ข้าวโพดตักหงาย ข้าวโพดพื้นเมือง จ.เลย พันธุ์ที่ควรอนุรักษ์

“เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม” คำขวัญประจำจังหวัดเลย ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีหลายคนอยากมาเยี่ยมเยือนสัมผัสความหนาวเย็น และธรรมชาติที่สวยงาม ภูกระดึง เมื่อเอ๋ยชื่อต่างรู้จักทั้งชาวไทยและต่างชาติ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเลย ด้วยความที่จังหวัดเลยยังคงมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดได้ผลดี และพร้อมที่จะกลายเป็นของฝากให้กับผู้มาเยือนได้

พืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดเลย ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา มะม่วง ข้าวเปลือกเหนียวนาปี อ้อยโรงงาน มะขามหวาน มันสำปะหลัง ขิง และกล้วยน้ำว้า จึงทำให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดเลย เข้ามาพัฒนาพันธุ์พืช ให้มีความแข็งแรง ปราศจากแมลงศัตรูพืช เพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร

ข้าวโพดตักหงาย เป็นข้าวโพดพันธุ์พื้นเมือง เป็นข้าวโพดข้าวเหนียวเมล็ดสีม่วงที่นิยมปลูกกันมากในจังหวัดเลย โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากๆ เช่น อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอนาแห้ว และมีปลูกกันบ้างในอำเภอท่าลี่และอำเภอเมือง

ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกรวมกันมากกว่า 2,000 ไร่ ลักษณะเด่นของข้าวโพดตักหงาย คือจะมีกลิ่นหอม นุ่มเหนียว และเคี้ยวไม่ติดฟัน จึงเป็นที่นิยมรับประทานของคนในพื้นที่และคนต่างถิ่นที่ได้ไปเยี่ยมเยือนจังหวัดเลย นอกจากนี้ยังมีลักษณะเด่นอีกอย่างคือ จะมีจำนวนฝักตั้งแต่ 2-6 ฝัก ต่อต้น ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดพันธุ์นี้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

แม้เกษตรกรจะมีความต้องการปลูกมากขึ้นแต่ก็ทำได้ยาก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคราน้ำค้างมาก บางพื้นที่เกิดการระบาดของโรคราน้ำค้างทำให้ผลผลิตเสียหายถึง 100 เปอร์เซ็นต์ สถานีทดลองพืชไร่เลยซึ่งรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาพืชไร่ในท้องถิ่น จึงได้ริเริ่มโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดตักหงายให้สามารถต้านทานต่อโรคราน้ำค้างให้ผลผลิตสูง และยังคงมีรสชาติเหมือนเดิม ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถปลูกได้ในทุกท้องที่และทุกเวลาที่ต้องการปลูก อันจะทำให้มีผลผลิตข้าวโพดตักหงายออกขายตลอดทั้งปี เป็นการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร และสนับสนุนโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งหนึ่งผลิตภัณฑ์ของรัฐบาล

ข้าวโพดตักหงาย มีราก เป็นระบบรากแขนง พบอยู่ในความลึกไม่เกิน 75 เซนติเมตร การเจริญเติบโตเป็นไปในทางขนานกับพื้นดิน มีระบบรากอากาศ (เจริญออกมาจากข้อที่อยู่เหนือดิน) ที่ดีมาก ซึ่งรากอากาศนี้จะช่วยพยุงลำต้นไม่ให้ล้ม พบมากในดินที่มีความชื้นสูงหรือแฉะน้ำ ลำต้นตั้งตรงมีข้อและปล้องถี่ ลำต้นมีสีเขียวเป็นส่วนใหญ่ และบางครั้งพบมีลำต้นสีม่วง และไม่ว่าลำต้นจะมีสีอะไรเมล็ดเมื่อแก่จัดจะสีม่วงเข้มทั้งนั้น ใบมีสีเขียวสด ใบเล็กสั้น ตั้งชัน 45 องศา

ลักษณะของดอก แบ่งออกเป็น ดอกตัวผู้ สีขาวอมเหลือง ก้านชูดอกสั้นจนดูเหมือนว่าดอกตัวผู้ออกข้างๆใบธง และถ้ามองไปยังแปลงปลูกข้าวโพดตักหงาย จะแทบไม่เห็นดอกตัวผู้เลย ส่วนดอกตัวเมีย ไหมสีขาวอมเหลือง เมื่อผสมเกสรแล้วไหมจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงน้ำตาลดำ อายุออกดอก 52-90 วัน ขึ้นกับฤดูปลูก เช่น ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน จะมีอายุออกดอกประมาณ 52 วัน แต่ถ้าปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งมีอากาศเย็น จะมีอายุออกดอกประมาณ 74-90 วัน ขึ้นกับปีนั้นๆ จะมีอุณหภูมิต่ำขนาดไหน ฝักมีขนาดเล็ก ความยาวฝักประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีจำนวนฝักต่อต้น 4-5 ฝัก และเมื่อเล็กฝักจะมีสีขาว เริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วงหลังออกดอกตัวเมียไปแล้ว ประมาณ 20 วัน เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้ม

การปลูกและดูแลรักษา ให้เตรียมดิน ไถดะโดยใช้ผาล 3 หรือ ผาล 4 แล้วตากดินไว้ประมาณ 7 วัน แล้วไถพรวนอีกครั้งเพื่อย่อยดินให้ละเอียด ส่วนการปลูกมี 3 ระยะ คือ 75x75x3 (ระหว่างแถวxระหว่างต้นxต้นต่อหลุม) หรือ 8,533 ต้น/ไร่ และ 75x75x3 หรือ 12,800 ต้น/ไร่ หรือ 75x30x1 หรือ 7,111 ต้น/ไร่

ธาตุไนโตรเจน สำคัญต่อข้าวโพดตลอดอายุการเจริญเติบโต ตั้งแต่ระยะต้นอ่อนจนถึงระยะสร้างเมล็ด ระยะที่ข้าวโพดต้องการธาตุไนโตรเจนมากที่สุดคือ ระยะที่ข้าวโพดออกดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย ธาตุฟอสฟอรัส พบว่า ข้าวโพดต้องการฟอสฟอรัสตลอดฤดูปลูกเช่นกัน แต่ต้องการมากในระยะแรกของการเจริญเติบโต ในระยะที่ข้าวโพดแตกรากจะมีการดูดใช้ธาตุฟอสฟอรัสจากปุ๋ยมากกว่าจากดิน จนกระทั่งรากเจริญเติบโตเต็มที่จะดูดฟอสฟอรัสจากดินมากขึ้น ดังนั้นจึงแนะนำให้ใส่ตั้งแต่ปลูก ธาตุโพแทสเซียมมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตและความแข็งแรงของลำต้น และสร้างเมล็ด แต่ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดส่วนใหญ่จะมีธาตุโพแทสเซียมเพียงพอในดิน ดังนั้นจึงควรใช้ ปุ๋ยผสมสูตร 15-15-15 ใช้อัตรา 1 ช้อนแกง ต่อ 1 หลุม เมื่อข้าวโพดอายุ 15 วัน 1 เดือน และช่วงข้าวโพดออกดอก

เมื่อเมล็ดเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วง ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ มื่อหลังออกดอกตัวเมีย 20 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ส่วนข้อควรระวังในการปลูกนั่นก็คือ ให้คลุกเมล็ดด้วยสารเอพรอน 7% อัตรา 7 กรัม ต่อข้าวโพด 1 กิโลกรัม เพื่อป้องกันโรคราน้ำค้าง และควรหาพื้นที่ปลูกใกล้แหล่งน้ำ เพราะข้าวโพดต้องการน้ำมาก ในเฉพาะช่วงออกดอก ให้ถอนต้นที่เป็นโรคแล้วเผาทำลาย รวมทั้งควรทยอยปลูกเป็นช่วงๆ เพื่อให้มีผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดตลอดปีและไม่มากจนล้นตลาด และควรผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง เพราะเมล็ดพันธุ์ราคาแพง

วิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดพันธุ์ตักหงาย ให้ปลูกก่อนหรือหลังข้าวโพดชนิดอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง ประมาณ 1 เดือน ให้คัดเลือกต้นที่สมบูรณ์ และเก็บฝักจากต้นที่แห้งแล้ว โดยเลือกฝักที่มีเมล็ดสีม่วงเข้มทั้งฝักนำเมล็ดมากะเทาะแล้วตากแดดให้แห้ง หลังจากนั้น คลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง แล้วเก็บไว้ในที่ร่ม

เนื่องจากข้าวโพดพันธุ์ตักหงายเป็นพันธุ์ที่ปลูกในท้องถิ่น พื้นที่ที่เพาะปลูกไม่มากนัก แต่โดยคุณสมบัติและลักษณะของข้าวโพดพันธุ์นี้ สามารถจะพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้ สถานีทดลองพืชไร่เลย จึงได้มีแนวทางการวิจัยข้าวโพดพันธุ์นี้ไว้ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ปรับปรุงพันธุ์ให้ต้านทานโรคราน้ำค้าง ศึกษาระยะปลูกที่เหมาะสมที่ให้ผลผลิตสูง ศึกษาหาวิธีการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด ศึกษาหาช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมเพื่อให้ผลผลิตและคุณภาพสูง หาวิธีการปลูกข้าวโพดตักหงายเพื่อให้มีผลผลิตสู่ตลาดตลอดปี

หากท่านใดสนใจวิธีการปลูก หรือสนใจลิ้มลองความอร่อยของข้าวโพดตักหงาย ข้าวโพดพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดเลย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดเลย

จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งปลูกพริกที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกประมาณ 14,257 ไร่ มีรายงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี 2550 ได้ผลผลิตรวม 27,574 ตัน คิดเป็นมูลค่า 480 ล้านบาท/ปี

แหล่งปลูกพริกที่ปลูกกันในจังหวัดอุบลราชธานี คือที่อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอเมือง และอำเภอเขื่องใน ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการปลูกพริก ได้แก่ ไส้เดือนฝอยรากปม โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โรคใบหงิกที่เกิดจากเชื้อไวรัส และโรคแอนแทรกโนส แมลงวันเจาะผลพริก เพลี้ยไฟ ไรขาว และต้นกล้าเหี่ยวยุบ เมื่อปี 2552 มีรายงานผลการตรวจสารพิษตกค้างในตัวอย่างพริกจากแหล่งผลิต GAP ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด เมื่อปี 2549-2552 จำนวน 1,863 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้าง 830 ตัวอย่าง เกินค่าความปลอดภัย (MRLs) 365 ตัวอย่าง ปรากฏว่าพบมากที่สุดในจังหวัดอุบลราชธานี

สารพิษที่พบเกินค่าความปลอดภัยมากขึ้นทุกปี ได้แก่ สารไซเปอร์เมทริน โปรวิโนฟอส คลอไพรีฟอส เนื่องจากเกษตรกรใช้สารเคมีโดยขาดความระมัดระวัง ใช้ในกลุ่มที่มีพิษร้ายแรง และใช้ไม่ถูกต้องตามคำแนะนำ มีการเก็บเกี่ยวก่อนระยะปลอดภัยซึ่งเสี่ยงต่อการตกค้างของสารพิษในผลผลิต นอกจากนี้ เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราสูงและใส่โดยไม่ได้มีการตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน อันเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ธาตุอาหารสะสมในดิน ทำให้สภาพดินเสื่อม

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 อุบลราชธานี กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ประเทศไทยเคยมีปัญหาการส่งออกพริกที่มีสารเคมีตกค้างในผลผลิต ในยุคการค้าเสรีทุกประเทศใช้คุณภาพของผลผลิตเป็นข้อกำหนดในการกีดกันทางการค้า นอกจากนี้ ในปัจจุบันกระแสความต้องการอาหารจากระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ มีปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้น อัตราการเจริญเติบโตในตลาดโลกของอาหารเกษตรอินทรีย์โดยเฉลี่ย ร้อยละ 25 ต่อปี แต่เรายังขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตพริกอินทรีย์ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบการผลิตพริกเพื่อนำไปสู่มาตรฐานคุณภาพพืชอินทรีย์ ทางสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 อุบลราชธานี (สวพ. 4) จึงได้ทำการศึกษาโดยใช้แนวทางระบบการทำฟาร์ม และพัฒนาเทคโนโลยีแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 อุบลราชธานี อธิบายว่า คำว่า พริกอินทรีย์ คือการผลิตพริกที่ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งปัจจัยการผลิตที่นำมาปรับปรุงบำรุงดิน ต้องใช้มาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร คือ ใช้ปัจจัยการผลิตพริกอินทรีย์ทดแทนการใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมี และเพื่อให้เกษตรกรปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพและปลอดภัยสามารถเชื่อมโยงกับตลาดพริกคุณภาพได้

โครงการผลิตพริกอินทรีย์เกษตรกรมีส่วนร่วม

โครงการผลิตพริกอินทรีย์ของ สวพ. 4 เป็นการทำงานร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบบูรณาการในพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรปรับใช้เปรียบเทียบกับวิธีการดั้งเดิม โดยใช้แนวทางการวิจัยระบบการทำฟาร์มและการพัฒนาเทคโนโลยีแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม

คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายผลิตพริกอินทรีย์

เริ่มต้นโดยการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย โดยคัดเลือกพื้นที่ที่มีการปลูกพริกฤดูแล้ง และประสบปัญหาในการผลิต และเกษตรกรมีความต้องการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตพริกจากใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีไปใช้ปัจจัยการผลิตอินทรีย์ เลือกพื้นที่ได้ที่บ้านเดือยไก่ ต.หนองเหล่า และ ต.หนองฮาง อ.ม่วงสามสิบ ซึ่งปลูกพริกทุกหมู่บ้าน รวมพื้นที่แล้วประมาณ 800 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 2,000 กก./ไร่ มีการใช้สารเคมีมากกว่าร้อยละ 80-90 ดินมีอินทรียวัตถุร้อยละ 0.43-1.23 มีค่า pH 4.73-5.43 มีปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 292-507 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีปริมาณโพแตสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ 52.71 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

เกษตรกรปลูกพริกโดยไม่มีการวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน ใส่ปูนขาวพร้อมกับปลูก ใช้ทั้งปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และปุ๋ยเคมี ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพริก ปัญหาการปลูกพริกของเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ การระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ใช้สารเคมีตั้งแต่เพาะกล้าจนถึงระยะเก็บเกี่ยว และใช้โดยขาดความรู้และความระมัดระวัง มีการเก็บเกี่ยวก่อนระยะความปลอดภัย ทำให้มีผลการตกค้างของสารเคมี ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภค นอกจากนั้น การระบาดของไส้เดือนฝอยรากปม ทำให้ผลผลิตลดลง 50-100 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ดังกล่าวเป็นดินร่วนปนทรายจึงเหมาะสมต่อการระบาดของโรค

คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบผลิตพริกอินทรีย์

หลังจากการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายแล้ว ต่อไปก็ค้นหาเกษตรกรต้นแบบผลิตพริกอินทรีย์ ต้องเป็นเกษตรกรที่ตั้งใจจะปลูกพริกอินทรีย์อย่างจริงจัง คือมีความตั้งใจจริงที่จะงดใช้สารเคมี

เริ่มต้นคัดเกษตรกรเข้าร่วมโครงการผลิตพริกอินทรีย์ได้ 5 ราย ที่ อ.ม่วงสามสิบ โครงการเริ่มในปี 2551 สิ้นสุดโครงการในปี 2552 เมื่อสิ้นสุดโครงการและเข้าสู่ระบบการตรวจรับรอง เราได้เกษตรกรต้นแบบการผลิตพริกอินทรีย์ คือ คุณวิเชียร ชีช้าง ที่บ้านก่อฮาง ต.หนองฮาง อ.ม่วงสามสิบ เป็นเกษตรกรต้นแบบ และได้รับการรับรองระบบการผลิตพืชอินทรีย์ ตามมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร ปี 2553

ความสำคัญของแนวกันชน

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า คุณวิเชียร มีความตั้งใจที่จะปลูกพริกอินทรีย์โดยการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ปลูกพริกของนายวิเชียรห่างไกลจากแปลงพริกของเกษตรกรรายอื่น การผลิตพริกอินทรีย์จะต้องมีความสามารถในการป้องกัน สารปนเปื้อน คุณวิเชียรได้ทำแนวกันชน โดยปลูกต้นไผ่เป็นแนวกันชน อาจจะปลูกพืชยืนต้นอื่นเป็นแนวกันชนสามารถป้องกันสารเคมี ที่มีการฉีดพ่น มาจากฟาร์มหรือแปลงอื่น ไม่ให้ฟุ้งมากับอากาศ การทำแปลงพืชอินทรีย์จะต้องไม่อยู่ใกล้กับแหล่งผลิตพืชอื่นที่มีการใช้สารเคมี หรืออยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม เพราะจะมีโลหะหนักปะปนมากับน้ำไหลสู่แปลงเกษตรอินทรีย์ได้ แต่ถ้าจะปลูกพืชในแหล่งหรือพื้นที่เคยใช้สารเคมีมาก่อน ก็จะต้องหยุดการใช้สารเคมีอย่างน้อย 1 ปี สิ่งเหล่านี้คุณวิเชียรได้ทำอย่างถูกต้อง

เข้าไปร่วมดำเนินการ กับเกษตรกร

เริ่มต้นจากการเตรียมแปลงปลูก โดยการเก็บตัวอย่างดินก่อนเริ่มทำการทดลอง วิเคราะห์หาความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ความต้องการปูน ปริมาณอินทรียวัตถุ ปริมาณไนโตรเจน ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ ปริมาณโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ การใช้ปุ๋ยพืชสด โดยใช้ปอเทืองหว่าน ก่อนปลูกพริก 50 วัน แล้วไถกลบ ไถพรวนทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน แล้วจึงลงมือปลูกพริกและใช้ปุ๋ยมูลไก่หมัก 3 ตัน/ไร่

สำหรับปุ๋ย ใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ และน้ำหมักสมุนไพร ซึ่งประกอบด้วย ปุ๋ยคอก รำละเอียด แกลบดิบ เศษผัก ปลา กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก ฟักทองแก่จัด ส่วนน้ำหมักสมุนไพร ได้แก่ ใบสะเดาทั้งใบและก้าน ใบยูคาลิปตัส ข่าแก่ เครือบอระเพ็ด และกากน้ำตาล ปุ๋ยน้ำหมักต้องให้อย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ความขยันและความเอาใจใส่ของเกษตรกรที่ต้องตรวจและมีการบันทึกข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ

การกำจัดศัตรูพืช ได้ให้เกษตรกรใช้เชื้อชีวินทรีย์ ได้เชื้อ BT (บาซิลลัส ทรูรินเอนซิส) เชื้อไตรโคเดอร์มาเข้าไปฉีดพ่น ใช้ทั้งสมุนไพรและเครื่องมือดักแมลงหรือเหยื่อล่อแมลง โดยใช้หลายวิธีผสมผสานกัน

“วิเชียร ชีช้าง” คือ เกษตรกรต้นแบบ ของพริกอินทรีย์

คุณวิเชียร ชีช้าง เป็นเกษตรกรต้นแบบการผลิตพริกอินทรีย์ ได้รับการรับรองระบบการผลิตพริกอินทรีย์ตามาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตร ปี 2553 และในปี 2553 คุณวิเชียร สามารถจำหน่ายผลผลิตพริกสดไปประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 ตัน จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 70 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาท้องตลาด 5 เท่า ปกติราคาท้องตลาดจะอยู่ในราคา กิโลกรัมละ 15-20 บาท เท่านั้น ขณะนี้ได้มีผู้ประกอบการได้เข้าไปติดต่อขอซื้อถึงแปลงพริกของเกษตรกรรายนี้ นอกจากนี้ แปลงพริกของคุณวิเชียร ชีช้าง ที่บ้านก่อฮาง ตำบลหนองฮาง อำเภอม่วงสามสิบ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นที่ศึกษาดูงานการผลิตพริกอินทรีย์ และสารมารถปรับใช้ในการผลิตพืชชนิดอื่นๆ ได้

การผลิตพริกโดยใช้ปัจจัยการผลิตอินทรีย์ทั้งวัสดุในการปรับปรุงบำรุงดิน และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชสามารถให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูงกว่าวิธีของเกษตรกร ร้อยละ 4 ได้ผลผลิต 2,491 กก./ไร่ ซึ่งวิธีของเกษตรกรให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,401 กก./ไร่ การผลิตพริกโดยใช้ปัจจัยการผลิตอินทรีย์ ใช้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าวิธีของเกษตรกร ร้อยละ 8 และให้ค่าผลตอบแทนหรือต้นทุนผันแปรสูงกว่าร้อยละ 23 การผลิตพริกโดยใช้ปัจจัยการผลิตพริกอินทรีย์ สามารถใช้เป็นทางเลือกการผลิตได้โดยใช้ปุ๋ยคอก สมุนไพร และสารชีวินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพริก จึงลดสารพิษตกค้างในผลผลิต ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ผลิต ผู้บริโภค ตลอดจนสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลดีในการค้าพริก ซึ่งต่างประเทศใช้เป็นมาตรการในการกีดกันทางการค้า

ถ้าถามเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเชิงพาณิชย์ทั่วไปว่า มะม่วงพันธุ์ไหนขายได้ราคาดีที่สุดเราจะได้คำตอบว่ามะม่วงพันธุ์ “น้ำดอกไม้” โดยเฉพาะพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง เพราะเป็นที่นิยมทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศมีการส่งเสริมด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง นัยว่าถ้าพูดถึงมะม่วงไทยก็ต้องน้ำดอกไม้เท่านั้น

กลุ่มสระแก้วผลิตทั้งน้ำดอกไม้และเขียวเสวยส่งออก ซึ่งมี คุณเจริญ เขื่อนข่ายแก้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตมะม่วงส่งออก จ.สระแก้ว และเป็นเจ้าของสวนรุ่งเจริญ เลขที่ 21 หมู่ 17 บ้านชัยมงคล ต.ทุ่งมหาเจริญ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว 27210 โทร.086-1621835 กล่าวกับว่า เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเกือบทุกรายจะเน้นแต่มะม่วงน้ำดอกไม้เพียงอย่างเดียวเพราะส่งออกได้ราคาดีกว่ามะม่วงพันธุ์อื่นแต่ผมและกลุ่มของผมมองว่าเราน่าจะทำมะม่วงเขียวเสวยด้วยเพราะในเขต จ.สระแก้ว มีพื้นที่ปลูกมะม่วงเขียวเสวยเป็นจำนวนมาก อีกอย่าง คือ ขณะนี้มะม่วงเขียวเสวยสามารถส่งขายต่างประเทศได้จึงทำให้มีราคาที่สูงกว่าเมื่อก่อน

“สวนรุ่งเจริญ” มีพื้นที่ปลูกมะม่วงประมาณ 500 ไร่ ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้และเขียวเสวยเป็นหลัก โดยมีพื้นที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้มากกว่าเขียวเสวยอยู่เล็กน้อย คุณเจริญบอกว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่นิยมปลูกเขียวเสวยเพราะคิดว่าราคาขายสู้น้ำดอกไม้ไม่ได้ แต่คุณเจริญกลับมองว่า ถ้าเราเปรียบเทียบกันจริงๆ รายได้จะไม่ต่างกันนัก ยกตัวอย่างในปีที่ผ่านมาขายมะม่วงน้ำดอกไม้เกรดเอส่งออกขายได้ราคากิโลกรัมละ 80-90 บาท เกรดรองขายให้แม่ค้าในจังหวัดระยองและตลาดสี่มุมเมืองได้ราคากิโลกรัมละ 60-65 บาท ส่วนที่เหลือ (ผิวไม่สวย)

ขายเข้าโรงงาน “ฟรีซดาย” ที่ จ.จันทบุรี ถ้าเราจัดการกับผลิตได้แบบนี้ก็จะมีกำไรสูง แต่บางครั้งเกษตรกรไม่สามารถหาตลาดส่งออกได้หรือเมื่อคัดมะม่วงเกรดเอส่งออก แล้วส่วนที่เหลือไม่สามารถหาตลาดมารองรับได้ เกษตรกรก็จะมีกำไรน้อย เนื่องจากการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้มีขั้นตอนในการผลิตหลายขั้นเริ่มตั้งแต่จะต้องดูแลผิวให้สวย ต้องห่อผล พอเก็บก็ต้องมาแกะถุง

ซึ่งจะทำให้เรามีต้นทุนการผลิตที่สูงถ้าขายไม่ได้ราคาเกษตรกรจะไม่มีกำไรต่างกับเขียวเสวยที่มีขั้นตอนไม่มาก ไม่ต้องห่อผล เพียงแค่เราดูแลผิวให้สวยก็สามารถเก็บขายได้ราคา ในปีที่ผ่านมามะม่วงเขียวเสวยราคาแพงสุดอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนขายจากสวนได้ราคากิโลกรัมละ 50 บาทส่วนในช่วงอื่นราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท และช่วงเดือนมีนาคมจะทำส่งประเทศเวียดนามได้ราคากิโลกรัมละ 38 บาท

ตลาดเวียดนาม ถือเป็นตลาดที่มีอนาคต คนเวียดนามเริ่มนิยมบริโภคมะม่วงเขียวเสวยจากประเทศไทย เพราะรสชาติหวานอร่อยและเราจะเน้นเก็บมะม่วงที่แก่จัดเท่านั้นเพื่อรักษาคุณภาพให้คงที่จะไม่เก็บมะม่วงอ่อนออกขายโดยเด็ดขาด ที่สวนรุ่งเจริญสามารถผลิตมะม่วงเขียวเสวยส่งเวียดนามได้ปีละกว่า 300 ตัน (3 แสนกิโลกรัม)

เทคนิคการผลิตมะม่วงเขียวเสวยให้มีคุณภาพดี ที่สวนคุณเจริญ จะผลิตมะม่วงเขียวเสวยปีละ 3 รุ่น คือ รุ่นแรกจะเก็บประมาณเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน รุ่นสองเดือนกุมภาพันธ์และรุ่นที่สามเดือนพฤษภาคม เนื่องจากปีหนึ่งเก็บผลผลิตมากถึง 3 ครั้งการดูแลจึงต้องดีเป็นพิเศษ คือหลังจากตัดแต่งกิ่งประมาณเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน คุณเจริญจะใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-0-0 อัตรา ต้นละ 2 กิโลกรัม เมื่อมะม่วงแตกใบอ่อนใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดประมาณต้นละ 2-3 กิโลกรัม การใส่ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยทำให้ต้นมะม่วงสมบูรณ์ ใบเขียวเป็นมัน

หลังจากมะม่วงแตกใบอ่อนเสมอกันดีแล้วจะทำการราดสารแพคโคบิวทราโซลชนิด 10 เปอร์เซ็นต์อัตราต้นละ 15 กรัมต่อทรงพุ่ม 1 เมตร ใส่ปุ๋ยทางดินเพื่อเร่งการสะสมอาหารโดยใช้สูตร 8-24-24 อัตราต้นละ 2 กิโลกรัม ทางใบจะฉีดพ่นปุ๋ยสูตร 0-42-56 อัตรา 3 กิโลกรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร ( อัตรา60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร) ร่วมกับสาร “ไฮเฟต” อัตรา 1 ลิตร สารไฮเฟตจะช่วยยับยั้งการแตกใบอ่อน เร่งการสะสมอาหารได้ดี ต่างจากคนอื่นที่จะนิยมใช้ปุ๋ย 0-52-34 ฉีดพ่นจุดนี้คุณเจริญแนะนำว่าถ้าใช้ปุ๋ย 0-52-34 ในการสะสมอาหารต้องใช้ถึง 10 กิโลกรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตรเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วการใช้ปุ๋ยสูตร 0-42-56 จะมีต้นทุนที่ถูกกว่า ในขณะที่ผลผลิตออกมาเหมือนกันจึงเลือกใช้เพราะเป็นการประหยัดต้นทุน

เมื่อสะสมอาหารได้ประมาณ 3-4 ครั้ง หรือนับจากวันราดสารแล้วประมาณ 60 วันขึ้นไปจะทำการเปิดตาดอกโดยใช้ปุ๋ยโปแตสเซี่ยมไนเตรท อัตรา 20 กิโลกรัมร่วมกับไทโอยูเรีย (เช่น ไทเมอร์) อัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตรฉีดพ่นจะทำให้มะม่วงออกดอกสม่ำเสมอ ในช่วงดอกจะต้องเน้นการดูแลเป็นพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการฉีดพ่นสารโบร่า เพราะจะทำให้มะม่วงติดผลดกและผลมีคุณภาพดี เนื้อแน่นไม่เป็นโพรง ถ้าทำมะม่วงส่งออกต้องเน้นเป็นพิเศษเพราะต่างประเทศเขาพิถีพิถันเรื่องเนื้อขาดเป็นโพรงมาก

ปัญหาดอกบานหน้าฝนกับโรคแอนแทรคโนส ในช่วงดอกบานปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือน้ำฝน ฝนจะพาโรคต่างๆ มาทำลายดอกมะม่วงของเรา โดยเฉพาะโรคแอนแทรคโนส คุณเจริญจะใช้วิธีฉีดยาเชื้อราป้องกัน ยาที่ใช้ประจำได้แก่ โวเฟ่น 500 ซีซีผสมกับแอนทราโคล 1 กิโลกรัมฉีดสลับกับอมิสตา 200 ซีซีผสมกับแอนทราโคล 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดสลับกัน 5-6 วันต่อครั้งถ้าฝนตกบ่อยให้ฉีด 3 วันครั้ง ในเรื่องการใช้สารโพคลอราชฉีดช่อดอกมะม่วงเขียวเสวย นักวิชาการมะม่วงหลายท่านห้ามใช้เพราะจะทำให้ดอกมะม่วงเสียหายแต่คุณเจริญใช้สูตรนี้มาตลอดยืนยันว่าไม่เสียแน่นอน

“จะต้องจำไว้เสมอว่าหลังฝนตกต้องฉีดพ่นยาเชื้อราทันทีห้ามปล่อยทิ้งไว้นานเด็ดขาดเพราะเชื้อโรคจะเข้าทำลายช่อดอก”

การขายผลผลิตให้ได้ราคาต้องรวมกลุ่มกันขาย กลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตมะม่วงส่งออก จ.สระแก้ว เกิดจากการรวมตัวกันของเกษตรกรผู้ทำสวนมะม่วงโดยมีคุณเจริญ เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 22 ราย มีพื้นที่ปลูกมะม่วงรวมประมาณ 10,000 ไร่ ผลิตมะม่วงคุณภาพดีส่งออกตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม ถือว่าเป็นกลุ่มที่ผลิตมะม่วงส่งออกมากที่สุดในประเทศ

คุณเจริญยังบอกด้วยว่า การจะทำสวนมะม่วงให้ประสบความสำเร็จสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือการหาตลาด เมื่อก่อนเกษตรกรไม่มีการรวมตัวกัน การขายผลผลิตก็ต่างคนต่างขายแม่ค้าก็กดราคา ตลาดส่งออกก็ไม่มาติดต่อเพราะไม่มั่นใจในความต่อเนื่องของผลผลิตแต่เมื่อมีการรวมตัวกัน อำนาจการต่อรองก็สูงขึ้น ตลาดต่างๆ ก็มาหามากขึ้น กลุ่มสระแก้วเป็นกลุ่มที่มีการจัดการผลผลิตที่ออกมาอย่างดีเยี่ยม ทุกเดือนจะมีการประชุมของสมาชิกภายในกลุ่มเพื่อให้ทราบว่าผลผลิตของใครจะออกช่วงไหน ปริมาณเท่าไร เพื่อที่จะวางแผนการขายให้มีประสิทธิภาพ เช่นมะม่วงน้ำดอกไม้ จะวางแผนการเก็บให้สามารถคัดแยกเกรดได้หลายระดับ โดยจะคัดแยกเป็นการขายผลสดและเข้าโรงงานแปรรูป

การขายผลสด ก็จะแบ่งเป็นหลายตลาด เช่น ufabets.co.uk ตลาดญี่ปุ่น ต้องการมะม่วงผิวสวย ขนาดผล 200-300 กรัม (ได้ราคาสูง 70-90 บาท) ส่วนผลขนาดใหญ่กว่า 300 กรัมก็จะขายตลาดจีนและเกาหลีใต้ (60-70 บาท) สำหรับมะม่วงที่เกรดรองลงมาก็จะส่งขายตลาดภายในประเทศ มะม่วงที่เหลือจากการคัดขายผลสดก็สามารถส่งขายโรงงานแปรรูปได้ ที่ส่งขายมากที่สุดได้แก่โรงงานฟรีซดายที่ บริษัท จันทรบุรีโกลบอล-เทรด จำกัด จังหวัดจันทบุรี ถือเป็นโรงงานที่รองรับผลผลิตของกลุ่มทั้งหมดเพราะใช้มะม่วงเกรดไม่สูงนัก

มาตรฐานมะม่วงที่จะส่งเข้าโรงงานฟรีซดาย 1.ความแก่ แก่จัด ประมาณ 90 % ขึ้นไป(จมน้ำทุกลูก) , 2.ผิว ไม่ต้องสวย เน้นคุณภาพเนื้อ ผิวสามารถมีร่องรอยการทำลายของแมลงได้แต่ต้องไม่เข้าถึงเนื้อใน , 3.ขนาดผล ผลมีขนาด 300 กรัมขึ้นไป รูปทรงมาตรฐาน , 4.ต้องไม่มีรอยโรคแอนแทรคโนส , 5.ต้องไม่มีการทำลายของแมลงวันทอง , 6.ความหวานไม่ต่ำกว่า 16 องศาบริกซ์ , 7.ตัดผลติดขั้วยาวประมาณ 1 เซนติเมตร , 8.ไม่จำเป็นต้องใช้ถุงห่อเกรด เอ อาจใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อผลกันการกระแทกและกันแมลงวันทองก็พอ , 9.จะต้องมีใบรับรองคุณภาพ GAP , 10.ต้องไม่พบสารเคมีตกค้าง ตามมาตรฐานส่งออก

ส่วนเรื่องแมลงศัตรูคุณเจริญจะเน้นการป้องกันเป็นหลัก เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราจะรู้ว่าระยะไหนแมลงชนิดใดจะเข้าทำลาย ยกตัวอย่างเช่นเมื่อช่อดอกแทงยาวประมาณ 2 นิ้วจะมีหนอนมาทำลายเราก็จะฉีดยาฆ่าหนอน อาจจะใช้ยากลุ่มเมทโทมิล หรือ เซฟวิน-85 ก็ได้ ฉีดพ่นประมาณ 1-2 ครั้ง หนอนก็จะไม่ทำลาย หรือในระยะดอกบานเพลี้ยไฟจะระบาด ทางราชการเขาให้งดการฉีดพ่นสารเคมีเพราะจะไปทำลายแมลงที่มาช่วยผสมเกสรแต่จริง ๆ แล้วถ้าเราไม่ฉีดเพลี้ยไฟกินดอกมะม่วงเราหมดก่อนแน่ก็ต้องฉีด แต่การฉีดจะต้องเน้นใช้ยาที่ไม่ทำลายดอกเช่นกลุ่มยาผงอย่างสารโปรวาโด ส่วนยาน้ำมันที่ลงท้ายด้วย EC ให้พยายามหลีกเลี่ยงเพราะเป็นยาร้อนจะทำให้ดอกแห้ง เวลาฉีดก็ควรฉีดพ่นในช่วงเช้าหรือเย็นห้ามฉีดเวลากลางวันเพราะอากาศร้อนจัด

ส่วนระยะดูแลผล เมื่อมะม่วงเริ่มติดผลอ่อนจะต้องฉีดปุ๋ยทางใบเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและลดปัญหาผลร่วงแนะนำให้ใช้ปุ๋ยเหลวสูตรเสมอหรือสูตรตัวหน้าสูงร่วมกับน้ำตาลทางด่วน ข้อดีของการใช้ปุ๋ยเหลวคือจะช่วยทำให้ผลมะม่วงโตเร็วและลดปัญหาผลแตกสะเก็ด ซึ่งถ้าใช้ปุ๋ยเกล็ดบางครั้งจะพบปัญหาผลแตกสะเก็ดขายไม่ได้ราคา ส่วนเรื่องเชื้อราในระยะนี้จะใช้สารแอนทราโคลฉีดป้องกันไว้ตลอดจนผลใกล้แก่จึงหยุดใช้ยาเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออก

อาการผิวแตกในมะม่วงเขียวเสวย (Bacterial Black Spot) เป็นโรคที่พบการทำลายมากโรคหนึ่งของมะม่วงสายพันธุ์นี้ อาการโดยทั่วไปจะพบรอยแตกของผิวเป็นรูปดาว แตกเป็นสะเก็ด และมักมีน้ำเยิ้มตรงขอบ มากน้อย แล้วแต่ความรุนแรงของเชื้อโรค สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas Campestris pv. Mangiferaeindicae โดยเชื้อสาเหตุดังกล่าวมักจะหลบอาศัยอยู่บริเวณกิ่งในทรงพุ่มของต้นมะม่วงเขียวเสวยนั่นเองและเชื้อดังกล่าวจะเข้าทำลายเมื่อผิวมะม่วงเริ่มมีรอยแตกหรือเป็นแผลที่ผล