ข้าวแคบ หรือข้าวเกรียบของอำเภอลับแลมี 2 ชนิด คือ ชนิดหนึ่ง

ทำจากแป้งข้าวเจ้า จะเป็นแผ่นบางๆ รสจืด มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 นิ้ว อีกชนิดหนึ่งทำจากแป้งข้าวเหนียวเป็นแผ่นหนากว่า แป้งข้าวเจ้าแต่รสเค็มและมีขนาดเล็กกว่า มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้ว ปัจจุบัน ผู้ทำข้าวแคบบางคนอาจปรุงรส เผ็ด เค็ม เปรี้ยว หรือ หวานเล็กน้อย ลงไปก่อนที่จะทำให้สุกเป็นแผ่น

หมี่พัน อีกหนึ่งอร่อยแต่เรียบง่ายของชาวลับแล คือ การนำเอาแผ่นข้าวแคบมาม้วนห่อเส้นหมี่ที่ลวกและปรุงรสด้วยน้ำมันกระเทียมเจียว น้ำปลา น้ำมะนาว พริกป่น และซอสมะเขือเทศ เป็นแท่งยาว หากไม่นำข้าวแคบมาห่อก็จะเรียกว่า “หมี่คุก” ก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน สำหรับเส้นที่นิยมนำมาทำหมี่คุกนั้น ใช้ได้ทุกเส้นตามแต่ลูกค้าสั่ง ไม่ว่าจะเป็นเส้นหมี่ขาวเส้นเล็ก เส้นใหญ่ หรือบะหมี่ แต่ที่นิยมมากที่สุดคือ หมี่ขาว

คุณสมัย อินคำ ประธานกลุ่มข้าวพันผักภูมิลับแล เล่าว่า ข้าวพันผัก มีมาตั้งแต่รุ่นปู่ ยา ตา ยาย เป็นอาหารหลักของชาวลับแล และรับประทานได้ทุกเพศทุกวัย และปัจจุบัน กลุ่มข้าวพันผักภูมิลับแลได้มีการประยุกต์สูตรข้าวพันผักออกมาอีกหลายสูตร เพื่อเอาใจลูกค้า อาทิ ข้าวพันไข่ตี ข้าวพันผักก๋วยเตี๋ยวอบ ข้าวพันผักไข่ดาว ข้าวพันผักเจ และอีกหลากหลายเมนู

ทั้งนี้ กลุ่มข้าวพันผักภูมิลับแล ได้รับการสนับสนุนจากสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานเกษตรอำเภอ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในการให้ความรู้เป็นพี่เลี้ยง จัดประชุม และจัดอบรม เพื่อให้กลุ่มข้าวพันผักภูมิลับแล มีความเข็งแข็งขึ้น

หากท่านใด สนใจผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว อร่อย สะอาด ถูกหลักอนามัย ติดต่อสอบถามได้ที่คุณสมัย อินคำ ประธานกลุ่มข้าวพันผักภูมิลับแล เลขที่ 7/6 หมู่ที่ 2 ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ 53130 หรือ 08-7572-2036 หรือติดต่อ สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด 0-5543-1032 หรือ คุณสุกัญญา แก้วเปี้ย โทร.08-9707-5484

“ปักดำวันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ” ที่บ้านหนองไม้หอม หมู่ที่ 5 ตำบลช้างทูน อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เป็นกิจกรรมที่จัดร่วมกันระหว่างชุมชน หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น โรงเรียนวัดช้างทูน-คณะครู-นักเรียนและผู้ปกครอง และ อบต.ช้างทูน ที่จัดขึ้นมาเป็นประจำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลทำนาประจำปี โดย คุณสมชาย เปรื่องเวช ประธานศูนย์นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านช้างทูนและปราชญ์ชาวบ้าน ได้แบ่งที่นา 2 ไร่ ให้นักเรียนได้เรียนรู้วิถีชาวบ้าน กระบวนการทำนาตั้งแต่ ไถ คราด ตกกล้า ปักดำจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยคณะครูร่วมกับชุมชนผู้ปกครองช่วยกันถ่ายทอดองค์ความรู้ และหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นได้ร่วมกันสืบสานวิถีชาวนาและเสริมสร้างความสามัคคี

คุณสมชาย เปรื่องเวช หรือ “ลุงหนุ่ม” วัย 53 ปี ปราชญ์ชาวบ้าน อยู่บ้านเลขที่ 62/2 หมู่ที่ 5 บ้านหนองไม้หอม ตำบลช้างทูน อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เล่าถึงที่มาของแรงบันดาลใจที่ยกผืนนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนวัดช้างทูนว่า ที่ดินที่ใช้ทำนาในหมู่บ้านตำบลช้างทูนมีเหลืออยู่เพียง 10 กว่าแปลง เกรงว่าวิถีชาวนาแบบดั้งเดิมจะสูญหายไป ไม่มีการสืบสานเด็กๆ เยาวชนจะไม่รู้จัก และไม่รู้ถึงคุณค่าความยากลำบากของการทำนากว่าจะได้เมล็ดข้าว เมื่อปี 2559 ได้ยกแปลงนาจำนวน 2 ไร่ให้โรงเรียนวัดช้างทูนใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ กระบวนการวิธีการทำนา ตามแนวของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการร่วมมือกันระหว่างคนในชุมชน คณะครู-ผู้ปกครองโรงเรียนวัดช้างทูน อบต.ช้างทูน โดยในปีนี้เป็นปีที่ 4 โดยโรงเรียนวัดช้างทูนโครงการ “ปักดำวันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ”

“ที่ดินทำมาหากินมีอยู่ 8 ไร่ แบ่งทำสวนผลไม้ทุเรียน มังคุด สระน้ำ และเป็นที่นาอยู่ 2 ไร่ ระยะหลังๆ เห็นว่าการทำนาค่อยสูญหายไปที่บ้านหนองไม้หอม เหลือเพียง 2 แปลง เมื่อ 3 ปีที่แล้วจึงยกให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนวัดช้างทูน เพื่อสอนการทำนาให้กับเด็กๆ และเยาวชน โดยตัวเองและชาวบ้าน ผู้ปกครองร่วมมือกันลงไปช่วยสอนนักเรียน ต่อมาได้ขยายเครือข่ายลงสู่ชุมชน มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานเกษตร พัฒนาชุมชน ตำรวจตระเวนชายแดน อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน อบต.ช้างทูน รวมทั้งนายอำเภอบ่อไร่มาร่วมกิจกรรมด้วย ทำให้บรรยากาศของการทำนาตามขั้นตอนต่างๆ คึกคักมาก โดยเฉพาะการดำนา เกี่ยวข้าว มีผู้มาร่วมกิจกรรมกับเด็กๆ 50-60 คน ปี 2561คึกคักเป็นพิเศษ เพราะมีโครงการต่อยอดจากเกี่ยวข้าวทำแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ แปลงปลูกผัก โรงเพาะเห็ด และเป็นจุดเช็คอินให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสกลิ่นอายวิถีชีวิตชาวนาและเกษตรอินทรีย์” คุณสมชาย กล่าว

“ลุงหนุ่ม” ของเด็กๆ เล่าว่า ปฏิทินชาวนา ระยะเวลา 6-7 เดือน กว่าจะได้เมล็ดข้าวสารมาบริโภค เริ่มจากเดือนมิถุนายน เริ่มไถนา คาดนาเดือนกรกฎาคม ตกกล้า เดือนสิงหาคม ดำนา มีทั้ง ข้าวเหนียว, ข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวหอมนิล เดือนพฤศจิกายนเริ่มทะยอยเกี่ยวข้าวเหนียวก่อนและตามด้วยข้าวเจ้า ปีนี้เมื่อ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 เกี่ยวข้าวเหนียวเสร็จสิ้น มีไฮไลต์ชาวบ้านผู้ปกครองร่วมกันทำ “ตำข้าวเม่า” ภายในวันเดียวกันมีการเกี่ยวข้าวเปลือก นำมาตำข้าวเอาเปลือกออกเป็นข้าวเม่า สดๆ ใหม่ๆ ใช้มาทำข้าวเม่าคลุกมะพร้าว อาหารท้องถิ่นที่อร่อยหารับประทานยากในยุคปัจจุบัน รสชาติของข้าวเหนียวที่เก็บเกี่ยวจากต้นใหม่ๆ ทั้งหอมและนุ่ม คลุกกับมะพร้าวที่เก็บจากต้นขูดมือรสชาติ หวาน มัน ออกเค็มเล็กๆ โดยเฉพาะกับเด็กๆ สนุกสนาน มีความสุขกับกิจกรรมและอร่อยกับรสชาติข้าวเม่าคลุกมะพร้าวแบบโบราณมาก จากนั้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวเจ้าทั้งหมด แบบ “ลงแขก” เสร็จสิ้นภายในเวลา 3 ชั่วโมงเศษ มีอาหารคาวพื้นบ้าน เช่น แกงกล้วยพระ มารับประทานกับข้าวสวย ได้อิ่มอร่อยกันตามเคย

“ข้าวที่ปลูกพันธุ์หอมนิล เป็นข้าวอินทรีย์ ปลอดสารพิษมีคุณภาพเหมาะกับการบริโภค ปีนี้ข้าวงามคาดว่าได้ข้าวเปลือกเกือบ 1,000 กิโลกรัม (ข้าวปลูก 1 ถัง ได้ 120 ถัง ปีก่อนๆ ได้ 90-100 ถัง) ได้มอบให้โรงเรียนวัดช้างทูนใช้เป็นโครงการอาหารกลางวัน ที่สำคัญกิจกรรมสร้างการเรียนรู้วิถีชาวนาที่เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมหรือแม้แต่ชุมชน จะได้รับความร่วมมือสืบสานอนุรักษ์ไว้และเห็นคุณค่าของเมล็ดข้าวที่เป็นอาหารหลักของคนไทย และที่สำคัญได้ความรักสมัครสมานสามัคคีในชุมชนหมู่บ้านและเด็กๆ ได้เรียนรู้ด้วยความสนุกสนานมีความสุข” ลุงหนุ่ม กล่าว

ผอ.บุญรักษา คุ้มปลี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดช้างทูน อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เล่าว่า โรงเรียนวัดช้างทูน จะแบ่งให้นักเรียนชั้นอนุบาล-ป.1, ป.2 ได้เยี่ยมชมแปลงนาข้าวดูวิธีการทำนา โดย ลุงสมชาย ปราชญ์ชาวบ้านและคณะครูให้ความรู้ ส่วนชั้น ป.3-ป.6 จำนวน 110 คนจะเรียนรู้ ปฏิบัติจริงเกี่ยวกับการดำนา เกี่ยวข้าว โดยช่วงต้นฤดูกาลทำนาประมาณเดือนมิถุนายนช่วงนี้จะนำเด็กๆ มาดูให้เห็นถึงการเริ่มต้นการทำนา ลุงสมชายจะใช้รถไถนา ไถ คราด พรวนดินที่เรียกว่า “ตีเทือก” และหว่านกล้าด้วยตัวเอง

จากนั้นอีก 1 เดือนจะเป็นการถอนกล้าไปดำนา จะนำนักเรียนชั้น ป.2-ป.3 มาเรียนรู้และดำนาจริงๆ โดยมีผู้ปกครองช่วยกันสอน โดยครูจะพาเด็กๆ มาเยี่ยมแปลงให้เห็นการเติบโตของข้าว ประมาณเดือนที่ 3 ข้าวจะตั้งท้องแก่ เหมาะที่จะเก็บเกี่ยวได้ จะนำเด็กๆ ทั้งโรงเรียนมาเรียนรู้การเกี่ยวข้าว โดยจะให้นักเรียนโตๆ ป.4-ป.6 ได้เรียนรู้การเกี่ยวข้าว ซึ่งจะเป็นวันที่เด็กๆ สนุกสนานมากเพราะได้มาหัดเกี่ยวข้าว ช่วยกันแบกฟ่อนข้าวไปวางกองรวม เตรียมนำรวงข้าวไปตากและฟาดที่โรงเรียนเพื่อนำไปส่งโรงสีข้าวให้นักเรียนรับประทาน

“โรงเรียนได้จัดทำโครงการปักดำวันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ โดยใช้งบประมาณที่ได้รับการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้และงบประมาณเงินอุดหนุนรายหัวอื่นๆ จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เคียวเกี่ยวข้าว และจัดอาหารกลางวันและอาหารว่างมาเลี้ยงในช่วงดำนา เก็บเกี่ยว คาดว่าปีนี้จะได้ข้าวประมาณ 800-1,000 กิโลกรัม โดยนำไปใช้ในโครงการอาหารกลางวัน แม้จะไม่เพียงพอแต่ช่วยให้ประหยัดงบประมาณไปได้ส่วนหนึ่ง โรงเรียนเห็นว่ากิจกรรมนี้ทำให้เด็กๆ เห็นถึงคุณค่าของการปลูกฝังให้วิถีชีวิตของชาวนา ได้เรียนรู้กระบวนการทำนา และมีจิตสำนึกร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานและเป็นการสร้างความสามัคคีความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชนและโรงเรียนจะทำกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี” ผอ.บุญรักษา กล่าว

สนุก ชอบดำนา เกี่ยวข้าว

บรรยากาศวันเกี่ยวข้าวเป็นไปอย่างสนุกสนาน เพราะมีชุมชนมาร่วมงานกันคึกคักกว่า 100 คน โรงเรียนวัดช้างทูนเจ้าภาพ นำขนมมาสอดไส้แจกตั้งแต่เช้า มะพร้าวน้ำหอมปั่นเครื่องดื่มแก้กระหาย ตกกลางวันมีข้าวสวยรับประทานกับแกงไก่กล้วยพระอาหารท้องถิ่น เด็กๆ จะสนุกสนานเป็นพิเศษรีบคว้าเคียวแล้วไปตั้งแถว 4-5 คน สลับกับผู้ใหญ่ที่คอยสอนวิธีเก็บเกี่ยว คนไหนไม่ได้เกี่ยวก็ช่วยกันหอบกองข้าวที่กองรวมกันไปวางรวมไว้เป็นกองโต ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงข้าวในนาเกือบๆ 2 ไร่ ได้รับการลงแขกเกี่ยวเสร็จเรียบร้อย สอบถามเด็กๆ หลายคน บ้างชอบดำนา บ้างชอบเกี่ยวข้าว ด้วยเหตุผลเฉพาะตัวแต่คำตอบที่ตรงกันคือสนุกสนานมาก ได้เรียนรู้การทำนาของบรรพบุรุษที่ยากกว่าจะได้เมล็ดข้าว ไม่เคยเห็นมาก่อนและได้ข้าวไว้รับประทานที่โรงเรียน

“ดวง“ เด็กหญิงดวงฤทัย เสานาม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เล่าว่า เคยดำนามาตั้งแต่เรียนชั้น ป.3 ปีนี้ขึ้น ป.4 ได้หัดเกี่ยวข้าว แต่จะชอบดำนามากกว่าเพราะง่าย เพียงแต่ใช้นิ้วโป้งกดกล้า 3-4 ต้นลงในนาแล้วเขี่ยดินกลบ ไม่ร้อนเหมือนเกี่ยวข้าว และเกี่ยวข้าวจะดูยากกว่า ต้องใช้มือกำข้าวมือหนึ่งถือเคียวเกี่ยวอีกมือ และต้องระวังไม่ให้เคียวพลาดบาดมือตัวเองและเพื่อนใกล้ๆ ด้วย ส่วน “เปรม” เด็กชายแสงสุรีย์ จิตอาคะ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่ชอบดำนาเพราะเปียกต้องแช่น้ำ แต่ชอบเกี่ยวข้าวมากกว่า เห็นว่าได้ความรู้และสนุกมากได้อยู่รวมกับเพื่อนๆ และวันนี้ “พี่ ตชด.116” สอนทำปี่ จากปล้องข้าวเป่าเล่นกันสนุกมาก และ “นิ๊ง” เด็กหญิงกิตติยาภรณ์ แกล้วกล้า เพิ่งอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เพิ่งหัดเกี่ยวข้าวชอบมาก เห็นว่าได้ไปไว้รับประทานที่โรงเรียน

ท้ายสุด คุณภาณุวัฒน์ พุทธเกสร นายอำเภอบ่อไร่ ได้ร่วมกิจกรรมเกี่ยวข้าว มองเห็นว่า กิจกรรม “ปักดำวันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ” ช่วยสร้างสรรค์นอกจากเป็นการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมวิถีชาวนาให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้แล้ว เหนือสิ่งอื่นใดคือเห็นความสมัครสมานสามัคคีของหน่วยงานต่างๆ ที่ห่างหายไปนาน ได้เห็นหน่วยงานมาร่วมมือกันทั้ง อบต. ตชด. พัฒนาชุมชน สำนักงานเกษตร อาสาสมัคร ผู้ปกครอง ครู นักเรียน เห็นความสำเร็จของการร่วมมือกันเมื่อ 4 เดือนก่อน…นี่คือพลังของชุมชนที่จะช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน

วาฟ-รอม เผย ‘พายุปาบึก’ ออกอาละวาดแล้ว! เริ่มที่จังหวัดชายแดนใต้ และ สงขลา!
เผย ‘พายุปาบึก’ ออกอาละวาดแล้ว! – เวลา 10.00 น. วันที่ 3 ม.ค. แบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) รายงานเรื่องการเฝ้าระวัง พายุโซนร้อน “ปาบึก” ว่า

จะเคลื่อนตัวผ่านอ่าวไทยตอนล่างและมีแนวโน้มเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านลงไปสู่ทะเลอันดามัน ส่งผลให้ภาคใต้จะเกิดฝนตกหนัก ถึงหนักมาก เป็นบริเวณกว้าง ในช่วง วันที่ 3-6 มกราคม โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

วาฟ ระบุว่า ให้มีการเฝ้าระวัง คลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น และอาจเกิดคลื่นซัดฝั่งกำลังแรง ความสูงคลื่นประมาณ 3-5 เมตร รวมทั้งระดับน้ำทะเลยกตัวขึ้นสูง 3 เมตร

ทั้งนี้ พายุโซนร้อน “ปาบึก” บริเวณอ่าวไทยตอนล่าง มีแนวโน้มเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านลงไปสู่ทะเลอันดามันต่อไป กลุ่มเมฆฝนด้านหน้าของพายุปาบึก ได้เคลื่อนตัวเข้าปกคุลมบริเวณภาคใต้ตอนล่างแล้ว ภาคใต้ตอนล่างเริ่มมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักแล้วในบริเวณจังหวัดสงขลา 59 มิลลิเมตร

ช่วง วันที่ 3-5 มกราคม บริเวณความกดอากาศสูงเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนตะวันออกและอ่อนกำลังลง แต่ยังคงแผ่เป็นลิ่มลงมาปกคลุมประเทศไทยตอน ทำให้ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมประเทศไทยยังคงมีกำลังแรง ส่วนพายุโซนร้อน “ปาบึก” จะเคลื่อนตัวผ่านอ่าวไทยตอนล่าง และมีแนวโน้มเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านลงไปสู่ทะเลอันดามัน ส่งผลให้ภาคใต้จะเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ช่วง วันที่ 6-9 มกราคม พายุโซนร้อน “ปาบึก” จะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามัน แต่ยังคงมีกระแสลมพัดผ่านภาคใต้ตอนบนเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุ ส่งผลให้ภาคใต้ตอนบนยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องในช่วงวันที่ 6 มกราคม โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต

และอาจเกิดฝนตกหนักในบางบริเวณของภาคเหนือตอนบนอาจเกิดฝนตกปานกลางถึงตกหนักได้ในช่วงวันที่ 7-8 มกราคม เนื่องจากพายุจะเคลื่อนตัวขึ้นไปทางอ่าวเมาะตะมะ แล้วอ่อนกำลังลง

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญและโอกาสในการพัฒนาและยกระดับย่านโยธีให้กลายเป็นย่านนวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุขครบวงจร โดยมีเป้าหมายใน 4 ส่วน คือ 1. พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อยกระดับนวัตกรรม โดยใช้ทรัพยากรพื้นที่เนื้อเมือง และความหนาแน่นด้านนวัตกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญ 2. พัฒนาสินทรัพย์ด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และเครือข่าย ให้เหมาะสมในการรองรับการเป็นศูนย์กลางย่านนวัตกรรมทางการแพทย์และการวิจัย 3. พัฒนาศักยภาพการวิจัยและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ บริการ สภาพแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายที่ยั่งยืนในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ และ 4. ปลดล็อกข้อจำกัด และผลักดันโครงการด้านการแพทย์และสุขภาพของหน่วยงานภายในพื้นที่ ให้เกิดประสิทธิภาพทางธุรกิจ

สำหรับการวางพื้นฐานในการพัฒนาและขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการแพทย์จึงเป็นสิ่งสำคัญโดยองค์ประกอบในการพัฒนาย่านต้องประกอบไปด้วย 1. การพัฒนาระบบโครงการพื้นฐาน หรือพื้นที่เพื่อรองรับการวิจัย พัฒนา และทดลองนวัตกรรมทางการแพทย์ 2. การมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาย่านจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน 3. การส่งเสริมการสร้างและใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในย่านและโดยรอบ รวมทั้งนำไปสู่อุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจ

4. การวางมาตรการและนโยบายการสนับสนุนการลงทุนด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ 5. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมทางด้านการแพทย์ และ 6. ฐานข้อมูลเพื่อการบริการทางการแพทย์ “การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่” (Area Based Innovation) เป็นนโยบายส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการรังสรรค์ระบบนิเวศนวัตกรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนา “ย่านนวัตกรรม” (Innovation District) ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ของการวางแผนและออกแบบพื้นที่และสังคมเมืองบนหลักการของการพัฒนาเมืองหรือย่าน โดยมีเครื่องมือและกลไกที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิต อันก่อให้เกิดการเชื่อมต่อ (connecting) ของผู้คนและแนวความคิดการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการมีกลไกที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม (co-creation) และการแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน (knowledge sharing)

ในขณะเดียวกัน นานาประเทศได้ริเริ่มมีพลวัติในการเชื่อมโยงนวัตกรรมต่างๆ เข้าสู่ชุมชน ย่าน และเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพและการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพถือเป็นเรื่องหนึ่งที่นานาประเทศให้ความสำคัญและเร่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งประเทศที่ได้รับการยอมรับ

จากระดับนานาชาติในเรื่องความรู้ความสามารถในการให้บริการทางด้านสุขภาพ ดังนั้น การวางรากฐานและสร้างต้นแบบการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ในประเทศจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและเพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของชาติในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมสุขภาพโยธี

โดยมี นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อร่วมพัฒนาแนวทางและกิจกรรมในการพัฒนาย่านฯ ทั้งในด้าน นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ บริการ สภาพแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้ดำเนินการจัดทำแผนการพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีให้เป็นศูนย์กลางและการรักษาและการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพต้นแบบขึ้น ภายใต้พื้นที่ย่านโยธี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเขตย่านที่มี สถานพยาบาล สถาบันการศึกษาทางการแพทย์ ที่มีการกระจุกตัวของโรงพยาบาล และสถาบันทางการแพทย์ จำนวนทรัพยากรบุคคล บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ สถานพยาบาล โรงเรียนแพทย์ และโครงสร้างพื้นฐาน ต่อจำนวนประชากรสูงสุดในกรุงเทพมหานคร

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การพัฒนาย่านนวัตกรรมของประเทศไทยจะมีบทบาทในการพัฒนาและขับเคลื่อนนวัตกรรมและเศรษฐกิจของประเทศได้ดังนี้

♦ การพัฒนาย่านนวัตกรรมเป็นแนวคิดใหม่ของการวางแผนและออกแบบพื้นที่เมือง มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมให้รวมกันเป็นคลัสเตอร์ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ และกลไกที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ดำเนินกิจกรรมภายในย่าน

♦ บทบาทในการพัฒนาย่านนวัตกรรม มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างงานรูปแบบใหม่ จากการสร้างสรรค์นวัตกรรม (co-creation) ให้เป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตในยุคสมัยใหม่ รวมทั้งสร้างการเชื่อมต่อ (connecting) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงกลุ่ม Startup และกลุ่มผู้ประกอบการ ให้สามารถเข้ามาร่วมกันวางแผนยกระดับนวัตกรรมในพื้นที่ ท้ายที่สุดจะเกิดเป็นการแบ่งปันความรู้ (knowledge sharing)

การสร้างให้ย่านมี Incentive เทียบเท่า EEC เพื่อเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยเฉพาะ startup นักลงทุน นักพัฒนาที่ดินด้านสุขภาพ และ Global Value Chain ด้านการแพทย์

♦ การเร่งสร้างให้เกิด Mandatory innovation ในย่าน เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและระบบนวัตกรรมการแพทย์ของไทย สร้างบทบาทนำด้านการบริการการแพทย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

♦ การนำเสนอนวัตกรรมภาครัฐ (Public sector innovation) ที่ประชาชนสัมผัสและจับต้องได้ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่าง IDE Startup และโรงพยาบาลในพื้นที่

♦ การทำนวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-based innovation) ในเนื้อเมืองชั้นในเพื่อทำให้เกิด smart city ทั้งในพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่โรงพยาบาล

การปรับเปลี่ยนมุมมองการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ในรูปแบบใหม่ ด้วยนวัตกรรม เช่น Tele Medicine, Health service และนวัตกรรมทั่วถึง สำหรับคนชรา และคนพิการ

จังหวัดไหนๆ ก็ต้องมีไม้ผลของดีประจำจังหวัด ผลผลิตคุณภาพโดดเด่น สร้างงานและเงินให้กับเกษตรกรในจังหวัดอย่างน้อย 2-3 ชนิด จังหวัดมหาสารคามเอง เป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน ที่อาจมองไม่เห็นความเด่นของไม้ผลชัดมากนัก เพราะความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก สภาพภูมิอากาศ ไม่เอื้ออำนวยเท่าไร เมื่อหากย้อนรอยไป 2 ปี ที่ผ่านมา “เมล่อน” ไม้ผลตระกูลแตง เริ่มมีเสียงกล่าวถึงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

พื้นที่ 14 ไร่ ไม่นับว่ามาก หากใช้เป็นโรงเรือน โรงปรับปรุงพันธุ์ ของไม้ผลสักชนิด แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของ เทพมงคล ฟาร์ม หรือ บริษัท เทพมงคลเมล็ดพันธุ์ จำกัด ที่เพิ่งเปิดตัวทำฟาร์มเมล่อน ติดตั้งโรงเรือน และระบบน้ำหยด ให้เมล่อนคุณภาพดี เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา เพราะนับตั้งแต่ผลผลิตเมล่อนรุ่นแรกที่ได้ ก็ขึ้นห้างวางขายในราคากิโลกรัมละไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยบาท

คุณมงคล ธราดลธนสาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทพมงคลเมล็ดพันธุ์ จำกัด หนุ่มไฟแรงที่เพิ่งผ่านการศึกษาจากสาขาพืชผัก ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มากว่า 10 ปีก่อน หลังจบการศึกษาก็เข้าทำงานตำแหน่งนักส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ ของบริษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ชื่อดังแห่งหนึ่ง และเป็นโอกาสดีที่ทำให้ตลอดระยะเวลาการทำงาน ได้ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การเก็บเมล็ดพันธุ์ การปรับปรุงพันธุ์ รวมถึงการเดินทางไปส่งเสริมยังต่างประเทศหลายประเทศ ทำให้มีโอกาสเก็บเมล็ดพันธุ์เมล่อน และพืชผัก ผลไม้ ชนิดอื่น ติดมือกลับมาด้วย