ข้อมูลทางวิชาการ จากองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ระบุว่า องุ่นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vitisvinifera องุ่นไม่มีเมล็ด-องุ่นดำ เขียว แดง Seedless grape องุ่น เป็นไม้ผลชนิดเถาเลื้อยที่มีอายุยาวนานหลายปี สามารถปลูกได้ในสภาพภูมิอากาศหลายแบบ แต่องุ่นที่ปลูกในสภาพที่มีอากาศหนาวเย็นจะมีคุณภาพสูงกว่า องุ่นเป็นไม้ผลวงศ์ Vitacea สกุล Vitis มีหลายชนิด แต่พันธุ์ที่ปลูกอยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชนิด Vitisvinifera มีถิ่นกำเนิดในเอเชียที่มีอากาศอบอุ่น อุณหภูมิ 10-20 องศาเซลเซียส หรืออยู่ระหว่างเส้นแวง (latitute) ที่ 20 องศาและ 51 องศาเหนือ และ 20 องศา และ 40 องศาใต้ แต่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตอากาศกึ่งร้อนถึงร้อน สำหรับประเทศไทยเชื่อว่านำเข้ามาปลูกในสมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งปี พ.ศ.2493 หลวงสมานวนกิจได้นำองุ่นจากแคลิฟอร์เนียมาปลูกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมวิชาการเกษตร ต่อมาในปี 2506 ศาสตราจารย์ปวิณ ปุณณศรี และคณะ ได้นำองุ่นยุโรปหลายสายพันธุ์มาทดลองปลูก ประสบความสำเร็จและขยายผลไปสู่เกษตรกรในเขตภาคกลาง ปลูกเป็นการค้าจนกระทั่งปัจจุบัน

องุ่น เป็นไม้เลื้อยประเภทยืนต้น มีอายุยาวนานหลายปี การปลูกจะต้องมีค้างรองรับ เถาองุ่นจะมีลักษณะเป็นปล้อง บริเวณข้อจะมีใบ 1 ใบอยู่เรียงสลับกันไปตามข้อ และมีมือจับซึ่งเป็นช่อดอกที่ไม่พัฒนาอยู่ตรงข้ามกับใบ บริเวณโคนก้านใบจะมีกิ่งแขนงเล็ก 1 กิ่งและตา 1 ตา เป็นตารวมประกอบด้วยตาเอก (Primary bud) 1 ตาอยู่ตรงกลางและตารอง (Secondary bud) 2 ตา ตาเอกมีความสำคัญมาก เพราะประกอบด้วยตายอดมือและกลุ่มของดอก ผลองุ่นจะมีลักษณะเป็นพวงแบบที่เรียกว่าราคีส (rachis) ผลมีหลากหลายลักษณะ ขนาดและสีภายในผลอาจมีเมล็ดหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว องุ่นจะพักตัวในฤดูหนาว เมื่ออากาศอบอุ่นก็จะแตกตาเกิดยอดใหม่ซึ่งจะออกดอกและติดผลบนกิ่งใหม่ แต่ในประเทศไทยซึ่งอากาศไม่หนาวเย็น ต้นองุ่นจะไม่พักตัว วิธีการทำให้องุ่นให้ผลผลิตคือ เมื่อกิ่งแก่เป็นสีน้ำตาลแล้ว จะใช้วิธีการตัดแต่งและใช้สารบังคับให้ตาแตกออกมาเป็นยอดใหม่และออกดอกให้ผลผลิต

สภาพภูมิอากาศและปัจจัยที่เอื้ออำนวย

เนื่องจากองุ่นมีหลายสายพันธุ์ และเป็นพืชที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศต่างๆ ได้ดี จึงสามารถปลูกได้ในสภาพพื้นที่หลากหลาย แต่บนพื้นที่สูงที่มีอากาศหนาวเย็นจะทำให้องุ่นออกดอกและให้ผลผลิตได้ดีและผลผลิตมีคุณภาพดี อย่างไรก็ตาม บนพื้นที่สูงจะมีปัญหาฝนตกมากเกินไปและแสงแดดน้อย ทำให้มีปัญหาเรื่องโรคทำลายมากจึงควรปลูกในสภาพโรงเรือน

พันธุ์ที่นิยมปลูกมี 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ Beauty Perlette (สีเหลือง) พันธุ์ Ruby Seedless (สีแดง) และพันธุ์ Loose Perlette (สีเหลือง) โครงการหลวงได้ศึกษารวบรวมพันธุ์องุ่นไว้หลากหลายพันธุ์ และทำการวิจัยโดยมุ่งเน้นพันธุ์รับประทานสดที่มีคุณภาพดี ปัจจุบันมีพันธุ์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก 2 พันธุ์ คือ

พันธุ์บิวตี้ ซีดเลส (Beauty Seedless) เป็นองุ่นชนิดไม่มีเมล็ด ผลกลมมีสีดำ ขนาดผลเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร เปลือกผลหนา รสชาติหวานอร่อย อายุตั้งแต่ตัดแต่งกิ่งจนถึงเก็บเกี่ยว (ประมาณ 5-6 เดือน)
พันธุ์รูบี้ ซีดเลส (Ruby Seedless) เป็นองุ่นไม่มีเมล็ดเช่นกัน แต่ผลมีขนาดใหญ่ ลักษณะยาวรี สีแดง ช่อผลมีขนาดใหญ่ เปลือกหนากว่าพันธุ์ Beauty Seedless รสชาติหวาน กรอบ อร่อย อายุตั้งแต่ตัดแต่งกิ่งจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 6-7 เดือน
นอกจากนี้ยังมีพันธุ์องุ่นอื่นๆ อีกหลายพันธุ์ที่มีความสำคัญ ได้แก่ ต้นตอพันธุ์ 1613C (Othello x Selonis) และพันธุ์ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาทดลองเช่น พันธุ์ Kyoho, Honey Red, Frame Seedless และ Early Muscat เป็นต้น

ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต

องุ่นสามารถตัดแต่งต้นให้มีผลผลิตได้ตลอดปี แต่บนที่สูงจะนิยมบังคับองุ่นให้มีผลผลิต ในช่วงเวลาที่ผลผลิตมีคุณภาพสูงคือในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม และเดือนมีนาคม-พฤษภาคม

ตลาดและการใช้ประโยชน์

องุ่นเป็นผลไม้ที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะนิยมบริโภคผลสด และนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำองุ่นและไวน์ สำหรับองุ่นที่มูลนิธิโครงการหลวงปลูก ส่วนใหญ่เน้นเพื่อการบริโภคผลสดเป็นหลัก

สำหรับการปลูกองุ่นไร้เมล็ดของคุณตุ๋ยและคุณต้อยนั้น ในช่วงที่รับราชการ ทั้งสองคนก็ทำอาชีพการเกษตรเป็นอาชีพรองไปด้วย และทำมาหลายอย่างด้วยกัน เช่น ขิง ฟักทอง สวนสักทอง มะม่วง ฝรั่งตอนกิ่งจำหน่าย รับจ้างปลูกต้นจามจุรีหรือฉำฉา โดยจะดูแลจนติดความสูง 2 เมตรในราคาต้นละ 20 บาท และรับเปลี่ยนยอดมะม่วงยอดละ 10 บาท รับรองจนติดจึงเก็บเงิน

เมื่อลาออกจากราชการจึงหันมาลงมือทำการเกษตรเต็มเวลา โดยคุณตุ๋ยสนใจการปลูกองุ่นอยู่แล้ว ได้ศึกษาตามสื่อไอทีและไปศึกษาจากแปลงปลูกในหลายๆ ที่ในเขตภาคเหนือตอนบนเพื่อนำมาปรับใช้ ครั้งสุดท้ายชวนคุณต้อยภรรยาไปเที่ยวที่จังหวัดเชียงรายแถบอำเภอเทิงและเวียงแก่น เผอิญได้พบนักวิชาการเกษตรของโครงการหลวงที่ดูแลการส่งเสริมการปลูกองุ่นให้กับเกษตรกรชนเผ่า ทางนักวิชาการเกษตรถามว่า ตั้งใจจะปลูกสักกี่ต้น ด้วยความที่ทราบข้อมูลมาไม่มากเพราะตอนเรียนก็ไม่ได้มีการสอนเป็นการเฉพาะเจาะจง คิดว่าคงเหมือนกับพืชอื่นทั่วไป จึงตอบไปว่าจะปลูกสัก 200 ต้น เขาบอกว่าการลงทุนสูงมาก ในระยะแรก ถ้าปลูก 200 ต้นลงทุนหลักแสน ต้นหนึ่งลงทุนที่ 4,500-5,000 บาท เลยทีเดียว เพราะองุ่นถือเป็นพืชมรดกในไทยจะให้ผลผลิตได้ถึงอายุ 50-60 ปี ส่วนในต่างประเทศนานเป็น 200 ปี สวนนี้ปลูกในที่ดินที่เช่าจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน ตั้งชื่อว่า “สวนบ้านแสนสุข” อยู่บริเวณบ้านห้วยเคียน ตำบลแม่กา ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยพะเยา

เจ้าของปลูกจะปลูกในโรงเรือนเพื่อป้องกันปัญหาโรคแมลงและนกที่จะเข้ามาจิกกินผลองุ่น หากปลูกแบบนอกโรงเรือนต้องใช้สารเคมีมาก การปลูกใช้ระบบปลอดภัยจากสารพิษ จะใช้สารเคมีในช่วงที่เมล็ดขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ช่วงอื่นจะใช้วิธีกล

ศัตรูที่สำคัญขององุ่นคือเพลี้ยไฟ แต่ด้วยความที่เป็นนักวิชาการเกษตรมาก่อน รู้ถึงอุปนิสัยของแมลงตัวนี้ดีว่าไม่ชอบความชื้นหรือน้ำฝน จึงฉีดพ่นน้ำในแปลงปลูก เพลี้ยไฟคงคิดว่าฝนตกจึงไม่เข้าทำลาย ด้านข้างของโรงเรือนจะล้อมด้วยตาข่ายเพื่อกันนก

ในฤดูหนาว องุ่นในสวนนี้จะให้ผลผลิตมาก เจ้าของสวนสามารถกำหนดวันให้ผลผลิตออกได้โดยนับวัน 110 วัน หลังตัดแต่งกิ่งใบ (พรุนกิ่ง) ฤดูร้อนจะให้ผลผลิตน้อย เนื่องจากองุ่นเป็นพืชที่ให้ผลผลิตยาวนาน ฉะนั้น การเตรียมหลุมปลูกจึงมีความสำคัญ

ในสวนของคุณตุ๋ยและคุณต้อย ใช้พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ปลูกจำนวน 39 ต้น มี 4 สายพันธุ์คือ บิ้วตี้ซีดเลส ซื้อมาจากไร่ของพ่อหลวงเซ้ง ใกล้มูลนิธิโครงการหลวงหนองหอย เฟรมซีดเลสและป๊อกดำ สั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ตจากนนทบุรี ส่วนพันธุ์ราชินีซื้อจากร้านขายต้นไม้ในงานเทศกาลกินปลาของเทศบาลเมืองพะเยา การเลือกพื้นที่ปลูก จังหวัดพะเยาต้องอยู่ในระดับความสูงกว่าน้ำทะเล 300-1550 เมตร และอยู่บริเวณที่มีภูมิอากาศหนาวเย็น มีแสงแดดดีมาก เนื่องจากเป็นการเริ่มปลูก (ทดลองปลูก) จึงเลือกที่ว่างบนคันสระน้ำหน้าบ้านซึ่งมีพื้นที่กว้างพอสำหรับปลูกได้ 1 แถว มีการปรับพื้นที่ให้เรียบก่อนขุดหลุมปลูก แหล่งน้ำที่ใช้เป็นบ่อน้ำตื้นและประปาหมู่บ้าน การเตรียมหลุมขุดขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร ลึก 1 เมตร ใส่ขี้วัว ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปุ๋ยยูเรีย และเชื้อไตรโคเดอร์มา ผสมคลุกเคล้ากับดินให้เต็มหลุม เริ่มปลูกเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ปี 2555

การสร้างโรงเรือน ใช้หลักการของโครงการหลวง โดยเหตุผลของการสร้างโรงเรือนนั้นก็เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเนื่องจากอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัย หลังคามุงด้วยพลาสติกใสความหนา 150 ไมครอน หน้ากว้าง 4 เมตร ล้อมด้านข้างด้วยตาข่ายเพื่อป้องกันนกและค้างคาว ค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงเรือนรวม 150,000 บาท แยกเป็นค่าวัสดุ 95,000 บาท ค่าแรง 30,000 บาท อื่นๆ 25,000 บาท ค่าพันธุ์องุ่นต้นละ 200 บาท

ดูแลรักษาอย่างไร

การดูแลเอาใจใส่หลังจากปลูกครบ 1 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยดังนี้

ปุ๋ยทางดิน ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ทุก 10 วัน อัตรา 1 ขวดเครื่องดื่มชูกำลังต่อน้ำ 20 ลิตร ปุ๋ยสูตร 16-16-16 ทุก10 วันอัตรา 2 ช้อนโต๊ะหว่านรอบต้น ปุ๋ยยูเรียทุก 10 วัน อัตรา 1 ช้อนโต๊ะ หว่านรอบต้น ปุ๋ยทางใบ พ่นไคโตรซาน ปุ๋ยน้ำชีวภาพ อัตรา 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 10 วัน โดยปฏิบัติตั้งแต่อายุ 1 เดือน ถึง 10 เดือน

สำหรับการจัดรูปทรงกิ่งและต้น…หลังจากปลูกแล้วต้องคอยสังเกตว่าเถาจะเลื้อย เตรียมสร้างกิ่งแขนงใน 1-2 เดือน หลังจากปลูก จัดรูปทรงให้เป็นตัว H และผูกเถาองุ่นด้วยเชือกพลาสติก เพื่อสร้างกิ่งแขนงผูกกับลวดที่ขึงตึงไว้ให้ได้รูปเป็นก้าง โดยคอยสังเกตการทอดยอดของเถาองุ่นและตัดแต่งยอดเถาที่ไม่ต้องการทิ้ง

ป้องกันโรคแมลง…ใช้ลูกเหม็นใส่ถุงพลาสติก เจาะรูให้กลิ่นลูกเหม็นกระจายออกจากถุง เพราะกลิ่นของลูกเหม็นจะไล่แมลงศัตรู โดยผูกถุงไว้กับลวดเป็นจุดๆ ระยะห่างตามความเหมาะสม ใช้มหาหิงค์ก้อนซึ่งมีกลิ่นฉุน ละลายน้ำกับน้ำร้อน อัตรา 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 10 วัน หรือใช้สารชีวภาพ อัตรา 1 ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง ฉีดพ่นทุก 10 วัน เพื่อป้องกันเชื้อราและกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยปฏิบัติเป็นประจำตั้งแต่อายุ 1-10 เดือน

การบังคับออกดอก…วิธีปฏิบัติ งดให้น้ำ 15-30 วัน (15 กรกฎาคม -16 สิงหาคม) จากนั้นตัดแต่งใบหรือการพรุนใบทั้งต้น (ตัดยาว) เหลือตาบน ข้อที่ 8-10 ป้ายสารคอร์แมคซ์ ปลายกิ่งตาที่ 1-4 (16 สิงหาคม) ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 รดน้ำให้ชุ่มก่อนที่มันจะออกดอก พ่นสารป้องกันโรครา ใส่ปุ๋ย 15-15-15 สองสัปดาห์ต่อครั้งจนดอกบาน หลังดอกบาน 7-10 วัน ฉีดฮอร์โมนยืดช่อดอกครั้งที่ 1 จากนั้นพ่นครั้งที่ 2 เพื่อสลัดผล เมื่อติดผลขนาดหัวไม้ขีดไฟ ซอยผลออก 40 เปอร์เซ็นต์ ระยะติดผลใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ครั้งที่ 2 หลังอายุผล 60 วัน ใช้สูตร 13-13-21 ครั้งที่ 3 หลังอายุผล 90 วัน ใช้สูตร 0-0-60 ส่วนอาหารเสริมแคลเซียมโบรอน สูตร 21-21-21 ฉีดพ่นทุก 7 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 7-15

สำหรับตลาด การจำหน่ายผลผลิตไม่มีปัญหา มีผู้สั่งจองทั้งเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยพะเยา เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในจังหวัดพะเยา แม่ค้าในตลาด พนักงานบริษัทรถยนต์ในกรุงเทพฯ ส่งทางรถทัวร์ พนักงานธนาคารจนผลผลิตไม่พอจำหน่าย เพราะคุณภาพขององุ่นที่นี่จะกรอบอร่อย ที่อื่นๆ อาจนิ่มและไม่กรอบเหมือนในสวนนี้

การปลูกองุ่นไร้เมล็ด ถือเป็นพืชที่แนะนำให้ผู้ที่เกษียณอายุสามารถทำเป็นสวนหลังบ้านสัก 10 ต้น เพราะไม่ต้องการดูแลมากมาย ทำงานในช่วงเช้าๆ พอสายหลัง 9 โมงก็พักผ่อนได้ การให้น้ำก็ใช้ระบบท่อ หรือระบบสปริงเกอร์หัวพ่นฝอยได้ ผลผลิตต้นหนึ่งไม่ต่ำกว่า 5 กิโลกรัม ราคาขายทั่วไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท แต่ที่สวนนี้ขายเพียง 180 บาทเท่านั้น

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือศึกษาดูงาน ติดต่อที่สวนองุ่นไร้เมล็ดบ้านแสนสุข เลขที่ 215 หมู่ที่ 2 บ้านห้วยเคียน ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา โทรศัพท์ 08-1783-4428

คุณจันทร์ เรืองเรรา อยู่บ้านเลขที่74/1 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองพันจันทร์ อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี 70180 โทรศัพท์ (089) 910-1254

เดิมเขาทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด และสับปะรด ลงทุนสูง เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตต้องพึ่งพิงราคาจากตลาด บางช่วงสินค้าทางการเกษตรที่ปลูกมีราคาตกต่ำ ทำให้ขาดทุนต้องกู้เงินจาก ธ.ก.ส. มาลงทุนมีหนี้สินกว่า 800,000 บาท จึงทบทวนการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวที่ผ่านมา และได้ศึกษาเรียนรู้จากผู้รู้และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ และน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เริ่มทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกข้าว ทำไร่อ้อย ไร่สับปะรด ปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงปลา และเลี้ยงกบ ปัจจุบัน คุณจันทร์มีพื้นที่เกษตรกรรมของตนเอง 10 ไร่ และของภรรยา 34 ไร่

รูปแบบกิจกรรมทางการเกษตร

คุณจันทร์ ทำเกษตรผสมผสาน ทั้งปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงและผลิตอาหารปลา ทำปุ๋ยหมักชีวภาพและสารไล่แมลงใช้เอง และร่วมฟื้นฟูป่าชุมชน คุณจันทร์มีความโดดเด่นเรื่องการปลูกสับปะรด และแปรรูปสับปะรด โดยมีรูปแบบการปลูกดังนี้ วางระบบน้ำในพื้นที่ปลูก วางแผนปลูกสับปะรดทุกเดือน โดยปลูกครั้งละ 1 ไร่ เพื่อให้ได้ผลผลิตทั้งปี มีการเตรียมดินก่อนปลูก เก็บตัวอย่างดินในพื้นที่ส่งไปตรวจที่กรมพัฒนาที่ดิน เพื่อตรวจสอบคุณภาพดินดำเนินการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยพืชสด ปอเทือง คุณจันทร์ปลูกสับปะรดโดยใช้พันธุ์จากที่ได้เก็บไว้เมื่อฤดูกาลปลูกที่ผ่านมา หลังจากปลูกสับปะรด ประมาณ 1-2 เดือน ฉีดพ่นให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพทางใบ ใช้สมุนไพรป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช น้ำหมักหน่อกล้วย เชื้อราบิวเวอเรีย และเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ป้องกันโรคต้นเน่า โคนเน่า และแมลง เมื่อปลูกครบ 14 เดือน จึงเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยใช้แรงงานคน เน้นจำหน่ายผลสดโดยจะมีแม่ค้ามาซื้อจากไร่ ส่วนผลที่มีขนาดเล็กจะนำไปแปรรูปเป็นสับปะรดกวน

คุณจันทร์ ใช้สมุนไพรป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชในแปลงผักปลอดสารพิษและแปลงสับปะรด โดยนำเมล็ดสะเดาป่น 1 กิโลกรัม บอระเพ็ด 1 กิโลกรัม ใบกะเพรา 1 กิโลกรัม สาบเสือ 1 กิโลกรัม และใบน้อยหน่า 1 กิโลกรัม มาสับเป็นชิ้นเล็กๆ โขลกให้ใบช้ำๆ แล้วนำไปแช่ในน้ำ 20 ลิตร คนให้เข้ากันให้น้ำเป็นสีข้น เมื่อต้องการใช้ประโยชน์ให้นำน้ำสมุนไพรหมัก จำนวน 5 ลิตร ผสมสารจับใบ 10 ช้อนแกง คนให้เข้ากัน ฉีดพ่นให้เป็นละอองไม่ให้เปียกโชกเกินไป สามารถไล่หนอนและแมลงในพืชตระกูลถั่วและชะอมได้ดี

บนแนวทางการทำกิจกรรมการเกษตรผสมผสานบนวิถีพอเพียงของคุณจันทร์ ได้เป็นต้นแบบและเป็นที่ยอมรับของชุมชน เกิดการสร้างกลุ่มผัก ผลไม้ ปลอดสารพิษในชุมชน ซึ่งแม่ค้าในชุมชนได้รับซื้อผลผลิตผัก ผลไม้ ปลอดสารพิษดังกล่าวไปจำหน่ายในตัวจังหวัดราชบุรี

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาปฏิบัติ

คุณจันทร์ ได้ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะใช้หลัก การมีภูมิคุ้มกัน ในตนเองต่อการรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก คุณจันทร์ได้ปลดภาระหนี้สินจำนวนมากภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี ด้วยการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของพืชทุกชนิดที่เพาะปลูก และบัญชีค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การทำบัญชีครัวเรือนทำให้เห็นถึงที่มาที่ไปของเงินก่อนจะนำมาวิเคราะห์ต้นทุนเพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การวางแผนการเพาะปลูกพืชหลากหลายชนิดทำให้ลดความเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตรที่ไม่แน่นอน มีพืชผักไว้บริโภคในครัวเรือนตลอดปี ส่วนที่เหลือสามารถจำหน่ายสร้างรายได้เพิ่ม รายจ่ายครัวเรือนลดลง และมีเงินเหลือเก็บ

คุณชูศักดิ์ หาดพรม คนเมืองน่าน เดิมทำอาชีพเกษตรกรรมโดยปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว รวมทั้งเป็นผู้รับซื้อข้าวโพดเพื่อขายต่อพ่อค้าคนกลาง รูปแบบการปลูกข้าวโพดสมัยนั้นจะใช้สารเคมี ยาฆ่าหญ้า และยาฆ่าแมลง ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง เมื่อประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและปัญหาภัยแล้ง จึงขาดทุนในที่สุด และก่อให้เกิดหนี้สินเป็นจำนวนมาก จึงตัดสินใจเลิกปลูกข้าวโพดหันมาดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยเริ่มคิดถึงการพึ่งพาตนเอง เลิกใช้สารเคมี ทำการอนุรักษ์ดิน

ไม่ไถหน้าดิน ปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน และไม่เผาทำลายวัชพืช แต่จะใช้เศษพืชและวัชพืชคลุมดินไว้เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น ปราบวัชพืชโดยวิธีการทางชีวภาพ คือการปลูกพืชแบบผสมผสาน การจัดสัดส่วนอย่างเหมาะสม เพื่อให้มีความสมดุล และเกิดประโยชน์สูงสุด คุณชูศักดิ์ ได้ใช้พื้นที่การเกษตรของตนเองเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ของเครือข่ายสภาผู้นำชุมชนในชื่อ “กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือก” โดยก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2535 มีสมาชิกประมาณ 10 คน และได้ขยายกลุ่มออกไปยังอำเภอต่างๆ จนมีสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ได้ก่อตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้บ้านแสงเทียน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจ

รูปแบบกิจกรรมทางการเกษตร

คุณชูศักดิ์ ดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรโดยมีความโดดเด่นเรื่องเกษตรผสมผสาน คุณชูศักดิ์ได้ปลูกไม้ผลที่หลากหลายพันธุ์ผสมผสานกันภายในแปลง ปลูกไม้หลากหลายชั้น เช่น ไม้ชั้นบน ชั้นกลาง และชั้นล่าง เป็นการสร้างประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งการป้องกันลม เป็นไม้ใช้สอยก่อสร้างบ้านเรือน และสร้างความสมดุลในระบบนิเวศ ไม้ผลที่ปลูก เช่น กระท้อน ลิ้นจี่ มะม่วง มะนาว ลำไย และได้ขุดบ่อน้ำเพื่อเลี้ยงปลา ซึ่งสามารถนำน้ำในบ่อไปใช้ในพื้นที่เกษตรได้เป็นอย่างดี คุณชูศักดิ์ ทำการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมีโดยใช้น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมัก เพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน ใช้ฮอร์โมนฉีดพ่น เพื่อเป็นการให้อาหารทางใบแก่ไม้ผล และใช้น้ำส้มควันไม้เพื่อฉีดพ่นขับไล่แมลงในสวนผลไม้ ซึ่งพบว่าได้ผลดี ไม่มีแมลงมารบกวน นอกจากนี้ คุณชูศักดิ์ได้เพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์ และผลิตอาหารสัตว์โดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ผลิตน้ำยาอเนกประสงค์ แปรรูปอาหารจากผลผลิตทางการเกษตรที่เหลือจากการจำหน่าย และปลูกพืชผักสวนครัวไว้รอบๆ ต้นมะนาว กิจกรรมเกษตรผสมผสานดังกล่าว สร้างรายได้ให้แก่คุณชูศักดิ์และครอบครัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาปฏิบัติ

คุณชูศักดิ์ได้ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะหลัก การมีภูมิคุ้มกัน คือ มีกิจกรรมทางการเกษตรที่หลากหลาย ทำให้ไม่มีความเสี่ยงต่อความแปรปรวนของราคาผลผลิต รวมทั้งมีการจัดการที่ดีในทุกๆ กิจกรรม เช่น การปลูกมะนาวที่ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากมีการจัดการน้ำที่ดี มีน้ำกักเก็บไว้เพียงพอตลอดทั้งปี ในกรณีที่มะนาวราคาตกต่ำหรือล้นตลาดสามารถนำผลผลิตทางการเกษตรอื่นไปจำหน่ายได้ ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองและครอบครัว

ทุกวันนี้ “สตรอเบอรี่” กลายเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่น่าจับตามองมากที่สุด เพราะเติบโตเร็วมาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน เกษตรกรเจ้าของสวนยางพาราหลายรายนิยมปลูก “สตรอเบอรี่” เป็นพืชเสริมรายได้ในสวนยาง เพราะสตรอเบอรี่เป็นไม้ผลยอดนิยมในท้องตลาด ขายได้ราคาดี ขายได้ทั้งผลสด ต้นพันธุ์ ฯลฯ เรียกว่ารับทรัพย์ได้เป็นกอบเป็นกำ

ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับ “คุณแต๋ง” ประภัสสร สายวรรณ์ และ “คุณเอส” อำไพร พลไตร สองสามีภรรยาเจ้าของ “สวนสตรอเบอร์รี่ สุขสมใจ” ซึ่งเป็นสวนสตรอเบอรี่แห่งแรกที่ปลูกกลางป่าสวนยางพาราของจังหวัดบึงกาฬ ทั้งคู่ยืนยันว่า ยอดขายสตรอเบอรี่เติบโตสูงมาก ทั้งตลาดผลสดและต้นพันธุ์ ยอดสั่งซื้อไม่ได้เฉพาะพื้นที่ภาคอีสานเท่านั้น แต่มาจากทั่วประเทศเลยทีเดียว

คุณแต๋ง เล่าให้ฟังว่า เธอเกิดและเติบโตในจังหวัดหนองบัวลำภู เรียนจบปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี หลังแต่งงานได้ย้ายถิ่นมาช่วยสามีดูแลกิจการสวนยาง เนื้อที่ 100 ไร่ ในพื้นที่อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ มีรายได้จากการทำสวนยาง ประมาณเดือนละ 30,000-40,000 บาท

เมื่อปี 2556 เกิดปัญหาราคายางตกต่ำ เธอจึงมองหาพืชตัวอื่นมาปลูกเสริมรายได้ในสวนยางพาราต้นเล็กอายุ 3 ปี เนื้อที่ 4 ไร่ บังเอิญเธอเคยช่วยแม่ปลูกสตรอเบอรี่ที่จังหวัดหนองบัวลำภูมาก่อน จึงนำไหลสตรอเบอรี่ จำนวน 23 ต้น มาปลูกกลางร่องสวนยางพารา เนื้อที่ 1 ไร่ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2557 โดยใช้วิธีไถพรวน พร้อมโรยปูนขาว และฉีดพ่นเชื้อไตโครเดอร์ม่ารองก้นหลุมก่อนปลูก หลังปลูกคอยดูแลถอนหญ้าตามปกติ

ต้นสตรอเบอรี่เริ่มให้ผลผลิตรุ่นแรกในเดือนมีนาคม 2557 เธอกล้าการันตีว่า สตรอเบอรี่ของเธอนี้มีรสชาติหวานฉ่ำที่สุดในประเทศไทย หลังจากทดลองให้หลายๆ คนทดลองชิมเปรียบเทียบรสชาติสตรอเบอรี่ที่ปลูกกลางร่องสวนยางพารากับสตรอเบอรี่ที่ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ ผลสตรอเบอรี่จากหนองบัวลำภู ทุกคนต่างยอมรับว่า สตรอเบอรี่ที่ปลูกในสวนยางพาราแห่งนี้มีรสชาติหวานฉ่ำกว่าที่อื่นจริงๆ

พีทมอสส์…ตัวช่วยเพิ่มรสอร่อย

หลายคนคงสงสัยว่า เคล็ดลับความอร่อยอยู่ตรงไหน เธอให้คำตอบว่า เพราะดินในสวนยางพารามีตัวช่วยสำคัญคือ “พีทมอสส์” นั่นเอง “พีทมอสส์” เป็นพืชสีเขียวชนิดหนึ่งที่เติบโตปกคลุมผิวดินในช่วงฤดูฝน หากสวนยางพาราแห่งไหนมีพีทมอสส์ในแปลงปลูก ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเยอะ เพราะพีทมอสส์เปรียบเสมือนปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพอยู่แล้ว

เธอเล่าว่า สมัครจีคลับ พื้นที่ปลูกยางพาราส่วนใหญ่ของครอบครัวตั้งอยู่ในพื้นที่สูง ส่วนแปลงสวนยางพาราที่ใช้ปลูกสตรอเบอรี่แห่งนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ สภาพดินชุ่มน้ำ เคยใช้ปลูกข้าวมาก่อนจะปรับมาเป็นสวนยางพาราจนถึงทุกวันนี้ เวลาฝนตก จะชะล้างหน้าดินที่มีพีทมอสส์จากแปลงสวนยางที่อยู่ด้านบนลงมาด้วย เท่ากับเติมปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพให้กับพื้นที่ปลูกสตรอเบอรี่อยู่ตลอดเวลา ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดี รสชาติอร่อยโดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมีแต่อย่างใด หลังจากทดลองปลูกสตรอเบอรี่รุ่นแรกประสบความสำเร็จ ทำให้เธอเกิดกำลังใจที่จะลงทุนขยายพื้นที่ปลูกสตรอเบอรี่ 1,000 ต้น ภายในเดือนมีนาคม 2557 และปลูกเพิ่มเป็น 5,000 ต้น ในเวลาต่อมา

เมื่อ 3 ปีก่อน เธอเริ่มต้นทำสวนสตรอเบอรี่เล็กๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมในสวนยาง แต่ ณ วันนี้ “สตรอเบอรี่” กลับกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว เมื่อปีที่แล้ว หลังหักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือผลกำไรก้อนโตจากสวนสตรอเบอรี่ถึง 300,000 บาท

“ทุกวันนี้ ครอบครัวเรามีรายได้จากสวนสตรอเบอรี่ตลอดทั้งปี ยอดขายต่ำสุด เฉลี่ยเดือนละ 30,000 บาท ช่วงขายดี เคยทำรายได้สูงสุดถึงเดือนละ 130,000 บาท ก็เคยเจอมาแล้ว (เดือนมกราคม 2560) ขณะที่ “สวนยาง” กลายเป็นรายได้เสริมของครอบครัวไปเสียแล้ว” คุณแต๋ง กล่าว

ผลกำไรก้อนโต จาก “สตรอเบอรี่”

“สตรอเบอรี่” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้สูง ถึง 5 ช่องทาง คือ “ผลสตรอเบอรี่สด” ขายได้ราคากิโลกรัมละ 300-500 บาท ผลผลิตตกเกรดจะถูกนำไปแปรรูปเป็น “น้ำสตรอเบอรี่ และแยมสตรอเบอรี่” ออกจำหน่าย ส่วน “ไหลสตรอเบอรี่” ขายต้นละ 10 บาท “ต้นสตรอเบอรี่ที่กำลังผลิดอกออกผล” ขายต้นละ 150 บาท ส่วน สตรอเบอรี่ต้นอ่อน ที่ยังไม่มีผลผลิต ขายต้นละ 50 บาท