คนสมัยก่อนไม่รู้จักใส่ปุ๋ย เขาใช้กันแต่ดินธรรมชาติ ดังนั้น

ผืนดินในเขตที่น้ำทะเลขึ้นถึง น้ำกร่อยขึ้นถึง จึงมีแร่ธาตุมาก ทำให้ผลไม้มีรสชาติดี นั่นทำให้สวนโบราณตั้งแต่เขตนครชัยศรี ลงไปจนถึงอัมพวาเป็นสวนที่มีคุณภาพ ทางฝั่งน้ำเจ้าพระยาก็ขึ้นไปถึงนนทบุรี ปทุมธานี จะปลูกผลไม้ได้รสชาติดี นี้แหละทำให้สวนสมัยก่อนต้องเป็นเขตที่น้ำเค็มหรือน้ำกร่อยขึ้นถึง เมื่อดินดี แร่ธาตุจากน้ำกร่อยสมบูรณ์ สวนผลไม้จะสมบูรณ์ไปด้วย สวนทุเรียนที่อยู่ย่านบางกอก บางพลัด นนทบุรี อุดมสมบูรณ์มาก ก็เพราะ 1. ชื้นพอเหมาะถึงแม้น้ำท่วมก็ท่วมไม่ลึก 2. น้ำกร่อยขึ้นถึงได้แร่ธาตุสมบูรณ์

ทุเรียนจึงเอาไปปลูกอยุธยาไม่ได้ ปลูกได้ก็บางที่แต่รสดีสู้ปลูกทางบางกอกไม่ได้ เพราะอยุธยาเป็นที่ดอน น้ำกร่อยขึ้นไม่ถึง ผลไม้จะมีรสชาติดีสู้ทางฝั่งธนไม่ได้ ทุเรียนฝั่งธน บางกอก บางพลัด นนทบุรีจึงปลูกกันมาหลายร้อยปี ได้รับการคัดพันธุ์ พัฒนาพันธุ์มายาวนานมาก”

สุกคาต้นจึงจะได้รสชาติ
จากที่ดิฉันเคยลงทำงานภาคสนามในพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา ดิฉันพบว่าทุเรียนภาคใต้และทุเรียนตะนาวศรีที่ได้เห็น ได้กินมา จะเป็นทุเรียนพื้นเมืองชนิดต้องสุกคาต้น รอให้ร่วงมาถึงจะเก็บไปกินได้ แตกต่างจากทุเรียนในแถวเขตภาคกลางแถวบางกอก บางพลัด ย่านฝั่งธน นนทบุรี แล้วสาเหตุใดเล่าที่ทำให้เกิดพัฒนาการแตกต่างกัน ในประเด็นนี้ อาจารย์เดชา กล่าวว่า

“นั่นแล้วแต่ทักษะของชาวสวน ต้นรากถิ่นกำเนิดจริงๆ ของทุเรียนภาคกลางก็คือทุเรียนป่าเช่นเดียวกับทุเรียนภาคใต้ กับทุเรียนตะนาวศรี ดังนั้น แต่เดิมก็คือทุเรียนป่าที่คนเก็บมากิน มาปลูกอยู่แถวๆ บ้าน พอได้เมล็ด ต้นไหนอร่อยก็ปลูกต่อๆ กันไป ครั้นปลูกไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งหลากหลายคุณภาพ เพราะแต่เดิมปลูกด้วยเมล็ดไม่ใช่กิ่งตอน คุณภาพของแต่ละต้นจึงไม่เหมือนกัน หลากหลายรสชาติ เมื่อเอาทุเรียนมาปลูกที่ภาคกลางของไทย พบว่าต้นไหนอร่อย ชาวสวนก็จะขยายพันธุ์ด้วยการตอน วิธีนี้ทำให้ผลไม้ไม่กลายพันธุ์ แล้วยิ่งปลูกต่อไปอีกก็จะยิ่งดีขึ้น ชาวสวนก็จะเอาต้นนั้นเป็นแม่พันธุ์ต่อไปอีก พัฒนาการของทุเรียนก็จะขยายไปจากต้นที่ดี แล้วก็ถูกคัดพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ พอได้พันธุ์ที่คัดมาอร่อยคงที่แล้ว เขาก็เอาเป็นต้นแม่พันธุ์ไป ใช้กิ่งตอนไปก็จะไม่เปลี่ยนรสชาติ ไม่กลายพันธุ์ ที่ชาวสวนภาคกลางมีพัฒนาการในการปลูกผลไม้มากกว่าคนภาคอื่น เพราะ

เขามีความชำนาญมากกว่าคนภาคอื่น สั่งสมความรู้ความชำนาญมาหลายร้อยปี ตอนกิ่งผลไม้ได้คล่องมากๆ
เขาคัดคุณภาพรสชาติได้เก่งมาก เพราะสามารถขายได้ในราคาแพง ภาคกลางเป็นเขตเมืองหลวง คนรวย ฐานะดี ชนชั้นเจ้า ขุนนางมีเงินที่จะซื้อของดีของอร่อยกินได้ ราคาแพงเท่าไรก็ซื้อได้ ยิ่งขายได้แพงขึ้นก็ยิ่งขยายพันธุ์ต้นเฉพาะต้นที่ดีๆ ต้นไม่ดีก็ไม่เอา โค่นทิ้งไปได้เลย ส่วนทางบ้านนอก ทางต่างจังหวัดปลูกกินเองยังไงก็ได้ ต้นดีต้นไม่ดีมันก็อยู่ปนๆ กันไป

การคัดพันธุ์ผลไม้ให้ไม่กลายพันธุ์คนสวนภาคกลางชำนาญมาก เขาใช้วิธีการตอนกิ่ง มันจะแน่นอน ส่วนการคัดโดยการเพาะเมล็ดมันจะออกมาหลากหลาย ดีบ้างไม่ดีบ้าง ต้นไหนดีที่สุดชาวสวนก็จะเอาต้นนั้นมาขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง พอกิ่งตอนออกลูกมา ก็เอาเมล็ดไปคัดพันธุ์ต่อ ไปปลูกต่อแล้วตอนกิ่ง เก็บเมล็ดมาปลูกคัดพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ ต้นลูกหลานที่ได้รสชาติดีกว่าต้นพ่อต้นแม่ เขาก็จะขยายต่อไปอีก วิธีการเช่นนี้ทำให้มีการยกระดับไปเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพสูง ทุเรียนพื้นบ้านในภาคกลางจึงไม่มีปลูก เพราะรสชาติสู้ทุเรียนคัดพันธุ์มาแล้วไม่ได้ ปกติทุเรียนพื้นบ้านมีเนื้อน้อย บางทีเนื้อยังหุ้มเมล็ดไม่มิดก็มี แกะเปลือกมาเห็นเมล็ดลอยเนื้อนิดเดียว หุ้มเมล็ดยังไม่มิด แต่พอคัดพันธุ์พัฒนาไป ลูกก็ใหญ่เนื้อก็เต็มไปหมด จนกระทั่งเมล็ดลีบเพาะไม่ขึ้น นี่คือวิธีการคัดเลือกและขยายพันธุ์ที่ดี ชาวสวนภาคกลางจะมีความชำนาญในการคัดพันธุ์มากกว่าคนภาคอื่น เขาสั่งสมความรู้ในสายตระกูลมาหลายร้อยปี และได้ปรับวิธีการคัดพันธุ์จนได้ทุเรียนที่ดีกว่าต้นกำเนิด

ดังนั้น แม้ทุเรียนจะมีถิ่นกำเนิดที่บอร์เนียวแล้วขึ้นมาทางภาคใต้ของไทย แต่อินโดนีเซียทั้งประเทศและภาคใต้ไทย ทุเรียนพื้นเมืองก็รสชาติสู้ทุเรียนภาคกลางไม่ได้ เพราะทักษะของชาวสวนภาคกลางสูงกว่าคนมาเลย์ คนอินโดนีเซีย และคนภาคใต้มาก ชาวสวนภาคกลางอยู่กับเมืองหลวง เขามีการศึกษา เขามีตลาดที่ดี มีทักษะที่ดี และพื้นที่เขาน้อย จะไปปลูกผลไม้สะเปะสะปะไม่ได้ เขาก็ปลูกให้ทุเรียนคุณภาพสูงๆ เข้าไว้ จะได้ขายราคาแพงๆ ชาวสวนภาคกลางไม่ได้ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง แต่ใช้คุณภาพเป็นตัวตั้ง แต่ที่อื่นพื้นที่มาก มีเรี่ยวแรงก็ปลูกเข้าไปมากๆ เก็บหามามากๆ ได้ต้นดีไม่ดีปนกันไปบ้างก็ไม่เป็นไรเพราะว่าพื้นที่เยอะ แล้วก็ไม่ได้ขาย เก็บกินกันเอง อร่อยบ้างไม่อร่อยบ้างก็กินๆ ไป ถ้ารสชาติไม่ดีต้องเก็บขาย ก็ขายราคาถูกๆ ไป”

ฟังคำตอบจากอาจารย์เดชาแล้ว ดิฉันจึงตั้งข้อสงสัยถามต่อไปว่า ทุเรียนต้นหนึ่งออกผลมาจะมีคุณภาพทัดเทียมกับต้นพ่อต้นแม่ได้สักกี่เปอร์เซ็นต์

“โดยปกติตามทฤษฎีถ้าเป็นพันธุ์ดีแล้ว โอกาสจะดีเท่าเดิมมันน้อย เพราะว่ามันดีอยู่แล้ว” อาจารย์เดชาตอบคำถาม ก่อนจะอธิบายรายละเอียดมากยิ่งขึ้นว่า

“สมมุติว่าเราเข้าไปในป่า หยิบผลไม้มาสักลูกหนึ่ง เอาเมล็ดไปปลูกต่อ โอกาสจะได้ผลรสชาติดีไม่ดี จะอยู่ประมาณครึ่งต่อครึ่ง เพราะเป็นพันธุ์ที่ไม่ได้คัด แต่ถ้าเอาต้นที่ดีมาปลูกต่อโอกาสจะได้พันธุ์ดีจะน้อยลงไปมาก แค่ไม่เกิน 5% ที่แย่กว่าเดิมจะ 95% ดังนั้น ถึงแม่พันธุ์จะดี เอาไปปลูกด้วยเมล็ดต่อ 20 ต้น ก็จะได้แค่ 1 ต้นที่ดี เพราะแค่ 5% มันจะได้อยู่แค่นี้ ทักษะในการตอน การใช้กิ่ง จึงสำคัญในการขยายพันธุ์พืช ถ้าอยากได้พันธุ์เดิมเขาก็ไม่เอาเมล็ดมาปลูกหรอก เพราะ 1. การปลูกด้วยเมล็ด มีโอกาสกลายพันธุ์ถึง 95% และ 2. การปลูกด้วยเมล็ดจะใช้เวลาในการปลูกนานมาก กว่าจะรู้ผล ดังนั้น ชาวสวนจึงเอาต้นที่ดีมาขยายพันธุ์ด้วยการตอน ใช้กิ่งจากต้นแม่พันธุ์จะสะดวกกว่า

การตอนกิ่งใช้เวลาปลูกแค่ไม่เกิน 5-6 ปี ก็ให้ผลผลิตแล้ว แต่ปลูกเมล็ดต้องใช้เวลาถึง 10 ปี มันต่างกันครึ่งต่อครึ่งไปเลย การขยายพันธุ์โดยใช้กิ่งตอน จึงเป็นทักษะที่ช่วยให้ชาวสวนพัฒนาขยายพันธุ์ผลไม้ได้มาก ถ้าปลูกแต่เมล็ดอย่างเดียวมันพัฒนาได้ยาก”

ชาวสวนไทยสั่งสมความรู้มาหลายร้อยปี
การที่ชาวสวนภาคกลางของไทยเก่งมาก พัฒนาทักษะการขยายพันธุ์พืชได้เชี่ยวชาญมาก น่าใคร่ครวญยิ่งว่าเกิดเพราะสาเหตุใด จะเนื่องจากชาวสวนภาคกลางของไทยมีเชื้อจีนด้วยหรือไม่?

สำหรับประเด็นนี้ อาจารย์เดชา ให้คำตอบทันทีว่า

“ไม่ใช่เพราะชาวสวนไทยมีเชื้อสายจีนหรอกครับ แต่เดิมก่อนที่คนจีนจะเข้ามาในเขตภาคกลางของไทย ชาวสวนภาคกลางก็มีพัฒนาการสูงมากๆ อยู่แล้ว

เกษตรกรไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มที่พัฒนาต่ำสุดคือชาวไร่ ชาวไร่จะปลูกพืชไร่หลากหลายชนิดอยู่ไกลๆ ตามป่าตามดง คนกลุ่มนี้ความเป็นอยู่ก็แย่ ความรู้ก็ต่ำ มีชีวิตลำบาก กลุ่มที่มีพัฒนาการกลางๆ คือชาวนา ปลูกข้าว จะอยู่กันตามชนบทไกลจากตัวเมือง ชาวนาจะเป็นประชากรส่วนใหญ่เพราะข้าวเป็นอาหารหลัก ชาวนามักอยู่เป็นหลักแหล่ง เป็นคนใหญ่ของประเทศไทยมาแต่โบราณ สร้างสรรค์วัฒนธรรมชาวนา วัฒนธรรมชาวบ้านไทยโบราณจึงเป็นวัฒนธรรมบนฐานของชาวนา ส่วนเกษตรกรกลุ่มที่พัฒนาสูงขึ้นมา ก็จะไปอยู่ใกล้เมือง

พื้นที่น้อย เขาจะปลูกผลไม้ เรียกว่าชาวสวนผลไม้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ปลูกสมุนไพร ปลูกหมาก ปลูกพลู ผลิตผลเหล่านี้ราคาดีกว่าพืชไร่ ราคาดีกว่าข้าวเมื่อชาวสวนไปอยู่ในเขตตัวเมือง มีพื้นที่น้อย เขาก็ต้องพัฒนาพื้นที่เขาให้ผลิตสินค้าที่ขายได้ราคาดีมากๆ เพราะเอาคุณภาพเป็นตัวตั้ง ชาวสวนจึงชำนาญเรื่องพันธุ์พืช จะคัดเลือกพันธุ์จะขยายพันธุ์เก่ง แต่คนสวนเขาอยู่ใกล้เมือง เพราะฉะนั้น เขาก็ส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือสูงๆ เพื่อไปเป็นข้าราชการ คนกลุ่มชาวสวนจะมีพัฒนาการสูงกว่าชาวนาชาวไร่มาก คือเขาจะเปลี่ยนฐานะจากเกษตรกรไปเป็นข้าราชการหรือเป็นพ่อค้าง่ายมาก เพราะอยู่ใกล้เมือง การศึกษาก็ดี ชาวสวนถือเป็นเกษตรกรระดับสูง พื้นที่น้อยความชำนาญสูง ขายได้แพง และมีรายได้ดี ผลิตผลขายได้แน่นอน และเขายังอยู่ใกล้ความเจริญ เขาจะปรับฐานะตัวเองได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น

ทุเรียนตะนาวศรี
ก่อนที่อาจารย์เดชาจะเข้าไปถึงเมืองตะนาวศรี อาจารย์เดชากล่าวว่า ท่านไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตะนาวศรีมีทุเรียนมาก คนไทยแทบไม่มีใครรู้เรื่องนี้ เนื่องด้วย

“เมืองไทยกับตะนาวศรีไม่เคยติดต่อกันมานานแล้วนะครับ ในเอกสารโบราณก็บอกเพียงว่าตะนาวศรีเป็นเมืองท่า ในฐานะเมืองท่าเราก็รู้แค่ว่ามีแต่เรื่องการค้าขาย ไม่มีพูดถึงการเกษตร และที่จริงเมืองตะนาวศรีก็ไม่ใช่เมืองทางการเกษตรเพราะมีที่ราบน้อยมาก ทำได้หลักๆ ก็คือเป็นเมืองท่าค้าขาย พอผมได้ล่องเรือไปตามลำน้ำตะนาวศรี ได้เห็นพื้นที่ราบข้างแม่น้ำก่อนจะถึงเชิงเขา มองไปเห็นสวนหมากตลอดสองฝั่งน้ำ คนตะนาวศรีปลูกหมากเยอะมาก ยุคก่อน-หมากจะเป็นสินค้าสำคัญมาก เพราะนอกจากใช้กินแล้ว หมากยังขายได้ราคาดี หมากคือสินค้าหลักที่คนไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กินกันทั่ว ประเทศไทยปลูกเองไม่พอกิน คนไทยต้องนำเข้าหมากจากเกาะหมาก (ปีนัง) จริงๆ แถวเขตตะนาวศรี มะริด แต่ก่อนก็เป็นเมืองหมากแบบปีนังนี้แหละ

พื้นที่เหมาะสำหรับปลูกหมาก ปลูกแบบโบราณคือปลูกแบบปล่อยให้ร่วงแล้วขึ้นเองเป็นดงหมาก ขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ ลักษณะแบบนี้สมัยใหม่เขาไม่ทำกัน ปัจจุบันต้องตั้งใจปลูก แต่ยุคก่อนเขาจะปลูกให้ลูกมันร่วงกระจายไปเรื่อย หล่นก็งอก หล่นก็งอก ต่อไปเรื่อยๆ ตามเชิงเขาริมฝั่งน้ำตะนาวศรีถึงมีสวนหมากขึ้นเป็นดง เป็นป่าหมากไปเลย ชาวสวนหมากก็ใช้กินด้วย ขายด้วย ถึงตอนนี้คนตะนาวศรีก็ยังขายหมากกันอยู่ สภาพแวดล้อมแบบนี้พืชที่ปลูกแซมในสวนหมากได้จะมีไม่กี่ชนิด หลักๆ คือจำปาดะกับทุเรียน พืช 2 ชนิดนี้เหมาะมาก เพราะจะเข้ากับสภาพที่เป็นสวนหมากได้ดี เนื่องจากรากลึกคนละระดับ รากไม่รบกวนกัน มันอยู่ด้วยกันได้ หมากมีรากตื้นรากฝอย แต่ทุเรียนรากลึกก็ไม่รบกวนกัน อีกอย่างคือหมากต้นเรียว หมากไม่มีกิ่งก้านสาขาไปรบกวนบังทุเรียน ใบหมากก็ไม่ได้บังแสงมากมาย เพราะฉะนั้น แสงก็ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ถ้าโล่งมากเกินไปก็ไม่ดีกับทุเรียน พายุพัดมาทุเรียนต้นหักได้ ทุเรียนต้องมีอะไรมาช่วยบังลม บังแดดบ้างในช่วงแรกๆ ดังนั้น หมากกับทุเรียนจึงไปด้วยกันได้ดี

จำปาดะก็เหมือนกัน มันไม่ต้องการแสงมาก ไม่ต้องการลมแรง ดังนั้น ทุเรียนกับจำปาดะจึงอยู่กับสวนหมากได้ดี ชาวสวนตะนาวศรีเองก็คงคัดชนิดพันธุ์พืชที่จะปลูกกับสวนหมากได้มาแล้วนั้นแหละ เขาถึงปลูกหมากเป็นหลัก หารายได้หลักจากหมาก ส่วนทุเรียนก็ปลูกไว้กิน เหลือแล้วค่อยขาย ที่มองๆ ดูในสวนหมากพืชที่ปลูกแซมอยู่มีทุเรียนเป็นส่วนใหญ่ จำปาดะเห็นบ้าง แต่ต้นมันเล็กไม่ค่อยมีมาก ที่โผล่ๆ พ้นยอดหมากมา เห็นมีแต่ทุเรียนทั้งนั้น ดูสองฝั่งแม่น้ำ ผมเห็นทุเรียนเป็นหมื่นๆ ต้น มองเห็นสุดสายตา จำนวนเยอะมาก บางต้นสูงมากใหญ่มากน่าจะมีอายุอยู่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาล่ะกระมัง และต้นพันธุ์คงจะยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย

เพราะฉะนั้น ทุเรียนตะนาวศรีชนิดพันธุ์ก็พันธุ์โบราณ ความหลากหลายก็ยิ่งมีมาก เพราะปลูกกันมาแต่เมล็ด ไม่มีการตอนกิ่งใดๆ ทั้งสิ้น แล้วแต่ละพื้นที่ยังต่างกันไปอีก ขนาดเวลาลูกสุกก็ยังสุกไม่พร้อมกันเลย ผมได้กลับเข้าไปสำรวจทุเรียนตะนาวศรีอีกครั้งเมื่อกลางปี พ.ศ. 2561 เราเข้าไปดู แต่ละพื้นที่ต้นพันธุ์ยังต่างกันเลย ถึงจะเป็นทุเรียนพื้นเมืองก็เถอะ เพราะมันต้องปรับให้เข้ากับสถานที่และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ทุเรียนตะนาวศรีจึงยังคงความหลากหลายไว้มากอยู่ ยิ่งพอเข้าไปดูที่มะริด คุณภาพทุเรียนดูจะดีกว่าตะนาวศรีซะอีกด้วย เพราะมะริดเป็นเมืองใหญ่กว่า ปลูกทุเรียนมาก่อน มีการคัดเลือกพันธุ์มากกว่า ตะนาวศรีเมืองมันเล็กทุเรียนแบบไหนก็กินกันได้ ผลผลิตออกมายังไงก็ได้ คุณภาพเลยสู้มะริดไม่ได้ คุณภาพทุเรียนมะริดจึงดีกว่าตะนาวศรี จำปาดะมะริดก็ดีกว่าตะนาวศรี”

อาจารย์เดชา ศิริภัทร ได้ข้ามด่านสิงขรเข้าไปถึงเมืองตะนาวศรีและมะริดอีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ได้เดินสำรวจสวนหมาก จำปาดะ ทุเรียน ในหลายพื้นที่ และได้เห็นทุเรียนพันธุ์ดีจากตะนาวศรี ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง น่าที่ชาวสวนเมืองไทย จะได้เข้าไปสืบค้นและเปลี่ยนความรู้จากคนไทยในตะนาวศรี คนปลูกทุเรียนพื้นเมืองที่ได้สั่งสมแม่พันธุ์ผลไม้อีกหลายชนิด อันน่าจะเป็นโอกาสดียิ่งสำหรับเกษตรกรในสองแผ่นดินชายแดนไทย-พม่า สองฟากแม่น้ำและขุนเขาตะนาวศรี

แต่ละท้องถิ่นของไทย มีพืชแปลกๆ ให้ได้พบเห็น เดิมทีอาจจะซ่อนลึกอยู่ในหลืบ เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนนำมาปัดฝุ่น ประกอบกับการสื่อสารทันสมัย คนจึงรู้จัก พร้อมทั้งพัฒนา จนมีค่า มีราคาดี

มะไฟกา ของ คุณโอสถ นราพงค์ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ของการเก็บสิ่งที่มีอยู่มารักษาไว้ ต่อมากลายเป็นสิ่งมีคุณค่า ปัจจุบัน คุณโอสถ อยู่บ้านเลขที่ 385 หมู่ที่ 1 ตำบลช้างกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ภาคใต้ แถบจังหวัดระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จะเรียกว่า มะไฟป่า ส้มไฟแดง ส้มไฟดิน

เป็นไม้ผลพื้นเมืองของภาคใต้ รสชาติจะออกหวานอมเปรี้ยว

ถือเป็นผลไม้มงคล ปลูกไว้สำหรับเพื่อกินผลสดและปลูกเป็นไม้ประดับสีสันสวยงาม สามารถนำไปปรุงเป็นซอสรสเปรี้ยว แทนส้มและมะนาว ทำส่วนผสมของไอศกรีมเชอร์เบท เนื่องจากมีผลสีแดง จึงเหมาะสำหรับใช้ไหว้เจ้าและเป็นของขวัญของกำนัล ด้วยเป็นผลไม้สีแดงทับทิม ตามคำภาษาชาวจีนเรียกว่า “อั่ง” เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี มีความสุขและความเจริญเติบโตรุ่งเรืองมั่นคง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

คุณโอสถ บอกว่า ในท้องถิ่นรู้จักมะไฟกากันดี ส่วนใหญ่แล้วพบว่า รสชาติที่ได้กินกัน มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน แต่มีอยู่ไม่กี่ต้นที่รสชาติหวานอมเปรี้ยว

ต้นที่บ้านของตนเองมีลักษณะโดดเด่นคือ รสชาติดี ติดผลดก

วิธีการขยายพันธุ์ ใช้การเพาะเมล็ด เมื่อปลูกไป 4-5 ปี จึงเริ่มมีผลผลิต ผลอ่อนของมะไฟกามีสีดำ เมื่ออายุของผลมากขึ้นสีแดงเข้ม เมื่อสุกสีแดงอ่อนลง เนื้อในเหมือนมะไฟทั่วไป แต่รสจะไม่หวานจัด

ส่วนใหญ่แล้ว ผลผลิตจะออกช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ถามว่า ผลผลิตต่อต้นได้มากน้อยแค่ไหน

คุณโอสถ บอกว่า ผลผลิตดกเป็นบางปี ซึ่งปีที่ดกๆ เคยเก็บผลผลิตจำหน่ายได้ต้นหนึ่งเป็นเงินถึง 30,000 บาท สนนราคาที่ขาย กิโลกรัมละ 30 บาท

เจ้าของแนะนำวิธีการปลูกว่า โดยธรรมชาติท้องถิ่นที่อยู่ปัจจุบัน ปลูกผสมผสานกับไม้อื่น เช่น สวนยางพารา สวนผลไม้อื่นๆ ยังไม่ได้ปลูกเป็นพืชเดี่ยวกลางแจ้ง หากต้องการปลูกคงทำได้ แต่ต้องอาศัยเวลาให้ต้นไม้ปรับตัว

ที่มีอยู่ ไม่ได้ปลูกเป็นการค้าเชิงเดี่ยว แต่ผสมผสานได้อย่างเหมาะสม โดยอาศัยพืชอื่นด้วย

ถามถึงจุดเด่น เจ้าของตอบว่า

“ลูกสวยสีแดงสด น่าจะเป็นไม้ประดับได้ดี ผลกินเหมือนมะไฟ” เรื่องของต้นพันธุ์ เจ้าของบอกว่า มีไม่มากนัก ราคาไม่แพง แต่อาจจะต้องลงไปซื้อถึงถิ่น

“จำนวนต้นที่ปลูกแล้วมีผลผลิตไม่มากนัก แต่ก็ขยายพันธุ์ สำหรับผู้สนใจ” คุณโอสถ บอก “ทุเรียนปราจีนบุรี” ติดหนึ่งในทำเนียบทุเรียนพันธุ์ดีของไทย เพราะขึ้นชื่อลือชาในเรื่องรสชาติความอร่อย แต่หากินยากเพราะมีพื้นที่ปลูกไม่มาก ผลผลิตมีจำนวนจำกัด เกษตรกรจึงขายผลผลิตได้ราคาสูง 150-200 บาท ต่อกิโลกรัม

ปัจจุบัน ทุเรียนปราจีนบุรี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มีจำนวน 7 สายพันธุ์ แบ่งเป็นทุเรียนพันธุ์การค้า ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว หมอนทอง ชะนี กระดุมทอง และมีกลุ่มทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองอีก 3 สายพันธุ์ ได้แก่ กบชายน้ำ ชมพูศรี และพันธุ์กำปั่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้กับทุเรียนปราจีนบุรี ที่ปลูกในพื้นที่อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอศรีมหาโพธิ และอำเภอนาดีเท่านั้น เนื่องจากทำเลดังกล่าวมีสภาพดินเหมาะสมสำหรับเพาะปลูกทุเรียน เพราะสภาพดินชั้นบนเป็นดินร่วนปนทราย ดินชั้นล่างเป็นหินผุและศิลาแลง ทำให้การระบายน้ำสะดวก น้ำไม่ขังในเนื้อดิน การกระจายตัวของธาตุอาหารทั่วถึง ลักษณะภูมิอากาศและปริมาณน้ำฝน ประกอบกับความชื้นสัมพัทธ์เหมาะสมพอดีกัน

เกษตรกรชาวสวนทุเรียนแต่ละรายในจังหวัดปราจีนบุรี จะมีพื้นที่ปลูกทุเรียนไม่มาก ใช้แรงงานคนในครอบครัวเป็นหลัก มีการดูแลจัดการสวนในลักษณะเกษตรอินทรีย์ ไม่ค่อยใช้สารเคมี และแปลงผลิตส่วนใหญ่ผ่านการรับรองการผลิตตามมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) จากกรมวิชาการเกษตร เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยว ชาวสวนจะตัดตามความสุกแก่ในแต่ละมีด ทำให้ได้ทุเรียนคุณภาพดี เนื้อทุเรียนมีสีเหลือง แห้ง หนา เส้นใยน้อย หวานมัน เปลือกผลบาง ผิวเปลือกสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม หนามถี่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นสำคัญของทุเรียนปราจีนบุรีที่โดนใจแม่ค้าและผู้บริโภคอย่างแรง ทำให้ขายผลผลิตได้ราคาดี จนผลิตไม่พอขายอีกต่างหาก

คุณแป๊ะ เรียนจบสาขาสัตวบาล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยทำงานบริษัทเอกชนมาก่อน แต่ใจชอบทำสวน จึงหันมาซื้อที่ดินที่อำเภอนาดี ทำสวนผลไม้ เช่น ปลูกฝรั่งพันธุ์หวานพิรุณ ทำสวนส้มและสวนทุเรียน เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ปัจจุบัน สวนนายแป๊ะ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการทำสวนผลไม้ ที่มีคุณภาพมาตรฐาน GAP เขาแบ่งพื้นที่ 20 ไร่ ปลูกฝรั่งพันธุ์หวานพิรุณ อีกแปลง เนื้อที่ 50 ไร่ ปลูกต้นส้มเขียวหวานผสมผสานกับต้นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง

คุณแป๊ะ ได้ประยุกต์ภูมิปัญญาชาวสวนส้มบางมดมาใช้ในการบริหารจัดการสวนแห่งนี้ โดยปลูกส้มเป็นไม้ประธาน ในระยะห่าง 3.5 เมตร พร้อมปลูกทุเรียนหมอนทองเป็นพืชร่วมแปลง ในระยะห่าง 8-12 เมตร ดูแลให้ปุ๋ยพืช ตามหลักเรโชปุ๋ย และสอดคล้องกับความต้องการของพืช รวมทั้งใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือน เพื่อให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าไปช่วยย่อยสารอาหารในดิน กระตุ้นการดูดซึมธาตุอาหารของรากพืชได้ดีขึ้น ช่วยกระตุ้นความหวานแก่ผลส้มอีกทางหนึ่ง

ในช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ที่นี่จะปล่อยให้ “ต้นหญ้า” เติบโตตามธรรมชาติ เพื่อทำหน้าที่รักษาความชื้นบนผิวดิน หลังจากนั้นจะตัดหญ้าในสวนให้โล่งเตียนสวยงาม เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นหญ้าอุ้มน้ำในช่วงฤดูฝน เรียกได้ว่า ต้นหญ้า เป็นตัวช่วยดีที่สุด ในการปรับปรุงคุณภาพดินภายในสวนแห่งนี้ เพราะรากต้นหญ้าจะทำหน้าที่พรวนดินในแปลงปลูกไม้ผลตลอดเวลา

คุณแป๊ะ เน้นดูแลจัดการแปลงปลูกผลไม้ทุกชนิดด้วยความตั้งใจ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสกินผลไม้รสชาติดี ปลอดสารพิษ สำหรับแปลงปลูกทุเรียนของสวนแห่งนี้ เริ่มให้ผลผลิตมาได้ 2 ปีแล้ว สินค้าหลักคือ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และปลูกทุเรียนพันธุ์ชะนีแซมในสวนเพียงไม่กี่ต้น สินค้ามีจำนวนจำกัด แต่ขายดีมาก เพราะมีรสชาติอร่อย ที่สำคัญราคาไม่แพง

อำเภอนาดี เป็นแหล่งปลูกทุเรียนปราจีนบุรีคุณภาพดี ตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากำหนดในทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และได้มาตราฐานอาหารปลอดภัย ดังนั้น สวนทุเรียนคุณแป๊ะ จึงขายดี เป็นที่รู้จักของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรทั่วไป แวะเวียนเข้ามาศึกษาดูงานตลอดทั้งปี

ทุเรียนปราจีนปีนี้ อร่อยสุดๆ

ที่ผ่านมา คุณแป๊ะ อาศัยจำหน่ายสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊ก Holiday Palace และร้านค้าในท้องถิ่น ก็ขายดิบขายดี สินค้ามีจำนวนจำกัด ใครมาช้า ก็อดไปตามระเบียบ เนื่องจากปีนี้ จังหวัดปราจีนบุรี เจอสภาพอากาศร้อนและแห้ง ทำให้เนื้อทุเรียนปราจีนแท้ๆ มีรสชาติอร่อยสุดๆ ตามไปด้วย อย่างที่บอกข้างต้น ทุเรียนปราจีนบุรีของแท้ มีจำนวนจำกัด หากพลาด ก็ต้องร้องเพลงรอไปถึงปีหน้า

ที่ผ่านมา ทุเรียนสวนนายแป๊ะ มักถูกจับจองโดยกลุ่มลูกค้าขาประจำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเพื่อนและคนที่รู้จักของคุณแป๊ะ ที่มีโอกาสลิ้มลองรสชาติของทุเรียนพันธุ์ชะนีและหมอนทองของสวนแห่งนี้มาก่อน พวกเขาต่างติดใจในรสชาติหวานมันอร่อยของสวนแห่งนี้ ที่เน้นตัดทุเรียนแก่จัดเท่านั้น เมื่อเปิดรับจองสินค้าหน้าเฟซบุ๊ก ทำให้สินค้าทุเรียนของสวนแห่งนี้หมดอย่างรวดเร็วทุกรอบ สำหรับปีนี้ สวนนายแป๊ะ จำหน่ายทุเรียนพันธุ์ชะนีในราคาหน้าสวนที่กิโลกรัมละ 100 บาท หมอนทอง ขายที่กิโลกรัมละ 140 บาท

เนื่องจาก คุณแป๊ะ ดูแลใส่ใจให้ลูกค้าได้ทุเรียนแก่จัดที่มีคุณภาพดีจริงๆ ทำให้ผลผลิตบางส่วนสุกคาต้น ซึ่งทุเรียนกลุ่มนี้ถือเป็นสินค้าตกเกรด จะไม่นำมาจำหน่าย แต่จะแกะเนื้อทุเรียนแก่จัดไว้ทำทุเรียนกวน ที่ใช้เนื้อทุเรียนล้วนๆ ไม่ผสมแป้ง ไม่ใส่สารกันบูด จำหน่ายให้แก่ผู้สนใจ ในราคากิโลกรัมละ 400 บาท

หากใครสนใจก็สั่งจองสินค้าล่วงหน้ากับ คุณแป๊ะ ได้เลย ทางเบอร์โทร. 081-374-5226 หรือทาง ID.LINE 081-374-5226 หรือทางเฟซบุ๊ก สุชาติ ธนะพฤกษ์ (สวนนายแป๊ะ)

นางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหมได้พิจารณาคัดเลือกเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้หน่วยงานในสังกัดคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ ที่มีผลงานดีเด่นในสาขาอาชีพต่างๆ ให้เป็นเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ เผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนรับทราบโดยผลการคัดเลือกเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมประจำปี 2562 ได้แก่ นางโยธกา บุญมาก เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านพญาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ.2562 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา