ข้อมูลเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการมีฟอสฟอรัสและแคลเซียมสูง

อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร ให้วิตามินและเกลือแร่ มีสารต้านอนุมูลอิสระและแคลอรีต่ำ ใน 100 กรัม มีแร่ธาตุสำคัญหลายชนิด ดังนี้ มีพลังงาน 25 กิโลแคลอรี โปรตีน 4.6 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3 กรัม ไขมัน 0.4 กรัม แคลเซียม 40 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 80 มิลลิกรัม เหล็ก 2 มิลลิกรัม วิตามินเอ OIU. วิตามินบี1 0.8 มิลลิกรัม และวิตามินซี 50 มิลลิกรัม (ที่มาบรรณานุกรม Renny Sukmawani, Ema Hilma Meilani และ Asep M Ramdan2 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัย Muhammadiyah แห่ง Sukabumi ประเทศอินโดนีเซีย

คุณค่าทางด้านสมุนไพร

ราก ช่วยแก้ปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นยาขับปัสสาวะ ยาชูกำลังและยาโป๊ว รากยังมีความสามารถในการควบคุมและกระตุ้นอาการอาหารไม่ย่อย อาการแสบร้อน และความอ่อนแอทางเพศได้

ลำต้น นำมาต้มแก้ร้อนใน ลดไข้ มีสรรพคุณเป็นยาเย็น คล้ายๆ กับลำต้นอ้อยทั่วไป ถึงแม้ว่าลำต้นจะเล็กกว่าต้นอ้อย แต่ถ้าบำรุงให้ดีลำต้นก็จะมีขนาดใหญ่เกือบเท่าต้นอ้อย

ใบ นำไปเป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย แพะ ได้ ต้นอ้อยไข่ ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ลักษณะใบเหมือนต้นอ้อ ต้นแขมบ้านเรา หรือเหมือนหญ้าบางชนิดที่ใช้เลี้ยงสัตว์ เพราะต้นอ้อยไข่มาจากตระกูลหญ้าเช่นกัน

คุณอำไพ กล่าวว่า ได้ปลูกต้นอ้อยไข่และแนะนำให้เกษตรกรนำไปปลูกกัน ตอนนี้มีเกษตรกรสนใจมากเพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะอ้อยไข่ปลูกง่ายเหมือนอ้อย แต่ก็มีเคล็ดลับการปลูกนิดหน่อยที่จะทำให้อ้อยโตเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมีปลูกแบบเกษตรธรรมชาตินี่แหละ ตอนแรกลองผิดลองถูกก็ตายไปหลายต้น แต่พอศึกษาธรรมชาติของอ้อยไข่แล้ว เดี๋ยวนี้ก็เต็มสวนเลยคะ มีอ้อยไข่ปลูกไว้ที่บ้านเหมือนเรามีผักเพิ่มในเมนูอาหารในครัวเรือนที่อร่อยอีกอย่างหนึ่ง ที่มีให้เรารับประทานทุกฤดูกาล เพราะอ้อยไข่จะให้ดอกตลอดปี มีไว้สักสามสี่กอก็คุ้ม ทำให้มีผักเพิ่มขึ้นอีกชนิดหนึ่งที่นำไปประกอบอาหารได้ทั้งผัดและแกง

อ้อยไข่ นอกจากปลูกง่ายแล้ว เรื่องของโรคพืชแทบจะไม่มี นอกจากว่าบำรุงด้วยปุ๋ยคอกเพื่อให้ได้ขนาดลำต้นอ้อยมีขนาดใหญ่ก็จะได้ดอกที่มีขนาดใหญ่ได้

การปลูกก็ไม่ยาก ท่านที่มีพื้นที่น้อยก็ปลูกหน้าบ้าน หลังบ้านได้ เป็นทั้งไม้ประดับสวนได้ เพราะอ้อยไข่จะขึ้นเป็นกอ อยู่ที่เราตัดแต่งกิ่ง ใช้ข้ออ้อยไข่ตัดเป็นท่อนเลือกข้ออ้อยที่มีตาหรือรากติดอยู่ นำไปปักชำได้เลย รดน้ำบำรุงด้วยปุ๋ยคอก ก็จะแตกใบอ่อน ประมาณ 3 เดือน ก็เริ่มให้ดอกแล้ว ถ้าตัดดอกออกแล้ว สามารถนำโคนต้นที่มีรากไปเพาะหรือปักชำขยายพันธุ์ต่อเพื่อให้เกิดต้นใหม่ต่อไป และสามารถควบคุมความสูงได้โดยการตัดให้สั้น หลังจากตัดยอดเพื่อนำดอกออกมาแล้วก็ตอนได้ นำท่อนอ้อยมาเพาะในถุงสัก 2 สัปดาห์ ก็งอกรากและแตกใบสัก 2 ใบ ก็นำไปปลูกได้เลย

คุณอำไพ ได้ปลูกอ้อยไข่โดยยกแปลงทำเหมือนปลูกผัก ในเดือนกรกฎาคมอ้อยไข่เริ่มตั้งท้องหรือเริ่มที่จะมีดอกตูมขึ้นมา ประมาณปลายเดือนสิงหาคมก็เก็บผลผลิตได้ โดยสังเกตจากปลีดอกมีขนาดใหญ่ จะมีเปลือกหุ้มคล้ายข้าวโพดอ่อน ก็เก็บได้เลย แล้วนำมาแกะเปลือกหุ้มออก คล้ายๆ กับข้าวโพด ก็จะเห็นปลีอ้อยไข่ สีเหลืองไข่ไก่อ่อนๆ นำมาประกอบอาหารได้ แต่ถ้าจะนำไปย่างไฟ ก็แนะนำให้ย่างทั้งเปลือก แล้วแกะด้านในออกก็จะได้รสชาติอร่อยอีกแบบหนึ่งที่คล้ายกับกลิ่นนมอ่อนๆ

เป็นที่ทราบกันดีว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยวมีความเสี่ยงสูง ปัจจุบันเกษตรกรจำนวนไม่น้อยจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นเกษตรผสมผสาน พร้อมๆ กับเลี้ยงสัตว์ด้วย เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี ย้อนกลับไปก่อนปี 2552 คุณพิชิต ศิริเมือง อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลสะอาดไชยศรี อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ก็เหมือนเกษตรกรทั่วไปในตำบลสะอาดไชยศรี ที่ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และทำนา จนเมื่อได้ไปศึกษาดูงานได้รู้ได้เห็นและเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงนำมาปฏิบัติในพื้นที่ทำกินของตัวเองจำนวน 19 ไร่ ที่ตำบลสะอาดไชยศรี โดยแบ่งที่ทำกิน เป็นที่นา 5 ไร่ และทำประมง 2 ไร่ นอกนั้นปลูกพืชแบบผสมผสาน และได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง กระทั่งได้รับคัดเลือกเป็นแปลงต้นแบบโครงการ 1 ไร่ 1 แสน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดกาฬสินธุ์ ในโครงการกาฬสินธุ์ คนดี สุขภาพดี รายได้ดี ปี 2557

คุณพิชิต เล่าให้ฟังว่า ได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของตำบลสะอาดไชยศรี เมื่อปี 2552 ตอนนี้มีรายได้วันละ 300-600 บาท ไม่รวมรายได้เป็นเดือนและรายปี ซึ่งล้วนมาจากผลผลิตในศูนย์ ทั้งจากการทำประมง คือเลี้ยงปลานิล ปลาดุก เลี้ยงกบ และเลี้ยงหนูนา และมีรายได้จากการทำสวน ที่ปลูกทั้งกล้วยน้ำว้า ต้นผักหวานป่า 150 ต้น และเพาะพันธุ์กล้าไม้ขาย นอกจากนั้น ยังปลูกน้อยหน่าหนัง 500 ต้น ขายกิโลกรัมละ 20 บาท โดยขายให้กับคนในท้องถิ่น รวมถึงผู้มาอบรมที่ศูนย์ ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ

พืชผักผลไม้ในสวนแห่งนี้ใช้ปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยหมักที่เขาทำขึ้นเอง พร้อมกันนั้นยังมีรายได้จากการเพาะเห็ด ทั้งเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า และเห็ดขอนขาว โดยมีลูกสาว คุณอรพิน ศิริเมือง ซึ่งเรียนจบ ปวช. เป็นกำลังสำคัญ รวมๆ แล้วสองคนพ่อลูกนี้มีรายได้จากศูนย์เดือนละหมื่นกว่าบาท

ใครไปที่ศูนย์จะเห็นพืชผักผลไม้นานาชนิด และที่ผู้คนสนใจก็เห็นจะเป็นหนูนา ซึ่งคุณพิชิตบอกว่า ขายได้กิโลกรัมละ 200 บาท หากเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ขายตัวละ 200 บาท จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน เช่นเดียวกับเห็ดฟางที่ขายได้กิโลกรัมละ 60 บาท

ในการปลูกต้นน้อยหน่านั้น คุณพิชิตให้ข้อมูลว่า ปลูกมา 3 ปีแล้ว ปีหน้าน่าจะได้ผลผลิตมากขึ้น ซึ่งตนเองได้บำรุง โดยให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เป็นปุ๋ยหมักที่ทำจากหอยเชอรี่ ใส่ตอนต้นฝนและปลายฝน เริ่มใส่เดือนกันยายนเป็นช่วงต้นฝน เพื่อให้ลำต้นแข็งแรง เจริญเติบโตเลี้ยงลูกได้

พร้อมกันนั้นยังได้ผลิตจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงไว้ใช้เองด้วย เพื่อช่วยให้เร่งใบ ให้พืชเจริญเติบโตได้ดี การทำก็ไม่ยาก ส่วนผสมมีไข่ไก่ 3 ฟอง ชูรส 1 ช้อนโต๊ะ น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากันแล้วใส่ในขวดที่มีน้ำ 1.5 ลิตร เขย่าทุกวันและนำไปตากแดด พอ 4-5 วันจะเริ่มเป็นสีชมพูอ่อนๆ ทิ้งไว้ 15 วันใช้ฉีดได้เลย ถ้าทำไม่ได้ตามสูตรจะออกเป็นสีน้ำตาล ฉีด 1 ลิตร ใส่น้ำ 20 ลิตร ต้องฉีดช่วงที่มีแดดอ่อนๆ ในตอนเช้าและเย็น

ต้นไม้ชนิดใหม่ล่าสุดที่อดีตผู้ใหญ่บ้านท่านนี้นำมาปลูกคือ “โกโก้” เนื่องจากมีบริษัทมารับซื้อและรับประกันราคา คุณพิชัยแจกแจงว่า ตนเองเป็นตัวแทนของบริษัทแห่งหนึ่งที่ส่งเสริมการปลูกโกโก้ด้วย ในศูนย์แห่งนี้เพิ่งเริ่มปลูกโกโก้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปลูกแล้ว 200 ต้น และจะปลูกให้ได้ 600 ต้น จากการไปดูงานมาหลายที่ เวลานี้ปลูกต้นโกโก้กันหลายจังหวัด ทั้งที่ชัยภูมิ อุดรธานี กำแพงเพชร เป็นพืชที่ได้ผลผลิตเร็วแค่ 3 ปีก็เก็บผลได้แล้ว มีโรงงานรับซื้อกิโลกรัมละ 10 บาท แต่ทางบริษัทจะประกันราคาให้กิโลกรัมละ 5 บาท หากมีปัญหาราคาตกต่ำ

การปลูกโกโก้ บำรุงรักษาเหมือนไม้ผลทั่วๆ ไป ดูแลง่าย ระยะปลูก 4 คูณ 4 เมตร ไร่หนึ่งปลูกได้ 100 ต้น 3 ปีเก็บผลิตได้เลย 1 ต้นให้ผลผลิตประมาณ 40 กิโลกรัม

ขั้นตอนเพาะเห็ดให้ได้ผลผลิตดี

อดีตผู้ใหญ่บ้านรายนี้แจกแจงขั้นตอนการเพาะเห็ดให้ฟังว่า เพาะเห็ดฟาง เห็ดขอนขาว และเห็ดนางฟ้า ซึ่งจะมีพ่อค้ามารับซื้อ เห็ดฟางและเห็ดนางฟ้ากิโลกรัมละ 60-65 บาท ส่วนเห็ดขอนขาวกิโลกรัมละ 80-90 บาท และยังขายปลีกให้ชาวบ้านในย่านนี้ด้วย ซึ่งแต่ละฤดูจะให้ผลผลิตที่แตกต่างกัน อย่างช่วงหน้าหนาว เห็ดฟางจะไม่ค่อยออก เพราะไม่ชอบอากาศเย็น ขณะที่เห็ดนางฟ้าชอบอากาศหนาว และจะออกดอกดี ซึ่งถ้าเป็นหน้าร้อนจะเพาะเห็ดขอนขาว

ในบรรดาเห็ด 3 ชนิดนี้ คุณพิชิตระบุว่า เห็ดฟางทำยากสุด เพราะในพื้นดินมีสารเคมีหรือปลวกกินบ้าง ไม่ได้คุณภาพ จึงทำเป็นเห็ดคอนโดฯ ที่มี 9 ชั้น และต้องมีเตาอบไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรค ที่ผ่านมาทำแล้วได้ผลดี มีกำไรรอบละ 3,000 บาท อีกทั้งต้นทุนต่ำ เนื่องจากทำครบวงจร เริ่มตั้งแต่วัสดุที่ใช้เพาะทำเอง โดยนำฟางข้าว เปลือกมัน รำข้าว กากน้ำตาล ผสมกันหมักไว้ 5-6 วันเพื่อให้เกิดเชื้อจุลินทรีย์ จากนั้นอบไอน้ำ 60 องศา 3 ชั่วโมง รุ่งเช้ามาเปิด แล้วโรยเชื้อก่อนนำไปขึ้นชั้น โดยในช่วง 21 วัน จะได้ผลผลิต 170-200 กิโลกรัม ต่อรอบ

ซึ่งจะมีพ่อค้ามารับซื้อ ถ้าเห็ดเป็นดอกตูมสวยจะไว้ขายส่ง ส่วนเห็ดออกดอกหัวแตกไม่สวย ไว้ขายในละแวกบ้าน ขณะที่ต้นทุนประมาณ 2,500 บาท คุณพิชิตอธิบายขั้นตอนการทำเห็ดฟางในโรงเรือนว่า การทำก้อนเชื้อ วัสดุที่ใช้มี 1. เปลือกมันล้าง 2. รำข้าว 60 กิโลกรัม 3. ขี้วัวแห้ง 4. ปูนขาว 5. ยิปซัม 6. กากน้ำตาล 7. EM หรือน้ำหมักชีวภาพ 8. ฟางข้าว หมักเปลือกมันล้าง ฟางข้าว รำ 30 กิโลกรัม ยิปซัม ปูนขาว ขี้วัวแห้ง 8 กระสอบ ผสมให้เข้ากัน รดด้วยน้ำผสมกากน้ำตาล และ EM หมักในบ่อหมักคลุมด้วยพลาสติก 5-7 วัน

หลังจากผ่านกระบวนการหมัก นำวัสดุที่หมักแล้วขึ้นชั้น นำรำข้าว 30 กิโลกรัม ผสมกับขี้วัวแห้ง 2 กระสอบ โรยบนวัสดุหมักอีกชั้น ปิดพลาสติกด้านในให้มิดชิด ทำการอบไอน้ำด้วยอุณหภูมิ 60 องศา เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ในตอนเช้าของวันถัดมา เปิดพลาสติกเพื่อระบายความร้อน ประมาณ 1 ชั่วโมง นำก้อนเชื้อเห็ดฟางมาขยี้ ผสมกับแป้งข้าวเหนียวเล็กน้อย รดน้ำวัสดุบนชั้น เพื่อระบายความร้อน นำเชื้อเห็ดโรยให้เต็ม ปิดโรงเรือนให้มิดชิด ทิ้งไว้อีก 5 วัน หลังจาก 5 วันแล้ว เปิดโรงเพื่อตัดใย

ช่วงนี้ค่อนข้างอันตรายมาก เพราะหลังจากผ่านมา 5 วัน ภายในโรงเรือนจะเกิดก๊าชแอมโมเนีย อาจทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตได้ ต้องเปิดโรงเรือนทิ้งไว้ก่อน 1 ชั่วโมง ค่อยเข้าไป เปิดช่องอากาศด้านบน 8 ช่อง ด้านหน้าฝั่งละ 2 ช่อง หลังจากนั้นจึงตัดใยเห็ด ลักษณะใยเห็ดจะเป็นปุยสีขาวขึ้นเต็มชั้น การตัดคือการใช้น้ำฉีดเป็นฝอย แต่มีความแรง เพื่อให้เส้นใยขาด

จากนั้นปิดโรงเรือน เปิดอากาศด้านล่างเล็กน้อย ประมาณ 3 วัน ใยเห็ดจะเริ่มจับตัวกันเป็นดอกเห็ด

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มหมักจนเริ่มเห็นดอกประมาณ 15 วัน ระยะเก็บอีกประมาณ 15 วัน จะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 170-200 กิโลกรัม ส่วนราคาขายขึ้นอยู่กับช่วงฤดู ถ้าหน้าหนาวจะแพงขึ้นมาหน่อย ปกติจะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 60-65 บาท ส่วนเทคนิคของที่ศูนย์นี้จะใช้เศษเห็ดหรือตีนเห็ดมาหมักเป็นจุลินทรีย์ เพื่อนำกลับมาใช้ ในขั้นตอนการหมักหรือฉีดพ่นตอนตัดใบ

วิธีเพาะเมล็ดผักหวานป่า

สำหรับการปลูกผักหวานป่า คุณพิชิตแจกแจงว่า เริ่มจากการเพาะเมล็ดก่อน การดูเมล็ดแก่จะมีลักษณะลูกรีๆ เล็กๆ คล้ายมะปรางแต่ลูกเล็กกว่า จากนั้นบีบเพื่อนำเนื้อออกขัดด้วยทรายจนเหลือแต่แก่นเมล็ดข้างใน ต้องขัดเนื้อให้หมด ถ้าขัดไม่หมดจะเกิดราก่อนจะงอก จะเพาะใส่ถุงหรือใส่กะละมังก็ได้

ดินที่ใช้เพาะจะเป็นดินทรายผสมแกลบดำ นำเมล็ดตะแคงฝังในดินครึ่งเดียวประมาณ 1 สัปดาห์จะเริ่มงอก อายุ 45 วันขึ้นไป เริ่มนำไปปลูกได้เลย

ผักหวานตอนต้นเล็กๆ ต้องการร่มเงา จึงต้องมีไม้พี่เลี้ยง เช่น ต้นกล้วย ตะขบ น้อยหน่า ลำไย แต่ไม่ควรปลูกใกล้ยางพารา ผักหวานต้องการน้ำไม่มากให้สัปดาห์ละ 2 ครั้งก็พอ เมื่ออายุปีครึ่งขึ้น ต้นผักหวานป่าจะสามารถหาน้ำได้เองเหมือนต้นไม้ทั่วไป ผักหวานไม่ชอบปุ๋ยเคมี จะใส่แต่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักเท่านั้น ผลผลิตจะเริ่มออกตอนปลายฝนไปจนตลอดฤดูหนาว ถ้าอยากให้ออกก่อนฤดู ใช้วิธีรูดใบแก่ออกเพื่อเร่งให้ผักหวานออกยอดเร็วขึ้น ซึ่งยอดผักหวานป่าขายกิโลกรัมละ 200 บาท

เทคนิคการเลี้ยงหนูนา

ในส่วนการเลี้ยงหนูนา คุณพิชิตให้รายละเอียดว่า ต้องหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก่อน ตอนแรกชาวบ้านแถวนั้นเอามาขายให้เป็นตัวเมีย ซึ่งกำลังท้อง พอมันออกลูก 7 ตัว ด้วยความตื่นเต้นจึงเปิดดูทั้งวัน ไม่นานลูกหนูก็ค่อยๆ หายไปจนไม่เหลือ จึงเริ่มศึกษาและได้รู้ว่าหนูที่นำมาเลี้ยงเป็นหนูป่า ยังไม่เชื่อว่า การที่ไปเปิดดูบ่อยๆ ด้วยสัญชาตญาณแม่หนูจะกินลูกตัวเองจนหมด

จากนั้นเริ่มเลี้ยงใหม่ตอนแรกเลี้ยงในวงบ่อก่อน นำบ่อกลมๆ มาตั้งซ้อนกัน 2 บ่อ เทพื้นปูน ใส่แกลบ ปล่อยหนูพ่อแม่พันธุ์ บ่อหนึ่งปล่อยตัวเมีย 2 ตัว ตัวผู้ 1 ตัว พ่อแม่พันธุ์อายุ 4 เดือนขึ้นไป คอยสังเกตตัวเมีย ถ้าตัวไหนท้องเต้านมจะเริ่มเป็นเม็ดใสๆ เหมือนเม็ดข้าวสาร ต้องแยกออกเลี้ยงเดี่ยว หนูนาที่ใกล้คลอดจะไม่ค่อยกินอาหารและค่อนข้างดุ จึงไม่ควรยุ่งกับมันมาก มันจะทำรังและเตรียมออกลูก ชอบอยู่แบบเงียบๆ ในระยะลูกอ่อนก็ไม่ควรไปยุ่งกับมัน แค่ให้น้ำให้อาหารก็พอ

ลูกหนูในระยะเดือนแรกจะกินแต่นม จากนั้นแม่หนูจะฝึกให้กินอาหาร พอ 2 เดือนก็จับแยกลงบ่อใหญ่เลี้ยงรวมกับตัวอื่น ตัวแม่ก็นำไปผสมพันธุ์ต่อไป หนูนาจะไม่ค่อยกัดกัน เป็นสัตว์สังคมชอบอยู่รวมกันหลายๆ ตัว อาหารของหนูนาส่วนมากเป็นอาหารธรรมชาติ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง หญ้าต่างๆ รำข้าว ปลายข้าว ผักสวนครัวต่างๆ

การเลี้ยงหนูนาลงทุนก็ไม่เยอะ พ่อแม่พันธุ์ราคาแล้วแต่พื้นที่ ถ้าแถวกาฬสินธุ์ประมาณคู่ละ 500-600 บาท ต้นทุนในการทำบ่อเลี้ยงเริ่มต้นไม่ถึง 2,000 บาท ส่วนราคาหนูหนุ่มตัวหนึ่ง 200-300 บาทแล้วแต่ขนาด หนูนาไม่ค่อยล้นตลาดเพราะคนอีสานนิยมรับประทานเนื้อหนูนา ส่วนหนึ่งเพราะหนูนาตามธรรมชาติหายาก อาจเป็นเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ยาฆ่าแมลงกันเยอะ หนูนานอกจากจะเพื่อขายไว้รับประทานแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์หนูนาไว้ด้วย

วันนี้นอกจากจะมีผู้คนจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานในศูนย์นี้แล้ว คุณพิชิตซึ่งรับหน้าที่เป็นหมอดินอาสาด้วย ยังเดินสายไปเป็นวิทยากรในงานต่างๆ เรียกว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้จนประสบความสำเร็จ และยังได้แบ่งปันความรู้ให้กับผู้คนในสังคมด้วย เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

“มูซานคิง” (Musang King) หรือ “มูซังคิง” บางทีก็เรียก ทุเรียนเหมาซานหวาง หรือ เหมาซานหว่อง คือ ทุเรียนสายพันธุ์ดีของมาเลเซีย ที่คนรักทุเรียนต้องลองชิม เพราะมีรสอร่อยมาก เนื้อแห้งสีเหลืองเข้มไม่มีเส้นใย เม็ดลีบ มีกลิ่นหอม รสสัมผัสนุ่ม เหนียวเนียน รสชาติหวานมัน อร่อยครบเครื่อง ทำให้ทุเรียนมูซังคิงได้รับความนิยมบริโภคสูงสุดในประเทศมาเลเซีย จีน ไต้หวัน ฯลฯ

ปลูกมูซังคิง แหล่งแรกในไทย

พื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน “มาเลเซีย” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของทุเรียนมูซังคิง อำเภอเบตง มีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขา สภาพอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิต่ำ ใกล้เคียงกับสภาพภูมิประเทศของมาเลเซีย จึงเอื้อต่อการเจริญเติบโตของทุเรียนมูซังคิง กลายเป็นปลูกทุเรียนมูซังคิงแหล่งแรกในประเทศไทย

คุณโอ หรือ นายศักดิ์ศรี สง่าราศรี freeshopmanual.com เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ของอำเภอเบตง และเป็นเจ้าของ สวนศักดิ์ศรี ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นหนึ่งในเกษตรกรรุ่นแรกๆ ของอำเภอเบตงที่ปลูกทุเรียนมูซังคิง เดิมทีครอบครัวคุณโอทำสวนยางพารา และทำสวนส้มเป็นอาชีพหลัก ต่อมาสวนส้มประสบปัญหาโรคระบาด ช่วงเวลาดังกล่าว คุณพ่อของคุณโอรู้ข่าวว่า มูซังคิงซึ่งเป็นพันธุ์ดีของมาเลเซีย ขายได้ราคาดีมากถึงกิโลกรัมละ 500 บาท สร้างแรงจูงใจให้รื้อแปลงส้มทิ้งทั้งหมดแล้วหันมาปลูกทุเรียนมูซังคิง บนเนื้อที่ 8 ไร่ ตั้งแต่เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน สวนแห่งนี้นับเป็นแปลงทุเรียนมูซังคิงใหญ่ที่สุดในอำเภอเบตงที่ให้ผลผลิตแล้ว

การปลูกทุเรียนมูซังคิง ของ สวนศักดิ์ศรี เริ่มจากปลูกทุเรียนพื้นบ้านไว้เป็นต้นตอ เมื่ออายุได้ 1 ปี จึงนำยอดทุเรียนมูซังคิงมาเสียบ ระยะปลูก 8×9 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกทุเรียนมูซังคิงได้ 25 ต้น เนื่องจากพื้นที่อำเภอเบตง มีสภาพภูมิอากาศดี มีฝนตกต่อเนื่องตลอดทั้งปี จำเป็นต้องลงทุนเรื่องระบบน้ำ แต่ระยะหลังอำเภอเบตงได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจึงต้องใช้แรงคนมาดูแลรดน้ำแปลงปลูกทุเรียนบ้างในช่วงที่สภาพอากาศแล้ง

คุณโอ ดูแลสวนแบบเกษตรปลอดสารพิษ หลังหมดฤดูเก็บเกี่ยว จะตัดหญ้าตามโคนต้นทุเรียนก่อนจึงค่อยใส่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีสูตรเสมอในแปลงปลูกต้นทุเรียนมูซังคิง ทุกๆ 2 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ช่วงที่ดอกทุเรียนเริ่มบานพร้อมให้ธาตุอาหารเสริมประเภท แมกนีเซียม โบรอน บำรุงต้น

คุณโอ ใส่ใจบริหารจัดการเพื่อให้ดอกทุเรียนติดอยู่ได้นานเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีทั้งปริมาณและคุณภาพ หลังดอกบาน 100-110 วัน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตออกไปขายได้ โดยตัดทุเรียนที่ความสุกแก่ 85% ขึ้นไป ผลทุเรียนมูซังคิงมีขนาดใกล้เคียงกับทุเรียนพวงมณีของไทย น้ำหนักเฉลี่ยประมาณกิโลกรัมต่อลูก หากบำรุงดีจะได้ผลขนาดใหญ่ น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 3-4 กิโลกรัม ต่อลูก

ทุเรียนมูซังคิง ของสวนศักดิ์ศรี มีเอกลักษณ์ประจำสายพันธุ์ชัดเจน คือบริเวณก้นผลมีลักษณะรูปดาว 5 แฉก เปลือกบาง เมล็ดเล็ก ลีบ บาง เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียดเนียน รสชาติมัน หวานแหลม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และมีรสชาติอร่อยมาก ทั้งนี้ ทุเรียนมูซังคิง จัดอยู่ในกลุ่มทุเรียนพันธุ์เบา

ปัจจุบัน คุณโอมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 25 ไร่ แบ่งเป็นทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้ว 4 ไร่ ทุเรียนที่ยังไม่ให้ผลผลิต 16 ไร่ บ่อน้ำ 2 ไร่ และแปลงเพาะกล้า 3 ไร่ โดยจำหน่ายผลผลิตผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ส่งถึงมือผู้บริโภคในราคากิโลกรัมละ 650 บาท ผลผลิตบางส่วนส่งขายห้างสรรพสินค้าชั้นนำ รวมไปถึงจำหน่ายกล้าพันธุ์มูซังคิง ในราคาต้นละ 100 บาท

ทุกวันนี้ สวนศักดิ์ศรี นอกจากเป็นแหล่งผลิตสินค้าปลอดภัยได้รับมาตรฐานการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมไปใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่แล้ว ยังได้ต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกด้วย ใครสนใจอยากสั่งซื้อสินค้าติดต่อได้ที่ สวนศักดิ์ศรี เลขที่ 113/2 หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา หรือ เฟซบุ๊ก “มูซานคิงส์ ทุเรียนเบตง สวนศักดิ์ศรี”