง แต่ความมั่นคงของการเป็นวิศวกรในยามบั้นปลายชีวิตมันกลับมีน้อยมาก

แต่ทว่ารายได้จากการทำการเกษตร แม้จะดูว่าน้อยในช่วงเริ่มต้น แต่มันกลับเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงในยามบั้นปลายชีวิต

เขาเริ่มค้นพบว่า เงินไม่ได้ตอบโจทย์ความสุขความสบายของชีวิต การทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน เราต่างพากันทำงานหาเงิน เมื่อได้เงินมาแล้วก็นำเงินที่ได้ไปแลกมาซึ่งความสุข

ในขณะที่งานด้านการเกษตรแค่ได้ลงมือทำความสุขก็เกิดแล้ว ความสุขมันเกิดขึ้นได้ทุกขณะ มันเกิดทันที ที่สำคัญทำแล้วยังมีผลพลอยได้ตามมา ซึ่งก็คือเงิน และถ้าทำดีๆ มันไม่ลำบากไม่จนแน่ๆ

หลังจากตัดสินใจลาออกมาทำเกษตรในช่วงแรกๆ เขาเริ่มต้นด้วยการปลูกพืชระยะสั้น เช่น ถั่วฝักยาว บวบ แตงกวา โดยทำการเกษตรแบบใช้สารเคมีเหมือนเกษตรทั่วไป เขาทำอยู่อย่างนั้นสองสามรอบ ก็พบว่าเงินที่ได้มาเมื่อนำมาลงทุนแล้วในระหว่างรอจะเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบใหม่ เงินที่มีก็ใช้หมดพอดี พอได้เงินงวดใหม่มาก็เอามาลงทุน พอรอผลผลิตอีกรอบก็หมดอีก หยุดทำเมื่อไรก็หมดเงินเมื่อนั้น

เขาทำอยู่แบบนั้นได้ประมาณ 6 เดือน ก็เริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นมันไม่ใช่แล้ว มันน่าจะมีอะไรผิดพลาด เขาจึงหยุดปลูกพืชต่างๆ ประมาณ 3 เดือน โดยในระหว่างนั้นก็ยังมียางพาราและปาล์มที่ยังเป็นรายได้

เขาคิดทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาเพื่อหาหนทางใหม่ที่ควรจะดีกว่าเดิม เขาจึงพบว่าสิ่งที่เราเห็นคนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จกับการทำการเกษตรทางยูทูปหรือตามทีวีเป็นเรื่องที่เขาอยากให้เราดู แต่ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด เรื่องราวที่เราไม่รู้คือ ช่วงจังหวะที่เขาเหล่านั้นล้มเหลวซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถนำมาเป็นบทเรียน แต่ที่เราเห็นคือช่วงที่เขาเหล่านั้นประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งความสำเร็จมันเป็นของใครของมัน มันลอกเลียนแบบกันไม่ได้

เขาจึงนำวิธีคิดและวิธีการทำงานแบบวิศวกรมาปรับใช้กับการเริ่มต้นการทำเกษตรใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้เขาทำบนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยึดมั่นในปรัชญา นำพาด้วยการทำงานอย่างวิศวกร

คุณบุญชูคิดวางแผนว่า จะสร้างสวนของตัวเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตรที่เป็นวิถีเกษตรแบบบ้านๆ จริงๆ เขาเริ่มวางแผนงานใหม่และกำหนดรูปแบบในการทำแปลงเกษตรของตัวเองใหม่ โดยยึดหลักที่ว่า ทุกกิจกรรมต้องง่ายและทำแล้วต้องเกิดรายได้จริง

เขาบอกกับเราว่าที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการทำเกษตร ขอเพียงมีพื้นที่ ถึงแม้ดินนั้นจะไม่ดี หรือน้ำไม่มี ก็สามารถที่จะทำเกษตรได้ ไม่ต้องพยายามแก้ไขปรับปรุงดินหรือลงทุนสร้างแหล่งน้ำ แต่ควรเริ่มต้นด้วยการเลือกปลูกพืชที่เหมาะกับดินและเหมาะกับปริมาณน้ำฝนในพื้นที่นั้นๆ ถ้าเราปลูกพืชที่เหมาะสมตั้งแต่ต้น อะไรๆ มันก็จะง่าย เขากำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพืชมาปลูกลงแปลง 10 ข้อ เพื่อใช้เป็นตัวคัดกรองคร่าวๆ ก่อนจะปลูกพืช

เกณฑ์ประเมิน 10 ข้อ สำหรับพืชที่จะปลูก มีดังนี้

ต้องเป็นพืชที่คนทั่วไปมองข้าม
ต้องเป็นพืชที่ปลูกแล้วสร้างรายได้จริงๆ
ต้องเป็นพืชที่มีโรคและแมลงรบกวนน้อย อาศัยการพึ่งพิงธรรมชาติเป็นหลัก
ต้องเป็นพืชที่ทนแล้ง ทนน้ำท่วมได้ดี
ต้องให้ผลผลิตสม่ำเสมอต่อเนื่อง ไม่อิงฤดูกาล
ต้องเป็นพืชที่มีความต้องการสูง เน้นหนักไปทางด้านสุขภาพ
ต้องเป็นพืชที่ทนทาน ไม่ต้องดูแลมาก
ต้องเป็นพืชที่สามารถแปรรูปได้
ต้องเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน
ต้องเป็นพืชที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ เช่น การทำกิ่งพันธุ์จำหน่าย
ซึ่งเกณฑ์ประเมินทั้ง 10 ข้อ ถ้าพืชตัวใดผ่านสัก 8 ข้อ ก็สามารถนำมาปลูกได้เลย

หลายท่านอาจจะคิดว่าไผ่กับยางพาราไม่น่าจะปลูกร่วมกันได้ แต่จริงแล้วสามารถปลูกร่วมกันได้ แต่เราต้องมีวิธีการจัดการอย่างเหมาะสม การเลือกพันธุ์ไผ่ที่เหมาะสมจะนำมาปลูกแซมในสวนยางคือ ไผ่ในตระกูลตงทั้งหมด เช่น ตงลืมแล้ง (ไผ่กิมซุง เขียวเขาสมิง) ตงศรีปราจีน ซางหม่น หม่าจู ปักกิ่ง และอื่นๆ เนื่องจากไผ่เหล่านี้มีลำต้นสูง เวลาที่ต้นยางมีอายุมากแล้ว ไผ่จะสามารถพุ่งขึ้นไปรับแสงสู้กับต้นยางได้ แต่สวนยางของคุณบุญชูเลือกปลูก ไผ่ตงลืมแล้ง (ไผ่กิมซุง เขียวเขาสมิง) เพราะดูแลง่ายและสามารถต่อยอดอาชีพสร้างรายได้ได้หลายทาง