ครัวเป็นวิหารอันศักดิ์สิทธิ์มันบำบัดทุกความเจ็บป่วยในชีวิต

บรรณาการอาหารให้ท้องอิ่ม และเป็นลานประหารในเวลาเดียวกันเราอยู่ดีมีสุขด้วยความอิ่มเอมในรสชาติอาหารเราเจ็บป่วยอ่อนแอก็ด้วยสิ่งที่สรรหามาป้อนเข้าปากการอ่านเป็นเรื่องของรสนิยมโดยแท้ หนังสือทั้งโลกไม่ต่างจากอุทยานดอกไม้ มีให้เลือกชมดมดอมตามจริตของแต่ละคน มันเป็นบุปผางาม ถึงเวลาบานก็บาน…รอคอยให้คนผ่านทางมาชื่นชม

บางคนมอบหัวใจให้ดอกกุหลาบเพียงหนึ่งเดียว บางรายชอบดอกไม้สีม่วง บางคนชอบดอกไม้กลิ่นหอม แต่ละคนต่างเก็บเกี่ยวกำซาบความสุขในกลิ่นรสที่พึงใจเอาไว้ในพื้นที่เฉพาะที่ไม่เปิดให้ใครเข้าไปก้าวก่าย

อากาศเย็นฉ่ำที่มากับฝน ทำให้ไม่อยากขยับตัวทำอะไรนอกจากนอนอ่านหนังสือ เป็นอีกวันที่ฉันไม่อยากได้ยินเสียงอะไรในครัวไม่อยากให้มีเสียงเคาะตะหลิวหรือเสียงฉู่ฉี่ของน้ำมันในกระทะ ฉันอยากฟังเสียงฝนดังกระหน่ำอยู่อย่างนั้น นอนเอกเขนกอยู่บนโซฟานุ่มๆกับหนังสือเล่มโปรด แต่ความหิวโหยก็ทำงานของมันอย่างสัตย์ซื่อ

หลังจากบิดขี้เกียจอยู่หลายรอบ ในที่สุดก็ต้องวางหนังสือลุกขึ้นจากท่านอน ฝนขาดเม็ดพอดี นอกบ้านรายรอบตัวทุกอย่างแสนชุ่มฉ่ำ

ในตู้เย็นมีไข่ไก่และแฮมอยู่สองสามแผ่น เป็นเช้าประหลาดที่ไม่นึกอยากกินของร้อนเหมือนเคย

มีผักสลัดคอสเก่าเหลือค้างตู้เย็นอยู่หนึ่งต้น ใบนอกสองสามใบเริ่มช้ำ แต่ข้างในอีกกว่าครึ่งยังพอใช้ได้อยู่ ฉันนึกถึงสลัดรสเปรี้ยวอมหวานนิดๆที่จริงสลัดมื้อเช้าไม่ค่อยอยู่ท้อง นักโภชนาการมักแนะนำให้กินโปรตีนในปริมาณมาก หรือไม่ก็คาร์โบไฮเดรตมื้อใหญ่ตามเสียงเรียกร้องของร่างกายหลังจากพักผ่อนนอนหลับมาหลายชั่วโมงมากกว่า

สลัดเหมาะกับมื้อเย็นที่สุด เพราะร่างกายไม่ได้ใช้พลังงานมากมายก่อนนอน ดังนั้นถ้างดแป้งได้ในมือนี้ก็จะวิเศษมากสำหรับทุกคน ส่วนมื้อเช้านั้นถ้าเน้นโปรตีนให้มาก ร่างกายก็จะอิ่มอยู่นาน เมื่อไม่หิวบ่อย เราก็จะไม่กินเยอะ

เปิดประตูบ้านออกสู่สวน ความฉ่ำเย็นวูบไหลผ่านเข้ามาไล่ความอบอ้าวในทันที รู้สึกได้ถึงมวลอากาศที่ถ่ายเทไปมา

เสียงโลกยามเช้าแสนเสนาะระเริงรัวอยู่รอบตัว เป็นเสียงแมลง เสียงใบไม้ส่ายในสายลม เสียงนก เสียงส่ำสัตว์ที่หลบซ่อนอยู่ตามซอกหลืบโพรงดินที่ฉันไม่รู้จัก

กุหลาบเถาสีชมพูอ่อนในซุ้มเลื้อยปีนบันไดเหล็กสูงมาถึงครึ่งทางแล้ว พวงกุหลาบบานฉ่ำเต็มที่เป็นพวงสวย บานมาสองวันเต็มแต่กลีบยังแข็ง คงอีกหลายวันกว่าจะโรย

ถัดขึ้นไปเป็นกระถางแขวนบีโกเนียสองชนิด แบบใบใหญ่เขียวสดดอกสีชมพูเล็กๆคล้ายพวงชมพู กับแบบใบเล็กสีแดงอมเขียวที่มีดอกขนาดใหญ่สีแดงเรื่อๆแนวรั้วเป็นกำแพงต้นคริสติน่า ไม้จัดสวนทนน้ำที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแรง ฉันเพิ่งมาทราบภายหลังว่าต้นคริสติน่าที่บรรดาร้านจำหน่ายพันธุ์ไม้ขายดิบขายดีกันอยู่ในตอนนี้ ที่แท้ก็คือพืชในกลุ่มเดียวกับต้นเสม็ด ที่เป็นผักกินได้และชาวบ้านนิยมกินกันมานาน รสฝาด มัน เวลาเคี้ยวหอมกรุ่นอยู่ในลมหายใจ เหมาะนักที่จะเป็นผักแนมอาหารรสจัดอย่างพวกลาบ ก้อย ยำ

ยอดสีแดงอ่อนของมันกำลังระบัดใบเป็นประกายระเรื่อในแสงเช้าและแล้วฉันก็นึกถึงสลัดดอกไม้

มันวูบขึ้นมาอย่างไม่ตั้งใจ หลายวันก่อนฉันยังเด็ดดอกบีโกเนียกับดอกเอื้องหมายนามาโรยหน้าข้าวยำ วันนี้ทำไมจะทำสลัดบีโกเนียไม่ได้

ที่จริงเรากินดอกไม้กันแทบทุกวันอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ได้เรียกมันเป็นดอกไม้ เราจัดอยู่ในกลุ่มผักไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำดอก บร็อคโคลี่ ดอกกุยช่าย ดอกบัวสาย ดอกผักกวางตุ้ง ดอกฟักทอง ดอกบวบ ดอกต้นหอม ดอกข่า ดอกขจร ดอกโสน ฯลฯ หรือแม้แต่ดอกของไม้ผลและไม้ยืนต้นหลายชนิด อย่างดอกทุเรียน ดอกชมพู่มะเหมี่ยว ดอกกล้วย (หัวปลี) ดอกงิ้ว ดอกนุ่น ดอกมะรุม ดอกแคป่า สะเดา ช่อมะกอก ดอกขี้เหล็ก ดอกกระโดน ดอกลำพู ฯลฯ เราก็กินกันมามากต่อมาก

รวมไปถึงดอกของพืชป่าบางชนิด เช่น ดอกกระเจียว ดอกกะลา หรือดอกดาหลา เป็นต้น

วันนี้ฉันมีบีโกเนียสดๆ ในกระถางก้านอวบอิ่ม รสเปรี้ยวของมันน่าจะไปได้ดีกับยอดอ่อนของคริสติน่าที่กำลังน่ากิน แล้วยังมีผักสวนครัวอย่างโหระพา กระเพรา ผักชีฝรั่ง สะระแหน่ในกระถางปลูกให้เด็ดมาใช้ได้เต็มพิกัด

ไหนจะดอกสดสะพรั่งมีแดงอมส้มของเอื้องหมายนาอีก กวาดตามองคร่าวๆน่าจะเก็บได้สักหนึ่งกำมือ อ้อ…แล้วก็กลีบกุหลาบเลื้อยนั่นด้วย

ขอให้เป็นกุหลาบที่เราเลี้ยงมาเองกับมือเท่านั้นแหละ จะกุหลาบมอญพื้นบ้านหรือกุหลาบสายพันธุ์ฝรั่งชาติใดก็กินได้ทั้งสิ้น ถ้าหากเชื่อมั่นว่าเราไม่ได้ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงรือใส่สารกระตุ้นแปลกปลอมอันใดลงไปบนดอกไม้

กฎกติกามารยาทในการเอาไม้ดอกไม้ประดับมารับประทานไม่มีอะไรมาก นอกจากสิ่งที่เราควรรู้ว่าดอกไม้ชนิดไหนกินได้ ชนิดไหนกินไม่ได้แล้วฉันเคยอ่านเจอที่ อาจารย์ฤทัย เรืองธรรมสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาคหกรรมศาสตร์ สาขาอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ท่านแนะนำวิธีเลือกดอกไม้มาเป็นวัตถุดิบในเมนูอาหารว่า

ลำดับแรกสุดต้องเป็นดอกไม้ไม่มีพิษ เป็นที่รู้จักและแน่ใจว่ารับประทานได้เท่านั้น ขอให้หลีกเลี่ยงดอกไม้ข้างทางสวยๆโดยเฉพาะดอกไม้ในเมืองใหญ่ ที่แม้จะขึ้นเองตามธรรมชาติแต่ก็อาจกักเก็บสารพิษ หรือสารเคมีไว้มากด้วยการดูดซึมผ่านอากาศ หรือปนเปื้อนอยู่ในดิน

และเพื่อป้องกันการแพ้เกสรดอกไม้ ก่อนนำมาปรุงอาหาร ควรแยกเอาเกสรออกเสียก่อน นำเฉพาะกลีบดอกมาใช้เท่านั้นปัญหาของฉันก็คือ จะเอาสารพัดพืชผักดอกไม้ที่มีอยู่มาปรุงอย่างไรให้ได้รสชาติถูกปาก

นึกขึ้นได้ว่ามีใบแป้งห่อเมี่ยงญวนที่มักติดบ้านไว้เสมอ เป็นใบเมี่ยงแผ่นใสๆที่ทำจากแป้งพิเศษสูตรอาหารเวียดนามโดยเฉพาะ คนละแบบกับแป้งห่อปอเปี๊ยะของคนจีนนะคะ

ใบเมี่ยงนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือเมื่อลูบด้วยน้ำจะคลายตัวนุ่มนิ่มและเหนียวหนึบห่อผักได้ดีมาก แถมยังมีรสเค็มหน่อยๆทำให้เพิ่มรสชาติอาหารได้ดีกว่าใบแป้งแบบอื่น

ฉันตัดสินใจทำเมี่ยงดอกไม้เดี๋ยวนั้น

เศษใบผักสลัดคอสที่เหลือล้างสะอาดแล้วเอามาเป็นแผ่นรอง ผักอื่นในสวนจัดเต็มมาทุกอย่าง เท่าที่มี สำหรับบีโกเนียนั้น เด็ดเอาแต่ก้าน หักเป็นท่อนยาวดึงใยหุ้มเปลือกออกให้เกลี้ยง

ลักษณะการห่อแบบเดียวกับเมี่ยงสดของอาหารเวียดนามเลย

เริ่มจากวางผักสลัดลงบนใบเมี่ยง ตามด้วยบีโกเนีย คริสติน่า ผักชีฝรั่ง ใบสะระแหน่ โหระพา และหมูแฮมหั่นเป็นริ้วยาว จากนั้นโรยด้วยดอกเอื้องหมายนา ราดมายองเนสลงไปบางๆตรงกลางแผ่น สุดท้ายวางกลีบดอกกุหลาบและกลีบดอกบีโกเนียไว้บนสุด เสร็จแล้วก็ม้วนแผ่นแป้ง

ทำกินเองที่บ้านไม่จำเป็นต้องสวยสะอะไร แต่ถ้าจะได้ห่อเมี่ยงสวยแจ่ม เมื่อม้วนใบเมี่ยงแน่นไปรอบหนึ่งแล้วก็ให้วางกลีบดอกไม้สีสดๆที่ด้านนอกอีกครั้งค่ะ เพื่อจะได้เห็นสีสันมากหน่อย

ฉันห่อเมี่ยงดอกไม้แบบปลายเปิดข้างหนึ่ง เพื่อโชว์ความน่ารักของดอกบีโกเนีย รู้สึกว่ารีบร้อนไปหน่อย ห่อไม่ค่อยสวยนักแต่ก็ให้อารมณ์เมี่ยงดอกไม้แบบบ้านๆ

ปกติแล้วอาหารจำพวกพวกเมี่ยงญวนมักจะทำน้ำจิ้มแยกต่างหาก ซึ่งก็ไม่ยากอะไรเลย ใช้น้ำส้มสายชูหรือน้ำมะขามเปียกก็ได้ผสมกับน้ำเชื่อมใส่เกลือนิดหน่อยคนให้เข้ากัน ตำพริกขี้หนูเพิ่มความจัดจ้านลงไปหน่อยก็ใช้ได้แล้ว แต่ถ้าชอบแครอทและหัวผักกาดซอยเป็นเส้นก็โรยลงไปได้เลย

บางคนอาจใส่ถั่วลิสงคั่วป่นลงไป ก็ตามใจชอบค่ะ

วันนี้ฉันตั้งใจไม่ทำน้ำจิ้ม แต่ต้องการให้รสหวานมันของมายองเนสออกมาตัดรสเปรี้ยวของเมี่ยงซึ่งมีส่วนผสมของผักรสเปรี้ยวแหลมนำอยู่แล้ว โดยเฉพาะบีโกเนียทั้งดอก-ใบ และเอื้องหมายนาที่เปรี้ยวนวลๆเช่นกัน ขณะที่รสเค็มอยู่ที่ใบเมี่ยงและหมูแฮมก็น่าจะเพียงพอแล้ว

กัดคำแรก รสเปรี้ยวแหลมนำขึ้นมาก่อน รสมินต์ของสะระแหน่ชุ่มอยู่ในปาก แต่ผักชีฝรั่งใบแก่ไปนิดก็เลยเหนียวเช่นเดียวกับผักสลัดคอสที่น่าจะกรอบกว่านี้ถ้าซื้อมาสดๆใหม่ๆ

อืมม์…กินได้ และอร่อยทีเดียวสำหรับตัวเอง เปรี้ยวนำ หวานตาม เค็มน้อยมาก ดีที่สุดสำหรับคนคุมปริมาณโซเดียมในกระแสเลือด แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้ควรมีรสเผ็ดสักหน่อย

ฉันนึกถึงดิจองมัสตาร์ดที่เปรี้ยวอมเค็มนิดๆ นึกถึงพริกขี้หนูซอยละเอียดยัดไส้เมี่ยง และโรยงาคั่วอีกสักหน่อย มันน่าจะเจ๋งกว่านี้มาก

มันเป็นรสชาติที่ออกแบบขึ้นใหม่เดี๋ยวนั้น โดยมิได้ตั้งใจ แต่ก็จะลองดู…คราวหน้าเครื่องปรุงรส เป็นพื้นฐานการเข้าครัวของคนไทยและขาดไม่ได้สำหรับคนไทยในการปรุงรส แม้ว่าปัจจุบันจะมีเครื่องปรุงรสหลายรูปแบบผลิตออกมาเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค แต่เครื่องปรุงรสที่ขาดไม่ได้จริงๆ สำหรับคนไทย คือ น้ำปลา

น้ำปลาตราหมึกหอม และ น้ำปลาตราหงษ์ทอง เป็นน้ำปลาที่ขึ้นแท่นอันดับ 2 ของจังหวัดที่ครองใจผู้บริโภคมากที่สุด รวมถึงซอสพริกและน้ำส้มสายชู ซึ่งผลิตโรงงานแห่งเดียวกัน ก็ครองตลาดอันดับ 2 ของจังหวัดเช่นเดียวกัน

คุณมั่นศักดิ์ หลักพิพัฒน์ ผู้สืบทอดกิจการโรงงานผลิตน้ำปลาจากบรรพบุรุษ และใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมืองรุกตลาดเครื่องปรุงรสจนครองพื้นที่การตลาดอันดับ 2 ของจังหวัด เล่าให้ฟังว่า เดิมครอบครัวขายสินค้าบริโภคในครัวเรือนตามรถเร่ และมีหน้าร้านเล็กๆ ขายสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นในครัวเรือน ซึ่งธุรกิจก็ดำเนินไปด้วยดีอย่างต่อเนื่อง กระทั่งพ่อและแม่อายุมาก จึงเข้ามาสานต่อกิจการเดิมในปี 2550 อย่างเต็มตัว

“ตอนนั้นเรามีสินค้าหลัก คือ น้ำปลา และยังคงขายของเหมือนเดิม คือ นำสินค้าขึ้นรถเร่ไปตามหมู่บ้าน ชุมชน ผมเองก็อยากขยายกิจการหรือปรับปรุงให้ดีขึ้น จึงเห็นโอกาสของการเข้าหากลุ่มเป้าหมาย เมื่อนำรถเร่เข้าไปยังหมู่บ้านหรือชุมชน จะติดสินค้าอื่นเข้าไปด้วย ซึ่งสินค้าที่นำเข้าไปขายกับน้ำปลา ก็เป็นเครื่องปรุงรสอย่างอื่น ได้แก่ น้ำส้มสายชู และ ซอสพริก”

แม้ว่าจะเพิ่มสินค้าในกลุ่มเครื่องปรุงรสมากขึ้น แต่กลุ่มลูกค้าก็ยังเป็นกลุ่มเดิม ในลักษณะชองการซื้อใช้ตามบ้านและร้านค้า คุณพิพัฒน์จึงหันมาเน้นการขายส่งมากขึ้น และคิดกลยุทธ์ในการทำการตลาดให้ผู้บริโภคหันมาสนใจสินค้าของตน

ในอดีต โรงงานผลิตน้ำปลาและเครื่องปรุงรสในจังหวัดอุดรธานี มีมากถึง 17 แห่ง แต่ทยอยปิดตัวลง กระทั่งปัจจุบันเหลือเพียง 3 แห่ง เท่านั้น

“แรกๆ ผมเดินหน้าเข้าหาร้านค้าส่ง นำสินค้าใหม่เป็นน้ำปลาอีกยี่ห้อเข้าเสนอลูกค้า แต่ถูกปฏิเสธมาเกือบทุกร้าน เพราะคนส่วนใหญ่ติดแบรนด์ ผมจึงนำกลยุทธ์ป่าล้อมเมืองมาใช้ โดยรุกตลาดอำเภอรอบนอกของจังหวัดก่อน จากนั้นก็ค่อยตีวงแคบเข้ามา ซึ่งได้ผล เพราะพฤติกรรมผู้บริโภครอบนอกจะตัดสินใจง่ายกว่า ซึ่งเราก็เน้นการขายส่ง ทำให้เพิ่มตลาดผู้บริโภคในจังหวัดได้รวดเร็วมาก และปัจจุบันทำให้ขยายตลาดจากในจังหวัดอุดรธานี ออกไปยังจังหวัดใกล้เคียงอีก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองบัวลำภู เลย และหนองคาย”

เมื่อน้ำปลาเข้าถึงผู้บริโภคก็ส่งผลให้ยอดสั่งน้ำปลาเพิ่มขึ้น คุณพิพัฒน์ บอกว่า การบริโภคที่เพิ่มยอดจำหน่ายมากขึ้น น่าจะเป็นเพราะน้ำปลาของโรงงานมีสูตรเฉพาะ ซึ่งผลิตจากปลาไส้ตันจากจังหวัดตราด และ จังหวัดชุมพร แล้วส่งเป็นหัวน้ำปลามายังโรงงาน จากนั้นโรงงานจึงปรุงรสให้ได้สูตรของตนเอง ก่อนบรรจุลงขวดออกจำหน่าย ซึ่งปัจจุบันมีแพจเกจให้เลือกทั้งขวดแก้วและขวดพลาสติก

ปัจจุบันรายได้ต่อปีของโรงงานน้ำปลามหาไชย อยู่ที่ 10 ล้าน แต่คุณพิพัฒน์ ก็ยังไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยังมองว่า ควรขยายตลาดออกนอกพื้นที่ที่ครองตลาดออกไปอีก ซึ่งอนาคตตั้งเป้าจะเพิ่มฐานการผลิตเพื่อรุกตลาดระดับภูมิภาคให้ได้

ปกติ ปลากัด เป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยอยู่แล้ว แต่ด้วยสีสันที่แปลกแตกต่างไม่เหมือนกันในแต่ละตัว ทำให้ปลากัดกลายเป็นปลาที่ได้รับความนิยม นำขึ้นมาเลี้ยงตู้ โหล ขวด แล้วแต่ภาชนะที่ผู้เลี้ยงสะดวก และเป็นที่เข้าใจกันว่า ปลากัด เลี้ยงง่าย ตายยาก แต่ผู้เลี้ยงหลายรายประสบปัญหาเดียวกัน คือ ซื้อมาแล้วเลี้ยงไม่นานก็ตาย

คุณมนตรี สายศรี หรือคุณตั้ม หนุ่มวัยทำงาน ผู้ศึกษาการเพาะเลี้ยงปลากัดด้วยตนเอง กระทั่งก่อตั้งฟาร์มเล็กๆ เป็นที่ค้าปลีกและค้าส่งปลากัดที่รู้จักกันดีของจังหวัดอ่างทอง และเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม ซึ่งคุณมนตรีเองบอกว่า รายได้มากเทียบเท่ารายได้หลักทีเดียว

“ผมทำงานประจำอยู่ครับ เพาะเลี้ยงปลากัดขายนี่เป็นอาชีพเสริม แต่รายได้เกือบเท่ารายได้หลักของผมเลยทีเดียว ด้วยความชอบเลี้ยงปลาตั้งแต่เด็ก และเลือกปลากัด เพราะเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย เป็นปลาที่เจริญเติบโตจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ฉะนั้นการเลี้ยงปลาให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ก็จะทำให้ปลากัดไม่ตายง่ายเหมือนที่หลายคนประสบปัญหา”

เริ่มต้นเลี้ยงปลากัด เมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมา คุณมนตรี อาศัยความชอบในการเลี้ยงปลา เลือกเลี้ยงปลากัดเป็นอาชีพเสริม เพราะเห็นว่าปลากัดเป็นปลาที่น่าจะเลี้ยงง่าย อาศัยธรรมชาติในการดูแล แต่ถึงอย่างนั้น คุณมนตรีก็ไม่ได้เลี้ยงแบบขอไปที แต่เริ่มด้วยการศึกษาให้ถ่องแท้ทางอินเตอร์เน็ต หนังสือ และอื่นๆ เท่าที่จะทำได้

แรกเริ่มมือใหม่ คุณมนตรีก็เสียรู้ไปเหมือนกัน พ่อแม่พันธุ์ปลากัดที่ตระเวนซื้อมาจากตลาดนัดสวนจตุจักร 20 คู่ ตายหมด หลังจากซื้อมาเลี้ยงได้ไม่นาน ด้วยเหตุนี้ คุณมนตรีจึงหันกลับไปศึกษาอย่างจริงจังใหม่อีกครั้ง และพุ่งเป้าที่ไปฟาร์ม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตปลากัดโดยตรง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ มีฟาร์มปลากัดชื่อดังหลายแห่ง

หลังจากมีประสบการณ์ คุณมนตรี เดินหน้าเข้าหาฟาร์มปลากัดหลายแห่ง เพื่อเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และได้ตามต้องการมาเพาะ ในที่สุดก็เริ่มเพาะพันธุ์ปลากัดได้จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เทคนิคการเลี้ยงปลากัดให้รอดและตายน้อยที่สุด
คุณมนตรี บอกว่า ขึ้นอยู่กับน้ำที่ใช้เลี้ยงว่ามีความสะอาดมากพอหรือไม่ แม้ว่า ปลากัดจะเป็นปลาตามธรรมชาติ มีความอดทนสูง โอกาสตายน้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถทนทานได้ทุกสภาพแวดล้อม ซึ่งปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญที่สุดคือที่อยู่อาศัย และ น้ำที่ใช้

“ปลากัดเป็นปลาอิงธรรมชาติ จึงไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดโรคจากแหล่งน้ำ เพราะแหล่งน้ำธรรมชาติมีพื้นที่กว้าง โอกาสเกิดน้ำเสียยาก ปลาจึงตายยากด้วยเช่นกัน”

ที่อยู่อาศัยสำหรับปลากัด คุณมนตรี เลือกใช้โหลที่มีพื้นที่กว้างมากพอ เพื่อให้ปลาไม่รู้สึกอึดอัด เมื่อปลาร่าเริงก็จะไม่ป่วยง่าย อีกทั้งการทำความสะอาดน้ำ โดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยๆ ทำให้น้ำสะอาด โอกาสเกิดโรคกับปลาก็น้อย ซึ่งการถ่ายน้ำจะทำในตอนเย็นของทุกวันด้วยการดูดเอาสิ่งสกปรกที่ตกตะกอนในภาชนะเลี้ยงปลาออก แล้วเติมน้ำเข้าแทนที่ 2-3 วันจะเปลี่ยนน้ำทั้งหมดอีกครั้ง เมื่อถ่ายน้ำใหม่ ปลากัดจะร่าเริง โอกาสป่วยน้อยมากหรือไม่มีเลย

สำหรับน้ำที่ใช้เลี้ยงปลากัด ไม่จำเป็นต้องวัดค่าพีเอชอย่างละเอียด แต่ควรเป็นน้ำที่มีสารคลอรีนตกค้างน้อยที่สุด หากอยู่ในชุมชนก็ควรพักน้ำไว้ก่อนเปลี่ยนถ่ายให้กับปลา และควรใส่ใบหูกวางแห้งหรือใบสีเสียดแห้งไว้ด้วย เพราะรักษาสมดุลน้ำและทำให้น้ำมีสีเข้มขึ้น เนื่องจากปลากัดเป็นปลาขี้กลัว ขี้ระแวง เมื่ออาศัยอยู่ในน้ำใส จะกังวลและขับเมือกตัวเองออกมา และเมือกทำให้น้ำขุ่น เมื่อน้ำขุ่นจะมีผลทำให้น้ำเสียและเกิดโรคที่ปลาในที่สุด

คุณมนตรี บอกว่า ความโดดเด่นของปลากัด อยู่ที่ สีสันสวยงาม ใช้พื้นที่น้อยในการเลี้ยง ไม่มีเสียงรบกวน อยู่ได้โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์ในการเลี้ยงที่ยุ่งยาก

ในการผสมปลากัด อย่างที่บางคนเชื่อว่า ปลากัดแค่มองตาก็ตั้งท้อง แท้ที่จริงแล้ว การเทียบปลาให้มองตากันเป็นวิธีลดความก้าวร้าวระหว่างปลาทั้งคู่ และเมื่อเห็นว่าความก้าวร้าวระหว่างคู่ลดลงแล้ว จึงจับใส่ภาชนะเดียวกัน เพื่อให้ปลาได้ผสมพันธุ์กัน ดังนั้น ความเชื่อที่ว่าปลากัดแค่มองตาแล้วตั้งท้องจึงเป็นความเชื่อที่ผิด

วิธีสังเกตความพร้อมของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ปลากัด
อายุของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลากัด ต้องไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงจะผสมได้ ซึ่งการผสมพันธุ์มีหลายแบบ ขึ้นกับเทคนิคการผสมของแต่ละฟาร์มที่ไม่เหมือนกัน

สำหรับ ฟิน เบ็ตต้า จะให้ความสำคัญที่ความสมบูรณ์ของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ โดยเลือกพ่อพันธุ์ที่มีหวอดสมบูรณ์ ส่วนแม่พันธุ์เลือกตัวที่มีไข่ สังเกตที่ท้องมีสีเหลืองๆ เต่งออกมา จากนั้นนำภาชนะพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เทียบกัน 1-2 วัน เพื่อลดความก้าวร้าวระหว่างปลาทั้งคู่ลง แล้วจึงนำแม่พันธุ์ใส่ลงไปในภาชนะพ่อพันธุ์ ปล่อยให้อยู่ด้วยกันนาน 4 วัน จากนั้นตักแม่พันธุ์ออก ปล่อยให้พ่อพันธุ์ดูแลไข่

เหตุที่ปล่อยให้พ่อพันธุ์ดูแลไข่ เนื่องจากเมื่อไข่เก็บอยู่ในหวอดแล้ว พ่อพันธุ์จะพ่นหวอดออกมาอีกเรื่อยๆ เพื่อพยุงไข่ไม่ให้ตกลงพื้นภาชนะ ยกเว้นกรณีที่พบว่า พ่อพันธุ์กินไข่ให้ตักพ่อพันธุ์ออก ปล่อยให้แม่พันธุ์อยู่กับไข่และหวอดแทน ทั้งนี้ควรให้อาหารพ่อพันธุ์อย่างเต็มที่ เพราะหากปล่อยให้พ่อพันธุ์หิว พ่อพันธุ์อาจกินไข่ที่มีก็ได้

ระหว่างที่พ่อพันธุ์เฝ้าหวอดและไข่ ควรให้ใบสีเสียดแห้งหรือใบหูกวางแห้ง ใส่ลงไปในภาชนะนั้นด้วย เพื่อให้ลูกปลาที่กำลังเริ่มโตได้มีที่เกาะ พยุงตัวลูกปลาไว้ อีกทั้งใบสีเสียดแห้งหรือใบหูกวางแห้ง จะช่วยให้น้ำมีความเป็นธรรมชาติ

เมื่อระยะเวลาผ่านไป 4-5 วัน ควรเริ่มให้อาหาร เป็นไข่แดงต้ม, ไรทะเล หรือ ไรจืด ในปริมาณน้อยมาก

จากนั้น ลูกปลาเริ่มเจริญเติบโตขึ้น อายุ 2 สัปดาห์ ขนาดลูกปลากัดเกือบเท่าปลาหางนกยูง ซึ่งไซซ์นี้อัตราการรอดของลูกปลากัดจะสูง

หลังจากนั้น ควรให้อาหารเสริมเป็นเต้าหู้ไข่ เพราะในเต้าหู้ไข่ มีไข่ แป้ง และวิตามินอื่นๆ ให้วันละครั้ง ปลากัดก็อยู่ได้ทั้งวัน อย่างไรก็ตาม การให้อาหารเม็ดนั้นก็ยังจำเป็นอยู่ เพราะเมื่อเปลี่ยน

ในการออกไข่แต่ละครั้งของปลากัด จะมีมากกว่า 1,000 ฟอง เมื่อเจริญเติบโตเป็นลูกปลา จะลดจำนวนลง เพราะเกิดความเสียหายระหว่างฟัก แต่อัตราการรอดของลูกปลากัดที่ทำได้มากที่สุดคือ 300-500 ตัว ต่อ ปลากัดจำนวน 1,000 ตัวที่ฟักออกมา และในจำนวนที่รอด สามารถคัดเป็นปลากัดเกรดสวยได้เพียง 20 เปอร์เซ็น

ในจำนวนปลาที่รอดทั้งหมด ฟิน เบ็ตต้า จะเลือกตัวที่มีลักษณะดีไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ส่วนที่เหลือก็ดูตามลักษณะของปลา จำหน่ายตามลักษณะและสีของปลา ซึ่งขึ้นกับลูกค้าแต่ะละรายที่ชอบไม่เหมือนกัน และเริ่มขายปลาออกเมื่อปลาอายุประมาณ 2 เดือนครึ่ง โดยสีและลักษณะของปลาจะยังคงเปลี่ยนไปอีกเรื่อยๆ และสีจะนิ่งจนเมื่อปลามีอายุประมาณ 4 เดือน

ส่วนอายุของปลากัด หากดูแลเอาใจใส่ดีๆ จะเจริญเติบโตได้นาน 1-2 ปีทีเดียว

สำหรับโรคที่พบบ่อย คือ หูด ที่มีลักษณะของเนื้อพองที่ตัวปลา ซึ่งไม่มีผลอะไร นอกจากทำให้ปลาไม่สวยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากดูแลให้น้ำสะอาดอย่างสม่ำเสมอ โอกาสเกิดโรคไม่มี

ปัจจุบัน คุณมนตรี มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กว่า 30 คู่ ในแต่ละเดือนผลิตลูกปลากัดออกสู่ท้องตลาดหลายร้อนตัวต่อเดือน ซึ่งคุณมนตรี บอกว่า ตลาดปลากัดในประเทศยังคงกว้างมาก ความต้องการปลากัดเลี้ยงในประเทศยังไม่เพียงพอ จึงตั้งใจทำตลาดในประเทศให้ดีมากกว่าก่อนจึงจะพัฒนาตลาดไปถึงต่างประเทศ

สนใจปลากัดที่เลี้ยงด้วยวิธีที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด สอบถามเพิ่มเติมหรือติดต่อเข้าชมฟาร์ม ได้ที่ คุณมนตรี สายศรี 77/2 หมู่ 5 ตำบลย่านซื่อ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง หรือเปิดชมปลาสวยๆ ได้ที่ เพจ Finbetta หรือโทรศัพท์นัดแนะได้ที่ 081-0085380

วันที่ 25 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา เป็นการเปิดตัววางขายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมันสำปะหลัง โดยเป็นการต่อยอดงานวิจัยของนักวิจัย คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ก่อนหน้านั้น คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย รศ.ดร. อนุวัตร แจ้งชัด คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร. รวิพิมพ์ ฉวีสุข รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ และพัฒนาองค์กรคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ รศ.ดร. ปรารถนา ปรารถนาดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรมผลิตภัณฑ์มันแปรรูป PRODUCT CHAMPIONS เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมแปรรูปมันสำปะหลังเป็นวาฟเฟิลกรอบ และมันอบกรอบ และสแน็กอีก 3 แบรนด์ คือ CASSA SWEET, Amade และ CASSY CHIPS โดยมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมแปรรูปดังกล่าว จะช่วยแก้ปัญหาราคามันตกต่ำ และเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้

น.ส. พัชรี พยัควงษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร 2 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นับเป็นผลสำเร็จของโครงการแปรรูปมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์สู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ภายใต้โครงการประชารัฐของรัฐบาล เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยที่ผลิตมากเป็น อันดับ 2 ของโลก และส่งออกมากเป็น อันดับ 1 ของโลก แต่ราคาผันผวนตามสถานการณ์ตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง มันสำปะหลังราคา 2.50 บาท ถ้าเราแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ 3-4 เท่าตัว

ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน จึงมีนโยบายช่วยยกระดับราคามันสำปะหลังภายในประเทศ และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงมอบหมายให้คณะอุตสาหกรรมเกษตร และสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากมันสำปะหลังสายพันธุ์ที่เหมาะสม คือ มันสำปะหลังพันธุ์หวาน ที่มีกรดไซยาไนด์ต่ำ ปลอดภัยต่อการนำมาบริโภค นำมาแปรรูปจนได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีต้นแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 4 ผลิตภัณฑ์ มีไอศกรีม มันสำปะหลังอบกรอบ วาฟเฟิล และมันสำปะหลังบอล

และเมื่อพัฒนาต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร จึงคัดเลือกเหลือ 2 โปรดักส์แชมเปี้ยน คือ วาฟเฟิลกรอบ และมันอบกรอบ ที่มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดขนมขบเคี้ยว มีมูลค่าการตลาดสูงถึง 40,000 ล้านบาท ในปี 2561 และมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง

ด้าน รศ.ดร. อนุวัตร กล่าวว่า โครงการต่อเนื่องปีนี้ เป็นการคัดเลือกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแปรรูปต้นแบบ มาพัฒนาต่อเนื่องเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิต และการบริโภคระดับประเทศ จนสามารถขยายสู่การส่งออก โดยมีกระบวนการด้านวิจัยพัฒนาในห้องปฏิบัติการด้วยเครื่องมือทันสมัย ร่วมด้วยการผลิตจาก Mini Factory

ผศ.ดร. รวิพิมพ์ กล่าวเสริมว่า คณะอุตสาหกรรมเกษตร มียุทธศาสตร์งานวิจัยที่มุ่งก้าวเพื่อสร้างและถ่ายทอดนวัตกรรมรวมถึงแก้ปัญหา เพื่อให้การกินดีอยู่ดีเกิดประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ เชิงอุตสาหกรรม รวมทั้งต้องตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รศ.ดร. ปรารถนา ในฐานะหัวหน้าโครงการแปรรูปมันสำปะหลังฯ กล่าวว่า ได้ดำเนินโครงการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์มาเป็นปีที่ 2 โดย ปี 2559 ได้ส่งเสริมนำมันสำปะหลังพันธุ์หวานมาแปรรูปเองได้ มาในปีนี้อยากจะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ อย่าง CASSY CHIPS มันสำปะหลังทอดกรอบ กรมการค้าภายในได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พัฒนาต่อยอด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง หรือผู้ผลิตสินค้าในวิสาหกิจชุมชน ในด้านการควบคุมและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้สามารถนำไปผลิตและจำหน่ายได้มาตรฐาน สร้างอาชีพได้จริงในระดับชุมชน ที่ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. บ้านฉาง จังหวัดระยอง และขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมผลิตภัณฑ์ทำเป็นเฟรนช์ฟราย

ซึ่งมีเกษตรกรหลายรายสนใจผลิตและแปรรูปเพื่อจำหน่ายทั้งในท้องถิ่น และแช่แข็งบรรจุถุงจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต โมเดิร์นเทรด รวมถึงการส่งออกไปต่างประเทศในอนาคตต่อไป

โดยปกติแล้วมะละกอสามารถขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิด แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยและมีการระบายน้ำที่ดี เช่น ดินร่วนปนทราย ถ้าพื้นที่เป็นดินเหนียวหรือดินทรายจัด เราควรปรับปรุงดินก่อนโดยการใส่อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดี การระบายน้ำของแปลงปลูกมะละกอจะต้องดี เพราะต้นมะละกอเป็นพืชที่ไม่ทนต่อสภาพน้ำขังแฉะโดยเฉพาะถ้าต้นมะละกอยังเล็ก ถ้ามีน้ำขังมากๆ ต้นมะละกออาจจะชะงักการเจริญเติบโตและอาจถึงตายได้

มะละกอยักษ์ “เรด แคลิเบียน” เป็นมะละกอสายพันธุ์ใหม่ที่ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จ.พิจิตร 2/395 ถ.ศรีมาลา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิจิตร 66000 โทร. 056-613021, 081-8867398 ได้เมล็ดพันธุ์มาจากประเทศทางแถบอเมริกากลางและนำมาคัดเลือกพันธุ์นานกว่า 10 ปี ได้ผลผลิตที่มีคุณลักษณะดังนี้

“ทรงผลคล้ายกับมะละกอเรดมาลาดอล์ (หรือบ้านเราเรียกมะละกอฮอลแลนด์ หรือ ปักไม้ลาย) แต่มีขนาดของผลใหญ่กว่ามากขนาดผลใหญ่กว่าเท่าตัว น้ำหนักผลเฉลี่ย 3-5 กิโลกรัม เนื้อหนามาก มีสีแดงส้มและรสชาติหวานเหมือนมะละกอแขกดำศรีสะเกษ จากการปลูกทดสอบในแปลงพบว่าต้นมะละกอยักษ์ “เรด แคลิเบียน” มีความทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวนได้ดีกว่ามะละกอสายพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกเปรียบเทียบกันในแปลง ลำต้นมะละกอยักษ์ “เรด แคลิเบียน” มีความแข็งแรงอย่างเห็นได้ชัด ลำต้นจะมีขนาดใหญ่ แข็งแรงสอดคล้องกับการรับน้ำหนักผลบนต้นที่มีจำนวนมากและผลมีน้ำหนักค่อนข้างเยอะ