ครูหนุ่มเมืองมหาสารคาม ปลูกตอกราฟเป็นอาชีพเสริม

ขายออนไลน์ สร้างรายได้ดี เพื่อสร้างกำลังใจให้กับพี่น้องเกษตรกรและคนที่กำลังมองหาช่องทางทำธุรกิจเกษตร ฉบับนี้พาท่านไปเยี่ยมชมสวนพันธุ์ไม้ที่เราท่านอาจจะเคยเห็นจนชินตาแต่ไม่รู้จักแม้กระทั่งชื่อและแหล่งที่มาอย่าง “ตอกราฟ” ขึ้นไปอีสานบ้านเฮาตามไปดูรายละเอียดกันครับ พาท่านมาที่บ้านเลขที่ 131 หมู่ที่ 17 บ้านหนองบุญชู ตำบลกู่ทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม มาพบกับคุณครูหนุ่มคนขยัน คุณครูวัฒนพงษ์ พรนิคม ตำแหน่งครูชำนาญการ โรงเรียนหนองนาคำวิทยาคม จังหวัดขอนแก่น คุณครูวัฒนพงษ์ เริ่มแนะนำตัวว่า

“ผมสอนวิชาเกษตรเพราะจบจากสาขาพืชศาสตร์ รุ่นที่ 6 คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จบมาก็สอบบรรจุมาเป็นข้าราชการครูอยู่ในภูมิลำเนาเดิมทางภาคอีสาน เพราะผมเป็นคนภาคนี้ จบมาจึงอยากจะกลับมาทำงานใกล้บ้าน”

และด้วยความรู้ด้านการเกษตรที่ศึกษามา คุณครูวัฒนพงษ์จึงได้นำมาใช้สร้างอาชีพเสริมโดยการปลูกต้นตอกราฟ เพื่อขายเป็นต้นตอสำหรับการกราฟ (Grafting) หรือการต่อยอดต่อกิ่งไม้จำพวกกระบองเพชร ครูวัฒนพงษ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของอาชีพเสริมนี้ว่า เริ่มทำสวนตอกราฟมาได้เกือบ 1 ปีแล้ว เริ่มจากไปเยี่ยมญาติซึ่งเปิดเป็นฟาร์มแค็กตัส ที่อำเภอศรีบุญเรือง และทราบว่าฟาร์มแค็กตัสที่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ขาดต้นตอสำหรับใช้ในการกราฟ และฟาร์มแค็กตัสส่วนใหญ่มีความต้องการต้นตอมากกราฟจึงมาทบทวนดูแล้วรู้สึกว่าต้นตอกราฟใช้การดูแลน้อย ไม่มีโรคแมลงศัตรูที่ทำลายอย่างรุนแรง สามารถปลูกได้แม้มีพื้นที่น้อย จึงเริ่มลงมือสร้างฟาร์มตอกราฟและใช้ชื่อว่า TK (ทีเค) ฟาร์ม ซึ่งย่อมาจากต้นข้าวที่เป็นชื่อของลูกชาย

ครูวัฒนพงษ์ ลงมือปลูกตอกราฟพันธุ์สามเหลี่ยม ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ “ตอกราฟมีหลายพันธุ์ เช่น ตอสามเหลี่ยม ตอแก้วมังกร ตอบลู ตอหนามดำ ตอริทเทอโร ตอสามเหลี่ยมหนามดำพันธุ์ลูกผสม แต่ตอนนี้ตอกราฟพันธุ์สามเหลี่ยมเป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุด ผมจึงปลูกพันธุ์นี้เอาไว้เยอะที่สุด เมื่อตอนเริ่มต้นทำฟาร์มตอกราฟผมตัดสินใจเริ่มทำแปลงปลูกในพื้นที่ประมาณ 2 งาน สามารถปลูกได้ประมาณ 5,000 ต้น โดยเริ่มต้นซื้อท่อนพันธุ์มาจากญาติแล้วขยายพันธุ์เพิ่มเอาเอง

อาชีพเสริมที่มีรายได้กว่า 20,000 บาทต่อเดือน

ครูวัฒนพงษ์ บอกว่า การปลูกตอกราฟตั้งแต่ปลูกจนอายุ 4 เดือนจะสามารถตัดขายครั้งแรกได้ หลังจากนั้น จะสามารถตัดขายได้ทุก 2 เดือน แต่ถ้าแปลงปลูกตอกราฟมีแสงแดดเต็มที่และให้น้ำได้เต็มที่ต้นตอจะโตเร็วมากจนสามารถตัดได้เร็วกว่า 2 เดือน และหากมีหลายแปลงก็สามารถตัดวนสามารถตัดขายได้ทุกอาทิตย์ ทำรายได้เดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท” การดูแลต้นตอกราฟ ครูวัฒนพงษ์ แนะนำว่า ช่วงก่อนปลูกทำการเตรียมดินเพื่อให้ดินมีความโปร่ง ต้นตอชอบดินร่วน หากสภาพดินเป็นดินทรายควรใส่ปุ๋ยคอกหรือแกลบเพิ่มเข้าไปเพื่อให้ดินโปร่ง รองพื้นด้วยปุ๋ยคอกกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-8-8 หลังจากนั้น เมื่อปลูกไปแล้วจะให้ปุ๋ยยูเรียเดือนละ 2 ครั้ง และรดด้วยน้ำหมักชีวภาพ ส่วนการให้น้ำ ต้นตอกราฟไม่ต้องการน้ำมาก ถ้าเป็นช่วงที่ร้อนจัดอาจจะให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง ส่วนช่วงปกติให้น้ำ 3-4 วันครั้ง

การจัดการวัชพืชเป็นเรื่องสำคัญ

ในส่วนของโรคและแมลงศัตรูของตอกราฟนั้นมีไม่มากนัก “ในส่วนของโรคอาจจะมีโรคแคงเกอร์ซึ่งจัดการได้โดยการสังเกตและตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบให้รีบตัดและนำเอาไปเผาทำลาย แต่เรื่องโรคไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของตอกราฟ ส่วนแมลงไม่มีปัญหา ปัญหาหลักๆ คือการจัดการวัชพืชเพราะต้นตอกราฟมีหนามแหลมคมทำให้ยากต่อการเข้าไปกำจัดวัชพืช ตอนนี้ทำมาได้เกือบ 1 ปี ในพื้นที่ 2 งาน ซึ่งถือว่าเยอะมากๆ สำหรับการปลูกต้นตอกราฟ และเรามีแรงงานเพียง 2 คน ไม่สามารถจัดการวัชพืชได้ทัน คำแนะนำของผมก็คือ หากมีคนงานคนเดียวการปลูกตอกราฟในพื้นที่ 1 งานจะเหมาะสมที่สุดเพราะสามารถดูแลได้ทั่วถึงและสามารถจัดการวัชพืชได้ทัน” ครูวัฒนพงษ์ แนะนำ

ราคาและตลาดของ TK ฟาร์มตอกราฟ

ในเรื่องของตลาดนั้น ครูวัฒนพงศ์ บอกว่า ตลาดดีตอกราฟขายได้เรื่อยๆ โดยตลาดมีความต้องการต้นตอกราฟ 2 กลุ่ม คือ

ลูกค้าที่ต้องการต้นต่อกราฟเพื่อไปทำต้นพันธุ์ และ
ลูกค้าที่เอาไปทำต้นตอสำหรับตอกับแค็กตัส
“ความต้องการต้นตอกราฟของตลาดมีหลากหลาย อาจจะยาว 5 นิ้วครึ่ง ที่ TK จะขายที่ราคา 8 บาท ตอกราฟยาว 8 นิ้วราคา 25 บาท ตอกราฟยาว 10 นิ้วขึ้นไปราคา 30 บาท 12 นิ้วราคา 35 บาท ตอกราฟยาว 20 นิ้วราคา 60 บาท แล้วแต่ความต้องการของลูกค้า การเลือกซื้อต้นตอกราฟลูกค้ามักชอบต้นตอที่มีสีเขียวเข้ม มีความอวบ ขนาดความยาวของต้นตอกราฟแตกต่างกันไป บางคนอาจจะซื้อต้นตอที่ยาวมากเพื่อเอาไปตัดใช้งานซึ่งจะทำให้ราคาถูกลง บางคนก็นิยมใช้ต้อตอกราฟแบบสั้น ต่างกันไปตามความต้องการของลูกค้า”

ในส่วนของกลุ่มลูกค้าหลักๆ ของ TK ตอกราฟ มีอยู่ 4 กลุ่ม คือ

ลูกค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ครูวัฒนพงษ์ใช้วิธีการไปโพสต์ในกลุ่มของผู้เลี้ยงแค็กตัสในโลกออนไลน์
ฟาร์มแค็กตัส ครูวัฒนพงษ์ได้เข้าไปแนะนำตัวให้รู้จัก
พ่อค้าคนกลางที่มาหาซื้อต้นตอกราฟเพื่อนำไปขายต่อ พ่อค้าเหล่านี้จะมาคัดเลือกต้นตอเองที่สวนและตัดเอง
ผู้ปลูกรายย่อยที่ปลูกเลี้ยงแค็กตัสเป็นงานอดิเรก
ในเรื่องของราคา ครูวัฒนพงษ์ บอกว่า ราคาต้นตอกราฟค่อนข้างดีและเป็นราคาที่ดีสม่ำเสมอมา 5-6 ปีแล้ว ส่วนเรื่องการตลาดเป็นเพราะเราขายแบบออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น หากลูกค้ามั่นใจในคุณภาพ เราสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี ลูกค้าก็จะซื้อกับเราอย่างเหนียวแน่น อีกอย่างที่สำคัญคือ ต้องดูแลเรื่องโรคและแมลงอย่าให้มีติดไปก็จะทำให้ลูกค้ามั่นใจสินค้าของเรา

ข้อคิดฝากถึงคนที่สนใจ

ครูวัฒนพงษ์ บอกว่า ฟาร์มต้นตอกราฟลักษณะนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ มีรายใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ในช่วงฤดูฝนจะมีต้นตอกราฟออกสู่ตลาดเยอะ แต่เท่าที่สังเกตราคาต้นตอกราฟก็ยังดีสม่ำเสมอ ส่วนในหน้าแล้งจนถึงหน้าหนาวต้นตอกราฟจะเจริญเติบโตช้า โดยเฉพาะในภาคเหนือต้นตอกราฟจะเจริญเติบโตได้ช้ากว่าภาคอื่นๆ เพราะมีอุณหภูมิต่ำทำให้เลยช่วงฤดูแล้งราคาต้นตอกราฟจะขยับสูงขึ้นไปอีก” ส่วนข้อแนะนำสำหรับคนที่สนใจปลูกตอกราฟ ครูวัฒนพงษ์ แนะนำว่า “หากสนใจจะปลูกเลี้ยงต้นตอกราฟควรศึกษาข้อมูลให้ดี เลือกที่ถูกกับจริตของเรา ถูกกับความถนัดของเรา หากคิดว่าใช่ก็ลงมือทำได้เลย ทำไปก่อนไม่ต้องกังวลเรื่องการตลาด ผมเคยแนะนำหลายคนว่า ร้านทองที่เยาวราชมีหลายสิบหลายร้อยร้านติดกันเต็มไปหมดก็ยังขายทองได้ การเกษตรก็เหมือนกันอย่ากังวลว่าเราทำตามใคร เราทำมากน้อยแค่ไหนไม่ใช่ปัญหา แต่ขอให้สินค้าของเรามีคุณภาพก็สามารถสร้างตลาดของตัวเองได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น การลงทุนใดๆ ก็ตามทำแล้วอาจจะมีการขาดทุน แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยผมเรียกว่าการขาดทุนยิ่งกว่า

คุณวิไล ประกอบบุญกุล เป็นเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีมานานกว่า 30 ปี คุณวิไล เริ่มต้นบนเส้นทางกล้วยหอมด้วยการปลูกอย่างเดียว จากนั้นต่อยอดด้วยการตัดขาย พัฒนามาถึงการเป็นผู้จัดส่งเอง แถมท้ายด้วยการมีแผงขายกล้วยอยู่ที่ตลาดไทอีก เรียกว่า เธอทำสวนกล้วยแบบครบวงจร

เลิกทำสวนส้ม หันมาปลูกกล้วย

คุณวิไล กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดปทุมธานี นิยมปลูกกล้วยหอมแบบระบบร่อง เพราะสมัยก่อนเคยเป็นสวนส้มมาก่อน หลังเลิกทำสวนส้ม จึงปรับสวนเดิมมาปลูกกล้วยหอมแทน โดยนำเทคนิคการปลูกหลายวิธีมาใช้ อย่างแรก ใช้หน่อจากต้นกล้วยที่ตัดเครือไปแล้วซึ่งจะได้ผลดีและมีความสมบูรณ์ ทั้งนี้ ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกกล้วยได้จำนวน 300 หน่อ ใช้ระยะปลูก 1.50 เมตร แต่ละร่องปลูก 3 แถว

กล้วยหอม ปลูกได้ทั้งปี

กล้วยหอม สามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่ควรเลือกพื้นที่ให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เพราะต้องใช้น้ำรดตลอด ขณะเดียวกัน ควรวางแผนปลูกให้ได้ผลผลิตตรงกับช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ตรุษจีน ควรเริ่มปลูกในเดือนมีนาคม-เมษายน โดยใช้เวลาประมาณ 9 เดือน สามารถเก็บผลขายได้ตรงเวลา กับอีกเทศกาลสำคัญคือ สารทจีน ซึ่งควรลงมือปลูกในราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

วิธีปลูก กล้วยหอมทอง

วิธีปลูกกล้วยหอมจะต้องรองก้นหลุมด้วยมูลวัวและกระดูกป่น จากนั้น 1 เดือน จึงเริ่มใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 หรือยูเรีย ประมาณครึ่งกำมือ ใส่บริเวณรอบโคนแต่อย่าให้ชิดต้น จากนั้น 2 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 จำนวน 1 กำมือ รอบโคนเช่นกัน พอเข้าเดือนที่ 3 จะตักเลนจากร่องขึ้นมาใส่ที่โคนต้นเพื่อเรียกรากและป้องกันต้นโค่นล้ม

หลังจากเลนที่ตักใส่เริ่มแห้งสนิท จึงกลับมาใส่ปุ๋ยเช่นเดิม แล้วให้ใส่ทุกเดือน พอเข้าเดือนที่ 5 ให้ตัดเลนในร่องใส่อีกรอบ แล้วพอเลนแห้งจึงใส่ปุ๋ยเช่นเดิมอีก ขณะเดียวกัน ในช่วงนี้กล้วยจะออกใบสั้นและแทงปลี จึงต้องจัดการล้างคอกล้วยเพื่อเตรียมความพร้อมกับการสร้างคุณภาพผลผลิต อย่างไรก็ตาม วิธีการล้างคอกล้วยจะเป็นการช่วยกำจัดโรคแมลงที่อาศัยอยู่บริเวณรอบคอกล้วย พร้อมกับใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 จำนวน 2 กำมือ พร้อมกับการตัดแต่งใบ

ป้องกันโรคแมลง

คุณวิไล แนะนำว่า สวนกล้วยหอม ต้องระวังอย่าปล่อยให้บริเวณโคนต้นรก เพราะจะส่งผลต่อการเกิดโรค/แมลง เนื่องจากแสงแดดส่องไม่ถึงผิวหน้าดิน ควรตัดใบกล้วยออก ประมาณ 10-12 ใบ ต่อต้น ทั้งนี้ เพราะในช่วงที่ตกเครือจะไม่มีการแทงใบใหม่ออกมา ดังนั้น ใบที่มีความสมบูรณ์จะช่วยในเรื่องการปรุงอาหารได้อย่างดี

ในช่วงเข้าเดือนที่ 6 จะต้องเริ่มค้ำต้นกล้วย เพราะเป็นช่วงที่กล้วยออกปลี จึงต้องค้ำต้นล่วงหน้าเสียก่อนมิเช่นนั้นอาจทำให้ต้นกล้วยล้มแล้วเสียหายได้ โดยเฉพาะถ้าในช่วงนั้นมีลมพัดแรง สำหรับไม้ที่ใช้ค้ำต้นนั้นเป็นไม้รวกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว ยาว 5 เมตร โดยตำแหน่งค้ำยันควรอยู่บริเวณคอกล้วยใบสุดท้าย

ส่วนอีกด้านของไม้ค้ำ ให้ปักลงดินลึกอย่างน้อย 20 เซนติเมตร แล้วใช้เชือกมัดบริเวณกลางกล้วย ในช่วงนี้ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 เพื่อเป็นการเร่งผลผลิตให้โต พร้อมกับการสร้างรสชาติ ขณะเดียวกัน ช่วงเวลานี้จะต้องใช้ถุงห่อกล้วยด้วยเพื่อป้องกันแสงแดดที่จะทำให้ผิวเปลือกเสีย ทั้งนี้ ข้อดีของการห่อจะช่วยทำให้ผลกล้วยมีสีสวยเท่ากัน มีผิวสวย โดยการห่อผลจะเริ่มห่อตั้งแต่ผลกล้วยมีขนาดเท่านิ้วโป้ง และควรใช้ถุงห่อสีฟ้าเพราะทดสอบแล้วว่าดีที่สุด

พอถึงช่วงเก็บเกี่ยวจะตัดเครือกล้วยใส่บรรทุกลงในเรือที่อยู่ตามร่อง แล้วนำไปหั่นเป็นหวีล้างทำความสะอาด ขณะเดียวกันจะมีการคัดแบ่งเกรดเป็นไซซ์ขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก สำหรับการขายให้ลูกค้าที่สั่งไว้จะใส่กล้วยไว้ในเข่ง จำนวนเข่งละ 7 หวี สำหรับกล้วยที่คัดตกเกรดจะมีคนมารับซื้อเพื่อนำไปแปรรูปเป็นขนมชนิดต่างๆ ส่วนสถานที่ขายจะมีแผงร้านขายอยู่ที่ตลาดไท ใช้ชื่อว่า “พรวิไลกล้วยหอม” จะขายทุกวัน

สร้างเครือข่ายลูกไร่

คุณวิไล มีสวนกล้วยหอมที่จังหวัดปทุมธานี จำนวนเนื้อที่ 100 ไร่ นอกจากผลผลิตกล้วยในสวนตัวเองแล้วยังรับซื้อกล้วยจากลูกไร่ที่ปลูกอยู่อีกหลายรายนับเป็นพันไร่ โดยจะรับซื้อ-ขายกล้วยแบบเป็นเครือ โดยเป็นการซื้อแบบเหมาสวน จะตีราคาเป็นเครือตามความสมบูรณ์ ทั้งนี้ เครือที่ความสมบูรณ์มากราคาประมาณ 200 บาท ส่วนความสมบูรณ์น้อยราคาก็จะลดต่ำลงมา และการเข้าซื้อแต่ละสวนเจ้าของสวนจะขอมัดจำไว้ล่วงหน้า หรือบางรายอาจต่อรองเป็นค่าไม้ค้ำยันแทนเงินมัดจำ

อย่างไรก็ตาม ราคาไม้รวกต่อเที่ยวรถบรรทุก ประมาณ 10,000-20,000 บาท และมีราคาต่อลำประมาณ 16 บาท เป็นไม้รวกทางปราจีนบุรี ซึ่งถ้าเป็นไม้เลี้ยงราคาจะแพงหน่อย แต่มีคุณภาพเนื้อไม้และอยู่ได้นาน แต่ถ้าเป็นไม้รวกธรรมดาที่ราคาไม่แพงจะอยู่ได้ราวปีเศษเท่านั้น

ปลูกกล้วย ก็รวยได้

คุณวิไล บอกว่า อาชีพของตัวเองจะต้องมีสวนกล้วยด้วยเนื่องจากเราสามารถปลูกอย่างมีคุณภาพได้ กำหนดได้ แต่ความเป็นจริงคงไม่ทันเพราะเรามีแผงขายและมีลูกค้าจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องหาเครือข่ายที่ปลูกกล้วยแบบมีคุณภาพเพื่อช่วยบรรเทาความต้องการของลูกค้าในกรณีที่ไม่พอ

“ในปัจจุบันตลาดกล้วยมีความต้องการทั้งในและต่างประเทศ ที่ผ่านมาแม้จะมีพื้นที่ปลูกกล้วยเพิ่มขึ้น แต่ในบางคราวยังมีสภาพขาดแคลนอยู่ ถ้าตลาดในประเทศยังมีความต้องการอยู่อย่างต่อเนื่อง แล้วมีการส่งเข้าห้างใหญ่หรือร้านสะดวกซื้อด้วย แต่ถ้าปลูกแบบเน้นคุณภาพเพื่อส่งออกก็ยังเป็นตลาดที่สนใจ แต่ต้องคุณภาพจริงๆ ดังนั้น ขอสรุปว่าตอนนี้ตลาดกล้วยยังไปได้ เพียงแต่ขอให้เกษตรกรรักษามาตรฐานการปลูกควบคู่ไปด้วย” คุณวิไล กล่าว ขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำและมีคนตกงานเป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันนี้การเพาะถั่วงอกนับเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ทำเงินได้เร็ว ใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน มีข้อมูลว่าคนไทยบริโภคถั่วงอกไม่น้อยกว่า 1 ล้านกิโลกรัม ต่อวัน แต่รูปแบบการเพาะถั่วงอกตัดรากและผลิตในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์จนได้รับใบรับรองผลิตภัณฑ์อินทรีย์ มาตรฐานประเทศไทย จากกรมวิชาการเกษตร จะมีอยู่เพียงไม่กี่รายและที่มีชื่อเสียงระดับประเทศจะเป็นของ คุณนิมิตร์ เทียมมงคล ที่เริ่มต้นจากการเพาะถั่วงอกตัดรากไร้สารพิษในตะกร้าพลาสติก ประยุกต์วัสดุเพาะมาเพาะในบ่อซีเมนต์ เนื่องจากความต้องการของตลาดมีมากขึ้น

ขั้นตอนการเพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ พื้นฐานในการเพาะถั่วงอกแบบอินทรีย์นั้น คุณนิมิตร์ แนะนำว่า คนที่สนใจควรที่จะทดลองเพาะถั่วงอกโดยใช้ตะกร้าพลาสติกให้เกิดความชำนาญก่อน แล้วจึงค่อยขยายขนาดภาชนะเพาะเป็นแบบวงบ่อปูน ซึ่งมีหลักการเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนขนาดอุปกรณ์เท่านั้น อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ เริ่มจากตะกร้าพลาสติกทรงกลมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 18 นิ้ว สูงประมาณ 11 นิ้ว มีรูตาข้างรอบตะกร้า และมีรูที่ก้นเพื่อใช้เป็นที่ระบายน้ำ เมล็ดถั่วเขียวที่มีวางขายในท้องตลาดจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ถั่วเขียวผิวมัน และถั่วเขียวผิวดำ ถั่วทั้ง 2 ชนิด

เมื่อนำมาเพาะเป็นถั่วงอกจะมีความแตกต่างกัน ถั่วเขียวผิวมันเพาะได้ถั่วงอกที่มีขนาดต้นโต สีขาวอมเหลือง แต่จะมีการเปลี่ยนสีค่อนข้างไวเมื่อโดนลมและแสง แต่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเอาถั่วงอกใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่น ไม่ให้โดนลม จะคงความขาวได้นาน แต่ถ้าจะเก็บไว้บริโภคหลายๆ วัน ควรจะเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน 7 วัน สำหรับถั่วเขียวผิวดำหรือหลายคนเรียกว่า “ถั่วแขก” จะมีขนาดของเมล็ดเล็กกว่า เมล็ดมีสีดำ เมื่อนำมาเพาะเป็นถั่วงอกจะได้ถั่วงอกที่มีสีขาว มีความกรอบและรสชาติที่ดีกว่าถั่วเขียวผิวมัน แต่มีข้อเสียตรงที่ได้ต้นถั่วงอกที่มีขนาดต้นเล็กกว่า มีอัตราการเจริญเติบโตช้ากว่า สีของต้นถั่วงอกที่เพาะจากถั่วเขียวผิวดำจะทนต่อการเปลี่ยนสีได้ดีกว่าถั่วเขียวผิวมัน ตลาดจะต้องการถั่วงอกจากถั่วเขียวผิวมันมากกว่า

เนื่องจากมีสีขาวอมเหลืองน่ารับประทานมากกว่า และก่อนที่จะเพาะควรจะคัดเลือกเมล็ดให้ดีเสียก่อน คัดเมล็ดถั่วที่แตก เมล็ดลีบ และเศษสิ่งสกปรกต่างๆ ออก (ถ้าเมล็ดไม่สะอาดหรือทำความสะอาดไม่ดี จะเป็นสาเหตุของเชื้อโรคเข้ามาทำความเสียหายได้) เมล็ดถั่วเขียว อัตรา 1 กิโลกรัม เพาะถั่วงอกได้ 6-7 กิโลกรัม

ตะแกรงรองพื้นก้นตะกร้า
จะใช้ตะแกรงพลาสติกขนาดรูตาใหญ่ ตัดให้ใหญ่ตามขนาดตะกร้าพลาสติกที่ใช้เพาะ แต่จะต้องมีขนาดของรูตะแกรง กว้างxยาว 1×1 เซนติเมตร นำสายยางมามัดกับตะแกรงเสริมให้สูงขึ้นตามรูป จุดประสงค์ที่ยกตะแกรงเพาะให้สูงจากพื้นเล็กน้อยเพื่อให้มีการระบายน้ำเป็นไปอย่างสะดวก ตะแกรงเกล็ดปลา เป็นตะแกรงพลาสติกที่มีรูละเอียด มีขนาดของรู กว้างxยาว เพียง 4-5 มิลลิเมตร เท่านั้น หรือดูให้มีรูตาเล็กกว่าเมล็ดถั่วเขียว ป้องกันการหลุดร่วง ตะแกรงชนิดนี้จะมีจำหน่ายตามร้านวัสดุก่อสร้าง

เมื่อเมล็ดถั่วเขียวงอกออกมาส่วนของรากจะแทงทะลุตะแกรงออกมา ส่วนของต้นจะตั้งตรง สะดวกต่อการตัดต้นถั่วงอกออกจากราก ในการเพาะถั่วงอกตัดรากไร้สารพิษต่อ 1 ตะกร้า จะใช้ตะแกรงรองพื้น 1 แผ่น และตะแกรงเกล็ดปลา จำนวน 4 แผ่น ใช้กระสอบป่านเพื่อให้ความชุ่มชื้น ประโยชน์ของการใช้กระสอบป่าน (กระสอบข้าวสาร) เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่เมล็ดถั่วเขียวที่เพาะและสามารถซักทำความสะอาดได้หลายครั้ง หลังจากเพาะถั่วงอกในแต่ละครั้ง จะต้องตัดกระสอบป่านให้มีขนาดเท่ากับตะแกรงเกล็ดปลา และจะใช้จำนวน 6 ผืน ต่อการเพาะถั่วงอก 1 ตะกร้า

เนื่องจากตะกร้าที่ใช้เพาะเป็นภาชนะโปร่งแสง ไม่ทึบแสงเหมือนที่เพาะในวงบ่อปูนหรือถังพลาสติกดำ ใช้ถุงดำคลุมตะกร้าพลาสติกเพื่อไม่ให้โดนแสงนั่นเอง การคัดเลือกถุงดำควรจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าตะกร้าเพาะ จะต้องตัดมุมก้นถุงดำ 2 ข้างออก เพื่อให้ระบายน้ำออกได้เมื่อมีการรดน้ำให้ตะกร้าเพาะถั่วงอก น้ำที่จะใช้ในการเพาะถั่วงอกควรเป็นน้ำที่สะอาด เช่น น้ำประปา หรือน้ำบาดาล เป็นต้น

การตัดรากถั่วงอก
เป็นเคล็ดลับการเพาะถั่วงอกของคุณนิมิตร์
เมื่อครบ 3 คืนแล้ว เช้าขึ้นมาเราจะเปิดปากถุงดำ นำตะกร้าเพาะถั่วงอกออกมาจากถุงดำ จะพบว่าถั่วเขียวที่เราเพาะไว้นั้นงอกออกมาจนเต็มตะกร้าครบทั้ง 4 ชั้น สังเกตเห็นรากถั่วเขียวแทงทะลุตะแกรงเกล็ดปลาออกมา จะมองเห็นส่วนของต้นและรากของถั่วงอกแยกกันอย่างชัดเจน นำน้ำสะอาดใส่กะละมัง นำแผงถั่วงอกออกมาจากตะกร้า ให้คว่ำส่วนหัวของถั่วงอกลงน้ำในกะละมัง จากนั้นเราจะกระแทกแผงถั่วงอกกับน้ำเบาๆ เพื่อให้เปลือกหุ้มเมล็ดถั่วเขียวหลุดออกจากส่วนหัว จะทำให้ถั่วงอกดูสวยและสะอาดยิ่งขึ้น ในการตัดต้นถั่วงอกออกจากรากนั้น แนะนำให้ใช้มีดคมๆ ตัด ควรจะตัดฝั่งที่เป็นตะแกรงเกล็ดปลาเพราะจะตัดง่ายกว่าฝั่งที่เป็นกระสอบป่าน ตัดต้นถั่วงอกลงในกะละมังที่มีน้ำสะอาด จากนั้นใช้ตะแกรงพลาสติกตาใหญ่มาร่อนเอาเปลือกหุ้มเมล็ดออกจากต้นถั่วงอกอีกครั้ง ส่วนของเปลือกหุ้มเมล็ดจะจมลงก้นกะละมัง ร่อนเอาต้นถั่วงอกมาสะเด็ดน้ำในตะกร้าสักพัก

เทคนิคการถ่วงน้ำเพื่อให้ต้นถั่วงอกอวบอ้วน
สำหรับคนที่ชอบรับประทานต้นถั่วงอกที่อวบอ้วนก็มีเคล็ดลับและเทคนิคการถ่วงน้ำให้ต้นถั่วงอกอวบอ้วน ในคืนที่ 2 ของการเพาะถั่วงอกจะเป็นช่วงที่ต้นถั่วงอกเจริญเติบโตดีที่สุด เป็นระยะของการยืดยาวของต้นมากที่สุด และเป็นช่วงที่ต้องการน้ำและความชื้นมาก นอกจากจะรดน้ำให้ตะกร้าพลาสติก 3 เวลาแล้ว ในคืนดังกล่าวควรจะรดน้ำบนถุงดำที่ปิดตะกร้า รดจนให้น้ำขังเป็นแอ่งบนปากตะกร้า โดยน้ำหนักของน้ำจะไปกดทับต้นถั่วงอก จะส่งผลให้ต้นถั่วงอกมีขนาดของต้นอ้วนขึ้นและน่ารับประทานยิ่งขึ้น นอกจากนั้น น้ำที่เราถ่วงยังช่วยเพิ่มความชื้นให้มีมากขึ้น ในการใช้น้ำถ่วงหลังจากผ่านคืนที่ 2 ไป เมื่อเปิดดูพบว่าต้นถั่วงอกยังไม่ค่อยอ้วน ให้ถ่วงน้ำอีกครั้งในคืนที่ 3

ขั้นตอนการบรรจุถุงและการเก็บรักษา
นับเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ เมื่อต้นถั่วงอกสะเด็ดน้ำแล้ว ให้รีบเอาไปบรรจุลงถุงพลาสติกทันที มัดปากถุงให้แน่น เหตุผลที่ต้องรีบบรรจุถั่วงอกลงถุงพลาสติกให้เร็วที่สุด เพราะถ้าปล่อยให้ถั่วงอกสัมผัสอากาศนานๆ ต้นถั่วงอกจะเปลี่ยนสีจากสีขาวเป็นสีเหลืองแล้วจะคล้ำดำในที่สุด ตลาดไม่ต้องการ หรือนำไปประกอบอาหารไม่น่ารับประทาน ถั่วงอกไร้รากแบบอินทรีย์ของร้าน “ศูนย์งอกงาม” จะเก็บรักษาได้นานถึง 7-10 วัน โดยไม่เหลือง และยังคงความสดและกรอบเหมือนใหม่ๆ แต่จะต้องเก็บไว้ในตู้เย็น

ประโยคที่ว่า “เอาความชอบมาทำเป็นอาชีพ” เป็นอีกหนึ่งการสร้างกำลังใจที่ดีให้กับตัวเองไม่น้อย เพราะอย่างน้อยงานประจำที่ทำอยู่แม้ไม่ใช่สิ่งที่ชอบ แต่อาชีพเสริมที่เกิดจากความชอบ ทำให้มีความสุขในการดำเนินชีวิตในแนวทางที่คาดหวังได้ ยิ่งเป็นอาชีพทางการเกษตรด้วยแล้ว คำว่าได้มาง่ายๆ ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เพราะต้องมีการบ่มเพาะในสิ่งที่ทำจนเกิดประสบการณ์ และเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ไปอย่างสมบูรณ์แบบ มีรายได้ที่อยู่กับสิ่งเหล่านั้นได้อย่างยั่งยืน

คุณธัญพร ทินกลิ่น หรือที่หลายๆ คนเรียกเธอว่า น้องอุ้ย เจ้าของสวนชวนชมโชค 9 ชั้นน้องอุ้ย ตั้งอยู่เลขที่ 74/1 หมู่ที่ 4 ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้นำความชอบมาทำเป็นอาชีพคือ ปลูกไม้ประดับใบอย่างโชคเก้าชั้น พร้อมทั้งมีการพัฒนาการปลูกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไม้มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด จนไปถึงขั้นส่งไม้เข้าประกวดจนรับรางวัลมาการันตี

โชคเก้าชั้น จัดเป็นไม้ที่มีอายุหลายปี เติบโตเป็นไม้ทรงพุ่ม ซึ่งถ้าเป็นสายพันธุ์เดิมๆ ใบจะมีเพียงสีเขียว สีขาว สีด่างขาว ต่อมาได้มีการพัฒนาพันธุ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น หรือที่เรียกว่า การพัฒนาให้เป็นสายพันธุ์ด่าง จะด้วยความต้องการของตลาดหรือความหลากหลายนี้เอง ปัจจุบันโชคเก้าชั้นเป็นไม้ที่มีความด่างที่สวยงาม และผู้ปลูกสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้เกิดลูกไม้ใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

เสน่ห์ของโชคเก้าชั้นอีกอย่างที่ทำให้หลายๆ loquegustes.com คนหลงใหลคือ เรื่องของใบ ไม้มีใบทั้งใบเดี่ยว ใบเรียงสลับ ลักษณะใบมีทรงยาว กลม วงรี ฯลฯ จึงทำให้การพัฒนาพันธุ์ในแต่ละรอบ เกษตรกรผู้ปลูกได้ไปกับสิ่งที่เขาพัฒนา เมื่อไม้ขายได้และลูกค้าชอบจึงเกิดความสุข เพราะไม้อย่างโชคเก้าชั้นถือได้ว่าเป็นไม้ที่มีความเชื่อในเรื่องของความเป็นมงคล ทำให้ผู้ปลูกมีโชค ทำมาค้าขึ้น และร่ำรวย

โชคเก้าชั้น ไม้นำโชค และมนต์เสน่ห์

คุณธัญพร เล่าให้ฟังว่า เดิมทีเธอปลูกชวนชมเป็นไม้สร้างรายได้ ต่อมาได้มีคนรู้จักที่เป็นลูกค้าต้องการโชคเก้าชั้น จึงทำให้เธอได้มีโอกาสมาสัมผัสกับไม้ชนิดนี้ โดยทำแบบซื้อมาขายไป ไม่ได้นึกที่จะปลูกและขยายพันธุ์เอง แต่เมื่อยิ่งรู้จักยิ่งหลงใหลในไม้ตัวนี้มากขึ้น เพราะไม้ในแต่ละต้นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปทั้งต้นและสีใบ เธอได้ตัดสินใจมาทำการพัฒนาเอง จนเกิดเป็นลูกไม้ใหม่ๆ มากขึ้น และจำหน่ายออกจากสวนของเธอเอง

“ช่วงที่เราทำตลาดแบบซื้อมาขายไป ช่วงนั้นเราก็ทำไม้ส่งออกบ้าง แต่พอความนิยมมีมากขึ้น การทำแบบนั้นเราทำไม่ได้แล้ว เพราะว่าจะได้กำไรน้อย แต่ช่วงนั้นก็มองว่าเราเองเริ่มชอบแล้ว มีใจไปกว่าครึ่งที่จะทำการพัฒนาสายพันธุ์เอง จึงได้หาซื้อต้นพันธุ์มาปลูกในสวน พัฒนาจากที่เคยมีแค่ด่างเหลือง ก็ให้มีการพัฒนาเป็นด่างชมพูบ้าง คือออกโทนชมพู ถือว่าตลาดค่อนข้างต้องการ พอเราพัฒนาพันธุ์เอง ขยายพันธุ์เองได้ ตลาดที่ทำจะส่งเป็นตลาดทั้งในและต่างประเทศเป็นหลัก” คุณธัญพร บอก

โดยการพัฒนาพันธุ์ต้นโชคเก้าชั้น ถ้าต้องการให้สีใบที่นิ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ ต้นพ่อแม่พันธุ์ควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่ถ้าเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่อายุน้อยกว่านี้สามารถพัฒนาพันธุ์ได้ แต่ต้องทำใจในเรื่องของการกลายพันธุ์

ใน 1 ปี มีไม้ขายได้ตลอด

คุณธัญพร เล่าต่อไปให้ฟังว่า ต้นโชคเก้าชั้นค่อนข้างที่จะเป็นไม้สมบูรณ์เพศ เพราะจะมีการแยกเพศของดอกให้เห็นอย่างชัดเจน จึงทำให้สามารถทำการผสมพันธุ์ตามที่ต้องการ เมื่อการผสมสมบูรณ์แล้ว จากนั้นรอต่อไปอีก 9 เดือน เมล็ดที่อยู่บนต้นจะแก่มีความเหมาะสมให้นำไปเพาะเป็นต้นกล้าต่อไป ซึ่งใน 1 ต้น จะมีก้านเมล็ดออกมาให้เพาะทุกเดือน ฉะนั้นใน 1 ปี ไม่ต้องกลัวว่าภายในสวนไม้จะขาดช่วง เพราะจะมีไม้อายุที่ลดหลั่นกันไปตามอายุให้จำหน่ายได้ตลอด

เมล็ดที่ได้จากต้นจะนำมาเพาะลงในวัสดุที่มีส่วนผสมของขนมะพร้าวละเอียดและพีทมอสส์ ผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ เมล็ดก็จะงอกเป็นต้นกล้าและมีรากออกมาให้เห็น จากนั้นทำการย้ายลงไปปลูกในกระถางขนาด 3 นิ้ว วัสดุปลูกระยะนี้จะมีส่วนผสมของดินใบก้ามปูเก่า กาบมะพร้าวสับ และเพอร์ไลท์ ผสมปุ๋ยละลายช้าลงไปด้วยนิดหน่อย จากนั้นดูแลรดน้ำไปอีกประมาณ 3-4 เดือน เมื่อเห็นไม้โตเต็มที่แล้วจึงทำการย้ายลงมาปลูกลงในกระถางขนาด 6 นิ้ว พอต้นโตก็เปลี่ยนใส่กระถางขนาด 8 นิ้ว 11 นิ้ว และ 15 นิ้ว ตามลำดับ