คนเมืองนนท์ ปลูกอินทผลัมกินผลสด “บาร์ฮี” อายุ 3 ปี ได้ผลผลิต

100 กิโลกรัม ต่อต้นพูดถึง อินทผลัม หลายคนคงคิดถึงแบบอบแห้งกันใช่ไหม แต่จริงๆ แล้ว ยังมีอินทผลัมแบบกินผลสดในบ้านเราเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งคนปลูกและคนกิน เทคโนโลยีชาวบ้าน มีโอกาสพูดคุยกับ คุณปรีชา ธรรมชูเชาวรัตน์ เจ้าของสวนอินทผลัม จังหวัดนนทบุรี สวนนี้ถือว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่ง

คุณปรีชา ธรรมชูเชาวรัตน์ อยู่บ้านเลขที่ 70 หมู่ที่ 2 ตำบลบางพลับ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่ผ่านมาปลูกโป๊ยเซียน เฟื่องฟ้า ลีลาวดี ชวนชม และไม้ประดับอื่นๆ ในพื้นที่ 100 ไร่ หลังจากนั้นก็มาปลูกอินทผลัมทั้งแบบการเพาะเมล็ดและปลูกแบบต้นที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ปัจจุบัน ได้ผลดี คือปลูกจากต้นที่ขยายพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ “พันธุ์ที่ทางสวนปลูกคือ พันธุ์บาร์ฮี (เนื้อเยื่อ) เพราะให้ผลที่แน่นอน ตอนแรกที่สวนก็ปลูกแบบเพาะเมล็ดด้วย แต่ว่าขุดทิ้งออกหมดแล้ว เพราะว่าให้ผลผลิตไม่แน่นอน ตอนนี้ที่สวนมีพันธุ์บาร์ฮี ปลูกอยู่เป็นหลักร้อย ประมาณ 500 ต้น อายุต้นอยู่ประมาณ 2-3 ปี ต้นหนึ่งสามารถออกผลได้ตั้งแต่ 2 ปีหลังจากปลูกแล้ว เพราะว่าสภาพดินที่สวนเป็นดินเหนียวค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์ ส่วนราคาขายผลผลิตจะเป็นกิโลกรัมละ 500 บาท ถ้าปลูกทุเรียนก็จะดี แต่ถ้าปลูกอินทผลัมก็จะดียิ่งกว่า เพราะว่าดินที่นี่สมบูรณ์มากกว่าที่อื่น” คุณปรีชา บอก

คุณปรีชา บอกว่า ราคาต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ อยู่ที่ต้นละ 1,500 บาท ซึ่งมีความแน่นอน สั่งตัวเมียได้ตัวเมีย เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ต้นที่ให้ผลผลิตได้คือต้นตัวเมีย จึงต้องมีตัวผู้จำนวนหนึ่งไว้ผสมเกสร ปัจจุบันใช้พันธุ์ตัวผู้เคแอล 1

ดูแลดี มีผลผลิตให้เก็บเร็ว

ระยะปลูกที่เหมาะสม ช่วงแรก คุณปรีชา ปลูกอินทผลัมระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 6 คูณ 6 เมตร เวลาผ่านไป 3 ปี ซึ่งต้นให้ผลผลิตแล้ว ต้นชิดเกินไป ที่เหมาะสมควรเป็น 8 คูณ 8 เมตร ไร่หนึ่งปลูกได้ 25 ต้น

เตรียมดินอย่างไร เจ้าของบอกว่า แรกสุด ไม่ต้องเตรียมอะไรมาก หลังปลูก ใส่ปุ๋ยคอก ใบก้ามปู

ปุ๋ยต้องเหมาะสม ช่วงที่ต้นยังไม่ให้ผลผลิต นอกจากปุ๋ยคอกและใบก้ามปูแล้ว หากเป็นปุ๋ยวิทยาศาสตร์เน้นตัวหน้าคือไนโตรเจน ก่อนออกดอกสะสมอาหารด้วยสูตร 8-24-24 ก่อนเก็บผลผลิต เพิ่มความหวานด้วยสูตร 13-13-21 เน้นตัวท้ายสูง

น้ำให้ทุกวัน ช่วงฝนไม่ต้องให้น้ำ แต่หากเป็นหน้าแล้ง เจ้าของบอกให้ทุกวันศัตรูของอินทผลัม

อินทผลัม มีศัตรูคล้ายๆ มะพร้าว คือ ด้วงเจาะลำต้น

ด้วงแรดเจาะลำต้น ไม่ทำให้ต้นอินทผลัมตาย แต่หลังจากนั้น หากมีด้วงงวงเจาะตามเข้าไป ต้นแย่แน่ ทางป้องกันคือทำแปลงให้สะอาด อย่ามีกองขยะ กองเศษใบไม้ เพราะจะเป็นที่อาศัยวางไข่ของด้วง วิธีการเก็บเกสร และการผสมเกสร

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บเกสรคือ เครื่องดูดฝุ่น ที่ใช้ดูดฝุ่นตามบ้านก็จะนำมาดูดเกสร พอดูดมาแล้วนำมาห่อกระดาษ แล้วนำมาตากแดด แต่แดดที่ตากไม่ต้องแรงมาก เพราะจะทำให้เกสรตายได้ ตากแค่วันเดียว

จากนั้นก็เอาเข้าตู้เย็นเลย อุณหภูมิก็จะเป็นอุณหภูมิปกติที่ใช้แช่ผัก แล้วจึงนำไปใส่ตัวบีบแล้วนำไปพ่นใส่ดอก แต่ตอนพ่นจะต้องพ่นตอนเช้า ดอกที่จะพ่นต้องเป็นดอกที่แตกออกวันแรกเท่านั้น

หลังติดผลควรมีการซอยผลทิ้งบ้าง โดยช่อย่อยช่อหนึ่งควรไว้ 5-6 ผล ที่นิยมกันคือ ซอยผลเว้นผลนั่นเอง เมื่อซอยผลจะได้ผลผลิตมีคุณภาพดีรักษาคุณภาพ หลังการเก็บเกี่ยว

เมื่อเก็บผลจากต้น นำอินทผลัมมาแขวนไว้ หลังจากนั้นก็นำไปพ่นน้ำด้วยเครื่องปั๊มน้ำที่ใช้ล้างรถ

เวลาใช้ ให้หมุนหัวให้สุด น้ำแรง ไม่ต้องกลัวผลร่วง เพราะผลที่ร่วงจะเป็นผลที่เสีย การพ่นน้ำพ่นเพื่อที่จะได้ทำความสะอาดและล้างเพลี้ยแป้งที่เกิดจากความหวานกับความชื้นจนกลายเป็นราดำ หลังจากนั้นนำเอาไปเป่าลมให้แห้ง จึงแพ็กใส่ลังเพื่อเตรียมส่งจำหน่าย

คุณปรีชา บอกว่า อินทผลัมพันธุ์บาร์ฮีเพาะเนื้อเยื่อ ต้นอายุ 2 ปีครึ่ง ถึง 3 ปี ให้ผลผลิตต่อต้น ต่อปีที่ 100 กิโลกรัม ผลผลิตอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม โดยออกดอกช่วงเดือนมกราคม เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับอินทผลัม

ถ้าอินทผลัมออกผลแล้ว ควรห่อผล 2 ชั้น เพื่อกันหนู นก แมลง แมลงวันทอง

ห้ามกระชากก้านอินทผลัม เพราะว่าจะทำให้ทั้งทะลายนั้นเสียทั้งหมด

ถ้าต้องการจะกินผล ให้หมุนผลแบบทวนเข็มนาฬิกา เพราะว่าจะไม่ทำให้ช่อเป็นแผล

ความหวานของผลอินทผลัมสวนคุณปรีชา อยู่ที่ประมาณ 30 บริกซ์ ตลาด เป็นอย่างไร

คุณปรีชา พูดถึงตลาดอินทผลัมกินผลสดว่า ถ้าทำให้มีคุณภาพยังไงก็ขายได้ ไม่ต้องห่วง คนมาซื้อวันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ มาอีกแสดงว่าผลไม้ต้นนี้ไปได้ไกลแน่ ชาวสวนคนไหนที่คิดจะปลูกต้องศึกษาสายพันธุ์ให้ดี พอศึกษาดีแล้ว โอกาสที่จะขาดทุนก็มีน้อย ถ้าปลูกผิดสายพันธุ์อาจจะต้องขุดทิ้งไป

“ตัวผมเองเคยปลูกผิดจนต้องขุดทิ้งไปแล้ว ส่วนใครที่คิดจะปลูกบาร์ฮี อย่างน้อยควรปลูกไว้ไร่หนึ่งประมาณ 25 ต้น เพราะต้นหนึ่งจะได้ประมาณ 20 จั่น ยิ่งต้นโตขึ้นจั่นก็จะมากขึ้นไปอีก อีกทั้งต้นอินทผลัมยังสามารถปลูกได้เกือบทุกภาค ยกเว้นแต่จังหวัดระนอง ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี เพราะว่าเป็นจังหวัดที่ฝนตกเยอะ…ในอนาคตจะผลิตน้ำอินทผลัมแท้ 100% มาขาย ยังสามารถเก็บได้นานถึง 2 ปี” คุณปรีชา บอก

คุณปรีชา ยอมรับว่า ผลผลิตช่วงนี้ยังแพงอยู่ หากราคาลดลงกว่านี้ ผู้ปลูกก็อยู่ได้ แนวทางการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ที่ทำกันแล้วคือ น้ำอินทผลัม ส่วนอาหารอย่างอื่นจากผลอินทผลัมก็ทำได้หลายอย่าง

สนใจ ติดต่อได้ทาง Facebook สวนอินทผลัม ปรีชา Date Palm-Preecha garden. หรือตามที่อยู่ เลขที่ 70 หมู่ที่ 2 ตำบลบางพลับ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เบอร์โทรศัพท์ (081) 309-6086

ช่วงนี้ยังมีผลผลิตให้ซื้อหา ส่วนต้นพันธุ์มีจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง คุณปรีชา ธรรมชูเชาวรัตน์ บอกว่า ยินดีให้คำปรึกษา เครือข่ายงดเหล้า / กรณีเจ้าหน้าที่สรรพาสามิตจับยายวัย 60 ปี ชาวบุรีรัมย์ ที่ขายข้าวหมากห่อละ 5 บาท ด้วยข้อหาจำหน่ายสุราสาโท โดยไม่ได้ขออนุญาต มีค่าปรับถึง 5 หมื่นบาท หากไม่จ่ายต้องติดคุก ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ และเกิดการตั้งคำถามว่า ข้าวหมาก ถูกรวมอยู่ในกลุ่มสุราตามกฎหมายที่ต้องขอใบอนุญาตจำหน่ายด้วยหรือไม่

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ส่วนตัวแล้วมองว่า “ข้าวหมาก” ไม่น่าจะนับรวมว่าเป็น “สาโท” เพราะข้าวหมากเป็นอาหารพื้นบ้าน และคนไม่ได้มีปัญหาจากกินข้าวหมากแล้วเมาจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม ตนคิดว่า ถ้าจะสนใจกรมสรรพสามิตควรไปจัดการกับประเด็นที่เป็นปัญหาจริงๆ ในสังคมมากกว่าหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของบริษัทน้ำเมารายใหญ่ทั้งนั้น ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก ทั้งอาชญากรรม อุบัติเหตุต่างๆ มากมาย หรือการผลิตเหล้าเถื่อนต่างๆ ที่มีจำนวนมาก

ซึ่งกรมสรรพสามิตก็น่าจะรู้ดีถึงปัญหาเหล่านี้ ควรจะไปจัดการกับปัญหาสำคัญก่อนหรือไม่ ก่อนที่จะมาจับชาวบ้านที่ขายข้าวหมากหรือไม่ เพาะคนที่กินข้าวหมากแล้วเมาตนก็ยังไม่เคยได้ยิน

ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 ในหมวดที่ 2 เรื่องใบอนุญาตสำหรับสินค้าสุรา ยาสูบ และไพ่ ก็มีการระบุถึงนิยามของสุราที่จะต้องขออนุญาต คือ ต้องมีแอลกอฮอล์เกิน 0.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าข้าวหมากนั้นมีแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กำหนดหรือไม่ เพราะสูตรแต่ละสูตรในการทำข้าวหมากนั้นก็ต่างกัน ทำให้เปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ในข้าวหมากก็ไม่เท่ากัน

การจะมาพูดเรื่องมาตรฐานรวมของข้าวหมากก็น่าจะยาก และถามว่าใครจะมานั่งเอาข้าวหมากมาส่งตรวจแล็บหรือมาตรวจว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เท่าไร เกินกว่า 0.5 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ มันก็เป็นไปไม่ได้แต่ประเด็นน่าจะอยู่ที่ควรไปให้ความสำคัญเรื่องนี้หรือไม่ ในสร้างปัญหาสังคมหรือไม่ น่าจะแก้ปัญหาที่ชัดๆ ก่อนหรือไม่

“เรื่องนี้เป็นเรื่องของการที่จะใช้กฎหมายแบบไหน จะใช้เพื่อแก้ปัญหาหรือสร้างความเดือดร้อน แต่ผมมองว่าข้าวหมากเป็นอาหาร และไม่เคยได้ยินว่ามีใครกินข้าวหมากเมาแล้วไปฆ่าคนหรือสร้างปัญหา แต่ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อย่างข่าววันนี้ก็มีเรื่องผัวฆ่าเมียเพราะเมาก็กินเหล้าจากโรงงานใหญ่ๆ ทั้งนั้น” ภก.สงกรานต์ กล่าว

ด้าน นายสง่า ดามาพงศ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะนักวิชาการด้านโภชนาการ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาว่า ข้าวหมากมีแอลกอฮอล์สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และข้าวหมากที่ทำเพื่อกินเพื่อขายเป็นรายได้ ซึ่งตามปกติเราจัดกันว่าเป็นขนมนั้น ถือเป็นสุราตามกฎหมายหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในฐานะทำงานด้านโภชนาการ ยืนยันว่า “ข้าวหมาก” ไม่ใช่ “สาโท” แน่นอน เพราะมีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยกว่ามาก ซึ่งเมื่อดูจากกระบวนการผลิตแล้วนั้น ข้าวหมาก ถือเป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหาร โดยจะนำเอาข้าวเหนียวที่เคยหุงไว้กินแล้วกินไม่หมด หรือเหลือใช้ มาถนอมอาหารเป็นขนมหรืออาหารว่าง

โดยเอาข้าวเหนียวมาล้างให้สะอาด เพื่อเอายางข้าวออก เสร็จแล้วเอาไปผึ่งให้แห้ง แล้วเอามาผสมกับลูกแป้ง ซึ่งก็คือ เชื้อยีสต์ เป็นจุลินทรีย์ที่ไปทำปฏิกิริยากับแป้งในข้าว หรือเรียกว่ากระบวนการหมัก ซึ่งเมื่อหมักแล้วจะมีเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดีเกิดขึ้น เป็นแบคทีเรียชนิดดีที่เรียกว่า “โปรไบโอติก” โดยจะมีแอลกอฮอล์ปนเล็กน้อย

นายสง่า กล่าวว่า การทำข้าวหมากจะหมักเพียงไม่เกิน 3 วัน จากนั้นจะนำเข้าไปแช่ในตู้เย็น เพื่อให้ยีสต์หยุดการเจริญเติบโตหรือหยุดการเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาล แต่หากเป็นสาโทนั้นจะหมักยาวนานกว่านี้ เพื่อให้เกิดแอลกอฮอล์มากขึ้น ดังนั้น ปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์ในสาโทจึงสูง ยืนยันว่า ข้าวหมาก ไม่ใช่สาโท

“สำหรับประโยชน์ของข้าวหมากที่มีโปรไบโอติกนั้น ตัวจุลินทรีย์นี้จะไปช่วยย่อยอาหาร ทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ลดท้องผูก รักษาภาวะท้องเสียบางอย่าง ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ไม่ไดีไม่ให้เจริญเติบโต ก็จะเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดการติดเชื้อในตัวได้ด้วย และมีงานวิจัยที่พบว่าโปรไบโอติกที่มีอยู่ในอนาหารหลายชนิสามารถช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ด้วย

โดยอาหารที่มีโปรไบโอติก เช่น ข้าวหมาก นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เทมเป้ อาหารญี่ปุ่นอย่างนัตโตะ มิโซะ ชีส หรืออาหารเกาหลี เช่น กิมจิ หรือผักดองบางอย่างของบ้านเรา ซึ่งการกินข้าวหมากนอกจากจะได้โปรไอโอติกแล้ว ยังได้พลังงาน คาร์โบไฮเดรต หากกินไม่เยอะ เป็นอาหารว่างหรือขนมว่าง ก็จะมีประโยชน์มากกว่าโทษ เพราะเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ไม่ได้มาก ไม่ได้กินแล้วเมาเหมือนเหล้า” นายสง่า กล่าว

กระทรวงวิทย์ติดตามการดำเนินงาน พร้อมขับเคลื่อนมหกรรมวิทย์สร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค @ จังหวัดเพชรบุรี นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ติดตามการดำเนินงาน “มหกรรมวิทย์สร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค @ จังหวัดเพชรบุรี” ภายใต้นโยบาย “วิทย์สร้างคน วิทย์แก้จน วิทย์เสริมแกร่ง” ซึ่งเป็นการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมบูรณาการดำเนินงาน โอกาสนี้ นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. นายวัลลภ ศรีทอง รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี ร่วมเป็นเกียรติ พร้อมด้วย ผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร ประมาณ 500 คน เข้าร่วมงาน

ประกอบด้วยกิจกรรมการจัดแสดงนิทรรศการความสำเร็จในการนำ วทน. เข้าไปพัฒนาสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ การบรรยายพิเศษ และการอบรมอาชีพในหัวข้อต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและเกษตรกร อาทิ เทคโนโลยีการเพาะเห็ดในระบบถุงพลาสติก การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง/ปุ๋ยสั่งตัด การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร (มะนาวดองเค็ม มะนาวแช่อิ่ม มะนาวสามรส สับปะรดแช่อิ่ม/อบแห้ง) การผลิตวุ้นจากน้ำมะพร้าวด้วยจุลินทรีย์ เตาชีวมวลเพื่อชุมชน การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพและความงาม ในวันที่ 16-17 สิงหาคม 2561 ณ โรงเรียนวัดหนองจอก (ศรีสรรค์พานิช) อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

สภาพคล่องโรงสีเดี้ยงหนัก หลังรัฐบาลสั่งบี้คดีจำนำข้าวค้าง 882 คดี ทำแบงก์เข้มงวดปล่อยสินเชื่อ พร้อมคุมเข้มแพ็กกิ้งเครดิตพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป แถมโรงสียังติดพ่วงคลังกลางฝากข้าวโดนแช่แข็งไม่คืนค้ำประกันสัญญา “LG” จนสถานการณ์ย่ำแย่ หวั่นโรงสีข้าวทยอยปิดตัวถึง 30-40% กระทบคำสั่งซื้อข้าวฤดูกาลใหม่

ผลพวง “ทุจริต” โครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจของกลุ่มโรงสีข้าวทั่วประเทศ เมื่อรัฐบาลสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟ้องโรงสีข้าวที่เข้าร่วมกระบวนการทุจริตครั้งมโหฬารก่อนที่คดีจะหมดอายุความ ในขณะที่สถาบันการเงินก็เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยกู้โรงสีข้าว ทั้งที่เป็น NPL หรือมีความเสี่ยงจากการถูกดำเนินคดีทุจริต รวมถึงลดวงเงินแพ็กกิ้งเครดิตลงอีกด้วย จนเกิดความกังวลว่าปีนี้จะมีโรงสีข้าวต้องปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก

เร่งฟ้องแพ่งแสนล้าน

แหล่งข่าวจากวงการข้าวเปิดเผยกับ”ประชาชาติธุรกิจ” จากกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) กับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในโครงการรับจำนำข้าวและสินค้าเกษตรอื่น ๆ เพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับส่วนราชการ โดยต้องส่งเรื่องให้อัยการให้ทันภายในเดือนธันวาคม 2561 และต่อมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้มีมติให้เร่งรัดฟ้องคดีด้วย

ปรากฏองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ดำเนินการตรวจสอบคดีทุจริตที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2554-2557 ที่จะต้องเร่งส่งฟ้องทางแพ่งรวม 244 สัญญา 882 คดี โดยผู้ถูกฟ้องมีทั้งเจ้าของคลังสินค้าที่รัฐบาลเช่าเพื่อฝากเก็บข้าวในโครงการรับจำนำ โรงข้าวสี และผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) ซึ่งบางส่วนได้ส่งฟ้องอาญาฐานลักทรัพย์ ฉ้อโกง หรือยักยอกทรัพย์ไปแล้ว ดังนั้นทาง อคส.จะต้องดำเนินการส่งฟ้องทางแพ่งเพื่อให้คู่สัญญาชดใช้ความเสียหายให้กับรัฐ โดยทั้ง 882 คดีจะทยอยหมดอายุความทางแพ่งตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 100,000 ล้านบาท

“การเร่งรัดส่งฟ้องคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มโรงสีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโรงสีที่ต้องใช้เงินกู้มาหมุนเวียนรับซื้อข้าว หลายรายกู้แบงก์ไม่ผ่านและไม่ได้รับแพ็กกิ้งเครดิตจากผลของการถูกดำเนินคดี มีความเสี่ยง จนโรงสีหลายต่อหลายโรงเริ่มมีการประกาศขายกิจการ หรือเลิกทำธุรกิจค้าข้าว ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีมากถึง 30-40% โดยเฉพาะโรงในจังหวัดภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างเช่น พิจิตร-ชัยนาท-เพชรบูรณ์-สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงสีขนาดใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำในอดีต และมีการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

วอนแบงก์อย่าเหมารวม

ด้านนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังไม่ “อนุมัติ” วงเงินให้กับโรงสีข้าว เนื่องจากมองว่าโรงสีเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากต่อภาพรวมการดำเนินงานของธุรกิจโรงสีข้าว ถ้าหากไม่มีการเติม “เม็ดเงิน” ใหม่เข้ามาเพื่อเสริมสภาพคล่องก็จะแย่กันทั้งระบบ

“ผมอยากขอให้สถาบันการเงินแยกแยะลูกหนี้แต่ละรายเป็นราย ๆ ไปโดยวิเคราะห์ว่ารายไหนไปได้ รายไหนพอไปได้ หรือรายไหนที่มีปัญหา ก็ให้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้และจัดวงเงินใหม่ให้สอดคล้องกับธุรกิจ แต่ส่วนที่ไปไม่ได้จริง ๆ ก็ควรดำเนินการตามขั้นตอนของสถาบันการเงิน ผมขอว่าอย่าเหมารวม เพราะจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างระบบการดำเนินธุรกิจของโรงสีข้าวทั้งระบบ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังโครงสร้างของข้าวเปลือกและข้าวสารอย่างมาก ถ้าหากกำลังซื้อและกำลังในการเก็บสต๊อกข้าวของโรงสีลดลง” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ สาเหตุของปัญหาเรื่องสภาพคล่องจัดเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน โดยปัญหานี้เกิดจากโรงสีข้าวได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่ลดลงอย่างฉับพลัน 20-40% เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าของสินค้าลดลง “การที่จะซื้อจะขายก็จึงติดขัดไปหมด” จนกระทั่งกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สถาบันการเงิน ตัดสินใจลดวงเงิน “แพ็กกิ้งสต๊อก” ลง 30-40% ของลูกค้าแต่ละราย และซ้ำร้ายบางรายก็ถึงกับมีปัญหาต่อเนื่องค่อนข้างรุนแรง ถึงขั้นต้องหยุดกิจการหรือต้องปรับโครงสร้างหนี้ หรือบางรายก็ถูกยึด และก็มีอีกหลายรายที่ตัดสินใจหยุดกิจการโรงสีข้าว

ส่วนปัญหาสภาพคล่องหลังจากโรงสีถูกดำเนินคดีจำนำข้าวนั้น นายเกรียงศักดิ์กล่าวต่อไปอีกว่า คลังสินค้าก็มีปัญหาเรื่องของสภาพคล่อง เนื่องจากถูกระงับวงเงินที่ใช้ “ค้ำประกันสัญญา (LG)” เท่าที่ทราบมีเป็นเงินจำนวนมาก แต่คงจะต้องแยกกันระหว่างธุรกิจโรงสีข้าว กับธุรกิจทำคลังสินค้า เพราะอาจจะมีโรงสีเพียงบางส่วนที่นอกจากทำอาชีพโรงสีข้าวแล้วก็ยังมีอาชีพให้เช่าคลังสินค้าด้วย ซึ่งหากใช้เงินก้อนเดียวกันแล้วเกิดปัญหายังไม่ได้รับคืนวงเงินค้ำประกันสัญญาก็จะส่งผลกระทบกับสภาพคล่องที่จะนำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนในธุรกิจโรงสีข้าวด้วย

ด้าน ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงปัญหาสภาพคล่องของโรงสีว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากที่ผ่านมาโรงสีได้มีการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว และขยายกำลังการผลิตจนสูงถึง 110-120 ล้านตัน/ปี หรือ “สูงกว่า” กำลังการผลิตข้าวเปลือกที่ทำได้ 30 ล้านตัน/ปี เมื่อไม่มีโครงการรับจำนำจากรัฐบาลแล้วก็มีการแข่งขันการรับซื้อข้าวตามกลไกตลาดปกติ ซึ่งโรงสีที่มีศักยภาพและมีความเข้มแข็งก็จะสามารถประกอบธุรกิจค้าข้าวต่อไปได้ แต่โรงสีที่เดิมพึ่งพารายได้หลักจากการรับสีข้าวเข้าโครงการรับจำนำก็ต้องประสบปัญหา

“ทางสถาบันการเงินน่าจะรับทราบปัญหานี้ดีอยู่แล้ว และน่าจะมีการจัดแบ่งกลุ่มลูกค้า ซึ่งผู้ที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดีก็ไม่น่าจะกระทบ และเชื่อว่าในอนาคต ธุรกิจโรงสีก็จะปรับเข้าสู่สมดุลทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายส่งเสริมชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสี เพื่อไปรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร รัฐควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากกว่า” ดร.นิพนธ์กล่าว

กรุงไทยดูเป็นราย ๆ ไป

นายปฏิเวช สันตะวานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารยังดูแลและให้การสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจโรงสีข้าวอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าธุรกิจโรงสีเป็นเรื่องของการกระจุกตัว ขณะที่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา โรงสีมีปัญหาภาวะความผันผวน ทำให้ธนาคารต้องมีการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อระมัดระวังมากขึ้น ปกติหากโรงสีรายไหนที่มีปัญหาหรือมีสถานะอ่อนแอ ธนาคารก็จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือทุกรายที่มีปัญหาเมื่อมาขอเจรจากับทางธนาคาร โดยจะดูเป็นราย ๆ ไป

“การปล่อยสินเชื่อโรงสี เราต้องคัดเลือก (ลูกค้า) แต่จะเรียกว่า ปล่อย (โรงสีข้าว) น้อยลงก็ไม่เชิง ตอนนี้แบงก์เราปล่อยเยอะที่สุดในประเทศแล้ว เพราะมีมาร์เก็ตแชร์โรงสีในไทยที่ดูแลอยู่ถึง 67% ถ้าลูกค้าเป็น NPL (หนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน) เราจะช่วยเหลือเป็นราย ๆ ไป” นายปฏิเวชกล่าว

สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่นำร่องนโยบายการตลาดนำการผลิต หนุนเกษตรกรภาคประมง-ปศุสัตว์ ปล่อยคาราวานสินค้าประมงและปศุสัตว์ กระจายผ่านเครือข่ายสหกรณ์ภาคเหนือ 25 แห่ง พร้อมเชื่อมโยง Modern Trade หวังลดค่าครองชีพผู้บริโภคภาคเหนือ และตอบสนองความต้องการผู้บริโภค เตรียมแพ็กกุ้งแห้ง กะปิ อาหารทะเลแปรรูปเสิร์ฟผู้บริโภคผ่านไปรษณีย์ปลายปีนี้ หลังประเมินช่องทางตลาดออนไลน์เติบโตต่อเนื่อง

นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานปล่อยคาราวานรถบรรทุกสินค้าประมงและปศุสัตว์ของชุมนุมสหกรณ์ประมงแห่งประเทศไทย จำกัด และสหกรณ์ปศุสัตว์ จ.เชียงใหม่ จำนวน 7 คัน มูลค่ารวมกว่า 2,000,000 บาท สินค้าส่วนใหญ่ ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ปลานิลแดดเดียว กะปิ น้ำปลา ปลาเค็ม ปลาสลิดแดดเดียว ปลาดุกแดดเดียว กุ้งก้ามกราม กุ้งขาวแวนนาไมแช่แข็ง ปลาร้า ผลิตภัณฑ์แปรรูปสัตว์น้ำ ไก่ไข่ ผลิตภัณฑ์สุกรและเนื้อโคขุน รวมทั้งสินค้าเกษตรอื่นๆ เพื่อส่งกระจายไปยังเครือข่ายสหกรณ์ในพื้นที่ภาคเหนือและจังหวัดใกล้เคียง เช่น พะเยา เชียงราย น่าน แพร่ จำนวน 25 สหกรณ์ และเชื่อมโยงกับห้าง Modern Trade ในเขตภาคเหนือด้วย ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นในการเชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์ เพื่อช่วยกันกระจายสินค้าประมงไปสู่ผู้บริโภค เป็นการสนองนโยบายการตลาดนำการผลิต เนื่องจากภาคเหนือและจังหวัดใกล้เคียงมีความต้องการที่จะบริโภคสินค้าประมงและปศุสัตว์จำนวนมาก

นายเชิดชัย กล่าวต่อว่า ชุมนุมสหกรณ์ประมงแห่งประเทศไทย จำกัด จะเป็นสื่อกลางระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตและสหกรณ์ฝั่งที่เป็นผู้บริโภค ได้มาพบกัน โดยมีจุดศูนย์กระจายสินค้าอยู่ 2 จุด คือ สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้ง จำกัด จังหวัดนครปฐม และเครือข่ายสหกรณ์ในจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยสหกรณ์จากนครปฐม จะรวบรวมและรับซื้อสินค้าจากสหกรณ์การเกษตร ภาคกลางตอนล่างในราคาที่นำตลาดประมาณ 5-10% แล้วส่งต่อไปยังสหกรณ์ในจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อนำสินค้าดังกล่าวไปกระจายต่อให้กับสหกรณ์ 25 แห่ง ในภาคเหนือ

แต่ตลาดหลักจะอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และร้านค้าภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีอยู่ 3 สาขา ทั้งนี้ หากนำสินค้าดังกล่าวไปวางขายตามตลาด จะทำให้สหกรณ์สามารถขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 10-15% เหตุผลที่สหกรณ์ทำแบบนี้ได้เนื่องจากสหกรณ์ในฐานะผู้รวบรวมผลผลิตได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าสามารถขายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ยังทำประโยชน์ให้ผู้บริโภคได้ซื้อของดีมีคุณภาพและราคายุติธรรมด้วย