คลื่นไส้อาเจียน จึงรีบส่ง รพ.แม่สอด ต่อมายังเกิดปวดกล้าม

เนื้อหัวใจ และปวดตามกล้ามเนื้อ จนเสียชีวิต 2 คน ส่วนอีก 1 คน อาการดีขึ้น ที่รอดชีวิตนั้น เนื่องจากได้อาเจียนออกมาก่อนทำให้พิษในร่างกายออกมาด้วย หลังพบผู้เสียชีวิต 2 รายแล้ว รพ.แม่สอด ร่วมกับทีมงานสาธารณสุขจังหวัดตาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโดย พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม อายุรกรรมแพทย์ รพ.แม่สอด (ปฏิบัติงานแพทย์ระบาดวิทยา) ลงพื้นที่ออกสอบสวนค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในพื้นที่ พบผู้ป่วยชายต่างชาติ 9 คน มีอาการปวดกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย จึงแนะนำให้นายจ้าง พาผู้ป่วยไปตรวจร่างกายที่ รพ.แม่สอด เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 ทั้งหมด 5 คน เป็นคนไทย 1 คน ต่างชาติ 4 ราย ขณะนี้แพทย์ให้กลับบ้านทั้งหมดแล้ว แต่ยังนัดมาตรวจเลือดซ้ำ นอกจากนี้ ทางทีมกีฏวิทยาได้ร่วมกันออกเก็บข้อมูลที่สงสัยว่าจะเป็นตัวมวนชนิดหนึ่งส่งตรวจหาความเป็นพิษจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เมื่อวันที่ 3 เมษายน ผู้สื่อข่าวรับแจ้งช้างป่าเขาชะเมา บุกพังรั้วเหล็กประตูบ้าน นายหล่ำ ประมวลสุข “เกษตรกรดีเด่น” หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยทับมอญ อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง ทำให้พืชผลเสียหายจำนวนมาก รั้วตะแกรงเหล็กพังเป็นแถบ นายหล่ำ เปิดเผยว่า กำลังนอนหลับได้ยินเสียงบริเวณรั้วประตูบ้าน เห็นช้างป่าไม่ทราบจำนวนทำลายรั้วพังลง ตรงเข้าไปในสวนทั้งกินและเหยียบย่ำทำลายมะละกอ กล้วย และใช้งวงดึงลูกมะไฟลงมากองกับพื้น

นายหล่ำ เล่าว่า พื้นที่สวนผลไม้ จำนวน 22 ไร่ ถูกช้างป่าบุกกินและทำลายหลายครั้ง ต้องใช้ขึงสาย ไฟพ่วงแบตเตอรี่ (ไฟอ่อน) 1 เส้น ล้อมรอบสวน แต่ถูกช้างทำลายเสียหาย จึงต้องเพิ่มสายไฟเป็น 2 เส้น ทำให้ช้างป่าหันมาเข้าทางรั้วประตูบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คืนเดียวกันช้างป่าบุกเข้าไปกินและพังสวนผลไม้ของชาวบ้านรายอื่นด้วย 2 ราย และยังเข้าไปกินมะม่วงในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แสงส่องหล้า หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยทับมอญ

คณะ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย เห็นชอบตั้ง ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย หนึ่งในคณะกรรมการ กยท. ขยับทำหน้าที่ รักษาการ ผู้ว่าฯ กยท. เพื่อขับเคลื่อนองค์กร สานต่อนโยบายช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยาง พร้อมขับเคลื่อน กยท.สู่ความเป็นหนึ่งด้านยางพารา

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย เปิดเผยว่า การเข้ารับตำแหน่งรักษาการผู้ว่าการ กยท. ครั้งนี้ เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน กยท. พร้อมเดินหน้านโยบายด้านต่างๆ ของ กยท. นโยบายตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนรัฐบาลวางแนวทางไว้ เพื่อพัฒนาวงการยางพาราไทยทั้งระบบ ดังนั้น เป้าหมายสำคัญที่พนักงานและบุคลากร กยท.ต้องคิดและทำร่วมกันคือ การแก้ปัญหาเรื่องราคายางพาราที่มีความผันผวน เพราะเรื่องนี้จะสะท้อนถึงความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยาง ต้องทำให้เกษตรกรเข้าใจในสาเหตุและปัจจัยของปัญหาที่เกิดขึ้น

เพราะที่ผ่านมาได้มีการวิเคราะห์ สถานการณ์ และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ โดยทำงานร่วมกับรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการแก้ปัญหาดังกล่าวแต่อาจยังไม่เป็นผลที่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าราคามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบถึงเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ยังมีสัดส่วนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตในระบบ ซึ่งหากมีการส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารามากขึ้น พัฒนาตลาด เทคโนโลยีการผลิต และทุนสนับสนุนเข้ามารองรับก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้ยางพารา ผลักดันราคายางให้เพิ่มสูงขึ้นได้

ดร.ธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า นโยบายสำคัญที่รัฐบาลมุ่งให้เกิดผลสำเร็จ คือ ราคายางที่สูงขึ้น จึงเกิดการผลักดันมาตรการต่างๆ เช่น โครงการใช้ยางของหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้โครงการนี้สำเร็จไปตามเป้าหมาย ซึ่ง กยท.เข้าไปช่วยเสริมด้วยการทำงานในเชิงรุก เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น นโยบายลดการกรีดยางในพื้นที่ภาครัฐ การคุมปริมาณการส่งออกยาง และการลดพื้นที่ปลูกยางในเดือน มกราคม-มีนาคม 2561 ซึ่งทั้งหมดเป็นมาตรการระยะสั้นที่ผ่านไปแล้ว ส่งผลให้ราคายางในประเทศปรับสูงขึ้นได้บางช่วงเท่านั้น ดังนั้น กยท. จะต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อพิจารณาและหามาตรการอื่นเข้ามาแก้ปัญหา

“วันนี้ผู้บริหาร พนักงานของ กยท. เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง จะต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความสำเร็จและความเชื่อมั่นแก่วงการอุตสาหกรรมยางของโลก เพราะ กยท. คือผู้ที่เชี่ยวชาญและผู้รู้จริงเรื่องยางมากว่า 50 ปี” ดร.ธนวรรธน์ กล่าวทิ้งท้าย

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นเปิดงานประชุมวิชาการสมุนไพรแห่งชาติ Champion Products “ศักยภาพสมุนไพร…สร้างเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” (Samunprai Thai for Sustainable Economy) จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิชาการ วิจัย นวัตกรรม เกิดความเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการ ในการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนในการวางแผนพัฒนาสมุนไพรครบวงจร

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข และ 9 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมสมุนไพรไทยเพื่อสร้างความมั่นคงทางสุขภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจ ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย พ.ศ. 2560 – 2564 ดำเนินการครบวงจร ตั้งแต่การศึกษาวิจัยจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ ยารักษาโรค เวชสำอาง เครื่องดื่ม รวมทั้งได้ร่วมกันคัดเลือกสมุนไพรนำไปวิจัยต่อยอดในเชิงพาณิชย์เป็นที่ต้องการของตลาดเป็น Champion Products ทั้งหมด 12 ชนิด คือ กวาวเครือ กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก มะขามป้อม กระชาย พริก ไพล ฟ้าทะลายโจร กระเจี๊ยบแดง ว่านหางจระเข้ และหญ้าหวาน

“ ในปี 2560 ต่อเนื่องจนปีนี้ ได้ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องคัดเลือกให้กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก และไพล เป็นสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจ ต่อยอดผลิตหลายรูปแบบ ทั้งเวชสำอาง อาหารเสริม เครื่องดื่ม เป็นต้น ดังนั้นการจัดงานประชุมวิชาการสมุนไพรแห่งชาติ ปี2561 จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้พบกับผู้ประกอบการด้านสมุนไพร 400 รายเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการวิจัยให้กับเอกชนและผู้ประกอบการที่สนใจ และวางแผนพัฒนาสมุนไพร โดยเฉพาะการผลิตสมุนไพร Champion Products ให้เป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้กับประเทศ” นพ.ปิยะสกล กล่าว และว่า ยกตัวอย่าง ใบบัวบกของเราตอนนี้มีการสกัดเป็นเซรั่มบำรุงผิวดีมาก และตอนนี้ขมิ้นชันมีการสกัดออกมาเป็นยา เครื่องสำอางต่างๆ เป็นที่นิยมมากจนขาดตลาด ดังนั้นจึงมีการพัฒนาสายพันธุ์ พัฒนาต้นอ่อน เนื้อเยื่อ เพื่อขยายการเพาะปลูกให้เพียงพอต่อการใช้

กรมวิชาการเกษตร เปิดผลวิเคราะห์ดินน้ำจากหนองบัวลำภูที่เคยถูกอ้างพบพาราควอตตกค้างอันตรายสูง ชี้ผลวิเคราะห์ 2 หน่วยงานตรวจจากแลปมาตรฐานสากลไปทางเดียวกัน ไม่พบการตกค้าง ขอประชาชนอย่าตระหนก

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยกรณีที่มีข่าวระบุว่าพบการปนเปื้อนของสารพาราควอต จากตัวอย่างน้ำผิวดิน อ่างเก็บน้ำ ลำน้ำ น้ำใต้ดิน น้ำประปา ดินในไร่ยางพาราและไร่อ้อย ตะกอนดินจากอ่างเก็บน้ำ และผัก โดยพบสารพาราควอตปนเปื้อนในปริมาณที่สูงมากในพื้นที่ตำบลบุญทัน อ.สุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู นั้น กรมวิชาการเษตร ร่วมกับ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำและดินมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำข้อมูลที่ถูกต้องรายงานให้กับสาธารณชนได้รับทราบ

โดยทั้ง 3 หน่วยงานได้เก็บตัวอย่างน้ำและดินในแหล่งเดียวกันที่ถูกอ้างถึงในช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 7 -10 มีนาคม 2561 โดยกรมวิชาการเกษตรเก็บตัวอย่างน้ำจำนวน 10 ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างในห้องปฏิบัติการกรมวิชาการเกษตรไม่พบการปนเปื้อนของสารพาราควอตทั้ง 10 แห่ง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่พบการปนเปื้อนของสารพาราควอตจากตัวอย่างน้ำในแหล่งเดียวกันที่เก็บมาตรวจวิเคราะห์จำนวนทั้งสิ้น 8 ตัวอย่าง

สำหรับผลการวิเคราะห์สารตกค้างของพาราควอตในตัวอย่างดิน ซึ่งไม่ได้มีค่ามาตรฐานในดินกำหนดไว้ ผลการวิเคราะห์ของกรมวิชาการเกษตรพบการตกค้างของพาราควอตในตัวอย่างซึ่งเก็บมาจำนวน 7 ตัวอย่างในปริมาณที่ต่ำมากไม่สูงเท่ากับตามที่เป็นข่าว ซึ่งใกล้เคียงกับผลการวิเคราะห์ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่พบการตกค้างในดินต่ำมากเช่นเดียวกัน

“กรมวิชาการเกษตรได้เก็บตัวอย่างทั้งดินและน้ำร่วมกับอีก 2 หน่วยงานเพื่อให้ได้ผลวิเคราะห์ที่ออกมาเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งในส่วนของกรมวิชาการเกษตรได้นำตัวอย่างทั้งน้ำและดินมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตรซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ผลการวิเคราะห์เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ในขณะที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้นำตัวอย่างดินและน้ำไปตรวจที่บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย จำกัด) ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เป็นเช่นเดียวกัน และผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำที่เก็บมาจากแหล่งเดียวกันก็มีความสอดคล้องกัน คือ ไม่พบสารพาราควอตตกค้างในน้ำ ส่วนในดินแม้จะพบการตกค้างของสารพาราควอตแต่ก็ถือว่าอยู่ในปริมาณที่ต่ำมาก ไม่ได้มีปริมาณการตกค้างสูงตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในพื้นที่ชนบทที่ว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา ต่างมองหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นหาของป่าขาย ปลูกพืชผักสวนครัวขาย สร้างงานอาชีพแฮนด์เมกต่างๆ หรือไปรับจ้างเป็นกรรมกรอยู่ที่ต่างจังหวัด แต่กลับพบว่ามีอีกหลายครอบครัวในพื้นที่หมู่บ้านโชกใต้ ต.อู่โลก อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ ที่ได้พบกับอาชีพเสริมแบบใหม่ จากการเลียนแบบต่อๆกันและดูข่าวในโลกโซเชี่ยลต่างๆว่า มีวิธีการที่สามารถล่อ “แมงกระชอน” หรือภาษาอีสานเรียกอีกอย่างว่า “แมงอีซอน” ให้ออกมา และสามารถจับได้จำนวนมากๆ คือการใช้เสียงแมงกระชอนที่โหลดจากยูทูปและในอินเทอเน็ต มาเปิดต่อใส่เครื่องเสียง ลำโพงหรือฮอน หลอกล่อให้บินมาตกลงในกาละมังที่ใส่น้ำไว้ พร้อมเปิดไฟสีล่อจับ

โดยเฉพาะครอบครัวของนางไล สมนึก อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 116 ม.4 บ.โชกใต้ ต.อู่โลก อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ ที่ได้ลงทุนซื้ออุปกรณ์ล่อจับแมงกระชอนถึง 5 ชุด ในราคากว่า 3 หมื่นบาท โดยแต่ละชุด ประกอบด้วย เครื่องขยายเสียง,ลำโพงฮอน 2-3 ตัว ,เครื่องเล่นเสียงหรือโทรศัพท์มือถือ โหลดเสียงแมงกระชอนจากยูทูป,หลอดไฟสี,สายไฟ,กะละมัง, และแบ็ตเตอรี่รถยนต์ ราคาชุดละ 5-7 พันบาท ก่อนจะพาครอบครัวออกเดินสายหาทำเลที่เหมาะสม ทั้งในพื้นที่ ทั้งต่างหมู่บ้าน ต่างตำบลและต่างอำเภอก็ไป ซึ่งจะต้องเป็นพื้นที่ๆดินจะต้องแข็ง

ไม่แฉะหรือชุมน้ำ แต่หากอยู่ใกล้แหล่งน้ำจะดี เพราะแมงกระชอนจะออกมามากกว่า ก่อนจะพากันขุดให้พอดีกะละมัง จากนั้นใส่กะละมังลงไปในหลุม ก่อนที่จะนำดินเหนียวมาพอกที่ขอบกะละมังเพื่อเปิดรูที่ขุดให้มิดชิดติดกับละละมัง ป้องกันแมงกระชอนมุดดินหนีลงในรู แล้วเติมน้ำครึ่งกะละมังเพื่อให้แมงกระชอนที่บินลงมาเปียกน้ำและไม่สามารบินหนีขึ้นมาได้ ก่อนจะต่อชุดเครื่องเสียงกับแบตเตอรี่ เพื่อเปิดเสียงแมงกระชอน และนำหลอดไฟไปวางพาดบนกะละมัง จากนั้นก็พากันไปนอนและออกมาเก็บแมงกระชอนเป็นระยะๆ โดยเวลาที่แมงกระชอนจะมาประมาณ 20.00 น.-05.00 น. เมื่อได้จำนวนที่ต้องการก็ใช้ตะกร้าที่มีรู ตักช้อนแมงกระชอนไปใส่ไว้ในกระสอบปุ๋ยและมัดปากถุงไว้ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้แมงกระชอนออกมาน้อยคือ ถ้ามีฝนตก อากาศหนาว หรือเดือนหงาย จะไม่ออกมา

โดยในแต่ละวันครอบครัวของนางไล สมนึก สามารถล่อจับแมงกระชอนได้วันละกว่า 80- 110 กิโลกรัมขึ้นไป จากนั้นก็จะนำไปล้างน้ำ แบ่งแพ็คใส่ถุงๆละ 1 กิโลกรัม หรือ 5 กิโลกรัม ก่อนใส่แช่ไว้ในถังน้ำแข็ง รอลูกค้ามารับ ขายส่งตั้งแต่ราคา 80 – 100 บาท แล้วแต่ช่วง อยู่ที่ช่วงไหนมีแมงกระชอนออกสู่ตลาดมาก ราคาก็จะถูก หากมีออกสู่ตลาดน้อยราคาก็จะแพงตามลำดับ ซึ่งในช่วงนี้ชาวบ้านที่จับ จะขายส่งกันในราคากิโลกรัมละ 80 บาท เพราะเป็นช่วงที่แมงกระชอนออกมามาก โดยมีลูกค้ามารับซื้อถึงที่ ทั้งแม่ค้าจากตลาดทั่วไป และมีขาประจำจาก จ.ยโสธร ที่เดินทางมารับซื้อครั้งละ 100 กิโลกรัมขึ้นไป โดย 2 วัน จะมารับซื้อครั้งหนึ่ง หากวันไหนที่ไม่พอกับที่ลูกค้าสั่ง ชาวบ้านก็จะนำไปขายรวมกัน โดยวิธีการล่อแมงกระชอนดังกล่าว สะดวกและง่ายกว่าการจับแมงกระชอนแบบโบราณเดิมๆ ด้วยการรดน้ำแล้วเดินเหยียบย่ำเอาตามทุ่งนา ซึ่งกว่าจะได้แต่ละตัวก็ใช้เวลานาน

นางไล กล่าวว่า เห็นวิธีการล่อจับแมงกระชอน มาจากเพื่อนบ้าน เลยลองทำดู พบว่าได้แมงกระชอนมากขึ้นทุกวัน และขายได้ทุกวัน มีรายได้เพิ่มขึ้น ดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ ส่วนช่วงที่หาแมงกระชอนได้มากก็จะเป็นช่วงหน้าแล้ง เดือนมีนาคม-เมษายน เวลาประมาณ 2 ทุ่ม ถึง ตี 5 ซึ่งมีแม่ค้ามารับซื้อถึงบ้านทุกวัน ขายส่งตั้งแต่ราคา 80-100 บาท ขึ้นลงตามราคาตลาด ลงทุนก็ชุดละประมาณ 7 พันกว่าบาท ส่วนแมงกระชอน สามารถทำเมนูอาหารได้หลายอย่าง อาทิ ทอด คั่ว ยำ แกงขี้เหล็ก ชุบแป้งทอด และตำน้ำพริก รสชาติอร่อย หากใครสนใจ สามารถสั่งซื้อได้ที่เบอร์โทรศัพท์หมายเลข 0807275495

“สนธิรัตน์” สั่งคณะอนุกรรมการพิจารณาทบทวนมาตรการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดในประเทศเหลือ 1 ต่อ 2 จากเดิม1 ต่อ 3 ตามที่กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์เสนอ ขีดเส้น 18 เม.ย.นี้ ย้ำให้ยึดหลักสร้างสมดุลระหว่างผู้ผลิต เกษตรกร

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับกลุ่มปศุสัตว์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงไก่เนื้อว่า ตัวแทนจากสมาคมฯ ที่เข้าร่วมประชุมได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาทบทวนมาตรการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดในประเทศที่อัตรา 1 ต่อ 3 หรือนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน โดยขอให้ผ่อนปรนมาตรการกำหนดสัดส่วนเหลือแค่อัตรา 1 ต่อ 2 หรือนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 2 ส่วนเท่านั้น

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน นำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณา โดยจะมีการประชุมกันในวันที่ 18 เม.ย.2561 และได้เปิดโอกาสให้สมาคมฯ ข้างต้นส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมได้ด้วย

“มติที่ประชุมจะออกมาอย่างไร ต้องรอผลการพิจารณาก่อน แต่ผมได้ให้หลักการไปว่าการพิจารณาต้องสร้างประโยชน์และสร้างจุดสมดุลให้กับทุกฝ่าย ทั้งเรื่องราคาที่เกษตรกรจะได้รับ ประโยชน์ของอุตสาหกรรมที่ต้องใช้วัตถุดิบ โดยไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และมติที่ออกมา จะต้องสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนาคตด้วย”นายสนธิรัตน์กล่าว

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล เลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ทบทวนมาตรการกำหนดสัดส่วนนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดในประเทศเหลือ 1 ต่อ 2 โดยปัจจุบันการกำหนดสัดส่วน 1 ต่อ 3 แม้จะซื้อข้าวโพดตามสัดส่วนการนำเข้า ข้าวโพดก็ยังขาดแคลนอยู่ 1.7 ล้านตัน ถ้าลดลงมาเหลือ 1 ต่อ 2 ก็ยังขาดแคลนอีก 8 แสนตัน เพราะฉะนั้น แม้จะลดสัดส่วน ก็ไม่ต้องกังวลว่าผู้ผลิตจะลดการซื้อข้าวโพดในประเทศลง

“กลุ่มผู้ใช้ ไม่เสนอให้ยกเลิกมาตรการกำหนดสัดส่วนทั้งหมด เพราะไม่แฟร์กับกระทรวงพาณิชย์และผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ แต่อยากให้ทบทวนมาตรการกำหนดสัดส่วนเหลือแค่ 1 ต่อ 2 ซึ่งจะบรรเทาความเดือนร้อนของกลุ่มผู้ใช้ได้ อีกทั้งขณะนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่กก.ละ 11 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่กก.ละ 8-9 บาท เพราะปัญหาการขาดแคลน จึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยพิจารณา เพราะแม้ลดสัดส่วนลง ก็ไม่กระทบราคาในประเทศ โดยในวันที่ 18 เม.ย. จะเข้าร่วมเพื่อยื่นข้อเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้ง”นายพรศิลป์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเบื้องต้น ได้รับทราบข้อมูลว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยอมรับได้ หากจะมีการทบทวนกำหนดสัดส่วนนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดในประเทศเหลือ 1 ต่อ 2

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมร่วมคณะพาณิชย์ถกเปิดเสรีนำเข้าหมูสหรัฐ ยืนยันหลักการต้องเป็นฟาร์มปลอดภัยไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานในการหารือเรื่องของการนำเข้าหมูจากสหรัฐอเมริกาเตรียมเดินทางไปเจรจาเงื่อนไขการนำเข้าหมูจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าจะเป็นการเจรจาด้านเทคนิค ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ โดย กรมปศุสัตว์ รับผิดชอบพ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์พ.ศ. 2558 ที่ห้ามผู้เลี้ยงผสมสารเร่งเนื้อแดงในอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ รวมถึงหมู จะร่วมเป็นคณะเจรจาด้วย เบื้องต้น กระทรวงเกษตรฯยังยืนยันคำเดิมคือไม่ให้นำเข้าหมูที่มีการใช้สารเร่งเนื้องแดง ซึ่งฟาร์มหมูของสหรัฐอเมริกายังอนุญาคตให้ใช้

นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ยืนยันคำตอบเหมือนเดิม คือห้ามหมูที่มีสารเร่งเนื้องแดงส่งเข้าขายในเมืองไทย แต่หากอเมริกาต้องการขายหมูมาเมืองไทย ต้องมาจากฟาร์มที่ปลอดภัย ไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึงขณะนี้มาตรฐานที่ไทยกำหนดถือว่าดีอยู่แล้ว เพราะจะไม่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างเลยเพราะไม่ได้อนุญาตให้ใช้ นอกจากนี้ปริมาณผลผลิตหมูในประเทศไทย ขระนี้ก็ล้นตลาดเกินความต้องการอยู่จำนวนมาก ทำให้ราคาหมูตกต่ำมาระยะหนึ่ง จนคณะกรรมการหมู ได้มีมาตรการลดแม่หมู นำลูกหมูไปทำหมูหัน และหมูขุนก็นำไปเชือดแล้วเข้าเก็บในห้องเย็นเพื่อไม่ให้ออกสู่ตลาดจนราคาตกต่ำ

“ที่ผ่านมาไทยมีการซื้อสินค้าจากสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท เฉพาะสินค้าด้านการเกษตร หากมีการให้นำเข้าหมูเข้ามาขายในเมืองไทยอีก ถือว่าเป็นการซ้ำเติมตลาดหมูในประเทศ ที่ผลผลิตหมูมีจำนวนมากกว่าความต้องการอยู่แล้วทุกปี ทางกรมปศุสัตวืจึงยังยืนยันเหมือนเดิมคือ ไม่ให้มีการนำเข้าหมูจากสหรัฐอเมริกา”

นายอภัย กล่าวว่า ผลผลิตหมูที่ล้นตลาดอยู่ ขณะนี้ไทยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อส่งออกหมูไปจีน ซึ่งเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาเพราะขณะนี้จีนได้นำเข้าไก่ไปแล้ว เชื่อว่า ไก่ไปสักระยะ หมูก็น่าจะสามารถเปิดตลาดในจีนได้เช่นกัน

กลุ่มมิตรผล จัดงาน “Mitr Phol Top Talk 2018: Business Transformation in The Era of Creative Disruption” มุ่งพลิกโฉมความสามารถในการแข่งขันขององค์กรสู่ยุคนวัตกรรมสร้างสรรค์ธุรกิจ พร้อมสร้างวิสัยทัศน์จากผู้มีประสบการณ์ชั้นนำระดับโลกให้แก่ผู้บริหาร คู่ค้า และพนักงาน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรสู่ธุรกิจยุคดิจิทัลอย่างแข็งแกร่ง ที่โรงแรมโอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้

กลุ่มมิตรผลตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างองค์กรสู่ยุคนวัตกรรมสร้างสรรค์ธุรกิจ จึงได้จัดงาน “Mitr Phol Top Talk 2018: Business Transformation in The Era of Creative Disruption” พร้อมเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาถ่ายทอดประสบการณ์และแนวทางการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลนี้ ให้แก่ผู้บริหาร คู่ค้า และพนักงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาและปรับกลยุทธ์องค์กรสู่ธุรกิจยุคดิจิทัลให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล กล่าวระหว่างพิธีเปิดงานว่า “ความสามารถในการแข่งขันเป็นหัวใจหลักในการอยู่รอดขององค์กร ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทางธุรกิจจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (Business Model Innovation) การจัดการข้อมูลเชิงลึก (Big Data) และการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่ทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน และพัฒนาคนให้มีศักยภาพพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง”

ต่อมา นายกฤษฎา มณเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล ได้กล่าวเพิ่มเติมจากนายอิสระว่า “การเปลี่ยนแปลง คือ ความท้าทายของธุรกิจ” เทคโนโลยีสมัยใหม่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งความท้าทายให้กับธุรกิจ กลุ่มมิตรผลตระหนักถึงความสำคัญของการปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยี เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

มร. ไมเคิล เพ็ง กรรมการผู้จัดการ จากบริษัทออกแบบระดับโลกอย่าง IDEO โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้มาร่วมให้ความรู้ ภายใต้หัวข้อ ‘Design x Creativity’ เผยแนวคิด Design Thinking 6 ประการ ที่องค์กรสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อริเริ่มการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์อนาคตให้เกิดขึ้นภายในองค์กรได้ ซึ่งได้แก่ 1) การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน (Purposefulness) 2) การมองออกไปข้างนอกในมุมกว้าง (Looking out) 3) การทดลองใช้จริง (Experimentation) 4) การร่วมมือกัน (Collaboration) 5) การเสริมสร้างศักยภาพ ให้ทุกส่วนในองค์กรสามารถทำงานได้อย่างสร้างสรรค์ (Empowerment) และ 6) ใส่ใจในทุกรายละเอียด (Refinement)