ครม.ขยายชดเชยดอกเบี้ยโรงสีราคาข้าวเปลือกภายในประเทศ

จากปริมาณผลผลิต120,000ตันข้าวเปลือกส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว5% ประมาณ 70-80% ข้าวหอมปทุม 20% โดยโรงสีรับซื้อข้าวเปลือกเจ้าเกี่ยวสด ตันละ 6,600-6,700 บาท, ข้าวแห้งตันละ 7,800-7,900 บาท ส่วนราคาข้าวเปลือกปทุมธานี เกี่ยวสดตันละ 7,300-7,500 บาท, ข้าวแห้งตันละ 9,000 บาท หากคำนวณเป็นต้นทุนการสีแปร เช่น ข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 12,000 บาท แต่โรงสีขายได้เพียง 11,400 บาท ขาดทุนตันละ 600 บาท

ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบงบประมาณ โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวเก็บสต๊อก งบฯกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 614 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าชดเชยดอกเบี้ย ขณะนี้ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ อนุมัติหลังวันที่ 30 ก.ย. 59 วงเงิน 188.22 ล้านบาท อยู่ระหว่างการทบทวนการตรวจสอบเอกสารของคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด 54.42 ล้านบาท ปีการผลิต 2559/2560 ประกอบด้วย ค่าชดเชยดอกเบี้ย วงเงิน 368.68 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายการดำเนินการ 2.67 ล้านบาท ปริมาณสต๊อกข้าวที่กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะต้องชดเชยดอกเบี้ย เมื่อเดือนมกราคมอยู่ที่ 3.77 ล้านตันข้าวเปลือก ยังต่ำกว่าปริมาณสต๊อกเป้าหมายที่ 9 ล้านตันข้าวเปลือกภาระงบประมาณในการชดเชยดอกเบี้ย 937.50 ล้านบาท

กปน.ยันน้ำกินน้ำใช้เพียงพอ

ด้านนางศรัณยา สีน้ำเพชร ผู้ช่วยผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่าหลังจากที่ กปน.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทย ให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาเพื่อรับมือภัยแล้ง ล่าสุดจากการประเมินสถานการณ์และข้อมูลที่ได้รับจากกรมชลประทานชี้ให้เห็นว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก “มีเพียงพอสำหรับหน้าแล้ง” อีกทั้งปีนี้ปริมาณน้ำมีมากกว่าช่วงหน้าแล้งปี 2559 ที่ผ่านมาเกือบเท่าตัว ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคใน กทม. จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ กปน. “จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น ที่น่าห่วงคือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสวนทุเรียน จ.นนทบุรี ที่ผู้ว่าฯนนทบุรีประสานมา ทางเราได้ผันน้ำคุณภาพดีจากโรงประปามหาสวัสดิ์ไปช่วยแล้ว” นางศรัณยากล่าว

ส่วนความเสี่ยงน้ำเค็มอาจมีบ้างช่วงน้ำขึ้นน้ำลงทุก 15 ค่ำ ทั้งข้างขึ้นข้างแรม แต่ประสานงานกับกรมชลฯตลอดเวลา น้ำดิบสำหรับผลิตประปาจึงยังไม่ได้รับผลกระทบ

กปภ.จับตา 4 สาขา

นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า ได้นำข้อมูลของกรมชลประทานที่ประกาศพื้นที่นอกเขตชลประทานที่เสี่ยงภัยแล้งปี 2560 จำนวน 105 อำเภอ 34 จังหวัด ซึ่งประเมินแล้วพบว่า ใน 105 อำเภอที่ กปภ.มีสาขาอยู่นั้น “ยังไม่มีปัญหา” เนื่องจาก กปภ.สาขาเหล่านี้อยู่นอกเขตชลประทาน เป็นสาขาเล็ก ๆ จึงมีบ่อน้ำและบ่อบาดาลเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ยังคงมี 4 สาขาที่มีความเสี่ยง คือ สาขา อ.พานจ.เชียงราย, สาขา อ.เลิงนกทาจ.ยโสธร, สาขา อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ และสาขา อ.บ้านบึงจ.ชลบุรี เนื่องจากทั้ง 4 สาขาอยู่ไกลจากแหล่งน้ำ ระหว่างทางอาจมีการแย่งสูบน้ำจากประชาชนในพื้นที่ จึงต้องเร่งสูบน้ำเข้ามาเก็บไว้ก่อน

“พื้นที่ให้บริการของ กปภ.โดยรวมแล้วจึงไม่น่าเป็นห่วง เพราะเหลืออีกเพียง 1 เดือนก็จะหมดหน้าแล้งแล้ว และมีการประเมินที่ค่อนข้างแม่นยำว่า ฝนจะลงมาช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ส่วนช่วงปลายปีคือกันยายน-ตุลาคม ยังไม่มั่นใจว่าจะมีฝนหรือไม่ จึงต้องเร่งเก็บน้ำดีไว้ใช้เผื่อฤดูแล้งในปีหน้าด้วย” นายเสรีกล่าว

ไม่เพียงแต่การสร้างพื้นที่จัดจำหน่ายสำหรับสินค้าเอสเอ็มอี หรือโอท็อป ในท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์

แต่ท็อปส์ยังมีการลงพื้นที่เพื่อร่วมกับชุมชนในการสร้างคุณค่าเพิ่มของสินค้าอีกด้วย เช่นเดียวกับการมีส่วนร่วมกับวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ที่มีการสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2552 ผ่าน มูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์

“เมทินี พิศุทธิ์สินธพ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายจัดซื้อกลุ่มสินค้าอาหารสด และบริหารจัดซื้อ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้บริหารร้าน เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์, ซูเปอร์คุ้ม, ท็อปส์ เดลี่ และอีทไทย กล่าวว่า ปี 2552 บริษัทเริ่มเข้าไปรับซื้อสินค้าตรงจากสหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชนในต่างจังหวัด ทำให้มองเห็นปัญหาหลักของเกษตรกรว่า ยังขาดองค์ความรู้ในด้านการผลิตสินค้า เช่น การเลือกพันธุ์ผักที่ตลาดต้องการ วางแผนการปลูก การคัดเกรดผลไม้ การตัดแต่งผักและผลไม้ เพื่อขนส่งและวางจำหน่าย การกระจายสินค้า การแปรรูปสินค้า การออกแบบตราสินค้า รวมถึงปัญหาการขาดแหล่งเงินทุน จนทำให้บริษัทกำหนดให้มีภารกิจช่วยเหลือเกษตรกร อันเป็นนโยบายหลักในการทำงานของท็อปส์

กระทั่งปี 2559 ได้นำมาต่อยอดสู่โครงการ “ท็อปส์เพื่อเกษตรกรไทย ร่วมใจประชารัฐ” ซึ่งจัดเป็นการสร้างคุณค่าเพิ่มร่วมกันระหว่างธุรกิจและชุมชน หรือ Creating Shared Value : CSV จนทำให้เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตรายแรกและรายเดียวที่ใช้ CSV ในการดำเนินธุรกิจ

ผลจากการเปิดตัวโครงการ “ท็อปส์เพื่อเกษตรกรไทย ร่วมใจประชารัฐ” ในปี 2559 ที่ผ่านมา ได้ช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรและชุมชนไปรวม 517 ราย แบ่งออกเป็น 89 ชุมชน 261 โอท็อป และ 167 เอสเอ็มอี ที่ไม่เพียงช่วยให้เกษตรกร และชุมชนมีโอกาสนำสินค้ามาจำหน่ายที่เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ทุกสาขา หากยังก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้กลับเข้าสู่ชุมชน จนทำให้เกษตรกรและชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน และในปี 2560 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มเป็น 645 ราย แบ่งออกเป็น 135 ชุมชน 320 โอท็อป และ 190 เอสเอ็มอี

“เรามีหลายมิติในการเข้าไปร่วมกับชุมชน เพราะเชื่อว่าสามารถทำได้มากกว่าด้านเดียว การเข้าไปพูดคุยกับผู้นำชุมชน ทำให้เขาเชื่อมั่นในตัวสินค้า พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเพื่อผู้บริโภค จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนยั่งยืนไปชั่วลูกชั่วหลาน

เพราะท็อปส์เองต้องยอมรับว่า ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ทุกที่ ทุกวัน เราอาจเริ่มต้นให้ และแนะนำในส่วนที่เขาขาด โดยให้คนในพื้นที่ไปสานต่อ น่าจะเป็นการขับเคลื่อนกันที่ยั่งยืนกว่า”

“ขณะเดียวกันสินค้า GI (Geographical Indication-GI) เป็นสินค้าที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและความแตกต่างให้สินค้า เป็นสินค้าที่ปลูกหรือผลิตได้เฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในต่างประเทศให้การยอมรับ มีจุดแข็งจุดขายที่เหนือกว่าคู่แข่ง เพิ่มโอกาสในการส่งออก บริษัทจึงได้สร้าง “GI Corner” มุมจำหน่ายสินค้า GI เช่น ส้มโอทับทิมสยาม ปากพนัง สับปะรดศรีราชา ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง นำร่องใน 2 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์

สาขาเซ็นทรัล ชิดลม และท็อปส์ มาร์เก็ต สาขาเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ จะเปิดให้บริการในวันที่ 20 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา วางแผนเปิด “GI Corner” ให้ได้ทั้งหมดในเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ ท็อปส์ มาร์เก็ต ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 100 สาขา ทั้งยังสั่งซื้อทางออนไลน์ได้อีกด้วย

ล่าสุดมีการลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ผู้ผลิตข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นสินค้า GI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากทั้งในประเทศและสหภาพยุโรป (EU) เป็นตัวอย่างของชุมชนเข้มแข็ง สามารถเติบโตและพึ่งพาตนเองได้ จนกลายเป็นชุมชนต้นแบบ เป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ชุมชนใหม่ ๆ ได้เข้าไปศึกษาดูงาน

“นัด อ่อนแก้ว” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กล่าวว่า เดิมทีวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง มีการรวมกลุ่มกันมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ยังเป็นการทำนาแบบไม่มีระบบ ทำให้ประสบปัญหาข้าวกลายพันธุ์ เนื่องจากมีการปลูกข้าวหลายสายพันธุ์ ถูกนายทุนกดราคาข้าว และมีต้นทุนสูง เนื่องจากต้องจ้างโรงสีข้าวของเอกชน และยังเป็นการทำนาแบบใช้สารเคมี และขาดแคลนแหล่งน้ำ เนื่องจากมีการทำนากันแบบกระจาย ไม่สามารถบริหารน้ำได้

“จนกระทั่งมีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างพลังการต่อรอง โดยนำจุดเด่นของสายพันธุ์ข้าว คือ ข้าวสังข์หยด มาเป็นตัวชูโรง เพราะเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อผลิตภัณฑ์ได้คุณภาพ ทางด้านการตลาดก็ได้วางจำหน่ายยังท็อปส์ ซึ่งได้มีการมอบเงินทุนในการสร้างโรงสีข้าว เงินทุนสำหรับซื้อพันธุ์ข้าว ซื้อเครื่องแยกหิน และเครื่องบรรจุสุญญากาศ เป็นเงินกว่า 2 ล้านบาท พร้อมรับซื้อผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายในท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์”

“จากการรวมกลุ่มทำให้วิสาหกิจแห่งนี้เกิดการเชื่อมโยงของกลุ่ม 1.เชื่อมโยงความคิด คือเชื่อมโยงความคิดของเกษตรกรในกลุ่มมีการลงมติ 2.เชื่อมโยงวัตถุดิบ พื้นที่ ใน จ.พัทลุงมีปัญหาน้ำท่วม เช่น ในปี 2559 ที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ผลผลิตเสียหายไปกว่า 50% จนต้องมีการนำข้าวจากกลุ่มอื่นเพื่อส่งจำหน่ายให้แก่ลูกค้าแทน และ 3.เชื่อมโยงทุน เมื่อกลุ่มมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้นก็สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น”

ทั้งนี้ ทางกลุ่มยังมีการประกันราคาข้าวที่ซื้ออยู่ที่ 15,000 บาท/ตัน ราคาขายข้าวสารอยู่ที่ 70 บาท/กก. และราคาจำหน่ายในท็อปส์ อยู่ที่ 140 บาท/กก. ทำให้ราคาข้าวสังข์หยดมีราคามาตรฐาน สร้างรายได้แก่สมาชิก เกษตรกรมีการขยายผลโดยดึงญาติ พี่น้อง รวมถึงลูกหลานมาทำนาที่ได้มาตรฐาน คนรุ่นใหม่เมื่อเรียนจบก็ไม่ต้องไปทำงานยังต่างจังหวัด และในปี 2561 จะดำเนินการทำเป็นข้าวออร์แกนิกแบบเต็มรูปแบบ เพื่อให้ข้าวสังข์หยดมีมูลค่า และคุณค่าสูงยิ่งขึ้นจากสินค้าท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการสืบทอดและหวงแหนต่อไป

การพัฒนาที่ยั่งยืนอาจต้องใช้ระยะเวลา แต่หากมีธงที่ตั้งมั่นจะทำให้เกิดการพัฒนาไปจนชั่วลูกชั่วหลาน แนวคิดเหล่านี้จึงต้องค่อย ๆ ปลูกฝังจนเข้าไปในเนื้อ เสมือนเป็นการสร้างความรับรู้ในคุณค่าของสายพันธุ์ข้าวที่มีอยู่เพียงหนึ่งเดียว เพื่ออยากให้ทุกคนรู้จัก และเห็นคุณค่า เช่นเดียวกับคนใน จ.พัทลุง จนประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ แม้จะเป็นการพัฒนาในระดับชุมชนก็ตาม

10 ปีก่อน การตายของ ”อนาคิน ” ด้วยกระสุนปืนที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมา หลังจากที่ได้รับการฟูมฟักรักษาตัวเป็นอย่างดี และปล่อยกลับคืนสู่บ้านเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2550 นำความโศกเศร้ามาให้กับผู้ที่ทราบข่าว

ครั้งนั้นเป็นข่าวดังในระดับโลก เพราะอนาคินเป็นแร้งดำหิมาลัย ปัจจุบันอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤต เท่าที่มีรายงานพบว่าทั่วโลกเหลือไม่เกิน 21,000 ตัว ไม่บ่อยครั้งที่เราจะได้พบแร้งดำหิมาลัย นอกจากจะมีผู้ที่พบว่ามันหมดแรง และนำส่งมาให้ทางหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา มีชาวบ้านพบแร้งดำหิมาลัย วัยเด็กเพศผู้ (ฟักจากไข่ในปี 2559 อพยพจากถิ่นกำเนิดในเดือนตุลาคม 2559) น้ำหนัก 6.2 กก. หมดแรงตกอยู่ในทุ่งนาที่ ต.หนองบัวสะอาด อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 ซึ่งรับมอบเจ้านกโชคร้ายตัวนั้นจึงนำมาส่งฟื้นฟูสุขภาพที่หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“ เราตรวจเลือด เช็กสุขภาพแล้ว พบว่ามันอยู่ในภาวะขาดอาหาร เพราะในธรรมชาติแร้งหิมาลัยจะทำรังที่จีน มองโกล และภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปัจจุบันมีเหลือไม่เกิน 21,000 ตัว ” นอกจากเราจะช่วยนก ในฐานะที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เราน่าจะได้ประโยชน์ในแง่ปักษีวิทยา เพราะปัจจุบันเรายังตอบไม่ได้ว่ามันอพยพมาจากที่ใดกันแน่

นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว กลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรี และหัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ ม.เกษตรศาสตร์ บอกถึงความตั้งใจที่จะติดอุปกรณ์ติดตามด้วยสัญญาณดาวเทียม หลังจากที่ครั้งแรกเคยติดไว้ที่หลังของ “ อนาคิน” แต่ก็อยู่ได้เพียง 3 สัปดาห์ก่อนจะถูกยิง นี่จึงเป็นอีกโอกาสอันดี และเป็นที่มาของโครงการจัดซื้ออุปกรณ์ติดตามตัวด้วยสัญญาณดาวเทียม/โทรศัพท์ เพื่อศึกษาเส้นทางอพยพของแร้งดำหิมาลัย ชื่อ สกาย รหัส KU502 จึงเกิดขึ้นโดยที่ “ สกาย” หรือ ”สกายวอล์กเกอร์” ก็คือชื่อของแร้งวัยละอ่อนนี้ ที่รอวันจะคืนสู่บ้านเกิดอีกครั้ง

ทำไมต้อง ’แร้งดำหิมาลัย ’
”แร้งดำหิมาลัย” ถือเป็นนกที่ใหญ่ที่สุด มักพบในไทยช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูที่แร้งอพยพ ที่สำคัญคือ ไม่เพียงแต่เป็นสัตว์สงวนตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ยังเป็นสัตว์ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ถ้าว่ากันในความเป็นจริง ไม่เพียงแร้งดำหิมาลัย หรือแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ซึ่งเป็นแร้ง 2 ชนิดที่มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ กับแร้งธรรมดา ซึ่งเป็นสัตว์ล่าเหยื่อประจำถิ่น 3 ชนิด คือ แร้งสีน้ำตาล แร้งเทาหลังขาว และพญาแร้ง ในช่วง 10 ปีที่ผ่าน นสพ.ไชยยันต์ยืนยันว่า จากการสำรวจวิจัยภาคสนามในไทยไม่มีรายงานการพบเห็นเลย คาดว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

พญาแร้ง ในอดีตเคยมีในไทย ปัจจุบันน่าจะสูญพันธุ์แล้ว
เหตุผลประการหนึ่งเป็นเพราะ ”แร้ง” เป็นสัตว์ที่กินอาหารคือ ซากสัตว์ที่ตายแล้วเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง ทำให้เมื่อมีสัตว์ตาย เช่น วัวควายจะมีการกำจัดซากทิ้ง ทำให้แร้งไม่มีอาหาร และอีกประการคือ ความเชื่อที่ว่า แร้งเป็นสัตว์อัปมงคล “เห็นแร้งเท่ากับเห็นความตาย” ทำให้เมื่อพบเห็นแร้งมักจะถูกไล่

สาเหตุอีกประการคือ ถูกยาเบื่อโดยน้ำมือของพรานล่าสัตว์ที่ต้องการล่าสัตว์ใหญ่ จึงใส่ยาเบื่อลงในเหยื่อเช่นซากกวาง แต่ตัวที่ตายก่อนกลับเป็นแร้ง สำหรับแร้งดำหิมาลัยและแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย จะพบในประเทศไทยในฤดูอพยพ ตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป โดยอาศัยลมหนาวพยุงตัวร่อนผ่านมา เนื่องจากแร้งดำหิมาลัยมีน้ำหนักอย่างน้อย 6-12 กก. นับเป็นนกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ความยาวปีกถึง 3 เมตร จะพบเพียง 2-3 ปี ต่อ 1 ตัวเท่านั้น ส่วนแร้งสีน้ำตาลความยาวปีก 2.8 เมตร มีรายงานพบ 10-30 ตัวในแต่ละปี

ด้วยปัจจัยที่ไม่ค่อยมีอาหาร (ซากสัตว์) ประกอบกับระยะทางที่ยาวไกล เมื่อถึงฤดูอพยพ บ่อยครั้งจึงมีการพบแร้งหมดแรงลงในพื้นที่ของชาวบ้าน ถ้าคนที่พบเห็นเข้าใจนำมาให้กับเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลช่วยเหลือ มันก็จะสามารถรอดชีวิตได้

นสพ.ไชยยันต์เล่าต่อไปว่า โครงการฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็มีแร้งดำหิมาลัย ที่ตั้งชื่อ “อนาคิน” เป็นตัวจุดประกาย “ เนื่องจากอีแร้ง รวมทั้งเหยี่ยวและนกอินทรี เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครอง 2535 เราจึงขออนุญาตทำโครงการ โดยตอนที่ปล่อยอนาคินได้ติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม แต่ติดไป 3 สัปดาห์แล้วไปถูกยิงที่รัฐฉาน ”
หลังจากนั้นโครงการฟื้นฟูยังคงทำหน้าที่ช่วยเหลือนกล่าเหยื่ออย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ปัจจุบันช่วยเหลือนกล่าเหยื่อไปแล้วทั้งสิ้น 520 ตัว ทั้งนกอินทรี เหยี่ยว แร้ง นกเค้าแมว โดยปล่อยไป 50% บางตัวพิการเราก็เลี้ยงไว้เป็นอาจารย์ใหญ่สอนนิสิตสัตวแพทย์ ขณะที่แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยเราช่วยเหลือไปแล้ว 24 ตัว ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดย “ สกายวอล์กเกอร์ ” รหัส KU 52 เป็นแร้งดำหิมาลัยตัวที่ 2 ที่รับเข้ามาช่วยเหลือในหน่วยฟื้นฟู

“ เราจึงคิดว่า นอกจากจะช่วยเขา เราน่าจะได้ประโยชน์ในแง่ขององค์ความรู้ทางด้านปักษีวิทยา เพราะปัจจุบันเรายังตอบไม่ได้แน่ว่าแร้งดำหิมาลัยอพยพมาจากถิ่นใดกันแน่ จีน มองโกล หรือเทือกเขาหิมาลัย (เนปาล ภูฏาน หรือทิเบต) ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีการติดตามตัวสัตว์ป่าโดยใช้เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม โดยจะส่งสัญญาณเป็นพิกัดว่า ณ วันนี้ เวลานี้ นกตัวที่ติดสัญญาณบินอยู่ที่ใด ”

แต่เนื่องจากตัวเครื่องราคาค่อนข้างสูง เราจึงตั้งโครงการชื่อว่า ”Tracking Sky Fly Away Home ” เป็นความตั้งใจจะรณรงค์ว่าถ้าใครเห็นความสำคัญในการศึกษาเส้นทางอพยพแร้งดำหิมาลัย สามารถช่วยสนับสนุนตามกำลังศรัทธา ซึ่งเรากำหนดว่าจะปล่อยในช่วงสิ้นเดือนเมษายน ที่ดอยลาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

“เครื่องตัวนี้ใช้สัญญาณดาวเทียมอาร์กอส psyguy.com ผลิตในสหรัฐอเมริกา ราคา 2 แสนบาท แต่เราเพิ่งมาทราบว่าปัจจุบันเกาหลีผลิตเครื่องส่งสัญญาณ แต่ใช้สัญญาณมือถือจะราคาถูกลง ประมาณ 1,600 เหรียญสหรัฐ ทำงานด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ทำงานได้นานอย่างน้อย 1 ปี เราจะได้ข้อมูลทั้งในส่วนเส้นทางอพยพ ของระยะทางในการเดินทางแต่ละวัน ถิ่นอาศัยแบบใดสำคัญต่อนก เป็นต้น ”
ทั้งนี้ สามารถบริจาคด้วยการโอนเงินโดยตรงเข้าบัญชี กองทุนวิจัยนกนักล่าเพื่อการอนุรักษ์ (Raptor Fund) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขา ม.เกษตรศาสตร์ บัญชีเลขที่ #374-1-67289-9 แล้วส่งสำเนาการโอนเงิน/ระบุวัตถุประสงค์การบริจาค ที่อีเมล์ RaptorFundKU@gmail.com โทร 08-6332-8117หรือบริจาคผ่านเว็บที่ https://generosity.com/animal-pet-fundraising/tracking-sky-fly-away-home

ไซเบอร์อันตราย ชี้ช่องนักล่านก
ในยุคที่อินเตอร์เน็ตเป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารเชื่อมคนทั้งโลกไว้ด้วยกัน ในแง่หนึ่งอาจเป็นเรื่องดี แต่ถ้าพิจารณาในเรื่องของขบวนการล่านก รวมทั้งสัตว์ป่าอื่นๆ นี่คืออีกช่องทางของมิจฉาชีพเช่นกัน

”บางคนบอกว่ารักสัตว์ จับไปเลี้ยง พอเบื่อก็ขายในเฟซบุ๊ก มีพบเป็นจำนวนมาก มีทั้งกลุ่มซื้อขายสัตว์แปลก และมีกลุ่มที่ล่าเพื่อโอ้อวด ปัจจุบันถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง”

นสพ.ไชยยันต์บอก และว่า ความพยายามในการรณรงค์ให้ความรู้ถึงความไม่ควรซื้อขายหรือล่าสัตว์ป่ามาเป็นสิบปีนั้น ในคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งมีความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่ามากขึ้น “แต่การรณรงค์นี้ไม่ได้ไปลดปัญหาที่มีอยู่แล้ว แต่อาจสร้างคนรุ่นใหม่ที่รู้เข้าใจเรา แต่สื่อโซเชียลกลับทำให้อีกกลุ่มหนึ่งเติบโตเร็วกว่าที่เราเคยคิดมาก อย่างเฟซบุ๊กชัดเจนมาก ในอดีตปัญหาอาจจะรุนแรง เราอาจไม่รู้ไม่เห็น แต่พอมีเฟซบุ๊ก ทำให้เราเห็นว่าสเกลซื้อขายสัตว์ป่าใหญ่มาก ปัจจุบันจะเห็นว่าคนที่เอาสัตว์ป่า นกเหยี่ยว อายุน้อยลงเรื่อยๆ ในกลุ่ม 18-25 ปี เพราะสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงพ่อค้าคนกลางได้ง่าย ”

“ที่น่าห่วงคือ เรื่องการล่า อย่างกลุ่มเดินป่า กลุ่มถ่ายภาพนก จะเอารูปนกมาอวดในเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าในกลุ่มนั้นมีฐานคนเป็นหมื่นคน กลายเป็นเบาะแสแก่มิจฉาชีพ เราจึงต้องย้ำว่า ถ้ามีคนถามอย่าบอกพิกัดที่พบนกอย่างละเอียด ”

นสพ.ภัทรพงศ์ จักรทอง ประจำหน่วยฟื้นฟู ซึ่งดูแล “สกาย” ตั้งแต่แรกรับเข้ามาที่หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ เล่าว่า ”สกาย” นั้นสภาพตอนที่รับมาผอม อ่อนแรง เพราะขาดอาหารมานาน

“อีแร้งส่วนใหญ่ที่อพยพมาหวังจะมาหากินซาก (อาหาร) ในเขตอบอุ่น ส่วนมากเป็นนกเด็ก ส่วนนกตัวเต็มวัยแข็งแรงสามารถแย่งชิงอาหารกับนกตัวอื่นได้จะไม่บินมาหาอาหารไกลถึงที่นี่ เนื่องจากบ้านเราการจัดการซากสัตว์ดีขึ้น ฉะนั้นนกพวกนี้ก็จะหากินลำบาก นี่เป็นเหตุผลหลักที่เขาผอม ไม่มีแรง อาจจะพบเห็นว่าเดินตามท้องทุ่งหรือตามป่า ถ้าชาวบ้านเห็นแล้วอยากช่วยเหลือก็จะติดต่อมาที่กรมอุทยานฯ”

ในเคสที่ถูกยิงก็มี เช่น นกแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยที่พบที่ จ.พิจิตร ถูกยิงที่หน้าอก พอดีว่ามีเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานฯไปเจอพอดี จึงนำมารักษาที่นี่ ปัจจุบันปล่อยกลับไปแล้ว

สำหรับ ”สกาย ” ตอนนี้ฟื้นฟูมา 2 เดือนกว่าแล้ว โดยเมื่อแรกจะรับมาฟื้นฟูที่สัตว์ป่วยใน มาให้น้ำเกลือ ฉีดวิตามินบำรุง และฟีดอาหารให้กินเต็มที่เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ หลังจากนั้นจะเอาไปฝึกบินที่กรงฝึกบินใหญ่เพื่อให้ออกกำลังกายกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกและปีก ให้บินได้ไกลขึ้น ตอนนี้สามารถบินขึ้นคอนสูงได้แล้ว สภาพพร้อมในการปล่อย ระหว่างนี้จะมีการเช็กสุขภาพ เช็กค่าเลือดว่ามีความสมบูรณ์ของเลือดแค่ไหน มีโรคหรือเปล่า โดยเฉพาะไข้หวัดนกและโรคนิวคาสเซิล ซึ่งสำคัญมากในสัตว์ปีก เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดจากโรคเหล่านี้จริงๆ