ความพยายามของดาบนวยไม่เสียเปล่าภายหลังได้พัฒนา

วิธีปลูกอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานตามหลักวิชาการทำให้ผลผลิตมีคุณภาพทั้งปริมาณและรสชาติ กระทั่งเมื่อทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายกได้จัดงานมะยงชิด-มะปรางหวานขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อต้องการผลักดันให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

นับจากนั้นชื่อมะยงชิด-มะปรางหวานนครนายกเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น ดันราคาขายไปถึงหลักหลายร้อยบาทต่อกิโลกรัม พอราคาพุ่งเช่นนี้บรรดาเกษตรกรชาวสวนนครนายกต่างหันมาปลูกมากขึ้น ราคากิ่งพันธุ์ก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย

พันธุ์มะยงชิดที่ดาบนวยปลูก ได้แก่ ทูลเกล้ากับบางขุนนนท์ ส่วนมะปรางหวานเป็นพันธุ์ทองนพรัตน์ ปลูกมะยงชิดไว้จำนวนกว่า 900 ต้น มะปรางหวานประมาณ 200 ต้น พื้นที่ปลูกมีหลายแปลง รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 40 ไร่ อายุต้นมะยงชิดที่เก่าประมาณ 40 ปี ส่วนมะปรางหวานประมาณ 25 ปี

ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยสูตรตามเกณฑ์มาตรฐาน

ภายหลังจากดาบนวยศึกษาหาความรู้ และขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญมามากพอสมควรจึงได้ปรับวิธีการปลูก ดูแลมะยงชิด-มะปรางหวานอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ เริ่มจากปรับปรุงพื้นที่ปลูกแล้วขุดหลุมขนาดกว้าง ยาว ลึก 50 เซนติเมตร ใช้มูลวัวผสมแกลบดิบร่วมกับดินที่ขุดขึ้นมารองก้นหลุม ระยะปลูกในช่วงแรกดาบนวยใช้ระยะ 8×8 เมตร ได้จำนวน 28 ต้นต่อไร่ แต่มองว่าห่างไป ดังนั้น สวนแห่งใหม่จึงกำหนดระยะปลูก 6×6 เมตร ดีกว่ามากเพราะได้จำนวน 45 ต้นต่อไร่ ภายในสวนมีช่องว่างกำลังดีทำงานได้สะดวก ต้นไม่ชนกัน ทรงพุ่มสวย โดยหมั่นตัดแต่งกิ่ง และดูแลวัชพืชอยู่ตลอดเวลา

นอกจากปุ๋ยมูลสัตว์แล้วยังใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ใส่รอบโคนต้นห่างประมาณ 1 คืบในปริมาณกำมือ ใส่ทุก 3 เดือน ส่วนปุ๋ยมูลวัวใช้ 1 กระสอบแบ่งใส่ 4 ต้น ครั้งที่ 2 ใช้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ปริมาณ 1 กำมือต่อต้น พร้อมปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักแห้งใส่ก่อนหมดฝน เพื่อให้ต้นมีการสะสมอาหารไว้พร้อมต่อการออกดอกผลในฤดูกาลถัดไป

ส่วนเรื่องการให้น้ำนั้นเนื่องจากพื้นที่ตำบลดงละครมีลักษณะเป็นเนินอยู่แห่งเดียวในจังหวัด ถ้าต้องการใช้น้ำต้องเจาะบ่อบาดาลที่มีความลึกในระดับไม่ต่ำกว่า 10 เมตร ต่างจากที่อื่นที่เจาะบ่อบาดาลเพียง 2 เมตร ทำให้พื้นที่นี้ค่อนข้างหาน้ำลำบาก ดาบนวย บอกว่า ถ้าปลูกขนุนดีมากมีรสหวาน เนื้อกรอบแห้ง เพราะขนุนไม่ต้องการน้ำมาก ปัจจุบันสวนดาบนวยขุดบ่อเก็บน้ำไว้ใช้ทำเกษตรกรรม แล้วเดินระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ทั้งหมด

ด้านโรคและแมลงศัตรูของมะยงชิด-มะปรางหวานที่ดาบนวยประสบปัญหา ได้แก่ เพลี้ยไฟ ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมักทำลายบริเวณใบอ่อน ยอดอ่อน ช่อดอก และขั้วของผลอ่อน นอกจากนี้ ยังทำลายขอบใบและปลายใบจนไหม้สร้างความเสียหายจนใบร่วง สำหรับใบที่แข็งแรงเพลี้ยไฟมักจะทำลายตามขอบใบ ปลายใบไหม้ หรือทำลายดอกจนร่วงไม่ติดผลหรือติลผลน้อยทำให้ผลไม่สมบูรณ์

แมลงวันทองเป็นศัตรูตัวร้ายของไม้ผลหลายชนิดรวมทั้งมะยงชิด โดยมักวางไข่ที่ผลมะยงชิด-มะปรางหวานในช่วงผลใกล้สุกจนถึงผลสุกสีเหลือง ทำให้ภายในผลมีหนอนเข้าทำลาย จนผลเน่าและร่วงหล่นในที่สุด สำหรับวิธีป้องกันแมลงวันทองนั้น ดาบนวย บอกว่า สมัยแรกที่เริ่มปลูกจะห่อผลเพื่อป้องกันแมลงศัตรูและต้องการรักษาผิวเปลือกให้เรียบสวย แต่พอมาช่วงหลังที่มีผลผลิตจำนวนมากห่อไม่ทันจึงต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีฉีดยาป้องกันศัตรูในช่วงแทงช่อดอก โดยการฉีดยาป้องกัน ร่วมกับยาป้องกันเชื้อราทางใบจะใช้ในอัตราและระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรฐานที่ควบคุม

ระยะเวลาเก็บผลผลิตมะยงชิด-มะปรางหวานนับตั้งแต่วันแทงช่อดอกไปจนเก็บใช้เวลา 75 วัน ในช่วงเวลา 30 วันก่อนเก็บให้ใส่ปุ๋ยความหวานพร้อมกับรดน้ำเต็มที่ ปุ๋ยความหวานจะใส่ช่วงผลใกล้สุก ใช้สูตร 8-24-24 ใส่ 2 ครั้ง เมื่อครั้งแรกแล้วเว้นไป 10 วันจึงใส่อีกครั้ง แล้วก่อนเก็บผล 7 วันหยุดให้น้ำทันที มิเช่นนั้นความหวานจะหายไป เมื่อผลมีขนาดประมาณนิ้วโป้งจะต้องดูแลเรื่องปุ๋ยและน้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อต้องการสร้างคุณภาพขนาดผล

ใช้ไฟส่องต้น ให้ผลผลิตอย่างดก!! เทคนิคที่พบ โดยบังเอิญ

มะยงชิดเริ่มมีดอกตามธรรมชาติเมื่อเข้าฤดูหนาวประมาณตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม แต่เนื่องจากสภาพความเย็นทยอยมาเป็นระลอก จึงทำให้การออกดอกไม่พร้อมกัน ผลผลิตที่ได้จึงมี 3 รุ่น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน แต่หลายปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะมีการใช้เทคนิคจากการใช้แสงจากหลอดไฟสีขาวส่องบริเวณกิ่งใบช่วยให้มะยงชิดแทงดอกเร็วและดก ปัจจุบันหลายสวนทั่วประเทศนำไปใช้ทำให้ได้ผลผลิตไม่ตรงกับฤดูแบบเดิมแล้ว

ดาบนวยเป็นผู้ริเริ่มแนวทางนี้คนแรกพร้อมบอกว่าเทคนิคดังกล่าวเกิดจากความบังเอิญโดยเมื่อสักปี 2559 คนสวนได้นำหลอดตะเกียบแขวนไว้ที่ต้นมะยงชิดหน้าบ้าน โดยจะเปิดไฟไว้เฉพาะช่วง 18.00-21.00 น. และ 03.00-06.00 น. ของทุกวันเป็นประจำ มาวันหนึ่งประมาณเดือนตุลาคมคนสวนมาบอกว่ามะยงชิดออกช่อ 1-2 กิ่ง ดาบนวยก็ไม่ได้ตั้งใจฟัง

แต่จากนั้นอีก 1 เดือนก็มาบอกอีกว่าช่อดอกมะยงชิดเป็นผลแล้ว แล้วดกด้วย ดาบนวยแปลกใจเพราะยังไม่ใช่ช่วงมีดอก (ช่อดอกจะออกตอนช่วงหน้าหนาว แต่ตอนนั้นเป็นหน้าฝน ปกติถ้าไม่หนาวมะปรางจะไม่ออกช่อ) จึงไปดูพบว่าเป็นเช่นนั้นจริง ที่น่าแปลกคือทำไมจึงเกิดเฉพาะบริเวณที่แขวนหลอดไฟเท่านั้น จุดอื่นไม่มี เมื่อไปดูพบว่าเฉพาะกิ่งที่ให้ผลมีน้ำหนักถึง 50 กิโลกรัม ถือว่าดกมาก

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ดาบนวยประหลาดใจแล้วพยายามหาคำตอบโดยได้ทดลองในสวนจำนวน 20 ต้น แบ่งเป็น 2 ชุด คือใส่ไฟตรงกลางต้นกับไม่ใส่หลอดไฟ เมื่อผ่านไป 8 วันกลับมาดูพบว่าต้นที่แขวนหลอดไฟมีช่อดอกออก แต่ต้นที่ไม่แขวนหลอดไฟกลับไม่มีดอก

เทคนิคนี้ได้ผล แนะใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ดีกว่า

ด้วยเหตุนี้ดาบนวยจึงมั่นใจว่า วิธีการใช้แสงไฟได้ผล จึงทดลองทำอีกรุ่นเพื่อตอกย้ำความจริง โดยคราวนี้ใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ขนาด 36 วัตต์แบบที่มีสตาร์ตเตอร์และบัลลาสต์ ทดลองจำนวนต้นมะปรางหวาน 20 ต้น ใช้ต้นละ 2 หลอด เปิดไฟตั้งแต่ 18.00-06.00 น. เพื่อให้แสงไฟส่องสว่างอย่างทั่วถึง และติดตั้งไว้นานเป็นเดือน ส่งผลให้ออกช่อติดดีมาก ติดเกือบทุกกิ่ง ให้ผลผลิตดกทั้งต้น และเพียงสวนเดียวได้ผลผลิตถึง 10 ตันกว่า อย่างไรก็ตาม ดาบนวยได้ลองนำหลอด LED มาใช้เพื่อเปรียบเทียบแต่จำนวนไม่ดกเหมือนใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์

นอกจากนั้น ดาบนวยยังสงสัยว่าการส่องไฟกับระดับอุณหภูมิมีผลต่อการแตกดอกอย่างไร จึงทดลองเปิดไฟส่องต้นมะยงชิดเป็นช่วงเวลาต่างๆ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมซึ่งยังมีอากาศเย็นโดยทดลองทุกสัปดาห์ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปรากฏว่าพอถึงเดือนกุมภาพันธ์ไม่มีดอกออกเพราะอากาศร้อนเกินไป เพราะฉะนั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเปิดไฟควรเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม เพราะเป็นช่วงที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นจริง

แต่ปรากฏว่าหลายสวนร่นเวลามาเริ่มทำเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว อาจก่อให้เกิดปัญหาการติดดอกออกผลไม่สมบูรณ์ทำให้คุณภาพและปริมาณไม่ดี ดาบนวยไม่เห็นด้วยเพราะส่งผลต่อคุณภาพ ทำให้เสียชื่อเสียง เพราะเป็นสินค้า GI ถือว่านครนายกเป็นจังหวัดนำร่องที่ปลูกไม้ผลชนิดนี้ได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน จึงอยากให้ทุกสวนร่วมใจกันรอทำในเดือนที่มีอากาศเย็นดีกว่าเพราะจะได้คุณภาพมะยงชิด-มะปรางหวานที่สมบูรณ์ดกทั้งสวน

สำหรับรูปแบบการขายมะยงชิด-มะปรางหวานของสวนดาบนวยมีทั้งขายที่สวน ขายส่ง และขายทางออนไลน์ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 250 บาทต่อกิโลกรัม แต่อาจมีการขยับบ้างแล้วแต่สถานการณ์ ขนาดผลประมาณ 4 ผลต่อกิโลกรัมหรือเทียบกับไข่ไก่เบอร์ 0

“มะยงชิด-มะปรางหวาน นครนายก ถือเป็นผลไม้เอกลักษณ์ของจังหวัดที่เชิดหน้าชูตา ทุกสวนที่ขึ้นทะเบียนปลูกได้อย่างมีคุณภาพ อยากเชิญชวนทุกท่านมาชิมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม สิ่งที่แนะนำว่าเป็นของแท้หรือไม่ให้ตรวจสอบเครื่องหมาย GI ที่ด้านหน้าผลิตภัณฑ์เพราะปัจจุบันมีจำนวนกว่า 500 สวนที่ได้รับการรับรองแล้ว” ดาบนวย กล่าว

ช่วงที่ผมยังทำงานประจำอยู่กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณนั้น มีอยู่ฉบับหนึ่ง พวกเราตัดสินใจทำเรื่องจากปกเป็นทุเรียนเมืองนนท์ มีการออกไปถ่ายภาพในพื้นที่ สัมภาษณ์คุณลุงคุณป้าเจ้าของสวนทุเรียนเก่า แถมยังสืบค้นบทความย้อนอดีตหาอ่านยากหลายเรื่องมาตีพิมพ์รวมไว้ในเล่มด้วย ทว่า เพียงไม่นานหลังจากนั้น มหาอุทกภัยปลายปี พ.ศ. 2554 ก็ทำลายล้างเกือบทั้งหมดของทุเรียนเมืองนนท์ไป

สวนทุเรียนโบราณที่ได้ขึ้นปกวารสารฉบับนั้นต้องร้างไปในที่สุด เจ้าของสวนเองก็จากไปหลังจากนั้นไม่นานนัก

ที่จริงผมเคยอ่านผ่านตามาบ้าง เรื่องการล่มสลายของสวนทุเรียนหลายแห่งในเขตธนบุรีและนนทบุรี เพราะถูกน้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง นับตั้งแต่ พ.ศ. 2485 แต่สำหรับมหาอุทกภัยเมื่อสิบปีก่อนมันหนักหนาสาหัส จนไม่นึกว่าพืชสวนยกร่องที่ต้องการการดูแลประคบประหงมอย่างทุเรียนจะฟื้นตัวกลับมาได้อีกแล้ว

“ตอนนั้นคิดแต่ว่า จะเลิกแล้ว รู้สึกมันไม่คุ้มทุนเลย แต่พวกเรามาได้กำลังใจ คือสมเด็จพระเทพฯ ท่านเสด็จมาทรงเยี่ยม ให้กำลังใจว่าให้สู้ ให้หาคนมาทำต่อ เราเลยสู้ จนเดี๋ยวนี้ทำพื้นที่ได้ทั้งหมด 82 ไร่ ที่ตำบลไทรม้านี่หนาแน่นที่สุด คนทำที่อายุมากที่สุดตอนนี้คือ 86 ปี” ผู้ใหญ่หนึ่ง คุณหนึ่งฤทัย สังข์รุ่ง เลขานุการกลุ่มอนุรักษ์ทุเรียนนนท์ เกริ่นกล่าวไว้ในตอนหนึ่งของการเสวนาออนไลน์ของมูลนิธิชีววิถี เรื่อง “จักรวาลทุเรียน” ตอนกินทุเรียนแบบไหนให้อร่อย? เมื่อค่ำวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา การเสวนาเรื่องทุเรียนที่มีจัดติดต่อกันถึง 4 วัน (1-4 มิถุนายน) นี้ มีแง่มุมดีๆ มากมายที่ผู้สนใจสามารถหาฟังคลิปย้อนหลังได้จากเพจของมูลนิธิฯ นะครับ

ผมเห็นว่า ทั้งคำบอกเล่าและภาพถ่ายทุเรียนสวนเมืองนนท์ของผู้ใหญ่หนึ่ง ช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นถึงเหตุที่มาแห่งราคาอันแสนแพงระยับในแวดวงการซื้อขายทุเรียนเมืองไทย เลยจะขอสรุปมาเล่าให้ฟังต่อ ตามความเข้าใจของผมนะครับ

กิตติศัพท์ของทุเรียนสวนเมืองนนทบุรี ราคาก่อนน้ำท่วมใหญ่เมื่อทศวรรษที่แล้ว คือ สาม หรือสี่ใบต่อ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาท) นะครับ โดยไม่มีการชั่งน้ำหนักใดๆ ทั้งสิ้น ถามว่าทำไมทุเรียนที่นั่นถึงได้แพงปานนี้

“เพราะเราปลูกและดูแลอย่างประณีต ใส่ใจทุกรายละเอียดค่ะ โดยเฉพาะการตัด” ผู้ใหญ่หนึ่ง บอกเล่าอย่างชัดถ้อยชัดคำ “ทุเรียนสวนบ้านเรา ยกตัวอย่างพันธุ์ก้านยาวนะ สมมุติต้นหนึ่งๆ ติดผลทั้งหมด 10 ลูก ก็จะมีที่คุณภาพดีไม่เกิน 3 ลูกเท่านั้น แล้วทุเรียนก้านยาวที่ดีคือต้องกินในวันที่ 5 นับจากวันตัด กลิ่นจะหอมเหมือนเกสรดอกไม้ มีความมัน แต่ถ้าลูกไหนสุกแล้ว 3-4 วัน เริ่มมีกลิ่นคล้ายเศษไม้เน่าๆ จะกินไม่อร่อย เพราะต้นไม่สมบูรณ์พอ หรือตัดจากตำแหน่งไม่ดี ทุเรียนลูกที่อยู่ชิดโคนต้นจะสมบูรณ์ที่สุดค่ะ หากอยู่ปลายกิ่ง น้ำเลี้ยงไปไม่ทั่วถึง เนื้อจะจืด” ฟังแล้วก็ช่างเป็นความรู้ใหม่ที่น่าตื่นเต้นสำหรับคนไม่เคยสนใจทุเรียน พืชยืนต้นที่นับว่าปลูกยาก ดูแลยากที่สุดชนิดหนึ่งจริงๆ

“จะได้ทุเรียนดีๆ ตอนตัดก็ต้องตัดช่วงเช้า แล้วไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะตัดได้เลยนะ ต้องปีนไปดูจุดต่างๆ เช่น ตรงขั้ว ว่าได้ที่แล้วหรือยัง เฉพาะพันธุ์ก้านยาวเรายิ่งต้องละเอียดมาก เรียกว่าพลาดไม่ได้เลย คนตัดต้องแม่นจริงๆ แล้วบางทีต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอีก เช่นว่าทุเรียนก้านยาวแก่ ขั้วแห้ง ได้เวลาตัดแล้วแหละ แต่ฝนเกิดตกลงมา ทุเรียนจะดูดน้ำเข้าไปอีก เราก็ต้องยืดเวลาตัดออกไป รอให้ลูกมันคายน้ำ จะได้ไม่แฉะ หรือหากเป็นพันธุ์หมอนทอง คนตัดต้องสังเกตปลายหนาม ต้องให้ปลายหนามแห้งจริงๆ หมอนทองของเราหนามจะเป็นทรงเล็บเหยี่ยว ปลายงอนคม เปลือกบาง ถ้าลักษณะหนามใหญ่ ความอร่อยจะสู้ที่หนามเล็กถี่ไม่ได้ เพราะมันดูดซึมน้ำเข้าไปได้มากกว่า เส้นใยก็จะเยอะกว่า แต่เราก็พอมีวิธีแก้ไขอยู่ คือต้องตัดในเวลาที่เหมาะจริงๆ ถึงจะได้รสชาติดีเท่าๆ แบบหนามถี่”

ต่อคำถามที่ว่า จะต้องมีการคัดตัดจำนวนออก ให้เหลือต้นละกี่ลูกหรือไม่ ผู้ใหญ่หนึ่งนับจำนวนคร่าวๆ ให้คนฟังตาลุกวาวได้ว่า เมื่อลูกทุเรียนโตได้ที่ จะต้องคัดให้เหลือแต่ลูกสมบูรณ์ เช่น พันธุ์ก้านยาว เหลือแค่ 5 ลูก ต่อหนึ่งต้น กระดุม 12-13 ลูก พวงมณี อาจได้ถึง 20 ลูก หากแต่ก็มีบางพันธุ์ ที่ยิ่งเก็บไว้มาก คุณภาพกลับจะยิ่งดี เช่น พันธุ์กบชายน้ำ โดยเฉพาะกบแม่เฒ่า ยิ่งเก็บไว้มาก เปลือกจะบาง ได้คุณภาพดีกว่า

ความจุกจิกซับซ้อนในวิธีจัดการทุเรียนของชาวสวนเมืองนนทบุรี โดยเฉพาะสวนตำบลไทรม้า ทำให้ได้ทุเรียนคุณภาพสูงเหมือนช่วงก่อนอุทกภัยใหญ่ปี 2554 ผู้ใหญ่หนึ่ง เล่าว่า อย่างเช่น พันธุ์หมอนทอง จะใช้เวลาพัฒนาคุณภาพในแต่ละต้นไปจนราวปีที่ 4 ของการติดผล จากที่เปลือกหนา หนามห่าง ไส้ใหญ่ เปลือกจะค่อยๆ บางลง หนามเริ่มถี่เป็นเล็บเหยี่ยว เมื่อประกอบกับการคัดลูกไม่สมบูรณ์ทิ้งให้เหลือตามจำนวนที่ตั้งไว้ และระยะการตัดที่เหมาะเหม็ง ก็ทำให้ชาวสวนทุเรียนสามารถรับประกันคุณภาพหมอนทองสวนเมืองนนท์ได้ทุกลูก

พันธุ์อื่นๆ ที่มีชื่อเป็นที่รู้จัก ก็เช่น กบแม่เฒ่า เนื้อสีเหลืองเข้มเนียนละเอียด หวาน กลิ่นหอม

กบชายน้ำ ความเนียนของเนื้ออาจด้อยกว่า คือมีเส้นใยบ้าง แต่มีความมันกว่าอย่างเห็นได้ชัด กบสีนาค เป็นพันธุ์ที่ชาวสวนไทรม้าลงความเห็นว่า ปีนี้คุณภาพดีที่สุด รสชาติเหมือนสมัยดั้งเดิมแล้ว ขนาดลูกไม่โตมาก แต่ออกดก เนื้อละเอียดสีเหลืองเข้ม เม็ดตาย มีความมัน เรียกว่าเกือบจะดีเท่าพันธุ์ก้านยาวเลยทีเดียว

คำร่ำลือที่ได้ยินกัน และถูกยืนยันโดยผู้ใหญ่หนึ่งว่าเป็นความจริง ก็คือทุเรียนก้านยาวเมืองนนท์นั้น ถ้ามี 5 พูเต็ม ไม่นับว่าดีที่สุด ขนาดที่แท้จริงต้องอยู่ที่ 4 พูครึ่ง หรือ 3 พูครึ่ง ซึ่งราคาขายจะอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท คือกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท

เรื่องราวของทุเรียนสวนเมืองนนท์จากปากคำผู้ใหญ่หนึ่ง ฟังๆ ดูก็เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งต่างหากไปจากโลกของทุเรียนหลังรถปิกอัพริมทาง กิโลกรัมละไม่ถึง 200 บาท และมีลักษณะเนื้อแบบ “กรอบนอกนุ่มใน” ที่ดูจะเป็นที่นิยมกันในปัจจุบันนี้ แน่นอนว่า เรื่องการฉีดสารเคมีในทุเรียนตลาดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเรื่องนี้ ก็ยังมีการถกเถียงกันถึงความเหมาะสมในวิธีการใช้อยู่นะครับ แต่ประเด็นข้อจำกัดที่มีเงื่อนไขการตลาดขนาดใหญ่มากำกับตั้งแต่ต้น คือปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยว จำต้องตัดขณะยังไม่แก่ คือตัดเพียงในระยะ 60-70 % มีการจุ่มชุบยา แล้วต้องรีบขายเร็วๆ ในปริมาณมาก เช่น การขายส่งที่ตลาดไทครั้งละนับร้อยนับพันลูก กระบวนการเช่นนี้ ย่อมเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ได้เนื้อทุเรียนแบบหนึ่ง ซึ่งจำเป็นอยู่เองที่กลุ่มผู้ขายต้องพยายามสร้าง “นิยาม” กรอบนอกนุ่มใน ขึ้นมาชักจูง เพื่อตอบโจทย์จุดขายให้เป็นผลสำเร็จให้จงได้

สำหรับผู้บริโภค การมีโลกของรสชาติอย่างน้อยที่สุดสองใบให้เปรียบเทียบกัน ย่อมเป็นสิ่งดี อย่างน้อยก็เพื่อการเสาะแสวงหาโลกใบที่สาม สี่ ห้า ต่อๆ ไป

อย่างที่หลายท่านเคยบอก ว่าแต่ละคนมีรสนิยมการกินทุเรียนไม่เหมือนกัน ทั้งกลิ่น รส ความมัน เนื้อหยาบเนื้อละเอียด ฯลฯ การไม่ยอมจำนนต่ออะไรง่ายๆ ย่อมเป็นคุณสมบัติที่ดีของผู้บริโภคยุคใหม่ จริงไหมครับ

โลกของทุเรียนนั้นกว้างใหญ่ไพศาลกว่าที่คิด หากมีประเด็นน่าสนใจ ก็คิดว่าจะลองเอามาชวนคุยกันอีกสักครั้งสองครั้งนะครับ ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองขณะนี้ ใครจะไปคาดคิดว่า จะยังคงพบเห็นมีเกษตรกรทำการเกษตร ท่ามกลางเมืองใหญ่ๆ อย่างจังหวัดปทุมธานี และอยู่บนเส้นแบ่งระหว่างอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่รายล้อมไปด้วยห้างสรรพสินค้า อาทิ ศูนย์แสดงสินค้าเมืองทองธานี ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ศูนย์กลางขนส่งสินค้าการเกษตรตลาดสี่มุมเมือง รังสิต และศูนย์กลางสินค้าเบ็ดเตล็ดตลาดพูนทรัพย์ และโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆ อีกมากมาย ที่อยู่รายล้อม

ผู้เขียนอาศัยอยู่คอนโดฯ เมืองทองธานี เมื่อถึงเวลาเข้าออกต่างจังหวัดขึ้นเหนือ ล่องไปอีสาน จะใช้เส้นทางนี้อยู่เป็นประจำ จากถนนติวานนท์ตัดออกถนนเลี่ยงเมืองรังสิต และมุ่งหน้าสู่ต่างจังหวัดต่อไป ทุกครั้งที่ขับรถผ่านทีไรก็จะเห็นแปลงผักร่องสวนเป็นทิวแถวแนวยาวเตะตาให้อยากเข้าไปสัมผัส

นึกอยู่ในใจว่า แปลงผักร่องสวนเกษตรที่ว่านี้คงจะต้องเป็นของมหาเศรษฐีที่มีใจรักวิถีการทำเกษตรอย่างแน่นอน เพราะที่ดินใจกลางเมืองเศรษฐกิจติดกับกรุงเทพฯ อย่างปากเกร็ด นนทบุรี และอำเภอเมืองปทุมธานี มีราคาที่สูงมากๆ สามารถนำไปให้เช่าทำโรงงาน ทำห้างสรรพสินค้า หรือว่าทำบ้านจัดสรร ซึ่งน่าจะทำเงินได้มากกว่าการปลูกพืชผักทำการเกษตรกรรม

เพื่อให้คลายข้อสงสัยหนนี้ผู้เขียนเลยแวะจอดรถลงไปดูแปลงเกษตรที่ว่านี้ เมื่อลงจากรถยืนมองจากถนน ปรากฏแปลงร่องผักหลายสิบร่องเรียงรายอยู่ในเวิ้งที่ลุ่มต่ำ จึงตัดสินใจย่างก้าวลงไปพบเจอคนงานเลยถามหาเจ้าของแปลงผักสวนครัว

คนงานชี้ไปยังร่องแปลงผักท่ามกลางแสงแดดเปรี้ยงๆ อากาศร้อนๆ เมื่อตอนใกล้ๆ เที่ยงวัน

ผู้เขียนเองไม่แน่ใจว่าเจ้าของแปลงสวนผักคือคนไหน เพราะแต่งตัวคล้ายกับคนงานจนแยกไม่ออก ว่าเจ้าของแปลงผักคนรวยมีกะตังไม่น่าจะมาตากแดดทำเกษตรด้วยตัวเอง และถ้าเป็นเศรษฐีเจ้าของที่ดิน เขาน่าจะกางร่มชี้ไม้ชี้มือสั่งงานอยู่บนฝั่งอะไรประมาณนั้น เมื่อถามไถ่จนได้ความว่า คนๆ นี้ เขาไม่ใช้เจ้าของที่ดินตัวจริง แต่เป็นเพียงผู้เช่าที่ดินทำแปลงเกษตรปลูกผักสวนครัว สืบทอดมาจากรุ่นพ่อซึ่งมีความเกื้อกูลสนิทสนมกับเศรษฐีเจ้าของที่ดินมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นความผูกพันระหว่างกัน

คุณชาญ ผลไม้ คือบุคคลที่กล่าวถึงและเป็นผู้สืบทอดการเช่าที่ดินทำแปลงเกษตรสวนผักต่อเนื่องมาจากรุ่นพ่อ และตนเองก็เกิดและเติบโตอยู่กับแปลงสวนผักแห่งนี้มาจวบจนถึงปัจจุบัน อายุ 65 ปี และก็ยังคงเช่าที่ดินสืบต่อเนื่องทำแปลงสวนเกษตรมาในราคาถูกๆ เท่าที่จำความได้ที่ดินแห่งนี้เดิมเป็นทุ่งนาแล้วยกร่องขึ้นมาปลูกผักสวนครัว อย่างที่เห็น

“เขาให้เราเช่าอยู่ 17 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่ ในราคาปีละ 4,000 บาท ซึ่งยึดถือราคานี้มาแต่เดิมเมื่อสมัย 50 ปีก่อน” “เศรษฐีเจ้าของที่ดินคนนี้ เขาเป็นนายแพทย์ระดับต้นๆ ของเมืองไทย เขาร่ำรวยมาทั้งตระกูล คนรวยนี่ก็แปลกมีลูกชายเพียงคนเดียว มีที่ทางก็เยอะแยะดูแลไม่ทั่วถึง เจ้าของที่ดินเขาใจดี เขาขอเพียงให้เราดูแลเฝ้าที่ดินให้เขา อย่าให้หญ้าขึ้นรถ ทำที่ให้สะอาด และทุกๆ ปี ประมาณเดือนมกราคม ผมก็จะเอาเงินค่าเช่าไปให้เขา ไม่ขาดไม่เกิน” คุณชาญ ว่าอย่างนั้น และเล่าย้อนอดีตต่ออีกว่า

สมัยเมื่อ 50 ปีก่อน ผมไม่มีรถต้องเดินเท้าเวลาเข้าวัดไปเวียนเทียน สองข้างทางย่านนี้เป็นป่ารก ถนนเมื่อสมัยก่อนนั้นเป็นดินแดงลูกรัง เวลาไปตลาดรังสิตที หรือไปไหนไกลๆ จะต้องใช้เรือ ล่องไปตามคลองทะลุเชื่อมต่อถึงกันหมดไปจนถึงคลองรังสิต

จนถึงปัจจุบันนี้คงจะหมดรุ่นเราแล้ว ทุกอย่างพัฒนาไปอย่างรวดเร็วทั้งถนนหนทาง คลองก็ไม่มี เรือก็ไม่ได้พาย

ส่วนผืนดินที่เราทำร่องแปลงผักอยู่นี้ก็เป็นพื้นดินเดิมจากแปลงนาเมื่อ 50 ปีก่อนที่ไม่ได้ผ่านการถมดินแต่อย่างใด ซึ่งเราทำอาชีพนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ถ้าไม่ได้เช่าที่ในราคาถูกๆ จากเศรษฐีผู้ใจบุญก็คงจะไม่สามารถปลูกผักทำแปลงเกษตรอย่างนี้ได้

และการปลูกผักทำการเกษตรท่ามกลางแดดร้อนๆ เด็กๆ รุ่นใหม่ๆ คงจะไม่มีใครเขาทำกัน และที่เรายังวางมือไม่ได้เพราะแปลงสวนผักของเราอยู่ใกล้ตลาดขายส่ง ไม่ต้องลงทุนบรรทุกขนผักมาจากต่างจังหวัด

และผักสวนครัวที่ปลูกประกอบไปด้วย ผักคะน้า ผักกาดหอม ผักกวางตุ้ง ปลูกสลับกันไป แต่ละแปลง ปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี สลับกันไปทุกๆ เดือน แต่ละร่องแปลง ครั้งแรกที่หว่านเมล็ดผัก 45-50 วันก็สามารถเก็บผลผลิตส่งขายได้ ประมาณ 1 ตันต่อร่อง

ไม่ต้องกลัวว่าผักจะขายไม่ได้ เพราะพ่อค้าเร่และพ่อค้าประจำจะมารอรับซื้อผักถึงหน้าแปลง กระจายส่งขายตามตลาดของตัวเอง ที่ไกลๆ อย่างตลาดคลองเตย และบางครั้งตนเองก็จะไปส่งผักเองอย่างที่ตลาดสี่มุมเมืองรังสิต หรือที่ตลาดไท เป็นต้น ถ้าฤดูไหนพ่อค้าคนกลางมากดราคารับซื้อกันมากๆ ก็จะไม่ขาย ยอมบรรทุกวิ่งไปส่งเองตามตลาดต่างๆ เป็นต้น

ก่อนหน้านี้เคยหว่านผักราคาแพงๆ pintast.com เพื่อที่จะทำกำไรให้ได้สูงขึ้น เช่น ผักชี ผักตั้งโอ๋ ซึ่งผักพวกนี้จะชอบอากาศไม่ร้อนจัด สภาพอากาศดีๆ เย็นๆ แต่ก็ไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง เพราะเคยเจอมาแล้ว เมื่อถึงเวลาจะเก็บเกี่ยวอีก 4-5 วัน ฝนตกลงมา แล้วก็มาเจอแดดแรงๆ ซ้ำ ทำให้ผักเหี่ยวเฉาเร็วเสียหายง่าย ผักเหล่านี้ไวต่อสภาพอากาศ เคยเสียหายมาแล้วหลายรอบ จึงไม่กล้าเสี่ยงอีก

ส่วนผักที่ปลูกเป็นประจำถึงแม้จะทนต่อสภาวะแวดล้อมได้ก็จริง แต่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา อย่างช่วงหน้าแล้งแมลงลง เสียหายไปเกือบครึ่ง ส่วนดีก็มีอยู่มากและยังพอทำกำไรได้ในช่วงหน้าแล้งที่ผักจะขาดตลาดและราคาแพง เนื่องจากเป็นผักนอกฤดู

ผู้เขียนสงสัยและตั้งคำถามว่า แปลงสวนผักของคุณชาญ บนพื้นที่แห่งนี้มีการควบคุมดูแลเป็นอย่างดี คงจะมีออร์เดอร์ส่งขายห้างค้าปลีกรายใหญ่ๆ เป็นประจำอย่างแน่นอน แต่หาไม่ คุณชาญให้เหตุผลว่า เพราะห้างค้าปลีกเรื่องมาก ติดปัญหาเรื่องขนาดและมาตรฐานซึ่งของเราปลูกตามธรรมชาติ ขนาดจึงไม่ได้ตรงตามที่เขากำหนด อีกทั้งมันจุกจิกหยุมหยิม และเราก็ไม่ต้องมาเครียดให้ปวดหัว เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว จะต้องมาแยกต้องคัดเกรด จึงสะดวกที่จะขายผักตามสภาพ เพราะเราไม่ได้ใช้สารเคมีควบคุม

ส่วนราคาพืชผักตามท้องตลาด มันก็ขึ้นๆ ลงๆ ตามกลไกของตลาด ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าฤดูไหนผักขาดตลาด ผลผลิตน้อย ก็จะเหมือนกันหมดทุกๆ ตลาด เช่น ช่วงหน้าหนาว ราคาผักจะถูก ผักจะสวยโตเร็ว แมลงไม่ค่อยมี ผลผลิตออกมาเยอะราคาก็จะถูก ช่วงฤดูฝนน้ำท่วมพื้นที่เกษตรเสียหาย ผักก็จะแพง เมื่อถึงหน้าแล้ง หน้าร้อน ทุกๆ ปี ราคาผักก็จะแพงเพราะผลผลิตออกน้อยผักโตช้า เป็นต้น

ชีวิตที่อยู่กับแปลงผักของคุณชาญในวัย 65 ปี ก็ยังคงหมุนเวียนอยู่กับการปลูกผักสวนครัวไม่มีวันหยุด กับผู้ช่วยแรงงานอีกหนึ่งคน ง่วนอยู่กับแปลงผัก เริ่มจากพรวนดิน แล้วคลุมดินด้วยฟาง จากนั้นหว่านเมล็ดผักและงอกขึ้นมา จากนั้นก็แยกต้นกล้า ปลูกรุ่นต่อรุ่น มีถี่มีห่างบ้าง ส่วนกล้าผัก ต้นเล็กๆ ก็ดึงทิ้งให้ปลากินเป็นอาหารในร่องน้ำ ทำหมุนเวียนไปอย่างนี้ทุกๆ เดือน ตลอดทั้งปี

และที่สำคัญน้ำต้องพร้อม เมื่อถึงหน้าแล้ง แดดจะแรง อากาศจะร้อน ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตทั้งคนและผัก ปรับเปลี่ยนการให้น้ำ 2 ช่วงเวลา คือช่วงสายๆ 4 โมงเช้า ลากเรือสูบน้ำไล่ตามร่อง และจะไปรดน้ำอีกครั้งช่วง ค่ำๆ 2 ทุ่ม เพื่อให้ความร้อนได้คลายตัว ผักจะได้ไม่ช็อกเมื่อเจอน้ำ ส่วนหน้าฝนจะรดเพียงครั้งเดียว

ผมทำงานอยู่คนเดียว กับแรงงานอีกหนึ่ง ทำกันมานานจนรู้ใจ ไม่มีลูกน้องไม่มีนาย เราจะพรวนดินกันคนละร่องต่อ 1 วัน โดยใช้จอบฟันดินด้วยมือเปล่า เครื่องจักรพรวนดินก็มีแต่ไม่ใช้ เพราะไม่ดีเท่าจอบจากมือเรา ส่วนเครื่องจักรรถพรวนดินมันพรวนแค่ผิวหน้าดิน เมื่อปลูกผักรากไม่ลงลึกอยู่ตื้นๆ ผักจึงไม่โตเต็มที่

นี่คือชีวิตเกษตรติดดินอย่าง คุณชาญ ผลไม้ ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นเศรษฐี มาทำแปลงผักเกษตรพื้นบ้าน แต่เมื่อได้สัมผัสเขาคือบุคคลสาธารณะที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี